สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมแนะแนววิชาชีพ หัวข้อ “เรียนนิติ จบแล้วประกอบอาชีพอะไรได้บ้
วิทยากรโดย
- คุณปุณณัตถ์ บุนนาค ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำส
ำนักประธานศาลฎีกา (ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ รุ่น 50) - อาจารย์ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหา
ชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ รุ่น 51) - คุณอิทธิวัตร เมธาธรรม Legal Manager, KPMG Thailand (ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ รุ่น 51)
- คุณภัทระ วัฒนชัย อัยการผู้ช่วย (ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ รุ่น 49)
ดำเนินรายการโดยคุณนริศรา มิ่งมีชัย และคุณนภ โมรินทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
สรุปความโดย นายรชต ไชยเชษฐ์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำถาม (1) : ประสบการณ์ในการเรียน
คุณภัทระ วัฒนชัย : ตนเข้าศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ รหัส 49 เป็นรุ่นแรกที่ย้ายไปศึกษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตลอด 4 ชั้นปี สำหรับการเรียนที่ธรรมศาสตร์เป็นไปในลักษณะของการรับผิดชอบตัวเอง เนื่องจากไม่มีการเช็คชื่อ โดยการเรียนในคณะนิติศาสตร์จะมีการสัมมนา ซึ่งเหมือนเป็นการเตรียมตัวสำหรับสอบในวิชานั้น ๆ โดยเฉพาะ ซึ่งจะมีอาจารย์รุ่นใหม่ ๆ เข้ามาสอน ทำให้มีความคุ้นเคยเนื่องจากอายุใกล้เคียงกัน สำหรับการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอาจจะสนุกสนานแต่ผู้เรียนต้องใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบด้วย
ภายหลังจบการศึกษาชั้นปริญญาตรี คุณภัทรได้ตั้งเป้าว่าจะต้องเรียนให้จบเนติบัณฑิตภายใน 1 ปี ในระหว่างศึกษาจึงได้หาช่องทางในการสอบบรรจุเป็นข้าราชการกรมบังคับคดีได้เปิดรับสมัครนิติกร ทำงานอยู่ที่นั้น 9 ปี โดยในระหว่างทำงานก็ได้รับทุนไปศึกษาต่อปริญญาโท ณ ต่างประเทศสองใบ จนกระทั่งใช้ทุนเสร็จก็กลับมาสอบเป็นอัยการได้ คุณภัทระฝากทิ้งท้ายในประเด็นว่า ส่วนตัวตนได้วางแผนชีวิตมาทางด้านนี้อยู่แล้ว แต่อย่าไปยึดติดกับมันมาก เพราะโลกแห่งความเป็นจริงมีโอกาสและปัจจัยมากมายเข้ามาในชีวิต เราก็อาจปรับเปลี่ยนไปตามจังหวะชีวิต และเชื่อว่าทุก ๆ คนจะประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
คุณอิทธิวัตร เมธาธรรม : เข้าเรียนในรหัส 51 ด้วยช่องทางโควตาของนักกีฬา เนื่องจากคณะนิติศาสตร์มีกิจกรรมเยอะมาก จนบางครั้งอาจจะหลงลืมการเรียนไป จึงต้องดูแลตัวเองให้ดู จึงอยากฝากให้ทุกคนอย่าหลงลืมความตั้งใจแรกที่ได้เข้ามาในมหาวิทยาลัย
ภายหลังจากเรียนจบคุณอิทธิวัตรได้ทำงานที่ KPMG ซึ่งเป็นหนี่งใน BIG 4 ด้านบัญชีของประเทศไทย ภายในบริษัทยังมีแผนกกฎหมาย ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับ Law firm เสียทีเดียว เนื่องจากต้องทำงานร่วมกับสายบัญชีด้วย โดยคุณอิทธิวัตรได้รับผิดชอบงานในส่วนของการควบรวมบริษัท และเกี่ยวข้องกับภาษีด้วย คุณอิทธิวัตรกล่าวว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นอาจมีเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นเท่านั้นที่ได้ใช้จริงในการทำงาน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้ของตัวเราเองว่าจะทำได้ดีเพียงได้
อาจารย์ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ : กล่าวถึงความสำคัญของเกรด และคะแนน ในขณะที่เรียนอยู่ก็ไม่ได้สนใจในเรื่องดังกล่าวมากนัก แต่เมื่อจะต้องฝึกงานหรือทำงาน หน่วยงานต่าง ๆ ย่อมต้องคัดกรองผ่านทางทรานสคริปต์ ดังนั้นเมื่อได้เข้ามาเรียนต้องตั้งเป้าให้สูงเอาไว้ก่อน แต่ไม่จำต้องยึดติด นอกจากนี้ยังสามารถทำกิจกรรมอื่นควบคู่ไปด้วยได้ เช่น กิจกรรมเชิงวิชาการอย่างมูทคอร์ท หรือเป็นกิจกรรมในด้านอื่น ๆ เพราะมีประโยชน์ และช่วยให้เราได้ทักษะในด้านอื่น ๆนอกเหนือจากการเรียน
สำหรับประสบการณ์การทำงาน อาจารย์ศศิภารู้ตัวตั้งแต่แรกว่าอยากเป็นอาจารย์ ดังนั้นจึงมีเป้าหมายชัดเจน ภายหลังจากเรียนจบก็ได้ต่อปริญญาโทที่ประเทศไทย และไปต่อที่ต่างประเทศอีก 1 ใบ ภายหลังจากสำเร็จการศึกษา ก็ได้กลับมาเป็นนักวิจัยอยู่ 1 ปี ภายในองค์กรที่ทำด้าน Public Policy ซึ่งทำงานร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนี และจึงได้มาเป็นอาจารย์ในปัจจุบัน
คุณปุณณัตถ์ บุนนาค : ก่อนจะเข้ามาศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อราว ๆ 12 ปีก่อน ได้สมัครเข้าค่าย Pre-Camp ได้ทำความรู้จักคณะนิติศาสตร์และวิชากฎหมายในเบื้องต้นมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากมัธยมศึกษาชีวิตในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปรียบเสมือนโลกจำลองอีกใบหนึ่ง ที่มีกิจกรรมมากมายให้ได้ทดลองทำ ให้ได้ทดลองใช้ชีวิต ในช่วงปีแรกนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ต้องไปเรียนกับคณะอื่นในวิชาศึกษาทั่วไป และเมื่อขึ้นปี 2 เป็นต้นไปก็จะต้องเรียนกฎหมายมากมาย และเปิดโอกาสให้มีการฝึกงานตามความสมัครใจด้วย ถือได้ว่าเป็นการทดลองการทำงานนโลกแห่งคามจริงไปในตัว ภายหลังจากเรียนจบตนไปศึกษาต่อที่เนติบัณฑิต ภายหลังสำเร็จการศึกษา ได้ประกอบอาชีพทนายความเป็นเวลาราว ๆ 1 ปี แต่รู้สึกว่ายังไม่ใช่เส้นทางที่ชอบ จึงไปเรียนต่อปริญญาโททางด้านกฎหมายที่ต่างประเทศ เมื่อกลับมา สำนักงานศาลยุติธรรมเปิดสอบ สามารถสอบได้ผู้ช่วยผู้พิพากษาได้
คำถาม (2) : เหตุผลที่เลือกประกอบวิชาชีพดังกล่าว
คุณอิทธิวัตร เมธาธรรม : เหมือนเป็นการค้นหาตัวเองไปเรื่อย ๆ ในระหว่างเรียน ส่วนตัวชอบกฎหมายหุ้นส่วนบริษัท เนื่องจากมองภาพออกว่าบริษัทเอกชนเป็นอย่างไร จึงรู้สึกสนุกกับกฎหมายแพ่ง ประกอบกับช่วงปีสามได้ไปฝึกงานที่หน่วยงานราชการ แล้วรู้สึกว่าชอบการทำงานกับบริษัทเอกชนมากกว่า เมื่อเรียนจบจึงได้สมัครงานที่ Audit Firm ซึ่งสำหรับคนที่สนใจอาชีพกฎหมายสายเอกชน นอกจาก Law Firm แล้ว ก็ยังมี In house และ Audit Firm ต่า งๆ โดยลักษณะของบริษัทต่าง ๆ นั้นแตกต่างกัน ดังนี้ Law Firm เป็นบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งจะมีบริษัทอื่น ๆ มาขอคำปรึกษา ส่วน In House นั้นจะเป็นเหมือนแผนกกฎหมายภายในบริษัทต่าง ๆ หรือ Adviser ก็จะเป็นทนายที่ให้คำปรึกษา แต่ไม่ว่าความในศาล
อาจารย์ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ : ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดก็ตามภาษาเป็นเรื่องสำคัญ ภาษาเป็นสิ่งที่สามารถช่วยต่อยอดตัวเราได้ในหลายด้าน ในแง่ของ Law Firm ภาษาจะช่วยในการติดต่อสื่อสารกับลูกความ ถ้าเป็นสายวิชาการก็จะมีประโยชน์ในด้านการศึกษาต่อ หรือค้นคว้างานต่าง ๆ เพราะว่าการศึกษาต่อในประเทศใด ๆ ย่อมต้องใช้ภาษาของประเทศนั้น ๆ ในการศึกษา อย่างของตัวอาจารย์เองศึกษาต่อในประเทศเยอรมนี พื้นฐานอาจารย์จบมัธยมมาจากสายวิทย์ ก็ต้องใช้เวลาหลายปีในการเรียนภาษาเยอรมันเช่นกัน
ส่วนเหตุผลที่อยากประกอบอาชีพอาจารย์ เนื่องจากในช่วงปี 3-4 ดูจากวิชาที่ตนชอบ เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายมหาชน นิติปรัชญา ถ้าหากจะไปต่อในสายอาชีพผู้พิพากษาตัววิชาก็ห่างไกลจากวิชาที่เราชอบ อย่างเช่น อัยการก็เน้นวิชากฎหมายอาญาเป็นสำคัญ หรือถ้าผู้พิพากษาก็กฎหมายแพ่ง อาญา วิแพ่ง วิอาญา จริง ๆ แล้ว ถ้าสนใจสาขาวิชามหาชนก็อาจทำงานในศาลปกครองหรือเอกชนก็ได้ กฎหมายปกครองก็ยังคงเป็นพื้นฐานที่ต้องใช้ แต่ส่วนตัวเป็นคนรักอิสระอาจจะไม่เหมาะกับระบบการทำงานเป็นราชการเท่าไร บวกกับในช่วงมัธยมเรามักจะติวหนังสือให้เพื่อน ๆ อยู่แล้ว เมื่อทบทวนดูแล้วจึงสนใจอยากที่จะเป็นอาจารย์ และหน้าที่รับผิดชอบของอาจารย์ไม่ได้มีเพียงการสอน แต่มีงานด้านวิชาการด้านอื่นๆด้วย แล้วก็รู้สึกว่าชอบอะไรที่เป็นหลักการหรือทฤษฎีมากกว่าการปฎิบัติ
คุณปุณณัตถ์ บุนนาค :ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อจบการศึกษาแล้ว นักศึกษาทุกคนไม่จำเป็นต้องประกอบวิชาชีอาชีพทางด้านกฎหมายอย่างเดียว มีหลากหลายอาชีพและเส้นทางให้ได้เลือกได้ลองทำ ในปัจจุบันหลายคนอาจจะยังค้นหาเส้นทางของตัวเองไม่เจอ สำหรับแนวทางการตัดสินใจของคุณปุณณัตถ์นั้น จะตัดสินใจจากการได้ลองทำและทราบเกี่ยวกับสิ่งนั้น ๆ ก่อน และใช้การหมั่นสอบถามตัวเอง เพื่อทยอยตัดตัวเลือกที่เราไม่ชอบออกไปจนกระทั่งเหลือตัวเลือกที่เราสนใจมากที่สุด ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ เราต้องมีความพร้อมและมีข้อมูล เราจึงต้องค้นหาตัวเองให้เจอให้ทราบว่า เราให้คุณค่ากับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในชีวิตของเราอย่างไร การทำงานย่อมต้องมีวันที่เหนื่ออยและท้อบ้าง แต่หากงานไหนทำให้เรายังอยากจะตื่นขึ้นมาทำงานนั้นได้ในทุก ๆ วัน งานนั้น คือ เส้นทางที่เหมาะกับเราแล้ว
คุณภัทระ วัฒนชัย : กล่าวเสริมวิทยากรท่านอื่นโดยเน้นย้ำความสำคัญของภาษา รวมไปถึงวิชาอื่น ๆ ด้วย ไม่ได้มีความสำคัญยิ่งหย่อนไปกว่าวิชากฎหมายเลย ภาษาเป็นประตูที่จะนำออกไปสู่โลกใบใหญ่กว่าเดิมได้ หากมีข้อจำกัดทางภาษา ก็จะเหมือนมีกรอบมาจำกัดการเรียนรู้ของเราเอง สำหรับคุณภัทระเองต้องมานั่งเรียนภาษาอังกฤษหลังจากเลิกงาน จนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ ดังนั้นถ้าเราสามารถตัดข้อจำกัดของเราได้ จะเป็นการเพิ่มความสามารถในตัวเราอย่างมาก และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็ขอให้ทุกคนอย่าจำกัดตัวเองว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้น เราอาจจะสามารถทำอย่างอื่นได้ อย่าหยุดค้นหาตัวเอง และสาเหตุที่ตนตัดสินใจมาทำอาชีพนี้ เนื่องจากที่บ้านเป็นข้าราชการ และอยากจะปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ อีกหนึ่งสาเหตุคือ อยากจะเปลี่ยนแปลงระบบราชการที่ดูล่าช้าให้พัฒนามากขึ้น
คำถาม (3) : แนวทางหรือวิธีการเข้าสู่วิชาชีพ
อาจารย์ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ : ยังไม่มีวิธีการที่ตายตัว แต่ในปัจจุบันมีสามช่องทางคือตามวุฒิการศึกษา คือปริญญาตรี โท หรือ เอก แต่ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยจะเน้นรับเพียงแค่ปริญญาเอก โดยในช่วงของการเรียนปริญญาโทและเอก จะเริ่มเรียนลึกขึ้น แตกต่างจากปริญญาตรีที่เรียนกว้าง อย่างเช่น เรียนสายมหาชน ถ้าระบุให้ชัดเจนก็คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้นความท้าทายจะเริ่มมีขึ้นตรงนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะเปิดรับสมัครอาจารย์ในสาขาใด วุฒิการศึกษาใด ถือเป็นความท้าทายหนึ่งที่ต้องเจอก่อนจะได้เข้ามาเป็นอาจารย์ อยากให้ผู้ที่สนใจในวิชาชีพอาจารย์ ให้เลือกเรียนในสาขาที่ตนเองชอบจริง ๆ ไม่เช่นนั้นจะต้องอยู่กับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบไปอีกนาน
คุณปุณณัตถ์ บุนนาค และ คุณภัทระ วัฒนชัย : หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ในระบบราชการ โดยทั่วๆ ไป คือ การสอบเพื่อแข่งขันหรือคัดเลือก ซึ่งในแต่ละหน่วยงานอาจจะมีความแตกต่างกันบ้างในเรื่องคุณสมบัติและวิชาที่ใช้ในการสอบ สำหรับการเป็นผู้พิพากษานั้น ก็เช่นเดียวกัน คือ ใช้วิธีการสอบแข่งขัน หรือที่เรียกกันว่า “สนาม” ซึ่งโดยหลักจะมีอยู่ 3 สนาม คือ สนามใหญ่ สนามเล็ก และสนามจิ๋ว รวมถึงสนามพิเศษเฉพาะผู้มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะเท่านั้น จึงจะขอกล่าวถึงเพียง 3 สนามเท่านั้น โดยทั้งการสอบทั้ง 3 สนาม ผู้สมัครสอบจะต้องมีคุณสมับติพื้ฐาน คือ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ จบเนติบัณฑิตไทย อายุ 25 ปีขึ้นไป และมีประสบการณ์การทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งทางกฎหมาย โดยจะมีระยะเวลาที่แตกต่างกันไปในแต่ละสนาม การเรียนเนติบัณฑิตจะคล้ายคลึงกับการเรียนการสอนกฎหมายในระดับปริญญาตรี เพียงแต่จะเพิ่มเติมการใช้กฎหมายในทางปฏิบัติมากขึ้น สำหรับการเตรียมตัว ยังคล้ายกับตอนเรียนปริญญาตรี เพียงแค่ต้องอ่านหนังสือมากขึ้น เนื่องจากเป็นการประมวลความรู้ที่เรียนทั้งสี่ปีมา ทำให้ต้องรับผิดชอบตัวเองและมีระเบียบวินัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังต้องเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจในมีความสมบูรณ์ที่สุดอีกด้วย
คุณอิทธิวัตร เมธาธรรม : สำหรับภาคเอกชนคุณสมบัติไม่ได้ตายตัว แต่อยากให้เตรียมตัวให้ดีโดยเฉพาะเรื่องเกรด ถ้าเกรดดีก็จะง่ายขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าเกรดจะเป็นตัวตัดสินอย่างเดียว แต่ว่าจะดูไปจนถึงกิจกรรม การฝึกงานและบุคลิกภาพต่าง ๆ และอีกเรื่องคือภาษาซึ่งสำคัญมาก เนื่องจากเราไม่ได้ทำงานแค่ประเทศไทย แต่เราต้องทำงานร่วมกับต่างประเทศเสมอ ๆ และอีกเรื่องหนึ่งคือ เราต้องหาให้เจอว่าเราชอบอะไรกันแน่ ต้องรักการอ่านด้วย แต่ต้องเข้าใจในสิ่งที่อ่านด้วย เพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับการสัมภาษณ์นั้น บริษัทจะดูความตั้งใจในการทำงาน มีความพร้อมจะทำงานกับตัวบริษัทหรือไม่ จึงต้องพัฒนาตนเองในด้านบุคลิกภาพขึ้นมาด้วย
คำถาม (4) : ความท้าทาย หรือประสบการณ์น่าสนใจในวิชาชีพ
คุณปุณณัตถ์ บุนนาค : ผู้พิพากษาเปรียบเสมือนคนกลางที่ทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทของคู่ความ หน้าที่ของผู้พิพากษา คือ การดุลสังคมทำให้เกิดความยุติธรรม ทุกครั้งที่ทำหน้าที่จึงต้องมีความพร้อมเสมอ กล่าวคือ ความพร้อมในส่วนรูปแบบ คือ มีความรู้ด้านกฎหมาย สามารถควบคุมกระบวนพิจารณาคดีในห้องพิจารณาให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย ในด้านเนื้อหาซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก นั่นคือ การรับฟังปัญหาข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันไปในแต่ละคดี ซึ่งแตกต่างจากสมัยเรียนที่อาจารย์จะให้ข้อเท็จจริงมา แล้วนักศึกษาเพียงปรับใช้หลักกฎหมาย แต่ในการทำหน้าที่ผู้พิพากษาจะเป็นผู้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในสำนวนด้วยตนเอง จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอย่างรอบคอบและรอบด้าน และอาศัยการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน นอกจากนี้ เมื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายได้แล้ว ยังต้องพิจารณากำหนดคำขอบังคับทั้งในคดีแพ่ง ( ค่าสินไหมทดแทน) และคดีอาญา (การกำหนดโทษ) ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ในแต่ละคดีอีกด้วย กล่าวโดยสรุปความท้าทายของการประกอบอาชีพผู้พิพากษาคือการอำนวยความยุติธรรมให้คู่ความในคดีและสังคม
คุณภัทระ วัฒนชัย : คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าอัยการจะทำหน้าที่ในคดีอาญาเพียงอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้ว มีมากกว่าการดำเนินคดีอาญา เช่น การให้คำแนะนำเรื่องข้อสัญญาในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ หรืองานด้านการบังคับคดีแพ่ง ล้มละลาย หรืองานให้ความคุ้มครองช่วยเหลือประชาชน แต่ละภารกิจจะมีความยากและท้าทายแตกต่างกันไปตามเนื้องาน โดยส่วนตัวอาจจะเล่าได้เพียงเรื่องคดีอาญา ในเนื้องานคือ ตรวจสำนวนที่พนักงานสอบสวนทำส่งขึ้นมาให้อัยการตรวจพิจารณาว่าทำมาได้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เรื่องยากคือ เราไม่ได้เห็นในขณะที่เขาสืบสวนว่าเป็นอย่างไร หากสำนวนบกพร่องก็ต้องให้พนักงานสอบสวนมาใหม่ หรือแจ้งข้อหามาไม่ครบ ก็ต้องสั่งให้ทำใหม่ หลักจากตรวจสำนวนแล้ว ส่วนที่ยากที่สุดคือขั้นตอนการเตรียมคดี หมายถึง คิดหาวิธีที่จะนำเสนอพยานหลักฐานให้ศาลเห็นอย่างไร ซึ่งเราจะมีคู่มือของพนักงานอัยการยึดเป็นหลักประกอบกับกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเราต้องมีความเข้าใจในข้อเท็จจริงให้ดีที่สุดเพราะเราเป็นผู้นำเสนอให้ศาลเห็น อีกส่วนที่ยากคือ การพูดคุยกับพยาน และผู้เสียหาย เราจะต้องพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิด ซึ่งเราจะเจอกับจำเลยและผู้เสียหายที่มีความบอบช้ำทางจิตใจ ดังนั้นต้องควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ดี
คุณอิทธิวัตร เมธาธรรม : ในส่วนของการทำงานในภาคเอกชน เราอาจไม่ได้เจอกับคดีอาญาที่มีความท้าทายในด้านอารมณ์มากนัก ส่วนใหญ่เราจะเจอกับกฎหมายแพ่ง ในมุมของงานเอกชน จะต้องเจอกับความท้าทายของลูกความ ว่ามีความยากง่ายมากน้อยเพียงใด เช่น ต้องศึกษากฎหมายเพิ่มเติมเพื่อตอบลูกค้าให้ได้ว่าเขาควรทำอย่างไร ให้คำแนะนำกับลูกค้าเพราะทุกๆวันที่ทำงานนั้นจะได้เจอคดีที่ไม่เหมือนกันทุกวัน
อาจารย์ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ : นอกจากการรอคอยตำแหน่งให้เปิดรับแล้ว ก็จะมีเรื่องท้าทายอีก 2 เรื่องใหญ่ ๆ นั่นคือ ในสมัยก่อนอาจารย์เป็นข้าราชการ ซึ่งจะสามารถอยู่กับมหาวิทยาลัยไปจนเกษียณเลย แต่ในปัจจุบันอาจารย์เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งจะต้องต่อสัญญากัน ซึ่งเงื่อนไขในการต่อสัญญาคือต้องผลิตผลงานทางวิชาการเรื่อย ๆ และยังไม่มีแนวโน้มว่าการขอตำแหน่งทางวิชาการเหล่านี้จะนิ่ง นอกจากนี้การเข้ามาในอาชีพนี้ก็ไม่สามารถหยุดนิ่งได้ ต้องศึกษาเพิ่มขึ้นในทุกวัน และอีกหนึ่งความท้าทายคือ การสอนนักศึกษา เนื่องจากช่วงวัย เช่น มุมมองต่อปัญหาของเราอาจจะไม่เหมือนกับมุมมองของนักศึกษา ดังนั้นหากนักศึกษาถามอะไรที่เรายังไม่เข้าใจหรือตอบไม่ได้ ถ้าไม่แน่ใจอย่าพึ่งตอบ เพราะเรามีความรับผิดชอบสูง อาจจะต้องไปค้นคว้ามาก่อนแล้วค่อยตอบทีหลัง
คำถามจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม
(1) ในอนาคตเทคโนโลยี AI จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานกฎหมายอย่างไร
คุณอิทธิวัตร เมธาธรรม : สำหรับภาคเอกชน AI เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานไปแล้ว เช่น โปรแกรม RPA ซึ่งเข้ามาช่วยในเรื่องการกรอกแบบ หรือกรอกข้อมูล เข้าไปใน Excel ให้เราโดยเราไม่ต้องทำเอง แต่ในสายงานกฎหมายแล้ว AI ยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้อย่างแน่นอน เพราะว่างานกฎหมายต้องการวิจารณญาณของมนุษย์ในการตัดสินใจอยู่ดี แม้ในหลายภาคอุตสาหกรรมจะมีการเลิกจ้างพนักงานเพื่อปรับโครงสร้าง การเลิกจ้างเหล่านี้ก็ยังต้องอาศัยนักกฎหมายเข้ามาช่วยอยู่ดี
คุณปุณณัตถ์ บุนนาค :เราไม่สามารถปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงได้ การก้าวหน้าของเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ดี AIสามารถเข้ามาช่วยจัดการบริหารงานในศาลได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เทคโนโลยี AI ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ คือ การปรับใช้กฎหมายให้เหมาะสมแก่พฤตการณ์แห่งคดีนั้นๆ เพราะ ในแต่ละคดีย่อมมีเหตุที่มา และผลของการกรทำที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องอาศัยจิตใจที่เป็นกลาของมนุษย์ทำหน้าที่ตรงนี้ในปัจจุบัน
อาจารย์ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ : เนื่องจากวิชานิติศาสตร์เป็นวิชาสายสังคมศาสตร์ เพราะฉะนั้น มันจึงไม่สามารถตัดขาดจากความเป็นมนุษย์ได้ ซึ่ง AI ไม่มีความเป็นมนุษย์ และไม่ละเอียดอ่อนเท่ากับมนุษย์ กฎหมายไม่ใช่เรื่องของข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวแต่ต้องมีเรื่องของจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การเรียนกฎหมายไม่ใช่เพียงท่องจำ แต่ยังต้องมีการปรับใช้กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
(2) การวางตัวในอาชีพผู้พิพากษา อัยการ ต้องทำอย่างไร
คุณภัทระ วัฒนชัย : แยกเป็นสองกรณี คือ 1. ในขณะที่เราปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากอัยการก็เป็นข้าราชการจึงใช้แนวปฏิบัติของข้าราชการปกติอยู่แล้ว แต่เนื่องด้วยเป็นข้าราชการสายตุลาการ จึงต้องมีการวางตัวให้เหมาะสม น่าเชื่อถือ และเป็นกลางมากที่สุด โดยต้องกระทำตลอดเวลาเนื่องจากเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่น เราไปใกล้ชิดสนิทสนมกับเพื่อนที่เป็นผู้พิพากษา หรือทนาย ซึ่งอาจเป็นเรื่องปกติในการทำงานหรือการใช้ชีวิต แต่พอมีคู่ความหรือประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง เขาอาจจะมองว่าไม่มีความเป็นกลางได้ 2. ในการใช้ชีวิตปกติประจำวันสามารถใช้ชีวิตแบบปกติได้เลย ไม่มีข้อจำกัดขนาดนั้น
คุณปุณณัตถ์ บุนนาค :ผู้พิพากษาเหมือกับข้าราชการทั่วไปซึ่งจะมีข้อวินัยข้าราชการเป็นข้อฏิบัติในเบื้องต้น แต่ผู้พิพากษาซึ่งทำหน้าที่ในการชี้ขาดตัดสินคดีต้องมีการวางตัวที่เหมาะสม หรืออาจจะเคร่งครัดกว่าอาชีพอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อธำรงค์ไว้ซึ่งความเป็นกลาง ดังนั้นผู้พิพากษาจึงมีประมวลจริยธรรมเข้ามากำกับการดำเนินชีวิตประจำวัน การวางตัว ซึ่งในบางเรื่องไม่ใช่เรื่งถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องของความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา เช่น การคบค้าสมาคม การแสดงความคิดเห็น เป็นต้น
(3) แนวทางการศึกษาต่อที่ต่างประเทศต้องทำอย่างไร
คุณปุณณัตถ์ บุนนาค :สำหรับการสอบสนามจิ๋วนั้น เป็นการสอบเฉพาะผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายจากต่างประเทศ เบื้องต้นควรตรวจสอบมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และต้องเป็นหลักสูตรที่ใช้เวลาศึกษาเป็นระยะเวลาใบเดียวหรือรวมกันไม่น้อยกว่า 2 ปี และมีคุณสมบัติพื้นฐานตามที่ได้กล่าวไป
(4) การทำงานใน Law Firm ต้องเก่งภาษาอังกฤษขนาดไหน
คุณอิทธิวัตร เมธาธรรม : แล้วแต่ความต้องการของแต่ละบริษัทว่าเขาต้องการความสามารถในระดับไหน บางบริษัทอาจใช้ผล TOFEL ประกอบในการรับสมัคร
(5) ทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นอาจารย์คืออะไร
อาจารย์ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ : ทักษะเกี่ยวกับการค้นคว้า เนื่องจากเราต้องผลิตผลงาน และถ่ายทอดความรู้ ดังนั้นเราจึงต้องมีความสามารถในการค้นคว้าเพื่อตอนสนองงานตรงนี้ และโดยเฉพาะต้องระวังเรื่องการลอกผลงานทางวิชาการที่ถือว่าเป็นเรื่องที่จริงจังมาก ดังนั้นทักษะทางการค้นคว้าจึงสำคัญมาก แต่ก็เป็นทักษะที่สามารถฝึกได้
(6) หากเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ (LLB) จะสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง
คุณอิทธิวัตร เมธาธรรม : ไม่ว่าจะเรียนสายอะไร พอเรียนจบจะได้วุฒินิติศาสตรบัณฑิตเหมือนกัน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าเราอยากจะไปทำงานต่ออะไรมากกว่า
(7) จะจัดการกับความรู้สึกจากการทำงานหรือความเครียดอย่างไร
คุณภัทระ วัฒนชัย : เป็นเรื่องของความสามารถในการจัดการอารมณ์ ซึ่งจะแตกต่างกันไป แต่ละคนอาจจะใช้วิธีไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องหาวิธีของตัวเองให้ได้ สำหรับตนก็คือเราต้องรู้ทันอารมณ์ของตัวเราเอง ว่า ณ ขณะนั้นเรารู้สึกอะไรอยู่จะได้ไม่ไหลตามอารมณ์นั้นของเรา แต่ต้องอาศัยสติในการรู้ทัน ส่วนทำอย่างไรให้ไม่เครียด ก็คือเราต้องลองเรียนรู้ว่า การเครียดแล้วจมอยู่กับความเครียดนั้น มันไม่ได้ช่วยอะไร ดังนั้นไปสนใจในเรื่องอื่น ๆ ดีกว่า แต่ก็ไม่ใช่ว่าต้องใช้วิธีนี้ตลอดเวลา แต่ว่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะใช้วิธีใด และกิจกรรมก็เป็นส่วนช่วยคลายเครียดที่ดี
คุณปุณณัตถ์ บุนนาค :ในความเป็นจริงผู้พิพากษาเราก็เป็นมนุษย์มีอารมณ์ความรู้สึก หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จิตใจจะซึมซับเอาความรู้สึกของคู่ความมา ดังนั้นจึงต้องฝึกจิตใจตัวเองในการทำงาน ต้องทำอย่างเต็มความสามารถ วางจิตใจให้เป็นกลาง ไม่นำเอาความรู้สึกนึกคิด ความรับรู้นอกสำนวนมาพิจารณา นอกจากนี้ยังต้องหาเวลาว่างว่างผ่อนคลาย มีเวลาให้กับตนเองและครอบครัว ทำในสิ่งที่ตนเองมีความสุข เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดหรือ เหนื่อยล้าจากการทำงาน
คุณอิทธิวัตร เมธาธรรม : ส่วนตัวคือพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ แต่ไม่อยากให้ทุกคนเครียดกับเรื่องเกรดมากเกินไปว่าต้องเกรดสวยเกียรตินิยม เพราะว่าเรายังมีเส้นทางอีกยาวไกล และอย่าไปเครียดกับมันเพราะมันไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่ต้องใส่ใจก็เรื่องกฎหมายเพราะเป็นพื้นฐานของชีวิตเราเอง
อาจารย์ศศิภา พฤกษฎาจันทร์(อาจารย์) : การจัดการความเครียดที่ดีคือ การทำสิ่งที่เราชอบ แต่ต้องแบ่งเวลาให้ดี เช่น ค่อย ๆ อ่านหนังสือจากต้นเทอม จะได้ไม่ต้องอ่านเยอะตอนใกล้สอบ ไม่ใช่ทุกคนจะต้องใช้วิธีเดียวกัน
วิทยากรทั้ง 4 ท่านฝากทิ้งท้ายว่า :
คุณภัทระ วัฒนชัย : อยากฝากว่ากรมบังคับคดีเป็นงานกฎหมายที่กว้างมาก ๆ ทำให้ได้ใช้กฎหมายมากมายให้ประสบการณ์ที่ดีสำหรับเริ่มต้น และสำหรับอัยการก็มีการใช้กฎหมายช่วยเหลือประชาชน แหละมีงานอีกหลายภาคส่วนที่ต้องการทุกคนเข้ามาช่วยกัน
คุณอิทธิวัตร เมธาธรรม : นิติศาสตร์เป็นอะไรที่กว้างมากสามารถทำได้หลายอย่างในสายงานเอกชน และสำหรับงานสายเอกชน บางที่งานอาจหนัก แต่ค่าตอบแทนก็สูงตามไปด้วย และสำคัญที่สุดคือ อย่าไปมองที่ค่าตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่ให้มองเป็นความรู้และประสบการณ์ ว่าจะสามารถเติบโตไปเป็นอะไรก็ได้
อาจารย์ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ : สำหรับคนที่อยากเป็นอาจารย์คือ ต้องมีเป้าหมายคือ จบปริญญาเอก แต่ไม่ว่าวิชาชีพอะไรในสายนิติศาสตร์ ปริญญาตรีอย่างเดียวอาจจะไม่พอแล้ว จึงต้องเตรียมใจว่าไม่ได้เรียนจบแค่ภายใน 4 ปีแน่นอน
คุณปุณณัตถ์ บุนนาค :อยากให้ใช้เวลาที่มีอยู่เตรียมความพร้อมให้มากที่สุด ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะและวิชาที่เราสนใจและจะต้องตัดสินใจเลือกศึกษา เพราะต้องใช้เวลาในอีก 4 ปี หรืออย่างน้อยอีก 1 ปี ข้างหน้า ดังนั้น ขอให้ค้นหาและพบเส้นทางที่ใช่ของตนเองโดยเร็วที่สุด