นอกจากหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ซึ่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการเรียนการสอนหลายหลักสูตร ทั้ง 3 แคมปัสแล้ว คณะนิติศาสตร์ยังได้จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในหลักสูตร LLB และ LLM และได้บรรจุอาจารย์ประจำซึ่งเป็นชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งเพื่อรับผิดชอบวิชาในหลักสูตรดังกล่าวร่วมกับอาจารย์ประจำชาวไทย อาจารย์ ดร. Lasse Schuldt (ลัสเซอ ชุลท์) ชาวเยอรมัน เป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์มาเป็นเวลากว่า 3 ปี เราจะพาคุณไปพูดคุยกับอาจารย์ลัสเซอ (เป็นภาษาอังกฤษ) ถึงเส้นทางและประสบการณ์การทำงานที่คณะนิติศาสตร์ การใช้ชีวิตในเมืองไทย และเรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมายเยอรมัน
อ่านบทสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ (ต้นฉบับ) ได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/talkwithlawlecturers-ep7/
คำถาม (1) : อยากให้อาจารย์เล่าประวัติการศึกษาและการทำงานก่อนมาร่วมงานกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์รู้จักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อย่างไร รวมถึงมาทำงานกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อย่างไร
อาจารย์ ดร.ลัสเซอ ชุลท์ : อาจารย์สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Humboldt กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ระหว่างศึกษาอาจารย์ได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยปารีสประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาหนึ่งภาคการศึกษา และได้ศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเดียวกันเป็นระยะเวลา 3 ปี หัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่อาจารย์ศึกษานั้นเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของผู้สื่อข่าวในกรณีการเผยแพร่ข้อมูลลับทางราชการ หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในมหาวิทยาลัย อาจารย์ ได้ศึกษากฎหมายภาคปฏิบัติต่อเป็นระยะเวลา 2 ปีและได้ผ่านทดสอบกฎหมายขั้นสูงตามระบบการศึกษากฎหมายของประเทศเยอรมนี (Second State Examination) หลังจากนั้นได้เข้าทำงานในฐานะผู้ช่วยอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Humboldt และได้ย้ายไปทำงานที่สำนักงานกฎหมาย โดยได้เริ่มงานในสำนักกฎหมายที่เน้นการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายพาณิชย์ ก่อนที่จะย้ายมาเป็นทนายความเชี่ยวชาญสาขากฎหมายอาญาในเวลาต่อมา หลังจากนั้นได้เดินทางมาที่ประเทศไทย ในช่วงแรกดำรงตำแหน่งอาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และต่อมาได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนถึงปัจจุบัน
อาจารย์รู้จักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2557 ตอนย้ายเข้ามาที่ประเทศไทย ในช่วงแรกดำรงตำแหน่งอาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเวลา 1 ปี ต่อมาได้รับการติดต่อจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มุนินทร์ พงศาปาน และได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนถึงปัจจุบัน นอกจากการดำรงตำแหน่งอาจารย์แล้ว อาจารย์ยังเป็นผู้แทนของ German Academic Exchange Service (DAAD) ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างมหาวิทยาลัยในเยอรมนีกับนักศึกษาและอาจารย์ในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเข้าร่วมโครงการ German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance (CPG) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย
คำถาม (2) :อาจารย์ใช้ชีวิตในประเทศไทยมาเป็นเวลานานเพียงใดแล้ว และอาจารย์รู้สึกอย่างไรกับการใช้ชีวิตในประเทศไทย และ อาจารย์ชอบอะไรมากที่สุดเกี่ยวกับประเทศไทย
อาจารย์ ดร.ลัสเซอ ชุลท์ : อาจารย์ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทยมาเป็นเวลา 5 ปีครึ่งแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 รู้สึกชอบการใช้ชีวิตในประเทศไทยมากเพราะประเทศไทยมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น วัฒนธรรม อาหารและสถานที่ท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังประทับใจการทำงานที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างมาก เนื่องจากมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำวิจัยในประเด็นที่อาจารย์สนใจและอาจารย์ยังได้พบปะกับนักศึกษากฎหมายที่มีความกระตือรือร้นในการศึกษา
อาจารย์ชอบความเป็นมิตรของคนไทย ชื่นชนลักษณะนิสัยของคนไทยตั้งแต่ช่วงเวลาแรก ๆ ที่เข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทย เมื่อพูดภาษาไทยกับคนไทย อาจารย์มักจะพบเห็นว่าคนไทยเป็นคนที่มีอารมณ์ดีและเป็นมิตรเสมอ ดังนั้นจึงชื่นชอบและประทับใจการสื่อสารพูดคุยกับคนไทยมาก
(อาจารย์คิดถึงสิ่งใดมากที่สุดเกี่ยวกับประเทศเยอรมนี) คิดถึงครอบครัวของอาจารย์ในเยอรมนี พยายามจะกลับไปเยี่ยมบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ยังคิดถึงการเปลี่ยนผ่านของฤดู ในประเทศไทยนั้นอากาศของประเทศไทยค่อนข้างคล้ายคลึงกันตลอดทั้งปี จึงคิดถึงการเปลี่ยนผ่านฤดูในเยอรมนี ที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ นอกจากนี้ยังคิดถึงขนมปังของชาวเยอรมันซึ่งค่อนข้างหาได้ยากในประเทศไทยอีกด้วย
(อาจารย์หาสินค้าจากเยอรมันได้จากที่ไหนในกรุงเทพมหานคร) ซื้อสินค้าเยอรมันจากร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง สินค้าเยอรมันส่วนมากก็จะเป็นช็อกโกแลตและอื่น ๆ สำหรับขนมปังที่ทำในประเทศไทยในรูปแบบเหมือนกับที่เยอรมนีนั้นมีอยู่บ้างแต่หาได้ค่อนข้างยาก
คำถาม (3) : อาจารย์คิดว่าทักษะภาษาไทยของอาจารย์เป็นอย่างไร
อาจารย์ ดร.ลัสเซอ ชุลท์ : อาจารย์คิดว่ามีความสามารถในการสื่อสารในใช้ชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้อาจารย์ได้ศึกษาการอ่านและการเขียนภาษาไทยอีกด้วย คิดว่าความสามารถในการอ่านและการเขียนภาษาไทยทำให้อาจารย์สามารถทำการวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายไทยได้กว้างขวางมากขึ้น แต่สำหรับการพูดคุยกับผู้คนกลุ่มใหญ่ที่หลายคนพูดพร้อมกันอย่างรวดเร็วนั้น เช่นการพูดคุยในร้านอาหารที่มีเสียงรอบข้างค่อนข้างดัง จะสามารถจับใจความได้ค่อนข้างยาก
(อาจารย์คิดว่าภาษาไทยยากหรือไม่) อาจารย์คิดว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่ยากเพราะการออกเสียงและวรรณยุกต์ ในภาษาเยอรมันไม่มีระบบวรรณยุกต์ ผู้คนสามารถพูดภาษาเยอรมันโดยใช้ระดับเสียงได้ก็ได้แต่ยังคงความหมายเดิมแต่ในภาษาไทยนั้นคำแต่ละคำมีระดับเสียงที่แตกต่างกัน สำหรับชาวต่างชาติที่มาจากประเทศที่ไม่คุ้นเคยกับวรรณยุกต์ การศึกษาภาษาไทยจึงเป็นสิ่งที่ยาก แต่ไวยากรณ์ของภาษาไทยไม่ใช่เรื่องที่ยาก การสร้างรูปประโยคหรือกลุ่มคำนั้นสามารถสร้างได้ง่ายและรวดเร็ว อย่างไรก็ตามอาจารย์คิดว่า การศึกษาวิธีการสื่อสารภาษาไทยอย่างสุภาพก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ค่อนข้างท้าทาย
(มีเสียงใดในภาษาไทยที่อาจารย์ออกเสียงไม่ได้หรือไม่) ทุกวันนี้อาจารย์สามารถออกเสียงได้หลายเสียง แต่อาจารย์จำได้ว่าในสมัยแรกเริ่มที่อาจารย์เริ่มต้นศึกษาภาษาไทยการออกเสียงพยัญชนะ “ง” เป็นสิ่งที่ยาก เพราะในภาษาเยอรมันเสียงนี้จะเป็นตัวสะกดเท่านั้น ไม่ใช่พยัญชนะต้นแบบในภาษาไทย สำหรับเสียงอื่น ๆ อาจารย์คิดว่ามีความคล้ายคลึงกับภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน
(อาจารย์สามารถสอนเป็นภาษาไทยได้หรือไม่) อาจารย์ยังไม่สามารถสอนโดยใช้ภาษาไทยได้ เพราะคำศัพท์กฎหมายมีความเฉพาะตัวและต้องใช้เวลาในการศึกษา อาจารย์สามารถอ่านภาษาไทยและหาข้อมูลในการทำวิจัยโดยใช้ภาษาไทยได้ แต่สำหรับการสอนและการสื่อสารกับผู้เรียนโดยการพูดนั้น อาจารย์ยังต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและศึกษาคำศัพท์กฎหมายต่าง ๆ ก่อน
คำถาม (4) : อาจารย์สอนวิชาใดบ้างทั้งที่คณะนิติศาสตร์ และคณะอื่น ๆ
อาจารย์ ดร.ลัสเซอ ชุลท์ : อาจารย์เป็นผู้สอนหลักในวิชากฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญาทางธุรกิจในคณะนิติศาสตร์ อาจารย์เป็นผู้สอนร่วมในวิชาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย กฎหมายอาญาชั้นสูงสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโทในคณะนิติศาสตร์ นอกจากนี้อาจารย์เป็นผู้สอนวิชาเกี่ยวกับสหภาพยุโรปในคณะรัฐศาสตร์
(อาจารย์เคยสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตหรือไม่) อาจารย์เคยสอนวิชา Introduction to German Law ให้กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคปกติ และอาจารย์ได้สอนวิชานี้สำหรับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคปกติ ภาคภาษาอังกฤษในช่วงภาคฤดูร้อน
คำถาม (5) : อาจารย์เคยสอนที่มหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนีหรือไม่ และการสอนการสอนในประเทศไทยและประเทศเยอรมนีแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
อาจารย์ ดร.ลัสเซอ ชุลท์ : อาจารย์เคยสอนที่มหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนีก่อนหน้านี้ แต่เป็นการสอนในฐานะผู้ช่วยอาจารย์ ซึ่งอาจารย์ได้สอนนักเรียนกลุ่มเล็กหรือในวิชา Tutorial
นักเรียนไทยในภาคปกติและภาคภาษาอังกฤษนั้นมีความแตกต่างกัน อาจารย์คิดว่านักเรียนในภาคปกติไม่ค่อยโต้ตอบกับอาจารย์ผู้สอนซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากวัฒนธรรมการให้ความเคารพผู้สอนที่อาวุโสกว่า แต่นักศึกษาในภาคภาษาอังกฤษจะมีการโต้ตอบกับอาจารย์ผู้สอนมากกว่าซึ่งน่าจะมีเหตุผลมาจากความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษและอาจจะเคยศึกษาในโรงเรียนนานาชาติมาก่อน ดังนั้นนักศึกษาในประเทศเยอรมนีจะมีความคล้ายคลึงกันกับนักเรียนในภาคภาษาอังกฤษเพราะนักศึกษาจะโต้ตอบกับผู้สอนโดยมักจะถามคำถามที่มีความซับซ้อนและโต้แย้โต้เถียงทางวิชาการกับผู้สอนอยู่เสมอ
คำถาม (6) : อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) หรือ LLB ของคณะนิติศาสตร์ ที่ให้นักศึกษา ได้เรียนกฎหมายไทยเป็นภาษาอังกฤษ
อาจารย์ ดร.ลัสเซอ ชุลท์ : อาจารย์มีความคิดเห็นว่าหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่มีความทันสมัย ถึงแม้ว่าจะเป็นหลักสูตรทดลองแต่อาจารย์คิดว่าปัจจุบันหลักสูตรได้พัฒนาเป็นหลักสูตรที่มีความเข้มข้นในการศึกษากฎหมาย อาจจะมีคนสงสัยว่ากฎหมายไทยสามารถสอนเป็นภาษาอังกฤษได้หรือไม่เพราะกฎหมายนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับภาษาและคำศัพท์ภาษากฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตามหลักสูตรภาษาอังกฤษนี้จะยังคงสอนและแนะนำให้นักศึกษาได้รู้จักกับคำศัพท์กฎหมายภาษาไทยอยู่เสมอ หลักสูตรนี้ทำให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไป สามารถทำงานในสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศได้โดยที่ได้รับการศึกษากฎหมายจากระบบกฎหมายของประเทศไทย
(อาจารย์มีแผนการในอนาคตเกี่ยวกับการประกอบอาชีพอย่างไร) อาจารย์ตั้งใจจะทำงานในคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อไปและจะช่วยพัฒนาหลักสูตรภาษาอังกฤษของคณะนิติศาสตร์ ถ้ามีโอกาสอาจารย์อยากจะสานต่องานวิจัยที่เคยทำและจะช่วยคณะพัฒนาภาพลักษณ์ในทางระหว่างประเทศ เช่น การเผยแพร่บทความทางวิชาการเป็นภาษาอังกฤษหรือการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของเยอรมนีหรือประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
คำถาม (7) : การศึกษากฎหมายในประเทศเยอรมนีเป็นอย่างไร
อาจารย์ ดร.ลัสเซอ ชุลท์ : ระบบการศึกษากฎหมายในประเทศเยอรมนีส่วนใหญ่จะจัดทำโดยมหาวิทยาลัยเหมือนกับประเทศไทย นักศึกษากฎหมายใช้เวลา 4-5 ปีในการเรียนกฎหมายชั้นต้น ในประเทศเยอรมนีมีคณะนิติศาสตร์ประมาณ 40 แห่ง เมื่อสิ้นสุดการศึกษากฎหมายชั้นต้นแล้วนักศึกษากฎหมายจะต้องสอบวัดระดับการศึกษากฎหมายชั้นต้น (First State Examination) โดยใช้ข้อสอบของรัฐ ซึ่งข้อสอบนี้ประมาณ 70% จะจัดสอบโดยรัฐ แต่ประมาณ 30% จะจัดสอบโดยมหาวิทยาลัย เหตุผลเบื้องหลังของระบบนี้เพื่อคงมาตรฐานการศึกษากฎหมายทั้งประเทศ
นักศึกษากฎหมายส่วนใหญ่มักจะถามอาจารย์ ดร.ลัสเซอว่าควรจะไปศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยใดในเยอรมนี อาจารย์มักจะตอบว่า ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยและสาขาวิชาที่สนใจ แต่คุณภาพการศึกษานั้นมีความเท่าเทียมกันทุกที่ในประเทศ
หลังจากสิ้นสุดการสอบในวัดระดับชั้นต้นแล้ว นักศึกษาต้องศึกษาภาคปฏิบัติอีก 2 ปีนักศึกษาต้องผ่านการปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ศาล สำนักงานอัยการ หน่วยงานของรัฐและสำนักงานกฎหมายซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้เวลานานที่สุดเพราะนักศึกษาส่วนมาก หลังจากจบการศึกษาแล้วมักจะประกอบอาชีพเป็นทนายความในสำนักงานกฎหมาย ขณะที่นักศึกษากฎหมายศึกษาภาคปฏิบัตินี้ นักศึกษาจะได้เรียนรู้กับกฎหมายวิธีพิจารณาความไปด้วย หลังจากสิ้นสุดการศึกษาในชั้นนี้ นักศึกษาต้องทำการสอบวัดระดับชั้นสูง (Second State Examination) โดยใช้ข้อสอบของรัฐอีกเช่นกัน หลังจากนั้นนักศึกษากฎหมายสามารถประกอบอาชีพทางกฎหมายได้ โดยไม่ต้องทำการทดสอบใดอีก จะเห็นได้ว่าการทดสอบขั้นต้นหลังจากจบมหาวิทยาลัยยังไม่เพียงพอ นักศึกษาจำต้องทำการทดสอบระดับขั้นสูงก่อนที่จะประกอบอาชีพทางกฎหมาย
การศึกษากฎหมายในประเทศเยอรมนีมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ประมาณหนึ่งในสามของนักศึกษามักจะสอบไม่ผ่านในการศึกษาชั้นต้น นักศึกษามีโอกาสสอบซ่อมได้เพียงหนึ่งครั้ง นอกจากนี้นักศึกษาจำนวนมากลาพักการศึกษาในช่วงปีต้น ๆ ของการศึกษาเนื่องจากวิธีการให้คะแนนค่อนข้างเข้มงวด
(อาจารย์ยังคงติดตามการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกฎหมายเยอรมันในเรื่องกฎหมายเอกชนหรือกฎหมายอาญาอยู่หรือไม่) กฎหมายอาญาในประเทศเยอรมนีไม่มีหลักการความรับผิดของนิติบุคคล นิติบุคคลในเยอรมนีไม่สามารถถูกลงโทษตามกฎหมายอาญาได้ นิติบุคคลสามารถรับผิดได้ทางปกครองเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีการโต้เถียงในเรื่องนี้อยู่ แม้กระทั่งรัฐบาลก็ยังมีการแนะนำระบบใหม่ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลให้เกิดความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบกฎหมายเยอรมัน ประเทศเยอรมนีและประเทศลัตเวียเป็นเพียงสองประเทศในยุโรปที่ยังไม่มีหลักความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล ขณะเดียวกันก็มีความคิดเห็นโต้แย้งกับหลักการนี้ เนื่องจาก นักกฎหมายกลุ่มหนึ่งมีความคิดเห็นว่ากฎหมายอาญาควรจะลงโทษบุคคลและมีความจำเป็นที่ว่าบุคคลต้องมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีกล่าวคือมีความรู้สึกว่าสิ่งที่กระทำนั้นเป็นความผิด แต่นิติบุคคลนั้นไม่สามารถมีความตระหนักรู้ได้เพราะเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยกฎหมาย จึงมีความคิดเห็นว่ากฎหมายอาญาควรจะใช้ลงโทษแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น
คำถาม (8) : ในฐานะนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน อาจารย์คิดว่ามีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงในประเทศไทยหรือไม่
อาจารย์ ดร.ลัสเซอ ชุลท์ : ในแง่ของการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ประเทศไทยมีการพัฒนาไปอย่างมากหลังจากที่มีการตั้งรัฐบาลใหม่ ตลอดเวลา 5 ปีที่อยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร สิทธิมนุษยชนของผู้คนถูกจำกัด เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือเสรีภาพในการชุมนุม นอกจากนี้ปัญหาสิทธิในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปราศจากมลพิษก็เป็นอีกสิทธิหนึ่งที่มีการกล่าวถึงในประเทศไทยและประเทศอื่นทั่วโลก ผู้คนในปัจจุบันประสบปัญหาเกี่ยวกับสภาวะมลพิษทางอากาศ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ แต่ปัจจุบันยังมีการโต้เถียงกันอยู่ว่าสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิมนุษยชนหรือไม่ สำหรับอาจารย์อาจารย์มีความคิดเห็นว่าสิทธินี้เป็นสิทธิที่ควรได้รับการคุ้มครองและเป็นสิทธิที่รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญ
คำถาม (9) : อาจารย์มีความรู้สึกอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่าชาวเยอรมันเป็นคนที่มีความเคร่งครัดกับกฎระเบียบแต่ชาวไทยเป็นคนที่มีบุคลิกตรงกันข้ามกัน
อาจารย์ ดร.ลัสเซอ ชุลท์ : ความเชื่อที่ว่าชาวเยอรมันเป็นคนที่มีความเคร่งครัดต่อกฎระเบียบและปฏิบัติตามกฎอยู่เสมอ ในแง่หนึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในความน่าเชื่อถือของชาวเยอรมัน แต่อย่างไรก็ตามอาจารย์มีความคิดเห็นว่าคนเยอรมันบางครั้งก็ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ในประเทศเยอรมนีผู้คนให้ความสำคัญกับเสรีภาพมาก แม้ว่าชาวเยอรมันต้องการกฎหมายเพื่อทำให้สังคมสงบสุขแต่ในขณะเดียวกันชาวเยอรมันก็ไม่ต้องการกฎที่มีมากเกินไปจนขัดขวางการใช้เสรีภาพของบุคคล เสรีภาพและความเป็นไปได้ที่จะไม่ถูกควบคุมก็เป็นสิ่งที่ชาวเยอรมันชื่นชอบเช่นกัน ดังนั้นความเชื่อที่ว่าชาวเยอรมันยึดมั่นในกฎอยู่เสมอนั้นอาจจะเป็นการกล่าวเกินจริง และในขณะเดียวกันความคิดที่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่มีระเบียบก็เป็นการกล่าวเกินจริงเช่นกัน เมื่ออาจารย์เข้ามาในกรุงเทพฯและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย อาจารย์ไม่รู้สึกว่าคนไม่เคารพกฎระเบียบ ความแตกต่างนั้นไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าที่คนกล่าวขานกัน ชาวเยอรมันนั้นในอดีตเคยอยู่ภายใต้กฎระเบียบในสมัยศตวรรษที่ 19 ที่มีความเข้มงวด อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ความกดดันในสังคมเกี่ยวข้องกับการใช้กฎควบคุมความประพฤติของบุคคลได้เปลี่ยนแปลงไปและหลักการเรื่องเสรีภาพได้มีส่วนเข้ามาในสังคมเยอรมันมากขึ้น
คำถาม (10) : อาจารย์ทราบหรือไม่ว่ากฎหมายไทยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากกฎหมายเยอรมัน และอาจารย์รู้สึกอย่างไรในประเด็นนี้
อาจารย์ ดร.ลัสเซอ ชุลท์ : อาจารย์ทราบว่ากฎหมายเยอรมันมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของกฎหมายไทย กฎหมายไทยนั้นโดยเฉพาะกฏหมายเอกชน ได้รับอิทธิพลอย่างมากผ่านทางกฏหมายของประเทศญี่ปุ่นซึ่งก็ได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายเยอรมันเช่นกัน กฎหมายเยอรมันนั้นส่งอิทธิพลต่อกฎหมายหลายประเทศทั่วโลก สิ่งนี้ทำให้อาจารย์ได้เห็นว่าผู้ร่างกฎหมายและนักกฎหมายชาวเยอรมันความสามารถในการพัฒนาหลักการที่สามารถรองรับปัญหาทางกฎหมายและสังคมได้อย่างเหมาะสม จึงส่งผลให้หลักการของกฎหมายเยอรมันมีอิทธิพลต่อประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
ถ่ายภาพ Pump
คำแปลภาษาไทย กรณัฐ จันทรวีระเสถียร
เรียบเรียง KK