อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง โดยได้รับทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์) จากมหาวิทยาลัย Göttingen เยอรมนี นับเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คนที่ 3 ที่สำเร็จการศึกษาจาก Göttingen และเป็นอาจารย์สุภาพสตรีคนแรกของคณะฯที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากเยอรมนี วันนี้เราจะพาคุณไปคุยกับอาจารย์ ดร.พนัญญา ถึงการเรียนและการใช้ชีวิตในเยอรมนี ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นระบบกฎหมายชั้นนำและเป็นต้นแบบของระบบกฎหมายอื่น ๆ รวมถึงระบบกฎหมายไทย และยังขึ้นชื่อเรื่องความยากในการเรียนกฎหมายอีกด้วย
คำถาม (1) : อยากให้อาจารย์เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเลือกเรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่เยอรมนี
อ.ดร.พนัญญา : “ตอนที่เรียนอยู่ชั้นปริญญาตรีจะชื่นชอบแนวการสอนของอาจารย์ที่จบจากเยอรมนีเป็นพิเศษค่ะ เลยมีความรู้สึกว่าถ้าเราไปเรียนเราอาจจะมีความคิดที่ลึกซึ้งอย่างนั้นบ้าง แต่จนตอนนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าประสบความสำเร็จไหม” (หัวเราะ) (พอจะยกตัวอย่างอาจารย์ได้ไหมครับ?) “อย่างเช่นท่านอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติค่ะ” (ลุ่มลึกนะครับ?) “มากค่ะ” (หัวเราะ)
(จากการพูดคุยครั้งก่อนทำให้ทราบว่า วิชาหนึ่งในชั้นปริญญาตรีที่อาจารย์ ดร.พนัญญาชอบมาก นอกเหนือจากกฎหมายระหว่างประเทศก็คือกฎหมายลักษณะทรัพย์สิน ซึ่งอาจารย์ ดร.พนัญญาเรียนกับรองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อ่านบทสัมภาษณ์ครั้งก่อน ได้ที่นี่ (คำถามข้อ 3))
คำถาม (2) : ตอนสมัครเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอกอาจารย์มีแนวทางในการเลือกสาขาอย่างไร
อ.ดร.พนัญญา : “ตัวเองชอบกฎหมายระหว่างประเทศมาก เลยตั้งใจว่าต้องเรียนต่อกฎหมายระหว่างประเทศ พอจะต้องเลือกว่าจะไปที่สาขาเฉพาะอะไรของกฎหมายระหว่างประเทศ ส่วนตัวมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ และคิดว่าเวลาเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น คนที่ได้รับผลกระทบคนแรกก็คือคนจน คนชายขอบ ซึ่งปกติแล้วเขาก่อให้เกิดปัญหาน้อยมาก คนที่ก่อให้เกิดปัญหาส่วนมากก็จะเป็นคนที่มาจากชนชั้นกลางหรือคนชนชั้นสูงที่ใช้ทรัพยากรไปมากมาย ก็รู้สึกกังวลกับความเดือดร้อนของคนและปัญหาความไม่ยุติธรรมนี้ค่ะ ก็เลยเลือกไปในทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศค่ะ”
(ช่วยขยายได้ไหมครับว่าสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศหมายถึงอะไร?) “เป็นกฎหมายที่เกิดจากการที่ประเทศต่าง ๆ มาตกลงกันว่าเราจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไง เพราะว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ อย่างก็เป็นปัญหาที่ข้ามพรมแดน อย่างเช่นปัญหาโลกร้อน ก็ต้องการความร่วมมือของหลาย ๆ ประเทศค่ะ”
คำถาม (3) : บรรยากาศหรือรูปแบบในการเรียนปริญญาโทที่เยอรมนีเป็นอย่างไร
อ.ดร.พนัญญา : “ที่มหาวิทยาลัยเกิตทิงเงน โปรแกรม LLM ไม่มีวิชาเฉพาะของป.โทค่ะ เวลาเรียนก็ต้องไปเรียนกับนักศึกษาปริญญาตรี แต่ว่าไปเรียนแค่บางตัว เขาจะให้เลือก 2 จาก 3 สาขา คือ แพ่ง อาญา แล้วก็มหาชน ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศจะอยู่ในมหาชนค่ะ อาจารย์เลือกมหาชนเพราะอยากจะเขียนธีสิสสาขากฎหมายระหว่างประเทศ อีกตัวอาจารย์เลือกแพ่งค่ะ แล้วก็ไปเรียนตั้งแต่นิติกรรม (คือต้องเรียนทุกวิชาในแพ่งเลยเหรอครับ?) ไม่ทุกวิชาค่ะ เลือกได้ค่ะ แต่ว่าอย่างน้อยต้องเรียนแพ่งหลักทั่วไปซึ่งรวมนิติกรรมและละเมิดเข้าไปเลยหนึ่ง แล้วก็รัฐธรรมนูญ และต้องสอบอย่างน้อยสาขาละหนึ่งวิชา ที่เหลือไปนั่งฟังเฉย ๆ ให้ครบหน่วยกิตค่ะ”
(คือเรียนเป็นภาษาอังกฤษ?) “ตอนป.โทเรียนเป็นภาษาเยอรมันค่ะ แต่ปริญญาเอกอาจารย์เลือกเขียนวิทยานิพนธ์ป.เอกเป็นภาษาอังกฤษ”
คำถาม (4) : เนื่องจากในชั้นปริญญาโท อาจารย์ ดร.พนัญญาได้ไปเรียนร่วมกับนักศึกษาปริญญาตรี จึงขอถามอาจารย์ต่อว่า แนวการสอนกฎหมายเยอรมันชั้นปริญญาตรีเขาสอนกันอย่างไร เป็นบรรยายหรือสัมมนา
อ.ดร.พนัญญา : “เป็นแนวบรรยายค่ะ แต่ว่าบางครั้งอาจารย์ก็จะถามบ้าง แต่ว่าสิ่งที่สังเกตเลยว่านักศึกษาที่นั่นจะค่อนข้างพร้อมที่จะตอบ ทีนี้เราก็ไปถามเพื่อนว่า ทำไมนักศึกษาเยอรมันไม่กลัวหรอเวลาตอบ เขาก็บอกว่าคือตั้งแต่มัธยม เขาจะได้คะแนนในการเหมือนมีส่วนร่วม คือถ้าเขาไม่ยกมือเลยเขาก็จะโดนหักคะแนน เค้าเลยถูกสอนมาว่าจะต้องตอบ”
“จริง ๆ แล้วการได้เรียนกับนักศึกษาที่เพิ่งเข้ามาเรียนกฎหมายเลยก็เป็นประสบการณ์ที่ดีนะคะ ถึงตัวเองอาจจะไม่ได้คลุกคลีกับเพื่อนทุก ๆ กลุ่ม แต่ว่าที่สนิทด้วยก็จะรู้เลยว่าเขาต้องขยันอ่านหนั้งสือกันตั้งแต่วันแรก แล้วเขาก็จะมีวิธีการเรียนก็คือเหมือนมีการ์ดเล็ก ๆ เพื่อที่จะมาท่องจำ นิยาม องค์ประกอบ อะไรอย่างนี้น่ะค่ะ แต่หลัง ๆ เค้ามีเป็น application ในมือถือเลยค่ะ อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ เค้าสอบตก ลงเรียนใหม่กันเป็นเรื่องธรรมดามากเลยค่ะ แต่อาจจะเพราะหลายเหตุผล เช่น คะแนนสอบระหว่างเรียนพวกนี้ไม่มีผลกับการหางานของเค้า เพราะเค้าจะต้องไปสอบ Staatsexam ทีเดียว และใช้คะแนนนี้ยื่นหางาน และก็ยังไม่มีพิธีรับปริญญาที่จะเป็นมาตรวัดว่าเราจบพร้อมเพื่อนรึเปล่า เหมือนต่างคนต่างมีชีวิตของตัวเอง”
คำถาม (5) : อยากให้อาจารย์เล่าถึงแนวทางหรือวิธีการหาหัวข้อวิทยานิพนธ์และอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งตอนปริญญาโทและปริญญาเอก
อ.ดร.พนัญญา : “อาจารย์เลือกเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเกิตทิงเงนเพราะอาจารย์อัครวัฒน์ (อ.อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ซึ่งกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่เยอรมนี) แนะนำให้อาจารย์มาทำธีสิสกับ Prof. Dr. Peter-Tobias Stoll ค่ะ ซึ่งท่านสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกิตทิงเงนค่ะ คือเราเลือกอาจารย์ที่ปรึกษาก่อนแล้วค่อยเลือกมหาวิทยาลัย ส่วนหัวข้อ อาจารย์ดูว่าอาจารย์ที่ปรึกษาสนใจด้านไหนโดยดูจากผลงานตีพิมพ์ของท่าน เพราะว่าพอท่านสนใจหัวข้อนี้ เราก็จะได้ความรู้จากท่านเต็มที่ ก็ไปบอกท่านว่าสนใจประมาณนี้ ๆ แล้วอาจารย์ท่านก็เสนอหัวข้อหลาย ๆ หัวข้อมาให้เราเลือกเลยค่ะ”
(หัวข้อปริญญาเอกใช่หัวข้อเดียวกับปริญญาโทเลยไหม?) “หัวข้อเปลี่ยนไปค่ะ ตอนปริญญาโทบอกอาจารย์ที่ปรึกษาว่าสนใจกฎหมายสิ่งแวดล้อม อาจารย์ก็เลยบอกว่าโอเค งั้นไปทำกฎหมาย WTO กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจริง ๆ มันก็เป็นกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากกว่าสิ่งแวดล้อมค่ะ ทีนี้พอตอนปริญญาเอก อาจารย์บอกว่าเธอทำตอนปริญญาโทได้ดี เธอทำต่อไหม แล้วอาจารย์ก็ให้หัวข้อมาอันนึง แต่ว่าเราอ่านเท่าไรเราก็ไม่สนใจแต่ก็ไม่กล้าไปบอกอาจารย์ตรง ๆ พอบ่นกับเพื่อน เพื่อนก็บอกว่าเธอไม่ชอบเพราะเธอยังไม่รู้จริงรึเปล่า เราก็เสียเวลาอ่านต่ออีกค่ะ เสียเวลาไปน่าจะประมาณ 6-7 เดือน แต่ในที่สุดก็รู้แล้วว่าไม่ชอบจริง ๆ เลยตัดสินใจไปบอกอาจารย์อีกทีว่าเราสนใจด้านสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา แล้วก็มาเป็นหัวข้อที่ตัวเองทำอยู่ค่ะ ความรู้สึกตอนที่เราค้นคว้าเปลี่ยนไปเลย ไฟลุกโชนค่ะ (หัวเราะ) อยากฝากกับนักศึกษาว่าถ้าได้พยายามอ่านแล้วไม่ชอบ ให้รีบไปปรึกษาอาจารย์ให้เร็วที่สุดค่ะ”
คำถาม (6) : เนื่องด้วยเยอรมนีขึ้นชื่อเรื่องการเรียนปริญญาเอกว่ายากและใช้เวลานาน เราจึงถามความรู้สึกอ.ดร.พนัญญาว่าอาจารย์คิดว่าการเรียนปริญญาเอกที่เยอรมนียากมากแค่ไหน และคำถามอื่น ๆ เกี่ยวกับการเรียนปริญญาเอก
อ.ดร.พนัญญา : “คิดว่าการเรียนป.เอกในทุก ๆ ประเทศน่าจะยากเหมือนกันค่ะ โดยส่วนตัวเชื่อว่าความยากของการเรียนป.เอกไม่ได้หมายถึงต้องการความฉลาดเป็นพิเศษ แต่ต้องการความขยันอดทนค่ะ ที่เยอรมนีอาจจะมีความพิเศษตรงที่ว่า เขาจะให้พื้นที่ ให้ความอิสระกับเรามาก มันไม่มีคอร์สเวิร์ค ไม่มีการสอบหัวข้อเค้าโครง ตอนปีแรกปีสองเราก็พยายามเขียน proposal ของเราขึ้นมาเอง พยายามเขียนเหมือน structure ขึ้นมาคร่าว ๆ แล้วก็ไปพบอาจารย์ อาจจะเป็นเดือนละครั้ง สองเดือนครั้ง หรือบางทีอาจจะหายไปเลยค่ะ มีปัญหาอะไรก็วิ่งไปหาอาจารย์ แล้วก็กลับมาแก้ มาทำเพิ่ม ผลสุดท้ายก็คือส่งเป็นทั้งเล่มไปเลยให้อาจารย์ดู แล้วอาจารย์ก็คอมเมนต์ให้กลับมาแก้อย่างนั้นค่ะ”
(คือต้องเขียนเสร็จทั้งเล่มถึงจะส่งได้หรอครับ?) “อาจารย์แต่ละท่านอาจจะมีวิธีการต่างกัน แต่ว่าอาจารย์ที่ปรึกษาของตัวเองเขาอยากจะดูทั้งเล่มค่ะ เพื่อที่จะเข้าใจว่าเราปะติดปะต่อเรื่องราวยังไง”
(ใช้เวลานานไหมครับกว่าจะเสร็จดราฟต์แรก?) “อันนี้อาจจะขึ้นอยู่กับหัวข้อค่ะ ของตัวเองใช้เวลาประมาณ 3 ปีครึ่งค่ะ จำได้แม่นเพราะหัวข้อลงตัวในวันรัฐประหาร 2014 แล้วก็ส่งทั้งเล่มครั้งแรกปีใหม่ 2017 ค่ะ”
(อย่างนี้มันมีความเสี่ยงไหมถ้าเรา 3-4 ปีเขียนเสร็จส่งไปแล้วอาจารย์บอกว่าใช้ไม่ได้?) “ใช่ค่ะ ความเครียด ความยากก็คือความกลัวว่า งานทั้งหมดที่เราทำมาหลายปีอาจจะไม่ได้มาตรฐาน หรือบางทีเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามาตรฐานที่เราต้องไปให้ถึงคืออะไร แต่ว่าก่อนที่อาจารย์จะเดินทางไปแลกเปลี่ยนและไปฝึกงานที่อื่นในปี 2017 ซึ่งหมายถึงจะอยู่ไกลอาจารย์ที่ปรึกษาประมาณหนึ่งปี ช่วงปลายปี 2016 เหมือนอาจารย์ที่ปรึกษารู้สึกว่าความคิดเราเริ่มเข้ารูปเข้ารอยหรือกลัวเราจะหลงไปไกลก็ไม่รู้ค่ะ เขาบอกให้อาจารย์ไปเขียนจดหมายถึงเพื่อน 3 หน้ากระดาษเล่าว่าเธอกำลังทำเรื่องอะไรอยู่ แล้วเจออะไรบ้าง แล้วลองเอามาให้ดู เราก็พยายามเขียนไป ครั้งแรกไม่ผ่าน ยังขาดตรงนี้ เอาไปแก้อีกหนึ่งอาทิตย์ก็ยังไม่ผ่าน ต้องเสริมตรงนั้น แก้ไปแก้มา จนเขาบอกว่า เออ นี่แหละที่เขาอยากได้ โดยเฉพาะย่อหน้านี้แหละ แล้วก็เอา 3 หน้านั้นมาสร้างเป็นทั้งเล่มค่ะ”
(อาจารย์ที่ปรึกษา (supervisor) มีผลกับการเรียนปริญญาเอกมากน้อยแค่ไหน?) “รู้สึกว่าที่เยอรมนีเขาเป็นคนกุมชะตาเราทุกอย่าง แม้จะกระทั่งเป็นคะแนนตอนจบ เข้าใจว่าอย่างที่ประเทศอื่นเขาจะมีการตั้งคณะกรรมการมาสอบ แต่อันนี้คือคะแนนตัวเล่มธีสิสเราเขาเป็นคนทำคนแรก แล้วก็ส่งไปที่อีกคนหนึ่งให้คะแนนค่ะ ส่วนเวลาสอบปากเปล่า (defense) เขาก็ให้คะแนนเราร่วมกับกรรมการอีกคนค่ะ และถ้าได้อาจารย์ใจดี เวลาเจอคำถามยากๆท่านจะรู้เทคนิคช่วยเรามาก ๆ ค่ะ อาจารย์ต้องถือโอกาสนี้บอกว่าอาจารย์โชคดีมากเพราะอาจารย์ที่ปรึกษาท่านมีเมตตามากและก็เป็นตัวอย่างของอาจารย์ที่ดีมาก ๆ ค่ะ”
(รวมเวลาทั้งหมดแล้ว อาจารย์ใช้เวลาในการเรียนที่เยอรมนีทั้งหมดกี่ปีครับ?) “ประมาณ 9 ปีค่ะ แต่ว่ารวมถึงเรียนภาษา ไปแลกเปลี่ยน แล้วก็ไปฝึกงานด้วยค่ะ แต่ถ้าเฉพาะปริญญาโท มาตรฐานก็อาจจะประมาณ 2 ปี ส่วนเอกแล้วแต่เลยค่ะ อาจจะบางคนจบได้ 3 ครึ่ง, 4, 5 แล้วแต่หัวข้อ แล้วแต่ปัจจัยของแต่ละคนค่ะ”
คำถาม (7) : อยากให้อาจารย์สรุปให้ฟังสั้น ๆ ว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์เกี่ยวกับอะไร และการเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษในประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมัน มีปัญหาอะไรไหม
อ.ดร.พนัญญา : “อาจารย์ดูว่าวิวัฒนาการของแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่สมัย 1945 จนถึงปัจจุบันนี้ มีอิทธิพลและถูกสะท้อนในกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศอย่างไรบ้างค่ะ ด้านภาษา ไม่น่าเป็นปัญหาค่ะ ด้วยตัววิชากฎหมายระหว่างประเทศ ส่วนมาก literature ก็จะเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้วค่ะ”
(แปลว่าถ้าทำหัวข้อเกี่ยวกับกฎหมายแพ่ง อาจจะมีปัญหาไหมครับถ้าจะเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ?) “คิดว่าอาจจะอย่างนั้นค่ะ สมมติว่าอยากจะไปศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายแพ่งของเยอรมันจริง ๆ ก็ควรที่จะได้ภาษาเยอรมัน หรือถ้าอยากทำกฎหมายเปรียบเทียบ ก็ควรจะมีทักษะภาษาเยอรมันในการอ่าน literature ค่ะ”
คำถาม (8) : นอกจากเรื่องการเรียนแล้ว อยากให้อาจารย์เล่าถึงการใช้ชีวิตที่เยอรมนีว่าเป็นอย่างไร เพราะว่าคนเยอรมันจะเป็นที่รู้จักในเรื่องความเคร่งครัด อาจารย์รู้สึกอย่างนั้นไหม
อ.ดร.พนัญญา : “จริง ๆ ก็มีคนที่เคร่งครัดแล้วก็คนที่ไม่เคร่งครัดนะคะ อ๋อ จริง ๆ สิ่งหนึ่งเลยที่เปลี่ยนไปคือตั้งแต่ไปถึง คนดูแลที่โรงเรียนภาษาบอกว่า เธอเป็นผู้หญิงมาจากเอเชีย เธออย่าคิดว่าจะใช้วิธีพูดเพราะ ๆ หวาน ๆ แล้วจะเรียกร้องสิทธิได้นะ ที่นี่เธอจะต้องซีเรียส หรือบางทีก็ใช้ความโกรธเธอถึงจะได้ในสิ่งที่เธอต้องการอะไรอย่างนี้ค่ะ” (หัวเราะ)
(หมายถึงว่าถ้าเรามีสิทธิแล้วก็ต้องแสดงออกไปเลยอย่างนี้ใช่ไหมครับ?) “ใช่ค่ะ ถ้าขอครั้งแรกแบบสุภาพแล้วไม่ได้ผล ต้องเริ่มยกระดับค่ะ” (หัวเราะ)
(แล้วมีปัญหาอะไรบ้างไหมที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต?) “จริง ๆ ที่น่าสนใจเลยก็คือเรื่องกฎหมาย ตอนที่เราไป ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามี rule of law เราก็อาจจะคิดว่าทุกคนจะซื่อตรงแล้วก็เคร่งครัดในทางกฎหมาย แต่ว่าจริง ๆ แล้วเหมือนกับจะมี rule of law ถ้าเธอมีเรื่องแล้วเธอพร้อมที่จะไปสู้ต่อ เช่น ในสัญญาเช่าบ้าน เรารู้เลยว่าข้อสัญญานี้มันต้องเป็นโมฆะ เราแย้งไปเขาก็ไม่ยอม เราเลยต้องไปพึ่งทนายให้เขียนจดหมายเตือนผู้ให้เช่าซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ เขาก็เขียนจดหมายตอบมาว่า โอเคสำหรับกรณีของเราเท่านั้นนะ และก็เขียนกำกับต่อเลยว่ามันจะไม่ส่งผลกระทบต่อสัญญาที่เขามีกับคนอื่น ๆ ในตึกที่ใช้สัญญาเดียวกัน”
ภาพเมืองเกิตทิงเงน ถ่ายโดยอาจารย์ ดร.พนัญญา แต่งและรวมภาพโดย สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
คำถาม (9) : อยากให้เล่าถึงเมืองเกิตทิงเงนที่อาจารย์ไปใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลาเก้าปี
อ.ดร.พนัญญา : “เกิตทิงเงนเป็นเมืองมหาวิทยาลัยเล็ก ๆ ค่ะ สำหรับอาจารย์ใช้ชีวิตอยู่ในรัศมีเดินคิดว่าน่าจะเดินน้อยกว่าที่รังสิต (หัวเราะ) เป็นเมืองที่เล็กมากเหมือนกันค่ะ”
(แล้วรู้สึกว่ามีปัญหากับใช้ชีวิตไหมครับถ้าอยู่เมืองเล็ก ๆ เป็นเวลาหลายปี?) “โดยส่วนตัวไม่มีนะคะ เพราะว่าเมืองค่อนข้างจะคอมแพ็คต์คือมีทุกอย่าง ถ้าเบื่อก็นั่งรถไฟไปเที่ยวเมืองข้าง ๆ ได้ค่ะ และเกิตทิงเงนก็เป็นเมืองเก่าที่รอดพ้นจากการระเบิดในสงครามโลก ก็เป็นเมืองที่สวยเลยค่ะ”
(มีอาจารย์ที่คณะเราเคยจบจากที่นี่มาก่อนไหมครับ?) “ก็มีท่านอาจารย์ปริญญา แล้วก็อาจารย์วรเจตน์ค่ะ ถ้าอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ตัวเองน่าจะคือคนที่ 3 ที่จบจากเกิตทิงเงน”
คำถามสุดท้าย เนื่องด้วยคุณสมบัติของอ.ดร.พนัญญา ทำให้คนรู้สึกว่ามีความสมบูรณ์แบบแทบทุกเรื่องโดยเฉพาะในเรื่องการเรียน แต่จากการพูดคุย อาจารย์ ดร.พนัญญา ก็ได้เล่าให้ฟังว่าอาจารย์เองก็มีเรื่องที่เคยผิดหวัง หรือมีข้อผิดพลาด จึงอยากให้อาจารย์ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟัง
อ.ดร.พนัญญา : “ค่ะ คิดว่าจริง ๆ ทุกคนมีความผิดหวังและข้อผิดพลาดค่ะ แต่ว่าคติที่ตัวเองท่องไว้เลยก็คือตอนที่ทำจะต้องทำให้ดีที่สุดจะได้ไม่เสียดายทีหลัง แต่ว่าพอทำได้แล้ว ได้ไม่ได้ จะต้องไม่พูดคำว่า “เสียดาย” เพราะว่ามันผ่านไปแล้ว อย่างตอนที่อาจารย์สอบทุน DAAD (ทุนของหน่วยงานของรัฐบาลเยอรมันซึ่งมอบให้แก่นักศึกษาต่างชาติที่จะไปเรียนเยอรมนี) ครั้งแรกก็ไม่ได้ค่ะ ถึงแม้ว่าตอนนั้นทุกคนมั่นใจมากว่าจะต้องได้ อาจารย์มาได้ตอนสมัครครั้งที่สองค่ะ”
(แล้วตอนนั้นมีวิธีจัดการกับความคิดอย่างไร?) “ก็คิดอย่างนี้มาแต่แรกอยู่แล้วค่ะว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวลองใหม่”
สุดท้าย อาจารย์ ดร.พนัญญา ยังได้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายว่า
“อาจารย์ก็มีความเครียด กลัว กังวลบ้างมากน้อย ทั้งจากเรื่องเรียนหรือเรื่องส่วนตัวเหมือนคนอื่น ๆ ค่ะ สิ่งที่อาจารย์ทำ นอกจากจะเล่าให้คนที่ไว้ใจและเข้าใจฟัง บางทีก็บอกกับอาจารย์ที่ปรึกษาป.เอกตรง ๆ เลยว่าเครียด กลัวจะเรียนไม่สำเร็จ อาจารย์ท่านก็จะคอยให้กำลังใจ บางครั้งก็ได้ไปคุยกับนักจิตวิทยาของทางมหาวิทยาลัยที่เกิตทิงเงน ซึ่งก็ทำให้ได้รู้จักวิธีผ่อนคลายและได้แง่คิดอะไรดี ๆ ใหม่ ๆ ที่เราหรือเพื่อน ๆ อาจจะคิดไม่ถึง อยากจะบอกกับนักศึกษาว่าไม่ต้องกลัวที่ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างค่ะ หากรู้สึกว่าไม่รู้จะไว้ใจใคร หรือกลัวว่าเค้าจะตัดสินเรา นักศึกษาก็ยังมีอาจารย์ที่คณะฯที่ห่วงใยนักศึกษามากหรือผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะรับฟังค่ะ”
ภาพโดย Pump
เรียบเรียงโดย KK