รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง ศูนย์กฎหมายมหาชน และศูนย์นิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราจะพาคุณไปคุยกับรองศาสตราจารย์อานนท์ ถึงเส้นทางการเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และเส้นทางการเป็นผู้สอนทั้งวิชาสายกฎหมายมหาชน และกฎหมายลักษณะทรัพย์สินในสาขากฎหมายแพ่ง และการผลิตผลงานวิชาการรวมถึงการได้รับตำแหน่งรองศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุยังน้อย
คำถามแรก : อยากให้อาจารย์อานนท์เล่าถึงแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพอาจารย์
รศ.อานนท์ : “ตอนเริ่มเข้ามาเรียนที่คณะ ผมไม่ได้ตั้งความคาดหวังว่าอยากจะเป็นอาจารย์ตั้งแต่แรก ความคาดหวังของผมตอนเข้ามาเรียนใหม่ ๆ นั้นเป็นเรื่องง่าย ๆ มากเลย คือผมอยากจะเรียนให้จบแบบอยู่รอดปลอดภัย คือไม่อยากจะสอบตก เพราะจะเสียเวลาและเป็นภาระเรื่องค่าลงทะเบียนซ่อมกับทางบ้าน ผมก็เลยมีความตั้งใจว่าผมต้องพยายามให้เต็มที่กับการเรียนของตัวเอง ทีนี้พอได้เริ่มพยายามเรียนไปอย่างเต็มที่แล้วก็ปรากฎว่าผมชอบเนื้อหาวิชากฎหมายมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ กับสิ่งที่เรียนอยู่ทุก ๆ วัน พอชอบเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่า เฮ้ย! มันสนุกนะ และความสนุกที่เพิ่มขึ้นตามมาอีกเรื่องก็คือ การได้มีโอกาสติวให้กับเพื่อน ๆ ในหลาย ๆ วิชา ความสนุกหรือความสุขดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นคำตอบว่าทำไมผมถึงอยากมาเป็นอาจารย์ ก็เพราะว่างานของอาจารย์คืองานสอนหนังสือครับ นี่คือจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจการเป็นอาจารย์ครับ”
“อย่างตำราหรือหนังสือเป็นความเรียงที่มีภาษาแบบเชิงวิชาการ แต่ว่าการที่ไปนั่งเรียนในห้องเรียนนั้น อาจารย์ท่านย่อมไม่พูดเป็นภาษาวิชาการเหมือนตัวหนังสือหรือตัวเขียน แต่เป็นภาษาพูดเป็นเรื่องการอธิบายด้วยวาจา นอกจากนั้น ข้อมูลบางอย่างที่อาจารย์เน้นหรือเทคนิคบางอย่างที่อาจารย์ถ่ายทอด ก็จะเท่ากับเป็นการตอกลิ่มให้กับนักศึกษารู้ว่าส่วนใดสำคัญ อุปมาเหมือนอาจารย์ท่านไฮไลต์ (highlight) เนื้อหาผ่านคำพูดของท่านเอง อันนี้ย่อมทำให้เข้าใจเนื้อหาในวิชาได้ง่ายขึ้นครับ”
คำถามที่ 2 : เทคนิคในการเรียนให้ประสบความสำเร็จของอาจารย์เป็นอย่างไร
รศ.อานนท์ : “คือผมตั้งพื้นฐานจากการต้องเป็นผู้อยู่รอดกับการเรียนที่คณะนี้ครับ พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่อยากตก ดังนั้น ผมจึงต้องพยายามทำเต็มที่ให้กับการเรียนครับ วิธีการที่ผมทำเต็มที่ให้กับการเรียนของผมก็จะมีอยู่ 3 – 4 ข้อนะครับ”
“เทคนิคข้อที่หนึ่ง คือผมเข้าเรียน การที่ผมได้เข้าเรียนนั้นจะช่วยให้ผมรู้ว่าอะไรเป็นจุดที่อาจารย์เขาโฟกัส (focus) ในเรื่องที่อาจารย์เขาอยากจะให้นักศึกษาทั้งหลายรู้ ซึ่งย่อมต้องเป็นจุดที่อาจารย์เขาให้น้ำหนักเป็นพิเศษในการอธิบายหรือการวิเคราะห์ แน่นอนว่าจุดนี้เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนในฐานะนักเรียนไม่สามารถมองข้ามได้เลย เนื่องจากในเนื้อหาวิชาหนึ่ง ๆ ย่อมมีหลายเรื่อง หลายประเด็น และเนื้อหาอันกว้างขวาง รวมถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันมากมาย เพราะฉะนั้น การเข้าเรียนจะช่วยทำให้สามารถจับได้ว่าจุดไหนคือแก่นของเรื่อง โดยเราจะได้เรียนรู้จากการอธิบายด้วยภาษาพูดของอาจารย์ ที่ไม่สามารถเห็นได้จากตัวบทหรือตำรา ซึ่งจะทำให้เราจดจำได้ง่ายขึ้นหรือได้ความรู้นอกจากตำรา เช่น คำบางคำ ข้อมูลบางอย่าง หรือเทคนิคการจดจำต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถหาได้จากตำราหรือหนังสือดังที่ได้กล่าว”
“เทคนิคข้อที่สองของการเรียนของผมก็คือ การอ่านหนังสือ โดยไม่ได้อ่านหนังสือเฉพาะแค่เท่าที่ท่านอาจารย์มอบหมายหรือแนะนำเท่านั้น ผมพยายามไปสำรวจหนังสือของผู้เขียนท่านอื่น โดยพยายามดูให้สุดว่าในเนื้อหาวิชานั้น ๆ มีท่านใดเป็นผู้เขียนบ้าง เพื่อดูคำอธิบายท่านต่าง ๆ ประกอบกัน หลาย ๆ ครั้งผมก็เรียนตรง ๆ ว่าหนังสือเล่มที่ท่านอาจารย์ไม่ได้แนะนำก็มีประโยชน์กับผมมาก ซึ่งทำให้ผมสามารถทำความเข้าใจกับเนื้อหาในเรื่องนั้นได้มากกว่าเดิมด้วย”
“นอกจากหนังสือที่เป็นคำอธิบายหรือกฎหมายในชั้นเรียนแล้ว ผมยังชอบค้นคว้าสารานุกรมทางกฎหมายหรือหนังสือในชั้นหนังสืออ้างอิง ซึ่งหนังสือดังกล่าว ห้องสมุดจะไม่อนุญาตให้ยืม เพราะเป็นของที่มีมูลค่าสูงมากหรือมีอย่างจำกัดมาก ผมชอบไปค้นหนังสือดังกล่าวเพื่อนั่งอ่านในห้องสมุด ซึ่งหลายต่อหลายเรื่อง โดยเฉพาะในทางกฎหมาย เป็นประโยชน์อย่างมากเพราะไม่อาจหาได้ตามร้านจำหน่ายหนังสือทั่วไป ข้อนี้ผมอยากให้เป็นข้อแนะนำสำหรับนักกฎหมายนะครับ ว่าถ้ามีโอกาสลองเข้าไปดูสารานุกรมหรือหนังสืออ้างอิงทางกฎหมายดูนะครับ”
“หนังสือพิมพ์หรือบทความในวารสารกฎหมายต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ผมอ่านตั้งแต่ชั้นปริญญาตรีครับ เพราะหนังสือพิมพ์จะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมและการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะด้านกฎหมายมหาชนที่ผมสนใจ ส่วนวารสารทางกฎหมาย สมัยผมเรียน ผมไม่เคยเสียเงินซื้อเลยครับ แต่ผมใช้วิธีอ่านในห้องสมุด บทความในวารสารกฎหมายเป็นข้อเขียนที่ไม่ยาวเท่าหนังสือเรียน แต่มีเนื้อหาที่กระชับและที่สำคัญคือ มักนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่ยังเป็นปัญหาหรือน่าสนใจในวงการกฎหมาย ณ ขณะนั้น ทำให้เราเองทันสมัยและเปิดพรมแดนความรู้ให้กว้างขวางออกไปจากการเรียนรู้แค่ในชั้นเรียนหรือตำราเรียนครับ”
“นิสัยของผมอีกอย่างหนึ่งตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน คือ การถ่ายเอกสารบทความหรืองานเขียนที่น่าสนใจเก็บไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถ่ายเอกสารจากแหล่งที่เราไม่จำเป็นต้องเก็บเอกสารนั้น ๆ ทั้งฉบับ เช่น หนังสือพิมพ์ หรือการถ่ายเอกสารจากการคัดเอาบทความหรือบทใดบทหนึ่งที่น่าสนใจจากวารสารหรือสารานุกรมทางกฎหมายครับ เมื่อถ่ายเอกสารมาแล้ว ผมก็จะจัดเรียงแบ่งเข้าแฟ้มที่แยกหมวดไว้ แฟ้มทุกแฟ้มยังอยู่เลยนะครับ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำอย่างนั้น ก็คือ ทำให้มีคลังข้อมูลทางวิชาการเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากพวกหนังสือและตำราเรียน และเมื่อสงสัยหรืออยากจะย้อนอ่านตอนไหน ก็หยิบขึ้นมาอ่านได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลากลับไปห้องสมุดครับ”
“เทคนิคข้อที่สาม คือ เทคนิคเรื่องของการทำข้อสอบเก่า การทำข้อสอบเก่ามีประโยชน์ในแง่ที่ว่าเราได้เรียนรู้ไงว่าส่วนใหญ่ข้อสอบออกอะไร ซึ่งนั่นหมายความว่าเรื่องนั้น ๆ เป็นเรื่องสำคัญในเนื้อหาของกฎหมายนั้น ๆ ครับ สมัยผม การหาข้อสอบเก่าต้องไปค้นที่ห้องสมุดจากเล่มข้อสอบเก่าครับ สมัยนี้ นักศึกษาโชคดีมาก เพราะห้องสมุด ได้กรุณาทำเป็นไฟล์ให้โหลดได้ทางอินเทอร์เน็ต นักศึกษาลองดูได้ครับ”
“เทคนิคข้อที่สี่ คือการมีเพื่อนที่ช่วยกันเรียน ผมติวให้เพื่อน เพื่อนติวให้ผม เราไปนั่งเข้าเรียนด้วยกัน มีอะไรเราก็พูดคุยกัน มาแบ่งปัน แล้วการที่เราได้มีเพื่อนเรียน เท่ากับว่าเรามีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนและก็ถกเถียงกับเพื่อนได้ ซึ่งช่วยทำให้ได้ตรวจสอบความรู้ความเข้าใจได้เป็นอย่างดีว่าสิ่งที่เรารู้นั้นครบถ้วนหรือถูกต้องหรือไม่ หรือสิ่งที่เราเข้าใจนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจไปเองคนเดียวหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อสิ่งที่เป็นประเด็นความเห็นทางกฎหมายหรือเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่ามีคำตัดสินของศาลไว้ว่าอย่างไร เมื่อเรามีเพื่อนช่วยเรียนก็จะทำให้เราต่างร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นประโยชน์มาก และแน่นอนว่าเป็นประโยชน์กว่าการเรียนคนเดียวแบบดั้นด้นบุกฝ่าไปคนเดียว ซึ่งตลอดมา ผมก็เรียนกันเป็นทีมกับเพื่อน ๆ มาโดยตลอด”
คำถามที่ 3 : อยากให้อาจารย์ขยายความเพิ่มเติมว่าในมุมมองของอาจารย์การเข้าเรียนมีข้อดีอย่างไรอีกบ้าง
รศ.อานนท์ : “ข้อดีเพิ่มเติมของการเข้าเรียน คือ ทำให้เราได้เห็นลีลาการพูด เพราะวิชาชีพทางกฎหมายหรือการเป็นนักกฎหมายนั้น การพูดเป็นสิ่งสำคัญส่วนหนึ่งของการทำงาน ลำพังการอ่านหนังสือย่อมไม่สามารถทำให้เราซึมซับเรื่องนี้ได้เลย เพราะฉะนั้น การเข้าเรียนจะทำให้เรามีโอกาสได้เรียนรู้ว่าอะไรคือ วิธีพูดที่ดี การพูดแบบไหนที่ทำให้ผู้ฟังรู้เรื่อง ซึ่งอาจารย์ในคณะเราหลายท่านเป็นนักกฎหมายที่มีความสามารถในการพูด โดยสามารถถ่ายทอดข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ ให้กับผู้ฟังแบบเข้าใจง่าย และหลายท่านก็มีความสามารถในการพูดได้อย่างน่าประทับใจด้วย ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ทั้งเรื่องศาสตร์และศิลป์เกี่ยวกับการพูดของนักกฎหมายนั้น เราสามารถเรียนรู้ได้จากคณาจารย์ของเราครับ และนี่ก็เป็นอีกผลหนึ่งว่าทำไมควรเข้าเรียนครับ”
“ข้อดีอีกประการของการเข้าเรียน คือ ทำให้ผมได้รู้จักเพื่อน ๆ ที่เรียนหนังสือด้วยกัน ซึ่งทำให้หากผมมีข้อสงสัยตรงไหน หรือฟังอาจารย์ไม่เข้าใจ นอกเหนือจะถามอาจารย์แล้ว ผมก็จะได้เพื่อนคอยแลกเปลี่ยนและช่วยเหลือเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือตอนไหนที่ผมจด lecture ไม่ทัน ผมก็จะชะโงกถามเพื่อว่าตรงนี้อาจารย์ท่านว่ายังไง หรือวันไหนที่ผมไม่ได้เข้าเรียน ผมก็จะสามารถขอยืมสมุด lecture ได้ ซึ่งในทางกลับกัน หากเพื่อนติดขัดเรื่องไหนในทำนองเดียวกับผม ผมก็จะได้ช่วยเหลือเพื่อนเหมือนกัน และที่สำคัญคือ มิตรภาพที่เกิดขึ้นกับเพื่อนในชั้นเรียนถือเป็นเรื่องราวที่ดีอยู่แล้ว เพราะผมเชื่อมั่นว่าเพื่อนที่พบในชั้นเรียนก็คือคนที่เขาตั้งใจมาเรียนหนังสือครับ และเมื่อผมเรียนจบ ผมสามารถพูดได้ว่า ความเชื่อของผมตลอดสี่ปีในคณะถือได้ว่าเป็นความจริงที่ผมได้เจอตลอดมา จนปัจจุบันนี้ มิตรภาพกับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน ก็ยังคงอยู่ครับ”
คำถามที่ 4 : เป้าหมายที่อาจารย์เคยตั้งไว้ก่อนที่จะเรียนจบเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่
รศ.อานนท์ : “คือหลังจากเรียนใกล้จะจบแล้วนั้น ผมก็เริ่มมีความคิด เริ่มมีความฝันแล้วว่า ผมอยากจะทำอาชีพอะไร ผมก็ได้คำตอบในใจตัวเองว่าผมอยากจะเป็นอาจารย์ที่คณะของเรา ความฝันดังกล่าวเป็นเป้าหมายตั้งแต่สมัยโน้นว่า ถ้าวันหนึ่ง ผมเรียนจบไป แล้วคณะเปิดสอบอาจารย์ ผมก็จะมาสอบ อย่างไรก็ตาม ผมไม่มีทางรู้ได้หรอกครับว่า คณะจะเปิดสอบอาจารย์เมื่อไหร่ ผมมีเพียงแต่ความฝัน ดังนั้น ประเด็นก็เลยเกิดขึ้นว่า แล้วถ้าคณะไม่เปิดสอบ ผมจะมาเป็นอาจารย์ได้อย่างไร แล้วจะทำยังไง”
“ต่อประเด็นดังกล่าว เผอิญว่า ผมพยายามเรียนหรือทำทุกอย่างที่เป็นเรื่องเรียนให้ดีที่สุดอยู่แล้ว เพราะว่าเป้าหมายแรกของผมเลยก็คือว่าผมไม่อยากตก พอไม่อยากตก ผมก็พยายามทำให้เต็มที่ พอพยายามทำให้เต็มที่แล้วก็ปรากฏว่า ผมสนุกกับการเรียนรู้เรื่องกฎหมาย ทีนี้ชีวิตในการเรียนก็มีแต่ความสุข ดังนั้น พอผมเรียนจบ ผมต้องไปสอบเพื่อเข้าทำงานที่ไหนก่อนเข้ามาสอบเป็นอาจารย์ ก็ไม่ทำให้ผมรู้สึกเครียดมาก เพราะผมคิดว่า ตอนเรียน ได้ตั้งใจเรียนรู้ให้มากที่สุดไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่แค่สาขากฎหมายที่ชอบ แต่ตั้งใจกับทุก ๆ วิชาครับ”
“ดังนั้น แม้ใจผมอยากเป็นอาจารย์ และการเป็นอาจารย์เป็นเป้าหมายหลัก แต่สมมุติว่า หากผมสอบไม่ติด ผมก็มีเป้าหมายอื่น ๆ ในวิชาชีพกฎหมายได้ ผมคิดว่าการวางแผนอนาคตในมุมมองของผม คือ การทำวันนี้ให้ดีที่สุด โดยผมคิดว่า ถ้าปัจจุบันตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด เราก็มีความรู้และมีโอกาสในอาชีพต่าง ๆ ในอนาคตได้ง่ายขึ้นครับ”
คำถามที่ 5 : อาจารย์เคยสอนวิชาอื่นมาก่อนหรือไม่ก่อนจะสอนกฎหมายมหาชนและกฎหมายลักษณะทรัพย์สิน และทำไมอาจารย์ถึงเลือกสอน 2 วิชานี้
รศ.อานนท์ : “ถ้าถามว่าก่อนมาสอนวิชาทางสายกฎหมายมหาชนและกฎหมายทรัพย์สินนั้น ผมเคยสอนวิชาอื่นมาไหม ผมตอบเลยครับว่า ไม่เคยเลยนะครับ เพราะผมเริ่มต้นจากกฎหมายมหาชนและกฎหมายทรัพย์สิน โดยตั้งแต่สอบได้เป็นอาจารย์ ผมก็ได้ถูกมอบหมายให้สอนทั้งกฎหมายมหาชนและกฎหมายทรัพย์สินไปพร้อมกันเลย ตอนนั้นเริ่มเข้ามาเป็นอาจารย์ติวในวิชาดังกล่าวก่อนครับ คือผมได้ไปติวทั้ง 2 สาขาวิชานั้นเลย”
“ขออนุญาตโยงไปตอบในประเด็นว่าทำไมผมถึงเลือกสอนสาขากฎหมายมหาชนและกฎหมายทรัพย์สิน ดังนี้นะครับว่า ผมสนใจกฎหมายมหาชนเป็นหลัก ผมสนใจกฎหมายมหาชนตั้งแต่เรียนปริญญาตรีแล้วครับ เรียกว่าชอบเลยก็ได้คับ โดยผมเก็บวิชาเลือกทางด้านสายกฎหมายมหาชนจนได้รับประกาศนียบัตรทางด้านกฎหมายมหาชนจากทางคณะครับ ที่ผมสนใจทางสายกฎหมายมหาชนเพราะผมรู้สึกว่าผมเรียนแล้วสนุก กฎหมายมหาชนเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน ของพวกเราชาวบ้าน เกี่ยวกับเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน แล้วมันจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องว่าการกระทำของรัฐในรูปแบบต่าง ๆ ที่มากระทบ มาสัมพันธ์กับวิถีชีวิต”
“เมื่อผมชอบกฎหมายมหาชนเป็นทุนเดิม ก็อาจเกิดคำถามว่า แล้วผมไปสอนวิชากฎหมายทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสาขากฎหมายเอกชน ซึ่งเป็นเหรียญอีกด้านหนึ่ง เหมือนคนละโลกกันได้อย่างไร ผมก็ต้องบอกว่าผมเข้าสู่วิชานี้แบบจับพลัดจับผลูครับ”
“ผมต้องบอกว่าเรื่องนี้เป็นคุณูปการของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ มณีศร หรืออาจารย์เงาะ คือ ตอนที่ผมเข้ามาเป็นอาจารย์ใหม่ ๆ อาจารย์เงาะท่านเป็นหัวหน้าภาควิชากฎหมายแพ่ง ท่านเป็นอาจารย์หัวหน้าภาควิชาคนแรกที่โทรไปหาผมก่อนที่ผมจะมารายงานตัวเข้าทำงานกับทางคณะด้วยซ้ำว่าผมสนใจที่จะเข้ามาช่วยสอนในวิชาของภาควิชากฎหมายแพ่งหรือเปล่า คือขอเรียนว่าอาจารย์เงาะท่านเป็นหัวหน้าภาควิชาที่แอกทีฟ มากครับ พอท่านรู้ว่ามีอาจารย์ใหม่เข้ามา ท่านก็รีบติดต่อทันที ตอนนั้นผมก็รู้สึกตกใจเล็ก ๆ และก็ตื่นเต้นครับว่าเราจะไปอยู่ในพื้นที่วิชาที่เราไม่ได้สนใจหรือไม่ทันตั้งตัว เราจะทำได้หรือเปล่า ผมไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ครับตอนนั้น แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องท้าทายมากครับ”
“ผมยังจำเหตุการณ์วันที่ผมเข้าภาควิชากฎหมายแพ่งและรับหน้าที่ติววิชากฎหมายทรัพย์สินในวันนั้นได้ชัดครับ คือ อาจารย์เงาะท่านโทรศัพท์ ท่านเชิญผมมาที่คณะเพื่อให้มาดูว่าผมพอที่จะสนใจวิชาใดบ้างในภาควิชากฎหมายแพ่งที่จะมีการเรียนการสอนในเทอมที่กำลังจะเปิด อาจารย์เงาะท่านมาแบบเตรียมพร้อมมากเลยครับ มีเอกสารตารางวิชาเรียนมาพร้อม
(อาจารย์สุรศักดิ์น่าจะเห็นอะไรบางอย่างในตัวอาจารย์อานนท์?) “หรืออีกมุมหนึ่งครับ คือ ท่านอาจไม่เห็นอะไรบางอย่างในตัวผม แต่ท่านเห็นแก่นักศึกษาเพราะใกล้จะเปิดเทอม เพราะว่าท่านอาจเห็นว่า นักศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกปีหนึ่งปีสองนั้น มีหลายวิชามากเลยที่เป็นของภาควิชากฎหมายแพ่ง ซึ่งมีความจำเป็นที่ควรจะมีอาจารย์ติว ท่านคงเป็นห่วงนักศึกษา ท่านอยากให้วิชาสายกฎหมายแพ่งที่ท่านรับผิดชอบอยู่ในฐานะหัวหน้าภาควิชาเนี่ยครับมีอาจารย์ใหม่ ๆ เข้าไปติว ผมคิดว่าอาจเป็นเช่นนั้นก็ได้ครับ”
“คือตอนนั้น ผมต้องเล่าว่า พออาจารย์เงาะท่านนัดเจอกับผมที่ท่าพระจันทร์ ท่านเตรียมความพร้อมมากคือท่านเอาตารางวิชามา ท่านก็กางตารางเลยว่าในเทอมที่จะเปิดเรียนหลังจากที่ผมเข้าบรรจุเนี่ย ซึ่งเป็นเทอมหนึ่งนะครับ มันมีวิชาไหนในสายกฎหมายแพ่งที่เปิดสอนบ้าง ก็ไล่ไปเลยตั้งแต่แพ่งหลักทั่วไป ละเมิด หนี้ ทรัพย์ นี่คือวิชาของปีหนึ่งปีสองที่มีความจำเป็น เพราะว่านักศึกษาที่เข้ามาใหม่ เขาใหม่มาก เขาแทบจะไม่ค่อยคุ้นกับการเขียนตอบ ท่านก็ให้โฟกัสพวกนี้เป็นหลัก คือไม่ได้โฟกัสในวิชาแพ่งในปีสี่หรือปีสามนะครับ ท่าน โฟกัสตรงนี้เป็นหลัก ทีนี้ท่านก็กางตารางมา ท่านก็ให้ผมเลือก ผมก็คิด ๆ ดูอะไรดีน้า คิดดู ๆ ผมก็คิดแบบนี้ละกัน เอาเป็นว่ารับไปติววิชากฎหมายทรัพย์สิน”
(กฎหมายทรัพย์มีส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนด้วยหรือไม่?) “ที่เป็นหลัก ๆ มีนิดเดียวคือเรื่องทรัพย์สินของแผ่นดินครับ”
(แล้วมาเป็นอาจารย์บรรยายได้อย่างไร?) “เมื่อผมได้รับมอบหมายให้ไปติว ผมมีความสุข ทั้งวิชากฎหมายมหาชนที่สนใจแต่เดิม และวิชากฎหมายทรัพย์สิน โดยผมไม่ได้คิดว่าผมไปติววิชากฎหมายทรัพย์สินด้วยความทุกข์หรือซังกะตายนะครับ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ได้รับมอบหมายแบบจับพลัดจับผลูก็ตาม”
คำถามที่ 6 : การสอนครั้งแรกของอาจารย์รู้สึกอย่างไร
รศ.อานนท์ : “การสอนครั้งแรกของผมคือการติววิชา น.250 วิชากฎหมายมหาชนเบื้องต้น ผมยังจำได้ดีว่าผมติวใน section ใหญ่ นักศึกษาลงทะเบียนประมาณ 250 คน เราติวกันในห้องที่เป็นอัฒจันทร์ ห้องใหญ่มากที่ชั้น 4 ตึก SC ผมตื่นเต้นมากนะครับ นี่คือประสบการณ์ของผมนะ เพราะว่าที่ผ่านมา อย่างมากผมก็เคยติวแค่เพื่อน ซึ่งก็เป็นกลุ่มนักศึกษากลุ่มหนึ่งไม่กี่คนคน แต่พอสอนหนังสือจริงครั้งแรก ผู้ฟังเยอะกว่าตอนติวมากครับ และผมต้องขึ้นไปพูดในฐานะอาจารย์นะครับ ไม่ใช่ในฐานะเพื่อน คือเราเห็นสายตาและความคาดหวังของนักศึกษาอยู่”
“วันนั้นนักศึกษามากันพรึบพรับ แล้วเขาต้องการจากผมที่จะสรุปเนื้อหาต่าง ๆ ในวิชานั้นที่เรียนกันไปเกือบจะครึ่งเทอมแล้ว ผมตื่นเต้นมากครับ แล้วประจวบกับว่าเพื่อนก็ทำ surprise ผมโดยการแอบเข้ามาฟังด้วย 3 คน”
“การที่เพื่อนมาแอบฟัง ก็ดีตรงที่หลังจากบรรยายเสร็จ เพื่อนก็บอกว่าผมพูดเร็วมาก ซึ่งผมก็ยอมรับว่าวันนั้นผมพูดรัวมาก ๆ คับ วันหลัง ๆ ต่อมาก็พยายามปรับการพูดใหม่ครับ”
คำถามที่ 7 : บุคคลที่เป็นต้นแบบทางวิชาการของอาจารย์คือใคร
รศ.อานนท์ : “เรื่องต้นแบบในทางด้านวิชาการ ในวันนี้ผมแยกเป็น 2 คนแล้วกัน ก็คือคนต่างชาติ และก็คนไทยครับ สำหรับคนต่างชาติในวันนี้นะครับ ผมรู้สึกประทับใจในตัว Ernst-Wolfgang Böckenförde”
“หากถามว่าผมประทับใจอะไรท่าน ผมขอตอบว่า ผมประทับใจในความสามารถแล้วก็การอุทิศตัวเองให้กับแวดวงวิชาการมาก ๆ สิ่งที่ท่านอุทิศตัวให้กับแวดวงวิชาการนั้นส่งผลคุณูปการในโลกแห่งทางปฏิบัติด้วยนะครับ ท่านเป็น Professor ที่เยอรมันครับ ท่านเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา”
“ท่านเป็น Professor ทางด้านกฎหมายมหาชน ปรัชญา และประวัติศาสตร์กฎหมาย ข้อสังเกตคือ ไม่ใช่กฎหมายอย่างเดียวนะ มี 3 มิติเลยครับ กฎหมายมหาชน ปรัชญา ประวัติศาสตร์กฎหมาย ผลงานดีเด่นของท่านจะไปในทางกฎหมายมหาชนที่แฝงในเรื่องนิติปรัชญาและแฝงในเรื่องประวัติศาสตร์กฎหมายเอาไว้ด้วย ท่านมีผลงานทางวิชาการเยอะแยะเต็มไปหมด เป็นจำนวนมากเลยนะครับ อันนี้คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความอุทิศตัวเองให้กับวิชาการของท่าน ท่านเขียนตำรับตำราบทความเยอะแยะมาก ๆ จนในแวดวงวิชาการเยอรมันยอมรับนับถือท่านอย่างมาก ท่านเป็น Professor ที่มหาวิทยาลัย Freiburg นะครับ ผลงานของท่านมักส่งต่อความรู้สู่สังคมเพื่อให้ขบคิดในประเด็นต่าง ๆ ที่ท่านได้ตั้งคำถามเอาไว้”
“ผลทางปฏิบัติ คืองานเขียนหลาย ๆ ครั้งของท่าน ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในแวดวงกฎหมายและการเมืองเยอรมัน ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความอยุติธรรม ตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพของกฎหมาย ตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของอำนาจรัฐ ซึ่งกล่าวได้ว่าคำพูดของท่านไม่ใช่เป็นสิ่งที่พูดบนหอคอยงาช้าง เพราะสังคมเยอรมันเขาฟังท่านครับ ไม่ได้ฟังเพราะท่านเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ แต่คือฟังในประเด็นที่ท่านได้สะท้อนมายังสังคมผ่านกฎหมาย ผ่านปรัชญา ผ่านประสบการณ์อะไรต่าง ๆ ของท่าน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่า การเป็นนักวิชาการคงไม่ใช่เป็นคนที่พูดหรือบรรยายแค่ในห้องเรียน แต่ท่านเป็นต้นแบบที่ทำให้เห็นว่า เรื่องทางวิชาการสามารถนำมาแจกจ่ายเป็นประเด็นต่าง ๆ ให้สังคมได้ช่วยกันขบคิดหรือหาคำตอบ
“ผลงานของท่านที่สำคัญนั้นได้รับการยอมรับถึงขนาดแปลเป็นภาษาอังกฤษจำหน่ายไปทั่วโลกเลยนะครับ”
“สำหรับต้นแบบทางวิชาการที่เป็นคนไทยของผม คือศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผมประทับใจท่านทั้ง 2 มิติ คือมิติในเชิงวิชาการกับมิติส่วนตัว สำหรับมิติในทางวิชาการนั้น อาจารย์สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุลท่านทุ่มเทให้กับงานวิชาการที่ท่านเชี่ยวชาญในเรื่องคือกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งท่านสร้างผลงานเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเยอะแยะมากมาย ท่านผลักดันประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นภูมิทางวิชาการของท่านไปยังสังคมเยอะแยะไปหมด และที่ท่านได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงวิชาการได้ก็เพราะว่าท่านก็อุทิศตัวเองในโลกวิชาการที่ท่านเชี่ยวชาญจริง ๆ และผมรู้สึกว่าอาจารย์ไม่เคยทิ้งงานวิชาการ แม้กระทั่งอาจารย์เป็นผู้บริหาร อาจารย์ก็ไม่ทิ้งงานสอนให้กับคณะ อาจารย์ไม่ทิ้งงานเป็นวิทยากร หรือให้ความรู้กับสาธารณชน อาจารย์ไม่เคยทิ้งเลย อันนี้จุดหนึ่งที่ผมรู้สึกเป็นความประทับใจในแง่ของการเป็นนักวิชาการของท่าน”
“ที่สำคัญคือผมมองว่า อาจารย์สุรศักดิ์ยังมีความกล้าหาญทางวิชาการ คือถึงแม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะให้ท่านไปช่วยทำหน้าที่ในนั่นนี่โน่น แต่ท่านก็ยังเป็นตัวของตัวเอง ความเป็นกลางคือท่านก็เป็นตัวของตัวเองในแง่ที่ว่า สิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม้เป็นเรื่องของรัฐหรือผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ท่านก็ยังสามารถให้คำตอบต่อสังคมหรือวิจารณ์พร้อมทั้งชี้แนะในข้อที่ควรจะเป็น”
“สำหรับในเชิงมิติเรื่องส่วนตัว ผมรู้สึกประทับใจว่าอาจารย์เป็นแบบอย่างของการเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี แล้วก็เป็นกัลยาณมิตรที่ดี เป็นผู้ใหญ่ที่ดีกับคนที่อยู่รอบข้าง ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวนะ กับทุก ๆ คน”
คำถามที่ 8 : อยากทราบความรู้สึกของอาจารย์ในการได้รับตำแหน่งรองศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุยังน้อย
รศ.อานนท์ : “ตำแหน่งนี้จริง ๆ ผมรู้สึกว่า ตำแหน่งดังกล่าวก็เป็นตำแหน่งที่ผมได้มาจากการที่คณะให้โอกาสผมในการทำงานทางวิชาการ แล้วก็ให้เสรีภาพในทางวิชาการกับผม ซึ่งว่าไปแล้วคณะก็ให้กับอาจารย์ทุกคนสำหรับโอกาสทางวิชาการและเสรีภาพทางวิชาการ ผมคิดว่าความรู้สึกแรกที่ผมอยากจะบอกก็คือ ผมต้องขอบคุณคณะของผม
“แล้วที่ถามว่าทำไมผมถึงได้ไว ผมขอตอบว่า มาจากการที่ผมสนุกกับการทำงานทางวิชาการครับ พอวันหนึ่งผมคิดว่ามีเกณฑ์ที่ผมสามารถยื่นขอได้ผมก็ยื่นขอไป ได้ไม่ได้ผมก็ไม่ได้ตั้งความหวังว่าต้องได้”
คำถามที่ 9 : นอกจากได้รับตำแหน่งวิชาการตั้งแต่อายุยังน้อยแล้ว อาจารย์ยังเขียนตำราหลายเล่ม อยากให้อาจารย์เล่าให้ฟังถึงเส้นทางในการเขียนตำรา
รศ.อานนท์ : “ผมเขียนตำราหรือหนังสือวิชาการหลายเล่ม โดยเริ่มตั้งแต่เล่มเล็ก ๆ ขนาดพ็อกเก็ตบุกแล้วก็ขนาดใหญ่มาก ๆ มีทั้งตำรากฎหมายทรัพย์สิน แล้วก็มีด้านกฎหมายมหาชนด้วยและเคยมีนิติปรัชญาด้วยครับ ซึ่งทุกครั้งของการเขียน ผมเริ่มต้นจากการเขียนในสิ่งที่ชอบและสิ่งที่สนใจ สิ่งเหล่านั้นเป็นแรงบันดาลใจอย่างดีที่ทำให้ทุกครั้งที่ผมลงมือเขียน ผมมีความสุขและไม่เคยรู้สึกเบื่อหน่ายครับ
“อย่างการเขียนตำรากฎหมายทรัพย์สิน ผมขอเล่าว่า เริ่มต้นจากเอกสารประกอบการสอนในชั้นเรียนนั้นหละครับ จากพาวเวอร์พอยต์เลยครับ ค่อย ๆ เก็บข้อมูล และที่สำคัญคือ ค่อย ๆ จัดระบบความคิด จากนั้นเมื่อข้อมูลและระบบความคิดเริ่มอยู่ตัว ผมก็เริ่มร่างเค้าโครงแล้วเขียนเป็นตำรา ผมเริ่มแบบนี้ทุกครั้งครับ”
คลิกที่นี่เพื่ออ่านรายชื่อผลงานทางวิชาการ (บางส่วน) ของ รศ.อานนท์
คำถามสุดท้าย : อาจารย์มีอะไรอยากฝากถึงนักศึกษาบ้าง
รศ.อานนท์ : “คือผมเป็นคนมองนักศึกษาในแง่ว่า ผมมีความเชื่อในศักยภาพของนักศึกษาทุกคนที่ก้าวเข้ามาที่คณะนี้ ผมพูดเสมอว่าผมเชื่อว่าคุณทำได้ ผมเชื่อว่าคุณเรียนหนังสือได้ และผมเชื่อว่าคุณจะเรียนได้ดีด้วย”
“ผมมีความเชื่อแบบนี้จริง ๆ เพราะผมมองในศักยภาพของพวกเราทุกคนที่ผ่านเข้ามาถึงตรงนี้ได้ว่าเป็นคนเก่งในระดับหนึ่งครับ”
“ผมคิดว่าก็พวกเรานักศึกษาทุกคนจงสนุกกับชีวิตเถิดครับ แล้วก็มีความสุขในแต่ละวันของตัวเองนะครับ แล้วก็อยากให้มีเพื่อนที่ดี มีสังคมที่ดี แล้วก็ถ้ามีโอกาสในเรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต หากมันไม่เหลือบ่ากว่าแรง หากมันไม่เสี่ยง มันไม่อันตราย ก็อยากให้เราได้ไปเรียนรู้โอกาสเหล่านั้น มันจะเป็นประสบการณ์ชีวิตให้กับเรา”
“ตั้งแต่สมัยเรียนที่คณะ ผมมีเพื่อนในหลายรูปแบบ ทั้งคนที่เรียนเก่ง เรียนไม่เก่ง คนชอบกฎหมาย ไม่ชอบกฎหมาย ผมเห็นเลยว่าบางคนเขาไม่ชอบจริง ๆ ดังนั้น ถ้าเราไม่ชอบจริง ๆ เราก็ไม่ต้องฝืนจน ก็ไปที่ที่ตัวเองถนัดเลย ผมไม่เคยคาดหวังว่าเมื่อทุกคนเรียนกฎหมาย ทุกคนต้องรักกฎหมาย ผมแค่เชื่อในศักยภาพที่ทุกคนก้าวเข้ามาตรงนี้ในชั้นต้นเท่านั้น แต่เมื่อก้าวเข้ามาแล้ว จะรัก จะสนุกกับมันหรือเปล่า แล้วแต่แต่ละคน แต่ละคนมีสิทธิ์ไปเลือกในสิ่งที่ตัวเองสนุกหรือมีความสุข”
อาจารย์อานนท์ฝากทิ้งท้ายว่า…
“ท้ายสุด ผมเชื่อว่า คณะของเรานี้เป็นสถานที่ที่มีโอกาสและความรู้มหาศาลรอพวกเราทุกคนที่มีความตั้งใจเก็บเกี่ยวมันออกไป ขอเพียงเมื่อตั้งใจแล้วก็ขอให้เต็มที่ เมื่อจบไปแล้วและถึงเวลาที่ต้องใช้ประสบการณ์หรือความรู้สิ่งใด ผมเชื่อว่า เราจะมีสิ่งเหล่านั้นอยู่ในมือครบแล้วครับ”
ถ่ายภาพ Pump
เรียบเรียง KK