สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ชุมชนกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน 2563 เวลา 13.20-16.30 น. ถ่ายทอดสดทาง Facebook Page : สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง School of Law, MFU และระบบ ZOOM เสวนาวิชาการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาวิชาการภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่ง ศรีสมวงษ์ คณบดีสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
วิทยากร
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพรโพธิ์พัฒนชัย อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชนันภรณ์ บุญเกิดทรัพย์ อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- อาจารย์อริศรา เหล็กคำ อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์เพชรณพัฒน์ ศรีวุทธิยประภา อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- ทักษ์ดนัย เรืองศรี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 3 และวัฒนกร อุทัยวิวัฒน์กุล นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผศ.ดร.รุ่ง ศรีสมวงษ์ คณบดีสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง :
กล่าวเปิดงานเสวนา ในหัวข้อ “ชุมชนกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” โดยการจัดงานเสวนาวิชาการครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากในปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มีความรุนแรงมากขึ้น การพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างรวดเร็ว อย่างไม่ประหยัด และขาดความรับผิดชอบ ส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษและปัญหาที่กระทบกระเทือนต่อคนจำนวนมาก หลาย ๆ ประเทศในโลกจึงเริ่มหันมาป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยใช้วิธีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เปิดโอกาสให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้การจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น สำนักวิชานิติศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกับคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน จึงได้จัดงานเสวนาทางวิชาการขึ้น
ผศ.ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
กล่าวถึง 4 เรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ดังนี้
เรื่องแรก จะกล่าวว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนคืออะไร ในเรื่องนี้ World Commission on Environment and Development (WCED) ได้ให้ความหมายว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน โดยไม่ทำลายความสามารถของคนในรุ่นอนาคต ซึ่งเป็นความหมายในมิติเดียว ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด และหากพิจารณาประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่า ในปี ค.ศ.1982 มีข้อความคิดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้น สังเกตได้จากข้อ 193 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ที่พยายามจะหาความสมดุลของการใช้อำนาจอธิปไตยในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในทะเล และมีการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลไว้
ผศ.ดร.นพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนจะพิจารณาการพัฒนาที่ยั่งยืนของกฎหมายไทย อยากให้ทำความเข้าใจองค์ประกอบของการพัฒนาที่ยั่งยืนก่อน ซึ่งมีทั้งหมด 3 องค์ประกอบ ได้แก่
องค์ประกอบแรก เรื่องการบูรณาการแนวคิดการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา ปรากฏตัวชัดที่สุดในหลักการข้อที่ 4 ของปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ค.ศ. 1992 ที่มีสาระสำคัญว่า “เพื่อที่จะบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมต้องเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการพัฒนาและก็ไม่สามารถที่จะแยกการพิจารณาได้” จากข้อความดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ารัฐต้องเอาข้อความคิดว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเข้าไปบรรจุไว้ในแนวนโยบายของรัฐสำหรับการพัฒนาประเทศด้วย
นอกจากนี้ ด้านองค์กรการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ ก็มีการนำแนวคิดเรื่องการบูรณาการเข้ามามีผลในการใช้การตีความกฎหมาย โดยเฉพาะบริบทของกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เช่น ในคดีสร้างเขื่อน ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างฮังการีและสโลวาเกีย ศาลได้ตัดสินโดยมีการคำนึงถึงการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการบูรณาการแนวคิดการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว เราอาจจะต้องพิจารณาว่าการดำเนินกิจกรรมของรัฐบาลดำเนินการในเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ หรือเป็นการดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
องค์ประกอบที่สอง เรื่องความเป็นธรรม ตามความหมายของ World Commission on Environment and Development (WCED) สามารถแบ่งได้ 2 ลักษณะ ได้แก่
(1) ความเป็นธรรมของคนรุ่นเดียวกัน หากมองในมิติระหว่างประเทศ จะหมายถึงการจัดสรรทรัพยากรระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ว่าจะแบ่งทรัพยากรที่ใช้ในโลกอย่างไร แต่หากมองในมิติระดับประเทศ จะหมายถึง การกระจายความมั่งคั่งทางทรัพยากรระหว่างคนที่มีความสามารถแตกต่างกันในสังคมนั้น ๆ โดยความสามารถในที่นี่อาจหมายถึงความรู้ความสามารถ ความสามารถทางเศรษฐกิจ ความสามารถทางเทคโนโลยี หรืออื่น ๆ ซึ่งรัฐต้องทำหน้าที่เป็นบุคคลในการชั่งน้ำหนักระหว่างการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรกับประโยชน์ของคนในประเทศ
(2) ความเป็นธรรมของคนระหว่างรุ่น คือ ความยุติธรรมในการส่งต่อทรัพยากรและการดูแลรักษาทรัพยากรเพื่อจะส่งต่อไปยังคนในอนาคต โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเคยหยิบยกแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในการอธิบายการใช้การตีความกฎหมาย อย่างไรก็ดีแนวคิดดังกล่าวมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายหลายประการ ทั้งที่เป็นข้อโต้แย้งทางทฤษฎีและปรัชญาทางกฎหมาย เช่น ถ้าเราจะคุ้มครองประโยชน์ให้คนในอนาคตหรือพยายามที่จะส่งต่อทรัพยากรให้คนในอนาคต เราจะต้องรู้ให้ได้ว่าความต้องการของคนในอนาคตคืออะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากในการหยั่งรู้และความต้องการของคนในอนาคตอาจเหมือนหรือแตกต่างกับคนในยุคปัจจุบันก็ได้
องค์ประกอบที่สาม เรื่องการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในเรื่องนี้มีนักกฎหมาย นักนโยบาย พยายามกำหนดอัตราหรือค่ามาตรฐานขึ้นมาสักตัว เพื่อที่จะสามารถระบุได้ว่า หากมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติภายใต้ขอบเขตค่ามาตรฐานที่ถูกกำหนด ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นจะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดีการสร้างค่ามาตรฐานดังกล่าวมีข้อจำกัดอยู่ 2 อย่าง คือ (1) แม้จะสามารถสร้างค่ามาตรฐานได้สำเร็จ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาต่อมา คือ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาของมนุษย์ ซึ่งต่อให้ทรัพยากรสามารถฟื้นฟูตัวเองขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากความต้องการของมนุษย์เพิ่มขึ้นสวนทางกับจำนวนทรัพยากร ปัญหาเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนก็จะยังคงเป็นปัญหาต่อไป และ (2) การกำหนดค่ามาตรฐานเป็นกรอบของการใช้ประโยชน์ทรัพยากร สามารถใช้ได้แค่กับทรัพยากรแค่บางประเภทเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับทรัพยากรที่ไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้หรือทรัพยากรที่ใช้เวลาซ่อมแซมนาน เช่น น้ำมันปิโตรเลียม
หลังจากที่กล่าวในเรื่องแรกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนคืออะไรไปแล้ว ต่อมาเป็นเรื่องที่สอง การปรากฏตัวของการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย
ในประเทศไทย พบกฎหมายที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่า 20 ฉบับ เช่น ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 ที่มีหลักการให้รัฐต้องอนุรักษ์คุ้มครอง บำรุงรักษาฟื้นฟูการบริหารจัดการให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน หรือในเรื่องแนวนโยบายของรัฐก็มีหลักการให้รัฐพึงดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากร พลังงาน โดยวางแผนการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และศักยภาพของที่ดินตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตามเนื้อหาของกฎหมายไม่เคยมีการอธิบายว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยคืออะไร ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่าประเทศไทยเข้าใจเหมือนกับหลักการสากลหรือไม่ อันเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อรัฐไม่เข้าใจความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง รัฐจะไม่สามารถดำเนินแนวนโยบายของรัฐให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวได้
เรื่องที่สาม การพัฒนาที่ยั่งยืนกับการจัดการหมอกควันพิษข้ามพรมแดน
กรณีหมอกควันพิษข้ามพรมแดน หากพิจารณาในระดับภูมิภาคจะพบว่ามีความตกลงอาเซียนว่าด้วยหมอกควันพิษข้ามพรมแดน ค.ศ. 2012 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 เป็นต้นมา แต่วิธีการในการบังคับใช้ของความตกลงนี้ขาดความชัดเจน เพราะเป็นความตกลงที่ให้ประเทศสมาชิกจัดการหรือออกกฎหมายภายในเอง ซึ่งความตกลงอาเซียนดังกล่าวไม่ได้กำหนดวิธีการติดตามตรวจสอบผลของการไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีเอาไว้ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะบริบทของอาเซียนที่เป็นวัฒนธรรมการเมืองภูมิภาค หรือที่เรียกว่า The ASEAN Way จะเคารพหลักการและไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของรัฐอื่นอย่างชัดแจ้งและอย่างเคร่งครัด ซึ่งผศ.ดร.นพร มีความเห็นว่าวัฒนธรรมทางการเมืองลักษณะนี้ ขัดกับความต้องการในการพัฒนาประเทศหรือพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืน เพราะมันเป็นการพิจารณาถึงประโยชน์ของแต่ละรัฐโดยปราศจากการดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกันในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ผศ.ดร.นพร ยังมีความเห็นต่อไปอีกว่าสาเหตุอีกอย่างของปัญหา คือ การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวคือ แม้ว่าความตกลงฉบับนี้จะรองรับสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนเอาไว้ แต่ถ้ากฎหมายภายในหรือการนำไปปฏิบัติภายในไม่ได้รับความร่วมจากประชาชนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศหรือของภูมิภาคทำไม่ได้เลย
ต่อมา กรณีหมอกควันพิษข้ามพรมแดนในประเทศไทย ผศ.ดร.นพร กล่าวว่า สาเหตุหลัก ๆ ของหมอกควันพิษข้ามพรมแดนในประเทศไทย มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ (1) มลพิษในเขตเมือง (2) หมอกควันจากพื้นที่การเกษตรและการทำเกษตรอย่างไม่รับผิดชอบ และ (3) หมอกควันจากการเผาในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งกรณี 2 สาเหตุหลังนี้เป็นปัญหาที่ไม่ใช่แค่ผูกโยงกับเรื่องกฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องนโยบายของการพัฒนาประเทศด้วย ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้พิจารณาปัญหาหมอกควันพิษข้ามพรมแดนในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง แม้จะมีกฎหมายหลายตัวมากที่อาจนำมาใช้กับการกำหนดกรอบของการพัฒนาประเทศ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเกษตรพื้นที่เกษตร กฎหมายในพื้นที่อนุรักษ์ แต่ประเทศไทยขาดการมองกฎหมายแบบบูรณาการกัน ทำให้ใช้กฎหมายไปในทิศทางที่พยายามตอบสนองวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะของกฎหมายนั้น นอกจากนี้ ในเรื่องการใช้และการตีความกฎหมาย เมื่อรัฐไม่มีความเข้าใจเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งผลให้แนวคิดหรือข้อความคิดใหม่ ๆ ดังกล่าวไม่สามารถเข้าไปมีอิทธิพลหรือเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนการใช้การตีความกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น
เรื่องสุดท้าย เรื่องที่สี่ โอกาสและความท้าทาย กล่าวคือ รัฐธรรมนูญและกฎหมายเฉพาะได้รับรองสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนจะนำมาซึ่งโอกาสในการหาสมดุลของการใช้ประโยชน์ในทรัพยากร เพราะถ้าประชาชนมาได้ร่วมสร้างแนวทางการใช้ประโยชน์ในทรัพยากร จะส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจหรือการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันพิษดีขึ้น เพราะว่าต้นเหตุของปัญหาค่อย ๆ ถูกคลี่คลายไป
ผศ.ดร.นพร กล่าวสรุปว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นภาพรวมกว้าง ๆ ที่ทำให้เห็นถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยังขาดความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรทำความเข้าใจวิธีการจัดการปัญหา การใช้การตีความกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายภายในรัฐ ตลอดจนการทำความเข้าใจบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาและสามารถรักษาต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมในเรื่องนี้ไว้ได้
อาจารย์อริศรา เหล็กคำ อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (วิทยากร) :
กล่าวถึง ปัญหาเรื่องป่าว่าปัจจุบันพื้นที่ป่าในโลกมีจำนวนลดลงอย่างมาก ในขณะเดียวกันประชากรโลกมีจำนวนมากขึ้น หากใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติหรือป่าไม้โดยไม่มีการควบคุม ก็อาจทำให้ทรัพยากรดังกล่าวลดลงไปเรื่อย ๆ และหมดไปได้ อาจารย์อริศรา ยกตัวอย่างแนวความคิด The Tragedy of the Commons หรือโศกนาฏกรรมของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ที่มองว่าทรัพยากรธรรมชาติที่เปิดให้ใช้อย่างเสรีแบบไม่จำกัดจะส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น จึงเกิดแนวความคิดและแนวทางการจัดการผืนป่าว่าไม่ควรมีการใช้อย่างเสรีอีกต่อไป รัฐควรเข้ามาดูแลการจัดสรรทรัพยากรทางธรรมชาติให้เพียงพอต่อประชาชน
อาจารย์อริศรา ได้เล่าประสบการณ์การทำวิจัยเรื่องป่าไม้ว่าเดิมเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรป่าไม้จำนวนมาก เพราะในสมัยก่อนจำนวนคนใช้มีไม่เยอะ จึงไม่มีการจำกัดจำนวนผู้ใช้ สังเกตได้จากนโยบายตามประมวลกฎหมายที่ดินในสมัยก่อนที่ให้บุคคลที่ใช้พื้นที่ป่าตรงไหน ก็ให้เป็นผู้ครองครองผืนป่าตรงนั้น และสามารถขอให้รัฐออกเอกสารสิทธิแสดงกรรมสิทธิ์ได้โดยไม่มีข้อห้ามใด ๆ เพราะรัฐคิดว่าทรัพยากรป่าไม้มีอยู่อย่างเพียงพอ จนกระทั่งป่าไม้มีจำนวนลดลงและสามารถเอาไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินทองได้ รัฐจึงเริ่มเปลี่ยนรูปแบบจากการให้ใช้อย่างเสรี มาเป็นรูปแบบสัมปทานเพื่อเก็บเงินแก่ผู้ที่ต้องการใช้งาน
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการจำกัดการใช้ป่าไม้ แต่ทรัพยากรป่าไม้ยังคงมีจำนวนลดลง จึงเกิดแนวความคิดในการอนุรักษ์ผืนป่าขึ้นในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การออกกฎหมายประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าตามวัตถุประสงค์ของพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ แม้ประเทศไทยจะมีการออกกฎหมายในหลายรูปแบบและมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรักษาผืนป่าไม้ แต่พบว่าจำนวนพื้นที่ป่าไม้ในประเทศกลับมีจำนวนลดลงอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้
อาจารย์อริศรา กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้มีสาเหตุหลัก ๆ อยู่ 2 กรณี คือ กรณีแรก ขอยกตัวอย่างจังหวัดน่านที่พื้นที่ร้อยละ 85 ถูกกฎหมายประกาศว่าเป็นเขตป่าสงวน โดยก่อนที่จะมีประกาศเป็นเขตป่าสงวนมีคนท้องถิ่นจำนวนมากได้อาศัยอยู่ในพื้นที่มาก่อนแล้วและมีคนบางกลุ่มไม่ได้คัดค้านการประกาศดังกล่าว ทำให้ภายหลังคนเหล่านั้นกลายเป็นผู้บุกรุกป่าโดยไม่ชอบ กับกรณีที่สอง คือ รัฐประกาศแล้วว่าเขตใดเป็นป่าสงวน แต่ก็ยังมีคนย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ในเขตป่าสงวน เช่น เป็นผู้ประกอบการแอบลักลอบเข้าไปทำรีสอร์ต ซึ่งเป็นการบุกรุกป่าโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีแรกในการขจัดข้อขัดแย้งการใช้ที่ดินของคนท้องถิ่นบนพื้นที่ป่าสงวน คือ ต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนว่าบุคคลใดบ้างเป็นผู้อยู่ในที่ดินป่าสงวนก่อนมีการประกาศเป็นเขตป่าสงวน โดยรัฐอาจใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารมาช่วยพิจารณา หากพบว่าใครมีการทำกินบนที่ดินป่าสงวนอยู่ก่อนจริง รัฐก็ยังคงให้สิทธิทำกินกับราษฎรที่อยู่ก่อนหน้านั้น แต่หากพบว่ามีการทำกินนอกเหนือขอบเขตที่กำหนดไว้ กรณีนี้จึงจะถือว่าเป็นผู้บุกรุกป่านั้นเอง
ในปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่รัฐไม่ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลที่บุกรุกผืนป่า จึงได้มีการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติขึ้นมา 2 ฉบับ เพื่อปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เช่น จับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง รื้อถอนรีสอร์ทที่สร้างขึ้นอย่างผิดกฎหมาย แต่เนื่องจากนโยบายรัฐดังกล่าวเคร่งครัดมากเกินไป ไม่ได้เข้าใจปัญหาของพื้นที่ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนประกาศเขตป่าสงวนก็ได้รับผลกระทบไปด้วย สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนจำนวนมาก จึงต้องมีการแก้ไขคำสั่งโดยมุ่งปราบปรามเฉพาะกลุ่มนายทุนที่ลักลอบเข้าป่าอย่างผิดกฎหมาย ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ในป่ามาก่อนแล้วก็ให้ได้รับการเยียวยา นอกจากนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาความเคร่งครัดของการบังคับใช้กฎหมายขับไล่ผู้บุกรุกป่า ภายหลังรัฐบาลจึงพยายามแก้ไขกฎหมายดั้งเดิมที่มีอยู่ คือ มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในปี พ.ศ. 2562 อันได้แก่ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และออกพ.ร.บ.ป่าชุมชน เพิ่มเติมมาด้วย
ต่อมา อาจารย์อริศรา ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการจัดการพื้นที่ของคนในชุมชน คือ กรณีชุมชนศรีนาปาน-ตาแวน จังหวัดน่าน ที่เป็นป่าดั้งเดิมก่อนที่จะถูกให้สัมปทานไป โดยในชุมชนนี้มีการจัดการดูแลผืนป่าโดยกฎของชาวบ้าน แบ่งป่าออกเป็น 4 ส่วน คือ (1) ป่าอนุรักษ์ต้นน้ำหรือป่าอนุรักษ์ คือ ปล่อยให้ป่าเติบโตอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ (2) ป่าเศรษฐกิจ ให้ประชาชนไปทำมาหากินได้ (3) ป่าชุมชน คือ ป่าที่ให้ประชาชนไปใช้สอยประโยชน์ในป่า และ (4) ป่าเจ้าหลวง เป็นป่าที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยแบ่งว่าครัวเรือนต่าง ๆ จะได้ใช้ประโยชน์จากผืนป่าครัวเรือนละเท่าไหร่ ซึ่งกำหนดแนวเขตจากต้นไม้ใหญ่ หากมีการบุกรุกก็จะมีมาตรการการลงโทษโดยชุมชนเอง
กรณีศึกษาที่น่าสนใจอีกประการ คือ กรณีหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำมีด ซึ่งอยู่ในเขตอนุรักษ์หรือพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เป็นเขตป่าอนุรักษ์ที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ กรณีนี้หัวหน้าจัดการลุ่มน้ำมีความเข้าใจชาวบ้านว่าชาวบ้านต้องทำกินและไม่มีทางเลือกอื่น แม้การกระทำนี้จะผิดกฎหมายเพราะไปอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ก็ตาม หัวหน้าจัดการลุ่มน้ำจึงนำแนวคิดที่ว่าคนอยู่ร่วมกับป่าได้มาใช้ในการแก้ไขปัญหา โดยการเจรจากับชาวบ้านว่าชาวบ้านต้องการอะไรบ้าง เมื่อชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบป่ากับเจ้าหน้าที่รัฐ สุดท้ายชาวบ้านก็ยอมคืนพื้นที่ป่าให้แก่เจ้าหน้าที่ อันเป็นการแก้ไขปัญหาในแบบที่เข้าใจปัญหาเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง
กรณีศึกษาสุดท้ายเป็นตัวอย่างจากประเทศโคลัมเบีย โดยประชาชนได้เรียกร้องให้ศาลรับรองว่าป่ามีสถานะมีสถานะเป็นบุคคล ในคดีนี้ศาลฎีกาที่โคลัมเบีย ตัดสินในปี ค.ศ. 2018 จากการที่เยาวชนฟ้องรัฐบาลโคลัมเบียว่าการให้สัมปทานป่าไม้เป็นการทำลายผืนป่าอเมซอน เพราะทำให้ผืนป่าเริ่มหายไปมากขึ้นประมาณร้อยละ 44 และขัดต่อกฎหมายภายในของประเทศโคลัมเบีย นอกจากนี้แล้วยังขัดต่อพันธกรณีที่ประเทศโคลัมเบียให้ไว้ว่าจะลดการตัดไม้ทำลายป่าให้เหลือร้อยละ 0 ในปี 2020 ท้ายที่สุด ศาลรับรองว่าป่าอเมซอนบริเวณโคลัมเบียมีสถานะเป็นบุคคลเทียบเท่าคน และส่งผลให้รัฐเกิดหน้าที่ที่จะต้องอนุรักษ์ป่าไม้ตามกฎหมาย และต้องปกป้อง ตลอดจนฟื้นฟูป่าให้กลับมาอยู่สภาพเดิม
อาจารย์เพชรณพัฒน์ ศรีวุทธิยประภา อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (ผู้ดำเนินรายการ) :
กล่าวว่า กรณีตัวอย่างที่อาจารย์อริศรา ยกมาในคดีของศาลฎีกาโคลัมเบียที่กำหนดให้ป่ามีสถานะเป็นบุคคลมีความน่าสนใจ เพราะโดยหลักหากเป็นบุคคลแล้วก็จะเกิดหน้าที่ แต่กลับกลายเป็นว่าหน้าที่เป็นของรัฐที่จะต้องปกป้องป่าและฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิม และกล่าวต่อไปว่าเมื่อจบเรื่องป่า ต่อมาจะเป็นเรื่องการจัดการขยะชุมชนบนฐานคิดเศรษฐกินหมุนเวียน โอกาสและความท้าทายในการดำเนินนโยบายและกฎหมาย ที่ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง จะกล่าวต่อไป
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร) :
จะกล่าวถึงเรื่องการจัดการขยะชุมชน โดยการเอาไปโยงกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจคำว่า Circular Economy ก่อน ซึ่งก็คือแนวคิดที่พยายามนำของเสียหรือของเหลือจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้วัสดุหรือใช้สินค้าต่าง ๆ ให้สามารถนำเอาของเสียหรือของเหลือกลับเข้าสู่ระบบหรือห่วงโซ่การผลิตได้อีกครึ่งหนึ่ง เพื่อที่จะลดการนำวัสดุหรือวัตถุดิบจากธรรมชาติออกมาใช้ให้น้อยที่สุด ในขณะเดียวกันเมื่อมีของเสียหรือของเหลือเกิดขึ้น หากไม่สามารถนำกลับมาใช้ในห่วงโซ่การผลิตได้ เราจะทำอย่างไรให้ของเสียเหล่านั้นเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เช่น ถ้าสมมติว่าไม่สามารถที่จะนำถุงขนมไปวนเข้าสู่ระบบการผลิตใหม่ได้ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่นำถุงขนมไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงาน หรือถ้าสมมติว่าของเสียหรือของเหลือไม่สามารถจัดการเอาไปใช้ประโยชน์ได้ จะมีวิธีจัดการอย่างไรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นแนวความคิดของ Circular Economy
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้ยกประโยค Litter Kitters Everywhere โดยกล่าวว่าเราสามารถพบเห็นขยะได้ทุกที่ไม่ว่าทางบกหรือทางน้ำในแม่น้ำลำคลอง หรือแม้กระทั่งในทะเล ในประเทศไทยหากประเมินค่าเฉลี่ยแล้วจะพบว่าใน 1 วัน คน ๆ หนึ่งสร้างขยะเฉลี่ย 1.14 กิโลกรัมต่อวัน นั้นเท่ากับว่าหากประชากรคนไทยมี 70 ล้านคน วันนึงจะมีขยะมากถึง 75 ล้านกิโลกรัม ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมาก ๆ จึงเกิดคำถามว่าขยะจำนวนมหาศาลเหล่านั้นจะสามารถดึงกลับเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการผลิตได้อย่างไรให้ได้มากที่สุด ดังนั้น การศึกษาเรื่อง Circular Economy จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามารถนำแนวคิดมาใช้กับปัญหาขยะได้
สำหรับปัญหาขยะนั้น สามารถสรุปสาเหตุหลัก ๆ ได้ 3 สาเหตุ คือ (1) การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ (2) การจัดการไม่เหมาะสม และ (3) การลักลอบทิ้งขยะ ซึ่งหากพิจารณาปริมาณขยะตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2562 แล้ว จะพบว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ซึ่งเราสามารถนำแนวความคิดเรื่อง Circular Economy มาเชื่อมโยงกับเรื่องการกำจัดขยะในชุมชนได้ ดังนี้
ประการแรก Circular Economy คือ การลดการใช้วัตถุดิบที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน เช่น หากผู้ประกอบการเลือกซื้อวัตถุดิบที่เป็นวัสดุรีไซเคิลที่มาจากขยะอันผ่านการใช้งานแล้ว ก็จะช่วยลดการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบ ทำให้ไม่มีการสร้างขยะจากวัตถุดิบใหม่เกิดขึ้น
ประการที่สอง คือ ในกระบวนการผลิตต้องมีการตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ของเสียในขั้นตอนการผลิตมีจำนวนลดลง ไม่ว่าจะเป็นในรูปของมลพิษทางอากาศ น้ำเสีย หรือเศษซากวัสดุที่เป็นขยะมูลฝอย สำหรับเรื่อง Circular Economy จะต้องขับเคลื่อนด้วยการส่งเสริมให้ภาคเอกชนพัฒนารูปแบบการประกอบธุรกิจหรือรูปแบบกิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อรองรับแนวคิด Zero Waste แต่ในปัจจุบันเราจะพบว่าผู้ประกอบธุรกิจจะผลิตสินค้าโดยเฉพาะเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ให้มีอายุการใช้งานที่สั้น ผู้ใช้บริการจะได้กลับมาซื้อสินค้าใหม่อีกหลาย ๆ ครั้ง แนวคิดแบบนี้ เรียกว่า Linear Model คือ การออกแบบให้คนใช้งานแล้วสุดท้ายก็เอาไปทิ้งหรือกำจัด แตกต่างกับแนวคิด Circular Model ที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการพยายามผลิตสินค้าที่มีอายุการใช้งานนานยิ่งขึ้น และให้ผู้ประกอบการได้แสวงหากำไรจากบริการหลังการขายแทน โดยในประเทศไทยพบว่าผู้ประกอบกิจการมักเลือกใช้ Linear Model มากกว่า Circular Model
ต่อมา ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้กล่าวถึง แนวนโยบายในการจัดการขยะชุมชนของประเทศไทย โดยอธิบายว่าประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเพราะเป็นส่วนที่มีผลผูกพันทางกฎหมายและนโยบายกับแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐจะต้องทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าไม่สอดคล้องแล้วในท้ายที่สุดอาจจะถูกเพิกถอนหรือถูกกดดันโดยใช้มาตรการทางปกครองได้ เมื่อพิจารณายุทธศาสตร์ชาติแล้วจะพบว่ามีแนวคิดเรื่อง Circular Economy อยู่ คือ มีการกำหนดให้ต้องมีการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางด้วยเป้าหมาย 3R (Reduce, Reuse, Recycle) และต้องมีกลไกกำกับดูแลการจัดการขยะและมลพิษอย่างเป็นระบบ และหากพิจารณานโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมจะพบว่ามีการกำหนดหมวดว่าด้วยการจัดการวัสดุและขยะ และมีการกำหนดรายละเอียดการดำเนินการเอาไว้ว่าควรจะทำอย่างไร แต่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดว่าใครจะเป็นคนทำและใครจะเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด และถ้าไม่ทำจะเป็นอย่างไร
ในเรื่องการจัดการขยะในกฎหมายไทย ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่ากฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะจากภาคครัวเรือนมีอยู่ 2 ฉบับ คือ (1) พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ที่ให้อำนาจการจัดการขยะเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนประชาชนเป็นเพียงผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น มิได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในการออกแบบกฎหมายแต่อย่างใด ตัวอย่างกรณีปัญหา เช่น ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นให้ประชาชนแยกขยะ ถ้าไม่แยกขยะจะปรับ 500 บาท แต่ข้อบัญญัติไม่มีมาตรการตรวจสอบบุคคลที่ฝ่าฝืนมาตรการ และข้อบัญญัติไม่มีมาตรการจูงใจให้ประชาชนคัดแยกขยะ และ (2) พ.ร.บ.สาธารณสุข และในส่วนของร่างกฎหมาย มีร่างกฎหมาย 2 ฉบับเช่นเดียวกัน คือ (1) ร่าง พ.ร.บ.มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม ค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ ค่าธรรมเนียมการปล่อยมลพิษ แต่เป็นปัญหาทางการเมืองว่าจะให้หน่วยงานไหนทำหน้าที่ดูแลเก็บผลประโยชน์ จึงยังไม่สามารถออกมาเป็นกฎหมายได้ และ (2) ร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นร่างกฎหมายที่น่าสนใจมากเพราะว่าเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ตัวผู้ผลิตจะต้องเรียกคืนผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในฐานะที่เป็นผู้ก่อมลพิษในขั้นตอนการผลิตและในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นผู้แบกรับต้นทุนในการกำจัดด้วย
แนวคิด Circular Economy นี้ เป็นแนวคิดที่สามารถเชื่อมโยงกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะเป้าหมายที่ 12 เรื่องการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนได้ โดย ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มีความเห็นว่า สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การแก้ไขกฎหมายที่ส่งเสริมการจัดการขยะชุมชนให้มีการรองรับและการจัดการขยะแบบ Circular Model และควรพัฒนาร่าง พ.ร.บ.มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม และร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ตามที่กล่าวไปแล้วให้เป็นกฎหมาย เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ และ
สิ่งที่สอง คือ การส่งเสริมธุรกิจการจัดการขยะ โดยเฉพาะการส่งเสริมนโยบายการตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะ ที่ถือเป็นความหวังในการกำจัดขยะในขั้นสุดท้าย และเป็นแหล่งสนับสนุนความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้าที่มาจากขยะ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ถูกตั้งแง่โดยชุมชนเพราะชุมชนไม่แน่ใจว่ารัฐมีมาตรการรับรองเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานขยะมากน้อนขนาดไหน ทำให้เกิดปัญหาเรื่อง Not in My Backyard (NIMBY) ที่ชุมชนไม่ต้องการให้ตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะบริเวณที่ตั้งของชุมชน ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เช่น ที่จังหวัดลำปาง มีความพยายามที่จะตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในพื้นที่เทศบาลหนึ่ง แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นในขั้นต้นเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ มารับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนแค่ 1 ชั่วโมง ไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างจริงจังและไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นในการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะให้แก่คนในชุมชน นอกจากนี้ยังมีปัญหาความกังวลของคนในชุมชนว่าการนำขยะจากท้องถิ่นอื่นเข้ามาจะก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นหรือมลพิษอื่น ๆ ให้พื้นที่หรือไม่ ดังนั้น การตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะจึงยังคงมีปัญหาอยู่
กล่าวโดยสรุป แนวความคิด Circular Economy เป็นแนวความคิดที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ 12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนและสามารถนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยมีนโยบายที่เปิดรับแนวคิด Circular Economy แล้ว แต่การดำเนินการในทางปฏิบัติกับในแง่กฎหมายยังมีข้อจำกัดอยู่ จึงหวังว่าในอนาคตเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยจะแก้ข้อจำกัดดังกล่าวเพื่อให้เกิดการจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาจารย์เพชรณพัฒน์ ศรีวุทธิยประภา อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (ผู้ดำเนินรายการ) :
กล่าวสรุปสั้น ๆ ว่าเรื่องของ Circular Economy เป็นเรื่องที่ได้ยินมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ แล้ว ซึ่งมีกฎหมายและแนวนโยบายรองรับ แต่ยังมีปัญหาทางปฏิบัติ เช่น ถ้าอาศัยอยู่ตามชุมชนที่อยู่ภายใต้การบริหารขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะทราบว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นผลักภาระให้ประชาชนจัดการขยะด้วยตัวเอง ซึ่งนำไปสู่การจัดการขยะแบบผิดวิธี เป็นต้น และกล่าวถึงหัวข้อต่อไป อันเป็นหัวข้อสุดท้ายว่าเป็นเรื่องการให้ความยุติธรรมต่อสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน
ผศ.ชนันภรณ์ บุญเกิดทรัพย์ อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (วิทยากร) :
กล่าวว่าหัวข้อที่จะพูด คือ เรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยปัญหาหลาย ๆ ปัญหาในทางสิ่งแวดล้อมนั้น ประเทศไทยมีกฎหมายเข้ามาจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ด้าน แต่ว่าในทางปฏิบัติที่สังคมไทยยังคงเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องของการไม่มีกฎหมาย แต่เป็นเพราะประเทศไทยขาดการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงเรื่องของการขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน
การมีส่วนร่วมของชุมชนหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นวิถีทางของหลักประชาธิปไตย ประชาชนเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียกับการดำเนินกิจการใด ๆ ของรัฐ โดยเฉพาะประชาชนในชุมชนที่เป็นผู้เข้าไปประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ จึงควรสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนส่วนร่วม แลกเปลี่ยน เจรจาร่วมกัน ในการดำเนินการใด ๆ ร่วมกับภาครัฐ เพราะประชาชนจะต้องเป็นคนที่ปกป้องผลประโยชน์ในพื้นที่ของตัวเอง มิเช่นนั้นความเสียหายก็จะยังคงมีอยู่
ผศ.ชนันภรณ์ กล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชนนั้น มีกฎหมายหลัก ๆ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ พ.ร.บ.โรงงาน โดยในส่วนของรัฐธรรมนูญมีมาตรา 43 พูดถึงหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ว่าบุคคลและชุมชนมีสิทธิที่จะเข้าชื่อกันเพื่อที่จะเสนอแนะต่อหน่วยงานหรือภาครัฐให้ดำเนินการใด ๆ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และมีมาตรา 57 ที่พูดถึงเรื่องการที่ภาครัฐมีหน้าที่อนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการและใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการ และสุดท้ายมาตรา 58 วางหลักไว้ว่าการดําเนินการใดของรัฐ ถ้าการนั้นอาจมี ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสําคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดําเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนํามาประกอบการพิจารณาดําเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ
นอกจากนี้ ในส่วนของพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 7 และมาตรา 8 หรือ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 64 เป็นต้น
ในเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชน ประเทศไทยสามารถพบตัวอย่างของระดับการมีส่วนร่วมได้อยู่ 6 ตัวอย่าง ดังนี้ (1) ระดับการรับรู้ คือ การให้ประชาชนที่มีอยู่ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะรับรู้ข้อมูลที่อาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตน แต่ข้อสังเกตคือการมีส่วนร่วมในระดับรับรู้เป็นเพียงการแจ้งให้ทราบ (2) การมีส่วนร่วมในระดับแสดงความคิดเห็น เป็นระดับการมีส่วนร่วมที่เข้มข้นขึ้น โดยให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมที่จะมีผลกระทบต่อชุมชน ประชาชนสามารถซักถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ และสามารถแสดงความคิดเห็นได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ (3) การมีส่วนร่วมในระดับร่วมปรึกษา คือ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดแล้วก็ร่วมปรึกษากับหน่วยงานของรัฐที่จะดำเนินกิจกรรมอันอาจมีผลกระทบต่อชุมชน เพราะประชาชนในพื้นที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง (4) การมีส่วนร่วมในการวางแผน คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผน (5) การมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมตามแผน คือ การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกร่วมกันว่าแม้จะเป็นผู้ได้รับความเสียหาย แต่ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการได้เข้ามาช่วยจัดการปัญหา และ (6) การมีส่วนร่วมในระดับประเมินผล คือ การเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้าร่วมและติดตามผลการดำเนินงานของภาครัฐว่าบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ เจอปัญหาอะไรบ้างหรือไม่ เป็นต้น
ต่อมา ผศ.ชนันภรณ์ ได้ตัวอย่างการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในชุมชนโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งหมด 3 ตัวอย่าง ได้แก่
ตัวอย่างที่หนึ่ง เป็นตัวอย่างที่ ผศ.ชนันภรณ์ ได้ไปทำวิจัยและอาศัยอยู่กับปัญหาจริง ๆ ซึ่งก็คือ ปัญหาเรื่องหมอกควันพิษในภาคเหนือ โดยจะเน้นศึกษาที่จังหวัดเชียงรายเป็นหลัก เชียงรายประสบปัญหาหมอกควันที่ค่อนข้างหนักมาก สาเหตุหลัก ๆ มาจากการเผา และในขณะเดียวกันจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือก็พบปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน ชาวบ้านไม่รู้ว่าการเผาเป็นการสร้างปัญหามลพิษระดับชาติและมีความเชื่อว่าการเผาจะทำให้เกิดพืชบางอย่าง เช่น เห็ดเผาะ เห็ดถอบ อันเป็นแหล่งรายได้ของชาวบ้าน จึงเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านคิดว่าการเผาเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องหมอกควันพิษยังมีสาเหตุมาจากไฟป่า การเผาขยะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ของต่างจังหวัด เพราะคนในพื้นที่ไม่ทราบว่าการจัดการขยะที่ดีต้องทำในรูปแบบไหน จึงเลือกใช้วิธีการเผาเพราะเป็นวีธีการจัดการที่ง่ายที่สุดโดยชาวบ้านไม่ได้คิดว่าการเผาขยะจะเกิดผลกระทบระยะยาว
ผศ.ชนันภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษ แท้จริงแล้วประเทศไทยมีกฎหมายที่เข้ามาจัดกับการแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่ว่าปัญหาที่เผชิญอยู่มันมาจากการขาดจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมของคน ดังนั้น ในจังหวัดเชียงรายจึงมีการนำร่องนำหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา โดยภาครัฐและประชาชนในพื้นที่เริ่มตระหนักแล้วว่าจะต้องช่วยกันดำเนินการ เช่น การทำป้ายเตือนว่าห้ามเผาในที่โล่ง การร่วมกันจัดทำแนวกันไฟร่วมกัน และในส่วนของการแก้ปัญหาของภาครัฐ รัฐก็จะมาฉีดพ่นละอองน้ำและออกกิจกรรมรณรงค์ มีการล้างถนน แล้วก็ให้ประชาชนแต่ละชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการงดการเผา และใช้วิธีอื่นแทนการเผาในการเตรียมพื้นที่เกษตร เพื่อให้ประชาชนมีจิตสำนึกว่าหากเกิดการเผาแล้วนั้นจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง ให้คนในเมืองมีส่วนร่วมกับคนบนดอย เพื่อลดความขัดแย้ง จึงสรุปได้ว่า การมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือดีขึ้น
ตัวอย่างที่สอง เป็นตัวอย่างของน้ำทิ้งในพื้นที่เทศบาลตำบลเวียง และเทศบาลตำบลเวียงเชียงของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อำเภอเชียงของนั้นเป็นอำเภอชายแดนที่อยู่ติดกับประเทศลาวและเป็นพื้นที่ที่อยู่ในกลุ่มของเขตเศรษฐกิจทางภาคเหนือ เดิมทีเป็นอำเภอที่คนอยู่อาศัยน้อย แต่พอรัฐมีการกำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจให้อำเภอเชียงของ คนก็เริ่มทยอยเข้ามาอยู่อาศัย มีการอุปโภคบริโภคที่มากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการทิ้งน้ำ คือ การทิ้งน้ำลงในแหล่งรองรับน้ำทิ้งตามคลองสาธารณะ พอน้ำทิ้งรวมกันในปริมาณมาก ๆ ในช่วงหน้าแล้ง น้ำก็จะเน่า เกิดกลิ่นเหม็นและปลาในคลองก็จะตาย จากการศึกษาพบว่าปัญหาการทิ้งน้ำมีกฎหมายที่บังคับใช้กับประเด็นนี้แล้ว แต่ว่าสาเหตุของปัญหาหนึ่งคือขาดการมีส่วนร่วมและขาดการร่วมมือของชุมชน เช่น ถ้าเป็นบ้านที่อยู่อาศัยจะต้องมีการขอแบบต่อเทศบาล แต่ว่าตอนสร้างบ้านเทศบาลมักไม่ได้มาตรวจสอบ ชาวบ้านเลยอาจเลี่ยงการสร้างบ่อบำบัดน้ำ เมื่อไม่มีบ่อบำบัดน้ำ น้ำก็จะถูกทิ้งไปรวมในแหล่งรองรับน้ำทิ้ง เกิดเป็นปัญหาขึ้น หรืออีกกรณีคือมีการดัดแปลงบ้านให้เป็นโรงแรมขนาดเล็กโดยไม่ทำบ่อพักน้ำ ของเสียทั้งหมดก็จะไหลลงสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้ง ดังนั้น ถ้าประชาชนร่วมมือกันและทางเทศบาลนำเสนอหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน มีการนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมหรือการทำโครงการอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาน้ำทิ้ง ก็น่าจะทำให้ปัญหาน้ำทิ้งในพื้นที่นี้ลดลงได้
ตัวอย่างสุดท้าย คือ การจัดการขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เดิมทีตำบลนี้พบปัญหาการจัดการขยะเยอะมาก ส่วนหนึ่งมาจากการไม่จ่ายค่าขยะและเทศบาลก็ไม่ทำหน้าที่เก็บเงิน ซึ่งสาเหตุที่ประชาชนไม่จ่ายค่าขยะเพราะประชาชนรู้สึกว่าวิธีการจัดการขยะด้วยการเผาเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว จึงไม่รู้สึกว่าต้องร่วมมือกับภาครัฐในการจัดการกับขยะ อย่างไรก็ตามในภายหลังตำบลนางแลนี้ใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะที่ต้นทาง คือ ให้ชุมชนคัดแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือนเวลามีรถขยะมาเก็บจะได้เก็บไปได้ง่ายและนำมากำจัดได้ถูกวิธี นอกจากนี้ มีการให้คนในชุมชนเข้าใจว่าขยะบางอย่าง เช่น ขยะสด สามารถเอามาแปรรูปให้มันเป็นปุ๋ยหรือทำให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตรของตนเองได้ เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องขยะล้นก็จะลดลง
สุดท้ายนี้ ผศ.ชนันภรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนจะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ภาครัฐต้องสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนรวมอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจและร่วมกันสร้างจิตสำนึกให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันของคนในสังคม หลักการมีส่วนร่วมของชุมชนจึงจะสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายที่วางไว้ได้
อาจารย์เพชรณพัฒน์ ศรีวุทธิยประภา อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (ผู้ดำเนินรายการ) :
กล่าวสรุปว่า ตามตัวอย่างศึกษาที่ ผศ.ชนันภรณ์ ยกมาทำให้เห็นภาพของการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะเรื่องไฟป่า เรื่องของการสร้างแนวกันไฟ เรื่องน้ำเสีย และในส่วนของภาครัฐก็ต้องมีความจริงใจที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพราะกฎหมายและแนวนโยบายมีความชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนหรือภาคชุมชน
คำถามจากผู้เข้ารับฟังการเสวนา
คำถาม (1) : ภายใต้โครงการ One Belt One Road ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ประเทศไทยรวมถึงอาเซียนมีมาตรการใดบ้างหรือไม่ที่รองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : เกริ่นก่อนว่าอาจจะตอบไม่ตรงกับคำถามมากนัก โดย ผศ.ดร.สุรศักดิ์ เข้าใจว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่พูดถึงเรื่องของการเชื่อมต่อถนนในอาเซียน ซึ่งมีเส้นทางบางส่วนที่ผ่านจังหวัดเชียงราย และมีการขนส่งสินค้าเข้ามา ซึ่งไม่เห็นว่าตัวโครงการมีการทำศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากน้อยเพียงใด หากพิจารณาในแง่ของกฎหมายที่มีอยู่ทั้งกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ ในส่วนของกฎหมายภายใน ตัวโครงการ One Belt One Road เองเป็นโครงการเชิงนโยบายเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ ในกรณีที่โครงการนี้ยังใช้โครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศ ผศ.ดร.สุรศักดิ์คิดว่ากฎหมายเองไม่ได้เรียกร้องให้มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน แต่หากเป็นกรณีที่มีสร้างโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างที่มันไปเข้าเงื่อนไขให้ต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนนี้ก็อาจจะต้องทำ BIA หรือในส่วนของกฎหมายอาเซียนและกฎหมายระหว่างประเทศ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ เข้าใจว่าในอาเซียนไม่ได้มีความตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมายที่จะต้องประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เรื่องนี้อาจจะต้องมีดำเนินการเจรจาในระดับระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาที่อาจจะต้องมีการประเมินผลกระทบข้ามเขตแดน แต่อย่างไรก็ตามหลักในการประเมินผลกระทบจากกิจกรรมที่มันอาจจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นหลักการระหว่างประเทศ ซึ่งน่าจะมีพันธะกรณีที่ผูกพันให้รัฐควรจะต้องทำการประเมน แต่สิ่งที่มันเป็นปัญหาคือใครจะมาบังคับให้รัฐทำ ซึ่งอาจจะต้องให้ ผศ.ดร.นพร หรือ ผศ.ชนันภรณ์ หรือ อาจารย์อริศรา ขยายความเพิ่มเติมต่อ
ผศ.ดร.นพร : กล่าวว่า One Belt One Road เป็นโครงการที่มีมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2017 ซึ่งเป็นการประกาศว่าจะมีการฟื้นฟู้เส้นทางสายไหมขึ้นมาใหม่ การพิจารณาจะต้องมองแยกเป็น 2 เรื่อง อย่างที่ ผศ.ดร.สุรศักดิ์กล่าวไปแล้วว่าถ้าเป็นการใช้ Infrastructure เดิม มันอาจจะไม่มีปัญหาในเชิงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเท่าไหร่ เว้นแต่ การคมนาคมที่ต้องผ่านพื้นที่อนุรักษ์หรือใกล้กับพื้นที่อนุรักษ์ ตรงนี้อาจมีประเด็นว่าจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แต่ถ้าเป็นกรณีของการสร้าง Infrastructure ใหม่เลย แล้วเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญข้ามพรมแดน รัฐทุกรัฐจะต้องทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามหลักพันธะกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป อย่างที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตั้งสินไว้ในคดีโรงงานกระดาษ อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.นพร มีสิ่งที่น่าสนใจและน่ากังวลมากกว่าคือหากโครงการ One Belt One Road เกิดขึ้น จะทำให้การคมนาคมสะดวกกว่าเดิม ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สองฝั่งตามเส้นทางของ One Belt One Road อย่างรวดเร็ว อันมาพร้อมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น หากไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าก็จะทำให้เกิดปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่มันอาจเป็นการประเมินในเชิงกลยุทธ์ เช่น พื้นที่ที่จะใช้มีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร หรือความสามารถในการรองรับกิจกรรมประเภทต่าง ๆ มีมากน้อยขนาดไหน หรือ หากพิจารณาสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว มีความเหมาะสมกับกิจกรรมประเภทนั้นๆ หรือไม่ สิ่งที่กล่าวมาเป็นคำตอบแบบกว้าง ๆ เพราะว่าเรายังไม่ค่อยเห็นพัฒนาของโครงการในเรื่องนี้มากนัก
คำถาม (2) : อยากให้วิทยากรแสดงความเห็นทางกฎหมายจากกรณีที่หมู่บ้านหมู่บ้านห้วยหินลาด อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ที่ภาครัฐมีความพยายามที่จะผลักดันให้ชาวบ้านออกจากเขตป่าสงวนซึ่งในกรณีนี้ก็คือ มีการประกาศเขตป่าสงวนในภายหลังทับพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นเวลานาน ความพยายามผลักดันชาวบ้านที่มีวิถีร่วมกับป่าเป็นเวลา 100 ปีดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด
อาจารย์อริศรา : กรณีของห้วยหินลาดเป็นตัวอย่างหนึ่งในประเทศไทยที่พบว่ามีการประกาศเขตป่าครอบชุมชนชาวบ้านดั้งเดิมอยู่ ซึ่งมีนโยบายภาครัฐที่บอกว่าป่าที่ชาวบ้านอยู่เป็นป่าต้นน้ำ ลุ่มน้ำชั้น 1A 1B ที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อให้มีทรัพยากรใช้ร่วมกัน เรื่องสิทธิของชุมชนกับผืนป่าจะต้องแยกให้ได้ชัดเจนว่าใครอยู่ก่อน ใครอยู่หลัง ช่วงที่กฎหมายประกาศมีระยะเวลาผ่อนผันให้ประชาชนมาแจ้งว่าอยู่ก่อน และถ้าประชาชนไม่มาแจ้ง ถามว่าสิทธิของเค้าจะพึงมีอยู่หรือไม่ในพื้นที่ดังกล่าว อาจารย์อริศรา กล่าวว่า ยังคงมีสิทธิอยู่ นโยบายภาครัฐควรจะจัดการป่ากับชุมชมให้ได้อย่างยั่งยืน เพราะรัฐก็รู้ว่าพื้นที่ป่ามีคนอยู่ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการกำหนดขอบเขตผืนป่าให้ได้ว่าบริเวณใดเป็นพื้นที่ของป่าและบริเวณใดเป็นพื้นที่ของชุมชน การทำแผนที่ประเทศไทยควรมีการเดินสำรวจร่วมกันระหว่างชุมชนชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยังควรกำหนดสิทธิของคนที่อยู่ในผืนป่าดังกล่าวว่าเค้ามีสิทธิอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน และการที่เอากฎหมายหลักของประเทศมาใช้กับทุกพื้นที่ฟังดูเหมือนจะเป็นธรรมเป็นมาตรฐานกลาง แต่หากพิจารณาพื้นที่แต่ละพื้นที่แล้ว จะพบว่ามีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาต่อว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหนในการที่จะกำหนดสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ป่า จึงอาจต้องแยกพิจารณาต่างหากจากกฎหมายหลัก หลังจากนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ป่ายั่งยืน คือ นโยบายของรัฐที่จะต้องชัดเจนว่าคนอยู่ร่วมกับป่าได้ ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรในป่าได้ แต่ต้องจำกัดการใช้ทรัพยากรป่าด้วย
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : จากคำถามที่ถามว่าชอบด้วยหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มีมุมมองว่า ในประเด็นนี้ไม่ได้มีตัวหลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เข้ามาใช้ตรง ๆ และเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาหลักกฎหมายปกครองที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะถ้าเข้าไปดูฐานกฎหมายในการประกาศใช้เขตป่าสงวนแห่งชาติ ฐานของพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มีปัญหาคือในพระราชบัญญัติบอกว่ารัฐสามารถประกาศเขตที่ดินที่เป็นของรัฐได้ แต่ไม่ได้มีเงื่อนไขว่าถ้าคนอยู่ก่อนต้องห้ามประกาศใช้ ดังนั้น สมมติมีข้อเท็จจริงที่ประชาชนอยู่ก่อน แล้วต่อมามีการประกาศเขตป่าสงวนทับที่ของประชาชน ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มองว่าทางแก้มีอยู่ 2 อย่าง คือ (1) การฟ้องคดีเพิกถอนกฎหรือประกาศเขตป่าสงวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) เพราะการประกาศเขตป่าสงวนเป็นกฎและกฎนั้นมีการสร้างภาระเกินควร กระทบสิทธิของผู้ที่ได้รับเสียหายตามมาตรา 42 ซึ่งวิธีนี้ประชาชนในชุมชนจะต้องเป็นคู่ความดำเนินการพิพาทกับรัฐ หรือ (2) ทางแก้อีกวิธี คือ ต้องใช้เรื่องป่าชุมชน โดยชุมชนอาจจะรวมตัวกันแล้วขอตั้งป่าชุมชนได้ แต่วิธีนี้ยังมีปัญหาอยู่คือพ.ร.บ.ป่าชุมชน ตัวบทกฎหมายกล่าวถึงเรื่องการใช้ทรัพยากร การดึงทรัพยากรออกมาจากป่า แต่ยังไปไม่ถึงกรณีที่ชาวบ้านมีบ้านอยู่ในป่า ขอบเขตของป่าชุมชนภายใต้กฎหมายฉบับนี้จะอนุญาตได้มากน้อยขนาดไหน เพราะฉะนั้นตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันก็อาจจะเป็นปัญหาอยู่ ดังนั้น จึงอาจต้องไปใช้แนวทางเรื่องของการเจรจากับรัฐ
คำถาม (3) : วิธีการจัดการป่าอย่างยั่งยืน นอกจากการไปทำความเข้าใจกับชุมชนหรือชาวบ้าน มีวิธีการอื่นอีกหรือไม่ที่จะทำให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
ผศ.ดร.นพร : รัฐต้องพยายามเข้าใจสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของชาวบ้าน และได้ยกตัวอย่างวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาที่น่าสนใจมา คือ การจัดการพื้นที่ป่าที่เป็นวิธีการของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ถูกนำมาพิจารณาบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ ทั้งที่มีพันธะกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในอยู่ ภูมิปัญญาเหล่านี้ ภาครัฐยังไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูด นอกจากนี้ การใช้พื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ป่ามีหลายส่วนที่ต้องทำความเข้าใจพื้นที่แต่ละพื้นที่ให้ดี และต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการสร้างกฎเกณฑ์ร่วมกันระหว่างชุมชนกับภาครัฐ
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย และยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างเป็นกิจจะลักษณะในเรื่องของการทำให้การที่ดูแลป่ามีมูลค่าทางการเงิน ในปัจจุบันมีแนวคิดเรื่องของการใช้กลไกการจ่ายค่าตอบแทนนิเวศบริการ ซึ่งใครเป็นคนที่อาศัยอยู่ต้นน้ำ แล้วดูแลต้นน้ำ ก็ควรมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนอะไรบางอย่างจากคนที่ได้ประโยชน์จากการใช้น้ำ เช่น สมมติว่าในจังหวัดหนึ่งที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำวัง มีคนดูแลต้นน้ำทำให้มีน้ำไหลลงมาทำการเกษตรกับคนที่อยู่ในพื้นราบ ในกรณีนี้คนที่ใช้ประโยชน์จากน้ำ มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าใช้น้ำ แนวคิดที่กำหนดให้ต้องจ่ายเงินแก่ผู้ดูแลป่า ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มองว่า หากยอมให้ชาวบ้านเข้าไปบริหารจัดการป่าแล้ว ในขณะเดียวกันก็ให้ชาวบ้านหรือชุมชนที่ดูแลได้รับค่าตอบแทน สิ่งนี้อาจเป็นแรงจูงใจไม่ให้ชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่า โดยที่ไม่ต้องไปใช้กฎหมายเรื่องทำลายป่ามาแก้ไขปัญหา สรุปคือการใช้แนวคิดให้คนดูแลต้นน้ำน่าจะเป็นคำตอบอีกวิธีหนึ่งในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน
คำถาม (4) : ระดับความมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหา ในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับไหน
ผศ.ชนันภรณ์ : ในเรื่องของระดับการมีส่วนร่วม ทุกวันนี้พบได้ในทุกระดับเลย ตัวอย่างเช่น ระดับการมีส่วนร่วมในการวางแผนจะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างการทำโครงการในเรื่องผังเมือง ก็จะมีการให้คนในชุมชนมาแสดงความคิดเห็น มาอยู่ในเวทีการประชุมร่วมกัน หรือแม้กระทั่งการดึงคนในชุมชนเข้ามาทำกิจกรรมตามแผนร่วมกัน หรืออีกตัวอย่างที่มีการทำ BIA หรือก็คือการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่าโครงการใดที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยการที่รัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนก่อนเพื่อที่จะประกอบการพิจารณาว่าโครงการดังกล่าวควรทำรูปแบบใด กรณีต่าง ๆ เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่มีอยู่จริงและเกิดขึ้นจริงในทุกระดับของการมีส่วนร่วม
คำถาม (5) : ถาม ผศ.ดร.นพร ในฐานะที่ภูมิภาคอาเซียนมีปัญหาเรื่องหมอกควันพิษข้ามพรมแดน พัฒนาการล่าสุดของอาเซียนในเรื่องของการดูแลเรื่องหมอกควันพิษข้ามพรมแดน ตอนนี้มีพัฒนาการไปถึงไหน เพราะตั้งแต่มีอนุสัญญามาเราแทบไม่เห็นการแก้ปัญหาในเวทีระดับภูมิภาคนี้เลย
ผศ.ดร.นพร : กล่าวว่า ความร่วมมือในดับภูมิภาคของอาเซียฉบับนี้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการใช้บังคับ การจะแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษข้ามพรมแดน เราอาจจะต้องมีภาพที่เปลี่ยนไปของความร่วมมือของอาเซียนที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของ The ASEAN way แบบเดิม เพราะว่าการที่จะประสานนโยบายหรือประสานการบังคับใช้กฎเกณฑ์ไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ ประเทศหลาย ๆ ประเทศไม่ยอมสละอำนาจบางอย่างเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค ดังนั้น จะเห็นได้ว่า 20 ปีที่ผ่านมา การร่วมมือในเรื่องนี้ไม่เป็นผล หากจะตอบคำถามว่ามีพัฒนาการอะไรในทางที่ดีหรือไม่ ผศ.ดร.นพร มองว่า ในการจัดการปัญหาหมอกควันพิษข้ามพรมแดน ยังไม่มีพัฒนาการอะไรที่ดีขึ้น เพราะพัฒนาการที่ดีต้องมีตัวชี้วัดคือมลพิษลดลง แต่บริบทการจัดการหมอกควันพิษข้ามพรมแดนโดยเฉพาะในลุ่มแม่น้ำโขงไม่ได้ลดลงเลย