สรุปสาระสำคัญจากสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ฉ้อโกง ขายของทางออนไลน์” วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2562 เวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้องประชุม 211 ชั้น 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ประจำปีการศึกษา 2562 สัมมนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอนวิชา น.723 อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- พันตำรวจโทพงศ์พจน์ ธรรมากุลวิชช์ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)
- ร้อยตำรวจเอกวีระพงษ์ แนวคำดี กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
- นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม
- นายประภัทรพงศ์ ชาญชิต นิติกรชำนาญการ กองคุ้มครองผู้บริโภค
ผู้ดำเนินรายการ
- นางสาวกรรภิรมย์ วิเศษสิงห์ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายธีรเจต สกนธวัฒน์ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายอานนท์ แก้วปัญญา นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
นางสาวกรรภิรมย์ วิเศษสิงห์ (ผู้ดำเนินรายการ) : กล่าวต้อนรับเข้าสู่งานเสวนาเรื่อง “ฉ้อโกงขายของทางออนไลน์” ซึ่งจัดโดยนักศึกษาชั้นปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบออนไลน์ การป้องกันและการรักษาสิทธิของผู้บริโภค โดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มาเป็นวิทยากรในวันนี้ และเพื่อศึกษาวิเคราะห์ในการหาแนวโน้มและวิธีการป้องกันที่อาจจะเกิดจากธุรกิจออนไลน์
ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล
ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ตนมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มากล่าวเปิดงานเสวนาในครั้งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชา น.723 กฎหมายอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จัดขึ้นโดยนักศึกษาชั้นปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยที่กิจกรรมดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของนักศึกษาทั้งหมดซึ่งการจัดงานครั้งนี้เป็นปีที่ 5 โดยจัดครั้งแรกเมื่อปี 2558 เรื่อง “ไขรหัสคดีกรุงไทย” ครั้งที่ 2 ปี 2559 เรื่อง “ความเสี่ยงจากระบบเศรษฐกิจจากธุรกรรมในระบบพร้อมเพย์” ครั้งที่ 3 ปี 2560 เรื่อง “รู้เท่าทันธุรกิจแชร์ลูกโซ่” ครั้งที่ 4 ปี 2561 เรื่อง “Crypto Currency: สกุลเงินดิจิตอล” ทั้งนี้ การจัดงานเสวนาหัวข้อนี้เนื่องจากปัจจุบันการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Commerce เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย การซื้อขายสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนั้นสามารถทำได้หลายช่องทางซึ่งข้อดีคือความสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายรวมทั้งประหยัดเวลา แต่มีข้อเสียคือการโฆษณาชวนเชื่อที่แอบแฝงมาด้วยอันก่อให้เกิดการเข้าใจผิดอันก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคขึ้นที่ทำให้ตกอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบ เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถทราบเกี่ยวกับคุณภาพและสินค้าจึงอาจจะก่อเกิดปัญหาที่ว่าผู้บริโภคอาจจะได้รับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ตรงกับความต้องการที่สั่งซื้อ ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจทางวิชาการและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่งที่ว่าเมื่อเกิดการฉ้อโกงออนไลน์แล้วผู้บริโภคจะสามารถดำเนินการประการใดได้บ้าง เพื่อสามารถให้ได้การเยียวยาที่เหมาะสม รวมทั้งรัฐควรมีมาตรการป้องกันอย่างไร
นายธีรเจต สกนธวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ)
นายธีรเจต กล่าวถึงวัตถุประสงค์และข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเสวนาในวันนี้ว่า การศึกษาว่าปัญหาเกี่ยวกับการฉ้อโกงทางออนไลน์นั้นมีอะไรบ้าง รูปแบบใดบ้าง และเหยื่อมีลักษณะอย่างไร ตลอดจนสิทธิของผู้เสียหายนั้นมีอยู่อย่างไร รวมทั้งทราบถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบและมาตรการในการคุ้มครองป้องปรามปัญหา เยียวยาผู้เสียหาย รวมทั้งการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ จากนั้นได้สอบถาม พ.ต.ท.พงศ์พจน์ ธรรมากุลวิชช์ ในประเด็นว่าอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมีความหมายว่าอย่างไร ลักษณะของการกระทำผิดและผู้กระความผิดเป็นอย่างไร การฉ้อโกงทางออนไลน์ถือว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจหรือไม่ และมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร
พันตำรวจโทพงศ์พจน์ ธรรมากุลวิชช์ (บก.ปอศ)
พ.ต.ท.พงศ์พจน์ กล่าวว่า หัวข้อเสวนาเป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีผลกระทบต่อประชาชน ตนเชื่อว่าการค้าออนไลน์นั้นมีประโยชน์สร้างความสะดวกรวดเร็วแต่อีกด้านหนึ่งอาชญากรใช้ช่องทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาหลอกลวงผู้บริโภคเพื่อให้มาซึ่งทรัพย์สินจากตัวบุคคลผู้ถูกหลอกลวง
อาชญากรรมทางเศรษฐกิจนั้นมีหลากหลายความหมายซึ่งจะกล่าวถึงบริบทของความคิด White-Collar Crime คือ การกระทำความผิดและอาชญากรรมที่เกิดจากตัวบุคคลโดยอาศัยสถานะทางสังคมที่สูงและเป็นที่เคารพยกย่องน่าเชื่อถือ โดยอาศัยโอกาสอาชีพของตนในการกระทำความผิด ทั้งนี้ ในแต่ละประเทศก็อาจจะเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป เช่น Business Crime หรือ Economic Crime แต่ความหมายในมุมมองของตนอาชญากรรมที่กระทำโดยความมุ่งหมายเพื่อต้องการผลประโยชน์ในทางการเงินหรือทรัพย์สินโดยใช้วิธีการวางแผนอย่างแยบยลและใช้เทคโนโลยีชั้นสูงซึ่งเป็นลักษณะของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมทางเศรษฐกิจคือผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ โอกาสในการทำผิด การตัดสินใจ ความรู้ความชำนาญ ลักษณะของผู้กระทำความผิดนั้นจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นอย่างยิ่งและมีหน้าตาในสังคมเป็นที่ยกย่องและเคารพและผู้กระทำความผิดอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือลักษณะของเครือข่าย เช่น แชร์ลูกโซ่ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรอาชญากรรมโดยที่ไม่ใช้วิธีการข่มขู่หรือใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมมุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตน ความแตกต่างของอาชญากรรมธรรมดาและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจก็คือการใช้ความรุนแรงและการปิดบังซ่อนเร้นโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงรวมทั้งมักไม่เป็นที่สนใจของประชาชน
ในปัจจุบัน พ.ต.ท.พงศ์พจน์ รับผิดชอบในส่วนสอบสวนซึ่งในการฉ้อโกงออนไลน์ซึ่งมุ่งไปที่การซื้อขายออนไลน์ โดยที่หน้าที่ของตนที่รับผิดชอบนั้นมีการฉ้อโกงที่หลากหลายรูปแบบเช่น การซื้อขายออนไลน์ การหลอกให้โอนเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ ในเวทีนี้เป็นกรณีการซื้อขายออนไลน์ซึ่งมีคดีมากพอสมควรโดยเฉพาะของ บก.ปอท โดยที่คดีนั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่โดยมีจุดตั้งต้นคือคดีฉ้อโกง ทั้งนี้ทุกสถานีตำรวจสามารถดำเนินการได้ ในส่วนรูปแบบการฉ้อโกงมีดังนี้ กล่าวคือ
- 1) ชำระเงินแล้วไม่ส่งของ
- 2) ชำระเงินแล้วส่งสิ้นค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ
- 3) ชำระเงินแล้วสินค้าส่งมาไม่ครบจำนวน
สะท้อนว่ามีเจตนาที่จะไม่ส่งสินค้าตามข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม การซื้อของออนไลน์นั้นไม่มีความน่ากลัวเท่ากับบัญชีที่รับโอนเงินเพราะว่าจากประสบการณ์ของตนพบว่าเป็นบัญชีของเหยื่อ ทั้งนี้ กลุ่มของเหยื่อคือข้าราชการและนักศึกษา โดยการรับสมัครตัวแทนจำหน่ายสินค้า ตัวแทนการรับชำระค่าสาธารณูปโภค รวมทั้งการที่อาชญากรหลอกลวงเอาข้อมูลจากประชาชน เช่น การหลอกให้ส่งข้อมูลจากภาพถ่ายบัตรประชาชน เป็นต้น
นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช (ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม) : กล่าวว่า การที่ตนทำงานทำให้ตนเห็นว่ากฎหมายบางฉบับนั้นไม่อาจใช้ได้กับสภาพของสังคมและรัฐธรรมนูญมาตรา 77 กฎหมายเดิมที่ใช้ไม่ได้ต้องยกเลิกและกฎหมายใหม่จะต้องทำประชาพิจารณ์ให้เห็นถึงการใช้และต้องติดตามผลการใช้
ในวันนี้กล่าวถึงการฉ้อโกงออนไลน์นั้นจะพบว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 และฉ้อโกงประชาชนมาตรา 343 และประเด็นเรื่องทรัพย์ว่าผู้เสียหายจะได้รับคืนเมื่อใด นอกจากนี้ ตนขอกล่าวถึงเรื่องซื้อทัวร์ทางออนไลน์ล่วงหน้าที่มีโกงไม่ตั๋วที่มีจำนวนผู้เสียหายจำนวนมาก การแจ้งความที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ทำให้ล่าช้าและการที่ผู้กระทำผิดรับสารภาพลงโทษจำกัดตามมาตรา 91 อนุมาตรา (2) ไม่เกิน 20 ปี ประเด็นต่อมาเรื่องทรัพย์ที่เสียหายไปหากตำรวจไม่สามารถยึดได้ผู้เสียหายต้องไปออกหมายยึดเพื่อหาทรัพย์ขายทอดตลาดเพื่อการบังคับคดีอันนำไปสู่คำถามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิของคนดี ในขณะเดียวกันเป็นช่องทางให้มีการฉ้อโกงมากยิ่งขึ้นเนื่องจากตนเห็นว่ากฎหมายเดิมนั้นใช้ไม่ได้ ทั้งนี้ นโยบายของรัฐเป็นวาระที่เร่งด่วนในการแก้ไข การที่ทรัพย์ที่ยึดไว้นั้นไม่สามารถคืนเจ้าทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 85 ที่จะต้องอาศัยอำนาจศาลในการสั่งการ และหากว่าผู้ต้องหาอยู่นอกเรือนจำและมีผู้เสียหายจำนวนมากในการสืบพยานจะล่าช้ามาก นอกจากนี้ ประเด็นคุณภาพของสินค้าจะพบว่าหากผู้ขายแจ้งว่าเป็นคุณภาพของผู้ขายแล้วหากผู้ซื้อขอคืนเงิน เช่นนี้ไม่ใช่กรณีฉ้อโกงแต่เป็นความแพ่งซึ่งประชาชนต้องจัดการเอง ทั้งนี้ ในประเทศจีนกรณีการฉ้อโกงนั้นจะมีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ เพราะฉะนั้นตนกำลังจะสื่อว่าหากเราเดินทางแบบเดิมจะได้ผลแบบเดิม ดังนั้น จึงควรมีกฎหมายใหม่เพื่อป้องกันการละเมิด
กรณีเปรียบเทียบ Call Centre นั้น ปปง.สามารถที่จะยึดเงินแล้วคืนแก่ผู้เสียหาย แต่ทำไมกรณีซื้อสินค้าออนไลน์ไม่สามารถทำได้ ซึ่งตนได้ศึกษารูปแบบของประเทศจีนเพื่อการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกง ทั้งนี้ ตนมั่นใจว่าที่เศรษฐกิจมีปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการโกงด้วยทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยการขนเงินออกนอกประเทศซึ่งตนเห็นว่ามันเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ไม่เช่นนั้นหากปล่อยให้มีการรั่วไหลจะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้น ตามรัฐธรรมนูญจึงต้องมีการตีกรอบกฎหมายเพื่อให้การคุ้มครองประชาชนแต่ไม่ใช่การโทษว่าเป็นความผิดของประชาชนเนื่องจากการที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบได้นั้นเป็นเรื่องที่ยากตราบที่อาชญากรไม่กลัวกฎหมายก็จะเกิดสภาวะที่รัฐวิ่งตามแก้ไขปัญหาซึ่งไม่ท่วงที นอกจากนี้ควรมีหน่วยงานที่มาตรวจสอบผู้ค้าเหล่านี้อีกด้วย ทั้งจะคุ้มครองผู้เสียหายให้มากกว่าหรือเท่าเทียมกันกับสิทธิของผู้ต้องหา ซึ่งตนเห็นว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายหรือไม่ เพื่อที่จะให้สังคมนั้นสามารถอยู่ร่วมกับอย่างปกติสุขได้
นางสาวกรรภิรมย์ วิเศษสิงห์ (ผู้ดำเนินรายการ) : กล่าวว่า ในมุมมองของผู้เสียหายนั้นมีหลายประการ และอาจจะมีหลายส่วนที่ผู้เสียอาจจะยังไม่ได้รับการเยียวยาอันเหมาะสม
นายธีรเจต สกนธวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) : ถามคำถามว่า การโพสประจานในโลกโซเชียลนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเป็นวิธีการที่ชี้ตัวผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองผู้เสียหายหรือประชาชนให้มากยิ่งขึ้น
นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช (ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม)
นายสามารถ กล่าวว่า ตนต้องการสื่อว่าการซื้อสินค้าไม่ใช่การโลภ แต่มันเป็นเรื่องของความสะดวกสบายของประชาชน แต่ปรากฏว่าอาชญากรรมนั้นมากับเทคโนโลยีซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมากกว่ารัฐ ดังนั้นรัฐจะต้องเท่าทันปัญหา ทั้งนี้ องค์กรอาชญากรมีเป้าหมายเพื่อแสวงประโยชน์หากว่าวิธีการใดสามารถได้สมดั่งเจตนาบุคคลเหล่านี้ย่อมกระทำ ดังนั้น หากว่ารัฐสามารถยึดอายัดทรัพย์สินของอาชญากรได้ก็ทำให้บุคคลเหล่านั้นไม่สามารถไปก่อความเสียหายได้อีก
นางสาวกรรภิรมย์ วิเศษสิงห์ (ผู้ดำเนินรายการ) : กรณีที่ผู้เสียหายจากการหลอกลวงนั้นมักจะทำอย่างไร และวิธีการนั้นเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด
นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช (ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม) : ผู้เสียหายจะตกใจและนำเอกสารการโอนเงินเพื่อไปแจ้งความร้องทุกข์ ในกรณีที่ไม่เข้าลักษณะของการกระทำความผิดทางอาญาจะเป็นภาระแก่ผู้เสียหายมากในการหาทนายความ อย่างไรก็ตามย่อมเป็นไปตามดุลพินิจของพนักงานสอบสวนอีกทีหนึ่งในการรับร้องทุกข์ซึ่งสะท้อนระยะเวลาในการดำเนินงานที่ยาวนานในขณะที่ทรัพย์สินของผู้เสียหายนั้นอยู่ตรงไหน ซึ่งตรงนี้ประเทศไทยยังไม่มีกระบวนการเยียวยา
ยกตัวอย่าง แชร์แม่นกแก้ว โดนโกง 180,000 บาท ในปี พ.ศ.2530 ได้รับการคืนเงินปี พ.ศ.2560 เป็นเงินจำนวน 3,200 บาท สะท้อนถึงความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ปัจจุบันนี้มีสำนักงานป้องกันการฟอกเงิน ที่สามารถยึดทรัพย์อาชญากรมาคืนแก่ผู้เสียหายเว้นแต่การถูกฉ้อโกงจากการซื้อสินค้าจะต้องอาศัยคำสั่งศาลตามระบบปกติ
ทั้งนี้ ปัญหาของประเทศไทยนั้นกฎหมายลงโทษที่ไม่มีการลงโทษที่รุนแรงและในขณะเดียวกันกระบวนการและวิธีการการเยียวยาผู้เสียหายไม่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล
การที่ผู้ซื้อนั้นมีเจตนาสุจริตเพื่อที่จะซื้อสินค้าแต่ปรากฏว่าอาชญากรในคราบของผู้ขายไม่สุจริตในการทำนิติกรรม เช่นนี้จะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
คำถาม : การฉ้อโกงประมาณ 1,000 คน ซึ่งมีช่องโหว่ของพนักงานสอบสวนซึ่งจะมีการตีความเป็นสัญญาทางแพ่งเพราะมีการซื้อขายมาก่อน แม้ความเสียหายต่อคนไม่มากแต่หากหากรวมกันเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนมักจะยึดตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 19/2541 ทั้งนี้ ควรที่จะดูที่เจตนาหรือไม่
นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช (ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม) : ตนเห็นว่าพนักงานสอบสวนท้องที่ไม่สามารถทำคดีจำพวกอาชญากรรมทางเศรษฐกิจได้ เพราะว่าอาชญากรมีความรู้มากกว่าเจ้าหนี้ที่รัฐ ซึ่งควรมีหน่วยงานดูแล ทั้งนี้ บก.ปอศ มีบุคคลกรที่น้อยหากเทียบกับพื้นที่และจำนวนคดีทั้งประเทศ ดังนั้น กระบวนการยึดอายัดทรัพย์จะต้องรวดเร็วและรุนแรงขึ้นเพื่อให้อาชญากรเกรงกลัวต่อกฎหมายมากยิ่งขึ้น
นายธีรเจต สกนธวัฒน์ : ถามว่าสิทธิของผู้บริโภคกรณีที่ถูกฉ้อโกงการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์จะเกิดขึ้นเมื่อใด และสิทธิเช่นว่านี้มีอะไรบ้าง ผู้เสียหายจะสามารถทำอะไรได้บ้าง
นายประภัทรพงศ์ ชาญชิต (นิติกรชำนาญการ กองคุ้มครองผู้บริโภค)
นายประภัทรพงศ์ กล่าวว่า สิทธิผู้บริโภคนั้นได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญและมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ในฐานะกฎหมายกลางโดยกำหนดสิทธิ 5 ประการ ดังนี้กล่าวคือ
ประการที่หนึ่ง สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารรวมถึงสิ่งพรรณนาที่ถูกต้องและเพียงพอ ซึ่งมีกฎหมายการคุ้มครองที่เกี่ยวกับโฆษณา
ประการที่สอง สิทธิในอิสระของการเลือกซื้อสิ้นค้าและบริการ เป็นที่มาของกฎหมายการขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545
ประการที่สาม สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ
ประการที่สี่ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมจากการทำสัญญา
ประการที่ห้า สิทธิที่จะได้รับการพิจารณา
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นที่คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เช่น พ.ร.บ.อาหาร พ.ร.บ.ยา ในฐานะกฎหมายเฉพาะ ทั้งนี้ การฉ้อโกงการซื้อของทางออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับกรมคุ้มครองผู้บริโภคส่วนมากจะเป็นทางแพ่ง ทั้งนี้ ตนอยากจะยกตัวอย่างเพื่อให้เกิดความเข้าใจ
ตัวอย่างเช่น การเปิด Facebook สร้าง Page เพื่อที่จะขายโทรศัพท์มือถือ 100 เครื่อง โดยการแสดงข้อความทางสื่อออนไลน์ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีสินค้าโดยปิดประกาศว่าหากมีการซื้อขายเมื่อโอนเงินมายังผู้ขายแล้วจะส่งสินค้าไปให้ ซึ่งเจตนาแต่แรกไม่ประสงค์จะขายสินค้า แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ขายนั้นมีเจตนาตั้งแต่แรกเพื่อที่จะหลอกลวงซึ่งเป็นกรณีฉ้อโกงโดยแท้รวมทั้งอาจจะมีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายคอมพิวเตอร์ด้วย อย่างไรก็ตาม การที่ข้อความที่แสดงออกไปนั้นไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการค้าจึงไม่ต้องด้วยกรณีการโฆษณาตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและกฎหมายขายตรงจึงต้องด้วยกรณีของกฎหมายอาญา
ตัวอย่างเช่น การเปิดเว็บไซต์มีระบบขายเสื้อผ้าโดยมีการโฆษณาว่าสินค้าเป็นของแท้ที่ผลิตในอิตาลี โดยที่มีประชาชนเชื่อข้อความเช่นว่านั้นและมีการสั่งซื้อเมื่อสินค้ามาถึงปรากฏว่าเป็นสินค้ามือสองและไม่ได้มาจากอิตาลี จะเห็นได้ว่าเป็นกรณีการขายของโดยหลอกลวงซึ่งจะมีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและกฎหมายคอมพิวเตอร์เพราะว่านำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ และการขายทางเว็บไซต์และมีระบบตะกร้านั้นถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบขายตรงซึ่งจะต้องจดทะเบียน ทั้งนี้ ผู้บริโภคจะได้รับสิทธิตามกฎหมายขายตรงคือการบอกเลิกสัญญาและคืนสินค้าภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับสินค้าและจะต้องคืนเงินภายใน 15 วันนับแต่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา หากไม่ยอมเงินในกำหนดจะมีเบี้ยปรับ และหากไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายผู้เสียหายมีสิทธิร้องต่อคณะกรรมการผู้บริโภค
ในกรณีธุรกิจแบบตรงและธุรกิจออนไลน์นั้นได้การกำหนดให้มีการวางเงินดังนั้นอาจจะร้องเรียนมาที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีเกิดความเสียหายซึ่งจะเป็นมาตรการในการเยียวยาความเสียหายได้ทันทีไม่ต้องดำเนินคดีในศาลซึ่งใช้ระยะเวลานาน
นายธีรเจต สกนธวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) : ถามว่า ในแต่ละหน่วยงานมีมาตรการในการจัดการและเยียวยาผู้เสียหายหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งขอบเขตในอำนาจหน้าที่ในการจัดการปัญหาฉ้อโกงการขายของทางออนไลน์ และมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหรือไม่
พ.ต.ท.พงศ์พจน์ ธรรมากุลวิชช์ (บก.ปอศ) : กระบวนการเยียวยาล่าช้าเนื่องจากวัตถุประสงค์ของผู้เสียหายต้องการจะได้ทรัพย์สินของตนคืน แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายนั้นมีขั้นตอนซึ่งพนักงานสอบสวนไม่สามารถมีอำนาจสั่งให้คืนเงินได้จะต้องอาศัยอำนาจศาล ส่วนการฉ้อโกงการขายสินค้าออนไลน์เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา โดยที่บางกรณีพนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นความรับผิดทางแพ่งโดยการฉ้อโกงเป็นความผิดกึ่งแพ่งเนื่องจากกฎหมายให้ยอมความได้ ทั้งนี้ การพิสูจน์เจตนานั้นเป็นเรื่องยากเว้นแต่จะเป็นการรวมกลุ่มผู้เสียหายและพิสูจน์ถึงการใช้ชื่อปลอมหรือว่าการกล่าวอ้างนิติบุคคลโดยที่ไม่มีการจัดตั้งแท้จริง ส่วนของการฉ้อโกงประชาชนนั้นพิจารณาจากการโฆษณาที่เป็นสาธารณะหรือไม่ เช่น Facebook ที่ตั้งค่าสาธารณะ เป็นต้น แม้จะมีผู้เสียหายรายเดียวก็เป็นการฉ้อโกงประชาชน แต่หากเป็นกลุ่มปิดจะต้องมีการพิสูจน์ เช่น กลุ่ม Facebook Line เช่นนั้นจะเป็นการฉ้อโกงธรรมดา
ในส่วนของการดำเนินคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการรับแจ้งความคือ ตำรวจท้องที่และ บก.ปอท ซึ่งโดยหลักจะเอาท้องที่เป็นสำคัญ แต่ในส่วนออนไลน์นั้นจะใช้วิธีการโอนเงินกำหนดเป็นสถานที่เกิดเหตุ หากพนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นคดีฉ้อโกงและมีความยุ่งยากอาจจะส่งเรื่องไปยัง บก.ปอท
ในส่วนของ บก.ปอศ. ซึ่งจะรับผิดชอบในขอบเขตของแชร์ลูกโซ่และการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งจัดอยู่ในกองที่ 4 โดยมีอำนาจในการดำเนินคดี ในทางปฏิบัติจะไม่ค่อยมีการแจ้งความร้องทุกข์กับ บก.ปอศ. ทั้งนี้ อำนาจของพนักงานสอบสวนไม่สามารถเยียวประชาชนได้เว้นแต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงที่เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงินมาตรา 3 ซึ่งจะมีการรายงานไปยัง ปปง. เพื่อให้พิจารณาส่งเรื่องให้คณะกรรมการธุรกรรมหรือไม่ และมาตรา 49 ของกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการเฉลี่ยทรัพย์คืนให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นกระบวนการของ ปปง. ที่มีความรวดเร็ว ตรงกันข้ามกระบวนการยุติธรรมปกตินั้นใช้ระยะเวลานานและการจะได้ทรัพย์สินคืนหรือไม่เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนสามารถอายัดหรือติดตามทรัพย์สินได้หรือไม่ และรวมถึงกรณีที่ทรัพย์สินเปลี่ยนรูปไปแล้ว เช่น เงินที่ได้จากการกระทำความผิดไปซื้อรถซึ่งไม่อาจจะยึดได้เว้นแต่ยึดไว้เพื่อตรวจสอบ ซึ่งสะท้อนข้อจำกัดในการเยียวยาคืนแก่ผู้เสียหาย
ร้อยตำรวจเอกวีระพงษ์ แนวคำดี (บก.ปอท.)
ร.ต.อ.วีระพงษ์ กล่าวว่า กฎหมายคอมพิวเตอร์มาตรา 14 นั้นได้รับการแก้ไขอนุมาตราหนึ่งเพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับประมวลกฎหมายอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาทในปี 2560 ซึ่งทำให้คำจำกัดความเฉพาะการฉ้อโกงออนไลน์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของ บก.ปอท. โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ทั้งนี้ ในการดำเนินคดีนั้นจะตั้งรูปฐานฉ้อโกงธรรมดาและความผิดฐานนำเข้าซึ่งข้อมูลเป็นเท็จ
นอกจากนี้ การฉ้อโกงประชาชนที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ ให้แจ้งความที่ บก.ปอท. ส่วนต่างจังหวัดให้แจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจในท้องที่โดยแจ้งว่ามีส่วนหนึ่งได้แจ้งแก่ บก.ปอท.แล้ว เพื่อให้มีการดำเนินคดีโดยมีการอายัดตัวผู้กระทำความผิดไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาการลงโทษไม่รุนแรงซึ่งให้ บก.ปอท. ดำเนินการก่อนแล้วให้พนักงานสอบสวนท้องที่อื่นดำเนินการตาม
ประการสุดท้ายว่าด้วยการเยียวยาประชาชนนั้นเนื่องด้วยข้อจำกัดหลายประการจึงสามารถทำได้ด้วยการติดอาวุธทางปัญญาแก่พนักงานสอบสวน
นายประภัทรพงศ์ ชาญชิต (นิติกรชำนาญการ กองคุ้มครองผู้บริโภค) : กล่าวว่าในกรณีที่เป็นการฉ้อโกงโดยแท้นั้นจะไม่อยู่ในเขตอำนาจของ สคบ. เว้นแต่เป็นการหลอกลวงการขายสินค้าโดยพิจารณาการซื้อขายทางออนไลน์ก็จะพิจารณาตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและดำเนินคดีทางอาญา ในสวนของการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงแต่ไม่ใช่การฉ้อโกงก็จะมีโทษอาญากำหนดเอาไว้ในกรณีไม่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการและสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ สคบ. มีอำนาจหน้าที่ทั้งคดีแพ่งและอาญาซึ่งทำควบคู่กันไป
ยกตัวอย่าง การที่ผู้ประกอบการลงราคาผิดพลาด เมื่อประชาชนสั่งซื้อปรากฏว่าไม่ส่งสินค้าเนื่องจากขาดทุน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยินยอมคืนเงินแต่ผู้บริโภคไม่ยอม จึงมีการดำเนินคดีทางอาญาโดย สคบ.
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขายแบบตรงทางออนไลน์จะต้องดำเนินการวางเงินหลักประกันเพื่อเป็นการเยียวยาผู้บริโภคที่อาจจะเกิดขึ้น คณะกรรมการขายตรงจะมีอำนาจพิจารณาความเสียหายโดยที่อาจจะสั่งให้นายทะเบียนจ่ายเงินค่าเยียวแก่ผู้บริโภคและส่งให้ผู้ประกอบการนำเงินมาเพิ่มเติมให้เต็มวงเงินหลักประกัน ฉะนั้น การซื้อขายตลอดแบบตรงจะเป็นการลดกระบวนการทางศาลในการเยียวยา
อย่างไรก็ตาม การเปิดร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนกับ สคบ. ที่แอบแฝงการทำสมาชิกในกลุ่มซึ่งวิธีการซ่อนเร้นในลักษณะแชร์ลูกโซ่ หากตรวจสอบพบก็จะมีการเพิกถอนใบอนุญาตรวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ด้วย
นางสาวกรรภิรมย์ วิเศษสิงห์ (ผู้ดำเนินรายการ) : ถามว่าผู้ซื้อหรือผู้บริโภคควรที่จะมีแนวทางปฏิบัติหรือระวังอย่างไรในการไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และกรณีที่ตกเป็นเหยื่อแล้วจะมีวิธีการอย่างไรในการรับมือ
พ.ต.ท.พงศ์พจน์ ธรรมากุลวิชช์ (บก.ปอศ) : กล่าวว่าการใช้สติพิจารณาและค้นหาข้อมูลหากมีข้อมูลที่น่าเชื่อมีความถูกต้องถือได้จึงค่อยสั่งซื้อ แต่หากเป็นเว็บไซต์จากต่างประเทศหรือใน Facebook ต้องระวัง ทั้งนี้ ในการชำระเงินจากการสั่งซื้อไม่ควรจ่ายเงินล่วงหน้าและไม่ควรจ่ายเป็นเงินสดแต่ควรจะใช้เป็นการเก็บเงินปลายทางโดยที่ตรวจสอบสินค้าได้ ในกรณีที่เป็นการติดต่อทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ว่ามีการใช้อยู่หรือไม่ รวมทั้งการตรวจสอบทางเว็บไซต์จากด้านอื่น ๆ ถึงการมีตัวตนและประวัติ และไม่ควรเร่งการตัดสินใจในการสั่งซื้อสินค้าเพราะบางกรณีภาพในสื่อสังคมออนไลน์นั้นสามารถจัดสร้างได้ ในกรณีนัดมอบส่วนสินค้าควรส่งมอบในสถานที่มีผู้คนพลุกพล่านและแจ้งญาติพี่น้องทราบ รวมทั้งไม่ควรซื้อสินค้าราคาถูกและสินค่าละเมิดลิขสิทธิ์
ร.ต.อ.วีระพงษ์ แนวคำดี (บก.ปอท.) : แนะนำว่าผู้ซื้อควรจะต้องตรวจสอบโดย
- 1) นำข้อมูลของผู้ขายไปตรวจสอบใน Google เพราะมีการแชร์ข้อมูล
- 2) ขอให้ผู้ขายถ่ายภาพที่ไม่ได้โพสขายและ
- 3) ขอให้แสดงสินค้าโดยการ Live
วิธีการดังกล่าวเชื่อได้ระดับหนึ่งว่าผู้ขายมีสินค้าจริง อย่างไรก็ตาม หากผู้ขายต้องการให้ผู้ซื้อมัดจำ เช่นนี้เป็นการใช้จิตวิทยาที่อยากให้ผู้ซื้อต้องการซื้อ ดังนั้นจึงต้องระวัง
นายประภัทรพงศ์ ชาญชิต (นิติกรชำนาญการ กองคุ้มครองผู้บริโภค) : กล่าวว่าในส่วนของ สคบ. ในการซื้อของทางออนไลน์ ตนอยากแนะนำให้ซื้อทางเว็บไซต์เพราะว่าเว็บไซต์ในระบบตะกร้าจะต้องมีการจดทะเบียนเข้าสู่ระบบ โดยที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐได้เข้ามาตรวจสอบควบคุมก่อนหน้าแล้ว ส่วนจำพวก Facebook หรือ IG จะต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นความน่าเชื่อถือของผู้ขายจึงมีความสำคัญมาก นอกจากนี้ ในการตรวจสอบเว็บไซต์สามารถสังเกตเครื่องหมายรับรองจากหน่วยงานรัฐได้เบื้องต้น รวมทั้งสามารถสังเกตจากการคอมเมนต์หรือ ยอดจำนวนสั่งซื้อ เพราะว่าจะสื่อว่ามีการขายและส่งสินค้าซึ่งสร้างน่าเชื่อถือ
กรณีลักษณะการซื้อขายเนื่องจากเว็บไซต์เป็นภาษาไทยซึ่งมีบริษัทในไทยเป็นตัวแทนในการส่งของแต่ตัวจริงอยู่ที่ประเทศจีน เช่นว่านี้การดำเนินการยังคงเป็นปัญหาเพราะผู้ขายอยู่ต่างประเทศเนื่องจากการดำเนินคดีจะเป็นเรื่องยาก
นอกจากนี้ ผู้บริโภคควรจะต้องเก็บหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเอาไว้เพื่อสามารถดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา
อย่างไรก็ดี การซื้อขายทางออนไลน์นั้นมีข้อดีตรงที่ว่าผู้บริโภคสามารถคืนสินค้าได้ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับสินค้าโดยที่ไม่ต้องมีเงื่อนไขใด ๆ อันเป็นไปตามสิทธิที่กฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรงรับรองเอาไว้ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคืนเงินแก่ผู้บริโภคด้วย ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่สุจริตโดยใช้สินค้าแล้วประสงค์จะคืนสินค้ากรณีนี้ทาง สคบ.ก็ไม่ดำเนินการให้ ในกรณีที่ไม่ยอมคืนเงินจะมีโทษคือเบี้ยปรับ (MRR+10) ในกรณีไม่คืนเงินและไม่ชำระเบี้ยปรับ สคบ.จะรับเรื่องและดำเนินคดีจนกระทั้งกระบวนการบังคับคดี
นายธีรเจต สกนธวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) : ถามว่าประเทศไทยควรมีมาตรการเกี่ยวกับการขายของออนไลน์เพิ่มเติมจากสิ่งที่มีอยู่หรือไม่
พ.ต.ท.พงศ์พจน์ ธรรมากุลวิชช์ (บก.ปอศ) : ตอบว่าในส่วนของตนเป็นกระบวนการสุดท้ายที่เกี่ยวข้องในส่วนที่เกิดความเสียหายแล้วมาดำเนินคดีโดยการแจ้งความร้องทุกข์ โดยที่สภาพของคดีนั้นมีส่วนที่เกิดขึ้นหลายท้องที่อันเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การที่มีผู้เสียหายหลายท้องที่จะเป็นปัญหาดังนั้นควรที่จะแก้ไขกฎหมายให้ความผิดลักษณะเช่นนี้ พนักงานสอบสวนท้องที่ใดท้องที่หนึ่งมีอำนาจไม่จำต้องพื้นที่ที่เกิดเหตุโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่เพื่อแก้ปัญหา
กรณีความเชี่ยวชาญของพนักงานสอบสวนดังนั้นจึงควรสร้างแรงจูงใจโดยการตั้งหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานและเกี่ยวกับการโยกย้ายตำแหน่งเพื่อให้ทำงานต่อเนื่องรวมทั้งการรบอมอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เท่าทันต่อเทคโนโลยี ทั้งนี้ หน่วยงานที่ควรจัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานกลางเพื่อวิเคราะห์และทำสถิติเพื่อหาแนวทางแก้ไข
กรณีการสร้างความเชื่อมโยงในกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีน้อยเนื่องจากต่างคนต่างอยู่แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเพราะว่าปัจจุบันศาลมีระบบเชื่อมโยงกับตำรวจในการออกหมายจับ
กรณีการลงโทษผู้กระทำความผิดในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งควรที่จะได้เพิ่มบทลงโทษโดยการสร้างภาระให้แก่อาชญากรมากขึ้นด้วยวิธีการอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี นอกจากนี้ควรมีการให้ความรู้แก่ประชาชนโดยบุคคลที่มีลักษณะอ่อนไหวด้วยการประชาสัมพันธ์ เช่น ในกลุ่มเด็ก เป็นต้น
กรณีของการรับจ้างเปิดบัญชีซึ่งกฎหมายกำหนดความผิดแต่การเปิดบัญชีแล้วเอาสมุดบัญชีไปให้บุคคลอื่นนั้นเช่นว่านี้ไม่มีกฎหมายกำหนดความรับผิดเอาไว้
กรณีพยานหลักฐานควรที่จะต้องจัดเก็บเอกสารหรือบันทึกภาพเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเอาไว้เพื่อประโยชน์ในดำเนินคดี
ร.ต.อ.วีระพงษ์ แนวคำดี (บก.ปอท.) : กล่าวว่าตนเน้นย้ำการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลเพราะว่าเป็นเรื่องที่สำคัญในการนำเอาข้อมูลของบุคคลอื่นไปสมัครเกี่ยวกับกระเป๋าเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลสาธารณะที่มีข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ต เช่น การสมัครทรูมันนี่ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น การประกาศรับสมัครตัวแทนขายสินค้า เมื่อมีเหยื่อหลงกลเข้าไปอาชญากรจะได้ข้อมูลคือชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ และล่อลวงให้ส่งสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาบัญชีโดยอ้างว่าจะเอาไปใช้ในหน่วยงาน แต่กลับเอาเอกสารพวกนี้ไปใช้ในการสมัครทำธุรกรรมต่าง ๆ ต่อมาเมื่อผู้เสียหายโอนเงินเข้าไปยัง Wallet ที่สมัคร ข้อมูลจะยืนยันเจ้าของข้อมูลซึ่งเจ้าของข้อมูลที่แท้จริงไม่ทราบ
เพราะฉะนั้น การหลอกให้ได้ไปซึ่งข้อมูลโดยการสมัครงานที่ต้องมีการส่งข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง นอกจากนี้ข้อมูลของบุคคลที่อยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตก็เป็นเรื่องที่อันตราย รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพนักงานหรือข้าราชการที่อยู่ในการครอบครองของรัฐหากเกิดการรั่วไหลจะก่อให้เกิดความเสียหายมาก
ฉะนั้น ถ้าอาชญากรไม่มีเส้นทางในการพรางตัวและพรางเส้นทางทางการเงินจะเป็นการลดช่องทางหรือหน่วงเวลาของพนักงานตำรวจในการสืบสวนได้
นายประภัทรพงศ์ ชาญชิต (นิติกรชำนาญการ กองคุ้มครองผู้บริโภค) : อธิบายว่าสคบ. มีนโยบายให้ผู้ประกอบการเข้ามาในระบบของรัฐมากขึ้น เพราะว่ารัฐจะได้จัดเก็บภาษีให้มากขึ้นและลดจำนวนการฉ้อโกงประชาชนได้ เพื่อการป้องกันการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคและการฉ้อโกงทางออนไลน์ อย่างก็ตาม ประเด็นการสร้างสมดุลระหว่างการป้องกันสิทธิของผู้บริโภคกับการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ
การที่กฎหมายกำหนดให้มีการวางเงินประกัน 200,000 บาท ต่อผู้ประกอบการตามกฎหมายขายตรง แต่กรณีแชร์ลูกโซ่นั้นยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐในการแก้ไขปัญหาเพราะว่าในทางปฏิบัติแล้วมีความเสียหายจำนวนมาก แต่การดำเนินงานของรัฐล่าช้าเพราะหน้าที่ในการดำเนินงานและการบูรณาการการทำงานร่วมกัน
คำถามจากผู้เข้าร่วมสัมมนา : กรณีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายจะต้องไปร้องเรียนต่อ ปคบ. ทั้งหมดหรือไม่ ในช่วงนี้ยังเป็นช่องว่างอยู่หรือไม่หรือจะต้องรอให้มีการจัดโครงสร้างหน่วยงานเสร็จก่อน หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับการฉ้อโกงออนไลน์จะต้องไปร้องทุกข์ที่ใด ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการติดอาวุธทางปัญญาแก่พนักงานสอนสวน แต่อย่างไรก็ตามไม่มีการกล่าวถึงการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบแต่อย่างใด
ในกรณีปัญหาของตนนั้นมีการเปิดเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ โดยมีการตกเหยื่อในการซื้อขายหนังสือที่ถูกกว่าท้องตลาด 10% เพื่อล่อให้เหยื่อมาติดกับ รวมทั้งมีการเปิดบัญชีปลอม จึงนำไปสู่คำถามที่ว่าด้วยจัดโครงสร้างหน่วยงานของรัฐนั้นประชาชนจะสามารถขอความช่วยเหลือได้จากหน่วยงานใด?
พ.ต.ท.พงศ์พจน์ ธรรมากุลวิชช์ (บก.ปอศ) : กล่าวว่าโดยหลักหากจะเข้า ปคบ. นั้นจะต้องเกี่ยวพันกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นการฉ้อโกง แต่หากไม่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นการฉ้อโกงตามกฎหมายอาญาทั่วไปจะต้องพิจารณาว่าจะ บก.ปอท. ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ตนไม่แน่ใจการที่ บก.ปอท. ส่งเรื่องไปที่ ปคบ. นั้น จะเป็นกรณีที่เกี่ยวกันกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่ ในส่วนต่างจังหวัดจะเป็นไปตามดุลพนินิจของพนักงานสอบโดยอาจจะต้องมีพยานหลักฐานที่หนาแน่น
ร.ต.อ.วีระพงษ์ แนวคำดี (บก.ปอท.) : แนะนำว่าให้ผู้เสียหายไปพบพนักงานสอบสวนได้ทันที ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าตำรวจให้ความสำคัญกับความผิดอาญาต่อเนื้อตัวร่างกายเพราะสามารถจับต้องได้ในขณะที่ความเสียหายต่อคดีฉ้อโกงนั้นเราสามารถที่จะรอได้ นอกจากนี้ในการดำเนินคดีพบปัญหาเกี่ยวกับการขอข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ล่าช้าอันทำให้การดำเนินคดีอาญา และในขณะเดียวกันพนักงานสอบสวนต้องป้องกันความเสี่ยงทางวินัยจากการทำงาน
คำถามจากผู้เข้าร่วมสัมมนา : ผู้ที่ฉ้อโกงที่อยู่ต่างประเทศซึ่งหลอกให้เหยื่อโอนเงินไปยังบัญชีอื่น ได้มีการร้องทุกข์ต่อพนักพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ ได้ส่งจดหมายให้กระทรวงการต่างประเทศให้ติดตามการโอนเงินว่าบัญชีของใคร จึงนำไปสู่คำถามที่ว่าพนักงานสอบสวนสามารถที่จะสืบหาบัญชีของผู้ร้ายที่อยู่ ณ ธนาคารต่างประเทศได้หรือไม่ และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่อาชญากรติดต่อมาพนักงานสอบสวนสามารถที่จะทราบ IP address อาชญากรที่อยู่ต่างประเทศได้หรือไม่
พ.ต.ท.พงศ์พจน์ ธรรมากุลวิชช์ (บก.ปอศ) : เห็นว่าค่อนข้างจะเป็นปัญหาเนื่องจากพยานหลักฐานต่าง ๆ นั้นอยู่ต่างประเทศหมด ในส่วนของการตรวจสอบบัญชีจะต้องผ่านความร่วมมีระหว่างประเทศในทางอาญาโดยมีอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นจะต้องส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ฉะนั้นพนักงานสอบสวนท้องที่จึงมีข้อจำกัดในการดำเนินคดี ทั้งนี้ จะต้องใช้เวลาและความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐ ซึ่งในบางประเทศหากมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ร้องขอซึ่งเป็นปัญหาอย่างหนึ่งโดยที่พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการขอระงับการสอบสวนชั่วคราวเพื่อที่จะป้องกันการถูกดำเนินการทางวินัย
ร.ต.อ.วีระพงษ์ แนวคำดี (บก.ปอท.) : จดหมายอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะสามารถทราบ IP address ได้หรือไม่นั้น เมื่อ 7 ปีที่แล้วสามารถทราบได้ แต่ปัจจุบันไม่ได้สามารถทราบได้ เพราะผู้ให้บริการปิดไม่ให้มีการตรวจสอบ และแม้ว่าตรวจสอบได้ผู้ให้บริการไม่ได้อยู่ในประเทศไทยก็ไม่สามารถที่จะที่จะตรวจสอบได้
นายธีรเจต สกนธวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) : กล่าวสรุปว่ามีการฉ้อโกงในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการได้ของไม่ตรงไม่ครบ รวมทั้งการส่งมอบข้อมูลให้แก่อาชญากรรม รวมทั้งขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เน้นหนักไปทางที่ บก.ปอท. ในส่วนที่เกี่ยวกับทางแพ่งก็อยู่ในอำนาจของ สคบ. และในส่วนที่เกี่ยวกับคดีที่มีความเสียหายจำนวนมากจะอยู่ในเขตอำนาจของ บก.ปอศ. ประชาชนควรจะต้องตรวจสอบให้ดีเพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อรวมทั้งกรณีที่ถูกหลอกลวงควรที่จะจัดเก็บหลักฐานต่าง ๆ เพื่อดำเนินคดีต่อไป