สรุปสาระสำคัญจากโครงการงานวิชาการรำลึก TU Law Conference ปาฐกถานิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ชุด ศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย (ประจำปี 2562) ปาฐกถาหัวข้อ “ประเด็นสำคัญด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในยุคที่โลกตกอยู่ใน Disruptive Innovation” วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2562 ระหว่างเวลา 08.30 – 13.00 น. ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT. 1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผู้กล่าวเปิดงาน
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- รองศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติวัฒน์ จันทร์แจ่มใส ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการนักศึกษา / อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ ศูนย์กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ และศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- อาจารย์สุประวีณ์ อาสนศักดิ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง ศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ และศูนย์นิติศึกษาฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายอานนท์ แก้วปัญญา นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ศาสตราจารย์ ดร.จตุรนต์ ถิระวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.จาตุรนต์ กล่าวรายงานว่า งานวิชาการนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นประเพณี โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ จัดกิจกรรมเพื่อแสดงมุทิตาจิต เพื่อเป็นเกียรติแค่คณาจารย์ผู้อาวุโสซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณปการอย่างยิ่งต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงวิชาการ และประการที่สองเพื่อเป็นการสร้างสรรค์องค์ความรู้ทางด้านวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล โดยได้มีการจัดงานครั้งแรกในปี 2556 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีการใช้เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในสังคม ดังนั้น ในปีนี้จึงเป็นการต่อยอดจากปีก่อนหน้าที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีที่ส่งผลให้กฎหมายทั้งปวงที่จะต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งในทางปฏิบัติแม้ว่าชีวิตประจำวันของเราทุกคนอาจจะไม่ใช้เทคโนโลยีโดยตรงก็ตาม แต่ว่าทางอ้อมนั้นก็อาจจะได้รับผลกระทบได้ เช่น ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล เป็นต้น อันจะส่งผลประทบต่อประชาชนรวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่จะต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องและรู้เท่าทันถึงความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ท้ายที่สุดหวังว่าทุกท่านจะได้ความรู้ทางวิชาการในครั้งนี้ด้วยนอกเหนือจากการแสดงมุทิตาจิตแก่อาจารย์คนึง ฦๅไชย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์
ผศ.ดร.มุนินทร์ ได้กล่าวแสดงมุทิตาจิตและกล่าวเปิดงานว่า ทางคณะนิติศาสตร์ได้จัดงานแสดงมุทิตาจิตแก่ท่านอาจารย์คนึง ฦๅไชย ตั้งแต่ 2556 มาจนถึงปัจจุบันซึ่งหากนับงานในครั้งนี้แล้วจะเป็นครั้งที่ 6 โดยที่ท่านศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย นั้นถือว่าเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดจนในวงการกฎหมายไทยด้วย และเป็นที่เคารพรักของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และตลอดจนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ผ่านทางตำราหรือการทำงาน แม้ว่าท่านจะไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำก็ตาม โดยที่คุณูปการของท่านก็มีหลากหลายประการเช่นกัน กล่าวคือ
ประการแรก ว่าด้วยงานสอนในวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายลักษณะพยาน วิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ตลอดจนกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยที่มีบทบาทในการสอนและการพัฒนาสาขาดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ ตั้งแต่ที่ท่านสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเนติบัณฑิตอังกฤษจากสำนักเกรนอิน ท่านได้เริ่มสอนในปี 2506 และได้เริ่มบรรยายในหลักสูตรประกาศนียบัตรในวิชากฎหมายธุรกิจในหัวข้อ “ทรัพย์สินทางปัญญาและอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” จึงนับได้ว่าท่านเป็นอาจารย์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สาขากฎหมายทั้งสองวิชานั้นได้พัฒนาขึ้นในประเทศไทย
ประการที่สอง ว่าด้วยงานสอบวิทยานิพนธ์ทั้งในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตท่านได้ให้ความกรุณาในการเป็นประธานในการสอบและให้คำปรึกษาคำแนะนำแก่นักศึกษาทั้งในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เป็นระยะเวลาหลายปี ซึ่งมีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ได้ทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องที่ท่านสอนทั้งสามสาขา ได้แก่ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล และกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ
ประการที่สาม ว่าด้วยการเป็นที่ปรึกษาในการบริหารงานในทางนิติศาสตร์โดยที่ท่านได้ให้ความกรุณาในการบริหารงานของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการให้คำแนะนำในสถาบันอื่น ๆ
ประการที่สี่ ว่าด้วยการกระตุ้นความคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชนรุ่นหลัง ๆ โดยที่ท่านเป็นแบบอย่างแก่คณาจารย์ที่สอนกฎหมายให้กับนักศึกษากฎหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันอื่น ๆ ซึ่งท่านให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวเองให้พร้อมต่อกรเปลี่ยนแปลงทางสังคมในบริบทของอาเซียนซึ่งมีผลสำคัญต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของกฎหมายไทย นอกจากนี้ การจัดงานที่ผ่านมามักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนและกฎหมายระหว่างประเทศเสมอ
ทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยากจะใช้โอกาสในครั้งนี้แสดงมุทิตาจิตและแสดงความเคารพต่อท่านศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย เพื่อรำลึกถึงคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ของท่านในวิชาการนิติศาสตร์ที่มีต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อสังคมไทยในภาพรวม ดังนั้น จึงขอกล่าวของพระคุณท่านศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย ที่ได้สร้างคุณูปการต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสังคม
ศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย
ศ.คนึง แสดงปาฐกถานำ เรื่อง “การศึกษานิติศาสตร์ในมิติทางคุณค่าแบบธรรมศาสตร์” โดยกล่าวว่า ชีวิตการเป็นครูบาอาจารย์ยังไงก็ทิ้งการสอนไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะรับราชการที่ไหนหากเชิญมาสอนและมีเวลามาก็จะมา เพราะว่าชอบสอนจึงทำให้มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ธรรมศาสตร์ได้ให้เราไว้ตั้งแต่ต้นและเรื่อยมา แม้ว่าจะมีอะไรหลาย ๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ทั้งนี้ สิ่งที่ตนได้ทำกับธรรมศาสตร์ที่ผ่านมาก็เป็นสิ่งที่ภูมิใจ ในการที่เรียนต่างประเทศทำให้รู้ทั้งหมดซึ่งกฎหมายทุกระบบได้รู้เห็นความแตกต่างของระบบกฎหมายซีวิลลอว์และระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งตนก็เขียนความแตกต่างกันระหว่างกฎหมายซีวิลลอว์และคอมมอนลอว์ ทั้งนี้ อังกฤษก็มีอิทธิพลต่อเรามากและเราก็รับเอากฎหมายอังกฤษเข้ามาเป็นของเรา แต่ว่ารากฐานนั้นเป็นของกฎหมายยุโรปแทบทั้งนั้น จึงทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจถึงเป็นอาจารย์ได้
อาจารย์ สุประวีณ์ อาสนศักดิ์ (ขวาในภาพ) อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง ศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ และศูนย์นิติศึกษาฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.สุประวีณ์ กล่าวถึงหัวข้อในการเสวนาในวันนี้ “ประเด็นสำคัญด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในยุคที่โลกอยู่ใน Disruptive Innovation” ซึ่งคำว่า “Disruptive Innovation” หมายถึง นวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของทุกคนไม่ว่าจะเป็นในทางที่ให้ประโยชน์หรือในทางที่ก่อเกิดการรบกวนหรือก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อหลาย ๆ คนในการดำเนินชีวิต
ตัวอย่างเช่น การนำ AI เข้ามาใช้ในการดำรงชีวิตซึ่งมีลักษณะที่ไปไกลกว่า Smart Phone เทคโนโลยี 4.0 ที่ใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ในโรงงานเช่นกัน และรวมไปถึงเรื่องเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเรื่องของบล็อกเชนเทคโนโลยีที่สร้างได้มากกว่า Bit coin หรือสกุลเงินใหม่ โดยที่สามารถนำมาเพื่อให้การทำงานของภาครัฐนั้นโปร่งใสได้เช่นกัน หรือว่าเรื่องของ Big Data ที่มีการใช้เรื่องของ Smart Contract หรือการใช้ AI เข้ามาแทนนักกฎหมาย เป็นต้น
ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลาย ๆ เทคโนโลยี หลัก ๆ ที่เข้ามาในชีวิตของเราก็มีผลกระทบต่อชีวิตของเราและมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของบุคคลที่เปลี่ยนไป เช่น จากที่เคยโทรศัพท์หากันก็เปลี่ยนมาเป็นส่งข้อความทาง Line หากัน หรือการไปมาหาสู่กันปัจจุบันนี้ก็คุยกันผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร (ซ้ายในภาพ) อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวว่า ท่านอาจารย์คนึงชอบชวนสนทนาเรื่องต่าง ๆ ที่จะทำให้เรานั้นคอยคิดเสมอว่ากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของไทยนั้นจะต้องปรับไปเรื่อย ๆ อย่างไร ในปี 2562 นี้ ตามที่ท่านผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้กล่าวว่า “เราก็กว่าถึง Change หลาย ๆ อันที่อยู่ในประเทศไทยและอยู่ในโลกใบนี้” ซึ่งในปัจจุบันนี้เราอาจจะปฏิเสธไม่ได้เรื่องความเจริญทางด้านเทคโนโลยีที่ทำให้ AI เกิดขึ้น ให้เกิด Internet of Think และทำให้เกิดการตกงาน ซึ่งในปัจจุบันหลาย ๆ ธุรกิจนั้นไปไม่ได้ รวมถึงธุรกิจของการสอนกฎหมายด้วยซึ่งจะต้องมีการปรับตัวอย่างแรง
ทั้งนี้ ว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพิ่งได้ทำการปรับปรุงหลักสูตรซึ่งได้มีการขบคิดกันโดยท้ายที่สุดแล้วยังคงเป็นไปตามที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เสนอที่ว่า วิชานี้ว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเอกชนนั่นก็คือ บุคคลธรรมดากับนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ซึ่งในหลักสูตรใหม่นี้ก็ระบุเหมือนเดิมเมื่อครั้นสมัยเป็นโรงเรียนกฎหมายก็คือว่า
ประการแรก ว่าด้วยการจัดสรรเอกชน คือ ต้องพิจารณาซึ่งความชัดเจนในตัวบุคคล เช่น ชาวเขาที่ไม่เคยได้แจ้งการเกิด เป็นต้น ฉะนั้น ในการสอนภาคแรกจึงต้องสอนเรื่องสัญชาติหรือภูมิลำเนา ตัวอย่างเช่น ระบบคอมมอนลอว์ที่จะต้องใช้ภูมิลำเนาในการกำหนด Capacity ของคน เป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้เคยกล่าวกับท่านอาจารย์คนึงว่าเมื่อประเทศไทยเป็นระบบซิวิลลอว์นั้นจะไม่กล่าวเรื่องของภูมิลำเนาได้หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบคือ ไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงโลกใบนี้มีระบบคอมมอนลอว์และระบบซีวิลลอว์ เมื่อศาลไทยจะต้องใช้กฎหมายของประเทศมาเลเซียในการตัดสินคดีก็จะต้องใช้กฎหมายคอมมอนลอว์ก็ต้องใช้เรื่องของภูมิลำเนา เป็นต้น
เนื่องจากปัจจุบันนี้มีเรื่องของ AI สมมติว่า มีรถคันหนึ่งมาจากประเทศมาเลเซียเป็นรถของเทสล่าไม่มีคนขับ หากว่าเรานั่งอยู่ในรถคนนั้นซึ่งเราเป็นเจ้าของรถ ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุรถชนกันที่สงขลา ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้เริ่มคิดว่าในกรณีเช่นว่านี้จะคิดอย่างไร แล้วความรับผิดชอบจะเป็นของเทศล่าหรือจะเป็นของใคร ซึ่งละเมิดในกรณีนี้จะต้องมีการคิดใหม่เพราะว่าเป็นการละเมิดระหว่างประเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้ กรณีของสัญญาซึ่งเวลาที่เรากดใน Lazada สัญญาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นในประเทศจีนหรือในประเทศไทย หรือนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยนั้นควรที่จะใช้แอปพลิเคชั่นอย่างพร้อมเพย์ของธนาคารไทย แต่ปรากฏว่าเป็นการใช้ของธนาคารจีน ซึ่งกรณีเช่นว่านี้จะต้องสอนในคดีบุคคล
จึงนำไปสู่การตั้งคำถามว่าจะต้องมีการขยับตัวหรือไม่ในการสอนเรื่องการจัดสรรเอกชนระหว่างประเทศ จึงนำไปสู่การมีตัวอย่างเรื่อง Disruptive Innovation แทนที่เรื่องของ นาย ก. ขับรถในประเทศไทยไปชนนาย ข. ที่ประเทศลาว เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีตัวอย่างที่มีเทคโนโลยีเข้ามา
ประการที่สอง ว่าด้วยสถานะทางกฎหมายของเอกชนในทางระหว่างประเทศ กล่าวคือ เรื่องของคนต่างด้าวที่มาอาศัยและทำงานในประเทศไทยจะมีสถานะอย่างไร หรือในกรณีที่คนสัญชาติไทยที่ไปทำงานในประเทศลาวจะมีสถานะเป็นอย่างไร ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามในการปรับตัวเพื่อสอนในหัวข้อนี้
การตั้งรับเรื่องของ Disruptive Innovation ซึ่งเราไม่ต้องรู้จักกลไกของ Internet of Think ของคอมพิวเตอร์ก็ได้ แต่เราต้องสามารถจัดการเรื่องของผลกระทบที่เกี่ยวข้องได้ ตัวอย่างเช่น ตลาดงานในประเทศไทยไม่มีงาน ทำให้ไม่มีคนทำงานและไม่มีคนเสียภาษีจะต้องทำอย่างไร หรือการที่คนไทยอพยพไปเป็นประชากรของประเทศอื่น ประเทศไทยจะต้องทำอย่างไร เป็นต้น ฉะนั้นในหัวข้อที่สองนี้ สิ่งใดที่จะทำให้เราต่อสู้กับ Disruptive Innovation ได้ ในขั้นแรก ระหว่างธุรกิจการเงินหรือธุรกิจสื่อไม่ทราบว่าอะไรจะล้มก่อนกัน ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าธุรกิจการเงินนั้นจะสามารถปรับตัวได้มากพอสมควร
ประการที่สาม ว่าด้วย Choice of Laws ไม่ว่าจะเป็น Choice of Public Laws หรือ Choice of Private Laws ก็คือ นิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้นถ้าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ เช่น สัญญาซื้อขาย แลกเปลี่ยน นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้กฎหมายไทยเสมอไปถ้าเกิดว่าจุดเกาะเกี่ยวนั้นไม่ใช่กฎหมายไทย เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม การปูพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศนั้นก็จะต้องแน่นเหมือนเดิม แต่การที่ยกตัวอย่างก็ดี การที่ทำให้นักศึกษาเข้าใจก็ดี มันจะต้องไปสัมผัสกับเรื่องที่เกิดขึ้นจริงที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การไปจ่ายเงินค่าซื้อขายที่ห้างสรรพสินค้าโดยใช้บัตรเครดิตนั้น ปรากฏว่าพนักงานไม่สนใจว่าจะเป็นบัตรปลอมหรือไม่เพียงแต่ให้ผู้ใช้บริการลงลายมือชื่อเท่านั้น โดยไม่ได้สนใจว่าจะลงชื่อถูกหรือไม่ แต่ว่าในภายหลังบัตรเครดิตหาย ซึ่งตะวันตกได้กล่าวว่า Disruption นั้นได้เกิดตลอดมา โดยอธิบายว่าอดีตมนุษย์นั้นเดินได้ด้วยขา ต่อมาสังเกตเห็นว่าม้านั้นวิ่งได้เร็วก็ไปขี่ม้าแล้วก็มาเป็นเกวียนมาเรื่อย ๆ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงคือ Culture เพราะฉะนั้น มนุษย์คนใดหากไม่เรียนรู้เรื่องของ Disruption ก็จะอยู่ในถ้ำแบบเดิม จะเดินด้วยเท้าแบบเดิมจะไม่ขี่ม้าจะไม่นั่งเกวียนจะไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองกับเรื่องอะไรก็ตาม
ฉะนั้นจึงอยากจะเรียนว่า ณ วันนี้เราต้องรู้จักโลก “ที่ใดมีสังคมที่นั่นมีกฎหมาย” ดังนั้นกฎหมายมันก็ต้องสนองตอบ ดังนี้ในการเรียนการกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลนั้นก็ยังคงเดิมไว้ซึ่งหลักการของธรรมศาสตร์ แต่มีการเพิ่มเติมในสิ่งใหม่ ๆ และมีการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้แก่ประชาชนของในประเทศไทยด้วย
ศาสตราจารย์ ดร. ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช (ซ้ายในภาพ) อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.ประสิทธิ์ กล่าวถึงกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในหัวข้อวันนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายเนื่องจากว่ากฎหมายขัดกันของไทยนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 แต่กฎหมายขัดกันของไทยนั้นร่างขึ้นเมื่อศตวรรษที่แล้ว พ.ศ. 2481 หรือ ค.ศ. 1938 ปัญหาคือว่า “จะสามารถที่จะแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้หรือไม่” เช่น Facebook Line Twiter E-mail เป็นต้น หากปรากฏว่ามีการหมิ่นประมาทในอินเทอร์เน็ตนั้นจะนำไปสู่เรื่องของ Jurisdiction ว่าจะต้องฟ้องในเขตศาลใด และมีประเด็นว่าจะต้องใช้กฎหมายใด Choice of Law
ทั้งนี้ ในปัจจุบันเกิดธุรกิจต่าง ๆ ประเด็นเรื่องการทำธุรกรรมนั้นอาจจะทำให้เกิดการหมิ่นประมาทโดยที่ศาลอังกฤษตั้งแต่ปี 2012-2015 นำไปสู่ประเด็นที่ว่า “การใช้กฎหมายขัดกันในยุคที่ยังไม่มีการใช้อินเทอร์เน็ตแพร่หลายหรือโซเซียลมีเดียอย่างทุกวันนี้ได้หรือไม่”
ในสหภาพยุโรปได้มีการพัฒนาเรื่องนี้โดยที่มีกฎหมายอยู่ 2 ฉบับ กล่าวคือ อนุสัญญาโรมวัน คือ พันธกรณีที่เกี่ยวกับสัญญา และอนุสัญญาโรมทู คือ พันธกรณีที่เกี่ยวกับละเมิด ปรากฏว่าในปี 2007-2008 ซึ่งทั้งสองอนุสัญญาดังกล่าวได้ถูกร่างขึ้นโดยไม่ได้แบ่งว่าจะต้องเป็นการทำธุรกรรมแบบออนไลน์โดยไม่ได้สนใจเนื่องด้วยเหตุผลหนึ่งที่ว่า “ถ้าร่างโดยคำนึงถึงเทคโนโลยีกฎหมายก็ไม่สามารถที่จะตามเทคโนโลยีได้ทัน เทคโนโลยีไปเร็วกกว่ากฎหมาย” ดังนั้น จึงให้ศาลทำหน้าที่เป็นผู้ตีความและพัฒนากฎหมายเพราะน่าจะมีความยืดหยุ่นมากกว่า
กรณีของสัญญาจะพบว่าได้กำหนดให้คู่สัญญาเลือกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับสัญญาที่ทำขึ้นหรือกรณีการเลือกโดยชัดแจ้ง นอกจากนี้ยังมีกรณีการเลือกกฎหมายโดยปริยายโดยพิจารณาจากรูปแบบของสัญญา Term of Contract ตลอดจนสกุลเงินในสัญญา ซึ่งจะพิจารณาว่าบริบทดังกล่าวนี้สัญญาควรจะอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศใด หากพิจารณาเรื่องของสกุลเงินนั้นพบว่าเราอาจจะเห็นการใช้เงินสกุล “ดอลลาร์” หรือ “ปอนด์” ซึ่งได้มีเงินสกุลใหม่ขึ้นเช่น Libra / Bitcoin จึงนำไปสู่ประเด็นที่ว่าจะรวมเงินสกุลนี้หรือไม่ หากปรากฏว่าไม่ได้กำหนดเลือกกฎหมายตามอนุสัญญาได้กำหนดให้ไปพิจารณา “ถิ่นที่ใกล้ชิดที่สุดของนิติสัมพันธ์” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่คลุมเครือซึ่งทำให้ศาลมีดุลพินิจในลักษณะที่กว้างขวางในการพิจารณา โดยดูสัญชาติของผู้ที่ทำสัญญา สถานที่ที่ทำสัญญา ถิ่นที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา แต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าหากพิจารณาในบริบทของอินเทอร์เน็ต ไม่ปรากฏว่าสัญญานั้นจะเกิดที่ใดหรือการเกิดขึ้นของสัญญานั้นเกิดขึ้น ณ ที่ใด ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายเพราะว่าลักษณะของอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปสามารถที่จะเข้าสู่ระบบได้ทุกที่บนโลก ต่อมาเมื่อพิจารณาตามกฎหมายไทยจะพบว่า ในปี ค.ศ. 1938 สยามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีกฎหมายขัดกันเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งแม้แต่ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ก็ยังไม่สามารถจัดทำกฎหมายขัดกันได้ ดังนั้นกฎหมายของสยามจึงเป็นกฎหมายที่ทันสมัยมากในขณะนั้น ซึ่งในปัจจุบันปี ค.ศ. 2019 กฎหมายขัดกันของไทยมาตรา 13 ยังเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับอนุสัญญาโรมวันซึ่งเป็นเรื่องทั่ว ๆ แต่เรื่องของการเลือกกฎหมายโดยปริยายของไทยนั้นไม่ได้วางกฎเกณฑ์เอาไว้ก็จะเป็นปัญหาว่าจะเลือกอะไร ซึ่งกฎหมายไทยให้ไปพิจารณาสัญชาติของคู่สัญญาซึ่งตนมีความเห็นว่าเกณฑ์ตรงนี้ล้าสมัย คือ ในบริบทของอินเทอร์เน็ตนั้น การพิจารณาเรื่องสัญชาตินั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เพราะว่าเป็นคนละสัญชาติและคนละภูมิลำเนาแน่นอน ดังนั้นหากไปใช้เรื่องสัญชาติรวมกันจึงไม่ใช่กรณีที่จะสมเหตุสมผลและปัจจุบันนั้นไม่มีใครใช้เกณฑ์เช่นว่านี้ ดังนั้น หากไม่สามารถระบุได้ให้พิจารณาถิ่นที่คู่สัญญาได้ทำสัญญาต่อกันการที่คู่สัญญาทำสัญญาในอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายว่าสถานที่ที่เกิดมีขึ้นซึ่งสัญญานั้นจะเกิด ณ ที่ใด
กรณีละเมิดจะพบการหมิ่นประมาทกันในอินเทอร์เน็ต จะต้องใช้กฎหมายของประเทศอะไรในการฟ้องร้อง ซึ่งหากพิจารณาในอนุสัญญา Rome II จะพบว่าไม่ได้บัญญัติถึงให้ใช้ถึงเรื่องหมิ่นประมาทแต่กล่าวว่าให้ใช้ “ถิ่นที่ความเสียหายนั้นได้เกิดมีขึ้น” ซึ่งคำตอบคือในโลกอินเทอร์เน็ต และประการต่อไปคือ “ใช้ใช้กฎหมายถิ่นที่อยู่ร่วมกัน” คือ ถ้าคู่ความมีถิ่นที่อยู่ร่วมกันก็ให้ใช้ถิ่นที่อยู่นั้นแต่ถ้ามีถิ่นที่อยู่ต่างกันให้ให้กฎหมายของถิ่นที่อยู่ที่ใกล้ชิดที่สุดของนิติสัมพันธ์ซึ่งค่อนข้างที่จะทันสมัย แต่อย่างไรก็ตามก็ได้มีนักวิชาการหลาย ๆ ท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่าหลักเกณฑ์เช่นว่านี้จะใช้ได้บนโลกอินเทอร์เน็ตและโซเซียลมีเดียได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังได้เสนอมาตรการที่เหมือนกับ Facebook ใช้ ณ ปัจจุบันนี้ คือ Community Standard ซึ่งไม่มีสถานะเป็นกฎหมายแต่เป็นมาตรฐานกลางตามที่ผู้ให้บริการได้วางหลักเกณฑ์ไว้ และเมือพิจารณาประเด็นการละเมิดของประเทศไทยนั้นยิ่งจะล้าสมัยมากในมาตรา 15 เพราะว่าเราได้ไปใช้ตามอังกฤษ กล่าวคือ จะต้องเป็นกรณีที่จะต้องเป็นละเมิดทั้งสองประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศอังกฤษก็ไม่ได้ใช้หลักกฎหมายดังกล่าวนี้แล้ว เพราะฉะนั้นการใช้หลักตามมาตรา 15 กฎหมายขัดกันของไทยนั้นหากปรับใช้กับโซเซียลมีเดียหรืออินเทอร์เน็ตอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายของศาลไทย ท้ายที่สุดนี้ตนได้ข้อมูลว่ากระทรวงการต่างประเทศรับเป็นเจ้าภาพในการปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยกฎหมายขัดกัน พ.ศ. 2481 ซึ่งน่าจะมีการศึกษาเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เทคโนโลยีเพื่อให้จะให้กฎหมายระหว่างประเทศสามารถแก้ไขปัญหาในกลาย ๆ ด้านได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติวัฒน์ จันทร์แจ่มใส (ขวาในภาพ) ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการนักศึกษา / อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ ศูนย์กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ และศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.กิตติวัฒน์ กล่าวว่า ในเรื่องของนวัตกรรมหรือที่เรียกว่า “Disruptive Innovation” ซึ่งอาจจะแปลตรงตัวได้ว่า “สิ่งที่ทำให้เกิดความยุ่งยากวุ่นวายในสังคม” โดยที่เป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับนักกฎหมายและจะได้ทำการชี้ชวนให้ท่านนั้นร่วมกันพัฒนา ซึ่งจากการค้นคว้าพบว่านวัตกรรมนั้นอาจจะมีการใช้คำว่า “Disruptive” ในการมองเชิงลบ ในทางกลับกันการมองในเชิงบวกในด้านเทคโนโลยีก็อาจจะก่อให้เกิดความยั่งยืนได้เช่นกัน จึงนำไปสู่การตั้งโจทย์ที่ว่า “นวัตกรรมใหม่ ๆ นั้นก่อให้เกิดเฉพาะความวุ่นวายในสังคมเท่านั้นหรือไม่หรือว่าจะสร้างความยั่งยืน” ทั้งนี้อาจจะนำไปสู่การจัดทำหรือการร่างกฎหมายก็ได้ แต่ว่าหากพิจารณาในสายกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคลนั้นอาจจะไม่ได้กล่าวถึงประเทศใดประเทศหนึ่งแต่อาจจะกล่าวถึงในระดับภูมิภาคตลอดจนถึงระดับสากล
ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องของเทคโนโลยีนั้นอยากจะกล่าวถึงในส่วนของประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนคิดว่าจะทำให้เราเห็นสิ่งที่จะเกิดมีขึ้นในอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ หากพิจารณาย้อนกลับไปในช่วงกฎหมายในสังคมโลกในศตวรรษที่ 17-19 ที่เกิดรัฐสมัยใหม่ขึ้นจะเห็นว่ากฎหมายเป็นกฎหมายภายใน ต่อมานักกฎหมายเห็นว่ากฎหมายภายในอย่างเดียวนั้นคงไม่เพียงพอเนื่องด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐในแต่ละรัฐควรที่จะมีความสัมพันธ์กันจึงเกิดกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นซึ่งมีผลกระทบต่อเอกชนไม่มากก็น้อย การที่เอกชนทำธุรกรรมค้าขายระหว่างประเทศกันในขณะที่มีรัฐจึงอยากที่จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเอกชนโดยตรงจึงเกิดเป็น Trade International Law ซึ่งเป็นกฎหมายข้ามชาติแต่ไม่ใช่กฎหมายระหว่างประเทศ ต่อมาในยุคที่เป็น Internet ซึ่งได้เกิดเป็น Internet Law ขึ้นมาในระบบโลกออนไลน์ที่แยกออกจากกัน
หากพิจารณาในโลกยุคปัจจุบันจึงทำให้เกิดการคิดต่อยอดออกไปไกลกว่าเดิมที่เคยมีมา กล่าวคือ สามารถที่จะมี World Law ได้หรือไม่ ? ทำไมต้องมีรัฐอยู่ ซึ่งเป็นจุดที่น่าคิดในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ จุดที่เราพบคือการพัฒนาการของกฎหมายในหลาย ๆ ประเทศ ในกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลก็จะเน้นที่การทำสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาแล้วนำไปบังคับกับเอกชนซึ่งหลาย ๆ ประเทศก็จะคล้ายคลึงกัน ซึ่งมีลักษณะเป็นกฎหมายเอกรูป ต่อมาปรากฏว่าได้มีการคิดว่าสนธิสัญญานั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่เพราะว่ารัฐไม่เข้าเป็นภาคีเนื่องจากความกังวล ดังนั้นจึงเกิดพัฒนารูปแบบใหม่ขึ้นมาคือ Soft Law คือกฎหมายที่ไม่มีสภาพบังคับโดยตรงต่อรัฐหรือเอกชน เช่น สัญญามาตรฐานของหอการค้านานาชาติ หรือสหประชาชาติจะดำเนินการออกกฎหมายมาเป็นลักษณะของ Model Law แทนที่จะออกมาเป็นลักษณะของ Convention เพราะว่าลักษณะ Soft Law ก่อให้เกิดความสบายใจแก่รัฐในการดำเนินการเพราะว่าไม่มีสภาพบังคับในตัวไปปรับปรุงกฎหมายตัวเอง เช่น กฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ หรือ กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ประเทศไทยรับเอามาเพื่อเป็นการเปิดประเทศไทยให้เป็นสากลเป็นต้น และได้เห็นบทบาทขององค์การสหประชาชาติที่เปลี่ยนจากการทำ Convention มาเป็น Soft Law มากขึ้น และการรวมตัวกันระหว่างภูมิภาคแทนการทำสนธิสัญญา ทั้งนี้ ผศ.ดร.กิตติวัฒน์เข้าใจว่าพัฒนาการของโลกนั้นสามารถที่จะทำให้เราติดต่อกันง่ายมากขึ้นนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายในการตั้งคำถามว่ายังมีความจำเป็นอีกหรือไม่ในการแบ่งระบบกฎหมายซีวิลลอว์และคอมมอนลอว์ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาก็รับเอา Model law มาเป็นกฎหมายภายในโดยการเชิญชวนของ UN ซึ่งทรงพลังมากซึ่งปรากฏจากดัชนีอันทำหน้าที่เป็นตัวชี้วัดในการพัฒนากฎหมาย
ต่อไปนี้จะเป็นภาพที่เกิดจากเทคโนโลยีในแง่ของการพัฒนากฎหมายหรือการประสานกฎหมายในแง่เอกรูป ซึ่งจะเห็นได้จาก เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารนั้นจะทำได้อย่างง่ายดาย ตัวอย่างเช่น การสื่อสารเชิงพื้นที่ และเชิงเนื้อหาในการแปลภาษา เป็นต้น หรือเรื่องของข้อมูลที่ผ่านการเข้าถึงทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกคนสามารถที่จะเข้าถึงได้ดังนั้นทุกคนจึงมีข้อมูล จึงเกิดคำถามว่าบทบาทของทุกคนในแง่ของการพัฒนากฎหมายจนมีคำถามว่า “ควรจะมีรัฐสภาหรือไม่” เพราะว่าด้วยเทคโนโลยีนั้นสามารถที่จะให้ทุกคนแสดงความเห็นได้ เป็นต้น นำไปสู่การมองแบบภาพการสร้างกฎหมายในการร่างกฎหมายผ่านอินเตอร์เน็ต หรือการแสดงความเห็นหรือการขอความเห็นจากนักกฎหมายจากต่างประเทศได้และสามารถที่จะลดต้นทุนได้อย่างมาก
หากพิจารณาในเรื่องโครงสร้างของการพัฒนากฎหมายนั้นมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในแนวความเห็นของ ผศ.ดร.กิตติวัฒน์ กล่าวคือ รัฐโดยรัฐสภาเป็นผู้ตรากฎหมายซึ่งมุ่งไปยังเป้าหมายที่ใหญ่ซึ่งจะต้องดี ต้องมีประสิทธิภาพ แต่จะส่งผลให้ดีเฉพาะกลุ่มแต่ก่อให้เกิดช่องว่างกลุ่มคนอื่น จึงนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายซึ่งใช้ระยะเวลามาก ดังนั้น ระบบรัฐสภาจึงเป็นการสร้างช่องว่างและใช้ระยะเวลามากในการแก้ไขปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม ในระบบอินเตอร์เน็ทนั้นไม่ใช่กรณีของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งภายใต้กฎหมาย แต่โดยเทคโนโลยีนั้นสามารถสอบถามความเห็นได้ทุกคนโดยไม่ต้องศึกษาเฉพาะกลุ่ม เพราะว่าสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลของประชาชนทุกคนได้ที่เรียกว่า “Big Data” ซึ่งประชาชนเองก็สามารถส่งความต้องการของตนไปยังรัฐบาล รัฐสภา หรือระบบกฎหมายได้ ภายใต้ระบบตรงนี้ว่าทำไมกฎหมายจะต้องตอบโจทย์ของกลุ่มคนรายกลุ่มแต่ไม่ตอบโจทย์ประชาชนรายบุคคล ซึ่งนโยบายของรัฐนั้นไม่สามารถที่จะใช้แบบเทกระจาดแต่เพราะว่ารัฐสามารถที่จะเข้าถึงกลุ่มข้อมูลของบุคคลได้มากกว่าที่เคยเป็นมา เพื่อความต้องการของกลุ่มคนซึ่งต่างจากอดีตที่ยังไม่มีเทคโนโลยีจึงคิดว่าประเทศไทยเราเป็นเกษตรกรรมจึงทำนโยบายด้านนี้อย่างเดียวซึ่งปัจจุบันนี้จะสามารถบ่งบอกได้ว่าแต่กลุ่มนั้นมีความต้องการอะไร ดังนั้น จึงอยากจะชี้ว่าโครงสร้างการพัฒนากฎหมายในอนาคตอาจจะเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศไทยตลอดจนในระหว่างประเทศเพื่อจะก่อให้เกิดการพัฒนาในสังคมระหว่างประเทศในลำดับต่อไป
ในส่วนประเด็นที่ว่า “เทคโนโลยีนั้นจะก่อให้เกิดความวุ่นวายอย่างเดียวหรือจะก่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น” ประเด็นนี้น่าจะต้องช่วยกันพิจารณาและช่วยกันคิดต่อไป