คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดอบรมเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยในโครงการ “Play Safe Workshop” ในวันที่ 11 กันยายน 2563 ระหว่างเวลา 9.00-12.00 น. เราจะไปพูดคุยกับอาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการและเป็นผู้ริเริ่มการจัดอบรม ถึงที่มาและความสำคัญของการอบรมหัวข้อดังกล่าว
คำถามแรก : แนะนำกิจกรรม Play Safe Workshop
อ. ดร.พนัญญา : “safe sex คือ การมีเพศสัมพันธ์ที่อยู่บนฐานของความเข้าใจ ความยินยอมและความพึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่ายและมีการป้องกันที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุดไม่ว่าคุณจะเป็นชายหญิง รักชอบเพศอะไรค่ะ ในกิจกรรมนี้ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุขจะมาจัดกิจกรรมให้ความรู้ 3 ชั่วโมงอย่างไม่อ้อมค้อม ใช้ประโยชน์ได้จริง ตอนที่ติดต่อวิทยากร พี่เขาขอมาว่าอย่างน้อย 3 ชั่วโมง มีวิทยากร 3 ท่าน อาจารย์ก็ตื่นเต้นมากว่า โอ้ มันต้องอย่างน้อย 3 ชั่วโมงเลยหรอ ครั้งแรกนี้เราลอง 3 ชั่วโมงก่อนนะคะ ครั้งหน้าค่อยจัดเต็ม แต่ด้วยรูปแบบกิจกรรมล้วน ไม่ใช่การบรรยาย ประกอบกับเป็นช่วง New Normal จึงรับนักศึกษาได้จำนวนจำกัดมาก เพียงแค่ 30 คนที่จะได้ร่วมกิจกรรมสดกับวิทยากรค่ะ”
คำถามที่ 2 : อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ผลักดันกิจกรรมนี้
อ. ดร.พนัญญา : “ในวันเตรียมความพร้อมและปรับพื้นฐานปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมา อาจารย์มีโอกาสเป็นผู้ดำเนินรายการเกี่ยวกับสุขภาพใจ หลาย ๆ ปัญหา ความเครียด ความกังวลหนัก ๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกลัวตั้งครรภ์ กลัวติดโรค หรืออาจได้ตั้งครรภ์ หรือติดโรคแล้ว ทำให้อาจารย์คิดว่าถ้านักศึกษามีความรู้พื้นฐานที่จำเป็น เราจะป้องกันปัญหาและความเครียดเหล่านี้ได้ แต่พูดตรงนี้แล้วก็อยากเป็นกำลังใจให้นักศึกษาหรือวัยรุ่นที่อาจได้พลาดพลั้งไปแล้วว่า อย่าให้การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม หรือการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาตัดสินชีวิต ทุกคนทำผิดพลาดได้และทุกปัญหามีทางออก ขอให้ปรึกษาคนที่ไว้ใจหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยกันหาทางออกและใช้ชีวิตอย่างมีความหวังเสมอนะคะ นักศึกษาไม่ได้อยู่คนเดียวนะคะ”
คำถามที่ 3 : อาจารย์มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน
อ. ดร.พนัญญา : “อาจารย์เข้าใจในคุณค่าที่แตกต่างของแต่ละคนต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ขณะเดียวกันก็เข้าใจในความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์ค่ะ การให้ความรู้กับเด็กและวัยรุ่นถึงสถานการณ์เสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง การรู้จักปฏิเสธ การรู้ถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มากับการมีเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่สำคัญ ขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักว่าหลายคนไม่ได้มองว่าการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นเป็นสิ่งผิด หรือเมื่อบรรยากาศมา มันก็เกิดขึ้น เลยเชื่อว่าทุกคนต้องมีความรู้เกี่ยวกับ safe sex ติดตัวเพื่อป้องกันตัวเองอย่างถูกวิธีค่ะ”
คำถามสุดท้าย : อาจารย์คิดว่านักศึกษาสมัยนี้น่าจะมีความรู้เรื่องพวกนี้อยู่แล้วไหม?
อ. ดร.พนัญญา : “ตอนแรกก็คิดว่าเพศศึกษาสมัยอาจารย์เรียนโรงเรียนกับสมัยนี้น่าจะต่างกันมาก หรือนักศึกษาน่าจะหาข้อมูลได้จากหลายแหล่งอยู่แล้ว แต่พอได้ลองสอบถามนักศึกษาก็พบว่า ความรู้จากการเรียนเพศศึกษาในมัธยมหรือแหล่งความรู้ในอินเทอร์เน็ตอาจยังไม่ตอบโจทย์ให้ไปใช้ได้จริง และในวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัยก็ไม่มีการสอน จึงคิดว่าคณะอาจควรมาเสริมตรงนี้ก่อน อาจารย์ลองถามเพื่อนชาติอื่นดูว่าเขาเรียนกันยังไง เขาบอกว่าตั้งแต่ประถมต้น เขาก็ได้ดูวิดีโอเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ตอนมัธยม นักเรียนทั้งชายหญิงต้องหัดใส่ถุงยางอนามัยให้ถูกต้อง เพราะมันไม่ได้ใส่ให้ถูกต้องง่าย ๆ ถ้าใช้ไม่ถูกมันก็ป้องกันไม่ได้ หรือหลาย ๆ เรื่องอาจไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปรู้แต่ควรจะรู้ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะติดโรคได้ หรือการมีเพศสัมพันธ์หลากหลายระดับและรูปแบบมีความเสี่ยงอะไรยังไงบ้าง และจะป้องกันยังไง”
ถ่ายภาพ Pump
เรียบเรียง KK