ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ มณีศร หรือที่หลายคนเรียกอาจารย์เงาะ อดีตอาจารย์ประจำ (ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ) คณะนิติศาสตร์ ผู้บรรยายวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา กฎหมายลักษณะหนี้ เอกเทศสัญญา 1 และกฎหมายแรงงาน ซึ่งมีสไตล์การสอนและการตีความกฎหมายที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นการตัดเนื้อข่าวจากหนังสือพิมพ์มาสอน หรือการยกตัวอย่างประกอบการสอนโดยใช้ตัวอย่างง่าย ๆ (แต่ตอบยาก) เช่น ผู้ซื้อสั่ง “กล้วยปิ้งไม่ไหม้” แต่ผู้ขายเข้าใจว่า “ไหม้ไหม้” จึงเกิดปัญหาว่าผู้ขายมีหน้าที่ต้องส่งมอบกล้วยดำ ๆ หรือขาว ๆ หรือจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องคำเสนอสนองไม่ต้องตรงกัน สัญญาจึงไม่เกิด หรือการตีความกฎหมายในหลาย ๆ เรื่องที่แตกต่างจากตำราส่วนใหญ่ เช่น บทบัญญัติมาตรา 203 ในกฎหมายหนี้บัญญัติว่า “ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน” ซึ่งอาจารย์อธิบายว่า ทุกกรณีสามารถ “อนุมานจากพฤติการณ์ได้เสมอ” หากตำราเล่มใดยกตัวอย่างกรณีที่อนุมานกำหนดชำระหนี้จากพฤติการณ์ไม่ได้ อาจารย์จะอนุมานให้เอง หรือกรณีทรัพย์ที่ซื้อขายชำรุดบกพร่องตามมาตรา 472 ในกฎหมายซื้อขาย ซึ่งตำราส่วนใหญ่อธิบายว่า ต้องเป็นกรณีทรัพย์แตกหักบุบสลาย หรือมีความเสียหายในเนื้อหาของทรัพย์นั้นเอง แต่อาจารย์ยกตัวอย่างว่า ซื้อมะม่วงมันแล้วผู้ขายส่งมอบมะม่วงเปรี้ยว แม้มะม่วงไม่ได้เน่าเสียก็ถือเป็นทรัพย์ชำรุดบกพร่องแล้ว นอกจากนี้ยังมีการแทรกมุกตลกต่าง ๆ ในการสอนและในข้อสอบ เช่น การเรียกศูนย์รังสิตว่า “เชียงราก” และเรียกศูนย์ลำปางว่า “ทุ่งบ่อแป้น”
เราจะพาคุณไปพูดคุยแบบเป็นกันเองกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ มณีศร ถึงความอารมณ์ดี และความ “อินดี้” ที่ไม่เหมือนใครของอาจารย์ ติดตามได้ใน คอลัมน์ “คุยกับนักกฎหมายธรรมศาสตร์ : คุยกับอาจารย์กฎหมาย” ตอนที่ 3 เร็ว ๆ นี้