อาจารย์ปทิตตา ไชยปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เราจะพาคุณไปคุยกับอาจารย์ปทิตตาถึงแรงบันดาลใจและเส้นทางในการประกอบอาชีพอาจารย์ และในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้ที่มีปัญหาทางสายตา ถึงมุมมองต่อกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการ และการเอาชนะข้อจำกัดและอุปสรรคทางด้านสายตาว่าอาจารย์ทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จทั้งในด้านการเรียนและการทำงาน
คำถาม (1) : อยากให้อาจารย์เล่าถึงแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพอาจารย์
อ.ปทิตตา : “ ถ้าพูดถึงแรงบันดาลใจในการเป็นอาจารย์ เริ่มจากคุณย่าค่ะ ต้องขอท้าวความไกลไปถึงตอนเด็ก ๆ ตัวอาจารย์เองมีฐานะทางบ้านไม่ดี คุณพ่อคุณแม่มีฐานะค่อนข้างยากจน ตัวอาจารย์เองก็อยู่กับคุณย่าตั้งแต่ยังเด็ก อายุประมาณ 3 -4 ขวบ อาจารย์เริ่มมองไม่เห็น พออายุประมาณ 7 ขวบ คุณย่าคุณพ่อและคุณแม่ก็อยากให้เราได้เรียนเหมือนคนปกติ แต่ทางโรงเรียนใกล้บ้านแนะนำให้อาจารย์ไปเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเนื่องจากเป็นโรงเรียนเฉพาะทาง ซึ่งบ้านอาจารย์อยู่ที่จังหวัดสงขลา ห่างไกลกันอยู่พอสมควรเป็นร้อยกิโลเมตร แต่คุณย่าก็อยากให้อาจารย์ไป ท่านอยากให้เราได้เรียนหนังสือเหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ แต่ตอนนั้นคุณย่าก็ป่วยเป็นโรคกระเพาะเรื้อรังขั้นรุนแรง เราก็ไม่อยากไปเรียนเพราะไม่อยากทิ้งท่านไป อยากอยู่ดูแลท่าน ตอนนั้นอาจารย์อยู่กับคุณย่าเพราะคุณพ่อคุณแม่ต้องไปรับจ้างกรีดยางห่างไกลจากบ้านพอสมควร และนาน ๆ ครั้งถึงจะกลับมาบ้าน คุณย่าบอกว่าอยากให้อาจารย์ได้เรียนหนังสือ เพราะการเรียนจะทำให้เรามีความรู้และทำให้เราสามารถพัฒนาตนเองและพัฒนาสังคมได้ ท่านอยากให้เราทำงานที่พัฒนาสังคมช่วยผู้อื่น ตอนนั้นเรายังเด็กก็ไม่รู้ว่างานนั้นคืองานอะไร ก็เลยถามท่าน ท่านก็บอกว่าอยากให้เราเป็นคุณครู เพราะคุณครูได้สอนหนังสือเด็กและได้ช่วยเหลือเด็กและช่วยเหลือคนอื่นด้วย ด้วยความที่เรารักและศรัทธาในตัวย่าเราจึงฝังใจว่า ถ้าฉันมีโอกาสได้เรียนก็ อยากจะเป็นคุณครูให้ได้ ตอนนั้นเราก็ยังเด็กและยังไม่ได้เรียนหนังสือ เราก็ไม่รู้ว่างานอื่นเป็นอย่างไร จึงไม่ได้อยากทำงานอะไรเป็นพิเศษ ตอนนั้นคิดแค่ว่าขออยู่ดูแลคุณย่าก่อน”
“หลังจากนั้นไม่กี่เดือนคุณย่าก็เสียชีวิตลง ด้วยโรคกระเพาะเรื้อรัง เนื่องจากทางบ้านเราไม่ค่อยมีตังเพราะฉะนั้นการรับประทานอาหารจึงเป็นแบบได้รับประทานบ้าง ไม่ได้รับประทานบ้าง ทานข้าวไม่ตรงเวลา ทำให้ท่านเสียชีวิต พอท่านเสียชีวิตลง ตอนนั้นก็เสียใจมากไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะทำอย่างไรดีแต่ก็ตั้งใจว่าย่าได้ฝากความหวังไว้ที่เราว่าเราจะต้องเป็นครู เราจะต้องทำงานเพื่อสังคม ก็เก็บ อุดมการณ์ตรงนี้ทำให้เราตัดสินใจที่จะไปเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดฯ คุณพ่อคุณแม่ก็ไปส่ง โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำเทอมนึได้กลับบ้านครั้งหนึ่งเพราะคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่มีเงินพอที่จะไปรับเราบ่อย ๆ ตอนเรียนที่นั่นด้วยความที่อุดมการณ์ของเราแรงกล้าว่าจะต้องทำตามความหวังของย่าให้ได้ เพราะฉะนั้นอาจารย์ก็จะไม่ไปเล่นเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ไปเล่นน้อยมาก เวลาว่างเราจะตั้งใจอ่านหนังสือ เริ่มศึกษาว่าเป็นครูต้องเป็นอย่างไร คิดว่าครูต้องสอนเด็ก ต้องมีความรู้รอบด้าน เราจะต้องรู้ทุกอย่าง เพราะมิเช่นนั้นเด็ก ๆ ถามอะไร เราจะตอบไม่ได้ เราก็เลยตั้งใจอ่านหนังสือทุกเล่มในห้องสมุดที่มี ด้วยความที่หนังสืออักษรเบรลล์มีไม่เยอะ ประมาณร้อยกว่าเล่ม เราจึงสามารถอ่านหมดได้ เรียนอยู่ในโรงเรียนสอนคนตาบอด 3 ปี หลังจากนั้นก็ไปเรียนร่วมกับเด็กปกติตลอด นี่คือจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจค่ะ”
“ส่วนแรงบันดาลใจของตัวเองจริง ๆ น่าจะเกิดขึ้นตอนมัธยมก็คืออยากไปเป็นครูบนดอยเพราะเห็นข่าวเกี่ยวกับครูที่อยู่บนดอยถ้ามีโอกาส เค้าก็มักจะขอย้ายกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของตัวเอง ก็เลยคิดว่าเรานี่แหละที่จะเป็นคนหนึ่ง จะอยู่ตลอดเพื่อที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้รับการพัฒนา เพราะการศึกษาจะนำไปสู่โอกาสในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย”
“ดังนั้น จึงคิดเสมอว่าต้องไปเรียนคณะครุศาสตร์ ตัวเองก็ตั้งใจเรียนมาตลอด เพราะอาจารย์คิดว่าครูจะต้องไปสอนเด็ก ดังนั้น เราจึงเอาทุกอย่างทั้งเรียนทั้งทำกิจกรรม แต่ตอนมัธยมศึกษาปีที่6 เพื่อนก็ชวนกันมาสอบที่ธรรมศาสตร์ เนื่องจากที่ธรรมศาสตร์มีโครงการช้างเผือก โดยแบ่งเป็นช้างกีฬา ช้างเรียนดีในชนบท ช้างพิการ เพื่อนในโรงเรียนก็มาสอบกัน เราเป็นเด็กต่างจังหวัดอยากมาเที่ยวกรุงเทพด้วยก็เลยตัดสินใจมาสอบกับเขา ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะเลือกอะไรดี ก็เลยเลือกคณะนิติศาสตร์ เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ในตอนนั้น) ไม่มีคณะครุศาสตร์ ก็สอบโควตาในโครงการนี้ ปรากฏว่าสอบได้ ทางบ้านก็บอกว่าเรียนคณะนิติศาสตร์ก็ดีนะ คือ พี่สาวรู้ว่าคณะนิติศาสตร์มีอาจารย์ที่เป็นผู้พิการทางสายตาคืออาจารย์วิริยะ (ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์) และรู้ว่าเราอยากไปเป็นครูบนดอย ด้วยความที่เค้าเป็นห่วง ก็ไม่อยากให้เราไปอยู่บนดอยเนื่องจากเราเป็นผู้หญิงและยังมองไม่เห็นกลัวว่าจะลำบาก ก็เลยอยากให้เรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เค้าก็พยายามโน้มน้าวใจว่าถ้าเราจบแล้วเราก็จะได้เรียนต่อในระดับปริญญาโทและเป็นอาจารย์อย่างท่านอาจารย์วิริยะและเราจะได้ช่วยคนอีกมากมาย นอกจากเด็กบนดอยแล้ว ยังได้ช่วยคนอีกเยอะแยะ เราก็เลยโน้มเอียง คิดว่าไหนๆ ก็สอบได้แล้ว งั้นลองเรียนดูก็ได้ จึงตัดสินใจเรียนคณะนิติศาสตร์”
“คือแรงบันดาลใจ คือ หนึ่ง จากการที่คุณย่าอยากให้เราเป็นครูและสองก็คือตัวเราเองที่อยากช่วยสังคม ช่วยพัฒนาคนอื่น ๆ อยากให้ความรู้เผยแพร่กฎหมายให้คนอื่นได้รู้ค่ะ”
คำถาม (2) : อยากให้อาจารย์เล่าถึงเส้นทางการเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์
อ.ปทิตตา : “อย่างที่เล่าว่าด้วยความที่เราอยากเป็นครูตั้งแต่แรก ไม่ได้อยากเรียนกฎหมายเพราะฉะนั้นในตอนที่เราเข้ามาเรียน เราก็ไม่แฮปปี้เลย ตอนนั้นอยากซิ่ว (คือ คนที่เคยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยอื่นมาก่อน แล้วย้ายที่เรียนมาอยู่ที่ใหม่เป็นเด็กปี 1 อีกรอบ) ไปเรียนคณะครุศาสตร์ตลอดเวลา ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ชอบกฎหมาย เป็นอะไรที่น่าเบื่อ ต้องอ่านหนังสือเยอะ และเราก็ไม่มีหนังสืออ่าน กว่าจะผลิตหนังสือออกมาได้บางครั้งสอบเสร็จไปแล้ว เมื่อมีความรู้สึกเบื่อไม่อยากเรียนเกิดขึ้น ก็ทำให้ไม่ตั้งใจเรียน ก็ตัดสินใจว่าต้องซิ่วแน่ ๆ แต่มีปัญหานิดหน่อยก็เลยไม่ได้ซิ่วตามที่ตั้งใจ อีกอย่างหนึ่งอาจารย์ก็บอกกับครอบครัวว่าถ้าเราสอบตกสักวิชานึง เราจะขอซิ่ว สุดท้ายปี 1 (ชั้นปีการศึกษาที่ 1) ก็ยังไม่ตก (หัวเราะ) ก็เกือบ ๆ บ้าง พอเรียนปีสองเราก็รู้สึกว่าถ้าเรา จะซิ่วไปคณะครุศาสตร์ไม่แน่ใจว่าจะสอบได้หรือไม่เนื่องจากความรู้ห่างหายมานาน”
“พอปี 2 (ชั้นปีการศึกษาที่ 2) กลัวว่าจะซิ่วไปไม่ได้ กลัวว่าจะสอบแข่งกับน้อง ๆ ที่เพิ่งจบมัธยมไม่ไหว แต่ก็ยังมีอุดมการร์ที่จะเป็นครูอยู่ ตอนนั้นก็เลยไปลงเรียนคณะศึกษาศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษที่ราม (มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ไว้ ด้วยความคิดว่าถ้าเราเรียนจบ คณะศึกษาศาสตร์เราจะได้เป็นครูแน่ และเนื่องจากเราจบภาษาอังกฤษ ซึ่งคิดว่าใครก็ตามที่เรียนจบภาษาอังกฤษก็จะสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างกว้างขวาง เพราะจะสามารถอ่านหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษได้ อีกอย่างอยากให้เด็กบนดอยได้รับการพัฒนาทางภาษาด้วยเพื่อให้เขาได้เปิดโลกทัศน์”
“เมื่อถึงเวลาสอบ ก็จะใช้วิธีการสอบสลับกัน กล่าวคือ เมื่อสอบที่ธรรมศาสตร์เสร็จ เขาก็จะเว้นไปสองวัน เราก็จะเอาเวลาตรงนั้นไปสอบที่ราม แล้วก็กลับมาสอบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้ง รู้สึกว่าชีวิตเหนื่อยมาก แต่ด้วยความที่ลงเรียนไปแล้ว และเสียตังค์ไปแล้ว โดยเจียดเงินค่าขนม ซึ่งก็ไม่ได้เยอะในแต่ละเดือน ก็เลยเสียดายตัง (หัวเราะ) เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันมักจะไม่ได้อะไรที่ดีที่สุด”
“เมื่อถึงเวลาประกาศคะแนน ปรากฏว่าไม่ตกเลยซักวิชา โดยคิดว่าถ้าตกสักวิชาจะย้ายไปเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์อย่างเต็มตัว ตอนนั้นก็เริ่มคิดแล้วว่าหรือเราจะเหมาะกับกฎหมาย เพราะขนาดเราไม่มีหนังสืออ่านเหมือนคนอื่นเขา เราเรียนสองที่ ไม่ได้ตั้งใจเรียนอะไรมากมาย แต่ก็ยังไม่ตก น่าจะลองตั้งใจดูสักตั้ง ประกอบกับตอนนั้นมันเป็นเวลาที่ต้องตัดสินใจจริง ๆ ว่าจะเลือกอะไร เพราะหากเราเลือกศึกษาศาสตร์ เราก็คงต้องทิ้งกฎหมายไปเลย เพราะการเรียนครูจะต้องมีการนำเสนองานหน้าชั้นเรียน ต้องไปเข้าเรียน ต้องไปฝึกงาน ท้ายที่สุดเราก็เลยตัดสินใจเลือกกฎหมาย เปิดใจรับกฎหมายเข้ามาในหัวใจ จากที่ไม่สนใจ ไม่เข้าเรียน ในช่วงปี 1-2 พอปีสามก็หันมาตั้งใจเรียนเข้าเรียนทุกวิชา ตอนนั้นบอกับตัวเองว่าถ้าคะแนนดีไม่มีปัญหาเราจะเปลี่ยนจากการเป็นครูมาเป็นอาจารย์สอนในระดับมหาวิทยาลัย เมื่อหันมาตั้งใจเรียนเข้าเรียนทุกวิชาคะแนนก็ดีขึ้นมาก แต่ก็ไม่ทิ้งการเรียนที่ราม อย่างที่บอกว่าเสียดายเงินเพราะได้จ่ายไปบ้างแล้ว และได้สอบไปหลายวิชาแล้วเช่นกันจะเลิกเรียนไปเลยก็เสียดายเหมือนที่ทำมาต้องเสียปล่าว ก็เลยตัดสินใจย้ายคณะไปเป็นรัฐศาสตร์ สุดท้ายก็จบปริญญาตรีสองใบ”
“อาจารย์ก็เรียนจบ คณะนิติศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์โดยใช้เวลาเรียน3 ปีครึ่ง หลังจากนั้นก็ไปเดินตามฝัน โดยการไปเป็นครูอาสาบนดอยอยู่ช่วงหนึ่ง เหมือนได้เพิ่มพลังให้กับตัวเอง เพราะเราได้ทำอะไรที่รักที่ชอบ จึงทำให้เรามีความสุข เด็ก ๆ ก็น่ารัก ผู้คนก็มีน้ำใจ อากาศก็ดี หลังจากนั้นเมื่อมีเวลาว่าก็จะหาโอกาสไปช่วยสอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ นำของใช้เสื้อผ้าไปบริจาค นำเงินไปให้เป็นทุนการศึกษาเสมอ เมื่อกลับจาดอยก็วางแผนว่าต้องทำอะไรต่อไป ก็ตัดสินใจที่จะเรียนเน (การเรียนในระดับเนติบัณฑิตที่จัดโดยเนติบัณฑิตยสภา) แม้การเป็นอาจารย์ไม่ได้ require วุฒิเน (เนติบัณฑิต) แต่มีความต้องการวุฒิระดับปริญญาโท หรือเอก แต่ส่วนตัวก็คิดว่าไหน ๆ ก็อยากเป็นอาจารย์แล้วก็ไปเรียนในระดับเนติบัณฑิตซักหนึ่งปี เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าศักยภาพของเรามีแค่ไหน หากเราจบเนได้ภายในหนึ่งปีก็อาจจะพอการัญตีได้ว่าเราน่าจะมีความรู้ความสามารถทางกฎหมายระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นการพิสูจน์ความสามารถของเราว่า แม้เราจะไม่มีหนังสืออ่านเหมือนอย่างคนอื่นเขา แม้ว่าเราจะมองไม่เห็น เราก็สามารถที่จะทำเหมือนอย่างคนอื่นได้ และอาจจะทำให้คนยอมรับเราในระดับหนึ่ง เพราะหากพิจารณากันอย่างง่าย ๆ เมื่อคนพิการไปสมัครงาน แล้วต้องเลือกระหว่างคน ปกติกับคนพิการ แน่นอนว่าส่วนใหญ่แม้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเลือกคนปกติอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเราจะเป็นตัวเลือกที่ดีให้กับเขาเราก็ต้องมีสิ่งที่ดีกว่าที่คนปกติมี คิดว่าถ้าเราสามารถเรียนจบเนในปีเดียวได้ เขาก็จะพิจารณาเราบ้างไม่มากก็น้อย”
“อาจารย์จึงตั้งใจอย่างเต็มที่ เพื่อให้จบได้ภายในปีเดียว ยอมรับว่าตอนนั้นทั้งกดดันและเครียดมาก เพราะเราอ่านหนังสือไม่ได้ หาคนช่วยอ่านก็ยาก ไปเรียนก็ลำบาก จนต้องหาธรรมมะเข้าช่วย โดยการไปปฏิบัติธรรมถึงเจ็ดวัน เรื่องมันยาว ขอข้ามไปเลยแล้วกันนะคะ (หัวเราะ)หลังจาก จบเนก็เรียนต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สาขากฎหมายระหว่างประเทศ การเลือกเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตเรามากเช่นกัน ก่อนที่จะตัดสินใจอยากให้ทุกคนที่เลือกว่าจะเรียนอะไรควรจะมีเป้าหมายชัดเจนและท่ามกลางการแข่งขันในโลกยุคปัจจุบัน เราต้องรู้ว่าอะไรที่จะทำให้เราไปรอดหรือไปไม่รอด อย่างตัวอาจารย์เองที่เลือกเรียนกฎหมายระหว่างประเทศในตอนนั้น เพราะว่าเป็นสาขาที่ค่อนข้างขาดแคลน ซึ่งตอนนั้นก็ยังต้องการอาจารย์อยู่เยอะพอสมควร ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วตัวอาจารย์เองก็ไม่ได้ชอบกฎหมายระหว่างประเทศมากเพราะชอบกฎหมายอาญาเป็นอันดับหนึ่ง แต่เรารู้สึกว่าในสาขากฎหมายอาญามีการแข่งขันสูง เราอาจจะสู้คนอื่นไม่ได้แต่ในสาขากฎหมายระหว่างประเทศแม้เราจะชอบเป็นอันดับรองลงมา แต่เป็นสิ่งที่เราถนัด เราจึงตัดสินใจเลือก ซึ่งก็คิดไม่ผิดเลย เพราะเมื่อเราได้เรียนเข้าจริง ๆ ในสาขานี้มีคนเรียนน้อยและมีคนจบน้อยคือการเข้าเรียนและการจบมันไม่ค่อยสัมพันธ์กัน (หัวเราะ) เราก็พยายามเรียนให้ได้คะแนนดี ๆ ตอนนั้นก็เครียดและเหนื่อยมากเพราะเป้าหมายของเราชัดเจนว่าเราต้องการเป็นอาจารย์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะกำหนดคุณสมบัติไว้ว่าปริญญาโทต้องได้เกรตเฉลี่ย 3.5 ขึ้นไป และที่สำคัญคือต้องไปแข่งขันกับคนปกติ ที่เค้าจะเลือกเราหรือไม่ก็ไม่รู้ ดังนั้นเราต้องมีจุดเด่นหรือมีอะไรที่ดีกว่าคนอื่น เพราะเราแบกความฝันและอะไรหลายๆ อย่างไว้ เราก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด แม้ว่าจะต้องพบกับปัญหาหรืออุปสรรคมากมาย สุดท้ายก็จบมาได้ ภายในเวลา 2 ปีกว่า คะแนนก็ถือว่าโอเคโดยได้ 3.7 กว่า ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งใจค่ะ”
“หลังจากที่เรียนจบแล้วก็ไปสอบเป็นอาจารย์เรื่อย ๆ และยื่น resume ไปในทุก ๆ ที่ ที่เปิดสอบ ในขณะเดียวกันก็ทำงานไปด้วย”
คำถาม (3) : ทำไมอาจารย์ถึงเลือกเป็นอาจารย์ประจำที่ศูนย์ลำปาง
อ.ปทิตตา : “(หัวเราะ) คือจริง ๆ แล้ว ตอบตามความเป็นจริงเลยว่าตอนแรกไม่ได้คิดว่าอยากจะเป็นอาจารย์ที่ไหนคือจะเป็นอาจารย์ที่ไหนก็ได้แต่ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากเป็นอาจารย์ที่กรุงเทพเพราะว่าเรียนที่กรุงเทพมาตั้งแต่ในระดับปริญญาตรี เนติบัณฑิต ปริญญาโท และยังทำงานที่กรุงเทพอยู่ช่วงหนึ่ง รวมเวลาเรียนและทำงานอยู่กรุงเทพทั้งสิ้นเกือบ 10 ปี แต่ไม่รู้สึกชอบกรุงเทพเลย เพราะมันวุ่นวาย ส่วนตัวไม่ชอบความวุ่นวายแบบนั้น คิดว่าถ้าเลือกได้ก็อยากจะทำงานแถวหัวเมือง ในจังหวัดเล็ก ๆ อย่างที่บอกไปแหละค่ะ ว่าที่ไหนเปิดสอบก็ไปสอบหมด ยื่น resume ไปก็หลายที่ แต่ก็ยังไม่ได้ มันก็มีหลายปัจจัยนะคะ (หัวเราะ) มีบางที่รับเฉพาะคนที่จบปริญญาเอก แต่ก็มีอยู่ที่หนึ่งบอกเลยว่ไม่มีนโยบายรับคนพิการทางสายตาเข้าเป็นอาจารย์ ตอนนั้นยอมรับว่าท้อมาก แต่ก็ยังไม่ถอยนะคะ คิดว่าเราจบแค่ปริญญาโท อาจจะเป็นตัวเลือกที่ไม่น่าสนใจที่สุด เพราะฉนั้นเราต้องเรียนปริญญาเอกต่อ และจะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ แต่ตอนนั้นภาษาก็ไม่ได้ดีมาก เงินทุนเรียนต่อก็ไม่เพียงพอ แต่ก็คิดว่าต้องหาทางให้จนได้”
“จึงตัดสินใจลาออกจากที่ทำงานเก่า เพื่อจะไปเรียนภาษาที่ต่างประเทศ ตอนนั้นมีเงินเก็บไม่เท่าไหร่ รวมกับพี่สาวแล้วประมาณ 300,000บาท ตอนนั้นคิดว่าหากได้มีโอกาสไปเรียนภาษาที่ต่างประเทศจะทำให้เราสามารถขอทุนเรียนต่อที่ต่างประเทศได้ คิดว่าไปเรียนซัก 6 เดือน หรือ ปีนึง เอาเงินเก็บทั้งหมดเป็นค่าเรียนและค่าใช้จ่ายในช่วงแรก และจะทำงานไปด้วย เพื่อความอยู่รอด พี่สาวก็จะลาออกจากงานไปอยู่ด้วย เราจะไปรับจ้างล้างจานกัน ทำงานฝีมือขาย เมื่อได้ภาษาแล้วก็จะสอบชิงทุนของต่างประเทศ เช่น ทุน Chevening (ทุนรัฐบาลของประเทศสหราชอาณาจักร) Endeavour Scholarships (ทุนรัฐบาลของประเทศออสเตรเลีย) หรือ ทุน Fulbright Scholarship (ทุนรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกา) ไม่อยากขอทุนของรัฐบาลไทยเพราะกลัวกลับมาแล้วจะไม่ได้เป็นอาจารย์ตามที่ตั้งใจ อีกอย่างภาษาไม่ค่อยดีกลัวจะสู้คนอื่นไม่ได้ จึงติดต่อ agency เรื่องเรียนภาษา ดำเนินการต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว แค่ยังไม่ได้จ่ายเงิน สุดท้ายคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เปิดรับสมัครอาจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ตอนนั้นก็คิดว่าจะมาสอบดีไหม กลัวว่าความรู้ความสามารถจะไม่เพียงพอ กังวลไปต่างต่างนานา เพราะตัวเองก็เรียนที่นี่ และได้เห็นอาจารย์แต่ละท่านมีความโดดเด่น สุดยอดมากในความคิดของเรา แต่ครอบครัวก็พยายามให้กำลังใจ และบอกให้ลองไปสอบดู ถ้าได้ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ถือว่าไปหาประสบการณ์ ไม่ควรทิ้งโอกาส ก็เลยตัดสินใจมาสอบ ซึ่งมีการสอบหลายกระบวนการพอผ่านการสอบกระบวนการแรกเมื่อประกาศรายชื่อออกมา ก็ดีใจมาก เพราะเมื่อผ่านรอบแรกไปได้แล้ว คิดว่ารอบต่อ ๆ ไปก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะรอบต่อไป เป็นการสอบสอน และสอบสัมภาษณ์ ซึ่งตัวเองมีความ ถนัดด้านการพูดอยู่แล้ว (หัวเราะ) พยายามให้กำลังใจตัวเอง วันประกาศผลปรากฏว่ามีชื่อ ตอนนั้นดีใจมาก คือดีใจอย่างบอกไม่ถูกเลยค่ะ (หัวเราะ) จึงได้มาเป็นอาจารย์ประจำที่ศูนย์ลำปาง”
“ซึ่งจริง ๆ ก็อยากเป็นอาจารย์ที่หัวเมืองอยู่แล้ว และโดยปกติถ้าได้เป็นอาจารย์ในภาคเหนือ ก็จะยิ่งชอบเลย อยากมาช่วยน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ในภาคเหนือ อยู่แล้วเพราะในแถบภาคเหนือจะมีเด็กด้อยโอกาสอยู่เยอะ ซึ่งถ้าเราอยู่ในแหล่ง เราก็จะสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ง่ายยิ่งขึ้น ดีใจมากที่ได้มาอยู่ที่นี่ซึ่งมาอยู่แล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะบรรยากาศดี เงียบสงบ ได้ช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ลำบาก ยิ่งไปกว่านั้นคือได้ทำงานตอบแทนคณะและมหาวิทยาลัยที่ได้ให้อะไรกับเราหลาย ๆ อย่าง”
คำถาม (4) : อาจารย์สอนวิชาอะไรบ้าง และถนัดหรือสนใจวิชาใดเป็นพิเศษ
อ.ปทิตตา : “จริง ๆ ปัจจุบันสอนเยอะมากค่ะ ทั้งในคณะและนอกคณะ แต่จะขอกล่าวถึงเฉพาะที่สอนในคณะแล้วกันนะคะ เนื่องจากเรียนจบในด้านกฎหมายระหว่างประเทศมา ดังนั้น แน่นอนว่าต้องสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งอาจารย์รับผิดชอบกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองค่ะ แต่ไม่ได้สอนคนเดียวนะคะ สอนคู่กับท่านอื่น ๆ ด้วยค่ะ”
“นอกจากนั้นก็ยังสอนวิชากฎหมายลักษณะครอบครัวค่ะ ตอนแรกอาจารย์ได้เข้ามาสอนวิชานี้ด้วยความจำเป็น เพราะอาจารย์ที่สอนอยู่เดิมในวิชานี้ท่านต้องไปเรียนต่อ ก็คิดว่าวิชากฎหมายครอบครัวเป็นวิชาที่สนุกมีความน่าสนใจ ก็เลยเข้ามาสอน พอสอนไปก็ชอบนะคะ แล้วก็มีวิชา น. 160 น.161 ซึ่งเป็นวิชาของนักศึกษาชั้นปี ที่ 1 เป็นการเริ่มฝึกเขียนเริ่มฝึกทักษะด้านกฎหมายและทักษะในการเขียนงานวิชาการค่ะ วิชาเลือกก็จะมี วิชาสิทธิมนุษยชน วิชากฎหมายองค์การระหว่างประเทศและวิชากฎหมายคนพิการ”
“สำหรับวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายองค์การระหว่างประเทศ อาจารย์จะรับผิดชอบสอนเฉพาะที่ลำปางค่ะ ส่วนกฎหมายคนพิการนั้นอาจารย์จะเป็นผู้สอนทั้ง 2 ศูนย์ ซึ่งที่ศูนย์รังสิต เดิมทีมีท่านอาจารย์วิริยะเป็นผู้สอน ต่อมาเมื่อท่านมีภารกิจเยอะขึ้นท่านก็ไม่ได้สอนวิชานี้อีกแล้ว อาจารย์ก็เลยไปสอนแทนค่ะ”
“ว่าไปแล้วอาจารย์ก็มีความสนใจในทุกวิชาที่กล่าวมาเพราะเป็นวิชาที่เราแฮปปี้กับการสอน โดยเฉพาะวิชากฎหมายคนพิการซึ่งอาจารย์คิดว่าจะจับไปยาวเลยค่ะ การสอนกฎหมายคนพิการอาจารย์ไม่ได้สอนเฉพาะกฎหมาย เพราะตัวกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการนั้น ใคร ๆ ก็น่าจะอ่านได้ไม่ยาก ไม่ได้ต้องอาศัยการตีความอะไรมากมาย แต่อาจารย์จะสอนให้นักศึกษามีความเข้าใจ มีความตระหนักถึงคนพิการ รวมทั้งทัศนคติที่มีต่อคนพิการ โดยวิชานี้อาจารย์ได้ให้นักศึกษาใน class ทำ workshop ว่า หากเขาเป็นคนพิการในแต่ละด้านจริง ๆ เขาจะรู้สึกอย่างไร จะพบเจออุปสรรคปัญหาอะไร และจะแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไร เพื่อต่อไปเมื่อนักศึกษาของเราออกไปเป็นนักกฎหมายเค้าจะมีความเข้าใจและสามารถออกกฏหมายได้อย่างเข้าใจ ไม่ใช่ว่าออกกฏหมาย โดยที่ตนเองไม่ได้มีความเข้าใจที่แท้จริง ซึ่งอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรค่ะ”
(การสอนครั้งแรกเป็นอย่างไร?) “ตอนสอนครั้งแรก ก็ไม่ได้ตื่นเต้นมากค่ะ เพราะอาจารย์อาจจะมีประสบการณ์ด้านการพูดมาบ้าง เช่น เคยเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ทางกฎหมายหรือตอนเรียนก็เคยแข่งขันพูดในที่ชุมชนมาบ้างค่ะ แต่เรื่องที่อาจจะลำบากอยู่บ้างก็คือตอนทำเอกสารประกอบการสอนค่ะ ปกติอาจารย์จะทำ slide เอง โดยเราสามารถนำข้อมูล มาลงใน PowerPoint ได้ แต่ไม่สามารถขยายตัวอักษรไม่ให้มันตกกรอบได้ ซึ่งอาจเป็นปัญหาของเรานิดนึง แต่อาจารย์ก็จ้างนักศึกษาเข้ามาช่วยในส่วนนี้ค่ะ”
คำถาม (5) : อยากทราบถึงบุคคลที่เป็นต้นแบบทางวิชาการของอาจารย์
อ.ปทิตตา : “ต้นแบบหรือ idol ของอาจารย์มีหลายคนมาก เพราะแต่ละคนมีความ professional ที่แตกต่างกันออกไป และมีจุดที่เราชื่นชมที่แตกต่างกันออกไป แต่ในที่นี้ขอยกมากล่าวถึงสัก 3 ท่านนะคะ”
“ท่านแรก คือ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต ท่านเป็นอดีตคณบดีที่อาจารย์ได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน ซึ่งก่อนที่อาจารย์จะได้ทำงานร่วมกับท่าน ท่านเคยเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ในระดับปริญญาโทร่วมกับรศ.นพนิธิ สุริยะ ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ท่านก็คอยสนใจเอาใจใส่เราในฐานะที่เราเป็นนักศึกษาในที่ปรึกษาของท่านอย่างดี เราส่งอีเมลไปหาท่าน ไม่ว่าตอนไหน ไม่ว่าท่านจะมีเวลาหรือไม่ ท่าน ก็จะตอบกลับทันที การพูดคุย การให้คำแนะนำท่านจะเป็นสไตล์แบบน่ารัก เอาใจใส่นักศึกษาเป็นอย่างดี และที่ชอบมากก็คือเวลาที่ท่านพูดกับลูกน้องผู้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาท่านจะไม่สั่งลูกน้อง แต่จะเป็นการขอความช่วยเหลือจากเขา ทั้ง ๆ ที่ตนเองเป็นผู้บังคับบัญชา อาจารย์จึงมีความประทับใจตั้งแต่ได้ยินและตัวเราเองก็คิดว่าถ้าเรามีหัวหน้าแบบนี้ เราจะทำงานถวายชีวาเลย เราก็ไม่คิดว่าเราจะมีบุญวาสนาได้เป็นลูกน้องของท่าน ซึ่งตอนที่ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอนนั้นท่านยังไม่ได้เป็นคณบดี ตอนนั้นยังเป็นท่านศ.ณรงค์ ใจหาญ แต่หลังจากนั้นท่านก็มาเป็นคณบดี ซึ่งเมื่อเราได้ทำงานโดยเป็นลูกน้องของท่าน ท่านก็เอาใจใส่เป็นห่วงเป็นใยและให้เกียรติเราในฐานะที่เราเป็นอาจารย์ค่ะนอกจากท่านจะสอนหนังสือแล้ว ท่านยังเป็นผู้บริหาร และยังทำงานอื่นอีกมากมาย เช่น การเป็นกรรมการชุดต่างๆ และผลงานด้านวิชาการของท่านก็โดดเด่นด้วยค่ะ ก็เลยรู้สึกว่านอกจากการที่ท่านเป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรีดีท่านยังเป็นคนที่แบ่งเวลาได้ดีและเป็นคนที่มีความเมตตาในระดับสูง จึงประทับใจมากค่ะ”
“ส่วนท่านที่สองที่ประทับใจก็หนีไม่พ้น ท่านศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ซึ่งท่านเป็น idol ของอาจารย์ตั้งแต่ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ ท่านมีการพัฒนาตนเองได้เป็นอย่างดี มีการต่อสู้มาอย่างมากมาย ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ แม้จะมองไม่เห็นแต่ก็สามารถเรียนที่ Harvard Universityได้ ยังสามารถเป็นศาสตราจารย์ได้ ซึ่งช่วงหนึ่งก็ได้มีโอกาสทำงานกับท่าน โดยท่านมีแนวคิดที่ positive thinking มาก ทำให้เราเป็นคนคิดบวกไปด้วย และทำให้ตระหนักว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับความคิดจริง ๆ”
“และท่านที่สามที่ประทับใจซึ่งท่านยังหนุ่มแน่นและมีฝีมือด้านงานวิชาการ คือ รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า ท่านเป็นอาจารย์หนุ่มไฟแรง โดยเป็นรุ่นพี่ของอาจารย์เพียง1 ปีเท่านั้น และท่านสามารถเป็นรองศาสตราจารย์ในขณะที่มีอายุยังน้อยมาก และท่านพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าไม่ว่าจะเรียนที่ไหนเราสามารถพัฒนาตนเองได้ เพราะท่านไม่ได้เรียนที่ต่างประเทศ โดยท่านเรียนในระดับปริญญาเอกในเมืองไทย แต่ท่านสามารถเขียนหนังสือได้เป็นอย่างดี เมื่ออ่านแล้วรู้สึกเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และท่านเป็นคนที่กล้าที่จะสู้กับความไม่ยุติธรรมคืออะไรที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องท่านกล้าที่จะเขียนงานวิชาการของท่านออกมา debate โดยท่านไม่ได้เกรงกลัวเลยว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไรคือชอบมากในจุดนี้ ประทับใจและคอยติดตามเสมอค่ะ”
“ทั้งสามท่านนี้มีความแตกต่างในหลากหลายมุม คือ ต่างคนก็ต่างมีเอกลักษณ์และจุดเด่นเป็นของตัวเอง หากเราดึงสิ่งที่ดีของแต่ละท่านมาเป็นแบบอย่าง เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาตัวเองได้มากทีเดียวค่ะ”
คำถาม (6) : มุมมองเกี่ยวกับการเรียนต่อในระดับปริญญาเอกในประเทศไทยและในต่างประเทศมีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร และอาจารย์มีความตั้งใจที่จะศึกษาต่อที่ไหน
อ.ปทิตตา : “สำหรับมุมมมองที่มีต่อการเรียนต่อปริญญาเอกนะคะ แน่นอนว่าหากเราเป็นนักวิชาการเราต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา และการเรียนปริญญาเอกก็เป็นการพัฒนาตัวเองอย่างหนึ่ง โดยการพัฒนาตนเองสามารถทำได้ในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การเข้าร่วมประชุม สัมมนา หรืองานเสวนาต่าง ๆ หรือการเขียนงานวิชาการก็เป็นการพัฒนาตัวเองได้เช่นกันค่ะ แต่หากเราเป็นนักวิชาการก็คงจำเป็นที่จะต้องเรียนในระดับปริญญาเอกเพื่อหาความรู้มาพัฒนาตัวเอง ส่วนจะเรียนในประเทศหรือต่างประเทศก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละคนดีกว่านะคะ เพราะทั้ง 2 ที่ ก็มีข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างกันออกไป”
“อย่างในมุมมองของอาจารย์ การเรียนในประเทศไทยก็มีข้อดี คือ อยู่ในบ้านเราจึงไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก อาหารก็ทานได้ ค่าเทอมก็ถูกกว่าต่างประเทศ การเรียนก็ไม่น่าจะแตกต่างกันมากในสาระสำคัญ อย่างถ้าหากเป็นกฎหมายภายในการเรียนปริญญาเอกในประเทศก็อาจจะดีกว่า เพราะถ้าไปที่ต่างประเทศเราก็ต้องเรียนกฎหมายของเขาแล้วเรากลับมาก็จะต้องศึกษากฎหมายของเราอยู่ดี แต่ถ้าเรียนในประเทศก็ไม่น่าจะมีปัญหาเราก็คุ้นเคยอยู่แล้ว ส่วนข้อด้อย ก็คือ ด้านภาษาซึ่งเราอาจจะไม่เก่งเท่าคนที่เรียนในต่างประเทศ ด้านประสบการณ์ที่เราเจอในต่างประเทศ ในเมืองไทยเราก็อาจจะไม่เจอ แต่อาจารย์ก็คิดว่าสิ่งเหล่านี้เราสามารถพัฒนาได้ โดยเราอาจจะไปเที่ยวหรือไปดูงานในต่างประเทศแทนได้ค่ะ”
“ส่วนการเรียนในต่างประเทศ มีข้อดี คคือ หนึ่งภาษาเราต้องได้แน่ ๆ สองประสบการณ์ ส่วนเรื่องความรู้คิดว่าน่าจะไม่แตกต่างกันมาก ตัวอย่างของอาจารย์อานนท์ แม้จบเมืองไทยก็สามารถมีความรู้ความสามารถได้ เพราะสมัยนี้ทุกอย่างมัน online มี e-book เราก็อ่านได้ การประชุม conference ก็ดูได้ เราสามารถเข้าไปฟังการสอนของบางประเทศที่มีการเรียนออนไลน์ได้ ซึ่งถ้าเราอยากจะพัฒนาตัวเอง เราก็สามารถทำได้หลายรูปแบบ โดย ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ที่นั่นก็ได้”
“ส่วนข้อด้อย เราอาจเจอปัญหาในการปรับตัว ทั้งสภาพอากาศ อาหาร ซึ่งอาจจะดูเห็นแก่กินไป (หัวเราะ) ว่าจะกินได้ไหม หรือเราจะสามารถรับกับวัฒนธรรมบางอย่างของเค้าได้ไหม หรือเราไปอยู่คนเดียวเราจะว้าเหว่ หรือเหงาไหม แทนที่จะได้รับการพัฒนาตนเอง ก็อาจจะทำให้ตนเองแย่ลงได้หรือเปล่า”
“ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจารย์คงไม่สามารถฟันธงได้ว่าที่ไหนดีกว่าที่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าตัวเราเองชอบแบบไหน เหมาะสมกับแบบไหนมากกว่านะคะ สำหรับตัวอาจารย์เอง เนื่องจากมองว่าความรู้ไม่น่าจะแตกต่างกันมาก จึงอยากเรียนปริญญาเอกในประเทศไทย เพราะไม่อยากปรับตัวอะไรเยอะ และอีกอย่างอยากทำงานเพื่อสังคม ถ้าเราไปอยู่ที่นั่นแล้วเกิดดาวและพัฒนาตนเองไม่ไหวเราก็คงจะไม่มีกระจิตกระใจไปพัฒนาสังคมแน่ ๆ นอกจากนี้อาจารย์ยังรักในการสอน ซึ่งถ้าเรายังอยู่ในเมืองไทยเราสามารถเรียนไปด้วยและสอนไปด้วยได้ ถ้าเรายังไหว หากไม่ไหวก็อาจลาเรียนสักหนึ่งปี แต่ถ้าเราไปอยู่ที่ต่างประเทศเราต้องเรียนทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นเวลา อย่างน้อย 4-5 ปี ซึ่งจะทำให้เราเสียเวลาในการทำอะไรหลาย ๆ อย่างไป ดังนั้น จึงเลือกเรียนที่ตัวเองชอบและเหมาะสมกับตัวเองดีกว่าค่ะ”
(หัวข้อที่อาจารย์สนใจ?) “ส่วนหัวข้อที่อาจารย์สนใจจะเป็นแนวกฎหมายสิทธิมนุษยชน (human Rights) ที่สนใจด้าน นี้ เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือคน สามารถทำวิจัยและนำออกมาใช้ได้จริง ส่วนหัวข้อเรื่องอะไรยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างแน่ชัดค่ะ แต่หากมีเรื่องไหนที่มีความสำคัญและควรดำเนินการเป็นอันดับแรก โดยสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็จะพิจารณาเป็นพิเศษค่ะ”
คำถาม (7) : เนื่องจากอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านกฎหมายคนพิการ อาจารย์มีความคิดเกี่ยวกับภาพรวมกฎหมายในเรื่องผู้พิการในประเทศไทยอย่างไร และกฎหมายผู้พิการที่เราปรับใช้กันอยู่ในประเทศไทยสอดรับกับมาตรฐานสากลมากน้อยเพียงใด
อ.ปทิตตา : “(หัวเราะ) อย่าเรียกว่าเชี่ยวชาญเลยค่ะ เพราะไม่มั่นใจว่าตัวเองเชี่ยวชาญหรือเปล่า เรียกว่ามีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นพิเศษดีกว่าค่ะ ถ้าถามว่ากฎหมายคนพิการในประเทศไทยเป็นอย่างไร สำหรับในประเทศไทยกฎหมายคนพิการถือว่าค่อนข้างที่จะครอบคลุมในหลาย ๆ เรื่องนะคะ และสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีด้วย ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ถ้าจะมีปัญหาอยู่บ้าง ก็ตรงที่คนใช้กฎหมายหรือ ความไม่เข้าใจกฎหมายมากกว่าว่ากฎหมายเรื่องนี้มีคนในประเทศไทยกี่คนที่รู้ และมันเป็นอย่างไร ที่รู้อาจจะเกี่ยวข้องเฉพาะกับตัวเขา แต่ถ้าไม่เกี่ยวก็อาจจะไม่รู้หรือไม่ได้ตระหนักถึง แล้วเวลาที่จะคุ้มครองสิทธิ์จริง ๆ เขาก็ไม่รู้ว่าสิทธิเรื่องนี้ต้อง protect แบบนี้ หรือ มีสิทธิเรื่องนี้อยู่ด้วยเหรอในกฎหมายคนพิการ ซึ่งตรงนี้ก็อาจเป็นปัญหาในทางปฏิบัติเสียมากกว่าไม่ใช่ในทางกฎหมายค่ะ”
“คือในทางกฎหมายนั้นดีอยู่แล้วและสอดรับกับอนุสัญญาดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ในการปรับใช้ สิ่งเหล่านี้น่าจะเกิดจากความรู้ ความเข้าใจ หรือการตระหนักถึงคนพิการของผู้ที่มีความเกี่ยวข้องค่ะ”
“บางครั้งมีลูกศิษย์ของอาจารย์มาถามว่า อาจารย์คะ ทำไมตัวเบรลล์บล็อกมันไปแล้วชนกับต้นไม้ ซึ่งคนที่เดินไปมันก็ต้องชนด้วย เราก็ไม่รู้ว่าจะตอบเด็กว่าอะไรแบบนี้ (หัวเราะ) คือต้นไม้มันเกิดขึ้นมาก่อนหรือเกิดขึ้นมาทีหลัง ถ้าต้นไม้มันมีมาอยู่แล้ว แล้วเขาไปทำให้มันชน อย่างนี้มันเป็นปัญหาเรื่องอะไร อาจารย์ก็ไม่แน่ใจ แต่ถ้าต้นไม้มันเกิดขึ้นมาทีหลังก็เป็นปัญหาว่ามันมีเบรลล์บล็อกอยู่แล้ว แล้วจะไปปลุกต้นไม้ขึ้นมาเพื่ออะไร (หัวเราะ)”
“หรือตัวทางลาด เคยมี wheelchair หงายหลังลงมาเลยเพราะมันชัน จนเหมือนขึ้นเขา ซึ่งเค้าอาจจะไม่ได้ตระหนักหรือแค่ทำไปตามกฏหมาย อันนี้อาจารย์ก็ไม่แน่ใจเพราะในความเป็นจริงมันควรที่จะมีการคำนวณองศาของทางลาดอยู่แล้วนะคะ”
คำถาม (8) : ในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่จบจากศูนย์รังสิตและทำงานที่ศูนย์ลำปาง จึงอยากทราบมุมมองของอาจารย์ว่าการเรียนการสอนที่ศูนย์ลำปางเป็นอย่างไรและ มีความแตกต่างจากศูนย์รังสิตไหม
อ.ปทิตตา : “หากมองในแง่ของมาตรฐานหรือคุณภาพที่สัมฤทธิ์ผลออกมา อาจารย์มองว่าไม่ได้แตกต่างกัน เพราะเราใช้มาตรฐานเดียวกัน และใช้อาจารย์ชุดเดียวกันเกือบ 100% และอย่างอาจารย์เองก็ใช้มาตรฐานในการสอน การวัดผลแบบเดียวกัน และคิดว่าอาจารย์หลาย ๆ ท่านก็ใช้เหมือนกัน ดังนั้นมาตรฐานจึงไม่น่าจะต่างกัน”
“ถ้าจะต่างกันอยู่บ้าง สำหรับการเรียน อย่างเช่น ตอนที่อาจารย์เรียนที่ศูนย์รังสิต วันหนึ่งจะเรียน ประมาณ3 ชั่วโมง มากสุดประมาณหกชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่วิชาเดียวกัน และเราจะได้หยุดในวันเสาร์อาทิตย์ แต่สำหรับที่ลำปาง เนื่องจากบางวิชาเราเชิญอาจารย์จากรังสิตมาสอน ทำให้นักศึกษาที่นี่อาจจะต้อง เรียน6 ชั่วโมงติดต่อกันไป ซึ่งตรงนี้เป็นความแตกต่าง แต่ทางผู้บริหารก็กำลังช่วยกันหาวิธีแก้ไขอยู่นะคะ แม้ว่าที่ศูนย์ลำปางจะเรียนในวันเสาร์วันอาทิตย์ แต่เราก็จัดวันหยุดให้ในวันอื่นแทนค่ะ”
“ข้อดีของการเรียนที่ศูนย์ลำปาง ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยที่สงบเงียบ ไปนั่งในจุดไหน ก็สามารถอ่านหนังสือได้ค่ะ มีสิ่งยั่วตายั่วใจน้อย อยู่ค่อนข้างห่างไกลแหล่งท่องเที่ยว หากไปเดินหรือไปวิ่งรอบมหาวิทยาลัย นักศึกษาก็จะเจออาจารย์ สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ได้ สามารถเข้าหาอาจารย์ได้ง่าย เพราะอาจารย์ที่นี่ส่วนใหญ่ที่เป็นอาจารย์ประจำก็จะประจำอยู่ที่นี่ ทำให้นักศึกษาสามารถพบอาจารย์ได้ง่าย อยู่อย่างเป็นครอบครัวเดียวกัน สามารถปรึกษาหารือกันได้แทบจะทุกเรื่องค่ะ”
คำถาม (9) : ข้อจำกัดทางสายตาของอาจารย์เป็นอุปสรรคปัญหาต่ออาจารย์ทั้งในเรื่องการเรียนและการทำงานหรือไม่ และอาจารย์แก้ไขปัญหาข้อจำกัดและอุปสรรคเหล่านั้นอย่างไร
อ.ปทิตตา : “ขอตอบคำถามแรกก่อนนะคะ ข้อจำกัดทางสายตาของอาจารย์เป็นอุปสรรคปัญหาต่ออาจารย์หรือไม่อย่างไร ตอบเลยว่าเป็นปัญหาพอสมควรนะคะ เพราะการที่เรามองไม่เห็น มันย่อมส่งผลในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การดำรงชีวิต การเดินทาง การเรียน หรือแม้แต่การทำงาน เหล่านี้ถ้าเรามองว่าเป็นปัญหาก็เป็นปัญหาหมดนะคะ อาจารย์ขอยกตัวอย่าง เช่น การเรียน เนื่องจาก เรามองไม่เห็น จึงไม่สามารถที่จะอ่านหนังสือได้ เราไม่สามารถที่จะอ่านกระดานดำได้เหมือนคนอื่น”
“สำหรับคำถามที่ว่าอาจารย์สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร และ อาจารย์สามารถประสบความสำเร็จทั้งในด้านการเรียนและการทำงาน โดยมีข้อจำกัดและอุปสรรคเหล่านี้ได้อย่างไร การที่เราจะผ่านพ้นปัญหาไปได้มันไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งอาจารย์มองว่ามันอยู่ที่แนวคิดของเรานะคะ โดยอาจารย์มองว่าเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมามันก็เป็นปัญหาแต่ทุกคนต่างก็เจอกับปัญหากันทั้งนั้น โดยอาจารย์ก็อาจเจอกับปัญหาแบบนี้แต่คนอื่นก็อาจเจอกับปัญหาอีกแบบหนึ่ง อาจารย์ไม่ได้มองว่าปัญหาจะมาบั่นทอนชีวิตของอาจารย์ให้ย่ำแย่จนไม่ต้องทำอะไรแต่อาจารย์กลับมองในทางตรงกันข้ามว่ายิ่งเราพบกับปัญหามากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราแกร่ง ยิ่งทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น และอาจเป็นเพราะทางบ้านอาจารย์มีฐานะไม่ดีเราจึงพบกับความลำบากมาแต่แรก ต้องอดมื้อกินมื้อ ต้องช่วยทำงานตั้งแต่เด็ก เรามองไม่เห็นตั้งแต่เด็ก เหล่านี้เป็นความลำบากที่เราต้องผเชิญมาตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีปัญหาใด ๆ เข้ามาก็จะทำให้เราอดทน นอกจากนี้ก็ยังเอาความลำบากที่พ่อแม่ต้องผเชิญมาเป็นแรงผลักดันให้เราสู้เพื่อจะได้ทำงานเลี้ยงดูท่านให้สุขสบาย เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ของอาจารย์มีอาชีพกรีดยาง ต้องไปกรีดยางตั้งแต่เที่ยงคืนตีหนึ่ง อดหลับอดนอน กลางวันคุณพ่อยังต้องรับจ้างทำงานก่อสร้างเพื่อให้มีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว เราก็ไม่อยากให้ท่านทำงานหนักแบบนั้นไปตลอด จึงพยายามตั้งใจเรียนแม้เหนื่อยยากลำบากสักแค่ไหนก็ไม่ถอย”
“อีกอย่างอาจารย์ไม่ได้คิดถึงตัวเองเพียงอย่างเดียว อาจารย์คิดถึงคนอื่น ๆ ที่เขาด้อยกว่าเรา คิดถึงคนพิการรุ่นหลัง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรามีกำลังใจมากขึ้น อย่างเช่นช่วงที่ท้อมาก ๆ นั่นคือตอนเรียนปริญญาโท เพราะตอนเรียนในระดับประถม มัธยม และปริญญาตรี แน่นอนเป็นแบบอ่านหนังสือไปสอบ เราก็เข้าเรียน คุณครูจากโรงเรียนสอนคนตาบอดที่มาประจำที่โรงเรียนที่เราไปเรียนร่วมก็คอยช่วยผลิตเอกสาร หรือในมหาวิทยาลัยก็จะมีศูนย์บริการนักศึกษาพิการคอยช่วยผลิตเอกสาร นอกจากนี้ก็ยังมีเพื่อนๆ ที่คอยช่วยอ่านหนังสือให้ฟัง ช่วยติว ซึ่งอาจารย์เองก็โชคดีที่มีเพื่อนดีมาตลอด”
“แต่ในระดับปริญญาโทไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะเราต้องทำรายงาน เราต้องทำ research แล้วต้องมีการอ้างอิง references เราต้องอ่านหนังสือเยอะมาก แต่เราอ่านหนังสือไม่ได้ หาคนอ่านก็ยาก ประมาณว่ามีหนังสืออยู่ในมือแต่ไม่มีความสามารถที่จะอ่าน ตอนนั้นก็ยอมรับว่าท้อมาก ท้อแบบจะลาออกหลายรอบ คือเรารู้สึกว่าถ้าเราลาออกเราก็สามารถที่จะไปทำงานบางอย่างได้ แต่ว่าเราจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งไม่ได้อยากเป็นอาจารย์เพื่อตัวเราคนเดียวแต่เรายังแบกความหวังของใครหลายคนเอาไว้ ที่อยากเป็นอาจารย์ก็เพื่อให้พ่อแม่ได้ภูมิใจว่าแม้ลูกจะมองไม่เห็นแต่ก็ทำให้เขารู้สึกดี รู้สึกภูมิใจได้ และอยากจะไปช่วยเหลือคนอีกเยอะแยะ ถ้าเราเป็นอาจารย์ได้ เนื่องจากเราเป็นคนพิการและสามารถประสบความสำเร็จได้ มันไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ เพราะฉะนั้นเราก็อยากให้คนอื่นได้เห็นว่าคนพิการก็ทำอะไรได้ เพื่อน้อง ๆ รุ่นหลัง จะได้รับการพัฒนาและไปทำอะไรได้ง่ายขึ้นและถ้าเราได้มีโอกาสไปช่วยเหลือคนอื่น มันจะดีแค่ไหน คืออาจารย์คิดถึงคนอื่นไปด้วยนอกจากคิดถึงตัวเองเพียงอย่างเดียวเพราะว่าถ้าเราคิดถึงแต่ตัวเองป่านนี้อาจารย์คงจะลาออกไปแล้ว คือฉันจะต้องเหนื่อยไปเพื่ออะไร ฉันจะต้องทำไปเพื่ออะไร ความคิดเป็นสิ่งสำคัญ และเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน และเราก็จะต้องเดินตามฝันของเราให้ได้ ทำให้อาจารย์สามารถเรียนมาได้ค่ะ จริง ๆ ปัญหาเรื่องการเรียนหรือเรื่องเอกสาร คิดว่าวิธีแก้ปัญหาที่ดีอีกอย่างหนึ่งก็คือการทำหนังสือในรูปแบบของ e-book หรือทำเอกสารให้อยู่ในรูปแบบ electronic file แค่นี้ก็จะช่วยให้คนพิการทางสายตาสามารถอ่านเอกสารและเข้าถึงข้อมูลได้เช่นเดียวกับคนทั่วไปแล้วค่ะ ซึ่งตอนนี้ในบางประเทศก็เริ่มมีการทำกันอย่างแพร่หลาย”
“ข้อจำกัดด้านการทำงานก็มีบ้างนะคะ อย่างตัวอาจารย์ ตามที่ได้เล่าไปตั้งแต่แรกว่าไม่สามารถอ่านหนังสือได้การจัดตกแต่ง ขยายตัวอักษรใน PowerPoint ก็ต้องให้คนอื่นช่วยมันก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง นอกจากนี้หากเราต้องการข้อมูลในหนังสือเล่มไหนก็จะต้องไปจ้างพิมพ์ออกมาเพื่อให้โปรแกรมสียงในคอมพิวเตอร์อ่านให้ฟัง การอ่านก็จะช้ากว่าคนอื่น ๆ ทั่วไป เพราะเราต้องเลื่อนฟังทีละบันทัด หรือต้องหาคนอ่านหนังสือให้ฟัง แต่อาจารย์ถือว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้ทำงานที่นี่ เป็นที่ทำงานที่ดี ทางคณะก็พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนเราเป็นอย่างดี มีเพื่อนร่วมงานที่ดีคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งอาจารย์และเจ้าหน้าที่ ตอนแรกก็แอบกังวลอยู่บ้างในเรื่องอาจารย์ผู้ใหญ่เพราะเราเป็นเด็ก เรามาทำงานร่วมกับอาจารย์ที่เคยสอนเรามา ได้มาสอนร่วมกัน มันจะเป็นอย่างไร (หัวเราะ) แต่จริง ๆ แล้วอาจารย์ท่านให้เกียรติเรา ในฐานะที่เราเป็นเพื่อนร่วมงาน ไม่เคยที่จะทำให้รู้สึกไม่ดี นักศึกษาก็น่ารักตั้งใจเรียนเป็นอย่างดี ที่ทำงานที่นี่ถือว่าดีมากค่ะ”
คำถาม (10) : อยากให้อาจารย์ฝากข้อคิดถึงนักศึกษาผู้มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสายตา หรือทางด้านอื่น ๆ
อ.ปทิตตา : “อาจารย์จะบอกว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้แต่เลือกที่จะทำได้ แม้ว่าบางคน อาจจะเถียงอาจารย์ว่ามันเลือกที่จะทำไม่ได้เสมอไป (หัวเราะ) อย่างคนพิการเองบางครั้งก็อาจจะเลือกทำไม่ได้ทุกอย่าง อย่างอาจารย์ก็เคยถูกปฏิเสธมาแล้ว แต่อย่าลืมนะคะว่าตราบใดที่เรายังมีความพยายาม ยังสู้อยู่ ยังไงก็ไปถึงจุดหมายของเราสักวันหนึ่ง เพราะไม่ได้จำเป็นว่าเราต้องทำงานที่นี่ ที่นั่น หรือ ที่ไหน ขอแค่เป็นงานที่เรารัก หรือเป็นความตั้งใจที่เราอยากจำทำอะไร โดยอาจารย์เชื่อมั่นอย่างที่สุดว่า ทุกคนทำอะไรได้เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวคนพิการเองต้องไม่ดูถูกตัวเอง ต้องไม่มองว่าตัวเองด้อยค่าเพราะเหตุที่ตัวเองเป็นคนพิการ อยากให้มีมุมมองว่าตัวเองเป็นคนที่มีค่าเหมือนกัน เพราะทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน และจะพัฒนาตัวเองและสังคมได้เหมือนกับทุกคน เราต้องดึงความสามารถหรือศักยภาพของเราขึ้นมาโชว์ให้เขาเห็น อาจารย์เชื่อมั่นว่าไม่มีใคร perfect สมบูรณ์แบบ 100% และไม่มีใครที่จะแย่แบบไม่มีอะไรดี100 % เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนๆ หนึ่งย่อมมีความสามารถหรือจุดดีเป็นของตัวเอง เราดึงสิ่งนี้ของเราขึ้นมาให้คนเห็น แล้วเขาจะเห็นความสามารถของเรา เมื่อเรามีความสามารถแล้วทุกคนก็จะเชื่อมั่นเองว่าเรามีศักยภาพ เรามีความสามารถ นอกจากตัวคนพิการจะต้องเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าของตัวเองแล้ว ครอบครัวก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน หากครอบครัวเชื่อมั่นและให้โอกาสลูกหลานที่เป็นคนพิการ ร่วมพัฒนาสักยภาพของพวกเขาไปด้วยกัน ก็จะช่วยได้มากทีเดียว นอกจากนี้อยากจะฝากถึงคนทั่วไปในสังคมว่า อยากให้มองว่าคนพิการก็เท่าเทียมกับทุกคน และไม่ต้องไปสงสารหรือเวทนาเขา ที่ไปช่วยคนพิการเพราะเป็นการทำบุญ ไม่อยากให้คิดอย่างนั้น แต่ให้คิดว่าคนพิการก็เหมือนกับทุกคนแต่เขามีความบกพร่อง ขาดอะไรไปบางอย่าง ทำให้เขาไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาขาดตรงนี้แหละ เป็นสิ่งที่เราในฐานะเพื่อนมนุษย์ควรเข้ามาช่วย support เพื่อที่เขาจะสามารถใช้ชีวิตเท่าเทียมกับทุกคนได้อย่างปกติสุข อยากให้คิดอย่างนี้มากกว่าค่ะ”
(คือการเวทนา สงสาร ไม่ได้ไปช่วยเขา?) “ใช่ค่ะ มันไม่ได้ไปช่วยอะไรและมันยิ่งทำให้เพิ่มความไม่เท่าเทียมด้วยซ้ำ ถ้าเรายังมองว่าคนอื่นด้อยกว่า น่าสงสาร น่าเวทนาเขา มันจะยิ่งสร้างความไม่เท่าเทียม แต่ถ้าคิดว่าทุกคนเท่ากัน แต่บางคนอาจจะต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนิดนึง เพื่อที่เขาจะใช้ชีวิตได้เหมือนอย่างเราๆ จะเป็นอะไรที่ดีมาก เพราะ อาจารย์จะบอกว่าความพิการ โดยปกติเราเลือกไม่ได้หรอกว่ามันจะเกิดกับเราหรือจะเกิดกับใคร หรือบางทีอาจจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมาแล้วกลายเป็นคนพิการได้ เพราะฉะนั้นถ้าวันดีคืนดีใครเกิดเป็นขึ้นมา โดยไม่ได้ตั้งใจแล้วมันมีสิ่งที่เอื้อประโยชน์อยู่แล้ว มี facility ดีพอที่เราจะใช้อยู่แล้ว มันจะไม่ดีกว่าการที่ต้องมานั่งให้เราเป็น แล้วเราต้องมาเรียกร้องกันไปเรื่อยๆ อีกทั้งสังคมเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น แล้วคนสูงอายุ ลองจินตนาการดูว่า บางคนก็จะหูหนวก บางคนก็สายตาฝ้าฟางมองไม่เห็น หรือบางคนก็จะป่วยติดเตียงลุกไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความพิการหมด ขณะที่เราพยายามที่จะส่งเสริมให้คนสูงอายุสามารถทำ อะไรได้ ในทางกลับกัน ทำไมเราถึงไม่คิดถึงคนพิการไปพร้อมๆกันด้วย เพื่อที่จะทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกันแค่นี้สังคมก็จะน่าอยู่มากขึ้นเยอะเลย ไม่ต้องมาเรียกร้องอะไรกันจนหาว่าคนพิการเรียกร้องมาก ซึ่งความจริงแล้วเขาก็อาจจะไม่ได้เรียกร้องมากมายอะไร แต่ด้วย อุปสรรคหรือความบกพร่องของเขาทำให้เขาต้องการบางอย่างที่มันมากกว่าคนปกติ เพราะคนปกติไม่ได้เรียกร้องอะไรแต่คนพิการเรียกร้องมันก็จะกลายเป็นว่าคนพิการเรียกร้องมาก แต่ถ้าทุกอย่างมันเอื้อ อาจารย์เชื่อมั่นว่า ไม่มีใครอยากเรียกร้อง ทุกคนอยากใช้ชีวิตปกติเหมือนกัน ไม่มีใครอยากแตกต่างค่ะ”
ถ่ายภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง KK