สรุปสาระสำคัญจากสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ปัญหาทางทฤษฎีของกฎหมายลักษณะหนี้” จัดโดยศูนย์กฎหมายแพ่ง วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2562 เวลา 15.30-18.30 น. ณ ห้อง น.301 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
วิทยากร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายวัชระ เนื่องสิกขาเพียร ผู้พิพากษาช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลแพ่งและในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลชั้นตันประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค
ผู้ดำเนินรายการ อาจารย์กิตติภพ วังคำ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายภูริเดช ตั้งเทียนทอง นายเขมทัต ปิ่นชูทอง และนางสาวศุภิสรา ด่านเฉลิมวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ (ผู้เรียบเรียง)
การสัมมมนาดังกล่าว เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับทฤษฎีของกฎหมายลักษณะหนี้ในประเด็นต่าง ๆ โดยผู้ดำเนินรายการ (อ.กิตติภพ) สรุปและตั้งประเด็นปัญหา จากนั้นวิทยากรได้แสดงความคิดเห็น โดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์แสดงความเห็นจากมุมมองของนักวิชาการหรือทางทฤษฎี และนายวัชระ แสดงความเห็นจากมุมมองของศาลหรือทางปฏิบัติ
ประเด็นที่ 1 ความเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายลักษณะหนี้
อ.กิตติภพ : ความสำคัญของกฎหมายลักษณะหนี้ในมุมมองของวิชาการและศาลเป็นอย่างไร
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : เป็นรากฐานของกฎหมายแพ่งในเรื่องของนิติสัมพันธ์หรือสิทธิหน้าที่ระหว่างบุคคล นอกจากนี้ยังเป็นพื้นฐานของเอกเทศสัญญาต่าง ๆ เช่น หากในเอกเทศสัญญาบัญญัติให้ลูกหนี้ต้องรับผิด แต่ไม่ได้บัญญัติว่าต้องรับผิดอย่างไร ก็ต้องกลับมาใช้หลักในเรื่องหนี้ เช่น การเรียกค่าเสียหายก็ต้องพิจารณาตามมาตรา 215 222 เป็นต้น
นายวัชระ : เป็นหัวใจของกฎหมายแพ่ง แม้มาตราของหนี้จะไม่ค่อยปรากฏในฎีกา แต่ไม่ได้หมายความว่าศาลไม่นำมาใช้ คือ เวลาศาลปรับใช้ในคำพิพากษา ศาลจะนำหลักกฎหมายหนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาร่วมกับกฎหมายเฉพาะในเอกเทศสัญญาแม้บางครั้งจะไม่อ้างมาตราก็ตาม
ประเด็นที่ 2 สิทธิยึดหน่วง
2.1 อ.กิตติภพ : สิทธิยึดหน่วงมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร ระหว่างทรัพยสิทธิกับบุคคลสิทธิ กล่าวคือ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงสามารถอ้างยันสิทธิยึดหน่วงต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้หรือไม่
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : นักกฎหมายส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นทรัพยสิทธิ สามารถใช้ยันกับเจ้าของที่แท้จริงได้ บางท่านเช่นศ.ดร.ดาราพรที่เห็นว่าเป็นทรัพยสิทธิแต่จะใช้อ้างยันต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์รับรู้หรือให้ความยินยอมด้วย และมีบางท่านเห็นว่าเป็น hybrid ระหว่างทรัพยสิทธิและบุคคลสิทธิ ได้แกรศ.ดร.สมเกียรติ และมีความเห็นของรศ.ดร.กิตติศักดิ์ที่อธิบายว่า สิทธิยึดหน่วงเป็นสิทธิทางหนี้ แต่ถ้ามีนิติสัมพันธ์ทางทรัพย์สนับสนุน ก็สามารถใช้ยันต่อเจ้าของที่แท้จริงได้
นายวัชระ :
- มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยทั้ง 2 แนวทาง แต่ฎีกาที่เป็นปัจจุบัน แม้ไม่ได้มีในฎีกาโดยตรง แต่ก็อธิบายว่าใช้อ้างต่อเจ้าของที่แท้จริงได้
- สถานะของสิทธิยึดหน่วง ศาลไม่ได้อธิบายชัดเจนว่าเป็นทรัพยสิทธิหรือสิทธิทางหนี้ แต่เห็นว่าเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่บัญญัติไว้ในหมวดหนี้ ซึ่งสามารถใช้ยันกับเจ้าของที่แท้จริงได้
- สิทธิยึดหน่วงแยกได้เป็น 2 ประเภท
- สิทธิยึดหน่วงในตัวทรัพย์ – ไม่ค่อยมีคดีเข้ามาที่ศาล อาจเพราะเกี่ยวของกับคดีอาญาได้ ทำให้ผู้ที่จะยึดหน่วงไม่กล้ายึดหน่วงไว้ กล่าวคือ แม้ทางวิชาการจะอธิบายเป็นสิทธิที่ใช้ยันเจ้าของที่แท้จริงได้ แต่หากเจ้าของที่แท้จริงมาเรียกคืนและขู่ว่าหากไม่คืนให้จะฟ้องคดีอาญาฐานยักยอกทรัพย์ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงก็จะไม่กล้ายึดทรัพย์ไว้
- สิทธิยึดหน่วงในราคา ซึ่งอยู่ในกฎหมายเฉพาะ เช่น มาตรา 488, 599 กรณีเหล่านี้มีคดีสู่ศาลตามปกติ
2.2 อ.กิตติภพ : ในสัญญาจะซื้อจะขาย ถือได้หรือไม่ว่าเจ้าหนี้คือผู้จะซื้อมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองต่อทรัพย์ที่จะซื้อ ดังนั้นหากผู้จะซื้อได้ครอบครองทรัพย์และชำระราคาแล้ว จึงสามารถยึดหน่วงทรัพย์ไว้ได้
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ความเห็นส่วนใหญ่น่าจะเห็นว่าไม่ต้องด้วยกรณีสิทธิยึดหน่วงเนื่องจาก ประการแรก ไม่มีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครอง เพราะผู้จะซื้อมิได้กระทำการใดแก่ตัวทรัพย์ และประการที่สอง สิทธิยึดหน่วงเป็นหนี้อุปกรณ์ คือยึดหน่วงไว้เพื่อเป็นประกันหรือเร่งให้ลูกหนี้มาชำระหนี้ หรือหากเจ้าของที่แท้จริงอยากได้ทรัพย์คืนต้องมาชำระหนี้แทนลูกหนี้ ดังนั้นทรัพย์ที่ยึดไว้กับหนี้หลักจึงต้องเป็นคนละอย่างกัน เพราะเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว ก็ต้องส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้มีสิทธิต่อไป อย่างไรก็ตาม มีความเห็นรศ.ดร.กิตติศักดิ์ที่อธิบายว่า ต้องด้วยกรณีสิทธิยึดหน่วง คือเป็นกรณีฐานแห่งสิทธิครอบครองที่ได้มาโดยชอบ ผู้จะซื้อจึงมีสิทธิยึดถือ และเจ้าของไม่อาจใช้สิทธิเรียกคืนได้ เป็นการตีความสิทธิยึดหน่วงในความหมายอย่างกว้าง
นายวัชระ : ประเด็นอยู่ที่คำในตัวบทมาตรา 241 บัญญัติว่า “…มีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์อันเกี่ยวด้วยกับทรัพย์นั้น…”และเมื่อพิจารณาประกอบกับรายละเอียดของเรื่องแล้ว จะมีอยู่ 2 รายละเอียดหลัก คือ (1) มีสัญญาจะซื้อจะขายเกิดขึ้นแล้ว และ (2) ผู้ที่ทำสัญญาจะขาย ได้ส่งมอบการครอบครองให้กับผู้ที่จะซื้อแล้ว ดังนั้น แม้จะยังไม่ได้บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขาย แต่ก็มองได้ว่ามีหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย และเมื่อมีการส่งมอบการครอบครองไปแล้ว กรณีดังนี้จึงเปิดโอกาสให้เทียบเคียงว่าเป็นสิทธิยึดหน่วงได้
ประเด็นที่ 3 การโอนสิทธิเรียกร้อง
3.1 อ.กิตติภพ : ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดว่าวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ซึ่งจะต้องชำระโดยเฉพาะเจาะจงนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือ โดยการทำเป็นหนังสือหมายความว่าต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรและมีการลงลายมือชื่อ ซึ่งในการลงลายมือชื่อนี้ก็มีแนวความเห็นอยู่ 2 ความเห็น ความเห็นแรกตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้มองว่าเพียงมีรายมือชื่อของผู้โอนแต่ผู้เดียวก็เพียงพอแล้ว แต่ฝ่ายวิชาการมีความเห็นที่แตกต่าง
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ตามบทบัญญัติมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในกรณีที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลไม่จำเป็นจะต้องเขียนเองก็ได้แต่หนังสือนั้นก็ต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น เนื่องจากการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นนิติกรรมสองฝ่าย ดังนั้นในการตีความว่าจะต้องมีลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายหรือไม่จึงสามารถอธิบายได้ว่า หากมองว่าการที่ต้องทำเป็นหนังสือเป็นแบบ ก็จะต้องมีการลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย กล่าวคือคู่กรณีที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หากลองเทียบกับเรื่องหลักฐานเป็นหนังสือจะเห็นความแตกต่าง กรณีหลักฐานที่ต้องทำเป็นหนังสือนั้น หากต้องการจะฟ้องร้องใครก็ต้องมีลายมือชื่อของผู้นั้น และหลักฐานเป็นหนังสือนี้จะทำเมื่อใดก็ได้ก่อนมีการฟ้องร้องกัน ซึ่งต่างจากกรณีของการทำเป็นหนังสือที่เป็นแบบซึ่งจะต้องทำในขณะทำนิติกรรมเท่านั้น
อ.กิตติภพ : เพราะเหตุใดศาลจึงมองว่า การลงลายมือชื่อของผู้โอนเพียงคนเดียวก็เพียงพอแล้ว
นายวัชระ : เนื่องจากว่าในตัวบทตามมาตรา 306 นั้นไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบของการทำเป็นหนังสือว่าจะต้องทำอย่างไร แต่ในกรณีดังกล่าวอาจอาศัยการเทียบเคียงกับสัญญากู้ยืมเนื่องจากว่าเป็นสัญญา 2 ฝ่ายเหมือนกัน และในการพิจารณาคดีก่อนก็ต้องนำตัวสัญญามายื่นต่อศาล และศาลก็จะเรียกคู่ความมาไต่สวนว่าสัญญาที่นำมายื่นต่อศาลดังกล่าวนั้นเป็นเอกสารจริงหรือไม่ซึ่งหากโจทก์ให้ความเท็จ ก็ต้องรับผิดในทางอาญาฐานเบิกความเท็จ ด้วยเหตุนี้แม้จะไม่มีรายมือชื่อของผู้รับโอน ก็สามารถนำมาฟ้องต่อศาลได้ไม่เป็นปัญหาอะไร ทั้งนี้เนื่องจากสัญญาดังกล่าวต้องการทราบเพียงแค่ว่าใครโอนให้ใคร มีการโอนสิทธิตามสัญญาหรือไม่เท่านั้น
3.2 อ.กิตติภพ : การโอนสิทธิเรียกร้องโดยมีค่าตอบแทนสามารถตีความได้หรือไม่ว่าเป็นสัญญาซื้อขาย
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : การซื้อขายนั้น มีประเด็นอยู่ว่าทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการซื้อขายนั้นจะต้องเป็นทรัพย์ซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งในกรณีดังกล่าวก็มีความเห็นอยู่ด้วยกัน 2 ความเห็น
ความเห็นแรกเกิดจากการตีความบทบัญญัติโดยเคร่งครัด ซึ่งมองว่าสัญญาซื้อขายนั้นทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาจะต้องเป็นทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์ สิทธิเรียกร้องไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ได้ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์อันจะเป็นวัตถุแห่งสัญญาซื้อขาย
ความเห็นที่สอง เกิดจากการตีความตัวบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างกว้าง ซึ่งมองว่าสัญญาซื้อขายนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ แล้วเมื่อใช้คำว่าทรัพย์สินถ้อยคำดังกล่าวมีความหมายกว้างกว่าคำว่าทรัพย์ จึงรวมไปถึงสิ่งไม่มีรูปร่างอย่างสิทธิด้วย
ดังนั้น หากมองตามความเห็นที่สอง โดยตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างกว้างแล้วการโอนสิทธิเรียกร้อง โดยมีค่าตอบแทนก็สามารถเป็นสัญญาซื้อขายได้เช่นกัน ส่วนความเห็นที่หนึ่ง นั้นแม้จะมองว่าการโอนสิทธิเรียกร้องโดยมีค่าตอบแทนนั้นจะไม่ตรงกับบทบัญญัติว่าด้วยสัญญาซื้อขายก็ตาม แต่กฎหมายลักษณะซื้อขายก็ถูกนำมาใช้ในกรณีดังกล่าวโดยการเทียบเคียงในฐานะบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง
นายวัชระ : สิทธิเรียกร้องนั้นโดยหลักสามารถโอนสิทธิได้ทุกประเภทจ ะมีก็แต่บางประเภทที่ไม่สามารถโอนได้เช่น สิทธิเรียกร้องที่อาจโอนกันได้โดยสภาพ สิทธิเรียกร้องที่ไม่อาจโอนกันได้โดยเจตนาแล้วสิทธิเรียกร้องที่ไม่อาจโอนกันได้โดยกฎหมาย
3.3 อ.กิตติภพ : การโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาต่างตอบแทนสามารถทำได้หรือไม่
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้วางหลักเกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาต่างตอบแทนไว้เป็น 2 แนวทางด้วยกันโดยแนวทางแรกเห็นว่าสามารถโอนได้เพราะไม่ขัดต่อสภาพแห่งหนี้และในความเห็นที่ 2 เห็นว่าไม่อาจโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้
อ.กิตติภพ : เพราะเหตุใดศาลจึงมองว่า การโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาต่างตอบแทนนั้นไม่สามารถโอนให้แก่กันได้
นายวัชระ : ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้การโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาต่างตอบแทนไม่สามารถกระทำได้และจะต้องกระทำโดยการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้นั้น กรณีดังกล่าวจะต้องแยกพิจารณา ดังนี้
- หนี้ในสัญญาต่างตอบแทนนั้นมีความหมาย 2 ทาง ได้แก่ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และลูกหนี้มีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ กรณีดังกล่าวในการที่จะพิจารณาว่าสามารถโอนสิทธิเรียกร้องได้หรือไม่ก็จะต้องดูตามพฤติการณ์แห่งคดี โทรหาเจ้าหนี้ต้องการโอนเพียงสิทธิ์ในความเป็นเจ้าหนี้ไปแต่ลำพังก็สามารถโอนสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 306
- แต่หากเป็นการโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ ก็จะไม่สามารถกระทำได้เพราะการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นการโอนสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้อย่างเดียว จึงไม่สามารถบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 306 ได้ ด้วยเหตุนี้จึงวินิจฉัยว่าจะต้องกระทำเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ตามมาตรา 349 วรรค 3 แทน ซึ่งการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้นั้นก็จะทำตามรูปแบบของการโอนสิทธิเรียกร้องโดยการทำเป็นหนังสือตามบทบัญญัติมาตรา 306 ในขณะที่การแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ไม่จำเป็นจะต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด เมื่อมองว่ากรณีดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยการแปลงหนี้ใหม่จึงทำให้แม่ไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือก็มีผลจากเท่าที่ไม่เป็นการข่มขืนใจลูกหนี้ ในการแปลงหนี้ใหม่นั้นแม่ไม่ได้แจ้งต่อลูกหนี้และลูกหนี้ไม่ให้ความยินยอมก็ตาม แต่หากลูกหนี้ไม่ได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้ง การแปลงหนี้ดังกล่าวก็ไม่เป็นการข่มขืนใจลูกหนี้ ด้วยเหตุนี้จึงสามารถกระทำได้
อ.กิตติภพ : ทำไมศาลจึงเขียนคำพิพากษาไปในทำนองว่าสัญญาต่างตอบแทนไม่สามารถโอนสิทธิเรียกร้องได้
นายวัชระ : ต้องทำความเข้าใจว่าในการทำคำพิพากษาฎีกานั้น เมื่อเอามาเผยแพร่จะมีทั้งย่อสั้นและย่อยาว และในการย่อฎีกา ก็อาจทำให้เข้าใจไปในทางนั้นเพราะฎีกาตัวเต็มไม่ได้เขียนไปในลักษณะดังกล่าวหากแต่ศาลมองว่าสัญญาต่างตอบแทนนั้น หากต้องการโอนเพียงสิทธิเรียกร้องก็สามารถโอนได้ตามมาตรา 306 ไปหากต้องการโอนทั้งสิทธิและหน้าที่ก็จะไม่สามารถใช้บทบัญญัติมาตรา 306 ได้แต่จะต้องโอนโดยการแปลงหนี้ใหม่
3.4 อ.กิตติภพ : ในทางปฏิบัติ คดีที่เกิดขึ้นจากการโอนสิทธิเรียกร้องมีลักษณะอย่างไร
นายวัชระ : คดีที่เกิดขึ้นจากการโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งเข้ามาสู่ศาลนั้นมักเกิดจากกรณีที่สถาบันทางการเงินจำหน่ายหนี้ด้อยคุณภาพให้กับบริษัท และบริษัทก็ได้เข้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพดังกล่าวและรับโอนสิทธิเรียกร้องมาไล่เบี้ยเอากับลูกหนี้อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เกิดจาก พ.ร.บ. บริหารสินทรัพย์ที่ให้บริษัทลูกของสถาบันทางการเงินเข้ารับโอนสิทธิเรียกร้องในชั้นศาลอีกด้วย
ประเด็นที่ 4 การชำระหนี้
อ.กิตติภพ : ในการชำระหนี้ ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ให้ถูกต้องตามวัตถุแห่งหนี้นั้น ๆ กล่าวคือ ตกลงไว้อย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น การชำระหนี้ผิดไปจากวัตถุแห่งหนี้ที่ได้มีการตกลงกันไว้ของคู่สัญญา เจ้าหนี้ย่อมปฏิเสธได้ จึงถือว่ายังไม่ได้ชำระหนี้นั้นเลย มีปัญหาว่า ถ้าเป็นกรณีของการโอนเงินประเภทที่เป็นเช็ค เป็นการชำระหนี้เป็นอย่างอื่นหรือไม่ คือวัตถุแห่งหนี้คือเงิน แต่ใช้เช็คในการชำระหนี้
นายวัชระ : การชำระหนี้ด้วยเช็คถือเป็นการชำระหนี้เป็นอย่างอื่น หากวัตถุแห่งหนี้คือชำระหนี้ด้วยเงิน แต่เคยมีฎีกาที่ตัดสินว่า การชำระหนี้ด้วยแคชเชียร์เช็ค ไม่ถือเป็นการชำระหนี้เป็นอย่างอื่น เนื่องจากมีสภาพเหมือนเงินสด นอกจากนี้ ในปัจจุบันก็มีการโอนเงินผ่าน mobile banking หรือรูปแบบอื่น ซึ่งยังไม่มีฎีกา แต่น่าจะเทียบเคียงได้กับกรณีแคชเชียร์เช็ค เพราะการโอนผ่านระบบนั้นย่อมเป็นการได้รับไปซึ่งเงินที่โอนมาแล้ว ย่อมเป็นการชำระหนี้เป็นเงินสดเหมือนกัน เจ้าหนี้ย่อมปฏิเสธมิได้ เพราะเปรียบเสมือนการชำระหนี้เป็นเงินสด
ปัญหาที่ต้องควรคิดคือ บิทคอยน์ เพราะ เป็นการแลกเป็นมูลค่าและเจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้ได้ทันทีแต่ต้องไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินก่อนจึงจะเป็นกรณีที่น่าคิดว่าเป็นการชำระหนี้เป็นอย่างอื่นหรือไม่
อ.กิตตภพ : ปัญหาทางทฤษฎีของการปลดหนี้ ทั้งในมุมมองทางวิชาการและทางปฏิบัติของศาลมีอย่างไรบ้าง
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : การปลดหนี้ในทางทฤษฎีนั้นมีความเห็น 2 ความเห็น
- ความเห็นส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวที่มีผู้รับการแสดงเจตนา กล่าวคือ หากเจ้าหนี้แสดงเจตนาปลดหนี้ไปยังลูกหนี้ หนี้ก็ระงับ ไม่ต้องอาศัยความยินยอมของลูกหนี้
- มีความเห็นที่แตกต่างว่าเป็นนิติกรรมสองฝ่าย เนื่องจากการมาตรา 522 กำหนดว่าการให้สามารถทำโดยการปลดหนี้ได้ และโดยที่สัญญาให้เป็นนิติกรรมสองฝ่าย ต้องอาศัยเจตนาของผู้รับ จึงมีผู้ตีความว่า การปลดหนี้ควรให้ฝ่ายลูกหนี้แสดงเจตนาในการให้ยินยอมด้วย ความเห็นดังกล่าวอ่านเพิ่มเติมได้จากวิจัย “ลักษณะทางกฎหมายของการปลดหนี้” ของอาจารย์เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม
นายวัชระ : ในกรณีของการปลดหนี้ทำได้โดย ปลดหนี้เป็นหนังสือหรือวาจา หรือ เวนคืนเอกสาร หรือขีดฆ่าเอกสาร แต่ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง เวลาที่มาฟ้องร้องต่อศาลจะนำหลักฐานที่ได้มีการส่งข้อความในทางออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กหรือทางไลน์จากข้อความในบทสนทนานั้นมาฟ้องร้องและกล่าวอ้างว่าเป็นการปลดหนี้ให้กับตนแล้ว
พิจารณาจากพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพียงการส่งข้อความกันในทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็ถือเป็นการบันทึกข้อตกลงเป็นเอกสารทางหนังสือแล้ว โดยศาลได้ตัดสินไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560 ว่าการปลดหนี้ทางข้อความเฟซบุ๊ก แม้จะเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งโดยหลักการปลดหนี้ต้องทำเป็นหนังสือ หรือเวนคืนหนังสือสัญญาด้วย แต่กรณีดังกล่าว การส่งข้อความเข้าระบบเฟซบุ๊ก ศาลได้ตัดสินว่า ถือเป็นกรณีทำเป็นหนังสือแล้ว แม้จะไม่มีการใส่ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม จะเห็นได้ว่า ศาลตีความการทำเป็นหนังสือค่อนข้างกว้าง
นอกจากนี้ ในคดีดังกล่าวยังมีประเด็นเรื่องเจตนาซ่อนเร้น เนื่องจากฝ่ายเจ้าหนี้อ้างว่าการปลดหนี้ของตนเป็นการแสดงเจตนาเพียงล้อเล่นหรือมิได้มีเจตนาที่จะปลดหนี้จริง ๆ ศาลนำหลักเจตนาซ่อนเร้นมาปรับใช้ กล่าวคือ เมื่อคู่กรณี (ลูกหนี้) ไม่รู้ถึงเจตนาในใจจริง ๆ เจตนาที่แสดงออกว่าปลดหนี้ของเจ้าหนี้จึงสมบูรณ์
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : เป็นคดีที่น่าสนใจ นอกจากเป็นเรื่องปลดหนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังมีประเด็นเกี่ยวกับความบกพร่องการแสดงเจตนา ซึ่งการปลดหนี้เป็นการแสดงเจตนาอย่างหนึ่งจึงต้องพิจารณาเรื่องความบกพร่องในการแสดงเจตนาด้วย แต่เนื่องจากคดีนี้พิสูจน์ไม่ได้ว่าลูกหนี้รู้ถึงเจตนาซ่อนเร้น การแสดงเจตนาปลดหนี้จึงสมบูรณ์
ประเด็นที่ 6 การเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย และการเขียนคำพิพากษา
อ.กิตติภพ : การเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย และการเขียนคำพิพากษา มีรูปแบบหรือลักษณะอย่างไร
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : การเขียนตอบข้อสอบอุทธาหรณ์ก็คือการปรับบท นำหลักกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงแล้วบอกผลทางกฎหมาย แต่หากพิจารณาในรายละเอียด การเขียนตอบข้อสอบของอาจารย์แต่ละคนก็จะมีสไตล์ไม่เหมือนกัน อาจารย์บางคนอาจต้องการให้เขียนกระชับ หรือบางคนอาจให้อธิบายแบบกึ่งบรรยาย อย่างเช่นกลุ่มที่นักศึกษากำลังศึกษา อาจต้องเขียนกึ่งบรรยาย ทั้งนี้ เนื่องจากได้มีการให้ตัวบทในห้องสอบ ดังนั้น แม้จะเป็นข้อสอบอุทธาหรณ์ ก็ต้องมีการอธิบายทฤษฎีหรือความเห็นที่เกี่ยวข้อง หรือให้เหตุผลประกอบด้วย มิใช่เพียงปรับหลักกฎหมายตรง ๆ
นายวัชระ : การศึกษาหลาย ๆ ความเห็นนี้เป็นการศึกษาทางทฤษฎีกฎหมาย การเรียนในมหาลัยที่สอนความเห็นที่หลากหลาย ทำให้เกิดความแตกต่างในความคิดเห็น เป็นการเรียนเพื่อให้รู้เจตนารมณ์ของกฎหมาย การเรียนโดยการอ่านตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียวย่อมทำได้ไม่ยาก แต่การเรียนในตัวบทกฎหมายกับการเรียนรู้เจตนารมณ์ของกฎหมายควบคู่กันไปด้วย เป็นการศึกษาในความรู้ในเชิงลึก และจำเป็นอย่างมากในการทำงาน หากเกิดปัญหาที่ไม่อาจตอบได้ เพียงตัวบทกฎหมายอย่างเดียวไม่อาจทำให้แก้ปัญหาได้ กล่าวคือถ้าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ชัดเจนหรือเป็นช่องว่างในทางกฎหมาย ความรู้ในเจตนารณ์ของกฎหมายทำให้การปรับใช้กฎหมายนั้นถูกต้องมีเหตุผลสมต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย
อ.กิตติภพ : ทำไมศาลถึงไม่ปรับใช้ทฤษฎีทางกฎหมายในการเขียนคำพิพากษา?
นายวัชระ : เพราะประเทศไทยเป็นระบบ civil law ต้องยึดต่อตัวบทกฎหมาย แต่โดยความจริงแล้วศาลก็ปรับใช้ในทฤษฎีต่าง ๆ ทางกฎหมายควบคู่กันไปอยู่แล้ว ซึ่งซ่อนไว้ในตัวบทกฎหมายของแต่ละบทบัญญัติอยู่ก่อนแล้วในการเขียนคำพิพากษานั้น ๆ