ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองคณบดีศูนย์ลำปางในสมัยศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต เป็นคณบดี (กรกฎาคม 2559 – กรกฎาคม 2562) และในสมัยต่อมาซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน รับตำแหน่งคณบดีคนใหม่ (ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม 2562) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมัย ก็ยังได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจเดิมต่อ วันนี้เราจะพาไปคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมัย รองคณบดีศูนย์ลำปางสองสมัย ถึงนโยบายในการบริหารงานและเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
คำถามแรก : อยากให้อาจารย์เล่าเกี่ยวกับเหตุผลที่ตัดสินใจมาเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
ผศ. ดร.นิรมัย : “อาจจะด้วยบริบทหลาย ๆ อย่าง คือหนึ่ง จริง ๆ แล้วมีพื้นเพอยู่ภาคเหนืออยู่หลายปี บ้านอยู่ที่เชียงใหม่ เรียนตั้งแต่ประถมมัธยมและก่อนที่จะเอ็นทรานซ์ จึงมีความคุ้นเคยอยู่แล้วกับทางเหนือ ลำปางติดอยู่กับเชียงใหม่ไม่อยู่ไกลกันมาก ดังนั้นเวลาที่ทางคณะเปิดศูนย์ลำปางก็ไม่ลังเลมากที่จะปรับตัวใหม่ ลองสมัครดู”
(แล้วก่อนหน้านั้นอาจารย์เคยตั้งใจที่จะสมัครที่รังสิตหรือท่าพระจันทร์ไหม?) “ตอนที่จบใหม่ ๆ ได้เกียรตินิยม ก็ลองสมัครดูอยู่ครั้งหนึ่ง แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก หลังจากนั้นก็ไปเรียนปริญญาโท ซึ่งทำให้รู้สึกถึงความอยากเป็นอาจารย์มากขึ้น คือต้องบอกตามตรงว่าเหมือนตอนเรียนตรีเราก็จะได้แนวคิดของการอยากประกอบอาชีพในสายราชการเป็นผู้พิพากษาอัยการ ยังไม่ได้สนใจอาชีพอาจารย์มาก แต่พอมาเรียนปริญญาโทมีโอกาสได้ทำงานได้ใกล้ชิดเป็นผู้ช่วยวิจัยกับศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ก็ทำให้รู้สึกดีกับการทำอาชีพอาจารย์ พอจบโทก็ทำงานเป็นอาจารย์มาก่อนในที่อื่นเช่นที่แม่ฟ้าหลวง ซึ่งก็อยู่ทางภาคเหนือเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่มาทำงานประจำอยู่ที่ลำปางก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไปเปลี่ยนวิถีชีวิตมากนักเพราะคุ้นเคยอยู่แล้วกับทางภาคเหนือค่ะ”
คำถามที่ 2 : อาจารย์รู้สึกอย่างไรที่ได้รับมอบหมายให้เป็นรองคณบดีศูนย์ลำปาง 2 สมัยติดต่อกัน และแนวทางหรือนโยบายในการบริหารศูนย์ลำปางในสมัยที่ 2 ของอาจารย์เป็นอย่างไร
ผศ. ดร.นิรมัย : “ก่อนอื่นก็คงต้องรู้สึกขอบคุณ เป็นตำแหน่งที่เป็นเกียรติสำหรับการที่ได้มีโอกาสทำงานด้านบริหาร ระยะเวลาที่ถ้ารวม ๆ 2 สมัยก็ 6 ปี ก็เป็นสิ่งที่จริง ๆ แล้วถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับเรา ในการรู้จักแก้ปัญหาในการที่จะรู้จักการเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นอาจารย์ที่ดีได้”
(อาจารย์ตัดสินใจยากไหมครับตอนรับตำแหน่ง?) “ถ้าเป็นครั้งแรกเนี่ยก็ใช้เวลาตัดสินใจ เราก็จะมองว่างานบริหารน่าจะทำให้เราต้องหันมาทุ่มเทให้กับเรื่องราวต่าง ๆ ในเชิงนอกเหนือจากวิชาการ ตอนนั้นก็ลังเลแล้วก็ยังไม่ค่อยแน่ใจ แต่ว่าด้วยความจำเป็นหรือด้วยการเปิดมุมมองใหม่ ๆ ก็เลยโอเคตัดสินใจลองดูสำหรับครั้งแรก แต่พอทำมาแล้วระยะหนึ่งก็พบว่ามันไม่ได้ยาก จริง ๆ ต้องเรียกว่าไม่ได้ยุ่งยากมากเหมือนอย่างที่เราเคยคิด พอมาครั้งที่ 2 เมื่อได้รับการทาบทามเนี่ยก็ใช้เวลาไม่นานมากในการตอบรับค่ะ”
“สำหรับแนวทางหรือนโยบายในการบริหาร เนื่องจากศูนย์ลำปางเป็นศูนย์ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเป็นศูนย์ที่ 4 ของมหาวิทยาลัย ถ้าเป็นในระดับคณะก็จะเป็นศูนย์ที่ 3 ต่อจากที่ท่าพระจันทร์และศูนย์รังสิต เพราะฉะนั้นในเชิงของการวางนโยบายในการบริหารงานของศูนย์ลำปางก็คือการพยายามสร้างความเข้มแข็งในด้านวิชาการ การสร้างบรรยากาศในทางวิชาการให้มีความคึกคักเหมือนกับที่ท่าพระจันทร์และศูนย์รังสิตค่ะ”
“ก็คือนอกจากเรื่องการเรียนการสอนกับอาจารย์ที่มีคุณภาพแล้ว นักศึกษาต้องได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ทั้งในเชิงของทฤษฎีการจัดสัมมนาวิชาการ แล้วก็การส่งเสริมนักศึกษาในด้านปฏิบัติมากยิ่งขึ้น แต่ว่าในสมัยที่ 2 นอกเหนือจากการสร้างบรรยากาศแล้วเนี่ย เราก็พยายามตอบโจทย์ในเรื่องของความทันสมัยด้วยค่ะ ในเรื่องการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการส่งเสริมการเรียนการสอนให้มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของเอกสารประกอบการสอนต่าง ๆ ที่เมื่อก่อนเราต้องมีการทำแจกเป็นจำนวนเยอะมากแล้วก็เหลือเยอะมาก เราก็พยายามลดในเรื่องของความฟุ่มเฟือยในการใช้เอกสารที่เป็นกระดาษพวกนี้ให้น้อยลงค่ะ”
คำถามที่ 3 : อาจารย์คิดว่าจุดเด่นของศูนย์ลำปางในเรื่องการศึกษาคืออะไร
ผศ. ดร.นิรมัย : “ถ้าเป็นจุดเด่นของที่ศูนย์ลำปาง อย่างที่ทราบนะคะว่าศูนย์ลำปางตั้งขึ้นมาในลักษณะที่ไม่ต้องการให้เป็นแคมปัสขนาดใหญ่เหมือนกับที่รังสิต แต่ว่าถูกตั้งขึ้นภายใต้บริบทของแคมปัสที่มีขนาดเล็กไปจนถึงกลาง เพราะฉะนั้นในบริบทของคณะนิติศาสตร์ที่นี่จึงลักษณะที่เป็น minimal อยู่แล้ว นักศึกษาที่เรารับปีละ 200 คนจึงมีความใกล้ชิดกันทั้งในส่วนของนักศึกษาเองและมีความใกล้ชิดกับผู้สอนโดยเฉพาะอาจารย์ที่ประจำอยู่ที่ศูนย์ลำปาง เวลาที่เขาประสบปัญหาหรือต้องการคำปรึกษานักศึกษาสามารถเดินมาหาเราได้ ด้วยความที่เราอยู่ที่นี่ ทำงานอยู่ที่นี่อยู่ตลอด จึงไม่มีปัญหาในเรื่องที่ห่างไกลด้วยระยะทางหรือด้วยการเดินทาง รวมถึงความใกล้ชิดกับที่เจ้าหน้าที่ที่เขาต้องการคำปรึกษาในเรื่องของโครงการหรือในเรื่องการลงทะเบียน หรือแม้กระทั่งในเรื่องการวางแผนการศึกษาต่าง ๆ พวกนี้ถือว่าค่อนข้างเป็นจุดเด่น”
“จุดเด่นประการที่ 2 เนื่องจากศูนย์ลำปางตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค ทำให้เรามีเวลาที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น นักศึกษาโดยส่วนใหญ่จะอยู่ข้างในศูนย์ลำปาง ก็จะไม่เสียเวลาในเรื่องของการเดินทางมากนัก เพียงแค่เดิน 1 นาทีหลังจากที่เขาตื่นนอน ก็สามารถเข้าเรียนได้ สามารถเข้ามาใช้บริการห้องอ่านหนังสือหรือห้องสมุดที่ได้รับการพัฒนาให้ใหญ่ขึ้น ต่างจากการเดินทางในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ใช้เวลาเป็นชั่วโมงหรือ 2 ชั่วโมง หรือแม้แต่นักศึกษาอยู่ในตัวเมืองลำปาง ก็มีรถบริการ ซึ่งรถมันไม่ติด ประมาณสัก 20 ถึง 30 นาทีก็สามารถเดินทางมาถึงตัวมหาวิทยาลัยได้ นักศึกษาก็สามารถเอาเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญมากค่ะ”
คำถามที่ 4 : แล้วถ้าถามถึงจุดด้อยที่ทางศูนย์ลำปางพยายามที่จะแก้ไขมีเรื่องอะไรบ้าง
ผศ. ดร.นิรมัย : “ด้วยความที่ 1 เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค ก็ทำให้นักเรียนจำนวนหนึ่งเกิดคำถามหรือเกิดความกังวลว่า ถ้าเขาจะต้องมาอยู่ที่ลำปางเนี่ย เขาจะอยู่ได้ไหมและเรื่องของการปรับตัวต่าง ๆ โดยสภาพลำปางจึงไม่ถึงกับเป็นที่สนใจอย่างมากเท่ากับที่ศูนย์รังสิตหรือท่าพระจันทร์ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ต้องพยายามที่จะสร้างในเรื่องของการเป็นที่รู้จัก แล้วก็สร้างความเข้มแข็งให้กับนักศึกษาที่มาอยู่ของที่ศูนย์ลำปางให้มีคุณภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้”
“อย่างที่ 2 อาจจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการในเชิงระบบหลาย ๆ อย่าง อย่างที่ทราบพอมันตั้งอยู่ไกล แล้วเรามีอาจารย์ประจำอยู่ที่นี่จำนวนหนึ่ง แต่อีกจำนวนหนึ่งยังคงต้องมีอาจารย์จากที่กรุงเทพฯ มาช่วยสอน เพื่อทำให้ทุกอย่างเป็นไปภายใต้หลักสูตรเดียวกันเนี่ย ด้วยระยะทางที่อาจารย์ต้องบินมาสอน และด้วยภารกิจของอาจารย์ก็ทำให้การบริหารจัดการบางอย่างไม่ลงตัว อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนค่อนข้างบ่อย อาจส่งผลให้วันหยุดหรือการเรียนรู้ของนักศึกษาไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เราก็พยายามที่จะหาวิธีการแก้ไขให้มันดียิ่งขึ้นค่ะ”
คำถามที่ 5 : อัตราอาจารย์ประจำที่ลำปางตอนนี้มีกี่คน และมีอาจารย์จากท่าพระจันทร์/ศูนย์รังสิตมาสอนด้วยไหม
ผศ. ดร.นิรมัย : “ในส่วนของบุคลากรที่เป็นอาจารย์เรามีอยู่ทั้งหมด 17 คน แต่ว่าครึ่งหนึ่งไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ อีกครึ่งหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ ในแง่ของการพัฒนาบุคลากรจะเห็นได้ว่าคณะก็ได้ส่งเสริม ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาประมาณหนึ่งกว่าอาจารย์ทั้งหมดจะกลับมา แต่เมื่อไรก็ตามที่อาจารย์ที่เราส่งไปเรียนต่อกลับมา แน่นอนว่ามันก็จะมีความเข้มแข็ง ถามว่าเมื่อไร ก็คือตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เราจะเริ่มมีอาจารย์ที่เราส่งไปเรียนต่อระยะหนึ่งจะทยอยกลับมาประมาณปีละหนึ่งคน ก็จะทำให้ 17 อัตราที่เรามีอยู่ มันจะเริ่มเติมเต็ม ส่วนอาจารย์จากท่าพระจันทร์หรือศูนย์รังสิต ก็มีมาสอนที่ลำปางเหมือนกัน เพราะเราอยากให้นักศึกษาที่ลำปางได้ประสบการณ์จากการเรียนต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายจากอาจารย์ประจำที่นี่และจากอาจารย์ที่อยู่ทางกรุงเทพ จากอาจารย์รุ่นใหม่ รุ่นกลาง รุ่นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ ให้มีรูปแบบการสอนที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น ”
คำถามที่ 6 : อยากถามถึงความเป็นไปได้ในการเปิดหลักสูตรอื่น ๆ ที่ลำปาง
ผศ. ดร.นิรมัย : “มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงค่ะ คือตั้งแต่สมัยของท่านคณบดีอุดม ก็มีการริเริ่มมีการพูดคุยกันว่าเมื่อเรามีความพร้อมในเรื่องของอาจารย์ที่เราจบมาจากต่างประเทศ และการจบในแต่ละสาขาแทบจะไม่ซ้ำกันเลย มีความหลายหลายของสาขาในการศึกษาสูงมากทั้งในสาขาของตัวหลัก กฎหมายสี่มุมเมืองอยู่แล้วหรือสาขากฎหมายใหม่ ที่จะสร้างความโดดเด่นให้กับศูนย์ลำปางได้ ดังนั้นมาในสมัยของคณบดีมุนินทร์ ก็คงจะทำการสานต่อความคิดที่เราได้ริเริ่มขึ้นมาในสมัยเดิมให้มีความรูปธรรมมากขึ้น แต่เราก็คงจะเริ่มศึกษาก่อนว่าสิ่งที่มันน่าจะเข้ามาช่วยอำนวยในเรื่องการให้ความรู้แก่คนในพื้นที่โดยเฉพาะคนในภาคเหนือเนี่ย จะเป็นประกาศณียบัตรระยะสั้นดีไหม ที่จะตอบโจทย์สำหรับคนที่ไม่ได้มีเวลาอยากจะเรียนตลอด 2 ถึง 3 ปี อาจจะเข้ามาอบรมรวมระยะสั้นกับเรา 3 เดือน หรือ 6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วให้เป็นประกาศไป หรือจะเปิดเป็นปริญญาโทไปเลย อาจจะเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง แต่ตอนนี้ อาจจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการที่จะอาจจะต้องศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังมากขึ้นก่อนที่จะวางแผนว่าควรจะเข้าไปในทิศทางไหน แต่ค่อนข้างแน่ของการมีหลักสูตรใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นค่ะ”
(อาจารย์พอจะยกตัวอย่างให้ดูหน่อยได้ไหมครับว่ามีความหลากหลายในสาขาไหนบ้าง?) “ค่ะ คือก็อาจแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคืออาจารย์ที่จบจากต่างประเทศมาแล้วและปัจจุบันปฏิบัติงานที่ลำปาง เรามีสาขากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (รศ. ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์) จบระดับปริญญาเอก ซึ่งในคณะก็มีเพียงคนหรือ 2 คนเท่านั้น กฎหมายการแพทย์ (ผศ. ดร.ตามพงศ์ ชอบอิสระ) กฎหมายทางด้านสุขภาพ (ผศ. ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร) นี่คือความใหม่ของมัน แล้วก็มีกฎหมายอาญา กฎหมายมหาชน ที่เรามีประจำอยู่แล้ว กฎหมายทางด้านที่จบมาเลยก็คือพวกประวัติศาสตร์กฎหมายโดยตรงในระดับปริญญาเอก (อ. ดร.ฐาปนันท์) อีกส่วนคืออาจารย์ที่เราส่งไปศึกษาต่อ มีสาขาเดิมที่เป็นสาขากฎหมายดั้งเดิมอยู่แล้วอย่างเช่นรัฐธรรมนูญก็จะเจาะลึกเข้าไปเลย ในมุมของการศึกษาที่ไม่ใช่เป็นเฉพาะฝรั่งเศสหรือว่าทางฝั่งเยอรมนีเท่านั้น จะไปเรียนของทางอเมริกาซึ่งก็มีระบบของรัฐธรรมนูญที่ดี (อ.อภินพ อติภิบูลย์สิน) เรามีกฎหมายสาขาสิ่งแวดล้อมโดยตรงเลยในด้านสิ่งแวดล้อม (อ.สุรศักดิ์ บุญเรือง) มีกฎหมายอาญาจากของทางฝรั่งเศส (อ.ปรีญาภรณ์ อุบลสวัสดิ์) แล้วก็มีกฎหมายทางด้านการแข่งขันทางการค้า (อ.มาติกา วินิจศร) กฎหมายการธนาคาร (อ.วรรษมน คุณอมรพงศ์) ที่มันเริ่มเจาะเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น แต่ว่าก็ไม่ทิ้งสาขากฎหมายหลักที่จะเป็นการปูพื้นฐานให้นักศึกษา เช่น กฎหมายแพ่ง (อ.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (อ.พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์)”
คำถามสุดท้าย : เราขอให้รองคณบดีศูนย์ลำปาง พูดถึงความเปลี่ยนแปลงของศูนย์ลำปางจากอดีตถึงปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในมุมมองของท่าน
ผศ. ดร.นิรมัย : “คือต้องบอกก่อนว่าคณะนิติศาสตร์ของธรรมศาสตร์เป็นคณะที่ดีมากอยู่แล้วในระดับประเทศ เป็นเบอร์ต้น ๆ ของประเทศเลย คือในแง่ของคุณภาพเนี่ยวางรากฐานมาตั้งแต่แรกในเรื่องคุณภาพการจัดการเรียนการสอน สิ่งที่เราเห็นคือการทำเป็นระบบมากขึ้น เมื่อก่อนเราอาจจะมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลตรงนี้แค่ 2 คนในเรื่องการดูแลเรื่องอาจารย์ เรื่องการเรียนการสอนต่าง ๆ ปัจจุบันก็มีจำนวนของเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น มีประมาณ 7 ถึง 8 คน ซึ่งทำให้การทำงานมันเป็นระบบ เป็นระเบียบ และสามารถดูแลนักศึกษาได้อย่างใกล้ชิด ในส่วนของนักศึกษาก็มีการขยายจำนวนรับภาคปกติด้วย และมีจำนวนรับนักศึกษามากขึ้น ในส่วนของอาจารย์ก็เช่นเดียวกันค่ะ ตัวเองก็ถือเป็นอาจารย์รุ่นแรกก็ว่าได้เพราะว่าก็น่าจะเป็นคนที่ 3 ของการก่อตั้งที่ศูนย์ลำปาง เราเห็นว่าคณะเนี่ย พยายามที่จะส่งเสริมคนที่เป็นผู้สอนให้ได้มีโอกาสไปเปิดมุมมองในประเทศต่าง ๆ ในโลก เพื่อนำเอาความรู้พวกนี้กลับมามาสอน เพราะฉะนั้นเนี่ยคณะส่งเสริมคนได้อย่างเต็มศักยภาพ เมื่อก่อนมีอาจารย์ไม่กี่คนที่ประจำอยู่ที่นี่ แต่ปัจจุบันเพิ่มเรื่อย ๆ ทุก ๆ ปีจนกระทั่งมีถึง 17 อัตรา และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรองรับกับหลักสูตรเดิมที่เรามีอยู่ กับหลักสูตรใหม่ที่เราจะขยายขึ้นในอนาคตค่ะ”
ผศ. ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำศูนย์ลำปาง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากประเทศฝรั่งเศส มีความสนใจในการศึกษา 2 สาขา
คือกฎหมายสุขภาพและกฎหมายทางด้านมหาชน โอกาสหน้าเราจะมาคุณมาพูดคุยกับผศ.ดร.นิรมัยในแง่มุมอื่น ๆ (อ่านประวัติ ผศ.ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร ได้ที่นี่)
ภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง KK