![TU-Law_3](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/TU-Law_3-1.png)
วิชาน.200 กฎหมายลักษณะหนี้ : หลักทั่วไป เป็นหนึ่งในวิชาบังคับของชั้นปีที่ 2 ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานมีความเชื่อมโยงกับกฎหมายลักษณะอื่น ๆ เราจะพาคุณไปคุยกับนักศึกษารหัส 60 ซึ่งสอบได้คะแนนสูงสุดในวิชาน.200 ในภาค 1/61 ทุกกลุ่มบรรยาย ถึงเทคนิคในการเรียนและมุมมองอื่น ๆ เกี่ยวกับวิชาดังกล่าว
- ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่ม 1 (บรรยายโดยศ.ดร.ดาราพร สัมมนาโดยอ.นาฏนภัส) ได้แก่ ลือสาย พลสังข์ (ปลื้ม) และภัทรนันท์ ส่งศรีจันทร (แซม) 86 คะแนน
- ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่ม 2 (บรรยายโดยผศ.ดร.มุนินทร์ สัมมนาโดยอ.นาฎนภัส) ได้แก่ ภักดิ์จิรา จันทนาตา (แป้ง) 96 คะแนน
- ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่ม 3 (บรรยายโดยรศ.ดร.ณภัทรและผศ.ดร.กรศุทธิ์) ได้แก่ เขมทัต ปิ่นชูทอง (ทีม) ภูริเดช ตั้งเทียนทอง (กราฟ) คุณากร สุวรรณะ (เฟิร์ส) และศิริโสภา อุไรพันธุ์ (อ้อม) 96 คะแนน
![1](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/1-10.jpg)
(แถวบนจากซ้ายไปขวา) ลือสาย พลสังข์ (ปลื้ม) เขมทัต ปิ่นชูทอง (ทีม) ภูริเดช ตั้งเทียนทอง (กราฟ) คุณากร สุวรรณะ (เฟิร์ส)
(แถวล่างจากซ้ายไปขวา) ภัทรนันท์ ส่งศรีจันทร (แซม) ภักดิ์จิรา จันทนาตา (แป้ง) ศิริโสภา อุไรพันธุ์ (อ้อม)
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชากฎหมายลักษณะหนี้
ปลื้ม : “มองว่าเรื่องหนี้เป็นพื้นฐานของกฎหมายแพ่งเหมือนกัน เป็นสิ่งที่ใช้ต่อยอดในหลาย ๆ วิชา เป็นพื้นฐานจริง ๆ อาจมีเนื้อหาค่อนข้างกว้าง กำหนดทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้ลูกหนี้ แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงแล้วก็มีเหตุมีผลของมันอยู่ สามารถเข้าใจได้ง่าย สามารถยกตัวอย่างในชีวิตจริงได้ว่าลูกหนี้เป็นอย่างนี้ เจ้าหนี้เป็นอย่างนี้แล้วจะมีสิทธิและหน้าที่ยังไง”
ทีม : “เป็นบทกฎหมายทั่วไปที่ต้องเอามาบังคับใช้เสมอถ้าในเอกเทศสัญญาไม่มี แล้วเมื่อเรียนปี 3 ก็จะเห็นได้ว่ามีกฎหมายที่เป็นบรรพอื่นอย่างบรรพ 5 หรือบรรพ 3 ก็จะเป็นการกลับหลักของบททั่วไป ซึ่งบททั่วไปก็จะมีความสำคัญอย่างมากถ้าหากว่าบรรพ 3 หรือบรรพ 5 เนี่ยไม่ได้บัญญัติไว้ก็อาจจะต้องกลับมาใช้ในบททั่วไป”
กราฟ : “รู้สึกว่าเป็นวิชาพื้นฐาน ซึ่งอันนี้อาจจะเคยได้ยินเยอะ แต่ว่ามันก็คือพื้นฐานจริง ๆ เพราะว่าบางทีเรียนพวกซื้อขายหรือว่าเอกเทศสัญญาอื่น ๆ มันก็บางทีหาคำตอบไม่ได้ กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ แล้วเราต้องดูว่าหนี้ไม่ได้ชำระกันต้องทำยังไงก็ต้องย้อนกลับไปดูกฎหมายเรื่องหนี้แบบนี้อะครับก็จะได้คำตอบ”
เฟิร์ส : “ในตอนแรกสำหรับวิชาหนี้เนี่ยกลัวมากเลย เพราะว่าเรามักจะได้ยินกันว่าปี 2 เนี่ยนะเราจะเจอกับ ‘หนี้เลือด’ ‘ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง คะแนนมิควรได้’ ‘มหาหิน’ ‘อาญามิพ้นเกล้า’ อะไรอย่างนี้ แต่พอได้ศึกษาจริง ๆ ก็จะพบว่ามันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น แล้วหนี้เป็นวิชาที่ทำให้เราเห็นภาพกฎหมายอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพราะเราจะเห็นการเชื่อมโยงหลาย ๆ อย่าง เหมือนที่อาจารย์สมยศได้พูดไว้ว่า “กฎหมายแต่ละมาตราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ร้อยเรียงกันเป็นสร้อยไข่มุก” เราก็ได้เห็นจากภาพสะท้อนของวิชาหนี้นี้เอง”
แซม : “รู้สึกว่าเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ เพราะว่าเป็นกฎหมายพื้นฐานของเรื่องแพ่งที่มีความเชื่อมโยงกับกฎหมายเอกเทศสัญญาต่อไป เพราะฉะนั้นมันมีประโยชน์ในการทำความเข้าใจครับ”
อ้อม : “คิดว่ามันเป็นวิชาที่ไม่ยากไม่ง่าย แต่มันก็มีความที่ทำให้สับสนมึนงงได้ง่าย แล้วก็เป็นตามที่เพื่อนพูดเลยคือมันเป็นวิชาพื้นฐานจริง ๆ พอไปเรียนวิชาอื่นมันก็จะมีความเกี่ยวพันอยู่ ถ้าเกิดไม่เข้าใจอย่างงี้ก็จะสามารถทำให้วิชาอื่นที่เรียนแล้วเกี่ยวข้องกับวิชานี้ก็จะทำให้งงได้ง่ายค่ะ”
แป้ง : “คิดว่าเป็นวิชาที่เนื้อหาค่อนข้างเยอะ เนื้อหามันกว้างค่ะ เรื่องที่เราต้องเรียนมันก็เยอะ ทำให้รู้สึกว่าจะจำได้หมดมั้ย แต่พอมาเรียนจริง ๆ มันเป็นวิชาที่เน้นความเข้าใจมากกว่าคือถ้าเราเข้าใจแล้วเราก็จะเข้าใจเลย ไม่ได้เน้นจำจ๋าขนาดนั้นที่ต้องจำทุกมาตราเพราะว่าหลาย ๆ มาตรามันเชื่อมโยงกัน แล้วก็เป็นหนึ่งในวิชาที่เป็นหัวใจของกฎหมายแพ่งเลยเพราะว่ามันเอาไปต่อยอดกับวิชาอื่นได้”
คำถาม (2) : ได้คะแนนเท่าไรบ้าง คิดว่าเพราะอะไรถึงได้คะแนนดี และใช้เทคนิคในการเรียนและการเตรียมตัวสอบอย่างไร
![2](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/2-7.jpg)
แป้ง : “ข้อหนึ่งได้ 20 ข้อสอง 18 ข้อสาม 19 ข้อสี่ 20 แล้วก็ข้อห้าของอาจารย์สัมมนา (อาจารย์นาฏนภัส เหล็กเพ็ชร) ได้ 19 ค่ะ คิดว่าที่ได้คะแนนเยอะเพราะว่าเนื่องจากเรื่องหนี้เนี่ยมันเป็นคำถามที่จะถามหลายประเด็นอะค่ะ คิดว่าเพราะหนูตอบไปครบทุกประเด็นแล้วก็มีการเชื่อมโยงในคำตอบ แล้วก็คือตอบตามที่อาจารย์ถามมาค่ะ”
“เทคนิคการเรียนก็คือเน้นเข้าห้องเหมือนกันค่ะ เข้าห้องเรียนแล้วก็ฟังที่อาจารย์สอน เพราะว่าอย่างที่บอกคือวิชานี้เป็นวิชาที่เนื้อหาค่อนข้างเยอะมาก ๆ แล้วคือเหมือนกับบางเรื่องถ้าเราเข้าใจเลยมันก็เข้าใจ แล้วพอมาอ่านซ้ำมันก็เข้าใจได้ง่าย ง่ายกว่าการที่เราไปนั่งอ่านหนังสือเองแต่แรกแล้วมันกว่าจะเข้าใจอะค่ะ มันยาก แล้วก็ใช้วิธีการจดเลคเชอร์ในคาบเพราะว่าอาจารย์มุนินทร์จะแจกชีท มาให้อยู่แล้ว ก็จดเลคเชอร์แล้วก็บางทีถ้าไม่เข้าใจเรื่องไหนก็จะเน้นจดไปก่อนแล้วเดี๋ยวมาอ่านทำความเข้าใจทีหลัง ก็คือพยายามอย่าให้ตัวเองหลุดโฟกัสค่ะ”
“ในการเตรียมตัวสอบก็คือจะมาอ่านชีทอีกรอบนึง คืออ่านแค่ชีทนะคะ ไม่ได้อ่านหนังสือประกอบเพิ่มเลย อ่านชีทอีกรอบแล้วก็เอามาจดเลคเชอร์ลงสมุดให้เป็นภาษาของตัวเองอะค่ะ เป็นภาษาที่เราเข้าใจเอง มันทำให้เราจำง่ายขึ้น แล้วก็คิดว่าสัมมนากับการทำข้อสอบเก่าเนี่ยก็มีส่วน เพราะว่าเหมือนข้อสอบมันก็จะออกอยู่ไม่กี่ประเด็นอะค่ะ ถ้าทำบ่อย ๆ ก็จะรู้แนวทางการตอบอะไรแบบนี้ค่ะ”
“หนูว่าสัมมนาเนี่ยมันช่วยด้วย ตรงที่แบบบางทีเวลาเราเจอข้อสอบอย่างนี้เรามักจะตอบฟันคำตอบไปเลย ซึ่งความจริงมันมีหลักเกณฑ์การวินิจฉัยที่มากกว่านั้น ก็คือบางทีบางประเด็นที่เราข้ามไปเลยว่าไม่ต้องเขียนก็ได้ แต่พอเข้าสัมมนาเนี่ยก็ทำให้รู้ว่าต้องเขียนด้วยนะ ถึงจะได้คะแนนนะ”
![3](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/3-7.jpg)
ปลื้ม : “ของอาจารย์ดาราพรมีสี่ข้อครับ คือข้อหนึ่งได้ 12 ข้อสองได้ 17 ข้อสามได้ 18 ข้อสี่ได้ 20 แล้วก็ข้อห้าของอาจารย์สัมมนา (อาจารย์นาฏนภัส เหล็กเพ็ชร) ได้ 19 ครับ สำหรับส่วนข้อที่ได้คะแนนดีครับก็มองว่า เพราะว่าเรามีเนื้อหาที่แน่นแล้วก็มีการเขียนที่มีการปรับบทครบถ้วนและตอบได้ตรงประเด็นก็เลยทำให้ได้คะแนนดีครับ ท่านอาจารย์ดาราพรอาจจะเน้นเรื่องของประเด็นมากกว่า ถ้าประเด็นครบ มีการปรับบทที่ดี แล้วก็ต้องมีการวางหลักกฎหมายรวมถึงเลขตัวบท ซึ่งอาจารย์ค่อนข้างอยากจะฝึกเราไปสู่การสอบในภายหน้า เพราะฉะนั้นเราต้องมีเรื่องของเลขแล้วก็การวางหลักด้วย เพราะฉะนั้นถ้าได้ครบก็จะคะแนนดีครับ ส่วนท่านอาจารย์สัมมนาก็เน้นความละเอียด เพราะว่าประเด็นค่อนข้างจะละเอียดแล้วก็มีการปรับบทที่เยอะ เพราะฉะนั้นแล้วถ้าสมมติว่าปรับบทได้ครบก็จะได้คะแนนดีครับ”
“เทคนิคในการเรียน ผมอาจจะไม่ได้อ่านหนังสือไปก่อน แต่ว่าผมจะเข้าเรียนก่อน เป็นคนที่ชอบฟังอาจารย์พูดก่อน ไปฟังก่อนเพื่อให้เข้าใจในเรื่องนั้น ๆ คืออะไร แล้วค่อยกลับมาอ่าน แต่จะไม่เรียนคนเดียว คือเราจะมีเพื่อนที่เรียนด้วย ถ้าสมมติเพื่อนมีอะไรสงสัยเราได้อธิบายในเรื่องนั้น ๆ ให้เพื่อนเข้าใจไป มันก็เหมือนกับเราได้ทบทวนไปในตัว แล้วก็ทำให้เราแม่นขึ้นด้วย”
“การเตรียมตัวสอบก็จะมาดูเนื้อหาก่อน จะเอาเนื้อหาทั้งหมดที่เรียนมาทีละเรื่องก่อนถ้าสมมติมันแยกพาร์ทได้ เราก็จะอ่านหนังสือในเรื่องนั้นก่อน เราก็จะมาดูโจทย์ว่าสิ่งที่โจทย์ถามคืออะไรได้บ้าง แล้วสิ่งที่เป็นประเด็นของกฎหมายที่สามารถมาออกคืออะไรได้บ้าง แล้วก็มาเก็บเนื้อหาแล้วก็สอบทั้งหมด จากนั้นเราก็จะลองจับเวลา สำคัญเลยคือผมว่าในการจับเวลาไม่ว่าจะเป็นน้อง ๆ หรือเราก็ตาม ถ้ามีเวลาควรจะจับเวลาทำข้อสอบจริง ๆ เพราะว่าในห้องสอบเราอาจจะทำได้แต่ถ้าสมมติเวลาเราบริหารไม่ทันเราก็ไม่สามารถที่จะเขียนในสิ่งที่เรารู้ได้ครับ”
![4](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/4-7.jpg)
แซม : “ข้อหนึ่งได้ 14 ข้อสอบได้ 16 ข้อสามได้ 17 ข้อสี่ 20 ข้อห้าได้ 19 ครับ ในส่วนที่ได้คะแนนน้อยเนี่ยคิดว่ามันเป็นข้อที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ที่ไม่สามารถเอาตัวบทมาปรับได้โดยตรงครับ แล้วพอมีเวลาที่จำกัดก็เลยมีความกดดันสูง ทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์ได้เต็มที่ก็เลยพลาดไป แล้วในส่วนที่ได้คะแนนเยอะนี้ก็น่าจะเพราะว่าผมทำประเด็นหลัก ประเด็นย่อยได้ครบ แล้วเขียนปรับได้ดี เพราะว่าอาจารย์ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการปรับแล้วก็การมองประเด็น”
“ผมก็อ่านหนังสือล่วงหน้าไว้ก่อนที่จะเข้าเรียน คือจะได้เข้าใจว่าเราไม่เข้าใจตรงไหนบ้าง แล้วพอเข้าเรียนจะได้โฟกัสว่าอันไหนคือสิ่งที่เราจะได้รู้ขึ้นมา เตรียมตัวสอบก็อ่านเลคเชอร์แล้วก็หนังสือซ้ำรอบนึงครับ จนกว่าจะเห็นความเชื่อมโยงภาพรวมของกฎหมายหนี้ครับ แล้วก็ฝึกเขียนโจทย์เพื่อจะได้รู้ว่าเราควรเขียนยังไงแล้วก็กะเวลาถูก”
![5](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/5-7.jpg)
กราฟ : “ข้อแรก 19 ข้อสอง 20 ข้อสาม 18 ข้อสี่ 19 ข้อห้า 20 ครับ ส่วนที่คิดว่าทำให้พลาดไปประมาณ 4 คะแนนก็คือเป็นพวกรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อะครับ อย่างเช่นในเรื่องของการอธิบายว่าทำไมมันถึงใช่หรือทำไมมันถึงไม่ใช่ซักประโยคอะไรแบบนี้ครับ แต่ว่าก็ไม่ได้เขียนลงไป เพราะว่าตอนนั้นก็ไม่ได้นึกถึงจุดนี้ด้วย”
“การเรียนก็จะเป็นการถอดไฟล์เสียงทุกครั้งแล้วก็จดลงชีท พยายามทำความเข้าใจแล้วก็ดูความเชื่อมโยงของแต่ละมาตรา พอมีบางมาตราที่มันเชื่อมโยงกันก็จะจดไว้ในประมวลว่าต้องดูเชื่อมโยงกับมาตราไหน แล้วก็ตัวข้อสอบเก่าก็ไม่ได้ทำถึงสัมมนาจะไม่ได้เขียน แต่ว่าพยายามลองคิดวิเคราะห์โจทย์อะครับว่าโจทย์ที่มาในชีทนี้ถ้าจะต้องตอบจริง ๆ มันจะต้องใส่อะไรลงไปบ้าง”
“การเตรียมตัวสอบก็จะเป็นการอ่านเลคเชอร์ที่ตัวเองจดทั้งหมดแล้วก็พยายามดูว่ามาตรานี้มันต้องใช้กับมาตราไหน ว่ามันต้องเชื่อมโยงไปอันไหนบ้าง พยายามเข้าใจภาพรวมที่มันไหลลื่นอะครับ ไม่ใช่เข้าใจเป็นแบบส่วน ๆ”
“การเข้าสัมมนามีความจำเป็นในระดับนึงเพราะว่ามันเป็นการทบทวนเนื้อหาจากคาบเรียนหลัก แล้วก็บางครั้งมันจะมีประโยคเล็ก ๆ หรือความรู้บางส่วนหรือบางประเด็นที่มันอาจจะมาแค่นั้นจริง ๆ แค่ไม่กี่คำ แต่เราสามารถเอาไปตอบในข้อสอบได้แล้วมันจะทำให้คะแนนเราสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ คล้าย ๆ กับใจความหลักที่เราคิดเองมันอาจจะไม่ออกมาเป็นรูปประโยคที่สวยขนาดนั้น”
![6](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/6-5.jpg)
ทีม : “ข้อหนึ่งถึงสี่ได้เต็ม 20 ข้อห้าได้ 16 ครับ พลาดในส่วนของอาจารย์กรศุทธิ์ เรื่องประเด็นแปลงหนี้ใหม่กับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นมาตรา 321 ที่ได้คะแนนดีน่าจะเกิดจากการที่เราตอบแล้วตรงประเด็นที่อาจารย์ต้องการจะวัดแล้วก็เขียนประบทในส่วนที่เป็นประเด็นนั้นละเอียด น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ได้คะแนนเต็ม ส่วนข้อที่พลาดเกิดจากการที่ยังทำความเข้าใจในเรื่องของประเด็นที่อาจารย์จะวัดไม่ได้มากพอ แล้วก็เป็นสิ่งที่เหมือนงงในห้องบรรยายแต่ก็ไม่ยอมไปถามอาจารย์เพื่อให้เกิดความเข้าใจ”
“จะอ่านหนังสือก่อนเข้าห้องเรียน แล้วก็ทบทวนเนื้อหาก่อนว่าวันนี้จะเรียนเรื่องอะไร เมื่ออ่านเสร็จแล้วก็เข้าไปเลคเชอร์ แล้วก็จะเป็นคนที่เข้าคาบบรรยายตลอด ถ้าอันไหนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจก็จะตามไฟล์เสียงด้วย ทำสรุปเป็นครั้ง บรรยายครั้งที่หนึ่งก็จะสรุปออกมาทั้งหมด บรรยายครั้งที่สองก็จะสรุปออกมาทั้งหมด”
“เตรียมตัวสอบก็จะทำข้อสอบเก่าย้อนหลังครับ แล้วก็อ่านคำบรรยายที่ได้จดเอาไว้ แล้วก็เอาพวกข้อสอบเก่ามานั่งทำบ้าง ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องถูกธงแต่ฝึกในการถ่ายทอดออกมาครับ เพราะว่าในห้องสอบเวลาจะค่อนข้างจำกัด ยิ่งเราฝึกเขียนมากก็จะทำให้เราถ่ายทอดได้ดียิ่งขึ้น”
“ก็จะฝึกเขียนข้อสอบสัมมนาและก็ส่งค่อนข้างเยอะครับ เพราะว่าผมมองว่าการเข้าสัมมนาจะเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้จากห้องบรรยายแล้วนำมาปรับใช้หรือปรับบทได้ ก็คือสัมมนาคือการสอนให้นักศึกษาฝึกใช้ในตัวบทต่าง ๆ มาปรับบทได้”
![7](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/7-3.jpg)
อ้อม : “ของหนูส่วนของอาจารย์ณภัทรข้อแรกได้ 20 ข้อสองได้ 19 ข้อสามได้ 20 แล้วก็ของอาจารย์กรศุทธิ์ได้ 19 กับ 18 ค่ะ หนูคิดว่าที่ได้เยอะน่าจะเป็นหนูตอบข้อสอบได้ละเอียดแล้วก็ตอบเชื่อมโยงได้ แล้วก็ตรงตามธงของอาจารณภัทร แต่ส่วนของอาจารย์กรศุทธิ์ที่คิดว่าไม่เต็มเพราะว่าอาจจะมีเนื้อหาเรื่องเก่า ๆ พวกแบบนิติกรรมอะไรแบบนี้ที่เกี่ยวข้องแล้วจำไม่ได้ก็เลยไม่ได้คะแนนเต็ม”
“ของอ้อมคือปกติเป็นคนที่ไม่ค่อยเข้าเรียนครบทุกคาบอยู่แล้ว แต่พอไม่เข้าทุกคาบก็จะมาตามทีหลังในคาบที่ไม่ได้เข้า ก็จะมาฟังไฟล์เสียงแล้วก็ถอด ส่วนถ้าเกิดไม่เข้าใจก็จะฟังวนแล้วก็ทำให้ตัวเองเข้าใจ แล้วก็จะประกอบกับการจดในชีท จดในชีทรอบนึงแล้วก็มาจดในประมวลอีกรอบนึงค่ะ”
“การสอบหนูจะอ่านเลคเชอร์ทั้งหมดที่ตัวเองจดเอาไว้ แล้วถ้าเกิดมีเรื่องไหนที่มันสับสนก็จะทำเป็นแผนภาพให้เป็นความคิด ส่วนเรื่องไหนที่นึกไม่ออกก็ค่อยเข้าไปดูในเรื่องนั้น ๆ ค่ะ ประกอบกับการอ่านประมวลที่ตัวเองจดเอาไว้ แล้วก็อ่านข้อสอบเก่าบ้าง แต่ไม่ได้ฝึกเขียนขนาดนั้น ถ้าอันไหนทำได้แล้วเราก็จะผ่านไป ถ้าอันไหนทำไม่ได้เราก็จะมาหาในชีทที่เราจดเอาไว้ว่ามีคำตอบไว้มั้ยอะไรประมาณนี้”
“อ้อมไม่ค่อยได้ส่งการบ้านสัมมนาเท่าไหร่ คือส่งน้อยครั้งมากแต่ว่ามันก็สำคัญอยู่ คือถึงแม้ไม่ได้ส่งแต่บางครั้งก็มีอ่านข้อสอบเก่าก็จะมานั่งเขียนเองในเรื่องที่ยังจำไม่ได้แม่นอะไรแบบนี้ ก็จะมานั่งเขียน ๆ ๆ ค่ะ”
![8](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/8-1.jpg)
เฟิร์ส : “ถ้าจำไม่ผิด ผมได้ข้อหนึ่ง สอง สี่ ห้า 20 เต็ม มีข้อสาม ได้ 16 ในส่วนที่พลาดก็จะเป็นส่วนของอาจารย์ณภัทร คาดว่าส่วนที่พลาดเนื่องจากยังไม่สามารถเชื่อมโยงได้เพียงพอเลยอาจจะตอบบางประเด็นผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปบ้าง ส่วนที่ได้คะแนนดีน่าจะเป็นเพราะว่าเราสามารถเชื่อมโยงกฎหมายลักษณะหนี้ได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพราะว่าเรารู้สึกว่ากฎหมายลักษณะนี้เป็นกฎหมายที่มีความเชื่อมโยงค่อนข้างสูง ถ้าเราสามารถแสดงให้เห็นว่าเราสามารถรู้ว่าเรื่องนี้กับเรื่องนั้นเชื่อมโยงกันยังไง จุดนี้น่าจะเป็นจุดที่เราสามารถดึงคะแนนได้”
“สำหรับการเรียน อย่างที่ได้พูดไปก่อนหน้านั้นว่าวิชาหนี้เหมือนกับวิชาที่เชื่อมโยงหลายๆ เรื่องเป็นสร้อยไข่มุก สิ่งที่เฟิร์สใช้หลัก ๆ เลยก็คือ หนึ่ง การจดในประมวล แต่เป็นการจดโดยขยายคำแต่ละคำให้มันชัดเจนมากยิ่งขึ้นฮะ เพราะว่าคำบางคำอาจจะเชื่อมโยงไปถึงอีกมาตรานึงถัดไปเลยก็ได้ ถัดไปก็คือเรื่องของการทบทวนข้อสอบเก่า เพราะข้อสอบเก่าทำให้เราเห็นการเป็นระบบมากยิ่งขึ้นครับ”
“ก่อนสอบเฟิร์สก็จะทำตัวเองให้เหมือนกับอาจารย์ โดยการลองบรรยายให้ใครก็ไม่รู้ฟังอีกซักครั้งนึง อาจจะบรรยายให้กับอากาศฟังก็ได้ แล้วเราจะได้เห็นว่าจุดที่เราบรรยายไม่ได้แสดงว่าจุดนั้นคือจุดที่เราไม่เข้าใจครับ นี่ก็คือหลัก ๆ ที่ใช้”
“เฟิร์สเขียนการบ้านสัมมนาส่งนะครับ เพราะว่าหนึ่งเลยเราจะได้รู้สไตล์ของผู้สอนในวิชานั้นว่าท่านต้องการให้เขียนตอบในรูปแบบไหน บางท่านต้องการให้มีการวางตัวบท บางท่านไม่ต้องการให้มีการวางตัวบทแต่ปรับบทไปเลย ซึ่งการเขียนตอบตรงนี้จะช่วยเราได้มาก และผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ อะฮะ”
![9](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/9-1.jpg)
คำถาม (3) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ปลื้ม : “ลักษณะของอาจารย์ดาราพร ก็คือท่านอาจารย์เนี่ยจะให้ชีทมาให้เลย ก็คือให้เป็นเรื่อง ๆ มา ก็ไล่จากทีละมาตรานั่นแหละจะเป็นเรื่อง ก็คือท่านอาจารย์ดาราพรเนี่ย หนึ่งสำคัญเลยต้องเอาประมวลไปด้วยเพราะสิ่งที่เป็นสไลด์อาจารย์ไม่มีอะไรมากมาย ก็แสดงว่าอาจารย์จะบอกให้จดในประมวลเลยในสิ่งที่อาจารย์เน้นแล้วก็เห็นเป็นความเห็น ท่านอาจารย์ก็มีสไตล์การสอนดี หลักการดีครับ แต่ว่าไม่ได้สอนความเห็นอื่น ก็คือเราจะคิดว่านี่คือสิ่งที่ถูกแล้ว แต่พอปรากฏว่าไปมองเซคอื่นก็อาจจะมีความเห็นที่แตกต่างแต่ว่าท่านก็จะสอนความเห็นนี้ แต่ว่าท่านจะมีเหตุผลเสมอในสิ่งที่ท่านมอง ซึ่งเราก็เห็นว่าสมเหตุสมผลแล้วก็มีการเชื่อมโยงให้ในแต่ละเรื่องครับ”
![10](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/10-1.jpg)
แป้ง : “คืออาจารย์มุนินทร์ก็จะมีชีทมาให้ก่อน แล้วก็มีเนื้อหาที่อยู่ในชีทเป็นหัวข้อแล้วก็เน้นให้เราจดเลคเชอร์เพิ่มเองก็คือจะมีพื้นที่ให้จดเลคเชอร์ด้วย คืออาจารย์เป็นคนที่สอนเข้าใจง่ายมากค่ะ คือสามารถอธิบายเรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจง่ายได้ เห็นภาพ ก็คือมีการเข้าถึงเด็ก แล้วก็มีการอธิบายแต่ละมาตราให้มีการเชื่อมโยงกันได้ค่ะ จนกว่าเด็กจะเข้าใจค่ะ”
![11](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/11.jpg)
เฟิร์ส : “ในมุมมองของเฟิร์ส อาจารย์ณภัทรเนี่ยท่านจะสอนค่อนข้างเร็ว ถ้าหลุดนะก็คือจะหลุดเลยตามทันค่อนข้างยาก ต้องกลับไปนั่งฟังไฟล์เสียงใหม่อีกครั้งนึง แต่สิ่งที่เหมือนกันในเซคชั่นนี้ก็คือเราจะเห็นว่าท่านอาจารย์ณภัทรและท่านอาจารย์กรศุทธิ์สอนความเห็นค่อนข้างเยอะมาก โดยเฉพาะในส่วนของท่านอาจารย์กรศุทธิ์ อย่างในเรื่องของสิทธิยึดหน่วงบางอย่างเราเห็นถึงเจ็ดความเห็นเลย ซึ่งผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีแล้วเป็นสิ่งที่บางเซคชั่นอาจจะไม่ได้สอนในเรื่องของความเห็น”
![12](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/12.jpg)
อ้อม : “หนูคิดว่าอาจารย์ณภัทรจะเป็นคนที่สอนละเอียดแล้วก็ค่อนข้างลึกถ้าไม่เข้าฟังก็จะสับสนได้ แล้วชีทอาจารย์ก็จะทำหัวข้อให้อะไรประมาณนี้ค่ะ แล้วเราก็สามารถจดตามได้ ส่วนของอาจารย์กรศุทธิ์ส่วนมากจะเป็นพวกประเด็นปัญหาเอามาให้นักศึกษาได้ขบคิดแล้วก็ถกเถียงกันค่ะ ประมาณนี้ค่ะ”
![13](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/13.jpg)
ทีม : “สไตล์การสอนของอาจารย์ณภัทรก็จะสอนเป็นเหมือนกับปัญหาความเห็นของหลาย ๆ ตำรามารวมกันแล้วก็อธิบายให้เราฟัง แล้วก็การวัดผลค่อนข้างยึดในตัวธงพอสมควร แล้วก็ต่อให้ตอบถูกธงก็ต้องเขียนให้ได้ว่าทำไมถึงตอบอย่างนั้น ปรับบททำไมถึงปรับบทอย่างนั้น ส่วนในส่วนของท่านอาจารย์กรศุทธิ์ก็จะสอนในปัญหาความเห็นเหมือนกัน คือในเรื่องนั้น ๆ มีความเห็นในฝ่ายไหนบ้างที่เห็นว่าจะเป็นแบบไหนและผลทางกฎหมายจะต่างกันอย่างไร จากหลักก็คือจำเป็นที่จะต้องเข้าฟังการบรรยายทุกครั้งเพราะว่าการบรรยายจะไม่เหมือนกับในตำราซะทีเดียว ควรที่จะเข้าฟังการบรรยายเพื่อจะได้รู้ว่าปัญหาความเห็นในเรื่องนั้น ๆ มีอะไรบ้างครับ”
![14](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/14.jpg)
กราฟ : “ของอาจารย์ณภัทรดูแล้วเหมือนอาจารย์ณภัทรเขาจะอ่านหนังสือมาจากหลาย ๆ ที่แล้วก็ตกตะกอนเป็นความรู้เอามาสอนอะครับแล้วก็ทำเป็นสไลด์ออกมาอะไรแบบนี้ครับ ถ้าของอาจารย์กรศุทธิ์ก็จะเป็นการเอาความเห็นของหลาย ๆ เซคมาสอน บางทีก็จะมีตัวบทต้นร่างจากต่างประเทศเพื่อมาให้พิจารณาประกอบด้วยว่าทำไมมันถึงออกมาเป็นภาษาไทยในลักษณะนั้น แล้วภาษาไทยที่มันแปลออกมามันถูกต้องมั้ย หรือว่าควรจะตีความไปว่ายังไง แล้วก็มีความเปิดกว้างในการให้วิเคราะห์ว่ามันสามารถไปทางไหนได้บ้าง”
![15](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/15.jpg)
คำถาม (4) : รู้สึกอย่างไรกับการที่กลุ่มนี้มีสอบกลางภาค และมีการจัดตัวบทป.พ.พ.ให้ในห้องสอบทั้งกลางภาคและปลายภาค
![16](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2021/09/16.jpg)
กราฟ : “ก็รู้สึกว่ามันจะเป็นการลดภาระด้วยส่วนนึง เพราะว่าในเรื่องที่ออกข้อสอบกลางภาคไปแล้วจะไม่เอาไปออกข้อสอบปลายภาคเท่าไหร่นัก หรือถ้าเอาไปออกมันจะเป็นประเด็นย่อย ๆ ที่สามารถจำได้ง่าย ๆ ไม่ใช่ประเด็นที่ลึกซึ้งเท่าไหร่ เหมือนเป็นทางผ่านมากกว่า มันทำให้สามารถวัดความรู้ได้หลากหลายมากขึ้นครับ เพราะอย่างเรื่องที่ไม่เคยออกก็ออก”
“ในเรื่องของการมีตัวบทในห้องผมก็คิดว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับจุดประสงค์ที่จะวัดความรู้ว่าเราต้องการวัดความรู้ในเชิงการจำตัวบทให้พอ ๆ กับทฤษฎีในระดับนึง หรือว่าเราอยากจะเน้นไปทางการวิเคราะห์ทฤษฎีประเด็นปัญหาที่อาจจะยังมีอยู่ หรืออาจจะจบไปแล้ว เกิดเป็นความหลากหลายทางความเห็นอะไรแบบนี้ครับ ถ้าอย่างเซคนี้ ก็คือตัวบทมันจะค่อนข้างใช้แค่ประมาณดูมาตรากับเช็คว่ามันอยู่มาตรานั้นจริง ๆ เพราะว่ามันจะลงลึกมากกว่าตัวบทที่เราเห็นเป็นถ้อยคำอะครับ เพราะมันมีทฤษฎีอยู่มากมายข้างล่าง แล้วบางทีมันก็โยงไปตัวบทอื่นด้วย เพราะฉะนั้นก็ยังจำเป็นต้องเข้าใจ แล้วก็ในส่วนของการให้ตัวบทมา ถ้าจะถามว่ามันทำให้จำน้อยลงมั้ย มันก็คือระดับนึง แต่ว่ามันไม่ได้น้อยลงขนาดนั้น ก็คือต้องยังจำว่ามาตราไหนมันหมายถึงอะไรอะครับเพื่อที่จะโยงกลับไปได้”
![17](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2019/11/17.jpg)
ทีม : “สำหรับสอบกลางภาค ผมมองว่าทำให้เป็นการตัดเนื้อหาในส่วนปลายภาคไปได้บ้าง แล้วก็ทำให้นักศึกษาเริ่มอ่านหนังสือเร็วกว่าถ้ามีสอบปลายภาคอย่างเดียว”
“การมีตัวบทในห้องผมว่าก็มีสองแง่เหมือนกันนะครับ เพราะว่าอย่างที่เพื่อนบอกไปก็คือจะทำให้นักศึกษาไม่ได้ท่องตัวบทเข้าไป แต่ถ้าเป็นของเซคชั่นอาจารย์กรศุทธิ์และอาจารย์ณภัทรก็จะไม่ได้ใช้ตัวบทนั้นมากเท่าไหร่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับทฤษฎีของกฎหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายจึงทำให้ในการเรียนของเซคชั่นนี้ก็จะแทบไม่ได้เปิดในตัวบทเลย จะเป็นกรณีปัญหาความเห็นเสียมากกว่า ก็ผมก็เห็นด้วยกับการที่มีตัวบทในห้องครับ”
![18](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2019/11/18.jpg)
เฟิร์ส : “ในกรณีที่มีกลางภาคเฟิร์สก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ดีตรงที่ว่าเราสามารถช่วยตัดเนื้อหาบางส่วนไม่ต้องไปออกตรงส่วนของปลายภาคนะครับ แต่อีกในแง่นึงเฟิร์สก็รู้สึกว่าเฟิร์สไม่ค่อยชอบการสอบกลางภาคเท่าไหร่ฮะ เรารู้สึกว่าการไปเขียนตอบปลายภาครวดเดียว 100 คะแนนเลยเขียนสนุกกว่า และเรารู้สึกว่าสอบกลางภาคไป บางคนก็อาจจะเผลอทิ้งเนื้อหาที่สอบกลางภาคไปก็ได้ แต่จริง ๆ แล้วอย่างวิชาหนี้มันมีความเชื่อมโยงเป็นระบบ แม้สอบกลางภาคไปแล้วเนื้อหาตรงนั้นมันก็ยังต้องเอาไปใช้ในปลายภาคด้วย”
“การให้ตัวบทในห้องสอบ ถ้าเป็นสำหรับเซคผมผมรู้สึกว่าไม่ค่อยได้ช่วยหรือได้ใช้อะไรเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่าแค่ตัวบทอย่างเดียวแต่ใช้ไม่เป็นมันก็ไม่เกิดผลประโยชน์อะฮะ คือเข้าไปในห้องคุณมีตัวบทจริง แต่คุณไม่เข้าใจเนื้อหาที่อยู่เบื้องหลังตัวบทเลยก็เหมือนคุณได้กระดาษเปล่าเข้าไปในห้องฮะ ความเห็นส่วนตัวของผม”
![19](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2019/11/19.jpg)
อ้อม : “สำหรับอ้อม กลางภาคอ้อมคิดว่ามันช่วยให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา สำหรับอ้อมคือถ้าไม่ใกล้สอบก็จะไม่ค่อยขยันหรือตื่นตัวในการอ่านหนังสือ แต่พอมีกลางภาคปุ๊บ คือมันก็รู้สึกใกล้แล้วก็ต้องรีบอ่านหนังสือแล้วมันก็จะทำให้พอไปปลายภาคก็จะไม่ได้หนักหนาในการอ่านซักเท่าไหร่ มันก็ค่อนข้างช่วยอยู่ค่ะ”
“สำหรับตัวบทในห้องสอบรู้สึกว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ พอได้ตัวบทเข้าไปบางทีก็จะไม่ค่อยตั้งใจท่องมันเพราะรู้อยู่แล้วว่ามีตัวบทช่วยนะ แต่ก็อย่างที่เฟิร์สพูดเลยค่ะ เพราะว่าบางทีตัวบทก็ไม่ได้ช่วยในการตอบข้อสอบเท่าไหร่ เพราะว่าส่วนมากอาจารย์จะถามเป็นพวกประเด็นปัญหาหรือข้อสอบแบบพื้นฐาน basic concept ที่มันเชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ อีกทีอย่างงี้ บางทีประมวลก็ไม่ค่อยได้ช่วยอะไรค่ะ”
![20](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2019/11/20.jpg)
คำถาม (5) : กลุ่มที่เรียนไม่มีการสอบกลางภาคแต่บางกลุ่มมี มีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร
ปลื้ม : “ถ้าสำหรับวิชาหนี้นะครับ ผมมองว่าอาจจะไม่เหมาะสำหรับการมีสอบกลางภาค เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้มีสิทธิเลือก หรือว่าการผิดนัด หรืออะไรก็แล้วแต่ก็ตามเนี่ย มันเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันได้ เพราะฉะนั้นแล้วถ้าสมมติว่าเรามีการสอบกลางภาคเท่ากับว่าอาจารย์อาจจะตัดเนื้อหาส่วนนั้นไปก็ได้ นักศึกษาที่เรียนอาจจะไม่ได้เอาส่วนนั้นมาเชื่อมโยงกับจุดอื่น เขาอาจจะคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวเอามาปนกับเรื่องอื่นไม่ได้ หรือว่ารู้ว่าควรเอามาผสมกับเรื่องอื่นได้ แต่ไม่รู้ว่าต้องปรับใช้อย่างไร ผมเลยมองว่าการสอบ 5 ข้ออาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้”
คำถาม (6) : กลุ่มที่เรียนไม่มีการจัดตัวบทให้ในห้องสอบแต่บางกลุ่มมี มีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร
![21](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2019/11/21.jpg)
แซม : “ก็คิดว่ามีตัวบทก็ดีกว่า เพราะว่าเราจะได้ใช้สิ่งที่เราเรียนมาเป็นพวกทฤษฎี เจตนารมณ์ของกฎหมายมาใช้วิเคราะห์ในการตอบข้อสอบได้เต็มที่ อาจารย์จะได้ออกข้อสอบได้ดีด้วยครับ”
![22](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2019/11/22.jpg)
ปลื้ม : “การไม่มีตัวบทกฎหมายเนี่ยดีอย่างไร ถ้าสำหรับตัวผมเนี่ย ผมเห็นว่าอาจจะไม่ควรมีก็ได้ อาจจะให้จำมาเพราะว่าถ้าเป็นผม ผมจำหลักกฎหมายได้รู้ว่านู่นนี่นั่นอยู่ตรงไหน แต่ว่าไม่ได้ละเอียดขนาดนั้น ผมไปดูตัวบทเอา ผมอาจจะไม่ได้ใส่ใจตรงนั้นก็ได้ และมันทำให้ผมอาจจะลืมง่าย ผมรู้สึกว่าการที่ผมดูตัวบทมาด้วย มันทำให้ผมใส่ใจกับมันด้วย แล้วก็ทุกวันนี้เราก็ยังจำได้ เรารู้สึกว่าเรายังจำได้ เพราะเราไม่ได้แค่เข้าใจอย่างเดียว แต่การที่เราจำได้ด้วย มันรวมกับการเข้าใจอย่างนี้ทุกวันนี้มันก็ยังคงอยู่”
![23](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2019/11/23.jpg)
คำถาม (6) : กลุ่มที่เรียนไม่มีการจัดตัวบทให้ในห้องสอบแต่บางกลุ่มมี มีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร
แป้ง : “หนูมีความเห็นว่า มีตัวบทดีค่ะ คือการที่เราต้องแบ่งเวลาไปท่องจำมาตรา มันทำให้เราเสียเวลาในการที่เราจะทำความเข้าใจไปด้วยนะคะ อย่างเซคหนูคือไม่มีตัวบทใช่มั้ยคะ แต่ว่าเซคเพื่อนมีตัวบทให้ คือเหมือนกับตอนอ่านความชิลมันคนละระดับเลยอะค่ะ คือหนูว่าพอมีตัวบทให้เนี่ยมันทำให้เราไปเน้นการวิเคราะห์การเข้าใจมากกว่า แล้วก็เวลาที่เราไปทำงานจริง ๆ เนี่ยเราก็ไม่ได้ต้องไปจำมาตราทุกมาตราเพื่อเอาไปใช้ แต่ว่าเราก็ต้องเปิดตัวบทอยู่ดีอะค่ะ เราไม่ได้จำได้ทุกมาตราขนาดนั้นหรอก หนูก็เลยคิดว่ามีตัวบทให้แล้วมาเน้นวิเคราะห์ดีกว่าค่ะ”
![24](https://www.law.tu.ac.th/wp-content/uploads/2019/11/24.jpg)
คำถามสุดท้าย : ถ้าต้องให้คำแนะนำในการศึกษาวิชานี้ให้ประสบความสำเร็จจะแนะนำอย่างไรบ้าง
ปลื้ม : “ผมมองว่าเราควรจะหาเพื่อนเรียน เราเก่งได้แต่เราอาจจะไม่ได้เก่งทุกทาง เพราะฉะนั้นแล้วการเรียนกฎหมายทุกวิชามันเหนื่อย เราอาจจะพร่องไปบางจุดแต่เราต้องมีเพื่อนช่วย โดยเฉพาะเรื่องหนี้เนี่ยมันเยอะแล้วก็มีหลากหลายประเด็น เราก็ควรที่จะอาจจะต้องเข้าเรียนหรือไม่เข้าเรียนก็ได้ แต่ว่าถ้าคุณไม่เข้าเรียนคุณก็ต้องมีเพื่อนที่เข้าเรียนหรือว่าแนะนำคุณได้ เพื่อที่จะได้รู้เนื้อหาในสิ่งที่อาจารย์สอนแล้วก็ต้องเชื่อมโยงในสิ่งที่เรียนให้ได้ครับ แล้วก็สิ่งสำคัญเลยคือต้องดูข้อสอบเก่าเพราะว่าการดูข้อสอบเก่าเนี่ยจะเห็นประเด็นในสิ่งที่อาจารย์อยากจะให้เราตอบหรือว่าเป็นสิ่งที่วัดผล แล้วก็เราต้องลองฝึกเขียน เพราะว่าถ้าไม่ฝึกเขียนเนี่ยอาจจะแบ่งเวลาได้ไม่ทันหรือว่าไม่คุ้นชินกับการทำอย่างนั้น เมื่อเรามีทั้งเนื้อหาที่ดี มีการเขียนที่ดี แล้วก็มีการจัดเวลาที่ดี ผมว่าวิชานี้ก็ไม่ยากครับ”
ทีม : “สำหรับเซคชั่นนี้ก็แนะนำให้เข้าเรียนเป็นหลัก ถ้าไม่ได้เข้าเรียนก็ควรตามไฟล์เสียงครับ เพราะว่าผมเป็นคนที่จะอ่านหนังสือก่อนเข้าห้องเรียน แล้วจะต้องหาตำราเล่มอื่น ๆ ในกฎหมายลักษณะนั้น ๆ หลังจากอ่านแล้วเข้าไปห้องเรียนก็จะไม่ค่อยตรงกันจากตำรา เพราะฉะนั้นก็ควรจะเข้าบรรยายเป็นหลัง แล้วก็ยังแนะนำให้น้อง ๆ อ่านหนังสือก่อนเข้าห้องเรียนนะครับ เพราะว่าผมว่าการอ่านหนังสือก่อนเข้าห้องเรียนมันจะเป็นสิ่งที่เปิดหัวก่อนว่าวันนี้เราจะเรียนเรื่องอะไร แล้วหลักการใหญ่ ๆ คืออะไร พอเข้าบรรยายก็จะรู้หลักการนั้นมาก่อน แล้วก็ปรับในส่วนของทฤษฎีของกฎหมายในปัญหาความเห็นของอาจารย์กรศุทธิ์ แล้วก็เรื่องฝึกเขียนก็ผมว่าปีสองเป็นปีที่ก็ยังคงต้องฝึกเขียนอยู่ เพราะว่าในปีหนึ่งและปีสองกฎหมายจะค่อนข้างเปลี่ยนไปโดยมาก แบบละเมิดหรืออะไรพวกนี้ปรับบทจะต่างกัน แล้วก็สไตล์การตอบของท่านอาจารย์กรศุทธิ์ก็จะต่างกับท่านอาจารย์คนอื่น ๆ ด้วย ก็ควรจะฝึกเขียนอยู่ครับ”
กราฟ : “ก็ที่สำคัญที่สุดเลยก็คืออยากให้เข้าฟังบรรยายครับ แล้วก็พวกตัวอย่างในห้องอะไรแบบนี้บางทีอาจารย์เขาก็เอาไปออกข้อสอบ ก็อยากให้ทำความเข้าใจเอาไว้ ไม่อยากให้ปล่อยผ่านไป อย่างน้อยก็ให้เคยผ่านความจำไปส่วนนึงก็ได้ เพราะว่าเวลาไปเจอข้อสอบบางทีจะได้เผื่อนึกออก แล้วก็มาตราไหนที่มันเชื่อมโยงกัน ก็คือบางทีมันจะมีมาตราที่เชื่อมโยงกันอย่างเห็นได้ชัดมากก็คือเราต้องจำไปเผื่อด้วย แล้วก็ที่สำคัญเลยก็คืออยากให้จำความเห็นที่ได้เน้นมา ความเห็นที่มีความชัดเจน จำให้ทุกความเห็นอะครับ”
เฟิร์ส : “อย่างที่หนึ่งก็คือต้องเข้าเรียน หรือถ้าไม่เข้าเรียนก็อย่างที่เพื่อนบอก เราต้องย้อนฟังไฟล์เสียง เพราะมันคือสิ่งที่ท่านอาจารย์ต่าง ๆ เนี่ยได้กลั่นกรองมาก่อนแล้วว่าเราควรรู้เรื่องไหนก่อนเรื่องไหนหลัง อย่างที่สองก็คือเรื่องการส่งสัมมนา และก็เรื่องการปรึกษากับพี่ทีเอหรือพี่ที่คอยดูแลอยู่ในกรณีที่เราไม่กล้าเข้าไปคุยกับอาจารย์ สองเรื่องนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยได้ในการเรียนวิชาหนี้ครับ”
แซม : “ก็แนะนำว่าให้เข้าเรียนแล้วก็อ่านหนังสือเป็นหลัก (หัวเราะ) การเขียนส่งสัมมนาก็มีความจำเป็นครับเพราะว่าจะทำให้เราได้รู้ว่าเราควรจะเขียนยังไง สไตล์ของเราเป็นยังไง แล้วก็การเข้าสัมมนาเนี่ยจะทำให้เราเห็นภาพความเชื่อมโยงโดยรวมของกฎหมายได้มากขึ้นครับ”
แป้ง : “หนูก็แนะนำให้เข้าเรียนค่ะ เข้าเรียนแล้วก็ฟังอาจารย์ให้เข้าใจ เพราะว่าพอเข้าใจแล้วมันจะง่ายมากเลย เราไม่ต้องมาเสียเวลาจำอะไรเยอะอะค่ะ มันจะเสียเวลามาท่องมาตราตอนท้าย ๆ แค่แบบจำนิดเดียว เพราะว่าเราเข้าใจมาแล้วมันก็จะเชื่อมโยงกันง่ายขึ้น แล้วก็สำหรับวิธีเราเราก็ใช้วิธีการมาจดสรุป short note ของตัวเองทีหลังให้เราเข้าใจ เพราะมันต้องเชื่อมโยงกัน ถ้าเรื่องไหนที่เรารู้สึกว่าจำแล้วยังเขียนออกมาเป็น short note ที่เราเข้าใจไม่ได้ก็คือว่าเรายังไม่เข้าใจเรื่องนั้น ก็ให้ไปอ่านใหม่ แล้วก็เน้นทำข้อสอบเก่า ข้อสอบเก่านี่ช่วยจริง ๆ หนูว่าทุกวิชาก็คือช่วยอะค่ะ คืออย่างน้อยเราก็ไม่ไปประหม่าเวลาเจอข้อสอบครั้งแรกอย่างนี้ค่ะ”
อ้อม : “สำหรับอ้อมรู้สึกว่าให้หาสไตล์การเรียนของตัวเองด้วยตัวเอง คืออย่างที่เพื่อน ๆ พูดมาแบบนี้ อยากแนะนำให้เข้าเรียนอะไรแบบนี้ คือสำหรับหนูเนี่ยบางทีเข้าเรียนไปไม่มีสมาธิแบบนี้ก็ไม่ค่อยอยากเข้า แต่ก็ต้องมาตามฟังไฟล์เสียงเองแล้วก็จดตามสไตล์ของตัวเองอะค่ะ อย่างถ้าเรื่องไม่เข้าใจแบบนี้ก็ฟังไฟล์เสียง จดใส่ประมวล คือถ้าเข้าเรียน อย่างอาจารย์ณภัทรเขาจะบอกว่ามาตรานี้เท่ากับมาตรานี้ ไม่เท่ากับมาตรานี้ คือมันจะโยงกันก็อยากให้เอาไปจดด้วย แต่ถ้าเกิดให้แนะนำจริง ๆ คืออยากให้ฟังทุกคาบนั่นแหละค่ะ แต่ถ้าไม่ได้เข้าเรียนก็คือมาย้อนฟังไฟล์เสียงดีกว่า ประมาณนี้ค่ะ”
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง KK