สรุปสาระสำคัญจากปาฐกถาหัวข้อ “ชีวิต งาน และปณิธานเมื่อ 60 ปี” เนื่องในโอกาส 60 ปี ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวแสดงมุทิตาจิต
- นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา
ผู้กล่าวปาฐกถา
- ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายศุภสิน เจียรพาณิชย์พงศ์ นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กล่าวเปิดงาน)
ศ. (พิเศษ) นรนิติ กล่าวเปิดงานโดยกล่าวว่า เป็นฤกษ์งามยามดีที่จะได้ฉลองครบรอบ 60 ให้แก่ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชน ขณะนี้ท่านอายุ 60 ปี ถือเป็นมงคลชีวิตที่งดงาม ท่านได้รับราชการ รับใช้สังคมมาเป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษ แม้ท่านอายุ 60 ปี ท่านก็ยังหนุ่มแน่น วันนี้ท่านก็ยังอุทิศชีวิตแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อไป ศ.พิเศษ นรนิติได้มีโอกาสได้รู้จักศ.ดร.สุรพลตั้งแต่ครั้งท่านยังเป็นนักศึกษายาวนานมา 40 ปี ได้รู้ได้เห็นเป็นประจักษ์ต่อความสามารถของท่าน ส่วนใครที่ยังไม่ทราบก็จะได้ทราบในข้อเขียนอันปรากฏในหนังสือในวันนี้
เรื่องแรกแรก ศ.พิเศษ นรนิติได้รู้จักศ.ดร.สุรพลในฐานะคนทำกิจกรรม ศ.พิเศษ นรนิติเป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา วันหนึ่งมีการจัดเลี้ยงฉลองนักศึกษาที่ได้ทุนภูมิพล ศ.ดร.สุรพลก็มาด้วย หมายความว่าศ.ดร.สุรพลเป็นนักกิจกรรมที่การเรียนเก่งด้วย สามารถทำ 2 อย่างได้และประสบความสำเร็จ
เรื่องที่สอง ศ.พิเศษ นรนิติ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2554 ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เสียหายยับเยิน ดูไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ปรากฏมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำประกันเอาไว้ ศ.พิเศษ นรนิติเคยเป็นอธิการบดีมาก่อน เราไม่เคยประกันน้ำท่วมเอาไว้ ใครที่มีทัศนะวิสัยไกลถึงเพียงนี้ ปรากฏทำในสมัยศ.ดร.สุรพลเป็นอธิการบดี ศ.พิเศษ นรนิติเคยถามศ.ดร.สุรพลว่าคิดได้อย่างไร ศ.ดร.สุรพลบอกไม่ได้คิดหรอก กลัวคนเผามหาวิทยาลัย สรุปได้เงินมาเยอะจนสามารถซ่อมแซมศูนย์รังสิตได้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
เรื่องสุดท้าย เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด- 19 ศ.ดร.สุรพลเป็นอีกหนึ่งคนที่สามารถอธิบายโรคนี้ได้ดี เพราะท่านเป็นประธานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และขอฝากท่านประธานรัฐสภา หากกระทรวงสาธารณสุขต้องการนักการเมือง อย่าลืมศ.ดร.สุรพล
ความสำเร็จของบุรุษมักมีสตรีอยู่เบื้องหลัง ความสำเร็จของศ.ดร.สุรพลมองข้ามสตรีนางหนี่งไม่ได้ คือภริยา คุณจรรยา ซี่งนั่งอยู่ข้างหน้านี้ด้วย หากจะออกมาทำงานข้างนอกแล้วภริยาไม่สนับสนุน ยากที่จะสำเร็จไปได้
สุดท้าย ปปช. ห้ามให้ของขวัญเกิน 3,000 บาท ของศ.พิเศษ นรนิติไม่เกิน 300 บาท ขอมอบโครงให้อาจารย์สุรพลบทหนึ่ง
“สุรพลชาญเชี่ยวรู้ มนูธรรม
นิติธรรมศาสตร์นำ เก่งกล้า
ไกรเกียรติอธิการจำ เจิดแจ่มโดมเพย
พจน์พิสูจน์เด่นท้า ทั่วดาวสยามยิน”
ศ.ดร.สุรพลและครอบครัวนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ขอให้ได้รับความคุ้มครองและยั่งยืนทำงานให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และประเทศไทยอีกต่อไป
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา (แสดงมุทิตาจิต)
ก่อนจะแสดงมุทิตาจิต นายชวนได้ระลึกความหลังเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว เมื่อตนมาเป็นนักศึกษาที่นี่ เมื่อปี 2501 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ใครที่สอบที่ไหนไม่ได้ หรือโดนรีไทร์ หรือมีความตั้งใจจะเรียนที่นี้โดยตรงก็มาที่นี่ สมัยก่อนคณะนิติศาสตร์ยังไม่มีอาจารย์ประจำดังนั้นผู้บรรยายทั้งหมดเป็นบุคคลภายนอก ท่านที่สอนประวัติศาสตร์กฎหมายไทยคือพระยานิติศาสตร์ไพศาล เทคโนโลยีเครื่องมือยังไม่ค่อยพร้อม ใครที่จดเลคเชอร์ได้ดีก็พิมพ์ชีทขาย คนที่สอนก็มีคุณหลวง คุณพระ พระยา หลวงประเสริฐมนูกิจคู่กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงสิทธิมนนฤนาฎคู่กับหลวงสุทธิราชนฤบุญ หลวงสิทธิมนนฤนาฎลูกสาวท่านคือผู้ที่จะเป็นประธานศาลฎีกาหญิงคนแรกของประเทศไทย สิ่งที่ธรรมศาสตร์ยึดมั่นคือ ไม่ยอมให้ใครผ่านไปได้โดยที่คุณวุฒิยังไม่พร้อม ยังนึกถึงคราวที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช มาเล่นดนตรีและเก็บเงินคราวละ 2 บาท เพราะตอนนั้น มหาวิทยาลัยต้องทำกิจกรรม วันนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หารือเรื่องเพลงยูงทอง แต่จบด้วยเนื้อร้องและทำนองโดย ร.9 นำร่างของ ม.ร.ว.เสนีย์ มาใช้
นายชวนกล่าวต่อไปว่า มุทิตาจิต คือ การแสดงความยินดีกับผู้ที่ประสบความสำเร็จ การแสดงความยินดีต่อศ.ดร.สุรพล คงไม่มีอะไรมากไปกว่าที่ตนเขียนในหนังสือ บทรำลึก 60 ปี ของศ.ดร.สุรพล เนื่องจากตนรู้จักศ.ดร.สุรพล ซึ่งตนเรียกว่าอาจารย์ เมื่อได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตนรำลึกว่า บทรำลึกนี้ไม่สมบูรณ์เท่าชีวิตของศ.ดร.สุรพลตั้งแต่เป็นนักศึกษาจนได้รับทุนภูมิพล สำเร็จเนติฯ และสำเร็จการศึกษาที่ฝรั่งเศส เป็นความสำเร็จตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มน้อย
เมื่อทบทวนการทำหน้าที่ของศ.ดร.สุรพลตั้งแต่ทำงานครั้งแรก อศ.ดร.สุรพลประสบความสำเร็จทางด้านวิชาการ ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์สาขากฎหมายมหาชน ได้รับผลงานวิจัยดีเยี่ยมสาขานิติศาสตร์ เป็นนักวิจัยดีเด่น
ในด้านวิชาการศ.ดร.สุรพลได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.สุรพลนำธรรมศาสตร์ก้าวไปข้างหน้าให้ทันสมัย ศ.ดร.สุรพลได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารองค์กรภายในและภายนอกหลายแห่ง ข้อความในเบื้องต้นนี้เพื่อให้เห็นพัฒนาการความก้าวหน้าทั้งการเรียนและการทำงานของศ.ดร.สุรพล ด้วยวัยวุฒิที่ห่างกันมากแต่ในฐานะที่ร่วมสถาบันเดียวกันจึงได้ร่วมงานกับศ.ดร.สุรพล ประสบการณ์ในช่วงดังกล่าวมีความหมายมาก ด้วยความรู้ ระบบใหม่ ความสามารถ ศ.ดร.สุรพลได้นำความทันสมัยมาให้มหาวิทยาลัยด้วยความรู้ ความรับผิดชอบ และหลักธรรมาภิบาล ความสำเร็จในหน้าที่ของศ.ดร.สุรพลนั้นหาได้เป็นเกียรติและชื่อเสียงส่วนตัวของศ.ดร.สุรพลแต่เพียงผู้เดียว แท้จริงผลประโยชน์ดังกล่าวเป็นผลประโยชน์โดยรวมของสถาบันและองค์กร
ข้อสังเกตประการต่อมาจากคำถามของตนว่าศ.ดร.สุรพล “มีวิธีการทำงานอย่างไรจึงทำงานให้ประสบความสำเร็จด้วยดีได้” ตนเชื่อว่าลำพังเพียงความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความสามารถ ไม่น่าจะทำให้ประสบความสำเร็จถึงเพียงนี้ จะต้องมีเหตุผลอื่นด้วย เพราะบางโครงการที่ศ.ดร.สุรพลรับผิดชอบไม่ได้รับงบประมาณแผ่นดิน แต่สามารถพัฒนางานได้จากผู้สนับสนุนทั้งภาคราชการและภาคเอกชน ศิษย์เก่า กัลป์ยาณมิตร ภริยา นายชวนสรุปในบันทึกรำลึกว่า การที่ผู้ร่วมงานก็ดี บุคคลภายนอกก็ดี สนับสนุนด้วยความรู้ ทรัพย์สิน เงินทอง ล้วนเกิดจากความเชื่อถือ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เกิดจากพฤติการณ์ส่วนตัวของศ.ดร.สุรพลเอง ในทัศนะของตนศ.ดร.สุรพลเป็นผู้มีนิสัยและอัธยาศัยไมตรีที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานทำให้งานเกิดผลสำเร็จ รำลึกศ.ดร.สุรพลความชื่นชม ภูมิใจ เชื่อว่า 60 ปีที่ผ่านมาศ.ดร.สุรพลได้พิสูจน์ความรู้ ความสามารถเพื่อนำไปสู่บทบาทที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต ไม่ใช่การจบชีวิตเพียงที่ 60 เท่านั้นแต่เป็นชีวิตที่อิสระในการทำงานในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ชีวิต งาน และปณิธานเมื่อ 60 ปี”
ศ.ดร.สุรพล กล่าวเบื้องต้นว่า หัวข้อที่ตนจะพูดในวันนี้เป็นหัวข้อสั้น ๆ “ชีวิต งาน และปณิธาน” นี้เป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงงานและชีวิตของตนเอง แม้จะเคยพูดกับพรรคพวกก็ในบางประเด็นเท่านั้น ค่อนข้างยากว่าเคยทำอะไรบ้างและยากที่จะเล่าให้สอดคล้องกับหัวข้อ
ชีวิต ตนเป็นเด็กต่างจังหวัด เกิดอุดรธานี ย้ายไปอยู่เมืองเลย เรียนโรงเรียนเลยพิทยาคมจนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย จนสอบเข้าที่ ธรรมศาสตร์ ค่อนข้างต่างกับนายชวนฯ ของตนมีหอพัก มีเวลาเต็มที่กับชีวิตในการเรียนรู้ ในตอนที่เราเป็นเด็ก ไม่ค่อยตั้งใจเรียนมากนักเพราะถูกเพื่อน รุ่นพี่ชวนไปทำกิจกรรม เป็นกรรมการนักศึกษา 3 ปีติดต่อกัน จบแล้วก็ถูกเลือกเป็นกรรมการบัณฑิตในปีนั้นด้วย เป็นนักกีฬาเทนนิส แม้จะแพ้แต่ก็จำได้ว่าเคยเป็น
เมื่อจบแล้วด้วยความพยายามการรู้จักมักคุ้นกับคนเยอะมาก ทำให้ฝึกระบบความคิดได้ระดับหนึ่ง จบที่หนึ่งรุ่น เมื่อจบแล้วมาสอบเรียนปริญญาโท เป็นเรื่องเดียวที่ตนทำไม่สำเร็จ เพราะตอนนั้นได้ทุนและก็มาสมัครเป็นอาจารย์ผู้ช่วยของคณะ ไปเรียนต่อประเทศฝรั่งเศส 6 ปี กลับมาปี 2533 มาเป็นอาจารย์ ตอนนั้นสอนด้วยกันหลายวิชา ช่วยงานศ.พิเศษ นรนิติ ทำงานหลายอย่างทีเดียวตอนสมัยศ.พิเศษ นรนิติเป็นอธิการบดี ตลอด 10 ปีก็ขอตำแหน่งทางวิชาการเรื่อยมา เป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชนตอนอายุ 40 ปี และได้เสนอตัวเป็นคณบดีได้เป็นคณบดีอยู่ 3 ปี และได้เสนอตัวเป็นอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัยสมัยนั้นก็ได้ไว้วางใจให้เป็นอธิการบดี ตอนอายุ 44 ปี ก็เป็นอธิการบดีอยู่ 2 วาระ วาระละ 3 ปี ครบ 50 ปีก็กลับมาเป็นอาจารย์ประจำกลับมาสอนที่คณะนิติศาสตร์ ในวันนี้ อธิการบดีสมคิด อธิการบดีเกศินี ก็ได้มอบหมายให้ดูแลโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ท่านอาจคิดว่าอยู่กับคนป่วยไม่สดใสจึงมอบให้เป็นประธานโรงเรียนอนุบาลธรรมศาสตร์และประธานกรรมการบริหารศูนย์หนังสือ มธ. ด้วย
ต่อมาก็มาเป็นคณะกรรมการ กกต. คณะกรรมการกฤษฎีกาขณะนั้นจนถึงปัจจุบัน ตนน่าจะเป็นคณะกรรมการกฤษฎีการที่อายุน้อยที่สุด ตอนนั้นอายุ 36 ปี ในฐานะกรรมการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์
วันนี้ทำงานมาครบ 40 ปีหลังจากเรียนจบ ชีวิตดีมีภริยา 1 ลูก 2 คน
งาน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ประการแรก งานที่ทำในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประการที่สอง งานที่ทำนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
งานที่ทำในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถแยกได้ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก งานของคณะนิติศาสตร์ ส่วนที่สอง งานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฃงานของคณะนิติศาสตร์ เกือบ 20 ปีที่แล้วตอนเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ ตนเริ่มระบบอาจารย์ประจำคู่ขนาน เพราะคนส่วนมากเมื่อสอบปริญญาตรีได้แล้ว ไปต่อเนติฯ พอมีเงินเดือนก็ไม่มีใครอยากมาเป็น และยากที่จะจ้างคนที่จบปริญญาเอกที่ต่างประเทศ ก็เริ่มจ้างอาจารย์ประจำโดยเลือกจากคนที่จบปริญญาตรีเก่ง ๆ และขอให้ยอมรับว่านี้คืออาจารย์ ตอนนั้นตนบอกอธิการบดีว่า ให้เด็กที่เรียนเก่งเหล่านี้เป็นอาจารย์และให้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศไม่เสียคนให้ระบบอัยการ ตุลาการ เป็นต้นแบบให้ระบบอาจารย์ประจำต่อไป อีกงานคือการจัดโครงการฝึกอบรมต่าง ๆ ในคณะและเก็บเงินเพื่อให้อาจารย์มีโอกาสพบคนข้างนอกเพื่อให้ความรู้ หาทุนในการศึกษาวิจัย กิจกรรมต่าง ๆ ในคณะ คิดว่าคณะนิติศาสตร์เป็นคณะแรก ๆ ที่เริ่มทำ ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบันนี้โครงการอบรมประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชนนีก็ยังทำอยู่น่าจะรุ่น 54 แล้ว
งานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างระบบโครงการบริการสังคมให้มหาวิทยาลัยและเป็นต้นแบบให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในสมัยศ.พิเศษ นรนิติเป็นอธิการบดีตนเป็นผู้ที่ทำให้เกิดสถาบันเทคโนโลยีสิรินธรซึ่งเป็นวิศวะที่เก่งภาษาอังกฤษ และก็ได้ไปจัดการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวที่ไม่ได้สังกัดคณะแพทย์ศาสตร์มีการบริหารจัดการที่ดี มีบุคลากรที่ดี ใช้งบประมาณ 5,500 ล้านบาท
ตนเป็นคนสร้างระบบการทำงานวิจัยในธรรมศาสตร์ ในสมัยที่ตนเป็นอธิการบดีในปีนั้นตนได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการวิจัย มีการตั้งงบการวิจัย ระบบการวิจัยน่าจะเป็นต้นเหตุให้ธรรมศาสตร์จากเดิมที่ถูกมองว่าเป็นมหาวิทยาลัยด้านสังคมศาสตร์ได้รับการยอมรับเป็น 1 ใน 9 มหาลัยด้านวิจัย
ในส่วนงานที่สำคัญและชอบมากคือการดูแลสถานที่ อาคาร และภูมิทัศน์ โชคดีที่ท่าพระจันทร์ที่ตนทำเมื่อ 15 ปีที่แล้วยังไม่ได้เปลี่ยน มีการสร้างหอพักที่ศูนย์รังสิต จัดทำทางจักรยานทั่วมหาวิทยาลัย
งานที่สำคัญอีกงานหนึ่งคือจัดระบบข้าราชการมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์มีคนที่ไม่ใช่ข้าราชการเยอะมาก ตอนรัฐบาลสมัยนายกชวน ธรรมศาสตร์ได้มีการวางระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จัดทำระบบความก้าวหน้าในการทำงานให้เขามีสิทธิที่จะเป็นผู้บริหาร
พัฒนาศูนย์ลำปาง มีการสร้างหอพักนักศึกษา พัฒนาห้องสมุด วางระบบการเดินทางในธรรมศาสตร์ รถ NGV เมื่อ 15 ปีที่แล้วยังวิ่งอยู่
งานที่ทำนอกมหาวิทยาลัย สิ่งที่ตนทำคือการเตรียมนักกฎหมายมหาชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายไทยสมัยตอนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นการเตรียมบุคลากรทางกฎหมายมหาชน เพราะการมีบุคคลที่เข้าใจกฎหมายมหาชนเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเปลี่ยนแปลง
อีกงานที่สำคัญคือการสร้างระบบองค์การมหาชนในระบบกฎหมายไทยซึ่งแต่เดิมมีแต่องค์กรรัฐ รัฐวิสาหกิจ การจัดระบบองค์กรเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูประบบราชการในสมัยนายกชวนฯ
การปฏิรูปการศึกษามีคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาในสมัยนายกอภิสิทธิ์ ซึ่งมาถามตนว่าระหว่างกรรมการกระจายอำนาจ กับกรรมการปฏิรูประบบการศึกษาอยากเป็นอะไร ตนเลือกเป็นกรรมการปฏิรูปการศึกษา ผลจากการตัดสินใจครั้งนั้นคือการยุบกระทรวงศึกษารวมกับทบวงมหาวิทยาลัย
ตนเป็นคนริเริ่มให้เริ่มระบบศาลปกครอง ตอนปี 38 ถึง 42 ซึ่งฝั่งที่ไม่เห็นด้วยคือศาลยุติธรรม จนกระทั่งสำเร็จเกิดศาลปกครองในประเทศไทยเป็นความสำเร็จของคนกลุ่มน้อย และทุกวันนี้ตนเป็นที่ปรึกษาศาลปกครอง
ในช่วงปี 2542 ถึง 2543 ตนมีส่วนร่วมในการวางระบบองค์กรอิสระ 2 ถึง 3 องค์กร ปปช. กกต. ไปช่วยวางระเบียบ
อีกเรื่องคือการที่ตนมีบทบาทร่วมกับกลุ่ม ปตท.ในการสร้างระบบอุดมศึกษาที่วังจันทร์ในระยอง ตอนนี้ ปตท.ใช้งบไป 6,000 ล้านบาท เกิดเป็นโรงเรียนกำเนิดวิทย์ สถาบันวิทยสิริเมธี
อีกบทบาทคือเป็นผู้ทำให้เกิดมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขอประกาศว่ามหาวิทยาลัยดังกล่าวจะเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ได้รับการยอมรับมากตั้งแต่ปีหน้า
เรื่องสุดท้ายคือการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ฟังดูเป็นเรื่องธรรมดาแต่ตอนที่ประกาศดำเนินการเป็นการประกาศในช่วงมีนาคม 2563 ในยุคที่ไม่มีใครรู้จักโรคนี้มาก่อน
ในเรื่องที่ทำงานด้านการเมือง ตนมีส่วนทางด้านการเมืองค่อนข้างเยอะและคิดว่าจะเขียนไว้ในอนุสรณ์งานศพว่าได้ทำอะไรมาบ้างในทางการเมือง หลายเรื่องสังคมไม่รู้ว่าเบื้องหลังเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง มีทั้งสำเร็จและล้มเหลวในหลายเรื่องและไม่สมควรพูดถึงในเวลานี้
สรุปในประเด็นว่าที่ผ่านมา 60 ปีซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ท่าน ตนได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำงานตลอด 40 ปี เรียนรู้ว่าโลกและสังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงโดยความเปลี่ยนแปลงนี้เร็วขึ้นเรื่อย ๆ คนรุ่นเก่าจะตามไม่ค่อยทัน ความเร็วเพิ่มขึ้น 10 เท่า คนรุ่นใหม่เรียนรู้เร็วขึ้นผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนที่ตนเรียนรู้คือตอนนี้เมืองไทยกำลังเดินทางไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนสองยุค คือกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป และกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปี คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปเป็นคนที่มีฐานะการทำงานและครอบครัว น่าจะประมาณ 40% และกุมทุกอย่างไว้ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ส่วนในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปีนี้มีความเป็นอิสระ เขามีวิธีคิดของเขาโดยเฉพาะ เข้าใจโลกอีกแบบ ตนรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้กำลังจะไม่มีที่ยืนในสังคมด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ก่อนและหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่กระทบกับคนกลุ่มบน วันนี้กำลังจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคมไทยระหว่างคน 2 กลุ่ม คนในยุคเก่าไม่กล้าพูดเพราะเขามีสถานะที่ต้องรักษาไว้ ส่วนคนยุคใหม่ เขาไม่มีอะไรจะเสีย เรากำลังจะเผชิญหน้ากับคนกลุ่มนี้ซึ่งกำลังจะเริ่มต้นที่นี้ พรุ่งนี้
ตนไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร ตนรู้จักกับทุกพรรค เข้าใจวิธีคิด เมื่อไรก็ตามที่คน 2 กลุ่มซึ่งไม่มีอะไรเหมือนกันเลยจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างร่วมกัน เมื่อคนกลุ่มที่อายุมากกว่าไม่ยอมเปิด ไม่ยอมเสีย วันนั้นจะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ ขอเรียนว่าเวลาอยู่ข้างคนอายุน้อยกว่าเสมอ ถ้าเราไม่เปิดช่องทาง ไม่ฟังเขา ไม่ยอมปรับเปลี่ยนและเสียอะไรบางอย่างที่เรามี มันจะนำไปสู่อะไรบางอย่างที่อาจดีหรือแย่
มีการเรียนรู้ว่า ผู้มีอำนาจไม่เคยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ขอเรียนว่าคนเหล่านี้มีสิทธิมีเสียงในการแสดงออกของเขา การที่ไปตัดกระบวนการแสดงออกของเขาโดยไม่มีฐานทางกฎหมาย เช่น การยุบพรรคการเมืองก็จะนำไปสู่การปะทะครั้งใหญ่ เพราะเมื่อไรที่เขามีตัวแทนเขาก็จะไม่มาทำ เมื่อเขาไม่มีตัวแทนเขาก็จะลงมาบนถนน
เมื่อไรที่ตัดสินใจอย่างนี้จะเกิดการะปะทะกันของคน 2 รุ่นซึ่งเป็นสิ่งที่ตนเสียใจ มันอาจจะโชคดีเพราะเป็นการปะทะกันทางความคิด แต่อาจเป็นการปะทะกันอย่างอื่นซึ่งตนเสียใจ
การที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ ทำงาน ได้เปลี่ยนสถานภาพทางสังคมเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง สิ่งที่ได้มาคือการได้มาเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ให้โอกาส ตนรู้สึกว่าไม่ว่าจะอยู่ในสถานะอะไร เมื่อมีโอกาสจะต้องชดใช้คืน เป็นหนี้ที่ชดใช้ไม่หมดไม่ว่าจะ 65 หรือ 70 ตนจะทำทุกอย่างเพื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพราะฉะนั้นหลังจากนี้ ตนจะทำงานต่อไป อะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็จะตอบรับ
ศ.ดร.สุรพลกล่าวปิดท้ายว่า ไม่คิดว่าตนมีความสามารถอะไรเป็นพิเศษนอกจากเรียนกฎหมาย ไม่ได้ต้องการอะไร ไม่ว่าสถานภาพทางสังคมหรือค่าตอบแทนที่มากไปกว่านี้ ตนมองในแง่ที่ดี เรียนกฎหมายเก่ง เข้าใจโลก ไม่มองคนในแง่ร้าย มีความตั้งใจ ถ้าได้ทำอะไรได้เพื่อสังคมก็จะเต็มใจทำ นี้เป็นปณิธานตลอด 60 ปี เพื่อชำระหนี้ที่ชำระไม่หมดที่มีต่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้