ธีรพงษ์ ใจพรม นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ชั้นปีที่ 4 เป็นผู้สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชากฎหมายลักษณะครอบครัว (กลุ่ม 1 ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล) ในภาค 1/2561 เมื่อครั้งอยู่ชั้นปีที่ 3 โดยได้ 93 คะแนน เราจะพาคุณไปคุยกับธีรพงษ์ถึงประสบการณ์ในการเรียนวิชาดังกล่าว และเรื่องอื่น ๆ จากมุมมองของนักศึกษาสายตาพิการ
คำถาม (1) : คิดอย่างไรกับวิชากฎหมายลักษณะครอบครัว
ธีระพงษ์ : “คือวิชากฎหมายลักษณะครอบครัวเนื้อหาสาระเป็นการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลโดยกำหนดสิทธิและหน้าที่ซึ่งไม่แตกต่างจากเนื้อหาสาระในวิชาอื่น ๆ ที่อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพียงแต่ว่ากฎหมายลักษณะครอบครัวบัญญัติมาโดยสอดคล้องกับครอบครัวในสังคมไทยนะครับ ซึ่งทำให้เข้าใจและเห็นภาพได้ง่าย ง่ายขึ้นกว่าวิชาอื่น ๆ”
(คือรู้สึกว่ามันง่ายกว่าวิชาอื่น?) “ใช่ครับ เพราะว่าเราเห็นได้จาก หนึ่งก็คือตัวเราเอง สองก็คือบุคคลรอบข้าง สามก็คือจากข่าวสารในชีวิตประจำวัน วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์หรือแม้กระทั่งสื่อออนไลน์ พวกนี้น่ะครับ”
คำถาม (2) : ใช้เทคนิคหรือรูปแบบอย่างไรในการเรียนวิชาครอบครัว
ธีระพงษ์ : “วิธีการเรียนของผมก็คือ หนึ่งพยายามเข้าเรียนให้ได้ครบทุกครั้งครับ สองก็คือมีการบันทึกเสียงอาจารย์ทุกครั้งในทุกครั้งที่สอน สามก็คือผมอ่านหนังสือล่วงหน้าทุกครั้งที่เรียน ตามเค้าโครงที่ว่าสัปดาห์นี้อาจารย์จะสอนเรื่องอะไร และดูตามข้อเท็จจริงในห้องว่าอาจารย์พูดไปถึงไหนแล้ว แล้วก็อ่านหนังสือล่วงหน้า แล้วก็ประการสุดท้ายเลยคือ นำไฟล์เสียงนั้นมาทำสรุปสั้น ๆ ประมาณซัก 2 หน้า A4 ในทุกครั้งที่เรียนเสร็จ มันก็จะทำให้การเรียนมันมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ”
คำถาม (3) : วิชาอื่น ๆ ใช้รูปแบบการเรียนเหมือนกันไหม
ธีระพงษ์ : “คล้าย ๆ แต่ผมไม่ได้ทำทุกวิชาครับ จะมีบางวิชาที่เราไม่ค่อยชอบ เราก็อาจจะไม่ได้ใช้วิธีนี้ อะไรอย่างนี้นะครับ ความสนใจมันลดลงมันก็จะไปตามส่วนของมัน”
“วิชาครอบครัว โดยส่วนตัวมองว่าชอบครับ มันสะท้อนถึงปัญหาของสังคมไทยได้ค่อนข้างดีน่ะครับ”
คำถาม (4) : เคยเรียนกับอาจารย์มาตาลักษณ์มาก่อนหรือไม่ และรู้สึกอย่างไรกับการสอนสไตล์โค้ชชิ่งซึ่งอาจารย์มาตาลักษณ์นำมาใช้ในห้องใหญ่ครั้งแรกในวิชาครอบครัวปีนั้น
ธีระพงษ์ : “เคยเรียนมาก่อนในช่วงปี 2 เทอม 1 ก็คือเรียนวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไปที่เป็นวิชาหลัก และก็ตอนปี 2 ภาคฤดูร้อนก็เรียนคดีเด็กและเยาวชนเป็นตัวเลือกซึ่งอาจารย์ท่านสอน”
“ตอนอาญามีโค้ชชิ่งนิดหน่อย แต่ว่าครอบครัวเนี่ย อาจารย์เอาโค้ชชิ่งมาใช้ในห้องใหญ่เป็นครั้งแรก การสอนสไตล์โค้ชชิ่ง คือสอนให้เรารู้จักคิดและทำความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การจดจำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัยในองค์ความรู้ที่ได้รับมา และนอกจากนี้ยังมีการถกเถียงพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เรียนคนอื่น ๆ อย่างนี้ครับ ซึ่งถ้าเป็นคดีเด็กท่านจะค่อนข้างทำได้ครบถ้วนเพราะว่าเป็นกลุ่มที่เล็กนะครับ แต่เป็นวิชาครอบครัวส่วนใหญ่ท่านจะเน้นไปที่กระบวนการคิดมากกว่า คือในเชิงเปรียบเทียบ คิดให้เราเข้าใจ พูดง่าย ๆ ว่าสอนบทบัญญัติก็จะมองไปถึงเรื่องของเจตนารมณ์ ความประสงค์ หรือความมุ่งหมาย ในการบัญญัติขึ้นมาเพื่ออะไร บัญญัติขึ้นมาทำไม มันจะทำให้เรามีความเข้าใจมากขึ้นและทำให้เราจำได้”
“คือถึงแม้ว่าเราจะลืม ถ้อยคำในตัวบทกฎหมาย หรือลืมเลขมาตรา แต่หลักกฎหมายมันจะอยู่กับเราตลอดเพราะว่าเราไม่มีทางลืมเพราะว่ามันเกิดจากความเข้าใจ”
(แล้วเราต้องปรับตัวหรือไม่ ถ้าเทียบกับวิชาอื่น?) “ปรับตัวน้อยกว่าวิชาอื่น น้อยกว่าเพราะว่าโดยส่วนตัวแล้วเรามีความสนใจในเรื่องกฎหมาย ผมเป็นคนที่ชอบกฎหมายอาญาและชอบกฎหมายครอบครัวอยู่แล้วอะครับ ก็มีความสอดคล้องกันมาก ๆ แล้วก็มันทำให้เรารู้สึกว่าเราปรับตัวน้อยกว่าวิชาอื่น”
คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบวิชาครอบครัวทำอย่างไรบ้าง
ธีระพงษ์ : “เตรียมตัวสอบของผมเลยนะครับ หนึ่งผมอ่านหนังสือ สองก็คือนำสรุปที่เราทำไว้สั้น ๆ ในทุกครั้งมาอ่านประกอบ สามก็คือท่องตัวบทและก็ทำความเข้าใจในมาตราที่เป็นมาตราที่สำคัญ ๆ ที่อาจาจารย์ค่อนข้างจะเน้นน่ะครับ แล้วก็สี่ก็คือฝึกทำข้อสอบเก่า”
“ก็คือนำข้อสอบของปีก่อน ๆ มาดู แล้วก็นำตัวบทกฎหมายมาลองจับดูความเป็นเหตุเป็นผล ถ้าเหตุเป็นแบบนี้ผลจะเป็นอย่างงี้ อะไรอย่างนี้ แล้วก็อันสุดท้ายเลยก็คือ อ่า…ฎีกาอะไรที่อาจารย์ยกมาให้ห้องแล้วเป็นฎีกาย่อ บางทีเราก็ไปหาตัวเต็มมาอ่านเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม”
คำถาม (6) : ได้คะแนนสอบกี่คะแนน และคิดว่าทำไมเราถึงได้คะแนนสูงสุดในวิชานี้
ธีระพงษ์ : “93 คะแนน ครับจำได้ว่าน่าจะได้ 20 ประมาณ 3 ข้อนะ ได้ 18 ข้อหนึ่ง และได้ 15 ข้อหนึ่ง ”
“ตอนนั้นก็ไม่คิดว่าจะได้คะแนนสูงสุด แต่รู้ตัวเองว่าผ่านแน่นอน เพราะว่าเราชอบวิชานี้มากและเราก็เคยเรียนกับท่านอาจารย์มาตาลักษณ์ในหลาย ๆ วิชาน่ะครับ ก็เลยรู้ว่าไม่มีทางตกแน่นอนแต่ช่วงคะแนนอาจจะอยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่คิดว่าจะได้สูงที่สุด”
“ที่ได้คะแนนสูงสุด ผมคิดว่า หลัก ๆ เลยก็น่าจะอยู่ที่การเขียนตอบ คือผมเขียนตอบหนึ่งก็คือประเด็นครบถ้วนทุกประเด็น ก็คือ เราจะดูโจทย์เลยนะว่าโจทย์ถามอะไร บางสิ่งบางอย่างที่โจทย์ไม่ได้ถามแต่มันมีความต่อเนื่องมันมีความสืบเนื่องที่จะต้องนำมาวินิจฉัยก็จะต้องนำมาวินิจฉัยด้วย”
“ข้อที่สองก็คือผมค่อนข้างแม่นตัวบทกฎหมายในวิชาครอบครัว คืออาจจะไม่ถึงการจำถ้อยคำในตัวบทได้เป๊ะ ๆ แต่เรารู้หลัก แล้วเราก็แยกองค์ประกอบส่วนเหตุและส่วนผลได้อย่างชัดเจน แล้วก็อันที่สามเราก็นำข้อเท็จจริงที่อยู่ในโจทย์มาปรับเข้ากับตัวบทกฎหมายในส่วนเหตุส่วนผลได้ และสุดท้ายคือเราฟันธงไปเลยว่าเราจะตอบอะไร เราไม่ เราไม่เหยียบเรือสองแคมหรือไม่ทำให้อาจารย์รู้สึกว่าเราก้ำ ๆ กึ่ง ๆ เราฟันธงไปเลยว่าเราจะตอบแบบนี้ ๆ มันก็จะทำให้ได้คะแนนดีครับ”
(การเขียนตอบข้อสอบในวิชานี้มีรูปแบบที่แตกต่างจากการเขียนวิชาอื่นหรือไม่?) “คล้าย ๆ กันก็คือ ถ้าเป็นโจทย์ที่มีความสั้นและมีความสลับซับซ้อนมาก ๆ ผมจะวางตัวบทกฎหมายไว้ด้านบนเลยครับ จากนั้นก็วินิจฉัยมันก็ไม่ต้องเขียนตัวบทกฎหมายซ้ำ แล้วก็ในส่วนสุดท้ายก็เป็นการสรุปครับ”
คำถาม (7) : คิดว่าคนที่สอบไม่ผ่านวิชาครอบครัวเกิดจากอะไร และถ้าต้องให้คำแนะนำในการเรียนวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
ธีระพงษ์ : “หนึ่งก็คืออาจจะเป็นการที่ไม่แม่นตัวบทกฎหมาย คือ อาจจะไม่รู้ว่าตัวบทบัญญัติยังไง หรือต่อให้รู้อาจจะใช้ไม่เป็นคือไม่เข้าใจหลักวิธีการใช้การตีความเพราะว่าบางที่บทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรมันไม่ครอบคลุมพฤติการณ์ทั้งหมด มันไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น”
“บางทีเขาอาจจะไม่ทราบว่า ตัวบทกฎหมายครอบคลุมไปถึงกรณีนี้นะ ต้องใช้แบบนี้นะ อะไรแบบนี้ รวมถึงอื่น ๆ ด้วย เช่น ไม่ค่อยเข้าเรียน หรือเข้าเรียนน้อย อะไรอย่างนี้ เป็นองค์ประกอบเข้ากันการเรียนเลยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร”
“คำแนะนำในการเรียน หนึ่งก็คือพยายามเข้าเรียนให้ได้ครบทุกครั้ง”
“สองเลยก็คือ พยายามทำความเข้าใจกับตัวบทกฎหมายที่สำคัญ ๆ รวมไปถึงการอ่านหนังสือ”
“สามก็คือ ฝึกทำข้อสอบเก่ามาก ๆ สำหรับคนที่มีปัญหาในด้านการเขียนตอบ”
“แล้วก็สี่อาจจะดูคำพิพากษาเก่า ๆ หรือดูข่าวที่เป็นข่าวในลักษณะที่เป็นข้อพิพาทในทางครอบครัวเพื่อทำความเข้าใจกับกฎหมายครอบครัวให้มากขึ้นก็จะทำให้การเรียนในวิชากฎหมายครอบครัวมีประสิทธิภาพมากขึ้นนะครับ”
คำถาม (8) : การเรียนในภาพรวมเป็นอย่างไร
ธีระพงษ์ : “คือต้องยอมรับตรง ๆ ว่าการเรียนของเราช่วงปี 1 ผมปรับตัวไม่ได้มีปัญหาในการเขียนตอบข้อสอบอย่างร้ายแรง จึงทำให้ตกแพ่งตกนิติกรรมไป แต่ว่าผมซ่อมผ่านในครั้งเดียว ช่วงปี 2 แทบจะไม่เจอปัญหาเลยเพราะว่าปรับตัวได้ครับ”
“ช่วงปี 3 เทอม 2 ผมเจอวิชาที่ไม่ค่อยถนัดอยู่หลายวิชา เช่น กฎหมายระหว่างประเทศ อะไรอย่างนี้ ก็ทำให้มีปัญหา แต่โดยรวมคือมันก็ไม่ถึงขั้นร้ายแรงที่ทำให้ไม่จบยังไงก็จบ 4 ปี แน่นอนอะไรอย่างนี้”
(เคยได้คะแนนสูงสุดในวิชาอื่นอีกไหม?) “ไม่เคยได้ แต่ก็มีวิชาที่ช่วงคะแนนอยู่อันดับต้น ๆ นะครับ ก็คือห่างจาก Top ไม่เท่าไหร่อะไรอย่างนี้ เช่นละเมิดกลุ่มของอาจารย์อำนาจ วงศ์บัณฑิต ผมได้ 81 คะแนน Top Sec น่าจะอยู่ที่ 80 กลาง ๆ แล้วก็เอกเทศสัญญา 1 ผมอยู่อาจารย์ไผทชิต เอกจริยกร ถ้าผมจำไม่ผิด Top Sec น่าจะอยู่ที่ 90 กลาง ๆ ถ้าผมจำไม่ผิดผมได้ 87”
(แล้วปรับตัวในการเรียนอย่างไร จากปี 1 ที่เรียนไม่ดี?) “คือผมศึกษาวิธีการเขียนตอบเลยว่าเขาเขียนกันอย่างไรครับ หาหนังสือที่เขาเรียกว่าหนังสือ “ถามตอบ” ที่อาจารย์หลาย ๆ ท่านชอบทำ มาดูเลยว่าเขามีลักษณะการวางตัวบทแบบนี้นะ มีลักษณะการปรับบทแบบนี้นะ วินิจฉัยแบบนี้ สรุปแบบนี้ แล้วเราก็เริ่มทำตาม”
“หลังจากนั้นเราก็เริ่มยึดวิธีนี้เป็นแนวทาง เพราะว่าการนำความรู้เข้าสู่หัวสมองนี้ไม่ใช่เรื่องยากนะ มันยากคือถ่ายทอดออกมาไม่ได้ เพราะว่าถ้ากระบวนวิธีการถ่ายทอดมาดีปุ๊ป มันทำให้ทุกอย่างโอเคไปหมดครับ”
คำถาม (9) : คิดว่าการที่สายตาพิการเป็นอุปสรรคในการเรียนนิติศาสตร์มากน้อยแค่ไหน
ธีระพงษ์ : “มันปฏิเสธไม่ได้นะครับว่าความพิการมันทำให้เกิดอุปสรรค เกิดปัญหาในการศึกษาแน่นอน เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เกิดปัญหาในภาพรวมที่มาก เพราะว่าปัญหาทุกปัญหาที่เกิดนั้นมันมีทางออก เราก็ค่อยแก้ไปที่ละจุดทีละเปราะ รวมถึงทางมหาวิทยาลัยก็มีศูนย์นักศึกษาพิการที่คอยสนับสนุน คอย Support”
“รวมถึงทางคณะนิติศาสตร์เราเองไม่ได้นิ่งนอนใจกับนักศึกษาพิการแล้วก็ยังให้ความช่วยเหลืออยู่เรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นในภาพรวมมันจึง…คือมีปัญหาบ้าง แต่ไม่มากถึงขนาดทำการเรียนมันล้มเหลวหรือให้มันไม่มีประสิทธิภาพ ระบบสนับสนุน ก็อย่างเช่นจะมีกลุ่มวิชาการที่มามาคอยติวเตอร์มาคอยอะไรให้ปัจจุบันนี้ก็ไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่แต่ก็ถือว่าได้มีการลงมือไปแล้ว”
(อยากให้คณะมีระบบอะไรที่สนับสนุน มากกว่านี้บ้าง?) “ในส่วนตัวผม ผมคิดว่าเรื่องการเข้าถึงเอกสารในการเรียน เพราะว่าทุก Section บางทีเขาก็แจกเอกสารเป็นกระดาษหรือบางทีเขาแจกเอกสารมาเป็นไฟล์ pdf เพราะว่าการเข้าถึงของคนพิการมันจะมีปัญหา ซึ่งถ้าทางที่ดีควรจะจัดทำเอกสารที่คนพิการสามารถเข้าถึงได้ ไว้ให้กลุ่มคนพิการโดยเฉพาะ เช่นเป็นไฟล์ word หรือเป็น Power Point และส่วนที่เป็นแผนผังหรือเป็นรูปภาพอาจจะต้องถอดออกมาเพื่อบรรยายเป็นลักษณะของตัวหนังสือแทนน่ะครับเพื่อให้เราเข้าถึงได้ง่ายขึ้น”
“แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งก็คือเป็นเรื่องทุนการศึกษา ก็คืออยากให้ทางคณะมีทุกการศึกษาสำหรับนักศึกษาสายตาพิการโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นปี 1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 อะไรอย่างนี้ คือทุกวันนี้ถ้าผมจำไม่ผิดเหมือนจะมีนะครับ เขามีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้กับน้องปีหนึ่งโดยเฉพาะ”
“แล้วก็อันสุดท้ายก็คือเรื่องของหนังสือ หนังสือเรียนคือเราไม่สามารถที่จะเข้าถึงหนังสือเรียนเป็น Book ที่เป็นกระดาษได้”
“เราต้องเข้าถึงหนังสือ หนึ่งที่เป็นไฟล์แจกจะเป็นไฟล์ word สองก็อาจจะเป็นหนังสือเสียง Audio Book ซึ่งกรรมวิธีในการสร้างอาจจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งบางคนอาจจะเอาไปบันทึกเสียงคือมีการอ่านแล้วบันทึกเสียงนะครับ บางทีเขาอาจจะใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดทำ ซึ่งก็อยากให้ท่านอาจารย์ท่านสละเวลาซักนิดหนึ่งถ้าท่านเขียนหนังสือ ก็อยากให้ท่านประสานงานกับทางห้องสมุดที่เขาจัดทำพวก Audio Book อะไรอย่างนี้ เพื่อให้เข้าเอาหนังสือมาลงเพื่อให้เขาถึงหนังสือได้มากขึ้น”
คำถามสุดท้าย : อยากฝากอะไรถึงเพื่อน ๆ หรือรุ่นน้องนักศึกษาสายตาพิการบ้าง ในเรื่องการเรียนหรือเรื่องอื่น ๆ
ธีระพงษ์ : “คือเมื่อเราจบจากมัธยมและก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย มันมีลักษณะของการปรับตัวที่มาก ไม่ว่าจะเป็นคนที่สายตาพิการหรือคนปกติ เช่น การปรับการเรียนการสอนจากระดับมัธยมมาเป็นระดับมหาวิทยาลัยก็คนละรูปแบบกัน การเข้าสอบการเขียนตอบข้อสอบก็ไม่เหมือนกันเพราะว่าสมัยตอนอยู่มัธยมเน้นปรนัยเป็นหลัก อัตนัยอาจจะมีบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด และวิธีการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายมันก็ไม่เหมือนกับการเขียนตอบเรียงความร้อยแก้วร้อยกรองทั่วไป คือนอกจากเราจะต้องปรับตัวที่เหมือนกับคนปกติที่เขาต้องปรับตัวกันอยู่แล้วเนี่ย มันยังมีปัญหาอีกหลาย ๆ อย่างที่เป็นของคนพิการโดยเฉพาะที่คนพิการจะต้องปรับตัวนะ ซึ่งผมก็อยากให้ไม่ท้อถอยให้มีกำลังใจแล้วก็อยากมองปัญหาพวกนี้ว่ามันเป็นอุปสรรคในการเรียน แต่มองให้มันเป็นแรงขับเคลื่อนแรงผลักดันเพื่อทำให้เรามีประสิทธิภาพในทางการเรียนรู้ที่สูงขึ้น รวมไปถึงทุกวันนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ คณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่ก็มีความเข้าใจในตัวนักศึกษาผู้พิการมากขึ้น เทคโนโลยีต่าง ๆ ก็มีความทันสมัยและ Support มากขึ้น มันก็จะช่วยให้เราเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
“แล้วก็ประการสุดท้ายก็คืออย่าเอาตัวเอง เอาความพิการของตัวเองหรือเอาศักยภาพของตัวเองไปเทียบกับคนอื่นไปแข่งขันกับใคร เพียงแต่ว่าแข่งขันกับตัวเอง เทียบกับตัวเองเอาชนะก็พอครับ เพื่ออนาคตของเราเพื่อประสิทธิภาพในการเรียนที่ดีที่สุดสำหรับเรา”
ถ่ายภาพ CD
เรียบเรียง KK