พีระเชษฐ นนทมาตย์ (พอตเตอร์) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำถามแรก : safe sex ในความเข้าใจคืออะไร
พอตเตอร์ : “safe sex ในความหมายอย่างที่เรามักจะเข้าใจกันก็คือ การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หลายคนมักจะนึกถึงการป้องกันขณะที่มีเพศสัมพันธ์โดยวิธีที่เป็นที่นิยม คือ การสวมถุงยางอนามัย เท่านั้น แต่ safe sex ยังรวมไปถึงการที่ตรวจร่างกายของเราและคู่ของเราที่เรามีความสัมพันธ์ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคู่ของเราและสามารถรักษาอาการได้ทันหากเราได้รับเชื้อโรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์”
คำถามที่ 2 : ในความคิด sex เป็นเรื่องที่ผิดหรือไม่
พอตเตอร์ : “คิดว่า sex หรือเพศสัมพันธ์นั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด การมีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตในวัยที่ร่างกายมีความพร้อมในการสืบพันธุ์ ไม่ต่างจากพฤติกรรมการกินและการนอน โดยมนุษย์มีความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ตรงที่มีความสามารถในยับยั้งชั่งใจและควบคุมการกระทำของตนเองได้ แต่ถ้าหากการมีเพศสัมพันธ์นั้นเกิดขึ้น เราก็พึงจะต้องมีสติและรู้จักที่จะป้องกันตนเองในขณะนั้น ทั้งจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมและจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ครับ”
คำถามที่ 3 : คิดว่าการใส่ถุงยางขณะมีเพศสัมพันธ์ป้องกันได้จริงไหม
พอตเตอร์ : “คิดว่าการใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นการป้องกันที่มีความเสี่ยงน้อยมากที่สุดถึงร้อยละ 99.99 เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการป้องกันในรูปแบบอื่น ๆ หากเราใช้อย่างถูกวิธีตามที่คู่มือแนะนำ โดยถุงยางอนามัยนั้นมีทั้งประเภทสำหรับให้ผู้ชาย และผู้หญิงเป็นผู้สวมใส่ เพราะฉะนั้นการใส่ถุงยางขณะมีเพศสัมพันธ์ จึงสามารถช่วยป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมและโรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่การป้องกันที่มีประสิทธิภาพควรมาพร้อมกับการรักษาสุขภาพและการตรวจร่างกาย”
คำถามที่ 4 : มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน
พอตเตอร์ : “ในวัยเรียนแน่นอนเราหน้าที่ของเราคือการเรียน และเป็นสิ่งที่เราควรใส่ใจที่สุด แต่หากถามว่าการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนนั้นเป็นความผิดหรือไม่ ต้องขอบอกว่าการมีเพศสัมพันธ์ที่มาจากความพร้อมใจของทั้ง 2 ฝ่ายนั้นในวัยเรียนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เราควรที่จะต้องรู้จักศึกษาข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและรู้จักป้องกันทั้งการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมในวัยเรียน ตลอดจนลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและแพร่เชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์”
คำถามสุดท้าย : คิดว่าในปัจจุบันนักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง safe sex มากน้อยเพียงใด
พอตเตอร์ : “ในอดีตต้องยอมรับว่าการพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์หรือ sex นั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจพูดกันได้อย่างเปิดเผยส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่ผิดในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเพศมากมาย จนสร้างความไม่ปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์หรือ safe sex แต่ในปัจจุบันโลกใบนี้ได้เจริญก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก ทำให้นักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มีการพูดถึงในเรื่องทางเพศมากขึ้น ประกอบกับมีแหล่งข้อมูลทางวิชาการและการแพทย์หลายแห่งที่นักศึกษาและบุคคลทั่วสามารถที่จะเข้าไปขอรับคำปรึกษา และสอบถามข้อสงสัยต่าง ๆ ได้ จึงทำให้ในปัจจุบันนักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง safe sex มากกว่าในอดีต”
“แต่อย่างไรก็ตามการสร้างความเข้าใจในเรื่อง safe sex นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ตัวนักศึกษา ครอบครัว และหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดอย่างมหาวิทยาลัยควรที่จะเปิดรับการพูดคุยในเรื่องดังกล่าวเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องให้มากยิ่งขึ้น”
ณัฐวรรธน์ แก้วจู (เกรทโตะ) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำถามแรก : safe sex ในความเข้าใจคืออะไร
เกรทโตะ : “safe sex ถ้าแปลตรงตัวก็คือการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ขณะมีเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นความหมายรวมถึงก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ขณะมี และหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ด้วย เราจึงต้องมาคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยไปตลอดในช่วงเวลานี้ด้วย เช่น เราอาจจะต้องมีการตรวจเลือดเป็นประจำ ใช้ยาคุมกำเนิด ใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ทั้งตัวผู้ชายเองและตัวผู้หญิงด้วย เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง เพิ่มความ safe โดยหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ควรที่จะมีเพศสัมพันธ์ต่อกับผู้คนมากหน้าหลายตาจนเกินไป รวมถึงหมั่นตรวจเช็กโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ ก็จะช่วยให้ตัวเรามี sex ที่ safe ได้”
คำถามที่ 2 : ในความคิด sex เป็นเรื่องที่ผิดหรือไม่
เกรทโตะ : “สำหรับเราไม่เคยมองว่า sex เป็นเรื่องที่ผิดเลย แต่ก็มีข้อยกเว้นที่ sex จะผิดได้ก็ต่อเมื่อ ปราศจากความยินยอมของอีกฝ่าย หรือเป็น sex ที่ไม่พร้อม ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะรับผิดชอบผลจาก sex นั้นได้ เลยมองว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่มีได้อยู่แล้ว แต่ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ เรื่องความพร้อม ความยินยอม และความสามารในการรับผิดชอบพวกนี้ด้วย ที่จะเข้ามาเสริมให้ sex เป็นเรื่องที่ถูกต้อง”
คำถามที่ 3 : คิดว่าการใส่ถุงยางขณะมีเพศสัมพันธ์ป้องกันได้จริงไหม?
เกรทโตะ : “การใส่ถุงยางเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้การมีเพศสัมพันธ์ปลอดภัยยิ่งขึ้น เพราะเป็นการป้องกัน ทั้งในเรื่องการมีบุตร และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากเคยมีงานวิจัยว่า การใส่ถุงยางจะช่วยป้องกันได้จริง ช่วยลดอัตราความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เป็นผลจากการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนตัวมองว่าหากมีการป้องกันโดยใส่ถุงยางทั้ง 2 ฝ่าย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ไปอีกด้วย”
คำถามที่ 4 : มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน
เกรทโตะ : “หากมองในบริบทของวัยเรียน ในแง่ของวัยมัธยม ต้องคำนึงก่อนว่า ณ ตอนนั้น มีความสามารถในการรับผิดชอบผลของการมี sex มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว ในวัยมัธยมเรายังต้องอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองเราอยู่ ต้องพึ่งพาผู้ปกครองในการดำเนินชีวิตก่อน จึงไม่น่าจะเรียกได้ว่ามีความรับผิดชอบได้ถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นการมีเพศสัมพันธ์ในวัยดังกล่าวก็อาจมีได้ แต่ควรที่จะศึกษาให้ดี และต้องมีวิธีการป้องกันที่ดีมาก ๆ ไม่ใช่แค่การใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่ควรมั่วสุม หรืออาจมีการใช้ยาคุมกำเนิดหรือห่วงอนามัย ในการควบคุมป้องกันด้วย”
“ส่วนการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ที่เป็นวัยขณะศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ส่วนตัวมองว่า การมี sex ในวัยนี้สามารถมีได้โดยปกติทั่วไปเลย เนื่องจาก sex เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกว่าหลีกเลี่ยงที่จะพูดไม่ได้เลย หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องน่าอายในสังคมพุทธ ไม่กล้าพูดถึง sex แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องปกติมากในวัยนี้ สามารถมีได้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องคิดไปถึงว่ามีการป้องกันที่ดีมากน้อยเพียงใด”
คำถามสุดท้าย : คิดว่าในปัจจุบันนักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง safe sex มากน้อยเพียงใด
เกรทโตะ : “เรื่อง safe sex อย่างที่ได้บอกไปว่าไม่ใช่เพียงการใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น ส่วนตัวจึงคิดว่า นักศึกษาส่วนใหญ่มีความรู้ในเรื่องนี้ค่อนข้างที่จะน้อย เนื่องด้วยความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ยังไม่ถูกพูดถึง ซึ่งต้องย้อนกลับไปมองตั้งแต่ระบบการศึกษาที่ไม่ได้ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเพศศึกษาอย่างเพียงพอ อาจจะเพราะด้วยระบบโครงสร้างทางสังคมที่ส่งผลมาถึงโครงสร้างการศึกษา ที่ไม่ได้ส่งเสริมให้มีการพูดถึงและศึกษาในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยอย่างจริงจัง ดังนั้นการหาความรู้ของนักเรียนนักศึกษาในเรื่องดังกล่าวจึงมักเป็นการศึกษาด้วยตนเอง องค์ความรู้ที่ได้รับก็อาจที่จะไม่ได้ผ่านการจัดระบบมาให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง การรับรู้ในเรื่องดังกล่าวจึงอาจมีการบิดเบือนไปบ้าง เช่น กรณีของยาคุมฉุกเฉินบางตัว ที่มีความเชื่อกันว่า ถ้าใช้หลังมีเพศสัมพันธ์แล้ว จะไม่มีโอกาสตั้งครรภ์แน่นอน ซึ่งจริง ๆ ต้องรู้ไปอีกว่า ถึงจะลดโอกาสการตั้งครรภ์ แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ และยังต้องศึกษาไปถึงผลกระทบ ผลข้างเคียงที่ตามมาอีกด้วย ดังนั้นแล้ว เมื่อมองจากบริบทที่ควรจะเป็น องค์ความรู้ในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยของนักศึกษานั้นมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับความเป็นจริงที่ต้องเจอ”
“โครงการ workshop ครั้งนี้ที่จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ และมั่นใจว่าผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จะได้องค์ความรู้ในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยที่มากยิ่งขึ้นแน่นอน และน่าจะเป็นการ workshop ที่ช่วยให้ตระหนักรู้ และมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น เกี่ยวกับเพศศึกษาและการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย”
กษมรัฏฐ์ ทรัพย์สมบูรณ์ (พิณวาด) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำถามแรก : safe sex ในความเข้าใจคืออะไร
พิณวาด : “สำหรับเรา safe sex คือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์โดยยังไม่พร้อม เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การใช้ยาคุมกำเนิด เป็นต้น”
คำถามที่ 2 : ในความคิด sex เป็นเรื่องที่ผิดหรือไม่
พิณวาด : “เราคิดว่า sex เป็นเรื่องธรรมชาติของคน ไม่ใช่เรื่องที่ผิดตราบใดที่มันเกิดจากการยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตามการมี sex ควรเกิดขึ้นโดยอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยและความเหมาะสม”
คำถามที่ 3 : คิดว่าการใส่ถุงยางขณะมีเพศสัมพันธ์ป้องกันได้จริงไหม
พิณวาด : “การใช้ถุงยางช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้ช่วยป้องกัน 100% เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นได้ เช่น ถุงยางอนามัยรั่วหรือฉีกขาด”
คำถามที่ 4 : มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน
พิณวาด : “การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ก็ต้องมีการป้องกันอย่างถูกวิธี โดยต้องเข้าใจและตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการมีเพศสัมพันธ์”
คำถามสุดท้าย : คิดว่าในปัจจุบันนักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง safe sex มากน้อยเพียงใด
พิณวาด : “ถ้ามองโดยภาพรวม อาจจะยังตอบไม่ได้ว่านักศึกษาสมัยนี้มีความรู้เรื่อง safe sex มากน้อยเพียงใด ด้วยค่านิยมและวัฒนธรรมของสังคมที่พบมีความแตกต่างกัน เราขอแบ่งนักศึกษาเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ในความคิดเห็นของเรา”
“กลุ่มแรก คือ คนที่มีความรู้ความตระหนักถึงเรื่อง safe sex และทำตาม กลุ่มที่สอง คือ คนที่มีความรู้ในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำตามอย่างถูกต้องถูกวิธี ทำให้เกิดปัญหาตามมา และกลุ่มที่สาม คือ คนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องของ safe sex ซึ่งการไม่มีความรู้ในเรื่องนี้นั้นทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีการตระหนักถึงปัญหาและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมา”
“ดีใจที่มีกิจกรรมนี้ขึ้นมา หวังว่าจะทำให้เพื่อนนักศึกษาได้ตระหนักถึง safe sex มากยิ่งขึ้นเพราะมิใช้เรื่องไกลตัวของเราเลย อยากเชิญชวนให้ทุกคน ๆ คนมาเข้าร่วมงานนี้ แล้วพบกัน”
Play Safe Workshop ได้จัดขึ้นในวันที่ 11 กันยายน 2563 ระหว่างเวลา 9.00-12.00 น. สามารถดูภาพบรรยากาศการจัดกิจกรรมได้ที่ xxxx(รอเติมลิงก์)
ภาพโดย คณะกรรมการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์
เรียบเรียง KK