คุยกับศาสตราจารย์ ดร.สหธน รัตนไพจิตร อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สอนวิชากฎหมายลักษณะหุ้นส่วนและบริษัท กฎหมายลักษณะล้มละลาย กฎหมายลักษณะตั๋วเงิน ฯลฯ เกี่ยวกับประสบการณ์ทำงานที่โดดเด่นทั้งด้านวิชาการและภาคปฏิบัติ และเรื่องอื่น ๆ
คำถาม (1) : ตอนเป็นนักศึกษา อาจารย์รู้สึกอย่างไรกับการเรียนกฎหมาย และอาจารย์ชอบวิชาอะไรมากที่สุด
ศ.ดร.สหธน : “สมัยเรียนอาจารย์มีความสุขมากกับการเรียนกฎหมาย วิชาชอบมากที่สุดน่าจะเป็นกฎหมายอาญา เพราะว่ากฎหมายอาญาตอนที่เป็นนักศึกษา ประเด็นจะไม่ยุ่งยาก สั้น กะทัดรัด เข้าใจง่าย ความยุ่งยากของกฎหมายอาญาจะอยู่ตรงการนำพยานหลักฐานเข้าสืบ เพราะฉะนั้นในช่วงที่อาจารย์เป็นนักศึกษา อาจารย์เชื่อว่านักศึกษากฎหมายหลายคนจะชอบกฎหมายอาญา พอมาสู่ในชั้นเนติบัณฑิต อาจารย์ก็ทำในส่วนของกฎหมายอาญาได้ดีมาก ๆ เกือบจะ 80 คะแนน เป็นสาเหตุให้อาจารย์เรียนโทกฎหมายอาญา และก็จบโททางด้านสาขาอาญา”
“แต่ว่าในชีวิตการทำงานพอช่วงที่จบจากปริญญาตรี ในชั้นนั้นท่านอาจารย์ไพสิษฐ์ พิพัฒนกุล ท่านได้เห็นว่าอาจารย์น่าจะมีหน่วยก้านมาทางด้านตัวกฎหมายพาณิชย์ด้วย ท่านเลยมอบหมายให้อาจารย์มาดูแลท่านอาจารย์ไพศาล กุมาลย์วิสัย ซึ่งตอนนั้นเป็นอาจารย์พิเศษ และรองผู้ว่าแบงค์ชาติเข้ามาสอนวิชากฎหมายตั๋วเงิน ตัวอาจารย์ก็เลยเข้ามาเป็นผู้ช่วยในวิชาสัมมนา จากการอยู่กับท่านอาจารย์ไพศาลมาพักหนึ่ง ท่านได้สอนอาจารย์เยอะมาก เพราะฉะนั้นช่วงนั้นสัมมนาก็ทำงานด้านกฎหมายพาณิชย์ เรียนก็เรียนในตัวกฎหมายอาญา พอจบออกไปสาขาที่สอบได้ทุนก็เป็นส่วนของวิธีสบัญญัติในส่วนกฎหมายล้มละลาย ในชั้นของการได้ทุนไปเรียนกฎหมายล้มละลายที่อังกฤษ ทางอังกฤษถ้าจะเรียนกฎหมายล้มละลายได้ต้องมีพื้นกฎหมายหุ้นส่วนบริษัทมาก่อน อาจารย์ก็ไม่มีพื้น โชคดีที่ทางนั้นได้เปิดเป็นหลักสูตร Diploma in English Legal Study ขึ้นมา จึงได้ไปเรียนวิชาดังกล่าวเพื่อที่จะเตรียมตัวเข้ามาเรียนกฎหมายล้มละลาย”
คำถาม (2) : เหตุผลที่อาจารย์เลือกประกอบวิชาชีพอาจารย์สอนกฎหมาย
ศ.ดร.สหธน : “อาจารย์มีความสุขกับการอ่านหนังสือ เวลาได้อ่านหนังสืออาจารย์จะมีความสุขมาก แล้วอาชีพอาจารย์เป็นอาชีพที่ได้อ่านหนังสือ เพราะฉะนั้นถือว่าโชคดีที่สอบเข้ามาเป็นอาจารย์ได้ แต่ในช่วงที่หักเหอยู่ น่าจะเป็นช่วงอายุ 25 ปี มันจะอยู่ในช่วงทางเดินชีวิตคน ว่าครั้งหนึ่งก็อยากไปทางด้านผู้พิพากษาหรืออัยการเพราะเป็นอาชีพที่มีเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูล อีกทางหนึ่งก็อยากจะไปทางด้านทนายความ เพราะช่วงนั้นสำนักงานทนายความใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเยอะ ขณะเดียวกันอาจารย์ก็ชอบที่จะอ่านหนังสือ และพ่อของอาจารย์แกเห็นอาจารย์ชอบอ่านหนังสือ แกเลยบอกอาจารย์ว่า ถ้าชอบอ่านหนังสือก็ขอให้เป็นอาจารย์ต่อไปเถอะ อาจารย์ก็ถามพ่อว่า การเป็นอาจารย์หนึ่งมันไม่มีเงิน แล้วก็ไม่มีฐานะ ฐานะไม่มั่นคง แกก็เลยบอกอาจารย์ว่าเดี๋ยวแกซื้อรถให้คันนึง ซื้อทาวน์เฮาส์ให้หลังนึง และก็ให้โทรศัพท์เครื่องนึง โทรศัพท์เครื่องนึงในสมัยนั้นได้ยากมากต้องไปขอร้าน แล้วซื้อมือสองต่อมาตั้งห้าหมื่นกว่าบาท พ่อก็บอกว่าให้มาเพื่อตั้งตัว จะได้ไปทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ในช่วงนั้นพอพ่อว่าอย่างนี้มา ก็เลยตัดสินใจไปสอบชิงทุน เอาทุนไปเรียนต่อ”
คำถาม (3) : นอกจากวิชาที่อาจารย์สอนในปัจจุบัน คือวิชาหุ้นส่วนบริษัท และวิชาตั๋วเงิน และวิชาล้มละลายแล้ว อาจารย์เคยสอนวิชาอื่น ๆ บ้างไหม
ศ.ดร.สหธน : “วิชาพยานครับ วิชาพยานตอนนั้นอาจารย์น้อยมาก อาจารย์ก็เลยต้องเข้าไปช่วยท่านอาจารย์โสภณ รัตนากร ท่านอาจารย์บัณฑิต รัชตานันท์ ที่จะเข้ามาสัมมนา และวันไหนที่ว่างก็จะเข้ามาสอน ตัววิชาพยานจะเป็นวิชาที่ทำให้อาจารย์เห็นภาพชัดและสามารถที่จะโยงตัวกฎหมายที่เป็นทฤษฎีกับปฏิบัติรวมเข้าไปใช้ด้วยกันได้ ต้องขอบคุณสมัยนั้นที่ได้เข้าไปช่วยวิชาพยาน”
(แล้วตอนหลังทำไมอาจารย์ถึงไม่ได้สอนวิชาพยานครับ?)
“หลังจากนั้น เริ่มจากวิชาตั๋วเงินก่อน พออาจารย์ได้กลับมาอาจารย์ก็ได้สอนวิชาล้มละลายนิดนึงก่อน ไม่ได้สอนเต็มวิชา เพราะสมัยนั้นเป็นท่านอาจารย์สุธี ศุภนิตย์ดูแลวิชากฎหมายล้มละลายอยู่ ตัววิชาล้มละลายเป็นวิชาที่อาจารย์ได้รับทุนเรียนโดยเฉพาะ เป็นภารกิจที่อาจารย์จะต้องมาพัฒนาวิชาล้มละลาย
“ต่อมาในชั้นวิชาตั๋วเงิน อาจารย์ที่สอนวิชาตั๋วเงินคู่กับอาจารย์เสาวนีย์ ก็คือท่านอาจารย์นิคมได้ลาออกไปเป็นผู้พิพากษา อาจารย์ก็เลยเข้ามาสอนวิชาตั๋วเงินแทนอาจารย์นิคม เพราะว่าในสมัยนั้นเวลาที่เราไปเรียนเมืองนอกก็จะมีคนอื่นมาต่อวิชาเรา เราจะกลับมาแล้วสอนวิชาเดิมจนกว่าตัววิชาเดิมจะว่าง อาจารย์ก็เลยมาได้วิชาตั๋วเงินต่อ อยู่มาสักพักท่านอาจารย์ภาสกรเสียชีวิต ท่านอาจารย์ทิพย์ชนกลาออก อาจารย์ก็เลยเข้ามาสอนวิชาหุ้นส่วนซึ่งเป็นวิชาหลักที่อาจารย์ได้ไปร่ำเรียนมา”
(แล้วอย่างอาญาซึ่งเป็นวิชาที่อาจารย์ชอบ อาจารย์เคยได้สอนไหมครับ?)
“ไม่เคย แต่เป็นวิชาที่อาจารย์ได้ประโยชน์เยอะมาก ๆ เพราะว่าในชั้นนั้น อาจารย์คิดว่าวิชาอาญาเหมาะกับตัวน้อง ๆ เด็ก ๆ ทุกคน เพราะเป็นวิชาที่ประเด็นแห่งคดีมีน้อย เพราะฉะนั้นพอตัวประเด็นแห่งคดีมีน้อยมีน้อย การปรับใช้หลักกฎหมายจะไม่ยุ่งยากมาก แต่ความยุ่งยากของวิชาอาญาคือการปรับพยานให้เข้ากับข้อเท็จจริงในคดี ในชั้นนั้นพออาจารย์เรียนวิชาอาญาซึ่งเป็นวิชาทางด้าน logic หลังจากนั้นสักพักหนึ่งก็เลยโยกมาเป็นเชิงทางด้านปรัชญาก็เลยทำให้คิดได้กว้างขึ้น แต่พอหลังอาจารย์จบปริญญาโทมา อาจารย์ก็ไม่ได้ไปพัฒนาทางกฎหมายอาญาอีกเลย ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่รู้เรื่องเลยด้วยซ้ำ แต่สมัยก่อนอาจารย์เรียนดีนะ ได้ที่หนึ่งของรุ่น”
คำถาม (4) : เนื่องจากอาจารย์เป็นคนไทยกลุ่มแรก ๆ ที่มีโอกาสได้ไปเรียนระดับปริญญาโทในอังกฤษ จึงอยากให้อาจารย์เล่าประสบการณ์ในการเรียนปริญญาโทที่อังกฤษให้ฟังว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ศ.ดร.สหธน : “ยากมาก ๆ สมัยนั้นตอนที่ไปเรียนที่อังกฤษ โดยปกติคนไทยมักไปเรียนปริญญาตรี ถ้าไม่ใช่เรียนปริญญาตรีก็เรียนเนติบัณฑิตไปเลย คนที่จะไปเรียนปริญญาโทไม่มี คนก่อนหน้าอาจารย์ที่อยู่ดี ๆ ไปเรียนโทเลยจะมีรุ่นก่อนอาจารย์รุ่นหนึ่ง คนไทยอยู่ 2 คน ที่ไปก่อนอาจารย์ เสร็จแล้วก็ไม่สามารถทำได้ตามทางที่อังกฤษต้องการ เหตุผลในชั้นนั้นเป็นเพราะว่า อาจารย์เข้าใจว่าประเทศไทยเหมือนไม่มีสถานะอยู่ในโลกในสมัยนั้น คนอังกฤษกับคนต่างประเทศเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ถ้าถามว่าคุณมาจากประเทศไหน ถ้าบอกประเทศไทย เขาจะนึกว่าเรามาจากไต้หวัน อาจารย์จำได้ว่า เวลาที่ไปเรียนครั้งแรก เขามีเลี้ยงรับรอง ก็มีโค้กกระป๋อง แล้วเขาก็มาถามว่าบ้านเรามีโค้กกระป๋องไหม ไม่ใช่ว่าเขาต้องการดูถูก แต่สิ่งที่ชี้ให้เห็นคือประเทศไทยไม่มีตำแหน่งในโลกนี้ เพราะฉะนั้นเขาไม่รู้หรอกว่าเราเป็นอย่างไร เขารู้จักแต่หลายคนที่มาจากประเทศที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษซึ่งใช้ภาษาได้ดี ขณะเดียวกันคนที่มาจากประเทศเหล่านี้ก็จะเคยเรียนกฎหมายอังกฤษมาก่อน เพราะฉะนั้นการเรียนช่วงแรก พวกรุ่นก่อนอาจารย์ไปหนึ่งรุ่นซึ่งเป็นรุ่นบุกเบิกจึงพลาดไปหมดทุกคน แล้วมาเรียนซ้ำกับอาจารย์ในรอบที่สอง เพราะฉะนั้นช่วงแรกเป็นช่วงที่ suffer มาก ทีนี้เวลาที่เข้าเรียน เขาจะไม่ให้เรียนปริญญาโท เพราะเขาเห็นว่าเราไม่ได้เรียนปริญญาตรีมาก่อนจะมาเรียนโทได้อย่างไร”
“แต่ว่าในช่วงนั้นอาจารย์โชคดี เพราะทางมหาวิทยาลัยของอาจารย์ที่ Bristol ต้องการรับคนคนหนึ่งซึ่งเป็น Crown Prince ของเลโซโท (Lesotho) ให้เข้าไปเรียน จึงต้องเปิดหลักสูตรเพื่อให้ Crown Prince ของเลโซโท (Lesotho) ทีนี้ถ้าเรียนคนเดียวก็ไม่คุ้มทุน พวกอาจารย์ก็เลยได้มีโอกาสได้เรียนหลักสูตรดังกล่าว (Diploma) เพื่อที่จะมาเตรียมพื้นเพื่อไปเรียนต่อโท ถือเป็นความโชคดีอย่างมากเพราะถ้าไม่ได้เรียนหลักสูตรนี้มาก่อน ก็คงเรียนโทต่อไม่ได้ เพราะไม่มีพื้นมา ไม่รู้จะไปเรียนระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีได้อย่างไร เพราะฉะนั้นวิชาที่อาจารย์ถูกเคี่ยวเข็ญมา ก็นับเป็นวิชาปูพื้นให้ นับว่าเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของอาจารย์ แต่ว่าน้อง ๆ ในช่วงหลังเก่ง ต้องรับว่ารุ่นอาจารย์เป็นรุ่นที่ลำบาก หนึ่งพื้นความรู้ของน้อง ๆ เก่ง สองภาษาเก่ง สามครูอาจารย์ที่อังกฤษเขาเริ่มรู้แล้วว่าคนไทยเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นจากเหตุผลทั้งสามอย่าง พวกน้องก็จะลำบากน้อยกว่าอาจารย์ ลำบากน้อยกว่ารุ่นแรก ๆ”
(ก็คือหมายความว่าถ้าอาจารย์ไม่ได้เรียน Diploma อาจารย์ก็จะไม่มีสิทธิได้เรียนโทเลย?)
“ไม่มีโอกาสเลย เพราะว่าหลักสูตรสมัยนั้นถ้าเรียนโทต้องทำ research เลย ต้องทำวิทยานิพนธ์เลย ตัวที่จะเรียน by instruction ก็จะมีสองที่คือที่ Aberdeen ที่ท่านปลัดยุติธรรมไปเรียน ที่ท่านอาจารย์วิศิษฏ์ (ศ.(พิเศษ)วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ) ไปเรียน อีกที่หนึ่งก็คือที่ Bristol แต่ว่าที่นี่ที่เรียน by instruction ที่เรียน 4 วิชาดังกล่าวนี้ เขาก็เปิดตัวหลักสูตร Diploma มาให้”
(แล้วตอนอาจารย์เรียน LLM เป็นอย่างไรบ้างครับ?)
“เครียดมากครับ เพราะว่าเขาให้เราอ่านหนังสือมา โดยที่ดูฐานจากเราอ่านความไว หรือการค้นคว้าของเราเหมือนกับคนของเขา เพราะฉะนั้นเขาปฏิบัติต่อเราเหมือนกับคนของเขา อาจารย์จำได้ว่าในสมัยนั้นคนที่เรียนร่วมกับอาจารย์จะมีอาจารย์จากมหาลัย Victoria ของแคนาดา มีมาจาก MALA Institution ของมาเลเซีย มีมาจาก King’s College ที่เป็น lecturer ของ King’s College แล้วมาเรียนที่นี่อีกครั้ง แล้วภาษาเราก็ไม่ดี เรียนลำบากมาก แต่ว่าโชคดีที่อาจารย์เคยเป็นอาจารย์มาก่อนก็เลยรู้ว่าถ้าคนเป็นครูสอนเขาต้องการอะไร เพราะฉะนั้นความโชคดีของอาจารย์ตรงนี้จึงทำให้อาจารย์จบมาได้”
คำถาม (5) : การเรียนในระบบ Common Law สามารถนำความรู้กลับมาใช้ในระบบกฎหมายไทยได้มากน้อยเพียงใด
ศ.ดร.สหธน : “เต็มที่เลยครับ อาจารย์ว่าคนที่จะไปเรียนกฎหมายของทาง Common Law ถ้าจะมาเป็นทนายความหรือนักกฎหมายเชิงปฏิบัติต้องเรียน Common Law เหตุผลที่ต้องเรียนเพราะ เวลาเราเรียน Civil Law เราถูกฝึกมาให้รู้หลัก รู้ทฤษฎี แต่พอไปเรียนใน Common Law อาจารย์ได้วิธี distinguishing เพราะว่าอาจารย์ต้องอ่านเคส พออ่านเคสแล้วหลักกฎหมายจะอยู่ในเคส แต่ปัญหาที่จะต้องหาให้ได้คือถ้ามีข้อเท็จจริงอีกแบบหนึ่ง ข้อเท็จจริงนี้จะต่างจากเคสออกไปแบบไหน การที่เราจะต้องหาหลักกฎหมายที่ต่างออกไปจากฎหมายเดิมที่จะ distinguishing ออกไป ที่จะทำให้ปรับไปเรื่อย หลักตรงนี้อาจารย์คิดว่าจะได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นคนที่มีฐานจาก Civil Law อยู่แล้ว แล้วไปเรียน Common Law เขาจะได้วิธี distinguishing ออกมาโดยไม่รู้ตัว วิธีการดังกล่าวตรงนี้ก็เหมือนท่านอาจารย์ปรีดี เกษมทรัพย์สอน ก็คือวิธีการแยกแยะ เวลาที่เราทำงาน เราอ่านเคส เราจะรู้หลัก 1 หลัก เราอ่านหลักกฎหมาย 1 หลัก ต่อมาพอมีข้อเท็จจริง เราต้องปรับให้ได้ว่าข้อเท็จจริงแบบนี้มันเข้ากับหลักกฎหมายเรา หรือข้อเท็จจริงแบบนี้มันแตกต่างจากหลักกฎหมายที่มีอยู่ แล้วถ้าแตกต่างจะมีหลักกฎหมายใดเข้ามาเสริม คนที่ถูกฝึกจาก Common Law โดยแท้จะได้เปรียบ”
คำถาม (6) : ในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหุ้นส่วนบริษัท กฎหมายไทยได้รับอิทธิพลจากฎหมายอังกฤษมากน้อยแค่ไหน
ศ.ดร.สหธน : “ฐานของเรา จะร่างออกมาทั้งจากกฎหมายอังกฤษ และกฎหมายอื่น ๆ รวมกันในกรณีนี้ แต่ว่าตัวที่จะได้ประโยชน์ คือสมัยนั้นเราจะได้เห็นถึงพัฒนาการ พอเรารู้หลักกฎหมายแล้วที่ครูบาอาจารย์ได้เขียนเอาไว้ ที่ได้บัญญัติไว้แล้ว ต่อมาพอไปอยู่ในอีกสังคมหนึ่งมันก็จะทำให้เราเห็นความก้าวหน้าของตัวสังคม เห็นความก้าวหน้าว่าต่อไปจะนำมาปรับใช้กับบ้านเราย่างไร อันนี้ก็คือประโยชน์ของคนที่ไปเรียนในสมัยก่อน ซึ่งในสมัยนี้ประโยชน์ตรงนี้มันอาจจะน้อยลง เพราะว่าการสื่อสารมันง่ายขึ้น ประโยชน์ที่ได้มาจะได้ในแง่อื่นมากกว่าในปัจจุบันนี้”
คำถาม (7) : เนื่องจากอาจารย์ได้ทำงานในภาคปฏิบัติค่อนข้างเยอะ อยากถามความเห็นอาจารย์ว่า กฎหมายที่อาจารย์สอนในทางทฤษฎีและในทางปฏบัติ มีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
ศ.ดร.สหธน : “เหมือนกันครับ เพียงแต่เสริมนิดเดียวเท่านั้นเอง อาจารย์เชื่อว่าในการเรียนชั้นปริญญาตรีต้องให้หลักกฎหมาย หลักกฎหมายต้องได้ เพียงแต่หลักกฎหมายที่เราสอนบางครั้งต้องมีตัวอย่างที่ทันสมัย คนที่จะสอนอย่างทันสมัยก็ต้องพอเห็นโลกอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นหนึ่งต้องสอนหลักกฎหมาย ขณะเดียวกันเรื่องสองคนที่สอนปฏิบัติอยู่ดี ๆ จะสอนเรื่องปฏิบัติลอยไปเลย อันนี้ไม่ใช่ มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นช่างที่ให้นักศึกษาฝึกงาน ขณะเดียวกันพอเราเรียนวิศวะหมายถึงเรียนทฤษฎีของทางกฎหมาย เราต้องพอรู้ที่จะเขียนแบบแปลนกฎหมาย นี่คือทางปฏิบัติ”
“ส่วนตัวปฏิบัติถ้าจะเติมขึ้นมาในทางปฏิบัติ คือเรียนทฤษฎีโดยการสอนตรรกะ ตรรกะว่าเรื่องไปอย่างนี้ เรื่องอย่างนี้ไปอย่างนี้ แต่ทางปฏิบัติจะคิดจากฐานที่ว่าต้องการเรื่องแบบนี้จะมีหลักกฎหมายใดบ้างที่จะนำมาปรับใช้ได้ แต่ปัญหาจะมีอยู่อย่างเดียวคือเรื่องของการสื่อสาร คนนอกจะสื่อสารกับนักกฎหมายไม่เป็น นักศึกษาสื่อสารกับคนนอกไม่เป็นจึงทำให้เกิดปัญหาที่ว่าคนนี้ทฤษฎี คนนี้ปฏิบัติ”
“อาจารย์ยกตัวอย่างเช่น สมมติเราสอนเรื่องโมฆะ โมฆียะ มีอยู่สมัยหนึ่งอาจารย์เข้าไปอยู่ที่บอร์ดของเอกชนอยู่ที่หนึ่ง เขาก็ถามตัวนักกฎหมายว่า เขาต้องการที่จะทำต่างหู เครื่องประดับทองคำ ขายให้กับนักศึกษาอายุ 17 18 19 20 21 22 อย่างนี้ทำได้ไหม นักกฎหมายบอกทำไม่ได้ครับ เขาก็สงสัยว่าทำไมทำไม่ได้ นักกฎหมายก็บอกว่า ทำไปก็โมฆียะครับ เขาก็บอกให้อธิบายให้ฟังหน่อย โมฆียะเป็นอย่างไร สมมติว่าผมต้องการขายต่างหูทองคำ ราคา 5,000 บาท นักกฎหมายก็บอกว่า ถ้าโมฆียะกรณีนี้ถ้าไม่ได้รับการยินยอมจากพ่อแม่ก็จะเป็นโมฆียะ พ่อแม่มีสิทธิบอกล้างให้กลายเป็นโมฆะ สัญญาก็ไม่สมบูรณ์ ฉะนั้นบริษัทเราทำไม่ได้ อีกคนก็ถามว่าโมฆะเป็นอย่างไร ผมมีความเสี่ยงแค่ไหนกับการที่จะถูกบอกล้างว่าเป็นโมฆะ นิติกรก็บอกว่า หนึ่งถ้าเขายินยอมปัญหาก็จะไม่เป็นไร หรือสองถ้าทำไปแล้วเขาให้สัตยาบันสัญญาก็สมบูรณ์ ถ้าเขาบอกล้างถึงจะเป็นโมฆะครับ ถ้าอย่างนั้นความเสี่ยงที่หนึ่งคือพ่อแม่ยินยอมก็ได้ สองถ้าไม่ยินยอมตอนหลังเกิดมาให้สัตยาบันก็ได้ จนกว่าถ้าบอกล้างถึงจะเสียใช่ไหม นิติกรบอกใช่ นี่คือความเสี่ยง เขาก็ถามว่าต่างหูขายแล้วมันหมองไปแล้ว ผลจะเป็นอย่างไรต่อ นิติกรบอกก็กลับคืนสู่ฐานะเดิม ก็คืนเงินไป ขณะเดียวกันก็คืนต่างหูไป โดยหักราคาไป สุดท้ายแล้วเขาถามว่าความเสี่ยงของบริษัทผมอยู่ตรงไหน จะโมฆะหรือโมฆียะหรือสมบูรณ์ก็เหมือนกัน ถ้าใช้ไปแล้วก็ต้องหักของที่หมองไปได้”
“อาจารย์จำตัวอย่างนี้ไว้แล้วบอกนักศึกษาเสมอว่า ปัญหามีอยู่สองส่วน ส่วนแรกนักกฎหมายที่จะต้องวางหลักทฤษฎี ปัญหาตัวที่สองคือทำอย่างไรให้นักกฎหมายเข้าใจการสื่อสารของคนนอก ความคิดของคนที่ไม่ใช่นักกฎหมาย และทำอย่างไรให้คนที่ไม่ใช่นักกฎหมายเข้าใจความคิดของเรา ตัวนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เราเรียกว่าทฤษฎีว่าอย่าง ปฏิบัติว่าอย่าง ปัญหาจริงก็คือปัญหาของการสื่อสารที่มันทำให้มองภาพกว้างขึ้นและก็ให้สื่อสารตรงขึ้นเท่านั้นเอง”
คำถาม (8) : ในมุมมองของอาจารย์ การเรียนการสอนกฎหมายจากที่อาจารย์เคยสอนมาจนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน
ศ.ดร.สหธน : “เปลี่ยนครับ เนื่องจากว่าบางประเด็นนักศึกษารุ่นเก่าเก่งกว่า บางประเด็นรุ่นใหม่เก่งกว่า ในสายตาอาจารย์นักศึกษารุ่นใหม่เก่งขึ้นทุกปี และเก่งกว่ารุ่นอาจารย์ เช่นเดียวกับน้อง ๆ อาจารย์รุ่นใหม่ ๆ อาจารย์ก็ว่าเขาเก่งกว่ารุ่นอาจารย์ ความเก่งกว่าตรงนี้อาจจะเป็นเพราะว่าปัจจุบันการสื่อสารเร็วขึ้น การหาข้อมูลต่าง ๆ เร็วขึ้นส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นกระบวนการสอนต้องผสมผสาน แต่สิ่งที่อาจารย์เน้นของการสอนทั้งของเก่าของใหม่คือให้ข้อคิดแบบเป็นตรรกะให้ได้ เพราะอาจารย์เชื่อว่าถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราสอนแบบเป็นคำสั่งโดยไม่เป็นตรรกะ นักศึกษาจะโต้แย้งอยู่ในใจเขารับแล้วแต่โต้แย้ง เพราะฉะนั้นการสอนไม่ว่าเก่าหรือใหม่ต้องเป็นตรรกะ การสอนที่เป็นตรรกะของความคิด ชุดความคิด ตรรกะความคิดต้องเป็นอย่างนั้น เรื่องที่สองแบบแผนหรือวิธีการสอนอาจต้องปรับเปลี่ยนไปบ้าง ปัจจุบันเรื่องที่ต้องสอนก็ไม่ต้องสอนแล้ว เพียงแค่ให้นักศึกษาไปหาเอาเอง ไปค้นเอาเองประกอบ เวลาสำหรับเราที่จะไปสอนเรื่องอื่นที่ระดับลึกขึ้นก็จะมีเวลามากกว่าเดิม”
คำถาม (9) : นักกฎหมายหรือเพื่อนร่วมงานที่อาจารย์ชื่นชม
ศ.ดร.สหธน : “อาจารย์ไม่ได้สัมผัสกับนักกฎหมายที่อื่นมาก แต่ว่าถ้าเป็นเพื่อนร่วมงาน จะมีทั้งรุ่นพี่ รุ่นอาจารย์ รุ่นน้อง ๆ ถ้าเป็นรุ่นพี่จะมีคนเก่งเยอะๆ โดยเฉพาะท่านอาจารย์สมยศ (รศ.สมยศ เชื้อไทย) ท่านอาจารย์กิตติศักดิ์ (รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ) ท่านอาจารย์เสาวนีย์ (ศ.เสาวนีย์ อัศวโรจน์) คนเหล่านี้ถือว่าเก่งมาก ๆ ทุกคราวที่อาจารย์คิดอะไรขึ้นมา อาจารย์คิดว่าอาจารย์ถูกแล้ว สิ่งที่อาจารย์จะต้องไปถามก่อนคืออาจารย์สมยศว่า ผมคิดอย่างนี้ พี่คิดอย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากว่าอาจารย์สมยศเป็นคนที่คิดถึงมิติสังคมอื่นเก่งมาก ๆ ท่านมองกฎหมายโดยทะลุถึงมิติสังคมอื่น”
“ส่วนท่านอาจารย์กิตติศักด์ ความคิดของท่านเหมือนใยแมงมุม อาจารย์เคยเจอมาหลายคนแต่ในกรณีนี้ท่านอาจารย์กิตติศักดิ์จะมีคุณลักษณะพิเศษคือวันนี้ท่านอ่านไปหนึ่งเรื่อง พรุ่งนี้เรื่องที่สอง สาม สี่ ห้า มันจะมาซ้อนกันโดยไม่ได้ลบเรื่องเก่าทิ้ง เพราะฉะนั้นความรู้ของท่านจะสั่งสมขึ้นมาเรื่อย ๆ ๆ ๆ ซึ่งต่างจากอาจารย์เลยคืออาจารย์ลบทิ้งหมดในหัว แต่ท่านอาจารย์กิตติศักดิ์จะเก็บได้หมด เก็บได้ครบ เพราะฉะนั้นสองคนนี้เป็นคนที่อาจารย์ประทับใจมาก”
“รวมทั้งท่านอาจารย์เสาวนีย์ที่มีกระบวนการคิดที่เป็นธรรม ส่วนรุ่นอาจารย์คนเก่ง ๆ ก็เยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นท่านอาจารย์ไผทชิต (ศ.ดร.ไผทชิต เอกจริยกร) อาจารย์จุมพต (ศ.ดร.จุมพต สายสุนทร) ส่วนรุ่นน้อง ๆ ก็เก่งไม่ว่าจะเป็นอาจารย์นพร (ผศ.ดร.นพร โพธ์พัฒนชัย) ที่ว่ามีความคิดไว หรืออาจารย์กมลวรรณ (ผศ.ดร.กมลวรรณ จิรวิศิษฎ์) หรืออาจารย์นิลุบล (รศ.ดร.นิลุบล เลิศนุวัฒน์) เหล่านี้ก็จะเป็นคนที่เก่ง ๆ ครับ แต่ถ้าอาจารย์สัมผัสก็มักจะเป็นรุ่นใหญ่ก็จะเป็นอาจารย์สมยศ อาจารย์กิตติศักดิ์ สองคนนี้ยืนยันว่าเก่งจริง อีกคนหนึ่งคืออาจารย์วรเจตน์ (ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์) ก็เก่งมาก เป็นคนเก่ง”
คำถาม (10) : สิ่งที่อาจารย์อยากฝากถึงนักศึกษาคณะนิติศาสตร์
ศ.ดร.สหธน : “อาจารย์ว่านักศึกษานิติศาสตร์ธรรมศาสตร์สมัยนี้โชคดี เพราะว่าเป็นยุคที่คณะนิติศาสตร์มีความพร้อมที่สุดกว่ายุคก่อน ๆ มีความพร้อมมากกว่าที่อื่น ๆ ที่สอนวิชากฎหมาย คลังความรู้ของคนที่มาสอนกฎหมาย คลังความรู้ของคนที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอยู่ที่นี่ อยู่ที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เพราะฉะนั้นคนที่มาอยู่ในสถานที่คลังความรู้พร้อมสมบูรณ์ที่สุดถือว่าเป็นคนโชคดี อยู่ที่ว่าท่านจะแสวงหาโชคของท่าน ท่านจะผันจากสิ่งที่ท่านมีโชคอยู่แล้วให้กลายเป็นศักยภาพของท่าน กลายเป็นความสามารถของท่านอย่างไร ท่านจะใช้ประโยชน์จากโชคดังกล่าวของท่านอย่างไรเท่านั้นเองครับ”
ถ่ายภาพ CD, Pump
เรียบเรียง KK