ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้บรรจุอาจารย์ประจำ 3 ตำแหน่งในวุฒิปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก อย่างละ 1 ตำแหน่ง โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในวุฒิปริญญาตรี ได้แก่ อาจารย์กิตติภพ วังคำ (นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ธรรมศาสตร์ / เนติบัณฑิตไทย / กำลังศึกษาระดับปริญญาโท สาขากฎหมายภาษี ธรรมศาสตร์) วุฒิปริญญาโท ได้แก่ อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ (นิติศาสตรบัณฑิต ธรรมศาสตร์ / เนติบัณฑิตไทย / นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายอาญา ธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น) และวุฒิปริญญาเอก ได้แก่ อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร (นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ธรรมศาสตร์ / นิติศาสตรมหาบัณฑิต และนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง Georg-August-University of Göttingen เยอรมนี ได้รับทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์) ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่น และเรื่องราวที่น่าสนใจ เราจะพาคุณไปคุยกับอาจารย์ประจำ 3 คนล่าสุดซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของคณะนิติศาสตร์ในอนาคต ถึงเส้นทางและแรงบันดาลใจในการเข้ามาเป็นอาจารย์ และแง่มุมอื่น ๆ…
คำถาม (1) : อยากให้ทั้งสามท่านแนะนำประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประสบการณ์ฝึกงานหรือทำงานก่อนจะมาเป็นอาจารย์ครับ
อ.ดร.พนัญญา : “อาจารย์พนัญญา ลาภประเสริฐพรค่ะ เข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์เป็นรุ่น 48 จบแล้วก็เรียนภาษาเยอรมัน แล้วก็ไปเรียนต่อโทเอกที่เยอรมนีที่เมือง Göttingen ค่ะ เพิ่งจบปริญญาเอกกลับมาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประสบการณ์ฝึกงานได้ฝึกงานตอนช่วงก่อนขึ้นปี 4 ที่ Baker & McKenzie ค่ะ อยู่ในแผนก IP Law แล้วก็เคยเป็นผู้ช่วยวิจัยของท่านอาจารย์นพนิธิ สุริยะค่ะ”
อ.ดิศรณ์ : “ผมอาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ นะครับ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง รุ่น 54 เนติบัณฑิต ปริญญาโท แล้วก็มาเป็นอาจารย์ ตอนเป็นนักศึกษาผมจะไปในทางสายวิชาการเลยเลือกลงในวิชาเลือกในตอนช่วงซัมเมอร์ เลยไม่ได้ฝึกงาน แต่ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ก็ได้ไปทำงานในหลาย ๆ ที่ ที่แรกคือเป็นผู้ช่วยวิจัยที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตประมาณ 1 ปี จากนั้นก็ได้มาทำงานที่กฤษฎีกาเป็นลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่งนักจัดทำข้อมูลกฎหมายเป็นงานเกี่ยวกับการรีเสิร์ช เกี่ยวกับกฎหมายต่างประเทศและเขียนบทความวิชาการ”
อ.กิตติภพ : “อาจารย์กิตติภพ วังคำครับ ปริญญาตรีก็เรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รุ่น 56 ตอนนี้กำลังศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายภาษีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เช่นกัน จบการศึกษาชั้นเนติบัณฑิตสมัยที่ 71 ประสบการณ์ทำงานเริ่มตั้งแต่ปี 2559 ฝึกงานที่สำนักงานกฎหมายคลิฟฟอร์ด ชานซ์ จากนั้นเมื่อจบการศึกษาช่วงปี พ.ศ. 2560 ก็ได้เริ่มต้นทำงานเป็นทนายความที่สำนักงานกฎหมาย ชื่อสำนักงานกฎหมายทนายความมวลชน อยู่ที่พระประแดง แล้วในระหว่างนั้นก็เข้าศึกษาในระดับชั้นปริญญาโทด้วย ระหว่างนั้นก็ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์”
คำถาม (2) : เห็นว่าทั้งสามท่านเคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ อยากให้เล่าประสบการณ์การทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ ว่าเข้ามาทำได้อย่างไร และลักษณะงานเป็นอย่างไร
อ.ดร.พนัญญา : “เคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์นพนิธิ สุริยะ ค่ะ เพราะว่าระหว่างที่เรียนวิชากฎหมายระหว่างประเทศกับท่านตอนปีสาม เข้าไปถามคำถามท่านบ่อยค่ะ พอหลังจากเรียนจบ ท่านเลยมาทาบทามให้เป็นผู้ช่วยค้นคว้าวิจัย งานที่ทำก็ช่วยในการปรับปรุงหนังสือตำรากฎหมายระหว่างประเทศของท่าน แล้วก็ช่วยค้นคว้าวิจัยเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนค่ะ”
อ.ดิศรณ์ : “ผมเข้ามามาเรียนปริญญาโทก็สมัครทุนผู้ช่วยอาจารย์ของคณะ ตอนนั้นคิดไว้ว่าอาจารย์ท่านไหนรับผมเป็นผู้ช่วย ผมก็จะเชิญอาจารย์ท่านนั้นเป็นที่ปรึกษา ซึ่งตอนนั้นผมเตรียมหัวข้อไว้สำหรับความถนัดของแต่ละท่านแล้ว เหลือเพียงแต่โชคชะตาจะพาไป จนกระทั่งทางคณะก็ติดต่อมาว่า อาจารย์สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล จะรับเป็นผู้ช่วย แล้วนั่นเองก็เป็นจุดเริ่มต้นของการทำวิทยานิพนธ์ของผมภายใต้การดูแลของอาจารย์สุรศักดิ์ หน้าที่ส่วนใหญ่ก็จะขึ้นอยู่กับที่อาจารย์มอบหมาย แต่ว่าโดยหลักแล้วจะเป็นหน้าที่เกี่ยวกับการค้นคว้าข้อมูลที่อาจารย์จะเอาไปใช้ประกอบการสอน หรือว่าอาจารย์จะเอาไปใช้การประกอบการวิจัย หรือว่าจะเป็นงานพวกตรวจพรูฟงานวิจัยของอาจารย์ ก็จะทำให้เราได้อ่านงานวิจัยของอาจารย์ได้ฝึกความละเอียดรอบคอบและก็ได้ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากงานวิจัยของอาจารย์”
อ.กิตติภพ : “ตอนเป็นนักศึกษาเคยทำกิจกรรมเป็นผู้ช่วยตรวจการบ้านอาจารย์สัมมนาวิชาน. 100 กลุ่มของอาจารย์กรศุทธิ์ พอเข้ามาเรียนปริญญาโทมีทุนเป็นทุนผู้ช่วยอาจารย์ ก็เลยสนใจ ประกอบกับอาจารย์กรศุทธิ์ยังไม่มีผู้ช่วยอาจารย์ ก็เลยสมัครเข้ามาเป็นผู้ช่วยอาจารย์ของอาจารย์กรศุทธิ์ครับ งานส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานเกี่ยวกับงานรีเสิร์ช คืองานสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย อาจเป็นกฎหมายสืบค้นจากตำราเรียนทั่วไป เพื่อให้อาจารย์ใช้ในการสอน เช่น กฎหมายหนี้ กฎหมายมรดก แล้วก็มีงานประเภทงานวิจัย คล้าย ๆ เป็นผู้ช่วยวิจัย ก็เป็นการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยที่จะทำ ที่ได้ทำหลัก ๆ 2 เรื่องจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายค้าประเวณีเรื่องหนึ่ง แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาและกฎหมายหนี้ เปรียบเทียบกฎหมายไทยกับร่างกฎหมายสัญญาเอเชีย Principles of Asian Contract Law (PACL)”
คำถาม (3) ตอนเป็นนักศึกษา แต่ละท่านชอบวิชาอะไร หรือถนัดวิชาอะไรมากที่สุด
อ.กิตติภพ : “ชอบมากที่สุดคิดว่าเป็นกฎหมายลักษณะนิติกรรมสัญญา คือเป็นวิชากฎหมายวิชาที่ 2 ที่เรียน วิชาแรกคือ น.100 (ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย) นี่ต้องบอกว่าทำไม่ได้ดีเท่าไร กลาง ๆ คือตอนนั้นก็ตั้งใจแล้วนะว่าจะทำให้ดี แต่ผลออกมาก็ไม่ได้ดีเท่าที่ควร เคือมันเป็นวิชาแนวบรรยายด้วย ซึ่งตอนนั้นรู้สึกยังไม่รู้วิธี หรืออาจจะยังไม่เก็ท อาจจะยังเขียนตอบไม่ได้ดีในปี 1 เทอม 1 คะแนนเลยออกมาไม่ได้ดีเท่าที่ควร แต่ว่าพอเทอมสองมันเป็นวิชานิติกรรมซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีการบรรยาย แต่จะเป็นการตอบข้อสอบอุทาหรณ์ ซึ่งในวิชานี้รู้สึกว่าตัวเองตั้งใจมาก ๆ และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับวิชานิติกรรม อาจารย์ผู้สอนตอนนั้นคืออาจารย์พัชยาครับ เป็นคนที่สอนดีมาก อธิบายเข้าใจ เลยรู้สึกชอบ รู้สึกชอบทั้งอาจารย์ ชอบทั้งตัววิชา แล้วก็มันทำให้มันมี passion ที่จะทำให้มันดี ฝึกเขียนตอบเยอะมาก อาทิตย์หนึ่งอาจจะ 2 – 3 ข้อ ส่งให้อาจารย์สัมมนาตรวจ ซึ่งตอนนั้นมันอาจจะยังไม่มีการกำหนดขั้นต่ำว่าส่งได้มากเท่าไรก็เลยส่งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เลยคิดว่ามันทำให้การเขียนตอบของเราพัฒนาขึ้นอย่างมาก ๆ จากเดิมที่ปี 1 เทอม 1 คือยังเขียนไม่ค่อยเป็น ยังไม่ค่อยถูก เขียนวนไปวนมา แต่พอมาเรียนนิติกรรมคือรู้ขั้นตอน รู้ว่าเราควรจะเขียนยังไง ตอบยังไง”
อ.ดร.พนัญญา : “ที่ชอบที่สุดคือกฎหมายระหว่างประเทศค่ะ ตอนเรียนเคยเข้าร่วมมูทคอร์ท 2 ครั้ง ครั้งแรกก็คือ Asia Cup ที่ไปญี่ปุ่น แล้วอีกครั้งหนึ่งก็คือ Jessup ก็ชอบมากค่ะ เหมือนพอทำกิจกรรมนี้แล้วก็ทำให้เรารู้เลยว่าเราชอบกฎหมายระหว่างประเทศ สามารถที่จะทำได้ทั้งวันทั้งคืน สนุกกับการทำงานกับเพื่อนๆมาก และอีกวิชาหนึ่งที่ชอบมากก็คือกฎหมายทรัพย์ของอาจารย์กิตติศักดิ์ค่ะ ตอนอาจารย์สอนท่านจะชอบตั้งคำถามให้คิดเชาวน์ปัญญา รู้สึกว่าสนุกมาก (หัวเราะ) “แต่ว่าพอมองกลับไปก็มีความรู้สึกว่าไม่รู้จะทำได้ขนาดนั้นอีกแล้วไหม” (เพราะอะไรครับ?) (หัวเราะ) “เพราะว่ามันยากค่ะ”
อ.ดิศรณ์ : “ในเบื้องต้นก็คืออาญา แต่ว่าตอนแรกเลยผมคิดว่าผมคงประกอบอาชีพอยู่ในสำนักงานกฎหมายสักที่หนึ่ง ก็ทำงานหาเช้ากินค่ำมีเงินใช้สบาย ๆ ผมก็คิดว่าอาจจะไปในทางกฎหมายธุรกิจหรือเปล่า เพราะว่าน่าจะรวยดีนะ ลอว์เฟิร์มอะไรอย่างนี้ ทำงานบริษัท ใส่สูทเท่ ๆ ก็คิดว่าเราอาจจะเอาดีทางกฎหมายธุรกิจดีกว่า ไป ๆ มา ๆ ผมคิดว่าผมไม่มีหัวทางธุรกิจเลยถึงแม้ว่าผมจะได้คะแนนวิชานิติกรรมค่อนข้างเยอะ แต่ก็ยังไม่ชอบมันอยู่ดี ผมเรียนแล้วผมคิดว่าเรียนจบผมก็ทิ้งมันไว้ตรงนั้นไม่ได้มีอะไรต่อ ในทางกลับกันกฎหมายอาญาที่ผมได้เรียนผมมีอะไรคิดต่อไปอีกเยอะ ผมคิดอย่างนู้น ผมคิดอย่างนี้ และผมก็จดบันทึกไปที่รอวันจะเขียนผลงานชิ้นงานใหม่ออกมาเพื่อทำการโต้แย้งสมมติฐานในอดีตที่นักวิชาการเคยทำไว้ เพื่อนำเสนอสิ่งที่มันก้าวหน้าไปในอนาคตหรือหักล้างสิ่งที่คนคิดว่าเคยแก้ปัญหานี้ผมคิดว่ามีทางแก้ปัญหามากกว่าเดิมผมคิดได้มากกว่าที่เขาแก้ปัญหาได้”
คำถาม (4) : แล้วมีวิชาไหนที่ไม่ถนัดบ้างไหม
อ.ดิศรณ์ : “กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งน่าจะยากที่สุด คือจริง ๆ ผมว่ามันยากโดย nature ของมันอยู่แล้วแหละ เพราะว่าเราค่อนข้างจะห่างไกลกับทางปฏิบัติมาก ๆ เพราะว่าเราเป็นนักศึกษา เพราะว่าเราไม่เคยเข้าศาลไม่เคยอะไรเลย แล้วก็มาเรียนอยู่ในกระดาษค่อนข้างที่จะเข้าใจยาก ผมก็เลยคิดว่านักศึกษาท่านใดที่เรียนอยู่ในชั้นปีที่วิแพ่งเนี่ยนะครับ ผมคิดว่าน่าจะไปดูการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลนะครับแล้วจะทำให้เข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้นครับ”
อ.ดร.พนัญญา : “วิธีพิจารณาความแพ่งค่ะ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะมันเป็นวิธีกระบวนการหรือเปล่านะคะ พอเราไม่ได้ไปเห็นของจริง มันเหมือนกับว่าเราต้องท่องว่าสเต็ป 1, 2, 3 เป็นยังไง โดยที่เราไม่รู้เลยว่า เอ๊ะ มันเชื่อมโยงกันยังไง อีกวิชากลุ่มหนึ่งที่ชอบแต่ไม่ถนัดเลยคือแนวมหาชนค่ะ”
อ.กิตติภพ : “ส่วนใหญ่จะเป็นทางมหาชนครับ แนวบรรยาย ช่วงปีแรก ๆ ไม่ค่อยชอบวิชาที่การเขียนตอบแนวบรรยายหรือแนวยกตัวอย่าง เพราะว่าผมเป็นคนที่ถ้าไม่ได้จำไปตอบมันจะคิดออกมาเองได้ยาก รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอย่างนั้น เลยคิดว่าการบรรยายอาจจะไม่ใช่แนวหรืออาจจะไม่ใช่ทาง เพราะฉะนั้นวิชาบรรยายในปีแรก ๆ อาจจะทำไม่ค่อยดี อย่างวิชาแพ่งหลักทั่วไป แล้วก็วิชากฎหมายมหาชนเบื้องต้นวิชาแรกเลยซึ่งเป็นการบรรยายทั้งหมด เลยรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยได้ตั้งใจเรียนแล้วก็ทำคะแนนออกมาได้ไม่ค่อยดี คือเป็น 2 วิชาที่ได้คะแนนน้อยที่สุด”
คำถาม (5-6-7) : แต่ละท่านเข้ามาเป็นอาจารย์ 3-4 เดือนแล้ว ได้มีโอกาสสอนนักศึกษาบ้างหรือยังครับ? ความรู้สึกตอนสอนครั้งแรกเป็นอย่างไร หากยังไม่ได้สอน ตอนนี้เตรียมตัวสอนอย่างไร? และเทอมหน้าแต่ละท่านได้รับมอบหมายให้สอนวิชาอะไรบ้าง?
อ.กิตติภพ : “เข้ามาประมาณปลายเดือนมีนา 2562 ซึ่งมันเริ่มต้นภาคการศึกษาไปแล้วประมาณ 2 เดือน ซึ่งจริง ๆ ถ้าได้รับมอบหมายให้สอนสัมมนาเนื้อหาทุกส่วนของวิชามันอาจจะไม่ทัน แต่บังเอิญว่าตอนเป็นผู้ช่วยอาจารย์กรศุทธิ์ตอนก่อนที่จะเข้ามาเป็นอาจารย์ ก็ได้รับมอบหมายให้ค้นข้อมูลเกี่ยวกับวิชาที่อ.กรศุทธิ์จะสอน คือกฎหมายลักษณะมรดก และเอกเทศสัญญา 1 เมื่อมาเป็นอาจารย์จึงได้รับการทาบทามและมอบหมายให้สัมมนา 2 วิชานี้ครับ”
(ความรู้สึกตอนสอนครั้งแรก?) “รู้สึกตื่นเต้นมากครับ เพราะว่าส่วนตัวเป็นคนขี้อายมาก ๆ คือปกติตั้งแต่เด็กๆ เลยมาจนถึงมัธยมจนถึงปริญญาตรีเนี่ย มีโอกาสน้อยมากที่จะออกไปพูดต่อหน้าสาธารณชน รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนขี้อายแล้วก็ไม่ค่อยมีความมั่นใจ เพราะฉะนั้นตอนสอนครั้งแรกเนี่ยเลยรู้สึกตื่นเต้นมากครับ บางทีก็ยังทำตัวไม่ค่อยถูกเท่าไร หรือบางทีก็อาจจะมีพูดผิดพูดถูกบ้าง อาจจะลืมบ้าง อาจจะค้าง ๆ ไปบ้าง ไม่รู้ว่าควรต้องทำตัวยังไงดีอะไรอย่างนี้ แต่พอสอนไปได้ 2 ครั้ง 3 ครั้ง รู้สึกว่าเริ่มชินมากขึ้น แล้วก็รู้สึกว่าทำได้ดีขึ้น รู้สึกเป็นธรรมชาติมากขึ้น”
(วิชาที่สอนเทอมหน้า?) “เทอมหน้า ณ ตอนนี้นะครับ วิชาที่ได้รับมอบหมายยังเป็นการสัมมนาอยู่ วิชาแรกคือวิชา น.100 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย วิชาที่ 2 คือวิชา น.200 กฎหมายลักษณะหนี้ แล้วก็อีกวิชาหนึ่งเป็นเรื่องวิชาเกี่ยวกับทักษะการเขียนตอบในเชิงกฎหมาย น.160”
อ.ดิศรณ์ : “พอดีว่าผมเข้ามาช่วงท้ายเทอม 2 ของปีการศึกษา 2561 ผมก็มีโอกาสไปเป็นอาจารย์สัมมนาในวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา Sec. ของอาจารย์สุรศักดิ์ และอาจารย์ปกป้องนะครับ เป็นช่วงท้ายเทอมก็เลยสัมมนาไม่กี่ครั้ง แต่ว่าก็คิดว่าน่าจะเป็นผลดีมากกว่าที่จะไม่มีสัมมนาเลยเพราะว่าโดยปกติวิชาวิอาญาไม่มีสัมมนา น่าจะช่วยนักศึกษาได้ไม่มากก็น้อย”
(ความรู้สึกตอนสอนครั้งแรก?) “คาบแรกรู้สึกตื่นเต้นมากครับ ตอนเรียนผมไม่เคยติวเพื่อนเลย อย่างที่สองเลยผมพูดในที่สาธารณไม่ค่อยบ่อย นาน ๆ ทีจะมีบ้าง ในการสอนครั้งแรกผมตื่นเต้นมากแล้วก็พูดผิด ๆ ถูก ๆ ครับ แล้วก็อาจจะเป็นครั้งแรกของการบรรยายจริง ๆ นะครับที่แบบได้พูดอะไรที่มันยาว ๆ พูดประมาณ 3 ชั่วโมงครับ ตอนแรกก็ตื่นเต้นมากพูดผิด ๆ ถูก ๆ นะครับ แล้วก็เรียบรียงลำดับ Sequence ของเรื่องที่จะนำเสนอสลับไปสลับมา สลับมาสลับไปอย่างนี้นะครับบ่อย แต่ว่าในส่วนการบรรยายรอบที่สองผมคิดว่าเริ่มดีขึ้นมากผมคิดว่ามันเริ่มมีความชินเริ่มหายประหม่าครับเราสามารถพูดได้ดีขึ้น เราสามารถเรียบเรียงให้แก่นักศึกษามันเป็นระบบมากยิ่งขึ้น”
(วิชาที่สอนเทอมหน้า?) “ที่ค่อนข้างแน่นอนคือผมจะได้สอนในวิชนา น.160 เกี่ยวกับทักษะการเขียนกฎหมาย ก็มีทางฝ่ายวิชาการติดต่อมาแล้วว่าจะมอบหมายวิชานี้ให้ผมแล้วก็อีกอันหนึ่งที่แน่นอนคือผมจะเป็นอาจารย์สัมมนาของภาคบัณฑิตในวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไป น.110”
อ.ดร.พนัญญา : “ยังไม่มีโอกาสได้สอนนักศึกษาจริง ๆ ค่ะ ก็ได้สอนแค่ประกาศนียบัตรครั้งหนึ่ง ผู้เรียนก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว แล้วอีกครั้งก็คือพูดแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างศูนย์กฎหมายค่ะ” (การเตรียมตัว?) เตรียมตัวเหรอคะ ตอนนี้ก็เริ่มจินตนาการว่าเราอยากจะถ่ายทอดความรู้หรือทักษะอะไรให้นักศึกษาบ้าง แล้วก็คิดกลับหลังว่าเราจะต้องพูดหรือใช้วิธีการอะไรบ้าง แต่ไม่รู้ว่าเป็นวิธีที่ถูกไหมนะคะ”
(วิชาที่สอนเทอมหน้า?) “วิชาที่จะสอนในเทอมที่จะถึงนี้มีก็มีวิชากฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศทั้งภาคภาษาอังกฤษแล้วก็ภาคภาษาไทย แล้วก็วิชาเลือกก็คือกฎหมายสิ่งแวดล้อมค่ะ ส่วนเทอมสองจะมีวิชากฎหมายระหว่างประเทศ เป็นการสัมมนาค่ะ”
คำถาม (8) : มีเทคนิคในการเรียนหรือเตรียมสอบอย่างไรบ้างครับให้ประสบความสำเร็จ
อ.กิตติภพ : “ส่วนใหญ่ผมว่าคล้าย ๆ ครับ ผมไม่แน่ใจว่าส่วนใหญ่เขาทำกันยังไง แต่ว่าส่วนตัวผมจะเข้าเรียนเป็นหลัก คือหนึ่งการเข้าเรียนมันมีประโยชน์ตรงที่มันช่วยสโคปเนื้อหาที่อาจารย์จะสอนแล้วก็วัดผลได้ เพราะบางอย่างวิชามันมีขอบเขตค่อนข้างกว้าง เช่น ตัววิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ถ้าเราไปอ่านเองแล้วเราไม่สามารถสโคปได้ว่าอาจารย์สอนตรงไหนหรือเน้นตรงไหน มันอาจจะเหมือนเป็นการหว่านแห เป็นการอ่านแบบกระจายซึ่งมันไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรในการวัดผล เพราะฉะนั้นการเข้าเรียนมันจึงเป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่ง เป็นวิธีอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถทราบสโคปของอาจารย์ สามารถฟังแล้วทราบได้ว่าอาจารย์เน้นตรงไหน ไม่เน้นตรงไหน แล้วเคล็ดลับอีกอย่างหนึ่งคือเมื่อเราฟังแล้ว เราจดเลคเชอร์ไปแล้วอีกหนึ่งรอบใช่ไหมครับ ผมใช้วิธีว่าในอาทิตย์นั้นที่อาจารย์สอนเราต้องกลับไปทวนอย่างน้อยหนึ่งรอบ เพราะว่าจริง ๆ เราไม่สามารถจำทุกอย่างที่อาจารย์สอน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการทวนมันคือการทำให้เราจำได้ดีที่สุดประการหนึ่ง เพราะว่ามันเหมือนเป็นการอ่านหนังสือซ้ำ 3 รอบโดยที่เราไม่ต้องไปอ่านเป็นเล่ม ๆ เลย แค่เราฟังแล้วเรากลับมาสรุปแล้วก็ทำเลคเชอร์เป็นของตัวเอง หนึ่งคือเราได้ฟังจากอาจารย์แล้วหนึ่งรอบ สองคือเรากลับมาอ่านเองอีกหนึ่งรอบ แล้วรอบที่สามคือการที่เราสรุปเป็นเลคเชอร์ของเราอีกหนึ่งรอบ เท่ากับเราทวนเนื้อหาถึง 3 ครั้ง ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันเคล็ดลับที่ทำให้เราสามารถจำได้แม่นว่าอาจารย์พูดว่าอะไร สอนว่าอะไร”
อ.ดร.พนัญญา : “ค่ะ ก็คือทำทุกอย่างค่ะ ฝึกเขียนตอบข้อสอบ อ่านหนังสือตั้งแต่เปิดเทอม พอดีเพื่อนสนิทเป็นคนขยันมาก เราก็ได้อิทธิพลไปด้วยว่าต้องขยัน และไม่รู้ว่าคนอื่นทำเป็นปกติไหมคะคือจะต้องทำข้อสอบเก่าทุกปี อย่างน้อยถ้ามีรวมข้อสอบวิชานั้น ๆ จะต้องตอบให้ได้ทุกข้อ ถ้าตอบไม่ได้ก็ต้องไปถามเพื่อน ซึ่งปกติเพื่อนที่ตั้งใจเรียนมากๆเขาก็จะไปถามอาจารย์มาให้อยู่แล้วค่ะ พูดถึงวิ.แพ่ง ตอนเรียนกับท่านอาจารย์จักรพงษ์ก็ไม่ค่อยเข้าใจ ก็คอยขยันไปถามท่านบ่อยมากค่ะ จนเข้าใจมากขึ้นและสอบผ่านมาได้อย่างดี”
อ.ดิศรณ์ : “เราจะเห็นว่าหลาย ๆ คนจะขยันอ่านหนังสือแต่ว่าทำข้อสอบได้ไม่ค่อยดีหรือว่าไม่สามารถทำให้ผลการเรียนออกมาค่อนข้างดี ผมคิดว่าเราต้องขยันในการเรียนหนังสือ ในการเรียนกฎหมายต้องขยันเท่านั้น แล้วก็อย่าขยันแบบมดครับ ขยันแบบมดหมายความว่า เราขยันไปแต่เราไม่จัดระบบความคิดของเราให้เป็นระบบระเบียบครับแต่เราควรขยันให้ได้แบบผึ้งครับ ผึ้งนี้ก็ขยัน ขยันแล้วนำความรู้ที่ตนเองได้ทำการเรียนรู้ไปจัดระบบระเบียบเป็นรังอย่างสวยงามครับผมคิดว่านั่นแหละครับจะทำให้การเรียนของเรานั้นดีขึ้น เมื่อคุณเรียนกับอาจารย์ผู้บรรยายเสร็จแล้วคุณอย่าเอามากอง ๆ นะครับ แต่ว่าคุณนำมาเขียนจัดระบบเป็น Mind Mapping ของคุณเอง คุณทำสรูปเป็นของตัวเอง อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่ผมพึ่งคิดได้ว่า ชีทสรุปตามร้านถ่ายเอกสารเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายปัญญา ภูมิปัญญาของนักศึกษาเป็นอย่างยิ่งเพราะว่าการที่คุณเอาของสำเร็จรูปมาใส่หัวคุณมันทำให้คุณ โง่ลง โง่ลง โง่ลง ทุกวัน สิ่งที่จะทำให้คุณเก่งขึ้นนั้นทำให้คุณฉลาดขึ้นนั้นคือให้คุณสร้างความรู้ของคุณขึ้นมา คุณสามารถสรุปทำเป็นของตัวคุณเองได้ อันนี้จะทำให้คุณจัดระบบความรู้ของคุณให้ดีมากยิ่งขึ้นอย่างที่ผมบอกว่ามันเป็นการเรียนแบบผึ้ง ถ้าเกิดว่าคุณยังพึ่งพาของสำเร็จรูปที่ร้านถ่ายเอกสารความรู้คุณจะกอง ๆ แบบมดครับ คุณจะอ่านยัด ๆ เพื่อให้มีความจำแบบสั้นนะครับไปสอบแต่ว่าคุณไม่มีความเข้าใจที่แท้จริงคุณไม่ไดแตกฉานในวิชาที่คุณเรียนครับ อย่างที่ผมเรียนเมื่อสักครู่ สรุปคือ เราควรเรียนและควรจัดระบบความคิดหลังจากเรียนทุกครั้งครับ เราไม่ควรเรียนเสร็จแล้วก็อ่านตะลุย ๆ แบบว่าเดินหน้าไปอย่างเดียวโดยที่ไม่กลับมาจัดระบบความคิดของคุณให้เป็นระเบียบครับ”
คำถาม (9) : อยากให้แต่ละท่านเล่าเกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพอาจารย์ว่ามีเส้นทางอย่างไร
อ.ดร.พนัญญา : “ตอนเด็ก ๆ รู้สึกว่า สังคมเราจะเปลี่ยนได้ก็ต้องเป็นเพราะการบ่มเพาะเยาวชนรุ่นใหม่อะไรอย่างนี้ค่ะ ก็คิดอย่างนั้น (แล้วใช้เวลานานไหมครับในการตัดสินใจว่าจะกลับมาเป็นอาจารย์?) ไม่เลยค่ะ และตั้งแต่ที่เข้ามาสัมภาษณ์เข้าคณะนิติฯเจอกับท่านอาจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ท่านก็ถามว่าอยากเป็นอะไร เราก็บอกเป็นอาจารย์ ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคย (ก็ตั้งใจจะเป็นตลอดมา?) ค่ะ และพอเข้าเรียนแล้วก็ค้นพบว่าเป็นคนชอบวิชาการค่ะ อยากจะอยู่ในบรรยากาศวิชาการ การถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แล้วก็แสวงหาความรู้ค่ะ”
อ.กิตติภพ : “ต้องบอกว่าไม่ได้มีความคิดที่จะเป็นอาจารย์มาตั้งแต่ต้นครับ อย่างที่บอกไปว่าพอเข้ามาช่วงต้นเนี่ย ก็มีความคิดว่าอยากรับราชการเป็นอัยการผู้พิพากษา แล้วก็อย่างที่บอกไปว่าขึ้นปี 2 มีการฝึกงาน เริ่มรู้จักวิชาชีพที่หลากหลายมากขึ้น แล้วก็ได้ฝึกงานอย่างที่บอกไปแต่ว่ารู้สึกว่าไม่ชอบงานลอว์เฟิร์ม ทีนี้ก็เลยกลับมาตั้งใจที่จะสอบเป็นข้าราชการ เป็นอัยการผู้พิพากษา แต่ทีนี้หลังจากที่เรียนจบแล้วได้ทำงาน แล้วก็ได้เรียน ป.โท ที่ธรรมศาสตร์ ที่นี่อะครับ ต้องบอกว่ามันมีหลาย ๆ อย่างที่มันทำให้เปลี่ยนทัศนคติหรือเปลี่ยนความคิดบางอย่าง เพราะว่าการเป็นอัยการผู้พิพากษานี่มันไม่ใช่สิ่งที่มันดีที่สุดเสมอไป มันไม่ใช่สิ่งที่เป็นจุดสูงสุดของการเรียนกฎหมาย แล้วก็รู้จักการไปทำงาน ฝึกงานเป็นทนายความครับ ไปศาล ไปอะไรบ่อย ๆ ก็ได้พบเห็นกระบวนการวิธีการต่าง ๆ เจออัยการ เจอผู้พิพากษา เจอทนายความ ก็รู้สึกว่ามันอาจจะไม่ได้ตรงกับที่เราคิดไว้ทั้งหมดครับ อีกส่วนหนึ่งก็คือการเป็นอาจารย์ การเป็นนักศึกษา ป.โท แล้วก็เป็นผู้ช่วยอาจารย์ทำให้เห็นการทำงานของอาจารย์หลาย ๆ ท่าน แล้วก็คิดว่าเป็นงานที่น่าสนใจครับ ประกอบกับมีอาจารย์หลาย ๆ ท่านก็ชักชวนให้ลอง เหมือนพูดถึงประสบการณ์ของแต่ละท่านครับว่าการเป็นอาจารย์นี่มันเป็นยังไง มีลักษณะเป็นยังไง ดียังไง ไม่ดียังไง มีข้อดีข้อเสีย อะไรอย่างนี้ครับ ซึ่งลองมาคิดดูแล้วก็คิดว่ามันเป็นอาชีพที่น่าสนใจอาชีพนึง จริง ๆ อย่างที่บอกไปว่ามีอาจารย์หลาย ๆ ท่าน พูดคุยกับอาจารย์หลายท่านแล้วรู้สึกเป็นอาชีพที่น่าสนใจใช่ไหมครับ บังเอิญช่วงนั้นพอดีเลยว่ามันมีการเปิดรับสมัครอาจารย์ใหม่อยู่พอดี แล้วคุณสมบัติครบพอดี ก็เลยตัดสินใจ ณ ตอนนั้นว่าจะลองสมัครสอบดูครับ”
(ตอนสอบมั่นใจมากน้อยแค่ไหน?) “ค่อนข้างมั่นใจครับ คือเตรียมตัวเต็มที่ การสอบวุฒิ ป.ตรีมันจะเป็นการสอบ 2 พาร์ทใช่ไหมครับ คือเป็นพาร์ทข้อเขียน กับพาร์ทสัมภาษณ์ ข้อเขียนก็เป็นวิชาพื้นฐานทั่วไปก็ใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ 1 เดือนครับ ก็ทบทวนเนื้อหาทุกวิชา จริง ๆ ตอนนั้นต้องบอกว่าค่อนข้างตั้งใจ ตั้งใจมาก ๆ คือเหมือนมันมาเปิดช่วงที่กำลังลังเลพอดี ก็เลยคิดว่า เออ ลองตั้งใจดูสักครั้ง ถ้าได้ก็คือนี่แหละทางของเรา ใช่แล้วแหละ อะไรประมาณนี้ครับ”
อ.ดิศรณ์ : “อันนี้ขอเล่ายาวนิดหนึ่งนะครับ คือต้องบอกว่าอาชีพอาจารย์กับตัวผมในช่วงแรกเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะเป็นไปไม่ได้เพราะว่า ในช่วงที่ผมเรียนในระดับมัธยมศึกษาหรือว่าประถมศึกษาตลอดมาผมเรียนได้ไม่ค่อยดีเลยเรียกว่าเรียนได้แย่มากครับ เรียกได้ผมจบมัธยมปลายได้เกรดประมาณ 2 กว่า ๆ เกือบจะไม่พ้น 2 เพราะฉะนั้นแล้ว ในตอนแรกในเรื่องความคิดผมจะเป็นอาจารย์มันเป็นไปไม่ได้เลย แต่ว่าตอนที่ผมได้เรียนจบมัธยมในสายวิทย์แต่คะแนนไม่ค่อยดีช่วงนั้นตอน Admission มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปางได้เปิดคณะนิติมาเป็นปีที่ 3 ตอนแรกผมก็ไม่รู้หรอกครับว่ามีคณะนิติของธรรมศาสตร์มีที่ลำปางด้วย แต่ว่าในช่วงนั้นมันจะมีเค้าเรียกว่า “ใบคะแนน Admission ดูแต่ละมหาลัย” ว่ามหาลัยมีคะแนนเฉลี่ยเท่าไหร่ เพื่อให้นักเรียนในช่วงเวลานั้นเทียบเคียงคะแนน สอบโอเนต สอบเอเนต อะไรเรียบร้อยแล้วมาดูคะแนนตัวเองได้ว่าจะพอเข้ามหาวิทยาลัยไหนได้บ้าง ผมก็เพิ่งเห็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปางคณะนิติศาสตร์ซึ่งคะแนนในตอนนั้นไม่สูงมาก ผมเลยคิดว่าอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเราก็ได้ อันนี้เป็นความคิดของผมนะครับว่าคณะนิติศาสตร์ควรจะมีคุณสมบัติผู้เรียนอย่างไรบ้าง สำหรับผมโดยส่วนตัวนะครับคุณอ่านภาษาไทยออกคุณเรียนกฎหมายได้แล้วครับ ส่วนเรื่องการให้เหตุผล การฝึกเรียบเรียง การอธิบายนมาฝึกฝนเอาทีหลังได้ เพราะฉะนั้น กฎหมายเป็นสิ่งที่ทุกคนควรเรียนอยู่แล้วครับ คุณรู้ภาษาไทยนี่คือคุณสมบัติที่คุณจะมาเรียนภาษาไทยได้ผมคิดว่าผมพอมีคุณสมบัติขั้นต่ำขั้นนั้นครับ ผมจะเข้ามาเรียนที่นี่และผมคิดว่าจะทำอะไรดี ๆ ให้กับชีวิตผมได้”
“แต่ว่าตอนเข้ามาเรียนในปีแรกผมยังไม่ค่อยตั้งใจนะครับ ยังติดกับชีวิตระดับมัธยมก็คือว่าวัน ๆ ผมก็เล่นแต่เกมหรือไปเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้มีเรื่องของการเรียนเลยในหัว ก็เป็นวิชาแพ่งหลักทั่วไปที่ผมสอบครั้งแรก ผมก็สอบตก จำคะแนนได้ว่าผมได้คะแนน 55 เต็ม 100 ไม่ถึง 60 ก็เลยตก ตอนแรกผมไม่ได้สนใจนะตกก็ตกก็ช่างมัน แต่พ่อผมก็เริ่มถามแล้วว่า เรียนมหาลัยไหวหรือเปล่าถ้าเกิดไม่ไหวไปเรียนอะไรที่ง่ายกว่านี้ไหม ผมก็คิดว่าผมไม่น่าจะแย่ถึงขนาดนั้นนะ แต่ว่าช่วงนั้นเราอาจแย่จริง ๆ ทีนี้เราลองใหม่ละกันในเทอม 2 ก็จะเป็นนิติกรรมผมก็ตั้งใจผลปรากฏว่าผมได้เกือบท็อปประมาณ 87-88 ถ้าจำไม่ผิด ตอนนั้นผมก็คิด เราก็ทำได้เหมือนกัน จากนั้นก็โอเคก็ตั้งใจเรียน แต่ว่าตอนนั้นก็ไม่ตั้งใจแบบเต็มที่ช่วงนั้นผมคิดว่า เพียงแค่ว่าเราตั้งใจเราก็ทำได้ แต่ว่าก็ไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะไปมีประกอบอาชีพอะไรในอนาคต เรียกได้ว่าไม่ค่อยมีเป้าหมายในชีวิต เรียนให้มันผ่าน ๆ ไป เรียนให้มันได้ 60 ก็โอเคแล้ว แต่ว่าตอนที่ผมเรียนอยู่ปี 2 มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมได้คะแนนเอกเทศสัญญาสองได้คะแนนประมาณ 60 กว่า ๆ แต่ว่าผมกลับไปดูคะแนนทั้งที่ผมควรจะพอใจเพราะว่าผมตั้งปณิธานว่าเรียนให้มันจบ ๆ ไป ตอนที่ผมดูคะแนนผมรู้สึกว่า “เอ๊ะทำไมเราไม่รู้สึกดีใจเลย” ไม่เหมือนกับที่เราตั้งใจไว้ตอนแรกเลยว่าเรียนให้มันผ่าน ๆ จบ ๆ แล้วไปหางานอะไรซักชิ้นทำ ตอนนั้นก็รู้สึกมันไม่ใช่เรา เราทำได้ดีมากกว่านี้และเราจะทำให้มันดีขึ้นมากกว่านี้ไปอีก หลังจากที่ผ่านปี 2 ผมก็เลยตั้งใจเรียนแบบว่า เอาจริงเอาจังตอนปี 3 ทำคะแนนได้ดีขึ้นก็ 80 ขึ้นหลายตัวเหมือนกัน ผมก็ได้ไปลองเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการหลาย ๆ อย่าง มีพวกการแข่งขันการตอบปัญหารพีวิชาการ แล้วก็การแข่งมูทคอร์ทภาษาไทยที่ลำปางจัดครับ สิ่งที่ประทับใจคือช่วงนั้นก็คือว่าน่าจะเป็นปีแรกเลยที่แข่งตอบปัญหาวันรพีที่ลำปางชนะที่รังสิตผมกับเพื่อนของผมอีกคนหนึ่เอาชนะที่รังสิตได้ เป็นตัวแทนมาแข่งในระดับประเทศที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ มันเป็นอย่างหนึ่งที่สะท้อนอยู่ในใจเราว่าแบบว่า เราอาจจะไปในเส้นทางนี้ได้ดีถ้าเราตั้งใจจริง ๆ ถ้าเกิดว่าเรายังครึ่ง ๆ กลาง ๆ อยู่แบบนี้ชีวิตของผมก็จะครึ่ง ๆ กลาง ๆ ตลอดไป”
“โดยผมเริ่มอยากจะมาเป็นอาจารย์ตอนจบปี 3 เพราะว่าตอนปี 3 เป็นการเรียนวิชากฎหมายพื้นฐานหมดแล้วทั้งทางสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติผมคิดว่าอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมค้นพบนะครับ ผมอยากแสวงหาความรู้ต่อไปอีกในการเลือกกฎหมายอาญาที่ผมชอบ พอผมจบปีสามแล้วผมพบว่าผมชอบกฎหมายอาญาที่สุดแล้วหลังจากนั้นปี 4 ผมจะค่อนข้างว่างเพราะว่าเปิดเป็นทวิภาคี พอทวิภาคีจะเรียนตัวบังคับน้อยเพราะฉะนั้นเราจะสามารถลงวิชาเลือกได้เยอะ ผมก็ลงแต่อาญาผมรู้สึกว่าเรียนอาญาหลายตัวมันยังไม่พอมันยังไม่สะใจและผมรู้สึกว่ามีความคิดที่ก้าวไกลกว่าอาจารย์ที่มาสอนผมผมอยากจะเสนอนวัตกรรมทางกฎหมายใหม่ที่อาจารย์มาสอน ผมคิดได้มากกว่านี้ ผมคิดว่าผมอยากจะมีความรู้ให้มากกว่านี้และก็ทำการแก้อะไรหลาย ๆ อย่างในโลกนี้ อยากจะทำการค้นอะไรหลาย ๆ อย่างเพื่อนำมาเผยแพร่ให้ทุกคนได้รู้ว่าผมไปค้นพบสิ่งใหม่มาผมคิดค้นสิ่งใหม่ได้ นั่นแหละครับที่ทำให้ผมอยากจะเป็นผู้สอนนับแต่นั้นเป็นต้นมาผมอยากถ่ายทอดความรู้ใหม่ผมเลยคิดว่างั้นเราเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยดีหรือไม่ อย่างไรก็ดีตามที่ผมได้เล่าไปข้างต้นเพราะว่าผมเคยตกไปครั้งหนึ่ง ผมเลยต้องกลับไปดูว่าการเป็นอาจารย์มหาลัยหากเกิดสอบตกยังจะมีโอกาสที่สามารถเป็นอาจารย์มหาลัยได้ด้วยหรือเปล่า ผมก็ไปหาประกาศเก่า ๆ ของคณะนิตินี่แหละครับปีก่อน ๆ มาว่า เห้ย…มีอาจารย์คนไหนที่เคยสอบตกและเป็นอาจารย์ได้ หรือว่าในปัจจุบันระเบียบมันเป็นอย่างไรแล้ว กำหนดคุณสมบัติข้อยกเว้นให้อาจารย์ที่เคยสอบตกตอนป.ตรี แต่ว่ามีอย่างอื่นชดเชยหรือไม่ ผมก็ไปค้นพบอันหนึ่งว่า เป็นระเบียบที่ว่าการสอบเข้าถ้าเกิดว่าสอบตกวุฒิป.ตรี นะครับสามารถใช่วุฒิปริญญาโทสมัครได้ แต่ว่าต้องมีบทความวิชาการผลงานวิชาการอย่างอื่นมาทดแทนนะครับส่วนที่ขาดหายไปตรงนี้ เพราะฉะนั้น ผมก็รู้สึกแล้วว่านี่แหละจะเป็นทางที่ทำให้เราเข้าไปเป็นอาจารย์ได้ นับตั้งแต่นั้นมาเหมือนผมมีเป้าหมายในชีวิตนะครับว่าผมจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยครับ”
คำถามสุดท้าย เนื่องจากทั้งอ.ดร.พนัญญาและอ.กิตติภพเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เราจึงถามทั้งสองว่า ตอนเป็นนักศึกษามั่นใจไหมว่าจะได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และรู้สึกกดดันไหม ที่ต้องรักษาระดับคะแนนให้ถึงหรืออยู่ในระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
อ.ดร.พนัญญา : “ตอนที่เริ่มเข้าเรียนก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองจะทำได้ดีอย่างนั้นน่ะค่ะ แต่จำไม่ได้แล้วว่าเครียดหรือกดดันไหมที่คะแนนตอนนั้นมีลุ้นแล้ว จำได้แต่ว่าพอวิชาสุดท้ายประกาศแล้วยังได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งอยู่ก็ดีใจมาก จะจำได้กับตอนเรียนปริญญาเอกมากกว่า อันนี้อาจจะเอามาเทียบกันได้ คือถามว่าอยากได้ไหมเกียรตินิยมยอดเยี่ยมหรืออันดับหนึ่ง มันก็เท่ดีใช่ไหมคะ ก็เครียดหรือกดดันอยู่ แต่ว่าถ้ามาดูความเป็นจริง งานเขียนปริญญาเอกเราเสร็จแล้ว งานหนักที่ทำมาก็มาอยู่ในตัวของเราแล้ว การที่ไม่ว่าเราจะได้อะไรหรือไม่ได้อะไร มันเหมือนเป็นเพียงความเท่และขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของกรรมการ คือเราได้หรือไม่ได้ เราก็เป็นคนเดิม ไม่ได้ทำให้ทักษะหรือความรู้เราเพิ่มหรือลดลงไป”
อ.กิตติภพ : “ผมรู้สึกว่ามันเป็น passion มากกว่า คือมันส่งผลดีมากกว่า เพราะว่าอย่างที่บอกไปว่าวิชาแรกคะแนนไม่ดีใช่ไหมครับ วิชาแพ่งทั่วไป แต่วิชานิติกรรมทำได้ดีมาก ๆ เฉลี่ย 2 วิชานี้เลยอยู่ในเกณฑ์เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง คือ 85 คะแนนพอดี ซึ่งตรงนี้มันเหมือนเป็นแพสชั่นว่า ณ ตอนนี้เราทำได้ 85 หน้าที่เราก็แค่รักษาไว้ให้มันอยู่ในระดับเท่านี้ เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดความตั้งใจ เกิดความมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อที่จะไปสู่เป้าหมายของเราที่เราตั้งไว้อย่างแน่วแน่ว่าเราต้องทำให้ได้ เลยคิดว่าเป็นข้อดีมากกว่า ในการที่จะเป็นเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เราไปสู่จุดมุ่งหมายที่เราตั้งไว้ให้ได้ (แล้วอาจารย์มีความกังวลไหมครับว่าวิชานี้สอบแล้วได้คะแนนน้อยหรือถ้าได้น้อยจะทำยังไง เพราะคิดว่านักศึกษาหลายคนที่นี่เขาอาจจะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้อาจจะมีความกดดันตรงนี้อยู่?) จริง ๆ ก็ต้องบอกว่ามีบ้างครับ อาจจะเป็นช่วงท้าย ๆ เพราะว่าอย่างที่บอกว่าเรามีความตั้งใจ คือผมมีความตั้งใจแล้วก็พยายามเต็มที่จนผลมันออกมาดี ก็ตั้งแต่ ปี 1 ปี 2 ปี 3 เป็นต้นมาคะแนนมันก็อยู่ในระดับที่ดีมาตลอด เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 85-86 มาตลอด อาจจะมีปีท้าย ๆ บ้างซึ่งคะแนนมันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด คือต่อให้เรามีความตั้งใจแค่ไหนมันก็อาจจะมีจุดผิดพลาดหรือข้อบกพร่องอะไรบางอย่างในบางวิชาที่มันอาจจะคะแนนไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังครับ แต่ว่ามันก็มีจุดที่กังวลอยู่บ้างช่วงประมาณปี 4 เพราะว่ามันมีวิชาหนึ่งคือได้น้อยกว่าที่คิดไว้มาก จริง ๆ มีความกังวลอยู่บ้าง จริง ๆ เราก็ต้องเผื่อใจไว้บ้าง เพราะว่าอย่างที่บอกไปคนเรามันมีผิดพลาดกันได้ แล้วการที่มันจะได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง คือได้คะแนนถึง 85 มันอาจจะไม่ใช่เรื่องความสามารถอย่างเดียว มันมีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งบางอย่างเราควบคุมไม่ได้ เช่น อาจจะเป็นเรื่อง section ในแต่ละ section ซึ่ง range คะแนนมันอาจจะต่างกัน หรือว่าอาจจะเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเราเอง เช่น เราอาจจะไม่สบายช่วงนั้น หรือเราอาจจะจำไม่ได้ เราอาจจะอ่านมาทั้งหมด ไม่ได้อ่านอยู่แค่จุดเดียว แล้วจุดนั้นมันดันออกข้อสอบอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นผมเลยคิดว่าจริง ๆ มันก็ต้องเผื่อใจไว้บ้างครับ”
เนื่องจากอ.ดิศรณ์จบการศึกษาโดยไม่ได้รับเกียรตินิยม ซึ่งทำให้ขาดคุณสมบัติในการสมัครเป็นอาจารย์วุฒิปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ คำถามสุดท้ายเราจึงขอให้อ.ดิศรณ์เล่าให้ฟังว่าทำอย่างไรเพื่อให้มีคุณสมบัติในการเป็นอาจารย์
อ.ดิศรณ์ : ตั้งแต่ผมมีเป้าหมายในชีวิตนะครับว่าผมจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มันก็เหมือนเป็นแบบว่า เข็มทิศชีวิต หลังจากนั้นเป็นต้นมาผมก็ทำงานวิชาการมาโดยตลอดครับ อาจจะเป็นการค้นคว้าด้วยตัวเอง การเขียนงานโดยตนเองโดยที่มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้วไม่ใช่งานที่เราต้องมานั่งทำ จากนั้นผมก็อ่านพวกหลักเกณฑ์ของการเป็นอาจารย์ทั้งหมด ผมก็เลยตัดสินใจเลยว่าอย่างแรกผมจะเรียนเนติบัณฑิตก่อนเพื่อให้ผมเพิ่ม profile ก่อน แม้ว่าผมจะตกปริญญาตรีมา แต่ว่าถ้าเกิดผมสอบเนติบัณฑิตได้ก็ถือว่าความรู้ระดับปริญญาตรีผมก็พอโอเคนะถึงแม้ว่าผมจะเคยสอบตก และนอกจากนี้ของตายคือผมต้องสอบเข้าปริญญาโทให้ได้และผมก็จะต้องทำปริญญาโทให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมก็เลือกปริญญาโทสาขากฎหมายอาญาครับ ผมก็สอบเข้าได้รอบแรกและเรียนปริญญาโทมาเรื่อย ๆ และทำวิทยานิพนธ์จริง ๆ แล้วจบก่อน 2 ปีครับ ผมจบภายในระยะเวลาประมาณปีครึ่ง แต่ว่าทางคณะไม่ยอมให้ผมจบมันขัดต่อระเบียบมหาลัยและจะทำระบบรวนผมก็ทำวิทยานิพนธ์ให้เต็มที่ที่สุด ผมทุ่มเทกับวิทยานิพนธ์เล่มนี้ของผมมากและมันก็ได้ผลตามที่คาดไว้ตั้งแต่แรกว่ามันคงได้ผลดี ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ผมก็คิดว่าผมต้องทำให้ได้ ต้องทำให้ได้ ครับจากนั้นคุณสมบัติของการสอบเป็นอาจารย์ครบเรียบร้อย ผมก็มาสอบเป็นอาจารย์แต่ว่ารอบแรกผมยังสอบไม่ได้ ผมต้องสอบ 2 รอบ รอบแรกผมสอบผมคิดว่ารอบนั้นจะยังทำได้ไม่ดีพออาจจะเป็นเรื่องของการพูดถ่ายทอดปากเปล่าไม่เคยพูดบรรยายไม่เคยติวเพื่อน อาจจะมีการพูดติด ๆ ขัด ๆ อาจจะทำให้ไม่ประทับใจกรรมการสอบ ผมก็กลับไปปรับปรุงพัฒนาตัวเองอาจจะเป็นการพูดหรือแม้แต่งานเขียนที่เราคิดว่าดีอยู่แล้วก็พัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ผมก็มาสอบรอบที่สองก็สอบได้ครับ
การพูดคุยกับอ.ดร.พนัญญา อ.ดิศรณ์ และอ.กิตติภพยังไม่จบพียงเท่านี้ เนื่องจากแต่ละท่านต่างมีเรื่องราวและเส้นทางชีวิตที่น่าสนใจ ในครั้งหน้าเราจะพาคุณไปพูดคุยกับทั้งสามท่านในแง่มุมเฉพาะของแต่ละคน เร็ว ๆ นี้
ภาพโดย Pump
เรียบเรียงโดย KK