สรุปสาระสำคัญจากโครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “(พ.ร.บ.) คู่ชีวิตมีสิทธิแค่ไหน?” จัดโดย ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2562 เวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ รองอธิการบดี ฝ่ายกฎหมายและบริหารศูนย์ลำปางและอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำ ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อาจารย์อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ อาจารย์ประจำ ศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์ ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวางแผนและประกันคุณภาพการศึกษา และอาจารย์ประจำศูนย์กฏหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้ดำเนินรายการ)
- อาจารย์กิตตภพ วังคำ อาจารย์ประจำ ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พิธีกร)
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายเฉลิมรัช จันทรานี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
อาจารย์กิตติภพ วังคำ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พิธีกร)
อ.กิตติภพ กล่าวรายงานว่า ในปัจจุบันสภาพสังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตคู่ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตอย่างมีนัยสำคัญ อันเนื่องมาจากการที่สังคมไทยได้เริ่มมีการยอมรับความหลายหลายในทางเพศมากยิ่งขึ้นจากอดีต จึงทำให้ปัจจุบันมีการใช้ชีวิตในลักษณะคู่ชีวิตเพศเดียวกันจำนวนมาก โดยที่มีการใช้ชีวิตร่วมกันเฉกเช่นเดียวกันกับครอบครัวโดยทั่วไปและได้มีการแสดงออกถึงการใช้ชีวิตคู่ตลอดจนการสร้างครอบครัวให้ปรากฏชัดในสังคมมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มชายรักชาย หรือกลุ่มหญิงรักหญิง เป็นต้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมไทยและแนวความคิดที่มีการยอมรับความหลากหลายในทางเพศดังกล่าวจึงทำให้การใช้ชีวิตของกลุ่มคนเพศเดียวกันมีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยสถานภาพของคู่ชีวิตดังกล่าวไม่มีกฎหมายรับรอง กล่าวคือ กฎหมายลักษณะครอบครัว บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้บัญญัติรับรองถึงสถานภาพของคู่ชีวิตเพศเดียวกันเอาไว้ จึงเป็นผลให้ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสเพื่อให้มีผลทางกฎหมายได้ ดังเหตุดังกล่าวนี้ จึงเป็นเหตุให้บุคคลเหล่านั้นไม่ได้รับการรับรองและคุ้มครองในเรื่องสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายอันจะพึงมีพึงได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่รับรองสถานะของการเป็นคู่สมรสของกลุ่มคนเพศเดียวกันแต่ประการใด
การที่คู่รักเพศเดียวถูกนายทะเบียนครอบครัวปฏิเสธไม่อนุญาตให้จดทะเบียนสมรสจึงได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการร่างกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการละเมิดต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นการขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเป็นการขัดต่อหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนั้น คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการยกร่าง “พระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …” ขึ้น เพื่อให้มีกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิการจดทะเบียนคู่ชีวิตเพศเดียวกัน
แต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในสังคมสื่อออนไลน์บางแห่งได้ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. … โดยที่ได้ทำการเผยแพร่ข้อมูลที่มีเนื้อหาและข้อความที่อาจคลาดเคลื่อนกับเนื้อหาและสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งอาจจะเหตุที่ก่อให้เกิดความความสับสนแก่สาธารณชนได้อันจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดพลาด
เพราะฉะนั้น เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน และเพื่อประโยชน์ทางวิชาการแก่นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสนใจได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเห็นสมควรจัดงานเสวนาทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าวข้างต้น ตลอดจนเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวอันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมโครงการในการก่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวเปิดงานว่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะเสาหลักทางวิชาการด้านนิติศาสตร์ของประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องความเท่าเทียมของบุคคลที่จะไม่ได้รับการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุความแตกต่างทางเพศ หรือเหตุอื่นใด อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะนิติศาสตร์ยังได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาสถาบันทางกฎหมายเพื่อรับรองสถานะทางครอบครัวของบุคคลไม่ว่าเพศใด ซึ่งอยู่บนพื้นฐานรูปแบบสถาบันครอบครัวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบของร่างพระราชบัญญัติ ตราเป็นกฎหมายพิเศษหรือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีการแก้ไขแล้วก็ตาม ในการนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของคณะนิติศาสตร์จึงได้ดำเนินการจัดเสวนาทางวิชาการในประเด็นดังกล่าวมาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่บุคคลในสังคม รวมถึงส่งเสริมให้สังคมตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว
ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ “ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …” ให้ตรงกัน รวมถึงเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และผลกระทบตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “(พ.ร.บ.) คู่ชีวิตมีสิทธิแค่ไหน?”ขึ้นมา โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาร่วมเสวนาอภิปราย และวิเคราะห์ “ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …” ฉบับที่กระทรวงยุติธรรมเปิดให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน รวมถึงท่านที่สนใจซึ่งได้เข้าการเสวนา จะได้ร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อให้เป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว
นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร (ซ้ายในภาพ) รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม (วิทยากร)
นายเกิดโชค กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตในประเทศไทยว่า ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ที่สามารถยืนยันได้ว่าการแสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดนั้นไม่ใช่เรื่องความผิดปกติ แต่เป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ ระบบกฎหมายปัจจุบันที่รับรองสถานะทางเพศเพียงแค่ 2 เพศ คือเพศชายกับเพศหญิง จึงอาจยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ปรากฏว่ามีคู่รักเพศเดียวกัน (ชายรักชาย) คู่หนึ่งไปขอจดทะเบียนสมรสที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ทางอำเภอได้ทำหนังสือปฏิเสธเป็นลายลักษณ์อักษรว่าไม่สามารถรับจดทะเบียนได้ เนื่องจากกรณีไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คู่รักดังกล่าวจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังกรรมาธิการของรัฐสภา ซึ่งในที่สุดก็ได้มีการดำเนินการให้มีการยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นฉบับแรก เรียกว่าร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต มีความยาว 15 มาตรา ซึ่งบัญญัติให้สิทธิในการจดทะเบียนคู่ชีวิต โดยให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องสิทธิหน้าที่ต่าง ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ได้รับการท้วงติงถึงความไม่ชัดเจนในการนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลมว่าจะมีขอบเขตเพียงไร จึงได้มีการปรับปรุงร่างฯ ดังกล่าวกันอยู่ประมาณ 5 ครั้ง จนครั้งสุดท้ายก็ได้อาจารย์อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ เข้ามาเป็นผู้ยกร่างฯ ทั้งฉบับ จำนวน 70 มาตรา จากนั้นร่างฯ ดังกล่าวก็ได้ผ่านเข้าสู่กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายตามปกติในขั้นตอนของฝ่ายบริหาร จนเขาสู่ชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างฯ ดังกล่าวให้เหลือเพียง 40 มาตรา
อย่างไรก็ดี แม้โดยปกติภายหลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎหมายเสร็จเป็นที่เรียบร้อย คณะกรรมการกฤษฎีกาจะต้องส่งร่างฯ ดังกล่าวเข้าไปที่คณะรัฐมนตรี เพื่อที่คณะรัฐมนตรีจะได้เสนอต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับ แต่ในกรณีนี้ เนื่องด้วยคณะกรรมกฤษฎีกาเห็นว่าร่างฯ ฉบับดังกล่าวอาจจะยังมีเนื้อหาไม่ครอบคลุมเพียงพอ จึงได้เสนอให้มีการนำกลับมาถามความคิดเห็นของสังคมอีกครั้ง ซึ่งก็ได้มีการจัดเวทีวิพากษ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นกันไปแล้ว ปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจึงกำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งหนึ่ง
ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ (ขวาในภาพ) รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริหารศูนย์ลำปาง และอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
ศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ในปัจจุบันมีประเทศที่มีกฎหมายรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันอยู่เป็นจำนวน 20 ประเทศ กฎหมายคู่ชีวิตฉบับแรก ๆ ในเอเชีย เกิดขึ้นในไต้หวันเมื่อเดือนพฤษภาคมในปี พ.ศ.2562นี้ ซึ่งประเทศไต้หวันวิวัฒนาการทางกฎหมายและบริบททางสังคมใกล้เคียงกับประเทศไทยมาก การศึกษาวิวัฒนาการของไต้หวันน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังคงมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวด้วยเพศทางเลือก ตัวอย่างพบเห็นได้จากสื่อในประเทศไทยไม่ให้ความเป็นธรรมกับกรมคุ้มครองสิทธิและคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ร่างกฎหมาย เนื่องด้วยในเนื้อข่าวระบุว่าร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฯไม่ได้ให้อำนาจในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน ทั้งที่ตามความเป็นจริงมีเนื้อหาเกี่ยวด้วยการจัดการทรัพย์สินร่วมกันในร่างกฎหมายแล้ว
ศ.ดร.ไพโรจน์ ได้กล่าวให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ฉบับที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นผู้เสนอ ที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับหลักการแล้วเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 และปัจจุบันยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (ชุดพิเศษ) ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 44 มาตรา ดังนี้
1.) บทนิยามคำว่า “คู่ชีวิต”
บทนิยามฉบับของคณะกรรมการกฤษฎีกามีการบัญญัติเฉพาะเจาะจงลงไปมากกว่าฉบับของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ว่าต้องเป็น “บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด” ซึ่งอาจเป็นการให้ความหมายที่แคบเกินไป และเป็นการยืนยันบรรทัดฐานที่ศาลฎีกาเคยวางแนวไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 157/2524 ว่าเพศของบุคคลธรรมดานั้นกฎหมายรับรองและถือเอาตามเพศที่กำเนิดมา และคำว่าหญิงตามพจนานุกรมนั้นก็คือคนที่ออกลูกได้ ผู้ร้องถือกำเนิดเป็นชาย แม้จะได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศเป็นหญิงแล้วก็ตาม แต่ผู้ร้องก็รับอยู่ว่าไม่สามารถมีบุตรได้ ฉะนั้น โดยธรรมชาติและตามที่กฎหมายรับรอง ผู้ร้องก็ยังเป็นเพศชายอยู่ จากการกำหนดบทนิยามเช่นนี้ บุคคลซึ่งได้รับการผ่าตัดแปลงเพศมาแล้วจึงไม่สามารถดำเนินการกล่าวอ้างเพื่อใช้สิทธิตามเพศที่ตนแปลงมาได้ เพราะจะต้องใช้สิทธิตามเพศโดยกำเนิดของตนเท่านั้น
ต่อประเด็นดังกล่าว ศ.ดร.ไพโรจน์ ได้กล่าวเป็นข้อพิจารณาเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า ควรหรือยังที่ประเทศไทยจะได้มีกฎหมายรับรองการแปลงเพศเหมือนอย่างประเทศเยอรมนี หรือกฎหมายที่ให้เสรีภาพในการเลือกเพศของตนเองเพื่อที่จะแจ้งต่อสำนักงานเขตเหมือนอย่างบางรัฐในออสเตรเลีย
2.) รัฐมนตรีผู้รักษาการ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
กระทรวงที่มีหน้าที่รักษาการตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีอยู่ทั้งสิ้น 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ โดย ศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวว่าการที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการรักษาการด้วยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุผล 3 ประการ กล่าวคือ
2.1) ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีการกำหนดเงื่อนไขใหม่ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในระบบกฎหมายครอบครัวของไทย กล่าวคือ การกำหนดว่าคู่ชีวิตที่จะมาขอจดทะเบียนนั้นอย่างน้อยคนหนึ่งจะต้องมีสัญชาติไทย
2.2) ในกรณีที่ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งพำนักอยู่ในต่างประเทศประสงค์จะขอจดทะเบียน ก็เป็นหน้าที่ของสถานทูตไทยในประเทศต่าง ๆ ที่จะต้องดำเนินการให้ตามกฎหมาย
2.3) ทูตต่างประเทศจำนวนหนึ่งซึ่งมีคู่ชีวิตเป็นเพศเดียวกันและได้เข้ามาประจำการในประเทศไทย เคยทำหนังสือร้องเรียนถึงกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากคู่ชีวิตของตนยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร
3.) สัญญาที่มีข้อตกลงกันว่าจะจดทะเบียนคู่ชีวิต (สัญญาหมั้น)
แต่เดิมในร่างฯ ฉบับของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพนั้น มีการกำหนดอายุของบุคคลที่จะมาขอจดทะเบียนคู่ชีวิตไว้ว่าจะต้องมีอายุอย่างน้อย 20 ปี ผู้ร่างฯ จึงเห็นกันว่าบุคคลที่มีอายุเช่นนั้นคงมีความเป็นผู้ใหญ่เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมาทำสัญญาหมั้นกันอีก เพราะโดยวัฒนธรรมประเพณีของไทย การหมั้นก็คือการที่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือในการจัดเตรียมการสมรส เมื่อมาถึงร่างฯ ฉบับของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มิได้มีการบัญญัติถึงเรื่องการทำสัญญาหมั้นไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใด จะมีก็เพียงบทบัญญัติในมาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า “สัญญาที่มีข้อตกลงกันว่าจะจดทะเบียนคู่ชีวิตไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้จดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาในเมื่อผิดสัญญาตามวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ” เท่านั้น อันเป็นการบัญญัติในทำนองเดียวกับมาตรา 1438 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ” ทั้งนี้ เนื่องจากร่างฯ ฉบับปัจจุบันได้มีการปรับลดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิขอจดทะเบียนจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 20 ปี ลงมาอยู่ที่ 17 ปีบริบูรณ์ อันเป็นตัวเลขเดียวกับที่กำหนดไว้ในมาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ศ.ดร.ไพโรจน์ ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การที่มาตรา 1438 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 6 ของร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฯ ถูกบัญญัติขึ้นในลักษณะเช่นนี้ ก็เนื่องจากว่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่เกิดจากความสมัครใจอย่างแท้จริง จะใช้กฎหมายเข้าไปบังคับมิได้ ด้วยเหตุนี้เอง กฎหมายของประเทศฝรั่งเศสจึงไม่ยอมรับเรื่องการทำสัญญาหมั้นเลย
4.) เงื่อนไขเกี่ยวกับอายุของผู้ขอจดทะเบียน
ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฉบับปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเกี่ยวกับอายุของผู้ขอจดทะเบียน จากแต่เดิมที่กำหนดกันไว้ที่ 20 ปีบริบูรณ์ลงมาอยู่ที่ 17 ปีบริบูรณ์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 ดังนั้น ผู้ที่จะขอจดทะเบียนคู่ชีวิตจึงอาจยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ผู้ขอจดทะเบียนก็จะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 12
5.) เงื่อนไขเกี่ยวกับสัญชาติของผู้ขอจดทะเบียน
มาตรา 8 ของร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฉบับปัจจุบันกำหนดว่า “การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย” เป็นการกำหนดเพิ่มเติมเงื่อนไขให้มากขึ้นกว่าที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมาแพ่งและพาณิชย์ โดยหากมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าว ทะเบียนคู่ชีวิตที่ได้จดไปโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขนั้น ๆ ย่อมตกเป็นโมฆะ
6.) เงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9
มาตรา 9 ของร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฉบับปัจจุบันได้นำเอาหลักการต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่แล้วในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มากำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ว่า “การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะกระทำมิได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) บุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นคนวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
(2) บุคคลทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายโลหิต โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
(3) บุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีคู่สมรสหรือมีคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว”
การกำหนดเงื่อนไขข้างต้นมีความแตกต่างจากเงื่อนไขที่เคยกำหนดไว้ในร่างฯ ฉบับเดิมของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งมีการกำหนดไว้ด้วยว่าผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมนั้นจะทำการจดทะเบียนคู่ชีวิตกันไม่ได้ แต่ในร่างฯ ฉบับปัจจุบันได้ตัดเงื่อนไขดังกล่าวออกไป จึงมีปัญหาว่าในกรณีที่มีข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดขึ้น คือมีการจดทะเบียนคู่ชีวิตกันระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม ผลทางกฎหมายของการจดทะเบียนดังกล่าวจะเป็นเช่นไร หรือจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 19 ของร่างฯ ซึ่งกำหนด “ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับสถานะ สิทธิ หน้าที่ ความรับผิด หรือการอื่นใดของคู่สมรส หรือสามีภริยา ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับกับคู่ชีวิตโดยอนุโลม”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล (ขวาในภาพ) อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ กล่าวเป็นเบื้องต้นถึงหลักคิดสำคัญที่ควรยึดถือไว้ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตว่า เป็นแนวคิดที่ดีในการที่จะกำหนดให้สิทธิอย่างเท่าเทียมกันแก่ทั้งคู่สมรสต่างเพศและคู่ชีวิตเพศเดียวกัน แต่การกำหนดหลักเกณฑ์ใด ๆ ก็ตามจะต้องทำขึ้นด้วยความระมัดระวัง มิให้เป็นการให้สิทธิแก่คู่ชีวิตต่ำกว่าคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันจะถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว ทั้งในขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้สิทธิแก่คู่ชีวิตมากไปกว่าสิทธิที่คู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีอยู่ อันจะกลายเป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวเช่นกัน การกำหนดให้คู่ชีวิตและคู่สมรสมีสิทธิหน้าที่ต่างกันนั้นอาจกระทำได้ แต่ก็ต้องเป็นเรื่องที่มีเหตุผลอันสมควร คือสามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงต้องกำหนดให้แตกต่างเช่นนั้น จากนั้นจึงได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต (ฉบับล่าสุด) ดังนี้
1.) บทนิยามคำว่า “คู่ชีวิต” (มาตรา 3)
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ ได้กล่าวย้ำถึงปัญหาที่เกิดจากการกำหนดว่าบุคคลที่จะจดทะเบียนคู่ชีวิตตามร่างฯ ฉบับดังกล่าวได้นั้นจะต้องเป็น “บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด” ซึ่งส่งอาจส่งผลกระทบบางประการต่อกลุ่มบุคคลข้ามเพศ (transgender) ในทำนองเดียวกับ ศ.ดร.ไพโรจน์ โดยได้ยกตัวอย่างประกอบความเข้าใจ 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 : บุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นชายได้แปลงเป็นหญิง และบุคคลนั้นประสงค์จะทำการจดทะเบียนคู่ชีวิตกับบุคคลซึ่งเป็นชายโดยกำเนิดอีกคนหนึ่ง บุคคลทั้งสองย่อมสามารถกระทำได้อย่างถูกต้องตามร่างฯ ดังกล่าว เพราะร่างฯ ดังกล่าวจะพิจารณาเฉพาะจากเพศโดยกำเนิดของบุคคลเท่านั้น
กรณีที่ 2 : บุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นชายได้แปลงเป็นหญิง และบุคคลนั้นประสงค์จะทำการจดทะเบียนคู่ชีวิตกับบุคคลซึ่งเป็นเพศหญิงโดยกำเนิดแต่ได้แปลงเป็นชายแล้ว บุคคลทั้งสองย่อมไม่สามารถจดทะเบียนกันได้ตามร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต เนื่องจากมีเพศโดยกำเนิดแตกต่างกัน แต่บุคคลทั้งสองก็ยังสามารถจดทะเบียนสมรสกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้
กรณีที่ 3 : หากในอนาคตประเทศไทยได้มีการผ่านกฎหมายรับรองเพศ ที่อนุญาตให้บุคคลสามารถดำเนินการเพื่อขอให้มีการเปลี่ยนแปลงเพศของตนในทางทะเบียนได้ บุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่ได้แปลงเป็นหญิง และได้รับการรับรองสถานะความเป็นเพศหญิงแล้ว หากบุคคลนั้นประสงค์จะทำการจดทะเบียนคู่ชีวิตกับบุคคลซึ่งเป็นหญิงโดยกำเนิดอีกคนหนึ่ง บุคคลทั้งสองย่อมไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากร่างฯ ดังกล่าวจะพิจารณาแต่เฉพาะจากเพศโดยกำเนิดเท่านั้น และจะจดทะเบียนสมรสกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ไม่ได้อีกเช่นกัน เนื่องจากสถานะปัจจุบันของทั้งสองก็เป็นหญิงด้วยกันทั้งสองฝ่าย
2.) สัญญาที่มีข้อตกลงกันว่าจะจดทะเบียนคู่ชีวิต (มาตรา 6)
ในกรณีของสัญญาหมั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากมีการผิดสัญญาหมั้นเกิดขึ้น แม้คู่หมั้นฝ่ายหนึ่งจะไม่สามารถบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งทำการสมรสกับตนได้ แต่ก็ยังสามารถเรียกค่าทดแทนตามที่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะในบทบัญญัติเรื่องหมั้น อันเป็นค่าเสียหายจำนวนที่ปกติไม่อาจเรียกจากกันได้โดยอาศัยมูลละเมิด เพราะถือว่าเป็นการสมัครใจเข้าเสี่ยงภัย ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตมิได้มีการนำหลักการในเรื่องการหมั้นมาบัญญัติไว้ ก็เท่ากับว่าสิทธิในเรื่องดังกล่าวของผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตกันตามพระราชบัญญัติคู่ชีวิตนั้น ยังคงด้อยกว่าสิทธิของผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนเป็นคู่สมรสกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
3.) เงื่อนไขเกี่ยวกับสัญชาติของผู้ขอจดทะเบียน (มาตรา 8)
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ เห็นว่าการกำหนดบังคับว่าคู่ชีวิตอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องมีสัญชาติไทยนั้นเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน เพราะเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่จะเป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรมที่มีเหตุผลอันสมควรหรือไม่อย่างไรนั้น ขอให้ อ.อัครวัฒน์ เป็นผู้อธิบายในประเด็นนี้
4.) เงื่อนไขอื่น ๆ (มาตรา 9)
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีการพยายามนำเงื่อนไขต่าง ๆ ของการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบัญญัติไว้เป็นเงื่อนไขในการจดทะเบียนคู่ชีวิตในลักษณะเดียวกันด้วย แต่การบัญญัติในบางส่วนก็ยังคงมีปัญหา เช่น ประเด็นเรื่องผลของการที่ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมมาจดทะเบียนคู่ชีวิตกันดังที่ ศ.ดร.ไพโรจน์ ได้ยกไว้ข้างต้น และประเด็นตามมาตรา 9 (3) ซึ่งบัญญัติว่าการจดทะเบียนคู่ชีวิตจะกระทำมิได้ ในกรณีที่ “บุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีคู่สมรสหรือมีคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว” ซึ่งอันที่จริงก็เป็นการบัญญัติได้ครอบคลุมดี แต่อาจเป็นการไม่ยุติธรรมต่อคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจะมีกรณีสมรสซ้อนเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นการจดทะเบียนสมรสโดยที่บุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีคู่สมรสอยู่ก่อน ไม่รวมถึงการที่บุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น หากบุคคลใดมีคู่ชีวิตที่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว และบุคคลนั้นได้ไปจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกครั้ง การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวจะไม่ถือเป็นการจดทะเบียนซ้อน แตกต่างจากหลักการที่ได้เขียนไว้ในร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตข้างต้น ซึ่งหากบุคคลใดมีคู่สมรสที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่ก่อนแล้ว และบุคคลนั้นได้ไปจดทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัติคู่ชีวิตอีก การจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้นจะกลายเป็นการจดทะเบียนซ้อน
5.) การกำหนดให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับสถานะ สิทธิ หน้าที่ ความรับผิด หรือการอื่นใดของคู่สมรส หรือสามีภริยา ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับกับคู่ชีวิตโดยอนุโลม (มาตรา 19 วรรคหนึ่ง)
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์กล่าวว่าโดยปกติการบัญญัติให้นำบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องใดมาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้น ควรจะต้องมีการกำหนดว่าให้นำบทบัญญัติในลักษณะใด หมวดใด หรือมาตราใดมาใช้บังคับอย่างชัดเจน แต่เมื่อมาตรา 19 ของร่างฯ ดังกล่าวเขียนไว้เพียงกว้าง ๆ ว่าให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ กรณีก็อาจเป็นปัญหาในการตีความในภายหลังได้ โดยเฉพาะในส่วนของข้อความตอนท้ายซึ่งระบุว่า “เว้นแต่กรณีซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่ชายและหญิงเท่านั้น” ซึ่งก็อาจมีปัญหาว่าหมายถึงกรณีใดได้บ้าง ต่อประเด็นดังกล่าว ศ.ดร.ไพโรจน์ ได้ช่วยยกตัวอย่างว่าอาจหมายถึงกรณีตาม มาตรา 1504 วรรคสอง มาตรา 1510 วรรคสอง มาตรา 1536 ตลอดจนมาตรา 1537 ที่กล่าวถึงเรื่องการตั้งครรภ์ของหญิง อันเป็นเรื่องที่ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตได้โดยสภาพอยู่แล้ว
6.) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิต (มาตรา 19 วรรคสอง)
การที่มาตรา 19 วรรคสองของร่างฯ ดังกล่าวบัญญัติว่า “ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งในขณะเดียวกันไมได้” น่าจะเป็นการไม่สอดคล้องกับหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก (The Best Interest of the Child) และเป็นการขัดแย้งกับมาตรา 1598/26 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดว่าผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในขณะเดียวกันด้วยก็ได้
7.) การกำหนดให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ลักษณะ 4 หมวด 4 ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา มาใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา 15)
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ ได้ตั้งประเด็นเป็นข้อสงสัยไว้ว่าเหตุใดมาตรา 15 จึงได้กำหนดให้นำบทบัญญัติดังกล่าวของประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์มาใช้บังคับเฉพาะกับเรื่องสัญญาก่อนสมรสเท่านั้น แทนที่จะให้นำมาใช้กับเรื่องเดียวกันทั้งหมด แต่ก็เห็นว่าทางผู้ร่างฯ น่าจะมีเหตุผลอันสมควรที่ได้กำหนดไว้เช่นนี้
8.) การเลิกการเป็นคู่ชีวิต (มาตรา 31)
มาตรา 31 ของร่างฯ ดังกล่าวมีการกล่าวถึง “การเลิกการเป็นคู่ชีวิต” ซึ่งเป็นการกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เพื่อใช้แทน “การหย่า” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งยังมีการนำเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาบัญญัติไว้เป็นเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิตด้วย
อาจารย์อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วิทยากร)
อ.อัครวัฒน์ กล่าวถึงแนวคิดในการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า ได้มีความพยายามในการนำสิ่งที่ดีกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตลอดจนกฎหมายคู่ชีวิตของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกมารวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อที่กฎหมายฉบับดังกล่าวจะได้กลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อไปในอนาคต แต่ด้วยความซับซ้อนของกระบวนการร่างกฎหมายของประเทศไทย นวัตกรรมทางกฎหมายบางอย่างจึงอาจยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงทันทีในวันนี้ แต่ต้องพัฒนาต่อไปกันอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอนาคต จากนั้นจึงได้กล่าวต่อไปถึงแรงบันดาลใจสำคัญในการร่างฯ ว่าตนต้องการให้กฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิด “Delaware Effect” ขึ้นในประเทศไทย กล่าวคือ ดึงดูด LGBT ที่มีศักยภาพสูงจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทย แล้วแปลงสัญชาติเป็นไทย เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป
อ.อัครวัฒน์ ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาสำคัญ ๆ เกี่ยวกับการร่างกฎหมายดังกล่าว ดังนี้
1.) การกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับสัญชาติของผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต
การกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับสัญชาติของผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการขัดต่อพันธะกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันอยู่ต่อประชาคมระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเป็นการขัดต่อแนวคำพิพากษาของศาลไทยเองด้วย ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 720/2505 ว่าสิทธิในการจดทะเบียนครอบครัวเป็นสิทธิเด็ดขาด โดยไม่จำกัดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องมีสัญชาติไทย การกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับสัญชาติในร่างฯ ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกเพิ่มเติมขึ้นในชั้นหลัง ไม่ได้มีอยู่มาตั้งแต่ในร่างฯ ฉบับที่ อ.อัครวัฒน์ เป็นผู้ร่างแต่อย่างใด
2.) Recognition and Enforcement of Foreign Administrative Acts
โดยหลักแล้วในกรณีที่มีการจดทะเบียนคู่ชีวิตมาจากต่างประเทศ ทะเบียนคู่ชีวิตดังกล่าวจะต้องได้รับการยอมรับและสามารถบังคับได้ตามกฎหมายในประเทศไทยด้วย ในร่างฯ ฉบับที่ อ.อัครวัฒน์ เป็นผู้เสนอจึงได้มีการบรรจุรับรองหลักการดังกล่าวลงไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ปรากฏว่าเมื่อมาถึงร่างฯ ฉบับล่าสุด หลักการดังกล่าวกลับถูกตัดออกไป แม้กระนั้น อ.อัครวัฒน์ ก็เห็นว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะยังสามารถแก้ไขได้โดยอาศัยหลักการในมาตรา 3 ประกอบกับมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อใดไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นใดแห่งประเทศไทยที่จะยกมาปรับกับกรณีขัดกันแห่งกฎหมายได้ ให้ใช้กฎเกณฑ์ทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล” ทั้งนี้ หากพิจารณาตามทฤษฎีสิทธิที่ได้รับมา (acquired rights doctrine) ก็จะสามารถทำให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตรวมตลอดถึงการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมที่ได้ดำเนินการมาจากต่างประเทศ สามารถมีผลทางกฎหมายในประเทศไทยได้ด้วย เพียงแต่คู่ความในคดีดังกล่าวจะต้องมีภาระในการนำสืบพิสูจน์ข้อกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องนั้น ๆ ต่อศาลด้วยดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ
3.) Monogamous Family
ในประเด็นเรื่องการจดทะเบียนคู่ชีวิตซ้อนหรือการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น อ.อัครวัฒน์ เห็นว่าไม่ว่าการจดทะเบียนดังกล่าวจะถูกทำขึ้น ณ ประเทศใดในโลก การจดทะเบียนที่ได้กระทำลงในครั้งหลังก็ต้องถือว่าเป็นการจดทะเบียนซ้อนซึ่งไม่มีผลเป็นการจดทะเบียนตามกฎหมาย
นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร กล่าวว่า กระบวนการในการร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตฉบับล่าสุดนี้จะแตกต่างกับครั้งที่ผ่าน ๆ มา เนื่องจากหากเป็นกรณีปกติ เมื่อร่างฯ ดังกล่าวเสร็จจากคณะกรรมการกฤษฎีกาหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับหลักการแล้ว ร่างฯ ดังกล่าวจะต้องถูกส่งกลับเข้าคณะรัฐมนตรีอีกครั้งเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอร่างฯ ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาในทันที แต่ปรากฏว่าในครั้งนี้ได้มีการเสนอให้นำร่างฯ นั้นกลับมารับฟังความคิดเห็นจากแต่ละฝ่ายอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะได้รวบรวมความเห็นต่าง ๆ ไปปรับปรุงพัฒนาร่างฯ ดังกล่าวต่อไป จากนั้นนายเกิดโชคจึงได้กล่าวตอบประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่คณะผู้อภิปรายท่านอื่น ๆ ได้ยกไว้ ดังนี้
1.) ปัญหาการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับสัญชาติ
นายเกิดโชคอธิบายถึงเหตุผลในการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับสัญชาติของผู้ขอจดทะเบียนคู่ชีวิต ซึ่งกำหนดว่าอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องมีสัญชาติไทยว่า เนื่องด้วยในปัจจุบันยังมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยอมรับการจดทะเบียนในลักษณะดังกล่าว ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตก็เป็นร่างกฎหมายที่ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับคนไทยโดยเฉพาะ จึงได้มีการเพิ่มเติมเงื่อนไขเช่นนั้นลงไป แต่สำหรับประเด็นปัญหาที่ผู้อภิปรายได้ท้วงติงมาในครั้งนี้ ก็จะถูกนำกลับเข้าไปสู่การพิจารณาในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
2.) ปัญหาเกี่ยวกับการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
แม้ในร่างฯ ฉบับดังกล่าวจะมิได้มีการเขียนไว้โดยชัดเจน แต่หากพิจารณาจากบันทึกการอภิปรายร่างกฎหมายในชั้นของคณะกรรมกฤษฎีกา ก็จะสามารถตีความได้ว่า ในกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรมมาจดทะเบียนคู่ชีวิตกับบุตรบุญธรรมของตนนั้น สถานะความเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมย่อมสิ้นสุดลง
3.) ปัญหาเรื่องการจดทะเบียนสมรสซ้อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
นายเกิดโชคกล่าวว่าในการเสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตในครั้งนี้ ได้มีการเสนอร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ควบคู่กันไปด้วย โดยมีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติต่าง ๆ รวมถึงบทบัญญัติเรื่องการสมรสซ้อน ว่าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว ก็ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ ในทำนองเดียวกับหลักการที่มีอยู่ในร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต
ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิตตามที่กำหนดไว้ในร่างฯ มาตรา 36 (1) ซึ่งบัญญัติว่า “คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิตหรือฉันภริยาหรือสามี ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ หรือกระทำกับผู้อื่นหรือยอมรับการกระทำของผู้อื่นเพื่อสนองความใคร่ของตนเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิตได้” และมาตรา 36 (12) ซึ่งบัญญัติว่า “คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสภาพแห่งกายทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจกระทำหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิตได้” ว่าการบัญญัติในลักษณะดังกล่าวมีที่มาจากการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงความหมายของการ “กระทำชำเรา” ให้หมายความรวมถึงการกระทำระหว่างบุคคลเพศเดียวกันด้วย ประกอบกับการที่ถ้อยคำเดิมตามบทบัญญัติมาตรา 1516 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นต้นร่างของมาตราดังกล่าวใช้ถ้อยคำว่า “ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล” การบัญญัติด้วยถ้อยคำเดียวกันจึงอาจไม่หมายความรวมถึงการกระทำระหว่างบุคคลเพศเดียวกันก็ได้ ตามที่ศาสตราจารย์พิเศษ ประสพสุข บุญเดช เคยให้ความเห็นว่าการ “ร่วมประเวณี” นั้นจะต้องเป็นการกระทำระหว่างบุคคลเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น
ส่วนมาตรา 40 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของร่างฯ ดังกล่าวที่กำหนดว่า “เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก” นั้น ศ.ดร.ไพโรจน์ เห็นว่าเป็นการบัญญัติที่สมบูรณ์แบบดีมาก โดยเมื่อคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งตาย อีกฝ่ายซึ่งยังมีชีวิตอยู่ก็จะมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคท้ายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสิทธิและหน้าที่เสมอกับคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทุกประการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล กล่าวทิ้งท้ายว่าในการยกร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตดังกล่าวนั้น อาจจะต้องมีการทบทวนในบางประเด็นซึ่งมีอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการนำหลักการนั้น ๆ มาบรรจุไว้ในร่างฯ ดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเด็กซึ่งก็ควรมีสิทธิที่จะเลือกชีวิตครอบครัวของตนเองไม่ต่างจากผู้ใหญ่ และยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำบางคำในร่างฯ ซึ่งหากจะมีการให้คำจำกัดความไว้ให้ชัดเจนเสียแต่แรกก็น่าจะเป็นการดีมากกว่า
สำหรับความเห็นและคำถามของผู้เข้าร่วมการเสวนาจะได้มีการนำเสนอในโอกาสต่อไป