สรุปสาระสำคัญจาก “โครงการฝึกอบรมกฎหมายภาคปฏิบัติประจำปีการศึกษา 2561” จัดโดย ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้อง SC- 3010 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
วิทยากร
- อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อาจารย์กิตติภพ วังคำ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายอานนท์ แก้วปัญญา นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
อาจารย์ ศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง (วิทยากร)
อ.ศุภวิช กล่าวถึงประสบการณ์การฝึกงานว่าตนฝึกงานที่สำนักงานทนายความ โดยงานที่ได้ทำช่วงฝึกงาน ได้แก่ การร่างคำคู่ความ เตรียมเอกสารประกอบการพิจารณาคดี และการติดต่อประสานงานกับศาลยุติธรรม เมื่อผ่านการฝึกงานแล้วพบว่าตนไม่ชอบการประกอบวิชาชีพทนายความ เนื่องจากต้องออกเดินทางบ่อยและหลายครั้งก็ต้องเดินทางในระยะทางไกล เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีประจวบกับได้ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขากฎหมายธุรกิจที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พอดี จึงได้เริ่มศึกษาต่อในระดับปริญญาโทต่อทันที โดยค้นพบว่าตนสนใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในการเรียนระดับปริญญาโทแรกเริ่มจึงมีความตั้งใจที่จะศึกษาและทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นยังมีข้อจำกัดบางประการทั้งในแง่ทรัพยากรและที่ปรึกษาในประเด็นที่มุ่งจะศึกษา ตนจึงเปลี่ยนมาวิจัยในเรื่องของการรับโนสิทธิเรียกร้องทางการเงินเพื่อเชื่อมโยงกับการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งตรงกับความเชี่ยวชาญของอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ที่มี ณ ขณะนั้น หลังจากใช้เวลาศึกษาในระดับปริญญาโททั้งสิ้น 2 ปี ก็สำเร็จการศึกษา โดย ณ ขณะนั้นก็ได้สมัครเพื่อรับการคัดเลือกเข้าทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยเริ่มงานทันทีหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท
ส่วนการประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น อ.ศุภวิชเคยสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นอาจารย์ตั้งแต่ครั้งศึกษาในระดับชั้นชั้นปริญญาโทชั้นปีที่ 1 แต่ในขณะนั้นได้มีการเปิดรับเพียง 1 อัตราเท่านั้น ซึ่งตนไม่ได้รับการคัดเลือก ในเวลานั้นก็มีความผิดหวัง อย่างไรก็ตาม ก็ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ในคณะหลายท่าน โดยเฉพาะจากท่านอาจารย์สุดา (รศ.สุดา วิศรุตพิชญ์) ได้แนะนำว่า การทำงานอื่นก่อนเข้าเป็นอาจารย์นั้นจะมีส่วนช่วยในการสอนและการประกอบอาชีพในอนาคต เพราะจะเห็นภาพและปัญหาในทางปฏิบัติมากกว่าการศึกษาจากตำราแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ หากเป็นอาจารย์จะมีข้อจำกัดหลาย ๆ ประการที่ไม่สามารถเห็นภาพได้ทั้งระบบด้วยเพราะไม่สามารถลงมือในขั้นปฏิบัติได้ในทุกระดับ ตนจึงเชื่อและได้เข้าทำงานที่ ก.ล.ต. เป็นระยะเวลาถึง 6 ปี
การทำงานในหน่วยงานลักษณะนี้จะต้องเตรียมตัวโดยการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เนื่องจากวิชาที่มีการเรียนการสอนในระดับชั้นปริญญาตรีนั้นอาจไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ตนได้ศึกษาเพิ่มเติมในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อตั้งตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2517 มีการตรากฎหมายที่เป็นระบบและมีมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นสากลขึ้นมารองรับในปี พ.ศ. 2535 โดยอาศัยกฎหมายจากประเทศสหรัฐอเมริกาประกอบกับประเทศอื่น ๆ เพื่อเป็นต้นแบบ แต่จวบจนปัจจุบันก็มิได้มีอาจารย์ประจำที่ศึกษาต่อในด้านนี้โดยเฉพาะ ในสมัยก่อนนักศึกษาที่ไปเรียนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินก็จะมุ่งเรียนเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการธนาคารเสียส่วนใหญ่ นำไปสู่เรื่องของมุมมองในการพิจารณาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้และการตีความประสบปัญหาในหลาย ๆ กรณี อนึ่ง ความรู้พื้นฐานในการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีมีความสำคัญอย่างมากในการทำงานที่ ก.ล.ต. ซึ่งแม้ว่าจะมีหลักกฎหมายเฉพาะที่สำคัญ แต่หลาย ๆ ส่วนก็ต้องอาศัยหรือพัฒนาต่อยอดขึ้นจากหลักกฎหมายพื้นฐานทั้งทางแพ่ง อาญา และมหาชน เช่น กฎหมายนิติกรรมสัญญา กฎหมายทรัพย์ ตลอดจนกฎหมายปกครอง เวลาตนมีปัญหาในใช้และการตีความกฎหมายเพื่อทำความเห็นเรื่องต่าง ๆ บางครั้งได้มาเปิดตำราวิชาพื้นฐาน เช่น ความรู้กฎหมายทั่วไป ของ รศ.สมยศ เชื้อไทย หรือนิติปรัชญา ของ ศ.ปรีดี เกษมทรัพย์ ในเรื่องการใช้การตีความ ก็ทำให้สามารถคิดวิเคราะห์ปัญหากระทั่งตอบคำถามได้ จึงอยากให้นักศึกษามีความสนใจในวิชากฎหมายพื้นฐาน จะได้มีหลักคิดที่แข็งแกร่งเพื่อนำไปใช้ต่อยอดต่อไปในการประกอบวิชาชีพในอนาคต
อาจารย์ศุภวิชได้รับทุนการศึกษาจาก ก.ล.ต.ให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโททางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (The University of Pennsylvania) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเมื่อทำงานตามเงื่อนไขของทุนการศึกษาครบถ้วนแล้ว จึงได้รับการคัดเลือกเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท้ายที่สุดอาจารย์ศุภวิชได้เสนอแนะให้นักศึกษากล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออกในทางวิชาการมากขึ้น โดยเริ่มต้นตั้งแต่ในห้องเรียนเพื่อให้คุ้นเคยและไม่เขินอายในการแสดงความสามารถ เพราะเป็นทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงานจริง และขอให้มั่นใจว่าพื้นฐานความรู้ที่ได้เรียนในชั้นปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพียงพอสำหรับนักศึกษาในการนำไปใช้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมายอย่างแน่นอน เพียงแต่บางครั้งหากเจอเรื่องที่ตนไม่เคยเรียนอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวในช่วงต้น แต่เมื่อปรับตัวได้แล้วด้วยพื้นฐานที่มั่นคงย่อมทำให้นักศึกษาเจริญก้าวหน้าในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพได้อย่างเต็มภาคภูมิ
อาจารย์ ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา (วิทยากร)
อ.ดิศรณ์ กล่าวถึงช่วงเวลาฝึกงานภายหลังจากเรียนจบในชั้นปีที่ 3 ที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ตัวอาจารย์เองก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ซึ่งคิดว่านักศึกษาหลาย ๆ ท่านก็คงเป็นเช่นนี้ และไม่รู้ว่าจะไปทำงานอะไรในอนาคต ซึ่งบางคนอาจจะคิดไว้ว่าคงทำงานตามกระแสหลัก คือ ผู้พิพากษา หรืออัยการ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสงสัยและคงคำถามต่อไปว่า เราชอบกับสายงานกระแสหลักเช่นนี้จริง หรือไม่ เพราะว่าตอนฝึกงานก็ยังไม่ได้ทำงานวินิจฉัยอรรถคดีจริง ๆ จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเหมาะสมกับนักศึกษาจริง ๆ ด้วยเหตุนี้ อาจารย์ ณ ขณะนั้นจึงยังไม่ฝึกงานแต่เลือกลงวิชาเลือกเพื่อได้ทราบชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าตัวเองชอบงานด้านไหน ซึ่งก็ได้ค้นพบว่าชอบทางด้านวิชาการ
ต่อมาตอนเรียนปริญญาโท อาจารย์ได้มีโอกาสมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่จัดทำฐานข้อมูลกฎหมาย กองกฎหมายต่างประเทศ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้รู้จักกับรุ่นพี่ที่ทำงานเป็นนักกฎหมายกฤษฎีกา ซึ่งมีลักษณะงานที่แตกต่างจากผู้พิพากษาอัยการ กล่าวคือ นักกฎหมายกฤษฎีกานั้นจะไม่ได้เป็นผู้วินิจฉัยคดี หรือว่าความในศาล แต่เป็นงานเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมาย ทั้งนี้ กล่าวในเบื้องต้นได้ว่าหากนักศึกษามีบุคลิกที่ชอบในการปรับบทข้อสอบอาจจะเหมาะกับการเป็นผู้พิพากษา แต่ในกรณีที่ชอบพิจารณาว่ากฎหมายนี้ดีหรือไม่นั้น มีข้อบกพร่องแล้วควรปรับปรุงกฎหมายอย่างไร หรือความเห็นทางกฎหมายถูกต้องหรือไม่ซึ่งใครชอบแบบนี้ตนแนะนำช่องทางที่เบี่ยงจากกระแสหลักโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีลักษณะงานเป็นการพัฒนากฎหมาย โดยตำแหน่งงานที่เป็นที่รู้จักน้อย คือ นักกฎหมายกฤษฎีกา โดยมีลักษณะดังนี้
- มีหน้าที่ในการตรวจกฎหมาย การปรับปรุงร่างกฎหมาย ตลอดจนการให้ความเห็นทางด้านกฎหมายต่อหน่วยงานราชการที่มาติดต่อ ทั้งนี้นักกฎหมายกฤษฎีกามีสถานะเป็นข้าราชการโดยที่การเติบโตในสายงานเป็นแบบราชการ ยกเว้นว่าได้ทำผลงานทางวิชาการมากก็ทำให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว การที่จะเข้าไปทำงานในตำแหน่งพนักงานกฤษฎีกานั้นจะต้องเริ่มที่การสอบในตำแหน่ง “นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ”
- ทำงานในด้านวิชาการโดยใช้ความคิดเพื่อพัฒนากฎหมายที่มีอยู่ซึ่งเปรียบเสมือนแรงขับเคลื่อนในการพัฒนากฎหมายให้ดีขึ้นหรือพัฒนาต่อยอดกฎหมายให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยที่ลักษณะงานนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีการโต้แย้งหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกับความขัดแย้งระหว่างคู่ความ นอกจากนี้ ยังเป็นการที่ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายโดยที่เกิดจากการค้นคว้ากฎหมาย เช่น กฎหมายต่างประเทศ ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เป็นต้น ทำให้ลักษณะงานเป็นงานที่พัฒนากฎหมายและผู้ปฏิบัติงานไม่ไปต้องทำงานอยู่ท่ามกลางข้อเท็จจริงในอรรถคดีและไม่ต้องรับภาระที่จะต้องมีต่อความคู่ในการชี้ขาดตัดสินข้อพิพาท นอกจากนี้ในการทำงานยังได้อยู่กับเนื้อหาสาระของกฎหมายที่มีความใหม่อยู่ตลอดเวลา
- ปริมาณงานนั้นจะเยอะมากโดยเฉพาะจะต้องทำการอ่านเอกสารต่าง ๆ และที่สำคัญเรื่องของภาษาต่างประเทศนั้นจะต้องมีการพัฒนาอีกมากเพราะจะต้องศึกษากฎหมายต่างประเทศเพื่อนำมาทำการเปรียบเทียบและพัฒนา การที่ค้นคว้ากฎหมายต่างประเทศก็ทำให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ของสำนักความคิดต่างชาติอันนำไปสู่ความคิดว่ากฎหมายไทยยังขาดตกบกพร่องบางประการและนำไปสู่การปรับปรุง
แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานในตำแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกาก็มีข้อจำกัดบางประการ กล่าวคือ
ประการที่หนึ่ง ว่าด้วยการทำงานมีลักษณะที่โน้มเอียงไปยังกฎหมายมหาชนเสียมากกว่ากฎหมายแพ่งหรือกฎหมายกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ดังนั้น หากว่านักศึกษาเป็นผู้ที่มีความชื่นชอบในกฎหมายธุรกิจ กฎหมายสัญญา หากมาทำงานในตำแหน่งเช่นว่านี้อาจจะเป็นงานส่วนน้อยมากที่จะมีโอกาสได้ทำเพราะว่าเนื้องานส่วนใหญ่นั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับมหาชน เช่น กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายมหาชนโดยแท้ กฎหมายปกครอง เป็นต้น เพราะฉะนั้นหากไม่มีความชอบกฎหมายเช่นว่านี้จะก่อให้เกิดภาระทางจิตใจมากในการทำงาน
ประการที่สอง ว่าด้วยลักษณะนิสัย กล่าวคือ หากรู้ตัวว่าเป็นคนที่เบื่อหน่ายกับสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ อาจจะไม่ชอบงานลักษณะนี้เนื่องจากว่าในการทำงานนั้นจะไม่ได้พบปะผู้คนใด ๆ เลย ซึ่งอาจจะทำให้ทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคมนั้นลดน้อยลงไป ดังนั้น ทักษะที่ไม่ได้มีการสอนในชั้นเรียน เช่น การติดต่อประสานงานกับผู้อื่น ทักษะเช่นว่านี้อาจจะไม่ได้รับการพัฒนาได้เท่าที่ควร ซึ่งอาจจะเกิดอาการประหม่าหรือไม่สามารถพูดได้อย่างราบรื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ทำงานในตำแหน่งนี้จะขาดซึ่งทักษะการติดต่อประสาน ทั้งนี้ อาจจะแก้ไขโดยการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานอื่นของรัฐให้บ่อยครั้งมากขึ้น หรือให้ความเห็นทางกฎหมายมากขึ้นเพราะงานให้คำปรึกษาเป็นงานที่อยู่นอกเหนือหน้าที่หลักและเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาของหน่วยงานอื่นดังนั้นจึงไม่มีใครที่จะชอบทำงานให้คำปรึกษามากนัก
ประการที่สาม ว่าด้วยการทำงานเบื้องหลัง กล่าวคือ ทำงานในลักษณะเบื้องหลังโดยที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสนำเสนอผลงานที่ทำ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในระยะยาวเพราะเนื่องจากความรู้สึกจากการที่ทำงานนั่นเอง แม้ว่าจะมีเงินเดือนที่สูงก็ตาม แต่หลายคนรวมทั้งตนด้วยนั้นก็อยากให้ผลงานได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักของสาธารณชน
ท้ายที่สุดนี้อยากจะเสนอแนะให้นักศึกษาเริ่มการค้นหาตัวเองตั้งแต่ในระดับปริญญาตรี เพราะ ยิ่งเราค้นหาตัวเราเองพบเร็วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสไปสู่ความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น และหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้ไปถึงจุดหมาย
อาจารย์ กิตติภพ วังคำ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง (วิทยากร)
อ.กิตติภพ กล่าวถึงประสบการณ์การฝึกงานตอนปีสามว่า ได้ฝึกงานที่ law firm ชื่อว่า Clifford Chance ซึ่งเป็น law firm ชื่อดังอันดับต้น ๆ ณ ขณะนั้น ทั้งนี้ ที่การฝึกงาน law firm นั้นถือได้ว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยาก ดังนั้น ตอนที่ยังเป็นนักศึกษาจึงคิดว่าควรที่จะลองไปฝึกงานดู โดยที่ได้รับโอกาสให้ไปสอบสัมภาษณ์เป็นที่แรกจึงตัดสินใจไปสัมภาษณ์
ณ ตอนสัมภาษณ์นั้นตนเป็นคนที่ไม่ได้มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีเลย จึงอยากจะบอกแก่นักศึกษาว่าการทำงาน law firm ไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งภาษาก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของทักษะทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาจำเป็นจะต้องมีทักษะในการวิเคราะห์และให้เหตุผลทางกฎหมาย (Legal Mind) เนื่องจากในบางเรื่องเราอาจไม่ทราบตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องเนื่องจากไม่เคยเรียนมาก่อน แต่เราสามารถตอบคำถามได้โดยอาศัยหลักการทั่วไปในวิชาพื้นฐานต่างๆที่เรียนมาได้
ในส่วนลักษณะของเนื้องานเข้าใจได้ว่าหลาย ๆ สำนักงานคงไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ส่วนใหญ่งานที่ตนไปทำจะมีลักษณะเป็นงานค้นคว้า งานแปลที่เกี่ยวข้องกับสัญญา และค้นคว้าประเด็นกฎหมายใหม่ ๆ
ตามที่กล่าวไปข้างต้นเมื่อมีโอกาสจึงอยากทดลอง ประกอบกับงานลักษณะเช่นว่านี้มีค่าตอบแทนค่อนข้างสูง ซึ่งตอนที่เป็นนักศึกษาฝึกงานได้ค่าตอนแทนค่อนข้างสูงมาก ๆ หากเปรียบเทียบกับเงินเดือนทั่วไป ณ ตอนนั้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อได้ทำงานจริง ๆ แล้วกลับรู้สึกได้ว่างานในลักษณะนี้ไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของตน เนื่องจากตนรักความเป็นอิสระและไม่ได้ให้ความสำคัญกับค่าตอบแทนเป็นลำดับแรก
หลังจากเรียนจบก่อนเป็นอาจารย์ ตนเคยฝึกงานที่สำนักงานทนายความ หากเปรียบเทียบการทำงานของ law firm ด้านให้คำปรึกษาไม่รวมการว่าคดี กับงานทนายความที่ทำงานว่าความในชั้นศาล ตนไม่ค่อยถนัดงานในลักษณะงาน law firm นัก ทั้งนี้งานทนายความนั้นมีลักษณะที่กว้างกว่า เนื่องจากรับว่าความทุกเรื่อง ในขณะที่ law firm อาจรับปรึกษาเฉพาะเรื่องตามแผนก และอีกประการหนึ่งที่ทำให้ตนชอบงานทนายความยิ่งกว่างาน law firm ก็คือ ลักษณะงานทนายความนั้นได้ไปยังสถานที่ต่างๆนอกสำนักงานค่อนข้างบ่อย ได้ออกไปพบปะผู้คนหลากหลาย ต่างจากงาน law firm ซึ่งทำอยู่ที่สำนักงานเสียส่วนใหญ่
ในด้านโอกาสในการทำงานหลังจากการฝึกงานนั้น อ.กิตติภพให้ข้อสังเกตว่า นักศึกษาที่ฝึกงานย่อมมีโอกาสได้ทำงานต่อในที่ที่ฝึกงาน แม้จะไม่ทุกกรณี แต่ก็มีโอกาสค่อนข้างสูง เว้นแต่ช่วงฝึกงานจะประพฤติตนไม่เหมาะสม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ)
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการฝึกงานว่า นอกจากจะให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจากการฝึกงานแล้ว ยังได้เชิญอาจารย์รุ่นใหม่ของคณะนิติศาสตร์ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งจากการฝึกงานและการทำงาน ซึ่งนอกจากทักษะกฎหมายภาคปฏิบัติแล้ว คณะนิติศาสตร์ยังมีนโยบายส่งเสริมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษณะด้านอื่น ๆ เช่น การปรับตัวให้เข้ากับการทำงาน หรือการจัดการด้านอารมณ์หรือความเครียด ซึ่งอาจไม่มีการเรียนการเสนอในชั้นเรียน แต่คณะนิติศาสตร์จะพยายามส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ
ผศ.ดร.ศุทธิ์กล่าวเสริมในประเด็นของอาจารย์ศุภวิชว่า การฝึกงานทำให้รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบงานอะไร โดยนักศึกษาหลายคนอาจจะรู้ว่าตัวเองชอบอะไรก่อนที่จะฝึกงาน หรือบางคนเลือกไปฝึกงานทำให้รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบงานประเภทนั้น ๆ ซึ่งนึกศึกษาหลายคนอาจจะมีคำตอบอยู่ใจแล้ว แต่บางคนที่ยังลังเลอยู่ก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในส่วนนี้
ผศ.ดร.กรศุทธิ์กล่าวเสริมในประเด็นของอาจารย์ดิศรณ์ว่า อาจารย์ประจำของคณะนิติศาสตร์หลาย ๆ ท่านก็เคยทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาก่อน ซึ่งลักษณะของสายงานนั้นค่อนข้างที่จะสอดคล้องกับทางวิชาการ ทั้งนี้ หากนักศึกษาสังเกตจะพบว่าในการเรียนการสอนหลาย ๆ วิชาอาจารย์มักจะหยิบยกเอาความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาประกอบการให้ความเห็นของตน ซึ่งบทบาทหน้าที่หนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็คือเป็นหน่วยงานที่ให้ความเห็นในการตีความกฎหมาย
โดยประเด็นนี้ อ.ดิศรณ์กล่าวเสริมว่า ในการให้ความเห็นนั้นมี 2 รูปแบบ คือ ระบบแบบการลงคะแนนเสียง หรือการประชุม ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ตนทำงานนั้นเป็นช่วงที่ใกล้การเลือกตั้งซึ่งก่อนจะมีการเลือกตั้งได้มีการผ่านกฎหมายมายังสำนักงานกฤษฎีกาจำนวนมากซึ่งจะมีการประชุมกันอยู่บ่อยครั้ง เป็นต้น
ผศ.ดร.กรศุทธิ์กล่าวเสริมในประเด็นของอาจารย์กิตติภพ ในเรื่องการฝึกงานว่า ก่อนนักศึกษาสำเร็จการศึกษา ในกรณีที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะทำงานหรือไม่มีสถานที่ใดเรียกตัวเพื่อไปทำงาน โดยหากเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในภาคฤดูร้อนก็สามารถที่จะฝึกงานผ่านทางคณะนิติศาสตร์ได้ ซึ่งการฝึกงานในชั้นปีที่ 4 นี้ก็จะสามารถเป็นช่องทางที่ทำให้นักศึกษาสามารถที่จะทำงานต่อได้ด้วยเช่นกัน หรือว่านักศึกษาอาจจะฝึกงานทั้งในชั้นปีที่ 3 และในชั้นปีที่ 4 คนละที่กันก็ได้ อนึ่ง การฝึกงานมีข้อดีในแง่ที่ทำให้เราทราบว่าสิ่งใดคือสิ่งที่เราถนัดหรือไม่ถนัด และจะทำให้เราสามารถตั้งเป้าหมายไปตามความถนัดของแต่ละบุคคล