สรุปการบรรยายพิเศษหัวข้อ “Cyberneuroethics” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
(อ่านสรุปการบรรยายภาษาอังกฤษ ได้ที่นี่)
ผู้บรรยาย
- Dr Calum MacKellar ผู้อำนวยการด้านการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการชีวจริยธรรมในมนุษย์แห่งสกอตแลนด์ (Scottish Council on Human Bioethics)
ผู้สรุปสาระสำคัญ
- นายกรณัฐ จันทร์วีระเสถียร นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคปกติ ศูนย์รังสิต (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ชีวจริยธรรมในมนุษย์
นิยามของชีวจริยธรรม (Bioethics)
“bio” หมายถึง ชีวิต (ภาษากรีก)
“ethics” หมายถึง จริยธรรม กล่าวคือ การพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียของกระบวนการในการทำวิจัย เช่น กระบวนการสำเนาพันธุ์ (Cloning) และกระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะหรือเนื้อเยื่อ (Transplantation)
จริยธรรมได้ถูกนำมาใช้ในการร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ดังสังเกตได้จาก ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 ซึ่งเป็นรากฐานของกฎหมายทุกฉบับทั่วโลก แม้ปฏิญญาฉบับดังกล่าวดังกล่าวจะมีค่าบังคับเป็นเพียงกฎหมายอย่างอ่อน (Soft Law) กล่าวคือเป็นเพียงมาตรฐานที่ไม่มีสภาพบังคับและไม่มีบทลงโทษหากฝ่าฝืน แต่ศาลสามารถนำมาตรฐานนี้มาปรับใช้ประกอบการพิจารณาคดีได้
สำนักงานคณะกรรมการชีวจริยธรรมในมนุษย์แห่งสกอตแลนด์เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ช่วยรัฐบาลสกอตแลนด์โดยเฉพาะฝ่านนิติบัญญัติในการตรากฎหมายเกี่ยวกับประเด็นทางการแพทย์
Cyberneuroethics
สำนักงานคณะกรรมการชีวจริยธรรมในมนุษย์แห่งสกอตแลนด์เป็นองค์กรลำดับต้นในโลกที่ได้มีการศึกษาวิจัยในเรื่อง “Cyberneuroethics” จนถึงปัจจุบันได้มีการปฏิบัติงานในประเด็นดังกล่าวเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี โดยได้พิจารณาผลกระทบในด้านจริยธรรม ในกรณีเกี่ยวกับกระบวนการเชื่อมต่อ ในสองสถานการณ์ต่อไปนี้
1. Neuronal System-Computer interface: สถานการณ์นี้คือ การที่ระบบสมองของมนุษย์เชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง ทั้งนี้ผู้บรรยายได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบสถานการณ์นี้กับ ตัวละครที่มีร่างกายครึ่งหนึ่งเป็นมนุษย์และอีกครึ่งหนึ่งเป็นเครื่องจักรจากซีรีส์บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์เรื่อง “Star Trek”
2. Mind-Cyberspace interface: สถานการณ์นี้คือ การที่จิตใจของมนุษย์เชื่อมต่อกับบริเวณที่สื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอินเทอร์เน็ต (Cyberspace) อนึ่ง จิตใจนั้นต่างจากสมอง เนื่องจาก สมองคือระบบประสาทที่สัมผัสได้ แต่จิตใจนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนภายในสมองที่ไม่อาจสัมผัสได้้
ในสถานการณ์นี้ผู้บรรยายได้กล่าวถึง หนังสือบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์เรื่อง “Feed” ประพันธ์โดย Matthew Anderson เมื่อค.ศ. 2000 ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ในอนาคตที่มีจิตใจเชื่อมต่อกับบริเวณที่สื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (Cyberspace) เป็นผลให้มนุษย์เหล่านี้มีความสามารถดังต่อไปนี้
- การเข้าถึงแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ได้โดยผ่านจากทางจิตใจ ดังนั้นการท่องจำเพื่อการสอบวัดผลจึงไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องทำอีกต่อไป
- การส่งต่อประสบการณ์เสมือนจริง ดังนั้นความทรงจำหรือความคิดสามารถถูกถ่ายทอดไปยังคนรอบข้างได้โดยง่าย
- การสื่อสารทางจิตใจ ดังนั้นมนุษย์สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้โดยตรงผ่านทางสมอง
อย่างไรก็ตาม มนุษย์เหล่านี้เริ่มประสบปัญหาในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากบริษัทโฆษณาต้องการแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้น อีกทั้งสภาพสังคมในอนาคตนี้ยังสะท้อนถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมต่าง ๆ เช่น คนบางกลุ่มที่ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะมีเครื่องจักรในสมองที่มีประสิทธิภาพดีเท่าคนอื่นที่มีฐานะดีกว่า
สถานการณ์เช่นนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพราะปัจจุบันมีนักพัฒนาเทคโนโลยีจำนวนมาก เช่น Elon Musk และ Ray Kurzweil ที่ให้ความสนใจและกำลังพัฒนาชิปคอมพิวเตอร์ซึ่งจะทำให้มนุษย์มีความสามารถคล้ายกับตัวละครในหนังสือบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ดังกล่าว
นิยามของ Cyberneuroethics
“Cyber” (prefix) หมายถึง การมีปฏิกิริยากับระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแท้จริงแล้วคำว่า Cyber นี้กร่อนมาจากคำว่า “Cybernetics” (ภาษากรีก) ซึ่งมีความหมายเกี่ยวข้องกับการควบคุม ดังจะพบคำว่า Cyber ในลักษณะของคำนำหน้าของคำต่าง ๆ เช่น cybercafés (ร้านขายอาหารและเครื่องดื่มที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ให้บริการด้วย), cyborgs (สิ่งที่ประกอบไปทั้งสิ่งมีชีวิตและกลไกอิเล็กทรอนิกส์), cyberwarfare (การโจมตีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) และ cybercrime (อาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์)
“Neuro” (prefix) หมายถึง วิธีที่สมองใช้ในการทำความเข้าใจแนวความคิดหรือแขนงวิชาหนึ่ง ๆ ดังจะพบในคำว่า neurosciences (การศึกษาระบบสมองด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์), neuromarketing (การตลาดที่ศึกษากระบวนการการทำงานของสมองเพื่อคิดค้นวิธีการขายสินค้า)และ neuro-food (อาหารที่บำรุงกระบวนการการทำงานของสมอง)
ระบบกลไกการเชื่อมต่อของสมอง (Neuronal Interface Systems)
1. Interfacing out (output) of the neuronal system
กระบวนการเชื่อมต่อนี้จะกระทำโดยการส่งข้อมูลออกจากสมองเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยในขั้นตอนของกระบวนการนี้จะไม่มีการรบกวนสมอง (a non-invasive output neuronal interface) เพราะในระบบนี้จะนำเพียงข้อมูลออกมาจากสมองของมนุษย์เท่านั้น ซึ่งอาจกระทำได้โดยใส่อุปกรณ์ที่เรียกว่า Electroencephalogram (EEG) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยตรวจจับกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กของนิวตรอนจำนวนมหาศาลที่อยู่รอบอุปกรณ์ชิ้นนี้ ทำให้สามารถแสดงได้ว่าผู้ที่กำลังสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าวกำลังคิดถึงสิ่งใด ปัจจุบันเริ่มมีการใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้ในการความคุมการเคลื่อนไหวของตัวละครในเกมคอมพิวเตอร์ผ่านระบบความคิดของผู้เล่น
2. Interfacing into (input) neuronal system
กระบวนการเชื่อมต่อนี้จะกระทำโดยการนำข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ส่งผ่านไปที่สมอง ในกระบวนการนี้มีจุดประสงค์ที่จะเยียวยาโรค เช่น โรคพาร์กินสัน กระบวนการนี้จะกระทำโดยการกระตุ้นสมองส่วนลึกซึ่งเป็นการกระทำอันไม่มีการรบกวนสมอง (an invasive input neuronal interface) โดยอาศัยเครื่องมือที่สามารถนำเอาอิเล็กตรอนส่งผ่านเข้าไปในสมองเพื่อหยุดกระบวนการสั่นขอผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้ อย่างไรก็ตามการกระทำเช่นนี้อาจส่งผลให้อิเล็กตรอนในสมองได้รับผลกระทบและเปลี่ยนบุคลิกภาพของบุคคลไปได้
3. Interfaces made of feed-back loop system
กระบวนการเชื่อมต่อในลักษณะสุดท้ายนี้ เป็นการผสมผสานระหว่างกระบวนการเชื่อมต่อแบบที่ 1 และแบบที่ 2 โดยจะมีการนำทางข้อมูลเข้าและออกระหว่างสมองและเครื่องคอมพิวเตอร์ เนื่องจากกระบวนการนี้จะมีการส่งผ่านข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เข้าสู่สมองด้วยจึงเป็นกระบวนการที่มีการรบกวนสมอง (an invasive feedback neuronal interface) กระบวนการนี้สามารถกระทำได้โดยอาศัยการฝังชิปคอมพิวเตอร์ภายในสมองทำให้ผู้ที่ใช้กระบวนการเชื่อมต่อแบบนี้สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายประการโดยเฉพาะในการให้ความช่วยเหลือผู้พิการหรือผู้เป็นอัมพาต เช่น สามารถใช้ความคิดในการสั่งการตัวชี้ตำแหน่งอันเป็นการส่งข้อมูลออกจากสมองและเมื่อตัวชี้ตำแหน่งนั้นได้ขยับตามที่สมองสั่งการบุคคลนั้นก็จะรับข้อมูลว่าตัวชี้ตำแหน่งอยู่ที่ใดอันเป็นการรับข้อมูลเข้าสู่สมอง เมื่อบุคคลต้องการเปลี่ยนตำแหน่งก็จะส่งข้อมูลออกจากสมองไปอีกรอบหนึ่ง โดยกระทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามกระบวนการนี้ยังมีข้อควรคำนึงคืออาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อจากกระบวนการนำชิปคอมพิวเตอร์ใส่เข้าไปในสมอง
ประเด็นเรื่องจริยธรรม
ผู้บรรยายยังได้กล่าวถึงประเด็นในเรื่องจริยธรรมทั้ง 11 หัวข้อดังต่อไปนี้
1. มนุษย์ออนไลน์
ผู้บรรยายได้แสดงให้เห็นว่าเรื่องมนุษย์ออนไลน์นั้นมีแนวคิดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะในปัจจุบัน การพึ่งพิงเทคโนโลยีมากเกินไปอาจส่งผลเสียได้ดังจะเห็นได้จากตัวอย่าง 2 ตัวอย่างนี้
- The Machine Stops (ภาพยนตร์บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์) โดย M. Forster ค.ศ.1909 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโลกในอนาคตที่มนุษย์ส่วนใหญ่อยู่อาศัยอย่างแยกส่วนกันใต้พื้นดิน การพบเจอกันตัวต่อตัวถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและไม่สุภาพในสังคมนี้ ฉะนั้นการที่จะสื่อสารกันได้เพียงวิธีเดียวก็ต้องสื่อสารผ่านการโทรศัพท์ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายถูกควบคุมการสื่อสารโดยเครื่องที่เรียกว่า “The Omnipotent” แต่ต่อมาเครื่องมือดังกล่าวเริ่มเกิดความบกพร่อง ผู้คนในสังคมจึงตื่นตระหนก โดยเกรงว่าชีวิตทุกชีวิตที่ต้องพึ่งพาเครื่องมือควบคุมการสื่อสารดังกล่าวอาจจะต้องสิ้นสุดลงไปด้วย
- ชาวเกาหลีใต้อายุ 28 ปีเสียชีวิตหลังจากการเล่นเกมออนไลน์ 50 ชั่วโมงโดยมีการพักเพียงเล็กน้อย ในปีค.ศ. 2005
2. การเปลี่ยนแปลงกระบวนการการรับรู้
- กระบวนการการรับรู้ คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจและวิธีการทำงานของจิตใจ ในอนาคตการฝังชิปเข้าไปในสมองเพื่อเชื่อมต่อสมองกับระบบคอมพิวเตอร์นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงระดับความฉลาดให้เพิ่มมากขึ้นได้ โดยการปรับปรุงหน่วยความจำ นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนความเร็วในการประมวลผลของสมองได้อีกด้วย ทั้งในการสร้างเจตจำนงเสรีและความรับผิดชอบทางศีลธรรม เช่น ด้วยกระบวนการนี้ อาจใช้ในการระงับความคิดที่จะก่ออาชญากรรมของบุคคลเพื่อป้องกันและรักษาความปลอดภัยของสังคมได้
- ข้อแนะนำจาก สำนักงานคณะกรรมการชีวจริยธรรมในมนุษย์แห่งสกอตแลนด์:
- ทุกคนควรมีสิทธิ์ในอิสรภาพแห่ง ความคิด สติสัมปชัญญะ และศาสนา โดยที่สมองของมนุษย์ไม่ควรถูกควบคุมไม่ว่าโดยผู้ใด ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ประสบปัญหาในด้านทักษะการเรียนรู้ควรมีสิทธิที่จะะเพิ่มศักยภาพทางสมอง หากสมัครใจต้องการกระทำเช่นนั้น
- อุปกรณ์เชื่อมต่อระบบประสาท (Neuronal interfaces) ไม่ควรส่งผลกระทบต่อเจตจำนงเสรีและความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล มนุษย์ควรมีอิสระที่จะตัดสินใจด้วยตนเองและไม่ควรถูกมองว่าเป็นหุ่นยนต์ชีวภาพ
3. การเปลี่ยนแปลงความตระหนักรู้
- จนถึงปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบค้นหาและทราบถึงความหมายที่แท้จริงของความตระหนักรู้ (consciousness)
- หนังสือเรื่อง Macmillan Dictionary of Psychology ค.ศ.1989 โดย Stuart Sutherland นักจิตวิทยาชาวอังกฤษได้อธิบายความหมายของคำว่าความตระหนักรู้ไว้ว่า “ความตระหนักรู้ — การมีความรับรู้ ความคิดและความรู้สึก; ความรู้ตัว คำว่าความตระหนักรู้นี้เป็นไปไม่ได้ที่จะนิยาม ยกเว้นในแง่ที่ไม่สามารถเข้าใจได้โดยไม่เข้าใจว่าความตระหนักรู้หมายถึงอะไร … ความตระหนักรู้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าหลงใหลแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นปรากฏการณ์ที่เข้าใจยาก: เป็นไปไม่ได้ที่จะระบุว่า มันคืออะไร มันทำอะไรหรือทำไมมันถึงวิวัฒนาการ ไม่มีสิ่งใดที่มีคุณค่าเพียงพอที่จะอ่านได้เขียนเกี่ยวกับประเด็นนี้”
- ข้อแนะนำจาก สำนักงานคณะกรรมการชีวจริยธรรมในมนุษย์แห่งสกอตแลนด์: อุปกรณ์เชื่อมต่อระบบประสาท (Neuronal interfaces) ควรถูกห้ามไม่ใช่มีการที่ใช้ในลักษณะ ควบคุม บังคับ หรือมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น
4. การหลบหนีจากความเป็นจริง
- ผู้คนเริ่มใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีแนวคิดนี้มาตั้งแต่อดีต ดังตัวอย่างจาก Avatar (ภาพยนตร์บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์) อันมีเรื่องราวเกี่ยวกับศูนย์ฝึกทหารที่ให้ผู้มีร่างกายพิการแต่ด้วยเทคโนโลยีในอนาคตที่ทำให้เขาสามารถควบคุมและเคลื่อนไหวผ่านจิตใจกับอีกร่างที่สร้างขึ้นได้
- ข้อแนะนำจาก สำนักงานคณะกรรมการชีวจริยธรรมในมนุษย์แห่งสกอตแลนด์
- อุปกรณ์เชื่อมต่อระบบประสาท (Neuronal Interfaces) ไม่ควรได้รับการใช้เพื่อให้มนุษย์กามารถหลบหนีจากความเป็นจริงอย่างถาวร
- มนุษย์ผู้ที่ไม่ได้รับการพัฒนาทางสมองด้วยเทคโนโลยีไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติด้วยประการใด ๆ
5. การแสวงหาความสุขและหลีกเลี่ยงความความทุกข์ทรมาน
- The Giver (หนังสือและภาพยนตร์บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์) จากภาพยนตร์เรื่องนี้ สังคมอันสมบูรณ์แบบในอนาคตซึ่งถูกดัดแปลงให้ความทุกข์ทรมานไม่ปรากฏอีกต่อไป มีเพียง the Giver ชายแก่ตนเดียวที่อาจรู้ถึงความทุกข์ทรมาณได้และสืบทอดให้ Jonas เมื่อเขาได้เรียนรู้ถึงความรู้สึกทุกข์ทรมาณของโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว เขาก็ได้เข้าใจว่าสังคมที่เขาอยู่ไม่สามารถมีความเห็นอกเห็นใจและความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นที่แท้จริงได้
- หากมนุษย์ไม่สามารถที่จะรู้สึกถึงความทุกข์ทรมานได้ดังเช่นหุ่นยนต์ มนุษย์ก็มิอาจมีความเห็นอกเห็นใจ compassion (ภาษาละติน หมายถึงการทุกข์ทรมานกับ) และความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น empathy (ภาษากรีก หมายถึงการรู้สึกในความรู้สึกของผู้อื่น) ฉะนั้นแล้วความสามารถที่จะรู้สึกถึงความทุกข์ทรมานนั้นคือสิ่งที่ทำให้เป็นมนุษย์ได้อย่างแท้จริง นี่คือประเด็นที่ต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียดในการสร้างหุ่นยนต์ในอนาคต
6. การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของความเป็นมนุษย์
- ในอนาคตที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้ามนุษย์สามารถเป็นใครก็ได้ที่เขาต้องการ เนื่องจากอาจปรับเปลี่ยนทั้งความสามารถ เพศ หรือศาสนา โดยการส่งอิเลกโทรดเข้าไปกระตุ้นสมองบางส่วน อย่างไรก็ตามกระบวนการดังกล่าวอาจส่งผลทำให้เปลี่ยนแปลงบุคลิกลักษณะของบุคคลนั้นไปอย่างสิ้นเชิงก็ได้ นอกจากนี้การที่เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกให้มนุษย์สามารถปรับเปลี่ยนตนเองตามต้องการได้จะทำให้ยากต่อการค้นหาอัตลักษณ์ที่แท้จริงของแต่ละคน
- ใน ค.ศ. 2007 ณ ประเทศบอสเนีย สามีภริยาคู่หนึ่ง Sana Klaric และ Adnan Klaric ประสบปัญหาชีวิตคู่ต่างคนจึง ใช้ชื่อปลอม ในโลกออนไลน์เพื่อหาคนปรึกษา สุดท้ายเมื่อทั้งคู่รู้ว่าคนที่ตนปรึกษานั้นคือคู่สมรสของตน เป็นเหตุให้ทั้งคู่หย่าจากกันด้วยเหตุผลว่าอีกฝ่ายต่างไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน
7. แนวคิดของความเป็นมนุษย์
- ยังไม่มีกฎหมายใดให้นิยามของคำว่ามนุษย์ไว้ทั้งที่กฎหมายทุกฉบับต่างบัญญัติอยู่บนพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์
- พ้นมนุษยนิยม (Transhumanism) เชื่อในบางสิ่งที่พัฒนาไปกว่ามนุษย์ในปัจจุบันแต่ยังคงมีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายมนุษย์อยู่
- หลังมนุษยนิยม (Posthumanism) เชื่อในสิ่งที่พัฒนาไปจนไม่มีรูปร่างหน้าตาแบบมนุษย์ในปัจจุบันอยู่เลยแต่ยังคงมีจิตใจอยู่
- ข้อแนะนำจาก สำนักงานคณะกรรมการชีวจริยธรรมในมนุษย์แห่งสกอตแลนด์:
- ร่างกายของมนุษย์รวมถึงสมองควรได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยี โดยไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติแต่อย่างใด
- สังคมควรหาคำนิยามของมนุษย์ที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วน เพื่อให้แน่ใจว่ากฎหมายใดจะใช้กับมนุษย์หรือกฎหมายใดจะใช้กับสัตว์ โดยคำนิยามดังกล่าวต้องครอบคลุมและสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างสมเหตุสมผล ดังจะสังเกตจากตัวอย่างของรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่ได้บัญญัติให้นิยามของคำว่ามนุษย์คือสิ่งใดที่มียีนของมนุษย์เกินกว่าร้อยละ 50 คำนิยามนี้มีข้อผิดพลาดในบางกรณี เช่น ในกล้วยที่มียีนของมนุษย์ถึงร้อยละ 55
8. การถ่ายโอนจิตใจเข้าสู่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- Transcendence (ภาพยนตร์บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์) โดย Wally Pfister ค.ศ.2014 ในเรื่องนี้ได้เล่าเหตุการณืในอนาคตที่เทตโนโลยีพัฒนาทำให้ Dr Will สามารถบรรจุจิตใจขึ้นไปในระบบคอมพิวเตอร์ได้ก่อนตาย ฉะนั้นแม้เขาจะตายแล้วแต่จิตใจของเขาก็ยังมีชีวิตอยู่ในคอมพิวเตอร์
- Hava Tirosh Samuelson (นักวิจารณ์ศาสนา) ได้เสนอว่า “คอมพิวเตอร์จะแก้ปัญหาของมนุษย์และเมื่อมนุษย์เริ่มที่จะบรรจุจิตใจเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ พวกเขาจะไม่เพียงแต่มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น แต่พวกเขาก็จะสามารถอยู่ได้อย่างเป็นอมตะด้วยเช่นกัน ดังที่เป็นจุดสูงสุดของแต่ละศาสนาที่ได้สัญญาไว้”
9. การร่วมกันของจิตใจ
- Pierre Teilhard de Chardin (นักบวชและนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส) ได้สนับสนุนว่า มนุษย์กำลังวิวัฒนาการไปสู่การเชื่อมต่อระหว่างกัน ความคิดของมนุษย์แต่ละคนทั่วโลกกำลังเชื่อมโยงกันจนกลายเป็นจิตสำนึกเดียวกันหรือจิตใจที่เป็นหนึ่ง เขาเรียกมันว่า ‘Noosphere‘ ((ภาษากรีก ที่มาจากคำว่า ‘nous‘ หมายถึงจิตใจหรือเหตุผล และ ‘sphaira‘ หมายถึงทรงกลม) ในที่สุดสิ่งนี้จะรวมตัวถึงจุดสูงสุดที่เรียกว่า “Omega Point” ซึ่งเป็นสถานะที่มนุษย์จะรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าที่เกิดจากมนุษย์ทุกคนรวมจิตใจเข้าด้วยกัน ฉะนั้นแล้วแนวคิดนี้จึงถูกปฏิเสธโดยศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่ความเชื่อว่าเพราะเจ้าอยู่สูงสุดเหนือมนุษย์
- Star Trek (ซีรีส์บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์) ในซีรีส์นี้มีการเล่าถึงสิ่งที่เรียกว่า The Borg ซึ่งเป็นศูนย์รวมของบุคลิกลักษณะส่วนบุคคล โดยมีเป้าหมายคือการดูดกลืนอัตลักษณ์เข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อบรรลุความสมบูรณ์แบบ
- ข้อแนะนำจากสำนักงานคณะกรรมการชีวจริยธรรมในมนุษย์แห่งสกอตแลนด์:
- มนุษย์ไม่ควรพยายามสร้างคนใหม่ด้วยการอัพโหลดความคิดของพวกเขาไปสู่บริเวณที่สื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอินเทอร์เน็ต (Cyberspace) หรือด้วยวิธีอื่นใด
- ไม่ควรมีการอนุญาตให้มีการเข้าร่วมกันของจิตใจอย่างสมบูรณ์แบบในบริเวณที่สื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอินเทอร์เน็ต (Cyberspace)
10. ความเป็นส่วนตัว
- ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายมากกว่าประเด็นจริยธรรมในเรื่องอื่น ๆ หากเทคโนโลยีพัฒนาไปเป็นลำดับเช่นนี้ ตัวอย่างเช่นหากมนุษย์สามารถอ่านหรือรู้ถึงความคิดของผู้อื่นในขณะนั้นได้ เมื่อนั้นย่อมต้องมีกฎหมายเพื่อรับมือกับประเด็นดังกล่าวและรับรองความเป็นส่วนตัวให้คงอยู่เช่นเดิม
- The Circle (หนังสือและภาพยนตร์บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์) จากหนังสือและภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เล่าเรื่องราวในอนาคตที่ทุกคนสามารถรู้ว่าคนอื่นกำลังคิดอะไรอยู่ในสภาพสังคมเช่นนี้หากผู้ใดไม่ยอมเปิดเผยความคิดของตนย่อมถูกถือว่าเป็นผู้ที่ปฏิเสธสังคมหรือการยอมรับของกลุ่มโดยส่วนรวมเพราะในอนาคตตามสภาพสังคมของเรื่องนี้ถือว่าความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งที่ผิดปกติและน่าสงสัย
- คุกวงแหวน (Panopticon Prison) ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ประเทศคิวบา เป็นเรือนจำที่ถูกออกแบบให้การจัดเรียงห้องขังเป็นวงกลมเพื่อให้ผู้คุมนักโทษที่อยู่ตรงกลางวงแหวนสามารถสังเกตการณ์ได้ทุกห้องขังในเวลาเดียวกันนักโทษจะไม่สามารถมองเห็นพนักงานดูแลได้ วัตถุประสงค์ของการออกแบบคุกในลักษณะนี้มีเพื่อให้นักโทษประพฤติตนอยู่ในกฎระเบียบ วิธีการนี้ส่งผลให้ผู้คุมนักโทษมีอำนาจเหนือนักโทษในการสอดส่องพฤติกรรมของนักโทษ แต่อำนาจดังกล่าวของผู้คุมนักโทษนี้ไม่ได้สัดส่วนเนื่องจากสิทธิความเป็นบุคคลของนักโทษถูกริดรอน
- ข้อแนะนำจากสำนักงานคณะกรรมการชีวจริยธรรมในมนุษย์แห่งสกอตแลนด์:
- ทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้รับการเคารพความเป็นส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัวที่อยู่อาศัยหรือการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น
- หน่วยงานของรัฐไม่ควรเข้าแทรกแซงการใช้สิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลใด เว้นแต่ หน่วยงานของรัฐนั้นจะกระทำการที่เป็นไปตามกฎหมายและจำเป็นสำหรับสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เช่น ในกรณีที่คนไข้ผู้มีความผิดปกติทางจิตต้องการจะก่ออาชญากรรม
- การเข้าถึงความคิดส่วนบุคคลของผู้อื่นจะกระทำได้ ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้อนุญาตหรือยินยอมอย่างถูกต้องแล้วเท่านั้น
- กะโหลกศีรษะควรเป็นพื้นที่ของความเป็นส่วนตัวที่ได้รับการควบคุมและการป้องกัน
- แต่ละบุคคลควรมีมีสิทธิ์ที่จะสามารถตัดสินใจได้ว่าข้อมูลใดเกี่ยวกับตนเองจะถูกนำไปดำเนินการโดยใครและเพื่ออะไร
11. อาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
- ประเด็นอันสำคัญเกี่ยวกับอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน คือเรื่องการระบุอัตลักษณ์ที่แท้จริงของผู้กระทำความผิด เช่น ในกรณีผู้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัตรยืนยันตัวบุคคลต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการทำความผิดต่อบุคคลอื่นในโลกแห่งความเป็นจริงโดยอาศัยบริเวณที่สื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอินเทอร์เน็ต (Cyberspace) เช่น การไม่ซื่อสัตย์ในการสมรสโดยการพูดคุยกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่สมรสของตนเชิงชู้สาวหรือการต่อว่าผู้อื่น ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
- ข้อแนะนำจากสำนักงานคณะกรรมการชีวจริยธรรมในมนุษย์แห่งสกอตแลนด์: บุคคลในโลกแห่งความเป็นจริงควรจะต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนและควรได้รับการลงโทษ หากบุคคลนั้นได้กระทำความผิดในบริเวณที่สื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอินเทอร์เน็ต (Cyberspace) ที่อาจส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่นหรือองค์กรอื่นในโลกแห่งความเป็นจริง
บทสรุป (ข้อควรคำนึงเชิงนโยบาย)
ข้อแนะนำจากสำนักงานคณะกรรมการชีวจริยธรรมในมนุษย์แห่งสกอตแลนด์:
- ควรเริ่มมีการพิจารณาในวงกว้างทั้งทางสังคมและทางการเมืองในประเด็นเรื่องการใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อประสาท (Neuronal interfaces) ว่าชนิดใดควรจะได้รับการยอมรับและอนุญาตให้ใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการรักษาการความปลอดภัยและด้านการเพิ่มประสิทธิภาพของบุคคล
- สภาจริยธรรมแห่งชาติ (National ethics councils) ควรที่จะจัดการกับอุปกรณ์เชื่อมต่อระบบประสาท (Neuronal interfaces) และปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างจิตใจและไซเบอร์สเปซ
- หลักการป้องกันไว้ก่อนควรถูกใช้เมื่อมีความเสี่ยงร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับการฝังอุปกรณ์เชื่อมต่อระบบประสาท (Neuronal interfaces) กล่าวคือควรมีหลักการที่ชัดเจนในการแยกแยะระหว่าง:
- การฝังอุปกรณ์ที่เคลื่อนไหวและไม่เคลื่อนไหว
- การฝังอุปกรณ์แบบที่สามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นเช่นเดิมได้กับแบบที่ไม่อาจทำให้เป็นเช่นเดิมได้
- การฝังอุปกรณ์แบบออฟไลน์กับแบบออนไลน์
- การฝังอุปกรณ์แบบต้องใช้กระบวนการทางการแพทย์แบะไม่ต้องใช้กระบวนการทางการแพทย์
- ความยินยอมของบุคคลที่รับการรักษานั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการดำเนินการการฝังอุปกรณ์เชื่อมต่อระบบประสาท (Neuronal interfaces)
- ความยินยอมของบุคคลที่ให้ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อระบบประสาท (Neuronal interfaces) นั้น สามารถถูกยกเลิกเมื่อใดก็ได้