สรุปสาระสำคัญจากงานปาฐกถาและเปิดตัวหนังสือ เนื่องในโอกาส 60 ปี ศ.ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม 2563 เวลา 9.00 – 12.30 น. ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวแสดงมุทิตาจิต
- รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้แสดงปาฐกถา
- ศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต ปาฐกถาหัวข้อ กฎหมายสิ่งแวดล้อมยุค New Normal
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขากฎหมายเอกชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
กล่าวเปิดงานและแสดงมุทิตาจิต โดย รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กล่าวในฐานะคณบดี : เนื่องในโอกาสที่อายุครบ 60 ปี จึงได้จัดงานเพื่อเชิดชูเกียรติ แสดงมุทิตาจิตแก่ศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต ผู้มีคุณูปการต่อวงการนิติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม เป็นนักวิชาการและนักวิจัยที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดท่านหนึ่งในสาขากฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เป็นผู้บุกเบิกที่ทำให้กฎหมายสิ่งแวดล้อมลงหลักปักฐานในวงการนิติศาสตร์ไทย เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมรุ่นหลังในการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม และในบทบาทการพัฒนานวัตกรรมการศึกษากฎหมายของไทย คือ การพัฒนาหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยแบ่งแยกสาขาเป็น 8 สาขาแบบในปัจจุบัน กลายเป็นต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในการจัดทำหลักสูตร และการจัดทำหลักสูตรนิติศาสตร์แบบนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ก่อให้เกิดรูปแบบในการศึกษากฎหมายของประเทศไทยที่หลากหลายมากขึ้น และช่วยเผยแพร่องค์ความรู้กฎหมายไทยให้ชาวต่างประเทศได้รู้จักมากขึ้น
กล่าวในฐานะส่วนตัว : ศาสตราจารย์ ดร. อำนาจได้ให้โอกาสคณบดีในการทำวิจัยในฐานะผู้ช่วยวิจัย (ประมาณ 17 ปีที่แล้ว) เป็นการวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายน้ำ ทำให้ได้เรียนรู้จากศาสตราจารย์ ดร.อำนาจหลายอย่าง มีการไปสถานที่ต่าง ๆ ในหลายจังหวัด ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ได้สัมผัสชุมชน เป็นการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งปกติเราจะทำงานแบบเชิงทฤษฎี จึงขอขอบคุณศาสตราจารย์ ดร.อำนาจที่ให้โอกาสเรียนรู้ ได้ทำงานวิจัยครั้งแรก และประสบการณ์ชีวิตใหม่ ๆ และศาสตราจารย์ ดร.อำนาจเป็นแบบอย่างของศาสตราจารย์ ดร.อำนาจที่จริงจังกับการทำงานวิชาการและการสอนที่เป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของการเป็นอาจารย์ ให้ความร่วมมือกับคณะทุกครั้งเป็นอย่างดี รวมถึงให้ความเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เสมอ
กล่าวแสดงมุทิตาจิตในนามตัวแทนศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย
ผศ.ดร.นพร กล่าวว่า เมื่อมองจากมุมของนักศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.อำนาจเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ กล่าวคือ ในสไลด์สอนของศาสตราจารย์ ดร.อำนาจในวิชากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมือง ที่เป็นภาพเมืองในประเทศต่าง ๆ ทำให้นักศึกษาเหมือนได้เที่ยวรอบโลกและก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนต่อต่างประเทศ ผศ.ดร.นพรเป็นคนหนึ่งที่มีแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อจากรูปสไลด์ของศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ และในมิติของนักศึกษาปริญญาโท การรับจำนวนนักศึกษาในที่ปรึกษาเป็นจำนวนมาก อันแสดงให้เห็นถึงความความชื่นชมของนักศึกษาและความเมตตาในการให้คำแนะนำของศาสตราจารย์ ดร.อำนาจต่อนักศึกษา
เมื่อมองจากมุมมองของอาจารย์รุ่นใหม่ ศาสตราจารย์ ดร.อำนาจเป็นหนึ่งในผู้ประสบความสำเร็จในทางวิชาการและเป็นตัวอย่างที่ควรจะเดินตาม อีกทั้งยังให้ความเห็นในทางที่เป็นประโยชน์แก่ผศ.ดร.นพรเสมอ และให้ความกรุณาในการเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการของศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสมอ
และหนังสือที่จัดทำขึ้นเป็นที่ระลึกในงานนี้ มีเนื้อหาที่เป็นเรื่องทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยข้อความคิดทางวิชาการและทางปฏิบัติที่หลากหลายในมิติต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
ปาฐกถาหัวข้อ กฎหมายสิ่งแวดล้อมยุค New Normal โดย ศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต
ศ.ดร.อำนาจ กล่าวใน 3 ประเด็น คือ
1. หลักการใหม่ ๆ ทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมไทยที่น่าสนใจในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
การมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย กลายมาเป็นหลักการสำคัญมากในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยปรากฏอยู่ในหลายเรื่องมากมาย เช่น การจัดทำร่างกฎหมายโดยหน่วยงานรัฐ การอนุญาตในการตั้งโรงงานหรือออกประทานบัตรทำเหมือง การจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การจัดทำนโยบายและแผนต่าง ๆ เป็นต้นสิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสีย นอกจากนี้แล้ว ประชาชนยังมีส่วนร่วมในการใช้บังคับกฎหมายอีกด้วย ซึ่งแต่เดิมรัฐจะเป็นผู้เสียหายและฟ้องคดีได้ฝ่ายเดียว แต่ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายทำให้สามารถฟ้องคดีได้เอง ตลอดจนถึงบทบาทของศาลในการวินิจฉัยถึงความมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวคือ ศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าการกระทำของหน่วยงานหรือเอกชนนั้น ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพียงพอแล้วหรือยัง หลักการนี้ได้รับแนวคิดจากต่างประเทศและมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมาก
การฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) เพื่อลดต้นทุนทางสังคม ไม่ต้องแยกกันฟ้อง ที่จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาเยอะมาก ฟ้องแค่คนเดียวก็มีผลต่อบุคคลอื่น ๆ ด้วย ซึ่งถูกใช้ในคดีหลายประเภทมากไม่จำกัดแค่คดีสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงภาระในการพิสูจน์ ในคดีสิ่งแวดล้อมมักจะมีความซับซ้อน ยากมากที่ประชาชนจะพิสูจน์ได้ เมื่อมีการแก้ไข ป.วิ.แพ่ง ในกรณีที่มีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด ฝ่ายนั้นก็พิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.อำนาจจึงเห็นว่าเป็นการผลักภาระการพิสูจน์แก่ผู้ก่อความเสียหาย เช่น พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 สันนิษฐานไว้ก่อนว่าความเสียหายเกิดจากผู้ได้รับใบอนุญาต หากพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องรับผิด เป็นต้น
ค่าสินไหมทดแทน แต่เดิมก็ต้องฟ้องทางละเมิด และหากเกิดแก่สิ่งแวดล้อมก็เรียกร้องไม่ได้ มีแต่รัฐเท่านั้นที่จะดำเนินคดีอาญา เช่น การตัดไม้ การปล่อยน้ำเสีย เป็นต้น การแก้ไขกฎหมายจึงทำให้มีการกำหนดค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษ ค่าฟื้นฟู รวมถึงค่าเสียหายเชิงลงโทษ
การตีความของศาลที่ต่างจากแนวเดิม กล่าวคือ การที่ศาลปกครองตีความว่าองค์กรเอกชนที่ดูแลสิ่งแวดล้อมสามารถฟ้องคดีได้ทั้งที่จริงอาจจะไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็ได้ หรือศาลยุติธรรมยอมให้ประชาชนสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ไม่สามารถจับสัตว์น้ำและหาพืชผักไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้เป็นของสาธารณะ นับเป็นพัฒนาการของศาลที่ช่วยกันในการรักษาสิ่งแวดล้อม
รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2560 มาตรา 25 แต่เดิมใน ร.ธ.น.ฉบับก่อน ๆ จะมีถ้อยคำว่า “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ทำให้ศาลตีความว่า เมื่อยังไม่มีกฎหมายบัญญัติ สิทธิตามรัฐธรรมนูญก็ไม่เกิด เมื่อมีการตัดถ้อยคำ “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ออกไป ทำให้มีสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แม้จะยังไม่มีกฎหมายบัญญัติออกมาเฉพาะ
2. ข้อห่วงใยทางกฎหมาย
การใช้กระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้งอีกฝ่ายหนึ่งในเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ประชาชนไปประท้วงเพื่อไม่ให้มีการประกอบธุรกิจที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะถูกอีกฝ่ายที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเหนือกว่าฟ้องเรียกค่าเสียหายในจำนวนมหาศาลและอาจถูกฟ้องในหลายท้องที่ ตนจึงฝากนักกฎหมายรุ่นใหม่ ๆ หาหลักเกณฑ์ในการป้องกันกรณีนี้
การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น ชาวบ้านบุกรุกป่า คดีรวดเร็ว แต่เมื่อเป็นนักการเมืองบุกรุกป่า คดีกลับช้ามาก ควรจะมีกำหนดเวลาในการพิจารณาหรือไม่ หรือมีแนวทางอื่นหรือไม่
พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ที่ให้อำนาจศาลในการไม่ลงโทษ หรือลงโทษน้อยกว่าที่กำหนด หรือกำหนดสภาพบังคับที่เป็นผลร้ายแตกต่างจากที่กฎหมายกำหนดก็ได้ อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญในประเด็นการแบ่งแยกอำนาจที่ฝ่ายตุลาการไปใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ
3. เราจะเดินไปอย่างไรในอนาคตของกฎหมายสิ่งแวดล้อม
กฎหมายสิ่งแวดล้อมไทยไม่ได้เลวร้าย แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวคือ
กฎหมายสิ่งแวดล้อมในบางประเด็นเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่ต้องอาศัยความรู้และอุปกรณ์บางอย่างมาช่วยในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้เกิดความยุ่งยากจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ต้องการที่จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริวจัง เช่น การฟ้องคดีว่าโรงงานปล่อยน้ำเสีย ก็จะต้องไปเก็บตัวอย่างน้ำ นำมาเข้าห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ผลที่ได้นั้น จึงก่อความยุ่งยากแก่หน่วยงานที่ปฏิบัติต่างกับการดำเนินคดีอาญาทั่วไปที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า
ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในสังคมระบบอุปถัมภ์ เป็นปัญหาระดับใหญ่มาก ควรจะทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
ชาวบ้านขาดความเชื่อถือและเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายของทางราชการ เราจะหากลไกที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นกลับมาได้อย่างไร
ในท้ายสุด ศาสตราจารย์ ดร.อำนาจได้กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่จัดงานให้และผู้ที่มาร่วมงานในวันนี้