ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จารุประภา รักพงษ์ (คลิกที่นี่เพื่ออ่านข้อมูล) อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งสำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอกจากระบบกฎหมาย Common Law ของอังกฤษ (LLB (First Class Honours), King’s College / LLM (Upper Second Class Honours), Cambridge / PhD, University College, London) เราจะพาคุณไปคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จารุประภา ถึงเส้นทางการเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ รูปแบบการเรียนกฎหมายและมุมมองทางกฎหมายจากระบบกฎหมาย Common Law และเรื่องอื่น ๆ
คำถามแรก : อยากให้อาจารย์เล่าถึงเส้นทางการได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศตั้งแต่ปริญญาตรี
ผศ. ดร.จารุประภา : “ก็คือตอน ม.ปลาย ตอน ม. 6 สอบชิงทุน ก็จะมีทุนให้เลือกหลายทุน ทุนกระทรวงต่างประเทศ ทุน king’s แล้วก็ทุนทั่ว ๆ ไปก็คือทุน ก.พ. ตอนนั้นเขาเรียกไทยพัฒน์ แล้วทีนี้เขาก็จะมีประเทศให้เลือก คะแนนเราค่อนข้างสูงหน่อยมันเลยได้เลือกก่อน ก็เลือกประเทศอังกฤษในการเรียนต่อ ตอนนั้นมันก็คือต่อแค่ตรีกับโทเพราะว่าเรายังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเราอยากไปทำงานเป็นอะไร เพราะว่าทุนไทยพัฒน์เงื่อนไขของเขาก็คือกลับมาทำงานให้กับรัฐบาลหรือว่าอยู่ในส่วนราชการของไทย ไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์ เป็นอะไรก็ได้ ก็เลยเลือกไปอังกฤษ ตอนนั้นก็คิดว่า ถ้าเราดูรากเหง้าของกฎหมาย อังกฤษก็จะดูเป็นประเทศที่ค่อนข้างเก่า กฎหมายมันมีการพัฒนามานาน ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าชอบกฎหมายอะไรใช่ไหมคะ มันก็มีอยู่ไม่กี่ประเทศให้เลือกที่ใช้ภาษาอังกฤษ ทีนี้ก็เลยคิดว่าลองดูอังกฤษแล้วกัน เพราะว่าเป็นประเทศที่กฎหมายพัฒนามานานแล้ว”
คำถามที่ 2 : อาจารย์มาทำงานที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ได้อย่างไร
ผศ.ดร.จารุประภา : “ก็คือจริง ๆ แล้วมีความประทับใจกับคณะนิติศาสตร์ตั้งแต่ช่วง ม.ปลาย จริง ๆ แล้วสอบตรงได้ที่นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ด้วย แล้วก็มีเพื่อนที่สนิทเขาเรียนที่นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คือเพื่อนในยุคของอาจารย์ก็คือตอนนั้นเป็นยุคที่มีการสอบเทียบเป็นรุ่นท้าย ๆ แล้ว แล้วก็รุ่นอาจารย์ก็จะไม่ได้สอบเทียบแล้ว แต่ว่าเพื่อนคือเขาเรียนสอบเทียบเขาก็ได้ตั้งแต่ประมาณ ม. 4 เพราะฉะนั้นปิดเทอมเรามาอยู่กับเพื่อน ที่ท่าพระจันทร์ ก็คือเราก็มาเรียนกับเพื่อนด้วยแล้วเราก็ชอบมาก เรารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่แบบเปิดโลกดี ใครเข้ามาเรียนก็ได้ คือแบบคุณอยากเข้าไปเรียนหาความรู้ คุณเข้าไปเรียนได้ ห้องสมุดเราก็เข้าไปใช้บริการได้ เราก็ชอบในความเปิดกว้าง เป็นที่ที่คนมาศึกษาหาความรู้ได้ คือมันก็ประทับใจตั้งแต่นั้นแล้ว”
“แล้วก็รู้สึกว่าเวลามันมีประเด็นกฎหมายอะไร เช่นตอนนั้นก็มีในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คณะนิติศาสตร์ก็จะมีการตื่นตัว มีการสัมภาษณ์ มีการรณรงค์ตลอดเวลา มันก็เป็นความประทับใจมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วทุกครั้งที่เราเรียนต่างประเทศกลับมาเมืองไทย ตอนนั้นเพื่อนตัวเองก็เรียนอยู่ที่คณะนิติศาสตร์เราก็ติดมากับเพื่อนตลอด เราก็ดูมันดูมีเรื่องราว มีการตื่นตัวกระตือรือร้นตลอดเวลา มีการรณรงค์ตลอดเวลา ก็เลยชอบในความเป็นเสรีภาพหรืออะไรประมาณนี้”
(ตอนเลือกต้นสังกัด อาจารย์เลือกที่ธรรมศาสตร์เลยใช่ไหม?)
“ใช่ค่ะ คือจริง ๆ แล้วทุนไทยพัฒน์มันก็คือ ตรี โท แล้วทีนี้มันก็มีออปชันว่ากลับมาใช้ทุนเลยหรือจะเรียนต่อปริญญาเอก ตอนนั้นก็คือต้องเลือก ก็คือคิดว่าถ้าเรียนปริญญาเอกจริง ๆ แล้วคือต้องเป็นอาจารย์ เพราะว่าถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนใหญ่งานเราสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ทำงานต่าง ๆ แต่ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าชอบในการสอน มันมีอยู่ช่วงนึงที่กลับมาแล้วมีโอกาสได้ไปเป็นอาจารย์พิเศษ ก็คือสอนในเรื่องระบบกฎหมายอังกฤษแล้วก็ชอบ สนุกมากเลย แล้วก็อยากจะสอน อยากจะค้นคว้า แล้วมันมีประเด็นในเรื่องกฎหมายที่สนใจทำต่อปริญญาเอกในเรื่องของ food safety ของประเทศไทยที่มันมีประเด็นว่าเราทำตามพันธะข้อนี้ระหว่างประเทศข้อนี้ครบแล้วหรือยังที่เราสนใจศึกษาอยู่ ก็เลยตัดสินใจต่อปริญญาเอก พอต่อปริญญาเอกจบมันก็จะคว้างอยู่ช่วงนึงว่าจะไปต่อกระทรวงหรือทำงานเป็นอาจารย์ แต่ว่าตั้งแต่แรกคืออยากทำงานเป็นอาจารย์อยู่แล้ว ก็เริ่มดูมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พอดีตอนนั้นรู้จักกับอาจารย์นพร (ผศ. ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย) ซึ่งตอนนั้นอาจารย์นพรท่านยังไม่เป็นอาจารย์ด้วยซ้ำ ท่านยังทำงานอยู่ลอว์เฟิร์มท่านก็เลยบอกว่าถ้าศึกษาทางด้านกฎหมายประมาณนี้ การเศรษฐกิจระหว่างประเทศประมาณนี้ ทางธรรมศาสตร์อาจจะยังขาดคนอยู่ แล้วพอดีทางคณะเปิดรับตำแหน่งอาจารย์ ก็สมัครสอบตามระบบปกติ และผ่านการคัดเลือก”
คำถามที่ 3 : อยากให้อาจารย์เล่าถึงการเรียนปริญญาตรีกฎหมายในอังกฤษว่าระบบและรูปแบบการเรียนเป็นอย่างไร
ผศ. ดร.จารุประภา : “ระบบการเรียนของอังกฤษจะเรียนวิชาน้อยวิชา ถ้ายังไม่เปลี่ยน ซึ่งคิดว่าตอนนี้มันยังไม่เปลี่ยนเท่าไร ปีนึงคือเลือกเรียน 4 วิชาเอง บางปีมากหน่อยอย่างปีแรกมันจะมี 5 วิชา จะมีเพิ่ม EU Law มาวิชานึง แต่ถือว่าเรียนน้อยมากถ้าเทียบกับประเทศไทย แล้วระบบการเรียนของเขามันจะมี lecture ประกอบ tutorial ก็คือเราไปฟัง lecture ก็จะเป็นห้องใหญ่ ๆ คนประมาณ 300 คน แล้วอาจารย์เขาก็จะแนะนำวิชา แนะนำประเด็นหัวข้อ case ต่าง ๆ อะไรอย่างนี้ แล้วเสร็จแล้ว lecture ก็ไม่ได้นานนะคะก็ประมาณวิชานึง อาทิตย์นึง ชั่วโมงครึ่ง เสร็จแล้วเชิญนักศึกษาทั้งหลายเข้าห้องสมุดไปดูประเด็นต่าง ๆ เพิ่มเติม ก็จะเป็นเหมือนกับเราศึกษาด้วยตัวเอง แต่จริง ๆ มันก็มีเทคนิคแบ่งกับเพื่อนได้ คือเราก็อาจจะค้นบาง case เพื่อนก็อาจจะค้นบาง case สรุปแล้วมาคุยกันแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งทำให้มีการสนทนาต่าง ๆ ซึ่งกันและกัน แล้วเสร็จแล้วในแต่ละอาทิตย์ก็จะมี tutorial ก็จะประมาณวิชาละประมาณ 2 ชั่วโมง ถึง 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แล้วแต่ถกเถียงประเด็นปัญหากัน”
“ใน tutorial นักศึกษาจะน้อยมาก มากสุดคือ 20 คน แต่ส่วนใหญ่จะ 6-8 คน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราไม่ได้อ่านเตรียมมา มันจะเหมือนแบบไปฆ่าตัวตายกลางห้องมาก ก็คือเราจะต้องอ่านเตรียมในประเด็นต่าง ๆ แล้วก็จะมีถกประเด็นข้อกฎหมาย แล้วอาจารย์เขาก็จะ challenge ต่าง ๆ ว่าถ้าเราศึกษากฎหมายมาเป็นแบบนี้ ตอนนี้มันมีประเด็นใหม่ทางกฎหมายนะในลักษณะแบบนี้ คุณคิดว่ายังไง หรือว่ามันมีประเด็นที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแบบนี้ ศาลตัดสินเป็นแบบนี้ คุณคิดว่าศาลตัดสินถูกแล้วหรือยัง ก็คือจะได้ถ่ายทอดความคิดของตัวเองโดยที่เรามีการอ้างอิงจากการที่เราไปศึกษามาอย่างเต็มที่”
“เคยมีบางครั้งช่วงแรก ๆ คือแบบไม่ได้อ่านไปอย่างนี้ค่ะ คือเข้าไปตอบอะไรไม่ได้ dead air แล้วฉันรู้สึกอายมาก เพราะว่าทุกคนมา discussion แล้วเขาหวังอะไรจากเราที่เราจะมีประเด็นอะไรให้ไปขบคิดต่อ แล้วเราไม่ได้ทำ เรารู้สึกเหมือนว่า let the group down อะไรแบบนี้เลยค่ะ ก็คือระบบศึกษาของเขามันก็จะเหมือนเป็น lecture สลับ tutorial มันจะไม่เหมือนกับบ้านเรา ที่บ้านเราส่วนใหญ่มันจะเป็นลักษณะคล้าย ๆ กับ lecture based เป็นหลัก ก็คือนักศึกษาเข้าไปฟังอาจารย์แล้วก็จดใช่ไหม เสร็จแล้วก็ไปศึกษาหาความรู้เอง แล้วก็เจอกันอีกทีตอนสอบ แต่ว่าของอังกฤษก็คือเรียนน้อยวิชา มีการเปิดประเด็นแล้วก็คุณไปศึกษาค้นคว้านะ เสร็จแล้วมาถกกันใน tutorial แล้วจริง ๆ แล้วพอ tutorial จบแล้วมันก็จะมี assignment ให้ ก็คือคนที่เป็น tutor ในแต่ละกลุ่มเป็นคนไปตรวจ อันนี้มันจะคล้าย ๆ กับลักษณะของ midterm แล้วก็จะไปเจออีกทีตอนจบเลย”
คำถามที่ 4 : ตอนเรียนปริญญาโทที่ University of Cambridge อาจารย์เรียนสาขาอะไร และทำไมถึงเลือกเรียนสาขาดังกล่าว
ผศ. ดร.จารุประภา : “ตอนนั้นเลือกเรียนทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เพราะเรารู้สึกว่าตอนนั้นมันเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่ในทางระหว่างประเทศ แล้วมันก็มีประเด็นที่ประเทศไทยเสียเปรียบอยู่ค่อนข้างเยอะในเรื่องของการปรับปรุงทรัพย์สินทางปัญญา แล้วก็อาจจะเป็นเรื่องสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศในเรื่องของการค้าระหว่างประเทศในประเด็นต่าง ๆ ตอนนั้นก็เลือกเรียนที่ Cambridge เพราะว่ามี professor ที่เขาเก่งอยู่ชื่อ Professor Bently ค่ะ”
(บรรยากาศการเรียนเป็นอย่างไรบ้าง?)
“คนขยันมาก แบบ amazingly คือเราคิดว่าเราขยันแล้ว มันมีคนขยันกว่าเรา (หัวเราะ) มันมีคน nerd กว่าเราเยอะ เราไปเหมือนกับว่าเราไม่ได้มีประสบการณ์มาก เนื่องจากว่าเราอาจจะคิดว่าเราเรียนเก่ง ทุกคนมันเกียรตินิยมอันดับ 1 หมด ทุกคนเก่งหมด แต่มันจะมีคนที่แบบเป็น Lawyers ปีนี้ฉันเบื่อแล้ว ฉันอยาก sub-leave แต่ฉันไม่ได้ sub-leave อยู่เฉย ๆ นะ เดี๋ยวไม่มีอะไรทำ ฉันอยาก sub-leave เดี๋ยวฉันไปเรียนโทอีกใบอย่างนี้ ก็คือจริง ๆ แล้ว เธอมาทำไม เธอเป็น lawyer อยู่ในแวดวงนี้อยู่ 25 ปี คืออาจารย์ยังต้องฟังเธออะไรแบบนี้ คือเขาก็แบบฉันมาเล่น ๆ ฉันมาพักผ่อนสมอง แต่ว่าจริง ๆ ก็ดีนะคะในการทำแบบนั้น ทำให้กระตือรือร้น แล้วเขาก็ไม่ได้มาเพื่อที่เขาจะ take เขามาเพื่อที่จะ give ไง เพราะฉะนั้นเวลาเราสงสัยอะไรถามเขาได้ ถ้าถามว่ามันแข่งขันกันไหม แปลกอย่างนึงนะคะคือมันไม่แข่งกัน คือมันเป็นการช่วยกันเรียนมากกว่า ช่วยกันค้น สมมติว่าคือการอ่านหนังสือมันไม่สามารถบังคับให้คนอื่นอ่านกันได้อยู่แล้ว แต่ว่ามันจะมีอย่างเช่น สมมติมี reading list มา แต่เพื่อนไปเจออันอื่น เป็น article หรือว่าเป็นประเด็นอื่น ๆ ในข่าวที่อยู่นอกเหนือจาก reading list เขาก็จะมา share กันใน class บางทีก็ยื่นมาให้เลยมาเป็นแบบ 50 หน้าให้อ่านอะไรแบบนี้ คือแบบเธออ่านสิอันนี้น่าสนใจ ก็แบบ nice ดี แต่เราก็รู้สึกว่าจริง ๆ เราก็อ่านเยอะอยู่แล้วจะอ่านทันไหมอะไรแบบนี้ แต่มันก็จะเป็นลักษณะแบบนั้น มันจะมีคนที่แบบขยันกว่าเยอะ เรารู้สึกว่ามันมีคน genius เก่งกว่าเราเยอะ ขยันกว่าเราเยอะ แต่มันก็ดีมันทำให้เรารู้ว่าจริง ๆ แล้ว ใครบอกว่าเหนือฟ้ามีฟ้า มันยิ่งมีคนเก่ง ๆ ขึ้นไปอีกอย่างนี้ค่ะ”
คำถามที่ 5 : หัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์เกี่ยวกับอะไร
ผศ. ดร.จารุประภา : “เกี่ยวกับประเด็นของการใช้บังคับกฎหมายสหภาพยุโรปในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารในประเทศไทย ก็คือมันจะเป็นในเรื่องของการดูว่ากฎหมายของไทยในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารมันปรับเปลี่ยนตามประเด็นที่สหภาพยุโรปชี้มาหรือไม่ คือดูว่ากฎหมายของแต่ละประเทศ ถ้าในทางทฤษฎีมันควรพัฒนาด้วยตัวของมันเอง แต่ว่าในปัจจุบัน คือเรารู้ว่ามันไม่มีทางที่กฎหมายประเทศของเรามันจะไม่ได้รับอิทธิพล โดยกฎหมายของประเทศอื่น อันนี้ก็คือดูว่ากฎหมายของสหภาพยุโรปมันมีอิทธิพลในการปรับเปลี่ยนปรับปรุงกฎหมายไทยด้านความปลอดภัยทางอาหารอย่างไร ซึ่งมันมีความน่าสนใจแล้วมันก็มีเยอะ มันทำให้พองานสรุปออกมาแล้วมันเหมือนกับว่ามันเป็น model ในการ influence หรือว่าในการที่กฎหมายต่างประเทศในเรื่องที่มันพัฒนาดีอยู่แล้วมีอิทธิพลทำให้กฎหมายของประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเภทอื่น ๆ ของประเทศไทยมีการปรับปรุงที่ดีขึ้น แล้วมันเป็นงานยุคแรก ๆ ที่มันเป็น pattern ที่มัน layout ไว้ ตอนหลังจะเห็นว่าระบบของสหภาพยุโรปมันมีอิทธิพลไปยังกฎหมายต่าง ๆ ทั่วโลก หรือว่าอย่างของประเทศไทยนอกจากเรื่อง food safety มันก็มีเรื่องคุณภาพความปลอดภัยของสินค้า มีเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญาก็มี เร็ว ๆ นี้ก็มีเรื่อง IUU fishing (Illegal, unreported and unregulated fishing) เราก็จะเห็นว่ามันก็มีลักษณะของการมีอิทธิพลของกฎหมายต่างประเทศเข้ามา ซึ่งจริง ๆ แล้วจุดมุ่งหมายของการที่กฎหมายมีอิทธิพลต่อกันมันก็มุ่งไปเพื่อแก้ปัญหาที่มันเผชิญกันในทางระหว่างประเทศร่วมกัน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดี มันไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัวว่าเราจะสูญเสียอำนาจอธิปไตยอะไรอย่างนี้หรือเปล่า เพราะว่ายังแต่ละประเทศมันมีสิทธิเลือกได้อยู่แล้ว แต่ว่ามันเหมือนมันเป็นทางออกหนึ่งของทางตันในการทำของตกลงระหว่างประเทศหลาย ๆ อย่างว่ามันก็ใช้การมีอิทธิพลของกฎหมายในลักษณะแบบนี้ได้อย่างนี้ค่ะ”
คำถามที่ 6 : อาจารย์สอนวิชาอะไรบ้าง และกฎหมายสาขาใดที่อาจารย์สนใจมากที่สุด
ผศ. ดร.จารุประภา : “สอนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และกฎหมายสหภาพยุโรปเป็นหลักนะคะ แล้วมันก็จะมีวิชาอื่น ๆ ที่กฎหมายพวกนี้มันจะเข้าไปแทรก ๆ อยู่นะคะ ก็คืออาจจะไม่ได้สอนเยอะ แต่หลัก ๆ ก็คือ 3 วิชานี้ค่ะ”
“สาขาที่สนใจมากที่สุด การค้า เศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพราะว่าคิดว่าในปัจจุบันนี้การแข่งขันอะไรต่าง ๆ มันแข่งกันในเรื่องของการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ ตอบความต้องการของตลาด แล้วส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยยังมีโอกาสในการปรับปรุงพัฒนาทั้งในเรื่องของกฎหมาย ทั้งในเรื่องผู้ประกอบการ และกฎหมายมันก็จะช่วยด้วยในการทำอะไรต่าง ๆ ให้เราค้นหาตัวเองให้เจอว่าประเทศเราจริง ๆ แล้วถนัดอะไร แล้วคิดว่ามันยังมีประเด็นอะไรให้เราเล่นได้ คือรู้สึกว่าตอนนี้เรายังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน คือจะบอกตัวเองแก่ก็ได้นะ คือในสมัยก่อนอย่างนี้มันก็จะเป็นการซื้อขายที่จะต้องไปซื้อตลาดสินค้ากลาง ไปตลาด whole sale อย่างนี้ แต่ปัจจุบันเราสามารถซื้อสินค้าออนไลน์ได้ เพราะฉะนั้นโอกาสของการค้าระหว่างประเทศมันกว้างมาก มัน reach out ไปทั่วโลก เราอยู่เมืองไทย ลูกค้าเราอาจจะมาจากต่างประเทศ ประเทศจีน ประเทศอเมริกาอะไรก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเปิดกว้างออกมามันก็เป็นไปได้ว่าจะโดนคล้าย ๆ กับ abuse หลาย ๆ อย่าง แต่ว่าตอนนี้เรารู้สึกว่ากฎหมายของบ้านเราทั้ง inside out แล้วก็ outside in ก็คือการรับรู้ในเรื่องของอิทธิพลของการค้าระหว่างประเทศในการที่เราจะใช้ศักยภาพของเราได้เต็มที่ ในขณะเดียวกันก็ปกป้องในเรื่องของการผลิตภายในประเทศให้ตอบสนองกับการพัฒนาดังกล่าว มันยัง catch up ไม่เร็วกับสถานการณ์เทคโนโลยีแล้วก็การเคลื่อนย้ายสินค้าการค้าที่มันเกิดขึ้นในความเป็นจริง เราก็เลยรู้สึกว่ามันยังมีความน่าสนใจอยู่ แล้วก็ยังมีประเด็นต่าง ๆ ให้เราศึกษาอีกมาก”
คำถามที่ 7 : อยากให้อาจารย์เล่าถึงนักกฎหมายที่อาจารย์ประทับใจ
ผศ. ดร.จารุประภา : “ขอตอบ 2 คนได้ไหม ก็คือมีต่างประเทศกับในประเทศ ถ้าต่างประเทศจะมีท่านนึงชื่อ Lord Denning ถ้าในกฎหมายอังกฤษในทาง contract จะรู้จักกันคือท่านจะเป็นคนที่ ‘ติสต์’ อินดี้มาก (หัวเราะ) คือที่ชอบ คือมีอยู่ช่วงนึงที่ในยุคเราจะเป็น MSN คือเราจะตั้งชื่อเราว่า Miss Denning เพราะเราชอบมาก คือบางทีเหมือนกับสมมติบางทีเราอ่าน case Lord Denning ก็บ่นมาประมาณ 6 หน้า อันที่ผ่านมาไม่เกี่ยวเลย สรุปอีกแบบนึง คือแบบ อ่าว แล้วที่ผ่านไปคือพูดอะไรไปไม่รู้ ไม่ คือจริง ๆ ไม่ใช่แบบนั้น คือพูดเล่น แต่ว่าคือปกติกฎหมายมันจะต้องเปลี่ยนแปลง เราคิดนะว่ากฎหมายมันเป็นเครื่องมือที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในสังคม ถ้าสังคมหรือว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้นมันเปลี่ยนไป กฎหมายมันก็จะต้องปรับเปลี่ยนได้สอดรับซึ่งกันและกัน คือเราไม่ได้ใช้กฎหมายเป็นกรง เป็นกรงเพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบ คือกรอบมันมีมันก็ดี แต่บางครั้งกรอบมันอาจจะต้องถูกขยาย หรือถูกทลายออก หรืออาจจะต้องทุบแล้วทำใหม่อะไรอย่างนี้ค่ะ เพื่อที่จะทำให้มันสอดรับกับประเด็นต่าง ๆ ที่มันเปลี่ยนไปในทางสังคม ทีนี้ในกฎหมายอังกฤษ อย่างที่บอกไปมันเป็น Common Law ผู้พิพากษามีสิทธิที่จะ make law ก็คือ ‘judge made law’ ที่บางครั้งเขาพูดถึง มันก็จะมี judge บางคนที่กล้าหาญกว่าชาวบ้านหน่อยอย่าง Lord Denning เป็นต้น มันก็จะมีท่านอื่นอีกแต่ว่าอันนี้ก็คือเป็นที่เรารู้กันว่าเขาจะมาติสต์ ๆ หน่อย เขาก็จะบอกว่ากฎหมายที่ผ่านมา โอเค มันมีบรรทัดฐานมาแบบนี้ แต่ในปัจจุบันปัญหามันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้นเพื่อให้กฎหมายสอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ฉันจะให้คำพิพากษาแบบนี้ (หัวเราะ) แบบเปลี่ยนแบบไม่ฟังแคร์ศาลสูงสุดอะไรเลยแล้วก็ให้เป็นประเด็นถกเถียงกัน แต่ก็คิดว่ามันต้องมีคนแบบนี้บ้าง คือไม่ได้ว่า Lord Denning ที่เขาเปลี่ยนกฎหมายมันจะถูกทั้งหมด แต่ว่ามันจะทำให้ความคิดว่า หรือเราควรจะเปลี่ยนดี มันมีประเด็นฉุกคิด เขา stir ให้เกิดการ debate ในแวดวงต่าง ๆ ขึ้นมาได้ อันนี้คือคนอังกฤษ”
“ส่วนคนไทย อันนี้คือประทับใจแบบส่วนตัว คือท่านวีรชัย พลาศรัย จริง ๆ คือจะเป็นนักกฎหมาย/นักการทูต แต่ว่าประทับใจท่าน ท่านก็มีชื่อเสียง ในคดีเขาพระวิหาร แต่ว่าจริง ๆ ติดตามผลงานของท่านมาตั้งแต่สมัยท่านดูประเด็นต่าง ๆ ในเรื่องของการเจรจา ในเรื่องข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว ท่านเป็นคนที่ยึดมั่นในหลักกฎหมาย แต่ว่าปรับการยึดมั่นในหลักการ เขากลับวิธีการพูดแล้วก็การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างถูกต้อง แต่ก็บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นได้ แล้วจริง ๆ ก็ทราบมาว่าหลังจากคดีเขาพระวิหารท่านก็ไปช่วยเจรจาหรือว่าช่วยแก้ไขความที่มันลักลั่นกันอยู่ของ IUU fishing ที่ทางสหภาพยุโรปกับประเทศไทยอาจจะมีประเด็นต่าง ๆ ที่เห็นไม่ตรงกันอีก ก็คือท่านทำงานจนวาระสุดท้ายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันท่านก็ยึดมั่นในเรื่องของหลักการและก็หลักความโปร่งใส สมมติว่าประเทศไทยมีปัญหาอะไรเราต้อง declare ให้ต่างประเทศรู้ เพื่อที่ต่างประเทศจะได้ทราบแล้วก็จะได้ช่วยกันแก้ปัญหา แต่ว่าทุกอย่างเป็นความลับอยู่ในแวดวงภายใน ท่านก็รักษาในส่วนนี้ไว้ คือเป็น idol อย่างนึงก็คืออยากทำงานให้ประเทศในลักษณะประมาณนี้ค่ะ”
คำถามที่ 8 : หลายคนบอกว่ากฎหมายระหว่างประเทศดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว เข้าใจยาก ในฐานะที่สอนวิชานี้ อาจารย์มีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร
ผศ. ดร.จารุประภา : “จริง ๆ กฎหมายระหว่างประเทศนี่คิดว่าใกล้ตัว อันนี้ก็คือไม่ได้ bias นะคะ แต่ว่าทุกมิติของกฎหมายในปัจจุบันแทบจะทุกอย่างเลยมั้ง คือแทบจะนึกไม่ออกว่ามีประเด็นอะไรที่ประเทศไทยไม่ได้ไปทำพันธกรณีระหว่างประเทศ มันแทบไม่มีเลย คือมันมีทุกอย่าง banking สัญญา อาญา ทุกอย่างเลย คือมันมีหมด เพราะฉะนั้นการที่มีพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ก็เป็นประโยชน์ในวิชาชีพกฎหมาย เพราะว่ากฎหมายระหว่างประเทศไปแทรกอยู่ในทุกอณู อย่างน้อยจะต้องมีส่วนที่สัญญาในเรื่องประเด็นที่เกี่ยวข้อง หรือถ้าไม่อย่างนั้น สมมติว่านักศึกษาจบไป นักศึกษาทำงานสำนักงานทนายที่เราไม่ทำงานภาษาอังกฤษเลย มันก็เป็นไปได้ว่ามันก็จะมีประเด็นในเรื่องของสัญญาที่อาจจะต้องบังคับใช้ข้ามแดนหรือว่าใช้บังคับในประเทศอื่นมันก็จะต้องโผล่มา เพราะฉะนั้นจริง ๆ เราคิดว่ามันเกี่ยวข้องในทุกมิติ ไม่นับแบบว่าเรื่องที่อยู่ในกระแส อย่างตอนนี้มันก็จะมีในเรื่องของไวรัสโคโรน่า มันก็จะมีข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องนี้ อยากรู้ว่าเราไปต่างประเทศเราจะต้องมีสิทธิมีอะไรอย่างนี้บ้าง สมมติว่าเราไม่อยากไปแล้ว แบบดินแดนที่มันอาจจะมีความเสี่ยงในการติดโรค เราจะคืนเงินได้ไหม สายการบินจะคืนเงินให้เราหรือเปล่าอะไรแบบนี้ คือทุกอย่างมันมีการตกลงระหว่างประเทศหรือว่ามันมีพันธกรณีระหว่างประเทศครอบคลุมหมด เพราะฉะนั้นคิดว่าใกล้ตัวนักศึกษามาก”
คำถามที่ 9 : ในฐานะที่อาจารย์จบการศึกษาจากระบบ Common Law อาจารย์มีมุมมองในเรื่องนิติวิธี (การใช้การตีความกฎหมาย ฯลฯ) ที่แตกต่างกันระหว่างระบบ Common Law และ Civil Law อย่างไร
ผศ. ดร.จารุประภา : “มันมีความแตกต่าง แล้วก็มีข้อดีข้อเสียทั้งคู่ค่ะ ก็คือถ้าเป็นระบบ Common Law ส่วนใหญ่มันจะเป็น case based ถึงเป็นที่มาว่าทำไมเวลาไปเรียนที่ประเทศอังกฤษโดยเฉพาะระดับปริญญาตรีที่ต้องเรียนกฎหมายของเขามันถึงเรียนน้อยวิชา แต่น้อยวิชาถามว่าอ่านเยอะไหม อ่านเยอะมาก เพราะว่าต้องไปอ่าน case เนื่องจากมันเป็น case based แล้วก็ต้องมา extract อีกทีว่าใน case บางทีผู้พิพากษาอาจจะบ่นดินฟ้าอากาศอะไรก็ไม่รู้ obiter dicta ยาวแบบประมาณ 3 หน้าอย่างนี้ เราก็ต้องเอาออกไปแล้วเอาเฉพาะ essence ของมันออกมาใช่ไหมคะ แต่ก็คือมันบังคับให้เราต้องอ่าน case แต่ว่าถ้าอย่างของไทยเนี่ยเราจะเริ่มจากตัวบทกฎหมายของไทยแล้วก็ตีความโดยศาล แล้วก็ case อาจจะเป็นส่วนประกอบ แต่ว่า case บ้านเรามันจะไม่ยาวมาก มันก็มีข้อดีข้อเสีย คือถ้าเป็นระบบอย่างบ้านเรา เป็น Civil Law มันทำให้กฎหมายมันค่อนข้างชัดเจน สมมติว่าเราจะดูกฎหมายแบบเรื่องกาแฟอย่างนี้ เราจะไปดูที่กฎหมายอะไร ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ออกโดย อ.ย. ในเรื่องกาแฟซึ่งออกภายใต้กฎหมายด้านอาหารอะไรอย่างนี้อีกที คือเราจะมีที่มาที่ไปที่ชัดเจนว่ามันตีความกาแฟว่ายังไงมันก็จะเขียนเอาไว้ ถ้าเกิดว่าไม่เขียนเอาไว้ก็ไปดูว่ามันตีความได้ยังไง แต่ว่าข้อเสียคือ ถ้ามันมีการพัฒนาของผลิตภัณฑ์หรือว่าสิ่งแวดล้อมในเรื่องดังกล่าวอย่างรวดเร็ว กฎหมายมันจะออกตามมาไม่ทัน เพราะมันจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยน update มีฉบับใหม่ออกมามันอาจจะต้องมีการตีความเพิ่มเติม
ในขณะที่ถ้าสมมติว่ามันเป็นประเด็นเดียวกัน ถ้าเป็น Common Law อาจจะขอให้มีประเด็นข้อพิพาทขึ้นศาล อาจจะเป็นศาลในระดับที่ไม่ใช่เป็นศาลสูงสุดก็ได้แต่เป็นศาลที่เกี่ยวข้องอย่างนี้ค่ะ ก็คือตัดสินประเด็นนั้นใหม่แล้วก็ให้ความเห็นเพิ่มเติมไป การตัดสินดังกล่าวก็ถูกรีวิวโดยศาลชั้นสูงสุดขึ้นไป มันจะออกมาเร็วมาก กฎหมายมันจะปรับเปลี่ยนได้เร็วมาก มันก็จะเร็วกับสถานการณ์มากกว่า แต่การทำแบบนี้มันก็จะมีช่วงที่กฎหมายมันไม่นิ่ง ที่ทุกคนรอว่าศาลสูงสุดมันจะตัดสินว่ายังไง ตรงนั้นมันจะมีความไม่แน่นอนอะไรอย่างนี้้อยู่ คือมันมีข้อดีข้อเสีย”
คำถามสุดท้าย : และการที่อาจารย์จบจากระบบ Common Law แล้วต้องมาทำงานในระบบ Civil Law อาจารย์ประสบปัญหาหรือไม่ อย่างไร
ผศ. ดร.จารุประภา : “อ๋อ มีนิดนึง กฎหมายบ้านเราในความรู้สึกเท่าที่สัมผัสมา กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรมันเยอะมาก แล้วก็ส่วนใหญ่มันจะเป็นเรื่องเฉพาะ ๆ ลงไป ยกตัวอย่างตอนนี้ อาจารย์ทำงานให้การรีวิวกฎหมายเรื่อง food safety ของประเทศไทยให้ทางอาเซียน ก็กฎหมายเยอะมาก 4,000 กว่าฉบับอย่างนี้ คือแบบมันเยอะจริง ๆ แต่ว่าในตัวเนื้อหามันก็จะมีการ update ปรับเปลี่ยน อย่างเช่นสมมติเราดูในเรื่องของน้ำบรรจุขวด มันมีตั้ง 5 ฉบับ ฉบับนี้เปลี่ยนข้อความตรงนี้ ๆ ยังไม่มี consolidated version หรือ version รวม แต่มันก็ต้องไล่ ๆ ดูอะไรแบบนี้ แต่เราก็รู้ว่า โอเค เนื้อหามันอาจจะเยอะมันอาจจะซับซ้อน ใช้ภาษาที่ค่อนข้างยาก แต่ทุกอย่างมันไปอยู่ในที่เดียวกัน ถ้าเราหาได้หมดมันก็จะมีอยู่แค่นี้ แต่ว่าบางครั้ง คล้าย ๆ กับมันมากเกินไป เรารู้สึกว่าเนื้อหามันเยอะมาก มันเยอะและละเอียด มันเหมือนกับกฎหมายคิดการณ์ล่วงหน้าว่ามันจะ cover ในเรื่องอะไร หรือปัญหาอะไรที่มันจะเกิดขึ้นบ้าง แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นมา (หัวเราะ) ใช่ไหม ซึ่งแบบกฎหมายเก่ามันยังไม่ cover แล้วไอ้ปัญหานี้มันจะเป็นประเด็นข้อกฎหมายว่าเจ้าหน้าที่จะตีความยังไง ใช้ดุลยพินิจยังไง ซึ่งตรงนี้มันไม่นิ่งแล้วส่วนใหญ่มันไม่เผยแพร่กับสาธารณะ มันไม่เป็นข้อมูลทั่ว ๆ ไป หรือมันอาจจะไม่ได้มีบรรทัดฐานเท่าไหร่ แต่ว่าถ้าเป็นแบบนี้ ก็คือถ้าอยากรู้ข้อมูลอย่างนี้ต้องไปสัมภาษณ์หน่วยงาน ซึ่งเขาอาจจะให้หรือเขาอาจจะไม่ให้ก็ได้ หรือเราสัมภาษณ์บางคนอาจจะได้ข้อมูลอย่างนึง ไปสัมภาษณ์อีกคนเขาก็ใช้ดุลยพินิจอีกอย่างนึง มันก็จะมีปัญหาอย่างนี้เหมือนกัน แต่ว่าตอนนี้้เหมือนกับเราเริ่มรู้แนวทางแล้ว เราก็จะรู้ว่า อ๋อ ถ้ามันมีประเด็นแบบนี้เราจะต้อง approach ยังไง มันก็จะแก้ไขปัญหาค้นข้อมูลอะไรอย่างนี้ได้”
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK