หากใครติดตามข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางกฎหมายเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Blockchain FinTech Cryptocurrency จะเห็นชื่ออาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เข้าไปเกี่ยวข้องในการให้ความเห็น ทำวิจัย หรือเข้าร่วมการสัมมนาวิชาการในประเด็นเหล่านั้นค่อนข้างมาก เราจะพาคุณไปคุยกับอาจารย์ปวีร์ถึงเส้นทางการเป็นอาจารย์ และความสนใจในประเด็นกฎหมายเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น การได้เป็นนักวิจัยในศูนย์กฎหมายของสถาบันแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำวิจัย และเข้าร่วมประชุมสัมมนาวิชาการต่าง ๆ ในระดับนานาชาติ
คำถาม (1) : อยากถามถึงแรงบันดาลใจในการเป็นอาจารย์
อาจารย์ปวีร์ : “ผมขอเริ่มจากว่าทำไมถึงเลือกมาเรียนนิติศาสตร์ก่อนครับ ด้วยความที่คุณพ่อของผมเป็นนักกฎหมาย เป็นศิษย์เก่าของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จริง ๆ เหมือนเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมเริ่มต้นอยากเรียน อยากเป็นนักกฎหมายเหมือนท่าน นอกจากนี้คุณแม่ของผม ท่านเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดกาญจนบุรี ผมคิดเอาเองนะว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมอยากเรียนนิติศาสตร์ และอยากเป็นครู หรืออาจารย์ครับ เหมือนส่งผลต่อความคิดของผมไปโดยที่ผมเองก็อาจจะไม่รู้ตัว ประกอบกับตอนผมเรียนในระดับมัธยมผมเป็นคนที่ชอบเขียนเรียงความ บทความ ผมเขียนประกวดหลายงานมาก ตั้งแต่เรียงความ บทความในทางวิชาการ ไปจนถึงเขียนเรียงความส่งประกวดชิงรางวัลเป็นคอร์สตรวจสุขภาพก็มีครับ (หัวเราะ) ผมเลยคิดเองว่าอาชีพครู อาจารย์ หรืออาชีพที่ได้ทำงานทางวิชาการน่าจะเหมาะกับผม”
“พอต่อมา ผมได้มาศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่คณะ ผมได้รับทั้งความรู้ และข้อคิดนอกตำรา จากอาจารย์หลายท่าน ยิ่งทำให้ความตั้งใจของผมชัดเจนขึ้นในระดับหนึ่ง”
คำถาม (2) : อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าประสบการณ์การเรียน LL.M. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาลัยธรรมศาสตร์
อาจารย์ปวีร์ : “ผมตัดสินใจมาสมัครเรียนในหลักสูตร LL.M. กฎหมายธุรกิจ ภาคภาษาอังกฤษที่คณะ ตอนนั้นหลักสูตร LL.M. ของคณะเราเปิดเป็นปีแรกพอดีครับ จริง ๆ ต้องบอกว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจมาเรียนที่นี่เพราะผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะได้ฝึกภาษาอังกฤษ ก็ต้องบอกว่าตลอดระยะเวลาที่เรียน นอกจากในเรื่องของภาษา ผมก็ได้รับทั้งความรู้ ทางทฏษฎี และปฏิบัติ จากทั้งอาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษ ได้พัฒนาทักษะในการทำวิจัย ซึ่งได้ใช้มาจนถึงในปัจจุบัน”
(เรียน LL.M. ได้อะไรบ้าง) “นอกจากได้รู้ความรู้ ได้ทักษะตามที่บอกไปก่อนหน้าแล้ว ผมได้รู้จักเพื่อนใหม่ รุ่นพี่รุ่นน้อง ซึ่งยังติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในเวลาต่อมา ก็ได้เข้าร่วมในโครงการวิจัยบางโครงการ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะได้รู้จักกับพี่ ๆ ที่เรียนที่ LL.M. ด้วยกันครับ ซึ่งผมคิดว่าคอนเนคชั่น ที่ได้มาตอนเรียน LL.M. ก็สำคัญมากเช่นกัน”
“นอกจากนี้ผมคิดว่าจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ LL.M. ธรรมศาสตร์คือ เรามีทั้งอาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษที่มีความเชี่ยวชาญ ที่คณะเชิญมาสอน ให้ความรู้ มาแบ่งปันประสบการณ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง สำหรับผมเอง ผมก็ได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจเยอะมาก จากหลักสูตร LL.M. ของคณะ เป็นความรู้ที่ต่อยอดขึ้นไป ซึ่งมันใช้ได้จริง ๆ”
(อาจารย์ที่มาสอนที่ LL.M. ส่วนใหญ่แล้วเป็นอาจารย์ที่ที่ทำงานในสาขานั้น ๆ หรือเป็นอาจารย์ประจำที่สอนกฎหมาย?) “เท่าที่ผมจำได้นะครับ อาจารย์ที่สอนมีทั้งอาจารย์ประจำ อาจารย์พิเศษที่ทำงานในด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น จากลอว์เฟิร์มหรือจากศาล ซึ่งผมเห็นว่าเป็นข้อดี ที่บางครั้งก็เราก็จะได้รับความรู้ จากการรับฟังมุมมอง ประสบการณ์ ปัญหา ที่เราอาจจะหาอ่านจากตำรา หนังสือต่าง ๆ ไม่ได้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางปฏิบัติจริง ๆ”
“ผมจำได้ว่ามีอาจารย์บางท่านที่เรียนกฎหมายมาในระดับปริญญาตรี และต่อมาท่านไปเรียนต่อทางด้านการเงิน (Finance) แล้วทำงานในด้านที่ไม่ใช่สายงานด้านกฎหมายโดยตรง แต่อาจารย์ท่านก็ได้มาแบ่งปันความรู้ ในเรื่องที่ท่านเชี่ยวชาญ ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายศาสตร์ ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้เรียนมาก”
คำถาม (3) : ทราบว่าอาจารย์ได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น อยากให้อาจารย์เล่าเกี่ยวกับทุน และการเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นว่าเป็นอย่างไรบ้าง
อาจารย์ปวีร์ : “สำหรับการที่ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Nagoya ประเทศญี่ปุ่น เป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ สำหรับผมเลย ผมไปศึกษาต่อในโปรแกรมว่าด้วย Cross-border Legal Institution Design เรียกสั้น ๆ ว่า Leading Program ครับ เป็นการศึกษาในระดับชั้นปริญญาโท LL.M. in Comparative Law แต่เนื่องจากผมเรียนในโปรแกรมเฉพาะที่แยกออกมา ก็จะมีวิชาเรียนที่แยกต่างหากจากนักศึกษาปริญญาโท LL.M. ปกติ ทางโปรแกรมที่ผมเข้าศึกษาจะเน้นในเรื่องของ cross-border law reforms การฝึกงาน (Summer internship) ที่จะต้องฝึกทุกปี การทำวิจัย การเรียนเกี่ยวกับ Project management ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็เชิญทีมจาก World Bank มาสอนตั้งแต่การเริ่มเขียนโครงการ การวิเคราะห์ปัญหา การจัดการความคิด และก็มีการทำวิจัยกลุ่ม (Joint research) ที่ทุกคนต้องทำร่วมกัน แยกต่างหากจากวิทยานิพนธ์ของแต่ละคนที่ยังต้องทำตามหัวข้อที่แต่ละคนมีความสนใจ แต่ก็จะไม่มีวิชาบังคับที่เป็นวิชากฎหมายสาขาใดสาขาหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง แต่จะมีเป็นวิชาเลือกที่สามารถเลือกเรียนได้ ซึ่งผมก็ได้อะไรเยอะมากจากการศึกษาที่นั่นครับ”
“ในเรื่องของวิจัยกลุ่ม ทางหลักสูตรให้นักศึกษาทำวิจัยร่วมกัน ซึ่งในปีที่ผมเข้าศึกษา มีนักศึกษาปริญญาโทที่เริ่มเรียนพร้อมกันทั้งหมด 5 คนและ ปริญญาเอกอีก 2 คน มาจากหลายประเทศ เช่น ศรีลังกา ญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน ก็ต้องมาทำวิจัยร่วมกันเป็นโครงการใหญ่ 1 โครงการ ซึ่งพวกเราก็เลือกที่จะทำวิจัยเรื่อง “Strengthening Local Governance to Ensure Sustainable Small-scale Fishing –in the Gulf of Thailand” เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรชายฝั่งบริเวณอ่าวไทย ก็ได้มาออก field trip สัมภาษณ์ เก็บข้อมูล ซึ่งจริง ๆ เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะทางทีมวิจัยได้ประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นคิดหัวข้อ ตั้งคำถาม พิจารณาเรื่องของวิธีวิจัย ไปจนถึงการออกแบบคำถามในแบบสอบถามที่เราจะใช้ในการเก็บข้อมูล อาจารย์ประจำหลักสูตรก็จะเป็นเหมือน mentor ที่จะมานัดประชุมกับทางทีมเพื่อให้ทีมวิจัยนำเสนอความก้าวหน้าเกือบทุกสัปดาห์ อาจารย์ก็จะแนะนำ comments เป็นในลักษณะทำงานร่วมกัน”
(แสดงว่าวิธีการเรียนการสอนไม่ใช่แบบปริญญาตรีแต่จะเน้นไปทางการวิจัย?) “โปรแกรมที่ผมไปเรียนค่อนข้างจะเน้นในการวิจัย ซึ่งขยายความเพิ่มเติมว่า ที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่งคือ ถ้านักศึกษาทำวิจัยในเรื่องอะไรอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ผมไปเรียนผมทำวิทยานิพนธ์เรื่องสิทธิบัตรคอมพิวเตอร์โปรแกรม ซึ่งสมมุติถ้าผมสนใจที่จะเชิญอาจารย์ต่างประเทศคนไหนมา ผมสามารถร่างโครงการและเสนอไปที่คณะได้ แล้วจะมีงบให้นักศึกษาแต่ละคนในการเชิญอาจารย์มาเพื่อบรรยายช่วงสั้น ๆ เป็น intensive course ที่มหาวิทยาลัย”
“และก็เรื่องของการฝึกงานภาคฤดูร้อน คือนักศึกษาในโปรแกรมทุกคนจะต้องไปฝึกงานภาคฤดูร้อน แล้วแต่ว่าจะวางแผน เสนอโครงการว่าไปที่ไหน สำหรับผมในระยะเวลา 2 ปีผมเสนอโครงการไปและได้ไปทำวิจัยเป็นนักวิจัยอาคัณตุกะ (Visiting researcher) ที่ประเทศสิงคโปร์และที่ประเทศเยอรมนี”
คำถาม (4) : อยากให้อาจารย์เล่าประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกงานที่เยอรมนีและสิงคโปร์
อาจารย์ปวีร์ : “ต้องบอกก่อนว่าจริง ๆ เรื่องของการฝึกงาน ทางมหาวิทยาลัย Nagoya จะมีงบให้ แต่ตอนเริ่มต้นคือผมเองก็จะต้องร่างโครงการพร้อมทั้งนำเสนอต่อคณะกรรมการของหลักสูตรเพื่อพิจารณาก่อน ว่าโครงการที่ผมเสนอจะเป็นประโยชน์กับวิทยานิพนธ์ หรืองานวิจัยที่ผมทำอยู่มากน้อยแค่ไหน ถ้าแพลนของผมยังไม่ชัดเจน อาจารย์ก็จะให้ผมเขียนมาเพื่อส่งพิจารณาใหม่ จริง ๆ ก็ได้ฝึกเขียนโครงการ และติดต่อประสานงาน ตั้งแต่เริ่มต้นเลย”
“ผมไปทำวิจัยช่วงสั้น ๆ ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ก่อน ในตอนนั้นผมต้องยื่นใบสมัคร และโครงการวิจัยที่ผมทำอยู่ ซึ่งในตอนนั้นก็ทำวิจัยในเรื่องเกี่ยวกับ Crowdfunding การระดมทุนผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าพูดถึงสิ่งที่ได้มา อาจจะเป็นการที่ได้พูดคุย ติดต่อ ปรึกษาอาจารย์ที่มีความสนใจ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ใกล้เคียงกันในระหว่างที่อยู่ที่นั่นครับ นอกจากนี้ยังเป็นในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งข้อมูลของห้องสมุด และ facilities อื่น ๆ จำได้ว่าวันแรก ๆ ที่ผมไปถึง ทางมหาวิทยาลัยก็จะส่งอีเมลเวียน เป็นข้อมูลประวัติส่วนตัวและเรื่องที่ผมศึกษา หรือสนใจ เพื่อให้ผมได้มีโอกาสติดต่อกับอาจารย์ที่นั่นที่อาจจะมีความสนใจอยากพูดคุย แลกเปลี่ยนในเรื่องที่ผมทำวิจัยอยู่ ซึ่งเป็นประโยชน์มาก ทั้งในเรื่องของงานที่ผมทำอยู่เอง และในเรื่องของความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ในอนาคต ส่วนอีกที่หนึ่งที่ผมมีโอกาสได้ไปที่ Max Planck Institute for Innovation and Competition สิ่งที่ได้มาก็คล้ายกันเป็นเรื่องของการได้พบปะ แลกเปลี่ยนกับนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญ และเรื่องของการได้เข้าถึงแหล่งข้อมูล”
“จริง ๆ เรื่องของการฝึกงาน เขาก็ไม่จำกัดว่าต้องไปเป็น visiting researcher แต่สามารถใช้งบประมาณนั้นไปนำเสนองานตามงานสัมมนาทางวิชาการได้เช่นกัน เท่าที่ผมดู สิ่งที่น่าสนใจของการศึกษาที่นั่น คือ การสอนเรื่องการทำวิจัย การที่เราสามารถเชิญบุคคลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายได้ และในส่วนของการฝึกงานภาคฤดูร้อน”
I am text block. Click edit button to change this text. Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Ut elit tellus, luctus nec ullamcorper mattis, pulvinar dapibus leo.
คำถาม (5) : อะไรเป็นเหตุผลในการมาเป็นอาจารย์ประจำที่ศูนย์ลำปาง และสาขาที่อาจารย์สนใจในการสอนมีอะไรบ้าง
อาจารย์ปวีร์ : “จริง ๆ เป็นเรื่องของจังหวะด้วยครับ เป็นช่วงที่ผมเรียนจบจากประเทศญี่ปุ่นมาพอดี ในระหว่างที่ผมรอการอนุมัติวุฒิก็กลับมาที่ไทย และก็มีการเปิดรับสมัครอาจารย์ประจำที่ศูนย์ลำปางในสาขาวิชาที่ผมได้ศึกษามา”
“ตอนนี้ผมสอนวิชาเลือก คือ วิชากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา วิชากฎหมายว่าด้วยเทคโนโลยีและสารสนเทศ วิชาปัญหาในกฎหมายธุรกิจ และสัมมนาในหลาย ๆ รายวิชา เช่น ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย วิชากฎหมายลักษณะตั๋วเงิน วิชาเอกเทศสัญญา 1 วิชาพื้นฐาน และวิชานอกคณะในบางรายวิชาครับ วิชาที่ผมสนใจเป็นพิเศษตามความถนัดก็คงจะเป็นวิชากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นกฎหมายว่าด้วยเทคโนโลยีและสารสนเทศ ส่วนกฎหมายลักษณะอื่นที่ผมสนใจก็เช่น กฎหมายลักษณะหุ้นส่วนบริษัท และจริง ๆ ส่วนตัว ผมสนใจกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วยครับ”
คำถาม (6) : อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้อาจารย์สนใจกฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น FinTech Blockchain หรือ Cryptocurrency
อาจารย์ปวีร์ : “ตัวผมเองมีความสนใจในเรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ อยู่แล้ว ที่มาสนใจเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี FinTech Blockchain โดยเฉพาะในแง่มุมทางกฎหมาย ผมอาจจะพูดได้ว่าเป็นเรื่องของจังหวะด้วยนะ เริ่มจากผมได้มีโอกาสไปนำเสนอ paper เกี่ยวกับเรื่องของการกำกับดูแลบิทคอยน์ ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ (Waseda University) ในช่วงปี 2015 โดยนำเสนอช่วงเดียวกับอาจารย์ที่เป็นคณบดีจากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (Shanghai Jiao Tong University) จากประเทศจีน ท่านก็เลยชวน จนได้ไปมีโอกาสไปช่วยทางมหาวิทยาลัยจัดสัมมนาเรื่อง Internet finance ได้เจอกับอาจารย์หลาย ๆ ท่านที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ และที่สำคัญเพื่อนผมทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง P2P lending ของประเทศจีนอยู่ ก็ได้ไปฝึกงานที่ศูนย์วิจัยการเงินทางเลือกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) ก็ชวนไปช่วยงาน เป็นเหมือนโอกาสที่เข้ามาด้วย ประกอบกับที่ผมเองสนใจอยู่เป็นทุนเดิม”
“ส่วนหนึ่งผมเห็นว่าอาจจะเป็นเพราะผมเองไม่ค่อยปฏิเสธเวลามีคนชวนผมไปช่วยในโครงการต่าง ๆ ครับ ถ้าอยู่ในวิสัยที่ผมช่วยได้และรับผิดชอบไหวตามความรู้และเวลานะ เพราะสุดท้ายผมรู้สึกว่าผมจะได้รับประโยชน์จากในทุกงาน ทุกโครงการที่ผมเข้าไปช่วยทั้งหมดเลย ผมได้พัฒนาตัวเอง ได้รู้จักนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากหลาย ๆ ที่ ผมถือว่าทุกงานเป็นโอกาสที่ดีทั้งหมดครับ”
“ซึ่งงานที่ผมเข้าไปร่วมก็หลากหลาย ตั้งแต่งานติดต่อพูดคุยกับบริษัท FinTech เพื่อส่งแบบสอบถาม ประกอบการเก็บข้อมูลในรายงานวิจัย งานบรีฟข้อมูล ไปจนถึงสัมภาษณ์หน่วยงานที่กำกับดูแล”
“ความสนใจของผมก็ชัดเจนขึ้น เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นตอนที่ผมกับเพื่อนชาวไต้หวันอีกคน ได้จัด conference เกี่ยวกับ FinTech เรื่อง FinTech Law in Asia จัดที่มหาลัยนาโกย่าที่ประเทศญี่ปุ่นตอนต้นปี 2016 ได้เชิญอาจารย์จากหลายประเทศทั้งประเทศญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ด้วย เหนื่อยมากเพราะเป็นงานสัมมนาที่จัดโดยผมกับเพื่อนเป็นแกนหลักสองคน แต่ก็เป็นจุดที่ต่อยอดมาเรื่อย ๆ อย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้าครับ”
คำถาม (7) : Cambridge Center For Alternative Finance คือศูนย์วิจัยเกี่ยวกับอะไร และอาจารย์เข้าไปมีตำแหน่งวิจัยที่ศูนย์ได้อย่างไร
อาจารย์ปวีร์ : “Cambridge Center For Alternative Finance หรือ CCAF เป็นศูนย์วิจัยว่าด้วยการเงินทางเลือกที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะบริหารธุรกิจ หรือ Judge Business School ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ครับ โดยทางศูนย์วิจัยเน้นศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเงินทางเลือก ซึ่งรวมถึงเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงินหรือ FinTech โดยถึงปัจจุบันมีรายงานที่ตีพิมพ์ทั้งหมดกว่า 30 เล่ม โดยความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น World Bank, UNSGSA หน่วยงานที่กำกับดูแล องค์กรของรัฐ และเอกชนครับ”
“ส่วนที่ว่าเข้ามามีตำแหน่งวิจัยที่ศูนย์วิจัยได้อย่างไร จริง ๆ ต่อเนื่องมาจากคำถามก่อน เป็นโอกาสที่ต่อเนื่องกันมา และผมเองได้มีโอกาสเข้าไปช่วยงานที่ศูนย์ตั้งแต่งานตีพิมพ์ว่าด้วยการเงินทางเลือกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2015-2016 ก็เป็นเล่มแรกที่มีโอกาสได้เข้าไปช่วย ทั้งในส่วนของการเก็บข้อมูล และการรวบรวมข้อมูลในส่วนของกรอบกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแล และก็ได้ช่วยต่อมาอีกหลายเล่ม จนเล่มที่ได้เข้าไปช่วยเต็มตัวตั้งแต่ ก็เป็นเล่มล่าสุดเรื่อง ASEAN FinTech Ecosystem Benchmarking Study” (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/report_pawee/)
“ในเรื่องที่ทางศูนย์ให้ตำแหน่ง Research Affiliate กับผม ทางศูนย์วิจัยให้เพื่อตอบแทนที่ผมช่วยงานมาหลายปีครับ นอกจากตำแหน่ง โอกาสที่ผมได้ทั้งในเรื่องของการพัฒนาตัวเอง และอีกหลายโอกาสในหลายวาระ ก็เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมากเช่นเดียวกันนะ” (อ่านข่าวได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/pawee-jenweeranon-research-affiliate)
คำถาม (8) : อาจารย์เห็นว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหาที่กฎหมายอาจจะตามไม่ทันเทคโนโลยีได้อย่างไร
อาจารย์ปวีร์ : “กรณีที่กฎหมายตามไม่ทันเทคโนโลยี ผมเห็นว่าเป็นเรื่องปกติเพราะเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วครับ ซึ่งหลายท่านอาจจะเห็นว่าเป็นปัญหาในกรณีที่มีกฎหมายไปกำกับดูแลไม่เพียงพอ ซึ่งบางทีการกำกับดูแลก็จำเป็นเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็จะต้องไม่ไปขัดขวางการเติบโตของธุรกิจมากเกินไป”
“ดังนั้นในประเด็นนี้ผมอาจตั้งเป็นข้อสังเกตมากกว่าว่า ถ้าเราตามข่าว หรือมีความสนใจในเรื่องกฎหมายและเทคโนโลยีอยู่แล้ว เราจะเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันก็มีการปรับตัว มีการใช้แนวทางใหม่ ๆ ในการกำกับดูแล ยกตัวอย่างเช่น การใช้ regulatory sandbox หรือ innovative regulatory initiatives ต่าง ๆ เช่น innovation offices หรือ RegTech มาเป็นเครื่องมือที่อาจจะทำให้การกำกับดูแลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
“ผมยกตัวอย่าง regulatory sandbox เอง ก็เป็นแนวทางที่ใช้กันในหลายประเทศ ถ้าพิจารณาแค่ในเอเชีย ก็มีการใช้ทั้งในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน และอีกหลายประเทศ แต่รายละเอียด กำหนดเวลาต่าง ๆ ก็อาจจะแตกต่างกันไป ซึ่งก็เป็นลักษณะที่เอื้อให้ทางฝั่งของผู้กำกับดูแลและอีกฝั่ง อาจจะเป็นภาคธุรกิจที่ประสงค์จะนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ ได้มีการแลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจกัน เพื่อสุดท้ายจะได้มีการกำกับดูและที่เหมาะสมต่อไป”
คำถาม 9 : อยากให้อาจารย์เล่าถึงการเรียนปริญญาเอกที่อาจารย์กำลังศึกษา
อาจารย์ ปวีร์ : “ตอนนี้ผมกำลังเรียนปริญญาเอก เริ่มเรียนมาได้ประมาณเกือบสองเดือน ที่มหาลัย Chinese University of Hong Kong (CUHK) จริง ๆ มีหลายคนที่ถามว่าทำไมถึงเลือกไปเรียนที่ฮ่องกง ต้องบอกว่าพอดี ผมได้มีโอกาสได้รู้จักอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านที่ผมตั้งใจที่จะมาทำวิจัยในระดับปริญญาเอก ผมมีโอกาสได้เจอท่านในหลายโอกาสตามงานสัมมนาต่าง ๆ และก็มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับท่านในรายงานวิจัยด้วย ก็เป็นเหตุผลหลักที่เลือกมาเรียนที่นี่ครับ”
(ซึ่งอาจารย์กำลังจะสื่อว่าคอนเน็คชั่นส์ที่ได้จากการทำงานร่วมกับอาจารย์ชาวเยอรมันท่านเป็นแรงจูงใจให้ไปเรียนที่ฮ่องกง?) “ใช่ครับ”
(อยากให้อาจารย์พูดถึงหัวข้อ หรือเรื่องที่อาจารย์สนใจในการศึกษาโดยเฉพาะเจาะจงในการเรียนปริญญาเอก) “ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงเริ่มต้น และคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อจำกัดขอบเขตของเนื้อหาของวิทยานิพนธ์ให้ไม่แคบหรือกว้างจนเกินไป แต่ก็เป็นที่ยุติว่าหัวข้อจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการที่เรียกว่า asset tokenization โดยศึกษาในแง่มุมทางกฎหมาย โดยจำกัดหัวข้อให้อยู่ในขอบเขตการใช้ประโยชน์ในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเป็นการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบ ที่จะมีการนำข้อมูลที่เก็บจากภาคธุรกิจมาใช้ด้วย เริ่มตั้งแต่ในเรื่องของการแบ่งประเภทของโทเคนดิจิทัล ซึ่งอาจจะมีผลในเรื่องของกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่จะนำมาปรับใช้ที่แตกต่างกันออกไป ก็จะต้องศึกษาตั้งแต่ที่มา ที่ไป ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็อาจพูดได้ว่าขอบเขตของหัวข้อยังกว้าง ๆ อยู่ และยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นครับ
(เหตุผลที่ศึกษา?) “จริง ๆ เพราะผมสนใจในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว และคิดว่าเป็นเรื่องที่ใหม่ แม้ว่าจะมีบทความหรืองานวิจัยที่ตีพิมพ์ในเรื่องดังกล่าวแล้วบ้าง แต่ผมยังเห็นว่ายังมีประเด็นและในส่วนที่สามารถต่อยอด หรือศึกษาในรายละเอียดได้ครับ”
คำถามสุดท้าย : อาจารย์คิดว่าการประชุมวิชาการในต่างประเทศและในประเทศไทยมีความแตกต่างกันอย่างไร และการเข้าร่วมการประชุม สัมมนาต่าง ๆ ได้ประโยชน์อะไรบ้าง และอาจารย์จะถ่ายทอดประโยชน์ที่ได้รับให้นักศึกษาฟังอย่างไรบ้าง
อาจารย์ปวีร์ : “ผมคิดว่าไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ถ้าให้เปรียบเทียบระหว่างการประชุมวิชาการในต่างประเทศและในประเทศไทย จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมนะ อาจจะเป็นเรื่องของการให้ความเห็น การ comment งาน ที่อาจจะต่างกันบ้าง แต่ก็อาจจะมีหลายปัจจัยเช่น ผู้เข้าร่วมสัมมนา และปัจจัยอื่น ๆ แต่ไม่แตกต่างกันในเรื่องสาระสำคัญมากนัก”
“ประโยชน์ประการแรกที่ได้ คือ ต้องบอกว่าปกติเวลาที่ไปนำเสนองาน ตามงานสัมมนาวิชาการต่าง ๆ โดยส่วนมากแล้วผมเข้าใจว่าก็จะเป็นการนำงานที่เราเขียนอยู่ หรือทำอยู่ไปนำเสนอ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักวิชาการท่านอื่น ๆ ซึ่งส่วนสำคัญที่ผมได้ทุกครั้งคือ ผมจะเห็นปัญหาในงานของผมเอง ซึ่งผมมองข้ามไป บางครั้งผู้เข้าร่วมงานสัมมนาอาจจะมาจากภาคเอกชน ภาคปฏิบัติ ก็ทำให้เปิดมุมมอง โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ปัญหาของการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น”
“นอกจากนี้ ประโยชน์อีกส่วนหนึ่งคือได้พบปะผู้คนที่สนใจในเรื่องที่ใกล้เคียงกัน เพราะการทำวิจัยในปัจจุบัน ผมเห็นว่า ความร่วมมือระหว่างสถาบันหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีความสำคัญมาก เช่น ในเวลาที่ผมทำงานกับศูนย์วิจัย ถ้าเราจะเข้าใจกฎหมายท้องถิ่นของประเทศอินโดนีเซีย บางทีเราก็ไม่สามารถหาได้จากงานตีพิมพ์เผยแพร่ได้ หรืออาจจะหาได้แต่ไม่ครอบคลุม เราก็ต้องคุยกับอาจารย์ นักวิชาการ หรือบริษัทที่ประกอบกิจการในประเทศอินโดนีเซีย ดังนั้นผมก็เลยเห็นว่า การเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการในลักษณะนี้จึงเป็นประโยชน์ครับ”
“ซึ่งการที่เข้าไปช่วยงานใน CCAF ก็เป็นกรณีที่เหมือนกัน พอผมได้มาช่วย CCAF โดยเฉพาะในเล่มล่าสุดผมเองได้รับผิดชอบในส่วนของกฎหมายซึ่งมันก็มีความจำเป็นที่ผมต้องร่วมมือกับทางสถาบันศึกษาหรือทางหน่วยงานที่กำกับดูแลในหลาย ๆ ประเทศเพื่อที่จะได้ข้อมูลที่อัพเดทและถูกต้อง ก็เห็นเลยว่าความร่วมมือในลักษณะนี้มีความจำเป็น”
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ Yesman
เรียบเรียง KK