พิมพ์ศรัณย์ อิ่นอ้าย (แบม) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคปกติ ศูนย์ลำปาง รหัส 61 คือผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชา น.101 กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา บรรยายโดย รศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ และอ.จุมพล แดงสกุล สัมมนาโดยอ.จุมพล แดงสกุล โดยได้คะแนนสอบ 97 คะแนน วันนี้เราจะพาคุณไปพูดคุยกับพิมพ์ศรัณย์เกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาดังกล่าว
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชานี้
พิมพ์ศรัณย์ : “ตอนแรกรู้สึกว่าเป็นวิชาที่น่าจะค่อนข้างยากเลยค่ะ ได้เห็นหนังสือตั้งแต่ยังไม่ได้เรียนแล้วก็คิดว่าเป็นหนังสือที่หนามาก มาก ๆ หนากว่าประมวลอีก ก็คิดว่าน่าจะยาก แล้วก็พอเปิดดูแล้วก็คิดว่ายากค่ะเพราะว่าเนื้อหาเป็นคำพูดที่เข้าใจยาก แต่พอได้เรียนแล้ว รู้สึกว่าเข้าใจง่าย เรียนกับอาจารย์ภูมินทร์และอาจาร์ยจุมพลค่ะ”
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
พิมพ์ศรัณย์ : “อาจารย์ภูมินทร์สอนแล้วทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ง่ายค่ะ ชีทที่ใช้เรียนก็เข้าใจง่ายค่ะ อาจาร์ยชอบยกตัวอย่างประกอบเวลาสอนทำให้มองภาพออก อาจารย์มีชีทข้อสอบให้ฝึกเขียนด้วยค่ะ ขณะที่สอนอาจารย์หัวเราะ และ ยิ้มแย้มตลอด เวลาเรียนก็จะไม่รู้สึกเครียดค่ะและไม่รู้สึกว่าเรียนสามชั่วโมงนั้นนานเกินไป”
“อาจารย์จุมพลก็เหมือนสไตล์เดียวกันเลยค่ะ มีการจูงใจนักศึกษาและทำให้นักศึกษารู้สึกผ่อนคลายระหว่างที่เรียน”
คำถาม (3) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
พิมพ์ศรัณย์ : “สัมมนาโดยอาจารย์จุมพลค่ะ หนูว่าสัมมนาเป็นตัวที่สำคัญมาก และควรที่จะเข้าทุกครั้ง เพราะอาจารย์จะเก็บเนื้อหาที่สำคัญทั้งหมดมาสอนในการสัมมนา เพราะนิติกรรมเป็นวิชาที่เนื้อหาเยอะมาก มีมาตราที่เยอะมาก แล้วก็มาตราก็เยอะมาก การเข้าสัมมนาจึงเป็นสิ่งที่สมควรจะทำมากๆ เพราะว่าเราจะรู้ scope ของเนื้อหาที่อาจารย์ให้ความสำคัญ และ มีโอกาสที่จะออกสอบค่ะ การเข้าสัมมนาทำให้เวลาอ่านหนังสือจะได้ไม่ต้องอ่านใน scope ที่กว้างมากเกินไป ทำให้เราสามารถรู้ และ อ่านเน้นตรงจุดที่อาจารย์ให้ความสำคัญได้ค่ะ”
(ได้ฝึกเขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม และคิดว่าการฝึกเขียนสำคัญไหม?) “ส่งค่ะ เป็นทำข้อสอบเก่าประมาณ 10 – 15 ข้อค่ะ”
“คิดว่าสำคัญมากเลยค่ะ เพราะเราจะเห็นความคิดของอาจารย์ว่าแต่ละปี อาจารย์จะออกเนื้อหา และ มาตราประมาณไหน จะสามารถสังเกตได้ว่าในแต่ละปีมีเนื้อหาตรงส่วนไหนที่ออกเหมือนกัน จะมีประมาณข้อสองข้อเองค่ะที่อาจาร์ยจะออกเปลี่ยนไป การฝึกทำข้อสอบเลยทำให้เราสังเกตได้ว่า ถ้าหากโจทย์ถามประเด็นประมาณนี้เราต้องใช้มาตราแบบไหนไปตอบ สำหรับหนู การเขียนตอบไม่ได้มีแค่การเขียนให้ถูกต้องกับธงเท่านั้นแต่ต้องมีการเขียนปรับหลบด้วยค่ะ เช่น ประเด็นแบบนี้ไม่สามารถใช้มาตรานี้ได้ แต่ต้องใช้มาตรานี้แทน ประมาณนี้ค่ะ”
คำถาม (4) : ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
พิมพ์ศรัณย์ : “ตอนกลางภาคได้ 30 ค่ะ คะแนนงาน 10 คะแนน ส่วนปลายภาคข้อแรก 20 ข้อที่สอง 19 ค่ะ ข้อที่สาม 18 รวม 97 ค่ะ”
“หนูอ่านก่อนสอบประมาณเดือนครึ่งถึงสองเดือนค่ะ สำหรับหนูคิดว่าการเข้าเรียนนั้นสำคัญมาก ๆ ทำให้เข้าใจและมองออกได้เป็นภาพ เวลาอ่านหนังสือก็ดูชีทที่อาจารย์ใช้สอนประกอบกับหนังสือของอาจารย์ ศนันท์กรณ์ ทำให้เข้าใจถึงความหมายของคำศัพท์แต่ละคำได้ลึกซึ้งมากขึ้น หนังสือของอาจารย์ศนันท์กรณ์ เป็นเหมือนสิ่งที่ขยายคำพูดของอาจารย์อีกทีค่ะ แต่การอ่านหนังสือไม่ได้อ่านหนังสือแค่ครั้งเดียว หนูอ่านหนังสือประมาณสามครั้งได้ค่ะ คือครั้งแรกก็อ่านเนื้อหาทั้งหมดและไฮไลท์ไปด้วย พอครั้งที่สองก็เริ่มอ่านตรงที่ไฮไลท์ แล้วครั้งที่สามอ่านตรงที่ไฮไลท์อีกแต่ในครั้งนี้จะสังเกตเห็นคำศัพท์ หรือรายละเอียดต่าง ๆ ที่ไม่ได้สังเกตเห็นในการอ่านครั้งแรกและครั้งที่สอง และเริ่มเขียนเลคเชอร์ในการอ่านครั้งที่สาม พอเขียนเลคเชอร์เสร็จก็อ่านที่เลคเชอร์ประกอบกับในหนังสือว่ายังมีจุดไหนที่ยังไม่เข้าใจอีก และเขียนเลคเชอร์รอบสุดท้ายคือเขียนรายละเอียดลงในแต่ละมาตราว่ามีองค์ประกอบใดบ้างและแต่ละมาตรามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร”
“ส่วนตัวหนูคิดว่าวิชานิติกรรมไม่ได้มีเพียงการเขียนให้ถูกธงเท่านั้นแต่ต้องมีการบรรยายถึงที่ไปที่มาของการใช้มาตรานั้น ๆ ด้วยความรู้สึกเหมือนเป็นข้อสอบตุ๊กตาที่ต้องมีการเขียนบรรยายประกอบด้วย ถ้าหากมีข้อสงสัยส่วนมากหนูจะถามเพื่อนค่ะ ไม่ได้ถามอาจารย์โดยตรงเพราะไม่ค่อยกล้า ส่วนมากเพื่อนจะถามอาจารย์อยู่แล้ว”
คำถาม (5) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
พิมพ์ศรัณย์ : “ดีมากเลยค่ะ เหมือนมันเบาไปเยอะเลยค่ะ เพราะว่าตอนแรกก็คิดว่าถ้าเป็น 5 ข้อหมดแล้วด้วยเนื้อหาและมาตราที่เยอะขนาดนี้ ถ้าเจอครั้งเดียวก็คือมึนแน่นอนค่ะ แต่พอมีสอบกลางภาคแล้วเหมือนเราตัดสามารถเนื้อหาบางส่วนที่ออกสอบตอนกลางภาคไปแล้วออกได้”
(วิชาที่สอบมีตัวบทให้ในห้องสอบไหม?) “ไม่มีค่ะ”
(เคยสอบวิชาที่มีตัวบทไหม?) “เคยค่ะ วิชาหนี้”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) “หนูคิดว่ามีตัวบทดีกว่าค่ะ เพราะว่าไม่ต้องเสียเวลาในการจำตัวบทแล้ว เอาเวลาที่ให้จำตัวบทซึ่งใช้เวลาประมาณสองวัน สามวัน และยังต้องมาเครียดคืนก่อนสอบ สามารถเอาเวลาเหล่านั้นมาเป็นการอ่านหนังสือได้ค่ะ สำหรับหนู หนูคิดว่าการมีตัวบทให้นั้นเวิร์คกว่ามาก ๆ ค่ะ เพราะจะได้มีเวลาในการทบทวนเนื้อหา หรือ ทำข้อสอบเพิ่มขึ้น”
คำถาม (6) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
พิมพ์ศรัณย์ : “หนูคิดว่าต้องอ่านหนังสือและหัดทำข้อสอบให้มากๆค่ะ หนูคิดว่ามันไม่ได้แค่รอบเดียว เพราะว่าอ่านรอบเดียวมันเหมือนแค่ผ่านตา เราไม่ได้จำด้วยซ้ำ สำหรับหนูแล้วต้องอ่านและจดเลคเชอร์ค่ะ หนูว่าที่สำคัญคือการจดเลคเชอร์ เพราะเหมือนการเขียนนั้นผ่านมือเรา ทำให้จำอะไรได้ดียิ่งขึ้นค่ะ”
ครั้งหน้าเราจะพาคุณไปพูดคุยกับศรัณยพงศ์ วรกิตตนนท์ ผู้ซึ่งสอบได้คะแนนสูงสุดในวิชา น.111 กฎหมายอาญา : ภาคความผิด
ถ่ายภาพ KK
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK