วิชา น.100 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย เป็นวิชากฎหมายตัวแรก (และตัวเดียว) ที่นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ก่อนหลักสูตร 2561) ต้องเรียนในปี 1 เทอม 1 ซึ่งวิชาดังกล่าวมีทั้งเนื้อหาส่วนทั่วไปเรื่องกฎหมายสามยุค บ่อเกิดของกฎหมาย สิทธิ ประเภทของบทบัญญัติลายลักษณ์อักษร การใช้การตีความ ฯลฯ ซึ่งเป็นหลักการที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม และหลายคนมักจะบอกว่าเข้าใจยาก และเนื้อหาส่วนบุคคล ที่มีบทบัญญัติป.พ.พ.ประกอบที่อาจเข้าใจง่ายกว่า วันนี้เราจะพาคุณไปคุยกับชญานนท์ แสงอ่วม นักศึกษารหัส 60 ซึ่งสอบได้คะแนนวิชา น.100 ในภาค 1/2560 ถึง 98 คะแนน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในปีนั้น ถึงเคล็ดลับในการเรียนวิชาดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ
คำถาม (1) : ช่วยแนะนำตัวคร่าว ๆ และเล่าให้ฟังหน่อยว่า ตอนนั้นเรียนวิชา น.100 กับใคร
ชญานนท์ : “ชื่อนายชญานนท์ แสงอ่วม ตอนนี้ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 ครับ วิชาน.100 เรียนตอนปี 1 เทอม 1 ครับ sec 1 อาจารย์มุนินทร์กับอาจารย์กรศุทธิ์ครับ โดยอาจารย์กรศุทธิ์สอนส่วนทั่วไป แล้วก็อาจารย์มุนินทร์สอนส่วนบุคคล และสัมมนาโดยอาจารย์สหรัฐครับ”
คำถาม (2): ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง
ชญานนท์ : “ก็จะมีทั้งส่วนทั่วไปแล้วก็ส่วนบุคคลครับ ส่วนทั่วไปเราเรียนช่วงต้นเทอมเลยกับอ.กรศุทธิ์ ส่วนตัวคิดว่ายากในบางเรื่อง บางเรื่องก็เรียนเสร็จก็ไม่เข้าใจเลยก็มีครับ แต่ส่วนบุคคลที่เรียนกับอ.มุนินทร์นี่อาจจะเข้าใจง่ายกว่าหน่อย เพราะว่าค่อนข้างเห็นภาพแล้วก็มีตัวบทให้จับต้องได้ อะไรประมาณนี้ครับ”
“เนื้อหาส่วนทั่วไป ที่ไม่ได้เข้าใจยากมาก ก็อย่างเช่นบ่อเกิดของกฎหมาย แล้วก็เรื่องกฎหมายสามยุคอะไรอย่างนี้ครับ มีตัวอย่างที่เราเห็นภาพได้ชัดมากกว่า ส่วนที่เข้าใจยากก็นิติวิธีครับ เป็นการใช้การตีความกฎหมาย บางทีตอนนั้นเรียนจบคาบมาก็แทบจะไม่ค่อยเข้าใจเลย ต้องอาศัยทำความเข้าใจด้วยตัวเอง”
(คิดว่าที่เข้าใจยากเพราะอะไร?) “มันดูกว้าง แค่เนื้อหาในหนังสือก็หลายหน้ามากแล้ว แล้วก็ไม่ค่อยมีตัวอย่างที่ชัดเจนมาก เพราะว่าแต่ละกรณี ๆ มันก็ใช้หลักการที่ต่างกันไป อย่างเช่นหลักวิธีการใช้กฎหมาย บางเคสก็จะไปลงที่ปรกติประเพณีหรือจารีตประเพณีในการใช้กฎหมาย บางอันก็เทียบเคียงกฎหมายอะไรอย่างนี้ ตัวอย่างมันเยอะมากก็เลยกว้าง คิดว่าไม่ค่อยเห็นภาพ แล้วก็เนื้อหามันเยอะ ก็เลยดูงง ๆ ครับ”
(ก่อนมาเรียนกฎหมายคิดว่าจะเจออะไรแบบนี้ไหม?) “ในส่วนทั่วไปไม่คิดครับ เพราะว่ามันเหมือนล่องลอยแล้วก็เป็นหลักการพื้นฐานมากเลย คิดว่าจะมาเจออะไรแบบเป็นตัวบทอย่างเดียวอะไรประมาณนี้”
คำถาม (3) : ใช้เทคนิคอย่างไร ในการเรียน และการทำความเข้าใจเนื้อหาส่วนทั่วไปที่เข้าใจยาก
ชญานนท์ : “จริง ๆ ก็ใช้เทคนิคนี้ทั้งในส่วนที่ยากและในส่วนที่ง่ายครับ ก็คือเข้าฟังบรรยายทุกครั้งครับ แล้วก็สัมมนาก็ต้องเข้าฟังทุกครั้งครับ เพราะว่าถ้าเราอ่านหนังสือเองนี่ บางคนอาจจะเข้าใจได้ แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่าการเข้าฟังบรรยายจะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น เนื้อหาในหนังสือได้เข้าใจง่ายขึ้น ส่วนอันไหนยังไม่เข้าใจอยู่ก็ปรึกษาอาจารย์ ถามเพื่อน แต่ถ้าไม่ชัวร์จริง ๆ ก็ถามอาจารย์ดีกว่า แล้วก็ถ้าอันไหนเนื้อหาตามไม่ทันก็ย้อนฟังไฟล์เสียงแล้วก็มาจดเพิ่มเติมครับ”
“แล้วก็จะเป็นคนที่สำคัญเลยก็คืออ่านหนังสือในเนื้อหาที่จะบรรยายวันนั้นก่อนเข้าเรียนจะทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ แล้วก็อ่านตั้งแต่ต้นเทอมครับ ถ้าไปเร่งท้ายเทอมนี่มันจะเหนื่อยมากกว่า”
“เวลาดูข้อสอบเก่าแล้วไม่เข้าใจ ส่วนมากจะถามอาจารย์ เพราะว่าเราไม่แน่ใจว่าเพื่อนอาจจะเข้าใจไม่ตรงกับเราหรือเปล่า หรืออาจจะเข้าใจผิดเหมือนเรา แต่ถ้าจะให้ชัวร์จริง ๆ ก็ถามอาจารย์ครับ หรือถ้าถามเพื่อนแล้วชั้นหนึ่งก็ควรจะเช็คว่าถูกต้องไหมกับการถามอาจารย์ครับ การถามอาจารย์ก็ติดต่ออาจารย์ทางอีเมล แล้วก็ถามในห้องหรือในคาบสัมมนาบ้าง ตอนปล่อยพัก”
คำถาม (4) นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
ชญานนท์ : “มีประโยชน์มากครับ เพราะว่าสำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาปีหนึ่งจะแบบไม่เคยเจอข้อสอบที่แบบเขียนตอบข้อหนึ่ง 20 คะแนนอะไรอย่างนี้ เขาก็อาจจะเขียนไม่เป็นหรือแบบไม่รู้หลักการเขียนตอบว่าควรจะเขียนยังไง การเข้าฟังสัมมนาก็จะทำให้รู้ว่าควรเขียนอย่างไร ควรแบ่งย่อหน้าอย่างไร อะไรที่ไม่ควรเขียนบ้าง สิ่งที่ควรเขียนก็ควรสรุปคำตอบที่เราตอบมาในย่อหน้าสุดท้ายอะไรอย่างนี้ สิ่งที่ไม่ควรเขียนก็อย่างเช่นอาจารย์บางท่านอาจจะไม่ชอบเป็นเลข 1 อะไรอย่างนี้ ควรจะเขียนเป็น “ประการที่หนึ่ง” อะไรอย่างนี้จะโอเคกว่าที่เคยได้ยินมา แล้วก็สัมมนาบางครั้งก็จะเป็นการทบทวนเนื้อหาในห้องเรียนบางประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนอะไรอย่างนี้ครับ ก็มีประโยชน์มาก การบ้านสัมมนาก็ส่งทุกครั้งครับ คิดว่าช่วยในการฝึกเขียนตอบมาก เพราะว่ามีรุ่นพี่คอยตรวจ เพราะว่าเขาผ่านประสบการณ์มาก่อนเขาก็จะรู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำบ้าง”
คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบวิชานี้ทำอย่างไรบ้าง
ชญานนท์ : “เตรียมตัวสอบก็คืออ่านตั้งแต่ต้นเทอมเลยครับ ค่อย ๆ เก็บทีละนิด ๆ ไม่ควรเครียด แล้วก็ไม่ควรเร่งตอน 1 เดือน 2 เดือนสุดท้ายอย่างนี้ มันจะเหนื่อยมาก แล้วเตรียมตัวสอบ ข้อสอบเก่าก็มีส่วนสำคัญครับ ส่วนตัวคิดว่ายิ่งทำข้อสอบเก่านี่ยิ่งทำให้เราเห็นภาพหรือตัวอย่างของเนื้อหานั้นมากขึ้น แล้วก็สิ่งสำคัญเลยก็คือควรดูแลสุขภาพครับ เพราะว่าถ้าเราหักโหมจนเกินไปหรือว่าเครียดจนเกินไปกับเนื้อหาที่เรียน มันอาจจะส่งผลไปยังวันสอบได้ครับ ถึงแม้เราจะมีความรู้ แต่ถ้าสุขภาพไม่พร้อม ประสิทธิภาพในการเขียนตอบก็จะลดลงครับ”
“การเตรียมตัวสำหรับส่วนทั่วไป ก็อ่านจากเอกสารบรรยาย เอกสารสัมมนาครับ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันจะสรุปส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ทำให้เราอ่านหนังสือได้เข้าใจง่ายขึ้น แล้วก็ส่วนที่ยาก ๆ เนี่ย ผมรู้สึกว่าผมทำข้อสอบเก่าแล้วมันเห็นภาพ จนบางทีแบบไปทำข้ออื่นแล้วแบบมันเป็นเลย แล้วคำตอบมันก็ไปถูกกับธงคำตอบอะไรอย่างนี้ นี่คือทำข้อสอบเก่าจะเห็นภาพง่ายขึ้น เช่น อันนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องนิติวิธีนะครับ อาจจะเป็นเรื่องสิทธิอย่างนี้ครับ บางคนอ่านในหนังสือเองอาจจะไม่เข้าใจ แต่พอเราไปลองทำข้อสอบเนี่ยมันจะเห็นภาพว่าเราควรไปยกปรับยังไงอะไรอย่างนี้ครับ”
“ส่วนบุคคลก็คือถ้าพูดถึงการเตรียมตัวก็ต้องเข้าเรียน ต้องเข้าสัมมนาอยู่แล้ว แต่ส่วนบุคคลจะเข้าใจง่ายกว่าส่วนทั่วไป แล้วก็หนังสือของอาจารย์กิตติศักดิ์ที่เราใช้เรียนใช้อ่านกัน ผมว่าอาจารย์เขาเขียนได้ดีมากครับ อ่านแล้วมันก็เห็นภาพ แล้วก็ประกอบกับมีตัวบท แล้วก็เนื้อหามันก็เชื่อมโยง แล้วมันก็จะเข้าใจง่ายกว่าครับ”
คำถาม (6) : คิดว่าทำไมเราถึงได้คะแนนเยอะขนาดนี้
ชญานนท์ : “ก็คิดว่ามันสำคัญก็คืออยู่ที่เนื้อหาและการตอบก็ส่วนหนึ่ง แล้วก็วิธีการถ่ายทอดในการเขียนตอบครับ อย่างผมนี่จะเขียนเป็นแบบตามความเข้าใจของตัวเอง แล้วภาษาก็ไม่ถึงกับทางการมาก แต่อย่างอาจารย์บางท่านอ่านแล้ว หรือเพื่อน ๆ อ่านอย่างนี้ ก็จะเข้าใจในสิ่งที่ผมเขียนว่าผมสื่ออะไรมากกว่า แล้วก็ ประมาณนี้แหละครับ”
(ยังจำคะแนนแต่ละข้อได้ไหม ข้อไหนที่ไม่ได้เต็ม?) “ก็จะมีข้อ 1 มีสองข้อย่อย ข้อ ก. ถามเรื่องประเภทกฎหมายลายลักษณ์อักษร ข้อ ข. เรื่องสิทธิ กับข้อ 3 นิติวิธี การใช้การตีความกฎหมาย ที่ได้ 19 ส่วนข้ออื่น ๆ ข้อ 2 บ่อเกิดของกฎหมาย ข้อ 4 บุคคลธรรมดา ข้อ 5 นิติบุคคล ได้ 20 เต็ม”
(ตอนสอบเสร็จคิดว่าจะได้คะแนนเยอะขนาดนี้ไหม?) “ไม่ครับ คิดไว้ประมาณ 85 – 90 ก็โอเคแล้วครับ ตอนทราบคะแนนก็ตกใจมาก ๆ ครับ เพราะว่าผมไมได้รู้เอง เพื่อนโทรมาบอก”
(นี่คือคะแนนที่ได้เยอะสุดไหม?) “วิชาเอกเทศสัญญา 1 เทอมที่แล้ว ได้ 99 คะแนนครับ”
คำถาม (7) : คิดว่าปัญหาของคนที่สอบวิชานี้ไม่ผ่านเกิดจากอะไร
ชญานนท์ : “ก็จะมีอยู่ 2 กลุ่มครับ มีแบบกลุ่มปีหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาใหม่ แล้วก็พี่ปีสูง ๆ ที่อาจจะยังตกค้างอยู่ สำหรับปีหนึ่งเนี่ย ผมว่าถ้าเขาไม่ค่อยเข้าฟังบรรยายหรือไม่ค่อยเข้าสัมมนาอย่างนี้ การเขียนตอบบางคนก็เขียนไม่ได้เลย เขียนไม่รู้เรื่องเลย เพราะว่าเพิ่งเข้ามา แล้วแบบรูปแบบการตอบไม่เหมือนสมัยมัธยมอะไรอย่างนี้ครับ ส่วนของพี่ปีสูงก็อาจจะแบบ ปัญหาก็อาจจะเหมือน ๆ กัน ก็คือไม่ค่อยเข้าเรียน ไม่ค่อยเข้าฟังบรรยาย แล้วแบบบางที ผมฟังบรรยายอย่างนี้ครับ อาจารย์ก็จะบอกว่าท่านเห็นต่างจากหนังสือบ้าง เขาก็จะบอกไว้ แล้วก็ปีหนึ่งก็อาจจะมีปัญหาการตื่นเต้นครับ เพราะว่าเป็นสอบครั้งแรก ควรจัดการในส่วนนี้มาให้ดีด้วย”
คำถาม (8) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
ชญานนท์ : “โดยรวมก็แนะนำให้เข้าฟังบรรยายทุกครั้ง เข้าสัมมนาทุกครั้ง อันนี้จะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้น แล้วก็อ่านก่อนเข้าเรียนทุกครั้งในเนื้อหาที่จะบรรยายในวันนั้น แล้วก็ถ้าเนื้อหาส่วนไหนมันยากจริง ๆ ก็ควรเขียนสรุปของตัวเองด้วยภาษาของตัวเองที่แบบอ่านแล้วเราเข้าใจ อย่างเช่นผมไปอ่านสรุปของเพื่อนแล้วผมยัง ก็รู้ว่าเป็นภาษาของเพื่อน เพราะว่ามันไม่ได้เหมือนในหนังสือหรือแบบไม่ได้เป็นภาษากฎหมายจนเกินไป แต่เราอ่านแล้วเรารู้ว่าเขาต้องการสื่ออะไร การเขียนแบบทำสรุปเป็นของตัวเองในเนื้อหาการบรรยายครั้งต่าง ๆ ก็จะทำให้เราเข้าใจมากขึ้น”
คำถาม (9) : คิดว่าวิชา น.100 มีความสำคัญอย่างไร
ชญานนท์ : “ก็ถ้าเราเข้าใจหลักการพื้นฐานส่วนที่เป็นสาระสำคัญก็จะใช้ต่อยอดในการทำความเข้าใจพื้นฐานของวิชาอื่นครับ อย่างเช่นวิชาตั๋วเงินก็จะมีในส่วนที่โยงมาถึงความสามารถของบุคคล อาจารย์ก็จะพูดคำกว้าง ๆ อย่างนี้ครับ ซึ่งถ้าเราไม่เข้าใจในเนื้อหาส่วนบุคคลตอนปีหนึ่งเนี่ย เราก็จะอาจจะไม่เข้าใจว่าความสามารถของบุคคลเนี่ยมันหมายความถึงอะไรบ้าง มันครอบคลุมถึงส่วนไหน แล้วกฎหมายวิ.แพ่งก็ใช้ครับ เรื่องภูมิลำเนา อาจารย์ก็จะอ้างว่าเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งอย่างนี้ แล้วเราก็ต้องเข้าใจเนื้อหาพื้นฐานในส่วนแพ่งมาก่อน สรุปก็คือมันเป็นพื้นฐานของกฎหมายหลาย ๆ ตัว แทบจะทุกวิชาเลย หรือหุ้นส่วนบริษัทก็ใช้ครับ อย่างผู้แทนกับนิติบุคคลแยกกันยังไง”
“ส่วนทั่วไปก็ได้ใช้เหมือนกัน อย่างเช่นการดูเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนิติวิธี แล้วก็กฎหมายเขาบัญญัติอย่างนี้เพื่ออะไร หรือมีเจตนารมณ์ยังไง ศัพท์ทางเทคนิคมีไว้เพื่ออะไร”
(ตอนนี้คิดว่าเข้าใจเรื่องนิติวิธีมากขึ้นไหม เรียนมาถึงปี 3 แล้ว?) “เข้าใจครับ แต่คิดว่าอาจจะยังไม่ 100% เพราะว่าคงต้องศึกษาเรื่อย ๆ”
คำถามสุดท้าย : อยากฝากอะไรถึงรุ่นน้องที่กำลังเรียนวิชานี้
ชญานนท์ : “ฝากถึงรุ่นน้องก็ สำคัญเลยก็คือควรเข้าฟังบรรยาย สัมมนาทุกครั้งครับ แล้วก็อ่านเนื้อหาก่อนที่จะเข้าเรียนทุกครั้ง สำคัญเลยก็คือควรฝึกทำข้อสอบ อย่างน้อยก็หนึ่งเดือนก่อนสอบอย่างนี้แล้วกัน จะช่วยให้เราเห็นภาพมากขึ้น แล้วก็จัดการดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีครับ อย่าไปทุ่มเทกับอะไรอย่างนี้มากเกินไป อย่าไปหักโหมเกินไป แบ่งเวลาให้ถูก”
ปัจจุบันชญานนท์ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 และในเทอมนี้ ได้สมัครเข้าร่วมและผ่านการคัดเลือกให้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ ในโครงการผู้ช่วยอาจารย์วิชา น.160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 (หลักสูตรภาคบัณฑิต) และวิชา น.100 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย โดยสำหรับวิชา น. 100 เป็นผู้ช่วยอาจารย์กิตติภพ วังคำ (กลุ่มภาคบัณฑิต ผู้บรรยาย ผศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง)
สำหรับครั้งหน้าเราจะพาคุณไปคุยกับผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชา น. 100 ทั้ง 4 กลุ่มบรรยาย ในภาค 1/2561 ซึ่งเป็นนักศึกษาหลักสูตรใหม่ที่มีทั้งการวัดผลแบบกลางภาค และการวัดผลแบบ take home exam ในขณะที่หลักสูตรก่อนหน้าจะเป็นการวัดผล 5 ข้อ 100 คะแนน รวมถึงผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในวิชา น. 110 กฎหมายอาญา-ภาคทั่วไปทั้งสองกลุ่มด้วย ติดตามได้เร็ว ๆ นี้
ถ่ายภาพ Pump, CD
แต่งภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล, CD
เรียบเรียง KK