ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ มณีศร หรือที่หลายคนเรียกอาจารย์เ
คำถาม (1) : อาจารย์เคยได้ยินคนพูดถึงอาจารย์ หรือมาบอกอาจารย์ว่าอาจารย์มีสไตล์การสอนที่ไม่เหมือนใคร เป็นเอกลักษณ์ หรือว่าอินดี้ไหม
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “คือว่าจริง ๆ แล้วอาจารย์แต่ละคนก็มีสไตล์การสอนโดยเฉพาะของตัวเอง แต่คำว่า “อินดี้” เพิ่งได้ยินครั้งแรก ไม่เคยได้ยินแบบนี้มากก่อน ก็คิดว่าเขาคงเห็นว่าเป็นการสอนที่มันไม่เหมือนคนอื่นเขา แบบถ้าภาษาฝรั่งก็มันคงมาจาก Independent ทำนองนี้นะครับ (ใช่ครับ) ก็จริง ๆ แล้วแต่ละคนก็ไม่เหมือนใคร แต่ว่าผมอาจจะมีสไตล์แหวกแนวไปเลย (ฮา) แหวกแนวไปเยอะ มันก็คงเป็นแบบนี้ แต่จริง ๆ แล้วผมก็ได้ยินเป็นครั้งแรกครับ”
(แล้วอาจารย์รู้สึกอย่างไรครับถ้ามีคนบอกว่าอาจารย์มีสไตล์การสอนที่ไม่เหมือนใคร แม้ทุกคนไม่เหมือนกันแต่ก็ไม่ต่างกันมาก แต่อาจารย์แหวกไปกว่าคนอื่น?) “ก็ไม่รู้สึกอะไรมาก เพียงแต่ว่าเวลาที่เราสอนเราก็อยากให้นักศึกษามีความรู้ นอกจากมีความรู้แล้ว ก็อยากให้แสวงหาความรู้เพิ่มเติม อยากให้เขาคิดแล้วก็จำไปใช้เป็นประโยชน์อีกนาน ๆ ถ้าเราสอนแล้วอีกเดือนหนึ่งหรือสอบเสร็จเขาลืมไปหมดเลยอย่างนี้ การสอนเราก็ไม่ค่อยมีความหมาย ตอนเรียนปริญญาตรีผมจำได้บางวิชาเท่านั้นเอง และวิชาที่ผมจำได้หลังจากผ่านไป 40 ปีมันก็ยังจำได้ และยังใช้ได้อยู่เลยเพราะว่าอาจารย์สอนดี สอนหลัก ๆ ที่สำคัญ ๆ ไม่ลงรายละเอียดเยอะ ซึ่งผมก็ใช้หลักนี้มา และสิ่งสำคัญก็คือว่าให้นักศึกษาเขาเข้าใจและจำอยู่ในหัวเขา แล้วเอาไปใช้ได้ตลอด เพราะจริง ๆ แล้ว ชีวิตของนักศึกษาตั้งแต่เข้าเรียนมหาลัย อายุประมาณ 18-19 ปี จนกระทั่งเรียนจบอายุ 22 ปี เขาเรียนกับอาจารย์คนหนึ่งวิชาหนึ่งแค่ 48 ชั่วโมง ถ้าคิดว่าเรียน 48 ชั่วโมงแล้วจะเอาไปใช้ได้ทั้งชีวิต มันต้องสอนให้ดีที่สุดเลยเพราะว่ามันมีเวลาสั้นมาก แต่ถ้าเราสอนให้ดีที่สุด เขาก็จะจำได้และเอาไปใช้ได้ตลอดกาล ซึ่งการเรียนของผม ผมก็ได้เรียนกับอาจารย์ที่ดี จำได้แล้วเอาไปใช้ แต่บางวิชาที่สอนไม่ดี ได้สอบและสอบได้ ผมก็ลืมไปหมดเลย”
(แล้วอาจารย์ทราบไหมครับว่าถ้าเทียบกับอาจารย์ในคณะส่วนใหญ่ สไตล์การสอนของอาจารย์จะค่อนข้างแหวกกว่าคนอื่น?) “ผมไม่รู้เลย เพราะผมไม่เคยไปฟังคนอื่นสอน (หัวเราะ)”
คำถาม (2): ใครที่เคยเรียนกับผศ.ดร.สุรศักดิ์จะทราบว่าอาจารย์มีเทคนิคการสอนที่เป็นเอกลักษณ์ เช่นการตัดเนื้อข่าวจากหนังสือพิมพ์มาใช้ในเอกสารประกอบการสอนหรือออกข้อสอบ หรือเอาสัญญาเช่าจริง ๆ มาให้นักศึกษาดู เช่นสัญญาเช่าระหว่างธรรมศาสตร์กับ AIT ปัจจุบันก็เป็นพวกคลิปวิดีโอต่าง ๆ เราเลยถามอาจารย์ถึงที่มาของการใช้เทคนิคการสอนแบบนี้
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “จุดที่ผมอยากทำซึ่งจริง ๆ ก็เป็นมาตรฐานการสอนทั่วไปก็คือ พยายามให้นักศึกษามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ซึ่งห้องเล็กมันทำได้ ให้มีส่วนร่วมในการคิดและแสดงความคิดเห็นในกิจกรรมต่าง ๆ แต่ห้องใหญ่มันทำยาก แต่ก็พยายามทำ อย่างเช่นในวิชาเอกเทศสัญญา 1 ตอนสอนขายทอดตลาดผมก็เคยทำการขายทอดตลาดจริง ๆ ในห้อง ให้นักศึกษาสู้ราคากัน ก็เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาห้องใหญ่สามารถทำร่วมกันได้ แล้วก็มีเทคนิคอื่น ๆ อย่างเช่น ให้นักศึกษาทำแบบฝึกหัดจากข้อสอบเก่าในห้อง หรือตอบคำถามจากปัญหาปัจจุบัน นักศึกษาช่วยกันคิดในห้องก่อนแล้วเฉลย อย่างนี้เป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่ใช้ในห้องเรียนขนาดใหญ่ได้ แต่คงจะมีเทคนิคอื่น ๆ ที่อาจารย์ท่านอื่นใช้ ซึ่งอาจารย์ทั้งหลายต้องมาแลกเปลี่ยนกัน”
(ในการบรรยายวิชา เอกเทศสัญญา 1 ภาค 2/2560 ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้จัดกิจกรรมขายทอดตลาดให้นักศึกษาสู้ราคากัน อ่านรายละเอียด ได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/auction/)
“ผมได้แนวคิดมาจากการเรียนการสอนแบบนี้ที่ธรรมศาสตร์ ผมจำชื่ออาจารย์ไม่ได้แล้ว มันนานมาแล้ว อาจารย์เขาก็บอกว่า การเรียนให้มันสอดคล้องกับความเป็นจริง คือนักศึกษาสามารถที่จะเอากฎหมายไปใช้และตอบปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชีวิตจริงได้ แล้วก็อาจารย์ก็บอกว่านักศึกษาควรจะอ่านข่าวหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ แล้วก็มาถามอาจารย์ในปัญหาข่าวที่เกิดขึ้น เพื่อให้สิ่งเรียนตอบปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ ได้ อาจารย์เขาบอกแบบนี้ แต่จริง ๆ อาจารย์ก็ไม่ได้สอนแบบนี้ (ฮา) เพราะว่าทำยาก มันต้องติดตามข่าวบ่อย ๆ ซึ่งพอผมไปเป็นอาจารย์ผมก็เลยเอาแนวคิดมาใช้ ถ้าเราสอนให้มันสอดคล้องกับความเป็นจริงและมันใกล้กับชีวิตประจำวันแล้วก็มันน่าสนใจและน่าสนุก”
“จริง ๆ ก็คือมีฎีกา มีอะไรผสมไปด้วย คือเราต้องเข้าใจว่าปัญหาทางกฎหมายที่มันเกิดขึ้นในศาลฎีกาโดยปกติถ้าในคดีแพ่งนี่มันเฉพาะคดีที่มันพิพาทกันเกี่ยวกับเงินจำนวนเยอะ ๆ เรียกว่าเป็นแสนเป็นล้าน หลาย ๆ ล้านเป็นหมื่นยังไม่มีใครฟ้อง มันไม่คุ้ม มันเสียเวลาเสียค่าทนายความ ฉะนั้น คดีที่มันขึ้นสู่ศาลฎีกาจึงเป็นคดีของคนรวย แต่ว่าคดีที่เราเจอกันในชีวิตประจำวัน มันเป็นคดีชาวบ้าน แล้วตัวเราก็เจอข้อพิพาทกัน 100, 200 1,000, 2,000 10,000 อะไรอย่างนี้ ซึ่งไม่มีใครตอบ ผมก็เอาเรื่องมาตอบให้นักศึกษาฟังมันก็เลยดูน่าสนใจแค่นั้นเอง เพราะว่ามันทำให้เขารู้ว่า สิ่งที่เขาเรียนมันเอาไปใช้ได้ แล้วหลักคิดที่ตอบคดีเล็ก ๆ พวกนี้มันก็เป็นหลักการเดียวกันที่จะไปตอบคดีใหญ่ ๆ”
คำถาม (3) : ตอนเป็นอาจารย์ประจำ ผศ.ดร.สุรศักดิ์สอนวิชาบังคับ 4 วิชา ได้แก่กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา กฎหมายลักษณะหนี้ : หลักทั่วไป เอกเทศสัญญา 1 และกฎหมายแรงงาน เรียกได้ว่าในการเรียนสี่ปีนักศึกษาบางคนอาจจะเคยเรียนวิชาบังคับกับอาจารย์ถึง 4 เทอม ครึ่งหนึ่งของการเรียนเลยทีเดียว เราเลยถามอาจารย์เกี่ยวกับการสอนว่าก่อนหน้านี้อาจารย์เคยสอนวิชาอื่น ๆ อีกหรือไม่ และทำไมอาจารย์จึงได้มาสอน 4 วิชานี้
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “ตอนแรกที่ผมสอนคือกฎหมายรัฐธรรมนูญนะ อีกอย่างตอนนั้นมันปี 2518 ลัทธิประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญกำลังเฟื่องฟู อีกทั้งได้สอนวิชากฎหมายแรงงาน ตอนนั้นยังเป็นวิชาเลือกอยู่ ช่วงนั้นก็หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขณะนั้นผมเรียนอยู่ปี 3 พอปี 2518 เรียนจบก็มาสอน หลังจากนั้นไม่นาน ได้สอนเอกเทศสัญญา 2 นิติกรรม สัญญา หนี้ ซื้อขาย กฎหมายแรงงาน ส่วนวิชาเลือก ได้สอนหลักกฎหมายเยอรมันอยู่ไม่กี่ครั้ง และสอนกฎหมายธุรกิจสำหรับนักศึกษานอกคณะ นอกจากนี้ยังมีวิชาสอนในระดับปริญญาโทซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวเนื่องต่อจากวิชาปริญญาตรี”
(วิทยานิพนธ์ของอาจารย์เป็นเรื่องอะไรครับ?) “ผมทำเรื่องละเมิดในปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกระทำและผลในชั้นปริญญาโท แล้วพอชั้นปริญญาเอกมาทำเกี่ยวกับพวกละเมิดเหมือนกันในมาตรา 425 ป.พ.พ.”
(แล้วทำไมอาจารย์จึงไม่สอนละเมิดครับ) “ก็คือว่า ตอนแรกผมจบปริญญาโททางละเมิดมาแล้วตอนนั้นพอจบปริญญาโทก็เตรียมไปเรียนปริญญาเอกต่อก็เลยไม่ได้สอนเพราะว่ามีวิชาหนี้และวิชาอื่น ๆ เยอะอยู่แล้ว พอจบปริญญาเอกกลับจากเยอรมัน อาจารย์ที่เขาสอนละเมิดก็ชวนมาสอนเหมือนกัน แต่ตอนนั้นก็มีคนสอนอยู่แล้ว และผมมีวิชาอื่นอยู่แล้ว และพอดีในช่วงนั้นที่ผมกลับมามันยังไม่มีการแบ่งกลุ่มเป็นย่อย ๆ แบบปัจจุบัน คือวิชาหนึ่งก็สอนอาจารย์อยู่กลุ่มเดียว แล้วการที่มาเปิดกลุ่มย่อยแบบที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันมันเพิ่งทำได้หลังจากผมกลับมาจากเยอรมันประมาณ 2-3 ปี”
“ก็มีการประชุมกันอยู่หลายครั้งมันจะดีหรือไม่ดี จะทำให้เกิดมาตรฐานทางวิชาการในแต่ละกลุ่มต่างกันหรือไม่ แต่ว่าจุดสำคัญก็คือว่าช่วงที่ผมมาสอนแรก ๆ มันมีอยู่กลุ่มเดียว ก็ต้องรอให้อาจารย์คนนั้นเกษียณไปก่อนซึ่งมันอีกประมาณ 30 ปี ผมก็เลยสอนวิชาอื่น ๆ”
คำถาม (4) : อาจารย์เคยสอนร่วมกับอาจารย์ท่านอื่นในวิชาบังคับแล้วแนวทางการสอนต่างกันหรือไม่ และถ้าแนวทางการสอนต่างกันจะแก้ปัญหาอย่างไร
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “คือจริง ๆ ไม่เคยเลยตั้งแต่ผมสอนมา ถ้ามีการเป็นแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ กลุ่มผมก็จะสอนเดี่ยวตลอดเลย จริง ๆ อาจารย์คนที่สอนละเมิดตอนผมกลับมาใหม่ ๆ ก็ชวนผมมาสอนเหมือนกัน แต่ต้องเป็นการสอนร่วม ผมก็ไม่เอาเพราะว่าผมชอบสอนคนเดียว เนื่องจากว่าการสอนคนเดียวจะสามารถโยงใยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเนื้อหาจากชั่วโมงแรกจนถึงชั่วโมงสุดท้าย หลัง ๆ ก็จะมีอาจารย์ใหม่ ๆ เวลาเรียนจบกลับมาก็ อยากจะมาสอนร่วมกับผม ผมก็บอกคุณตั้งกลุ่มเองเลย ผมก็ให้เหตุผลเขาว่า วิชาต่าง ๆ มันมีความเกี่ยวโยงกันตั้งแต่ชั่วโมงแรงจนถึงชั่วโมงสุดท้าย แต่ผมมาสอนร่วมช่วงที่ผมเกษียณแล้วเท่านั้นเองเพราะมันมีความจำเป็นระเบียบมันกำหนดเอาไว้แบบนี้”
(ตั้งแต่เกษียณอายุราชการ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้หยุดสอนวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา และกฎหมายลักษณะหนี้ เนื่องจากวิชาดังกลา่วมีผู้บรรยายซึ่งเป็นอาจารย์ประจำหลายกลุ่มแล้ว แต่อาจารย์ยังมาช่วยสอนในวิชากฎหมายแรงงาน ที่ศูนย์รังสิตและศูนย์ลำปาง เนื่องจากเป็นวิชาที่ยังขาดแคลนอาจารย์ผู้สอน และร่วมสอนในวิชาเอกเทศสัญญา 1 กลุ่มผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ทั้งที่ศูนย์รังสิตและลำปาง และในภาค 2/2562 ผศ.ดร.สุรศักดิ์ จะกลับสอนวิชากฎหมายลักษณะหนี้ : หลักทั่วไป อีกครั้งในรอบหลายปี ร่วมกับผศ.ดร.กรศุทธิ์ ที่ศูนย์รังสิต)
คำถาม (5) : อาจารย์มักจะยกตัวอย่างการสอน หรือออกข้อสอบที่เป็นมุกตลก ๆ อย่างเช่น ซื้อทุเรียนมาแล้วทุเรียนเน่า เลยโดนเมียเอาทุเรียนทุ่มหัว ถามว่าจะเรียกค่ารักษาพยาบาลจากพ่อค้าทุเรียนได้หรือไม่ หรือไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน แล้วกลับมาบ้านโดนเมียด่านอนไม่หลับทั้งคืน จึงประสงค์จะเลิกสัญญา หรือยืนอยู่หน้าแผงขายส้ม พูดว่า “ขอส้มสองกิโล” พอคนขายหยิบส้มให้ก็เดินหนีไปเลยโดยไม่จ่ายเงิน อ้างว่า “ผมขอคุณนะ ไม่ได้ซื้อ” อยากให้อาจารย์เล่าเกี่ยวกับที่มาในการใช้มุกตลกในการสอนและออกข้อสอบ
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “ผมดูในข้อเท็จจริงว่ามันอาจจะเกิดขึ้นได้ (หัวเราะ) ถ้าเราถามนักเรียนชั้น ม.5 ม.6 ว่าอยากเรียนกฎหมายไหม หลายคนจะเมินหน้าหนี เพราะรู้สึกว่ากฎหมายมันเป็นสิ่งที่ยากและมันน่าเบื่อ เมื่อเร็ว ๆ นี้ น้องชายผมก็พาลูกเขามาปรึกษาเพราะว่าเขาอยากให้ลูกเรียนกฎหมาย พ่อเป็นนักกฎหมายพวกลุงป้าน้าอาเป็นนักกฎหมายกันหมด แต่ลูกเขาไม่อยากเป็นนักกฎหมาย ใจเขาอยากให้ลูกเรียนแบบพ่อ เขาก็บอกว่ามาหาลุงเงาะ ผมก็ถามเด็กว่าทำไมไม่อยากมาเรียนกฎหมาย เขาก็บอกว่า เขาเคยเรียนอยู่ กฎหมายเป็นวิชาเลือกในชั้น ม.5 ทุกคนหลับกันหมดเลย (หัวเราะ) จริง ๆ คือไม่เฉพาะเด็กไทย ตอนที่ผมเรียนหนังสืออยู่ที่เยอรมันเพื่อนๆที่เรียนคณะอื่นพอพูดถึงกฎหมายมันก็เมินหน้าทุกคน”
“แต่จริง ๆ กฎหมายมันเรียนให้สนุกได้ ฉะนั้น ในสิ่งที่เราเอาข้อเท็จจริงใกล้ตัวมาสอนแล้วก็มาออกข้อสอบมันน่าสนุกนะครับ ตั้งแต่ผมเป็นอาจารย์มาก็ชอบชวนนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จมาคุยแล้วก็ไปเลี้ยงข้าวบ้างอะไรบ้าง ผมเจอคนหนึ่งเป็นอัยการ ตอนสอบได้ตำแหน่งอัยการ ผมได้ชวนไปเลี้ยงข้าวแสดงความยินดี เป็นนักศึกษาภาคบัณฑิต อาชีพนักเทคนิคการแพทย์เงินเดือนประมาณ 70,000 บาท เขาบอกว่ามาเรียนภาคบัณฑิต เรียน ๆ ไป สนุกมากเลย อ่านตำรากฎหมายเหมือนอ่านหนังสือการ์ตูน ยิ่งอ่านยิ่งสนุกหยุดไม่ได้ แปลกมากเลย คงจะคล้าย ๆ อาจารย์จุณวิทย์ (หัวเราะ) (หมายถึง อ.ดร.จุณวิทย์ ชลิดาพงศ์ อาจารย์ประจำคนเดียวของคณะนิติศาสตร์ซึ่งจบจากหลักสูตรภาคบัณฑิต) ยิ่งอ่านยิ่งสนุก เขาก็เลยลาออกจากการเป็นนักเทคนิคการแพทย์ทิ้งเงินเดือนก้อนใหญ่ มาเรียนกฎหมายให้จบแล้วก็สอบอัยการจนได้แล้ว ดังนั้นกฎหมายมันเรียนและสอนให้สนุกได้ซึ่งต้องเอาสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงและใกล้ตัวมาสอนกัน”
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ถ่ายภาพร่วมกับผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้บรรยายร่วม และอ.กิตติภพ วังคำ อ.สัมมนา ในวิชาเอกเทศสัญญา 1 และนักศึกษาที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชาดังกล่าว ของปีการศึกษา 2561 และ 2560 ณ ร้าน S & P โรงอาหารกรีน
คำถาม (6) : นอกจากจะชวนนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จ เช่นสอบอัยการผู้พิพากษาได้หรือจบปริญญาโทไปเลี้ยงอาหารแล้ว สิ่งที่อาจารย์ทำมาตลอดคือการเชิญนักศึกษาที่สอบได้คะแนนสูงในกลุ่มอาจารย์ไปร่วมรับประทานอาหารด้วย จึงอยากให้อาจารย์เล่าที่มาถึงการทำแบบนี้ให้ฟัง
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “ตอนสมัยผมเป็นนักศึกษามีอาจารย์ผมอยู่ 2 คนที่ชวนผมไปกินข้าว คนแรกก็คือศ.ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ คือผมชอบไปถามอาจารย์เวลาอาจารย์สอนเสร็จ อาจารย์บอกว่าโอ้โหคุณถามยาวเหลือเกินผมจะกลับบ้านละนะ งั้นไปกินข้าวด้วยกันผมก็เลยนั่งรถไปกับอาจารย์ไปที่สโมสรเนติบัณฑิตสภา ผมรู้สึกดีที่อาจารย์มีเวลาให้ อีกคน ศ.ดร.ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล สอนกฎหมายแรงงาน ท้ายชั่วโมงสอนผมถามท่านยาวมาก ท่านเลยชวนนั่งรถไปกินข้าวด้วย ผมรู้สึกดีที่อาจารย์ให้โอกาสนักศึกษามาซักถามแล้วก็เป็นกันเองให้กินข้าวด้วย”
“แล้วอีกอย่าง ตอนที่ผมไปเรียนที่เยอรมัน อาจารย์ที่เยอรมันก็ทำเหมือนกัน เป็นวิชาสัมมนาซึ่งมีคนสัมมนา 10-20 คน พอชั่วโมงสุดท้าย อาจารย์ก็จะชวนนักศึกษาไปสัมมนาในคาเฟ่เลย แล้วก็ได้กินได้อะไรด้วยกัน อาจารย์จ่ายหมด บางทีมีวิชาสัมมนาที่เรียกว่า “Block Seminar” ไปสัมมนาที่ต่างจังหวัดในบรรยากาศทุ่งนาป่าเขาช่วงเสาร์อาทิตย์ ผมก็ไปสัมมนากับเขาด้วย ได้ใกล้ชิดกับอาจารย์ ไปนอนค้างคืนที่นั้นคืนหนึ่ง สัมมนาเสร็จตอนเย็นก็ไปเตะบอลกับอาจารย์ ทำให้รู้สึกว่าเราใกล้ชิดกับอาจารย์เรากล้าที่จะซักถามอาจารย์และนักศึกษาได้ความรู้ด้วย ขณะเดียวกันอาจารย์ก็ได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างจากนักศึกษา ต่างคนต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก็ถือว่าเป็นบรรยากาศที่ดี ผมจึงเอามาทำในคณะเรา”
(อาจารย์เริ่มพานักศึกษาไปกินข้าวตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วอาจารย์เป็นคนแรกที่ทำเลยไหมครับ?) “คนแรกนี้ผมไม่รู้นะ แต่ว่าการที่อาจารย์ชวนนักศึกษาไปกินข้าวโดยปกติแล้วจะมักอยู่ในอาจารย์ที่ทำงานอยู่กับกิจกรรมนักศึกษา พวกฝ่ายการนักศึกษาสมัยก่อนคนที่ทำกิจกรรมนักศึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาก็จะพานักศึกษาไปกินข้าว แต่ว่า พานักศึกษาที่เรียนด้วยกันไปกินข้าวเนี่ย ผมไม่รู้ว่าผมเป็นคนแรกเปล่า ผมชอบชวนสมัยก่อนนู้น…มันนานมาแล้ว 30 กว่าปีมาแล้ว ก็ชวนไป ๆ สมัยก่อนมีสโมสรอาจารย์อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ตรงโรงอาหารกลาง ก็มักจะชวนนักศึกษาที่เขาสอบได้คะแนนสูง ๆ 10 คน 15 คนก็ได้ ไปกินกันแล้วก็ ต่อมาพอมีเงินหน่อยก็ไปกินท่าพระจันทร์ มีเงินก็ไปกินร้านหรู ๆ หน่อย ตอนแรก ๆ ไม่ค่อยมีเงินเพราะว่า แรก ๆ ผมเงินเดือนเนี่ย 1,250 บาท แต่ซื้อทองได้หนัก 4 บาทนะ ซื้อทองได้หนัก 4 บาทนะ ปัจจุบันนี้เงินเดือนอาจารย์ เงินเดือนแรกซื้อทองได้ไม่ถึงบาท คือเมื่อก่อนเงินเดือนน้อย แต่ว่าค่ามันเยอะ ค่ามันเยอะ ขับรถนี่เติมน้ำมันได้เต็มที่เลย ปัจจุบันนี้ผมเติมน้ำมันครั้งหนึ่งยังไม่ได้เลย 1,250 บาท ผมเติมครั้งละประมาณ 1,500 บาท แต่ผมเติมได้ทุกเดือน”
คำถาม (7) : ขอถามเกี่ยวสไตล์ภาษาที่อาจารย์ใช้ ไม่ว่าจะในข้อสอบหรือในการสอน บางครั้งอาจารย์จะใช้ภาษาที่ไม่ได้ทางการมาก เช่น ใช้คำว่า “หมา” แทนคำว่า “สุนัข ”หรือบางครั้งในข้อสอบของอาจารย์จะมีข้อเท็จจริงประมาณ 2-3 บรรทัดที่เล่าเรื่องตลก ๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้จำเป็นหรือเป็นประเด็นสำหรับข้อสอบ อาจารย์ตั้งใจให้เป็นแบบนั้นหรือไม่
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “ผมตั้งใจให้มันตลก จริง ๆ แล้วถ้าคนรู้จักผมจะรู้ว่าผมเป็นคนตลก ชอบคุย ชอบทำอะไรให้มันตลก ๆ มันจะได้น่าสนใจขึ้น อย่างเรื่องหมาเนี่ยผมก็งงเหมือนกันว่า ผมออกข้อสอบอย่างเช่นใช้คำว่า “หมา” เป็นข้อสอบ จำไม่ได้ว่าวิชาอะไร กฎหมายแรงงานหรือเอก 1 (เอก 1 ครับ เป็นกรณียกหมาให้ไปเลี้ยงแล้วผู้รับเอาไปขายให้พ่อค้าขายเนื้อหมา) ใช่ ๆ เอก 1 ผมเรียกว่าน้องหมา แล้วกรรมการพิมพ์ข้อสอบท่านหนึ่งบอก มันเป็นภาษาพูด มันไม่สุภาพต้องใช้คำว่า สุนัข ผมก็ยังคิดอยู่ว่า “หมา” มันคู่กับ “แมว”นะ ถ้าหมามันไม่สุภาพแล้วแมวมันควรจะใช้อะไร (หัวเราะ) วิลาสินี หรือว่ายังไง”
“สำนวนแบบนี้มีแต่ผมใช้ ในขณะเดียวกันนักศึกษาเขาก็กังวล อย่างในทางสังคมชื่อสัตว์บางชนิดนักศึกษาเขารู้ว่ามันไม่ควรใช้ เวลาผมออกข้อสอบคำว่า “หมา” พอนักศึกษาตอบ กลับใช้คำว่า “สุนัข” (หัวเราะ) มันก็ตลกดีเหมือนกันนะ นักศึกษาก็กลัวว่า มันจะไม่สุภาพ ผมแค่อยากให้มันตลก ๆ เท่านั้นเอง ให้การเรียนกฎหมายมันผ่อนคลายไปบ้าง”
(เวลาอาจารย์เฉลยข้อสอบ บางครั้งจะมีคำตอบที่คาดไม่ถึงแบบตลก ๆ เช่น คู่กรณีไม่มีสิทธิอะไรต่อกันเลย อาจารย์เฉลยในห้องว่า “ให้ทำใจ แยกย้ายกันไปทำบุญ ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องเจอกันอีก“ คำตอบแบบนี้นักศึกษาเอามาตอบในข้อสอบได้จริง ๆ ไหมครับ) “ก็ไม่จำเป็น เพราะว่า ผมก็เขียนให้มันตลก (หัวเราะ) นอกจากผมพูดในคาบบรรยายแล้ว Power Point เฉลยข้อนี้ผมส่งไปให้กับนักศึกษาทุกคนทางไลน์กลุ่ม ก็คือว่าเป็นแค่ตลกเท่านั้นเอง เอามาตอบก็ได้ไม่เอามาตอบก็ได้ (หัวเราะ)”
(อาจารย์ชอบมุกตลกมุกไหนของตัวเองมากที่สุดครับ?) “(หัวเราะ) จริง ๆ ผมก็มีมุกตลอด มุกที่ผมชอบที่สุดคือมุกตลกที่ผมขำเองด้วย แต่จำไม่ค่อยได้ มันอยู่ที่โอกาส จำไม่ได้ (หัวเราะ) ถ้านึกได้จะไลน์มาบอก”
คำถาม (8) : อยากถามเรื่องการเรียกชื่อของศูนย์รังสิตและลำปาง ที่อาจารย์เรียกรังสิตว่า “เชียงราก” เรียกลำปางว่า “ทุ่งบ่อแป้น” ว่ามีที่มาอย่างไร
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “คืออย่างนี้ ผมก็งงตั้งแต่แรกก็คือว่า ผมไปธรรมศาสตร์รังสิตนี่ ทำไมเรียก “รังสิต” เพราะว่าจากรังสิตไปธรรมศาสตร์ ถ้าเดินมาใช้เวลาเป็นวันจะถึงไหม มันไกลกันตั้งมาก ผมจึงไปถามคนที่อยู่แถวนั้นเลย ถามแม่บ้านที่มาทำความสะอาดตึกซึ่งเกิดในแถบนี้ ผมก็ถามเขาว่าแถวนี้คือท้องถิ่นอะไร เขาบอกแถวนี้เรียกว่า “เชียงราก” แล้วผมถามต่อไปว่าเรียกแถวนี้รังสิตไหม คำตอบคือไม่ใช่ รังสิตมันอยู่แถวตลาดรังสิตนู่น แถวฟิวเจอพาร์ค แถวนี้คือเชียงราก”
“ตอนผมไปลำปาง ผมก็สงสัยว่า ทำไมเราไม่เรียกมธ.ตามถิ่นที่ตั้ง แต่กลับเรียก “ธรรมศาสตร์ลำปาง” อย่าง ม.เกษตรตั้งอยู่ที่กำแพงแสน จังหวัดนครปฐมเขาก็ไม่ได้เรียก “เกษตรนครปฐม” แต่ใช้ “เกษตรกำแพงแสน” ตามถิ่นที่ตั้ง คุณอานันท์ นักศึกษาที่เรียนกับผมที่ มธ.ลำปางได้ถามผู้ใหญ่บ้าน ได้ความว่า “ทุ่งบ่อแป้น” เป็นบริเวณท้องถิ่นที่ มธ.ตั้งอยู่ ผมก็เลยเรียกทุ่งบ่อแป้นเป็นต้นมา”
“คำถามคือว่าทำไมไม่เรียกตามตำบล ที่ตั้งของ มธ.อยู่ในเขตตำบลปงยางคก ที่เราไม่เรียกตามตำบล ก็เพราะว่า ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก็ไม่ได้เรียกตามตำบล ตรงนี้ไม่ใช่ตำบลท่าพระจันทร์ หากเป็นตำบลพระบรมมหาราชวัง ไม่งั้นเราต้องเรียก “ธรรมศาสตร์ พระบรมมหาราชวัง” เราเรียกตาม “ท้องถิ่นที่ตั้งอยู่” ตรงนี้ ท่าพระจันทร์ก็เรียก ท่าพระจันทร์ ตรงนั้นทุ่งบ่อแป้น ก็เรียกทุ่งบ่อแป้น เชียงรากก็เรียกเชียงรากเท่านั้นเอง ใครไม่ชินก็ไม่เป็นไร แต่ผมเรียกให้มันถูกต้อง”
(มีปีหนึ่งอาจารย์เขียนไปในข้อสอบเลยนะครับ การสอบเอกเทศสัญญา 1 คณะนิติศาสตร์ มธ. ทุ่งบ่อแป้น เจ้าหน้าที่ก็คงคำว่า “ทุ่งบ่อแป้น” ไว้ ไม่เปลี่ยนเป็น ศูนย์ลำปาง) “เพราะว่าเขาไม่ทันดูไง (หัวเราะ) จริง ๆ เขาแก้ก็ได้ ไม่แก้ก็ได้ ดูแล้วตลกดี แต่ว่านักศึกษาที่เรียนกับผมที่ลำปางทุกคน จะรู้ว่าผมเรียกว่า “ทุ่งบ่อแป้น” เพราะเอกสารที่ผมแจก หน้าปกผมจะพิมพ์ว่า “ทุ่งบ่อแป้น””
คำถาม 9 : ทำไมชื่อตัวละครในข้อสอบอาจารย์ไม่เคยเปลี่ยนเลย จะเป็น แดง ดำ ขาว ตลอด
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “ถูกต้อง ก็คือว่าตอนผมเรียนที่นี่ ชื่อตัวละครในโจทย์ที่จะต้องสอบเนี่ยก็ยาวมาก 3 4 5 พยางค์ ก็มาจากละครทีวี อะไรต่าง ๆ มันเสียเวลาเขียนไง ตอนนี้อาจารย์ส่วนหนึ่งก็ใช้คำว่านาย ก. นาย ข. นาย ค. อะไรอย่างนี้ ซึ่งบางทีเวลาเราเขียนตอบมันก็จะสอบสนว่า ก. ไก่ กับ ค. ควาย บางทีเขียนไปเขียนมามันเหมือน ๆ กัน ผมเลยเอาชื่อสั้น ๆ ให้มันเหมือนหมด 5 ข้อ มีนายดำกับนายขาวเป็นตัวหลัก นายดำคือคนไม่ดีคนร้าย นายขาวคือคนดีคนน่าสงสารซึ่งอาจจะมีสิทธิเรียกร้อง เรียกค่าเสียหาย แล้วก็จะมีตัวละครตัวที่ 3 คือนายแดง คือ ตั้งใจจะให้มันสั้น ๆ แต่สั้นมาก ๆ เป็น ก ข ค ง ก็ไม่เอา เพราะมันจะสับสนได้”
“และอีกอย่างหนึ่งเนี่ย ตอนที่ผมเรียนอยู่เยอรมันเนี่ยเขาจะไม่ใช้ชื่อคนเลย เขาใช้ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้เช่า ผู้ให้เช่า ในตำราเหมือนกัน แล้วผู้ซื้อในภาษาเยอรมันเรียกว่า Käufer เนี่ยมันมีตัว K อยู่ข้างหน้า ก็ใช้ K เฉย ๆ ผู้ขาย Verkäufer V อยู่ข้างหน้าใช้ตัว V เป็นที่รู้กัน คือไม่ใช้ชื่อคน เอาชื่อในทางกฎหมายไปเลย ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้เช่า ผู้ให้เช่า แต่ว่าใช้คำย่อ มันก็สะดวก เพราะฉะนั้น นักศึกษาไม่ต้องไปจำชื่อมาก แล้วก็มันไวในการเขียนเพราะไม่งั้นนักศึกษามัวแต่มาสะกดชื่อตัวละครเสียเวลาเขียน”
คำถาม (10) : ข้อสอบอาจารย์ในหลาย ๆ วิชาจะมีการจัดตัวบทที่เกี่ยวข้องให้ในห้องสอบ ซึ่งต่างจากอาจารย์ส่วนใหญ่ อยากถามว่าทำไมอาจารย์จึงเลือกให้ตัวบทแก่นักศึกษาในการสอบ
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ : “จริง ๆ ผมตั้งใจจะให้ตัวบทในทุกวิชาที่ผมสอนเพียงแต่ว่าบางวิชาก็จะไม่ได้ทำ บางวิชาก็ทำมันขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่สอนในวิชาเดียวกัน แต่คนละกลุ่มว่าเขายินดีหรือเปล่า เพราว่ามันเกิดความสับสนได้ อย่างในวิชาหนี้มันก็มีหลายกลุ่ม กลุ่มอาจารย์วีรวัฒน์ (ผศ.ดร.วีรวัฒน์ จันทโชติ) ซึ่งอาจารย์วีรวัฒน์เขายินดีให้มีตัวบท ก็เลยทำได้ เพราะอย่างน้อยก็มีสองกลุ่ม เพราะการให้ตัวบทก็อาจจะมีความผิดพลาดได้ คืออย่างในวิชาหนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็คือว่า สองกลุ่มนี้ให้ตัวบทปรากฏว่า เวลาสอบเจ้าหน้าที่ไปแจกตัวบทในอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาห้ามใช้ตัวบท ปวดหัวกันมากเลย แล้วมันแจกไปแล้ว ก็เลยตามเลย ต้องขอโทษอาจารย์ที่เขาออกข้อสอบ เขาก็ไม่ว่าอะไร”
“จุดที่ผมคิดว่าควรจะมีตัวบทก็เนื่องจากว่าในชีวิตการทำงานทุกคนต้องเปิดตัวบทหมด แล้วคิดว่าถ้าไม่มีตัวบทให้ เวลานักศึกษาอ่านหนังสือเขาจะเสียเวลามาท่องตัวบท แทนที่จะอ่านด้วยความเข้าใจแล้วก็จะสามารถใช้ตัวบทเป็น กลับมาเสียเวลาในการท่องตัวบท ผมก็เลยคิดว่าให้เขามีตัวบทดีกว่า แล้วในหลายประเทศที่รู้จัก เช่น ในที่เยอรมันที่ผมไปเรียนก็ให้ตัวบทกับนักศึกษา ซึ่งผมก็เริ่มเอามาใช้ เพื่อนักศึกษาจะได้อ่านหนังสืออย่างมีความสุข”
“บางวิชาที่ตัวบทน้อยก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ว่าในบางวิชามันจะยุ่งยากมาก อย่างกฎหมายแรงงาน มีทั้งประมวลแพ่งฯ และ พ.ร.บ. ต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด”
“อาจารย์บางคนที่ไม่ให้ตัวบท ก็ให้เหตุผลว่า ก็ที่อื่น ๆ ก็ไม่ให้ใช้ตัวบทในการสอบ เช่นเวลานักศึกษาไปสอบเนติฯ สอบอัยการ สอบผู้พิพากษา ควรจะให้นักศึกษาคุ้นเคยตั้งแต่เรียนธรรมศาสตร์ว่า คุณต้องเรียนแบบนี้ อย่างนี้คุณต้องท่องตัวบท ไม่อย่างนั้นคุณจะสอบในระดับชาติไม่ได้”
“ผมก็บอกว่า ก็มันก็มีวิชาทั้งที่มีตัวบทและไม่มีตัวบท ที่ไม่มีตัวบทนักศึกษาก็ไปเรียนรู้ในวิชาอื่นก็แล้วกัน ส่วนในวิชาผมก็ให้เขามีตัวบทก็จะได้อ่านหนังสืออย่างมีความสุข และอีกอย่างหนึ่งในวิชาที่ผมสอนบางวิชาตัวบทมันเยอะมากจำไม่หวาดไม่ไหว อย่างตัวอย่างง่าย ๆ ผมสอนหนี้แล้วผมออกข้อสอบเรื่องบุริมสิทธิซึ่งมีความซับซ้อนและต้องคำนวณออกมาเป็นตัวเลขที่แน่นอน จะไม่มีใครทำได้ หากไม่มีตัวบทในมือ วิธีการนี้ผมแค่อยากนักศึกษาจะได้อ่านหนังสืออย่างมีความสุขและทำข้อสอบอย่างมีความสุข”
การพูดคุยกับผศ.ดร.สุรศักดิ์เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ สัมผัสได้ถึงความอารมณ์ดี (และอินดี้)ของอาจารย์ ทั้งนี้ พูดคุยกับอาจารย์ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ครั้งหน้าเราจะคุยกับอาจารย์ในประเด็นทางวิชาการที่เกี่ยวกับการตีความกฎหมายของอาจารย์ซึ่งบางประเด็นแตกต่างจากตำราส่วนใหญ่ ติดตามได้เร็ว ๆ นี้
ภาพโดย Pump
แต่งภาพโดย สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง KK