คำถามแรก : อาจารย์คิดว่าอะไรคือความท้าทายที่สุดของระบบการศึกษากฎหมายไทยในปัจจุบัน
“ถ้ามองในมุมของผู้บริหารการศึกษากฎหมาย ผมคิดว่าความท้าทายที่ใหญ่สุดของการบริหารจัดการศึกษากฎหมายในปัจจุบันมีอยู่ 3 เรื่อง
เรื่องแรก คือ การบริหารจัดการภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัดและไม่เอื้อต่อการพัฒนาระบบการศึกษากฎหมาย กฎเกณฑ์ในการกำกับและควบคุมมาตรฐานการศึกษาของหลักสูตรที่บังคับใช้กับทุกสถาบันการศึกษาและทุกหลักสูตรอย่างเสมอหน้ากัน อาจจะไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลงหรือยกระดับมาตรฐานหลักสูตรอย่างแท้จริง ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลพยายามมุ่งเน้นให้สถาบันการศึกษารับเอานวัตกรรมและแนวทางในการพัฒนาใหม่ ๆ จากต่างประเทศ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในทางวิชาการจากต่างประเทศ แต่มาตรฐานควบคุมหลักสูตรของรัฐบาลกลับเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาการศึกษา เช่น การกำหนดคุณสมบัติผู้สอนอย่างเคร่งครัดว่าในการเรียนการสอนจะต้องมีสัดส่วนของอาจารย์ประจำไม่น้อยกว่า 50% ทั้ง ๆ ที่บางวิชาต้องการความเชี่ยวชาญของผู้สอนจากภายนอกมากกว่านักวิชาการภายใน อุปสรรคในเรื่องนี้ทำให้โอกาสที่มหาวิทยาลัยจะเปิดหลักสูตรใหม่ ๆ เพื่อสนองความต้องการกับสังคมหรือภายใต้กรอบความร่วมมือกับต่างประเทศจึงเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การที่รัฐบาลกำหนดให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องมีภาระงานสอนมากจนเกินไปจนไม่มีเวลามากพอที่ศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลพยายามเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่านการทำวิจัย การควบคุมที่เคร่งครัด จึงปิดกั้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ในทางการศึกษา และเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรภายนอกและในต่างประเทศ
ประการที่ 2 คือ การบริหารจัดการศึกษาภายใต้ข้อจำกัดทางงบประมาณ การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยของรัฐก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากประการหนึ่ง คือ การที่รัฐลดการสนับสนุนทางการเงินลงมาก หมายความว่ามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องพึ่งพิงตนเองในการแสวงหารายได้ในการให้บริการทางการศึกษา แม้ว่าภารกิจของมหาวิทยาลัย ไม่ได้อยู่ที่การแสวงหากำไร แต่การขาดงบประมาณเพียงพอ ทำให้การรักษาคุณภาพในทางวิชาการและการคิดค้นนวัตกรรมทางการศึกษาเป็นไปได้ยากมากขึ้น มหาวิทยาลัยของไทยต้องปรับตัวอย่างมากในการหางบประมาณที่เพียงพอเพื่อให้อยู่รอดได้ ซึ่งเราต้องยอมรับว่า หากไม่มีงบประมาณเพียงพอในการจัดสรรค่าตอบแทนหรือสวัสดิการที่เป็นธรรมแก่บุคลากร มหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถจ้างหรือดึงดูดบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้มาร่วมงานกับตนได้
ประการที่ 3 คือ การปรับเปลี่ยนการทำงานองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในขณะนี้น่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทุกภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชน หน่วยงานรัฐ หรือบุคคลทั่วไปกำลังปรับตัวกันขนานใหญ่เพื่อนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกกับการทำงานและการใช้ชีวิตให้มากที่สุด เทคโนโลยีจะช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุน และลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ควรตกขบวนของการเปลี่ยนแปลงนี้ ในแง่ของการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ คณะนิติศาสตร์จะต้องเรียนรู้ สร้างความเชี่ยวชาญ และเผยแพร่ความรู้ที่ตอบสนองความต้องการของสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น ในขณะที่สังคมในปัจจุบันกำลังตื่นตัวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน คณะนิติศาสตร์จะมีผู้เชี่ยวชาญหรือหลักสูตรอบรมที่นำเสนอแง่มุมทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนของสังคมในด้านนี้ได้”
คำถามที่ 2 : อาจารย์มีนโยบายในการบริหารคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอีก 3 ปีข้าง อย่างไรบ้างและนโยบายไหนที่อาจารย์ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
“สำหรับนโยบายในการบริหารคณะนิติศาสตร์สำหรับ 3 ปีข้างหน้านี้ จะสอดคล้องกับนโยบายและแผนกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ไว้ 5 ด้าน ด้านแรกการสร้างบัณฑิตที่มีคุณลักษณะ GREATS ด้านที่ 2 คือการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาต่อสังคมไทยและสังคมโลก ด้านที่ 3 คือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทางวิชาการและทางสังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้านที่ 4 คือการมุ่งเน้นคุณภาพการให้บริการวิชาการที่ได้มาตรฐานสากล ด้านที่ 5 คือการมุ่งสู่ความมั่นคงยั่งยืนด้วยการบริหารจัดการที่ทันสมัยนโยบายที่ผมนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยและประชาคมธรรมศาสตร์มีรายละเอียดเยอะมาก ขอกล่าวเพียงส่วนสำคัญ ๆ ในแต่ละด้านดังนี้ [คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียด “แนวทางการบริหารงานคณะนิติศาสตร์ของ ผศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน ที่ได้แถลงต่อสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]
ด้านที่ 1 เรื่องการสร้างบัณฑิต ผมคิดว่าคณะของเรามีความแข็งแกร่งในการผลิตบัณฑิตมีพื้นฐานวิชาการทางกฎหมายที่ดีมากอยู่แล้ว สิ่งที่อยากทำเพิ่มเติมคือเตรียมนักศึกษาให้มีความพร้อมในการทำงานจริงในภาคปฏิบัติตั้งแต่ก่อนออกไปฝึกงานหรือก่อนสำเร็จการศึกษา นอกจากนี้นักศึกษายังต้องมีทักษะในการเรียนรู้ มีทักษะในพัฒนาตัวเองและปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็น soft skills ที่คณะต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ความสามารถในการพัฒนาตัวเองและปรับตัวนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของความรู้หรือทฤษฎีเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการมีสภาวะทางจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายและความกดดันได้อย่างมั่นคง ถ้าเราดูจากสถิติที่ปรากฏเป็นข่าวพบว่านักศึกษาในปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพจิตมากขึ้น เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาได้อย่างถูกต้อง และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาให้สามารถปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างปกติสุข ถ้าเราสร้างคนเก่ง แต่มีปัญหาทางด้านสภาพจิตใจ ก็ไม่ก่อให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างเต็มที่
ด้านที่ 2 การสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรม ผมให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากครับแต่ต้องยอมรับว่าภาระงานขั้นต่ำของอาจารย์แต่ละท่านที่ถูกกำหนดโดยกฎระเบียบต่าง ๆ ทำให้อาจารย์มีเวลาน้อยมากในการทำงานวิจัยที่มีคุณภาพและด้วยข้อจำกัดนี้ซึ่งเป็นอุปสรรคให้เราไม่สามารถสร้างสรรค์งานวิจัย องค์ความรู้ใหม่ ๆ ได้อย่างที่เราต้องการ แม้จะมีข้อจำกัด เราก็ต้องเดินหน้าส่งเสริมให้อาจารย์มีโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคม รวมทั้งเราต้องยกระดับมาตรฐานการทำงานวิจัยให้ทัดเทียมกับระดับสากล ด้วยการส่งเสริมให้อาจารย์ได้ทำงานวิจัยในระดับนานาชาติมากขึ้น นอกจากนี้ผมมีโครงการเตรียมนักวิจัยรุ่นใหม่ ๆ ให้มีโอกาสได้ฝึกฝนและเรียนรู้กับนักวิจัยในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ผมยังให้ความสำคัญกับการหาโจทย์วิจัยใหม่ ๆ และการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาปรับปรุงและพัฒนาคณะนิติศาสตร์ นอกจากการมีรองคณบดีฝ่ายวิจัยซึ่งมาดูแลการส่งเสริมการวิจัย (ผศ. ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์) เรายังมีรองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและการพัฒนา (ผศ. ดร.รณกรณ์ บุญมี) ซึ่งจะคอยช่วยเสนอแนะการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและงานวิจัยของคณะนิติศาสตร์ ผมให้ความสำคัญโดยที่อาจมีการแต่งตั้งรองคณบดีซึ่งมีหน้าที่ในการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อการพัฒนาการศึกษา
ด้านที่ 3 เรื่องการสร้างเครือข่ายความร่วมมือภายในและภายนอกประเทศ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือภายนอกประเทศตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารของท่านคณบดีณรงค์ ท่านคณบดีอุดม เราทำได้ดีมาก เรามีหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษซึ่งเปิดโอกาสให้ได้ร่วมมือกับนานาประเทศและปรับตัวเองให้มีความเป็นนานาชาติในการอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งผมก็จะยังดำเนินนโยบายที่เราเคยทำมาต่อไปต่อไปและจะพยายามต่อยอให้ดียิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องทำเพิ่มมากขึ้น คือ การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ เช่น การส่งเสริมอาจารย์รุ่นใหม่ ๆ หรือนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของเราได้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพงานวิชาการ โดยการนำเสนอผลงานวิชาการในเวทีความร่วมมือระดับระหว่างประเทศเพื่อเรียนรู้ และหาประสบการณ์ในการทำงานวิชาการที่ได้มาตรฐานระดับสากล
นอกเหนือจากความร่วมมือภายนอกประเทศแล้ว คณะนิติศาสตร์ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายภายในประเทศไม่แพ้กัน เราจะรักษาและแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนหรือแม้แต่ตัวบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างคณะนิติศาสตร์กับศิษย์เก่าและสมาคมศิษย์เก่า และพยายามเชิญชวนศิษย์เก่าเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคณะนิติศาสตร์ในด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
ด้านที่ 4 การให้บริการวิชาการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ย่อมเกี่ยวกับการจัดหลักสูตรอบรมเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าความท้าทายของคณะนิติศาสตร์คือการที่เราต้องให้บริการทางการศึกษาที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงความต้องการสังคม เราไม่สามารถสอนในสิ่งที่เราเคยสอนเมื่อ 10 ปีที่แล้วซ้ำ ๆ โดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่เราต้องอัปเดตตัวเราเองอยู่ตลอดเวลา โดยการติดตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างใกล้ชิดและค้นหาโจทย์ใหม่ ๆ ที่สังคมต้องการ นอกเหนือจากศูนย์นิติศาสตร์ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ด้อยโอกาสมาหลายทศวรรษ เรามีความจำเป็นต้องมีศูนย์ให้คำปรึกษาและอบรมระยะสั้นที่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมโดยเฉพาะภาคธุรกิจอย่างทันท่วงที ศูนย์เหล่านี้จำเป็นต้องมีกลไกหรือมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ฝึกทักษะการใช้กฎหมายในภาคปฏิบัติ การสร้างจิตสำนึกเพื่อสังคม
ด้านที่ 5 คือการสร้างระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัย ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของคณะนิติศาสตร์ในทุก ๆ ด้าน ทั้งการเรียนการสอน การบริหารจัดการ งานธุรการ และการสื่อสาร คณะนิติศาสตร์ต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ และประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อเป็น smart law school ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของมหาลัยที่ต้องการเป็น smart university ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าคณะนิติศาสตร์สามารถเอาเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเต็มที่ คณะนิติศาสตร์จะสามารถยกระดับตัวเองให้สถาบันการศึกษาชั้นนำของภูมิภาคเอเชียและคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากลอย่างแท้จริง
ในบรรดานโยบายสำคัญ ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ผมมองว่ามี 2 เรื่องที่จะเป็นเรื่องใหญ่และความท้าทายที่สุด เพราะเป็น 2 เรื่องที่เราไม่ถนัดหรือคุ้นเคยมากนัก จึงต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกันของทีมผู้บริหาร บุคลากรไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาและศิษย์เก่าเป็นอย่างมาก
เรื่องแรกคือเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา รวมทั้งการทำงานของคณะนิติศาสตร์ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีจึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องลงทุนจำนวนมาก แต่ผมเชื่อว่าการลงทุนของคณะนิติศาสตร์จะให้ผลตอบแทนระยะยาวที่คุ้มค่ามาก อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพคงไม่สามารถเกิดจากการริเริ่มของผู้บริหารเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นความร่วมแรงร่วมใจจากทุกคน เช่น หากเราต้องการสร้างห้องเรียนออนไลน์ ติดต่อสื่อสารและทำกิจกรรมทางวิชาการผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งผู้บริหารประสงค์ที่จะใช้โปรแกรมต่าง ๆ แต่หากอาจารย์ผู้สอนไม่เห็นความสำคัญหรือนักศึกษาไม่ใช้ ท้ายที่สุดแล้วเราก็ไม่สามารถที่จะนำมาปรับปรุงหรือพัฒนาประสิทธิภาพในการเรียนการสอนได้อย่างแท้จริง
เรื่องที่ 2 คือ การสร้างเครือข่ายกับศิษย์เก่าและการระดมทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่เดิมเราพึ่งพิงสมาคมศิษย์เก่าค่อนข้างมาก ในส่วนงบประมาณในอดีตเราก็พึ่งพิงการอุดหนุนจากรัฐและรายได้จากการจัดหลักสูตรต่าง ๆ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสถาบันการศึกษาได้รับการอุดหนุนน้อยมากจากรัฐบาล และทุกสถาบันกำลังเผชิญกับสภาวะจำนวนนักศึกษาที่ลดน้อยลงหรือความนิยมในบางหลักสูตรเปิดมาเป็นเวลานานลดน้อยลงไปมาก ผมคิดว่าการสร้างเครือข่ายและการระดมทุนจากศิษย์เก่า คือ ช่องทางที่สำคัญที่จะทำให้เรายังคงสามารถพัฒนาคณะนิติศาสตร์ต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง เช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ เมื่อพูดถึงเรื่องการสร้างเครือข่ายกับศิษย์เก่าและการระดมทุนผมคิดว่าคณะนิติศาสตร์มีความจำเป็นต้องมีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนทัศนคติอย่างมาก เพราะแต่เดิมเราไม่เคยคิดถึงเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังและเป็นระบบ นอกจากนี้ความท้าทายที่สำคัญ คือ การที่ต้องพิสูจน์ให้บรรดาศิษย์เก่าเห็นว่าเราไม่ได้ต้องการที่จะสร้างความสัมพันธ์แบบฉาบฉวยกับเขาเพียงเพื่อต้องการการสนับสนุนเป็นเรื่อง ๆ และเมื่อจบโครงการแล้วก็สิ้นสุดความสัมพันธ์กันไป แต่เราต้องสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวและอย่างเป็นระบบ ต้องทำให้ศิษย์เก่าเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคณะนิติศาสตร์อย่างต่อเนื่องและในรูปแบบที่เขาเห็นว่าเหมาะสม
คำถามที่ 3 : ในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้อำนวยการคนแรกของหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวของประเทศไทยที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด อาจารย์คิดว่าความเป็นนานาชาติของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยพัฒนาการศึกษากฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการศึกษากฎหมายของไทยในภาพรวมอย่างไร
“คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีหลักสูตรรับปริญญาที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดอยู่ 2 หลักสูตรด้วยกัน หลักสูตรแรกคือ หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต ทางด้านกฎหมายธุรกิจซึ่งมีการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 กับหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ทางด้านกฎหมายธุรกิจซึ่งเปิดการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2557
การเปิดสอนทั้ง 2 หลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษไม่เพียงเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมเพียง แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คณาจารย์และบุคลากรได้พัฒนาตัวเองและยกระดับการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการหรือการบริหารจัดการไปสู่มาตรฐานในระดับสากล คณาจารย์มีโอกาสในการพัฒนาตำราหรืองานวิชาการอื่น ๆ เป็นภาษาอังกฤษ บุคลากรของคณะนิติศาสตร์ต้องร่วมกันสร้างและต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นนานาชาติ ในความเป็นจริงคือเราต้องปรับตัวกันในทุก ๆ ด้าน การเปลี่ยนแปลงในทางบวก ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่เฉพาะนักศึกษาหรือคนที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรนานาชาติ แต่เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาของคณะนิติศาสตร์ทั้งหมด ๆ เพราะมาตรฐานทางวิชาการที่สูงขึ้น องค์ความรู้ใหม่ ๆ นวัตกรรมการศึกษาใหม่ ๆ ที่ได้จากการสอนกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษ จะถูกนำปรับใช้กับการเรียนการสอนกฎหมายเป็นภาษาไทย หรือแม้แต่อาจารย์ชาวต่างประเทศซึ่งเป็นอาจารย์ประจำของหลักสูตรนานาชาติก็สามารถสอนในหลักสูตรภาษาไทยได้เช่นเดียวกัน
ประโยชน์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้ส่งผลในเชิงบวกต่อเฉพาะการเรียนการสอนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาการศึกษากฎหมายของไทยในภาพรวมด้วย ตำรับตำราและองค์ความรู้ทั้งหลายที่เราได้พัฒนาขึ้นจะออกสู่สายตาสาธารณะและผู้ที่สนใจในวงกว้าง ย่อมเป็นประโยชน์แก่วงการกฎหมายไทยในภาพรวมด้วย”
คำถามที่่ 4 : อาจารย์มีประวัติการศึกษาที่โดดเด่น อาจารย์มีความตั้งใจที่จะผลิตนักกฎหมายในแบบเดียวกันหรือไม่
“ผลการสอบที่ดีอาจเกิดจากความรู้ที่แท้จริงซึ่งสั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง หรืออาจเกิดจากความสามารถในการตอบข้อสอบในห้องสอบภายใต้เวลาที่จำกัด นักศึกษาที่ได้คะแนนไม่ดีไม่ได้หมายว่าเป็นนักศึกษาที่ไม่เก่งหรือไม่สามารถเป็นนักกฎหมายที่ประสบความสำเร็จได้ ผมเห็นลูกศิษย์จำนวนมากที่เรียนจบด้วยคะแนนไม่สูงมากนัก แต่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพอย่างรวดเร็วหรือได้มีโอกาสทำงานที่ตัวเองชอบอย่างมีความสุข ผมจึงเชื่อว่าคะแนนจึงไม่ใช่ตัววัดความรู้ที่แท้จริงและไม่สามารถทำนายอนาคตของคนได้อย่างแม่นยำ และผมเชื่อว่านักศึกษากฎหมายทุกคนที่จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความรู้พื้นฐานที่เพียงพอที่จะไปต่อยอดหาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ผมไม่คิดว่าเป้าหมายหลักของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ การผลิตนักกฎหมายนักศึกษาที่ทำคะแนนสอบได้ดี และคณะนิติศาสตร์ไม่ใช่เบ้าหลอมหรือแป้นพิมพ์เพื่อผลิตนักกฎหมายเหมือน ๆ กันออกมา แต่บทบาทที่สำคัญของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คือการให้เครื่องมือในการคิด แสวงความรู้เพิ่มเติม และปรับตัวเองได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม นักกฎหมายที่จบจากเราต้องสามารถใช้ความรู้พื้นฐานและเครื่องไม้เครื่องมือในทางกฎหมายในการทำงานเพื่อความสำเร็จของตนและเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น บางคนอาจจะไม่ลงเอยด้วยการประกอบวิชาชีพกฎหมาย แต่ผมเชื่อว่าความมีเหตุมีผลและเป็นระบบของกฎหมายจะช่วยให้เขาทำงานและใช้ชีวิตในทุก ๆ ด้านได้อย่างมีความสุข
เครื่องมือในทางกฎหมายที่ผมพูดถึงไม่ใช่แค่ความรู้พื้นฐานในทางทฤษฎีกฎหมาย แต่หมายถึงวิธีคิดและวิธีการแก้ปัญหาในทางกฎหมายซึ่งรวมถึงนิติวิธี และทักษะในทางกฎหมายที่อาจจะเรียกว่า soft skills รวมทั้งการมีหัวทางกฎหมายหรือที่เรียกว่ามี legal mind ถ้าพูดไปนิติวิธี ทักษะทางกฎหมายหรือทัศนคติที่ดีอาจจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาตัวเองมากกว่าการจำหลักกฎหมายได้ เพราะถ้ามีเครื่องมือที่ดี เราไม่จำเป็นต้องจำตัวบทกฎหมายหรือรู้กฎหมายทุกเรื่อง แต่หากเราประสงค์จะรู้หรือศึกษาค้นคว้าเรื่องใดขึ้นมาเมื่อใด เราก็สามารถใช้เครื่องมือเหล่านั้นในการแสวงหาความรู้หรือคำตอบในทางกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้นักกฎหมายที่เป็นผลผลิตของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เพียงแต่บริบูรณ์ด้วยความรู้พื้นฐานทางกฎหมาย แต่จะต้องมีสภาพจิตใจที่สมบูรณ์ คือ เป็นผู้ที่มีความมั่นคงในทางจิตใจสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง มีคุณธรรมและจริยธรรมขั้นพื้นฐานในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม และมีทัศนคติที่จะธำรงรักษาไว้ซึ่งหลัก the rule of law ภารกิจของคณะนิติศาสตร์ จึงไม่ใช่เพียงแค่สอนหนังสือในห้อง แต่เราต้องปลูกฝังและกระตุ้นเตือนลูกศิษย์ของเราให้เห็นความสำคัญของคุณค่าเหล่านี้อยู่เสมอ”
คำถามสุดท้าย : อาจารย์มีความพอใจต่อบทบาทของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีต่อสังคมไทยเพียงใด หรือว่าอยากเห็นบทบาทของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีต่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
“ผมมีความพอใจต่อบทบาทของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีต่อสังคมไทยพอสมควร ที่ผ่านมาคณะนิติศาสตร์มีบทบาทในการผลิตบุคลากรไปรับใช้สังคมในภาคส่วนต่าง ๆ และผมยืนยันว่าเราไม่ได้มีความภาคภูมิใจเพียงแค่การผลิตผู้พิพากษา อัยการ หรือการสร้างนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคม แต่ความภาคภูมิใจที่สุดของพวกเราอยู่ที่การเห็นศิษย์เก่าของเราทำงานรับใช้สังคมในภาคส่วนและในบทบาทต่าง ๆ อย่างมีความสุขและเกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม หลาย ๆ คนอาจจะไม่เป็นที่รู้จัก แต่พวกเขาเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่มีส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมไม่ว่าเป็นสังคมไทยหรือในเวทีนานาชาติ เรามีความภูมิใจในพวกเขาเหล่านั้นที่ได้ทำตามความฝันของตนเองและช่วยให้สังคมไทยและโลกดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผมคิดว่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าให้แก่สังคม ซึ่งผมอยากสานต่อภารกิจนี้และหาโอกาสในการยกระดับมาตรฐานของผลผลิตของเราให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อาจจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาท ไม่ใช่แค่สถาบันสร้างคน แต่ต้องเป็นหน่วยศึกษาวิจัยที่สามารถการตอบสนองได้ไวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อย่างที่ผมเรียนให้ทราบว่าสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต คณะนิติศาสตร์จำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วในการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการทำงานในทุก ๆ ด้าน เช่นเดียวกันกับเรื่องการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรในการส่งเสริมบุคลากรและนักศึกษาให้พัฒนาตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านอื่น นอกจากนี้เราอาจต้องกล้าที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองและลองทำในเรื่องใหม่ ๆ ที่เราไม่ถนัด เพื่อเอาชนะอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการพัฒนาทั้งหลาย เช่น เรื่องข้อจำกัดของงบประมาณ เราต้องมองหาแนวทางในการพัฒนาคณะนิติศาสตร์โดยการลดการพึ่งพิงความช่วยเหลือของรัฐ และต้องจริงจังกับการสร้างเครือข่ายและการระดมทุนจากศิษย์เก่ามากขึ้น เป็นต้น”