ศรัณยพงศ์ วรกิตตนนท์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคปกติ ศูนย์ลำปาง รหัส 61 คือผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชา น.111 กฎหมายอาญา : ภาคความผิด ศูนย์ลำปาง บรรยายโดย ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล ผศ.ดร.ตามพงศ์ ชอบอิสระ สัมมนาโดย ผศ.ดร.ตามพงศ์ ชอบอิสระ โดยได้คะแนนสอบ 93 คะแนน วันนี้เราจะพาคุณไปพูดคุยกับศรัณยพงศ์เกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาดังกล่าว
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชานี้
ศรัณยพงศ์ : “วิชากฎหมายอาญาภาคความผิด เป็นวิชาที่ต้องศึกษาหลายมาตรา กล่าวคือศึกษามาตราตัวบทเกือบจะทั้งหมดเลยที่บัญญัติไว้ในภาคความผิด จึงกล่าวโดยทั่วไปได้ว่าสิ่งที่จะได้พบเจอในวิชานี้คือการมีเนื้อหาที่ค่อนข้างเยอะครับ ซึ่งในแต่ละเนื้อหานั้นก็ถูกจัดหมวดหมู่ตามประเภทความรับผิดเป็นลักษณะไป ตัวอย่างเช่น ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพชื่อเสียง ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นต้น ดังนี้ในแต่ละลักษณะก็มีความแตกต่างกันไปเลยในแต่ละเรื่อง มีหลักกฎหมายมีทฤษฎีที่เฉพาะเรื่องไปเลยในแต่ละลักษณะ เพราะฉะนั้นความท้าทายในการศึกษาวิชานี้ก็คือต้องท่องจำหลักกฎหมาย ตัวบทมาตรา ค่อนข้างมากครับ เพราะเหตุที่ว่ามีเรื่องให้ต้องศึกษาและทำความเข้าใจมากพอสมควรครับ”
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ศรัณยพงศ์: “ท่านอาจารย์ผู้บรรยายนั้นมี 3 ท่านด้วยกันครับ ได้แก่ ท่านอาจารย์ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ท่านอาจารย์มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล และท่านอาจารย์ตามพงศ์ ชอบอิสระ ครับ”
“ท่านอาจารย์ทวีเกียรติท่านจะดำเนินการสอนโดยจะอ้างอิง คำอธิบายจากในประมวลที่ท่านได้ทำขึ้นก็คือประมวลกฎหมายอาญาฉบับอ้างอิงของท่านนั่นเองครับ ผมเรียนกับท่านก็สนุกดีครับ ท่านเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ที่อารมณ์ดีครับ”
“แล้วก็ท่านอาจารย์มาตาลักษณ์ท่านจะมีสไตล์การสอนของท่านที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือสไตล์ Coaching ก็คือท่านจะแนะนำวิธีการเรียนแบบ Active วิธีการเรียนที่ทำให้ผู้เรียนกลับไปตั้งคำถามกับตัวเองได้ในแง่ของทฤษฎีและการใช้กฎหมาย การจัดกระบวนการคิดวิเคราะห์วินิจฉัยประเด็นปัญหาด้วยตนเอง ท่านมักจะกล่าวเสมอในชั้นเรียนว่า ให้จัดกระบวนการคิดอย่างมีระบบ เพราะกฎหมายมันมีความเป็นอยู่อย่างเป็นระบบครับ”
“ส่วนท่านอาจารย์ตามพงศ์นั้น ท่านจะมีการดำเนินการสอนที่ละเอียดครับ เอกสารของท่านนั้นเราสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย มีประเด็นทางกฎหมายต่าง ๆ ที่ควรถือเอาเป็นข้อสังเกตให้ด้วย แล้วเอกสารของท่านค่อนข้างจะเป็นเอกสารที่ละเอียดในเนื้อหา แล้วก็ข้อสอบที่จะออกก็จะอยู่เฉพาะในเนื้อหาที่ท่านได้สอนไป นักศึกษาก็ต้องตั้งใจฟังแล้วก็ติดตามเลคเชอร์ในเอกสารของท่านด้วย เพราะว่าข้อสอบก็จะไม่ได้ออกเกินกว่าที่ท่านสอนไปครับผม”
คำถาม (3) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
ศรัณยพงศ์: “สำหรับปีการศึกษาที่ผมเรียนนี้ก็จะสัมมนาโดยท่านอาจารย์ตามพงศ์ ชอบอิสระ เป็นอาจารย์ผู้สัมมนาครับ”
“รูปแบบการสัมมนา ท่านก็จะเอาข้อสอบเก่ามาให้ลองฝึกจับประเด็นดู แล้วก็จะเป็นการสัมมนาโดยท่านอาจารย์ตามพงศ์ ซึ่งคาบสัมมนาเป็นคาบที่สำคัญที่สุดเพราะว่าเราจะได้รู้วิธีการเขียนตอบที่ท่านต้องการ ว่าท่านต้องการอยากจะให้เราได้เขียนตอบอย่างไร ซึ่งในแง่นี้ท่านอาจารย์แต่ละท่านมีประเด็นที่ท่านต้องการให้ความสำคัญอยู่ ตัวอย่างเช่น ท่านต้องการให้นักศึกษาแยกแยะความแตกต่างในบางมาตราที่มันมีความใกล้เคียงกันว่ามีหลักการใช้ต่างกันอย่างไร หรือ กรณีของพฤติการณ์ในข้อสอบที่เป็นข้อเท็จจริงเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้น บางประเด็นอาจเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญอันส่งผลต่อผลในทางกฎหมายที่เราวินิจฉัยได้เลยครับ ท่านอาจารย์ผู้สอนท่านต้องการจะมุ่งเน้นในประเด็นไหนที่นักศึกษาน่าจะต้องเขียนลงไปในกระดาษคำตอบแล้วก็ย่อมเกิดจากการเข้าฟังสัมมนาครับ จึงจะทำให้ได้คะแนนดีครับผม”
คำถาม (4) : ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
ศรัณยพงศ์ : “การวัดผลทั้งหมดมี 5 ข้อข้อละ 20 คะแนน มีคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยได้แบ่งออกเป็นกลางภาค 1 ข้อ และปลายภาค 4 ข้อครับ การวัดผลในกลางภาคได้ 16 คะแนนครับ ส่วนการวัดผลในส่วนของปลายนั้นข้อที่หนึ่งได้ 20 คะแนนข้อที่สองได้ 19 คะแนนข้อที่สามได้ 20 คะแนนแล้วก็ข้อสุดท้ายได้ 18 คะแนนครับ”
“กลางภาคได้น้อยเพราะว่าในช่วงแรกคือช่วงที่ปรับตัวใหม่จากวิชาเทอมหนึ่งขึ้นมาเทอมสอง แล้วก็การเรียนตอนนั้นก็เรียนไปเยอะอยู่พอสมควรแล้วสอบกลางภาคไวด้วยครับ ทำให้การทบทวนเนื้อหาบทเรียนอะไรก็ยังจะไม่ค่อยทัน อนึ่งนั้นเป็นเพราะดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่าวิชานี้มีความท้าทายตรงที่ตัวบทมาตราที่จะใช้ศึกษานั้นมีมากซึ่งช่วงกลางภาคเป็นช่วงที่ปรับตัวใหม่ ซึ่งต่างจากกฎหมายอาญาภาคทั่วไปที่เราพอจะจับทางได้แล้วครับ แล้วก็ตัวบทมาตราที่ท่านอาจารย์เอามาใช้ทดสอบในกลางภาคนั้นเป็นประเด็นที่ผมยังแยกแยะออกออกจากกันยังไม่ชัดเจนเพียงพอว่ามันมีความแตกต่างกันอย่างไร เช่นในประเด็นตามมาตรา 309 และมาตรา 310 ที่ท่านเอามาออกในส่วนกลางภาคที่ผมแยกองค์ประกอบได้ไม่ขาดจากกันเท่าไหร่ คือมองแยกกันไม่ออกทำให้คะแนนที่ได้ก็เลยน้อยอยู่ครับผม”
“การเตรียมตัว ก็ต้องเข้าเรียนทุก ๆ ครั้งครับ และถ้าหากอ่านหนังสือมาล่วงหน้าย่อมจะเป็นการดีครับ ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องเข้าใจมาแล้วก็ได้ เพราะ การมีความรู้มาแล้วระดับหนึ่งนั้นย่อมทำให้การติดตามรับฟังประเด็นทางกฎหมายในชั้นเรียนเป็นไปอย่างเท่าทันกับท่านอาจารย์ผู้บรรยาย ทำให้ไม่หลุดประเด็น อีกทั้งการที่เราอ่านมาก่อนแล้วทำให้เรามีประเด็นข้อกฎหมายในหัว หากมาฟังการบรรยายแล้วพบว่าไม่ตรงกับที่ท่านอาจารย์สอนนั้น เราก็ย่อมนำเอาประเด็นนั้น ๆไปปรึกษาท่านได้ ทำให้เราไม่มองข้ามอะไรบางอย่างไปครับ แล้วก็พยายามมีสมาธิกับเนื้อหาที่ท่านอาจารย์สอนครับ จะได้ทราบว่าท่านเน้นย้ำในประเด็นใด เพราะว่าบางประเด็นก็ไม่ได้มีอยู่ในหนังสือ บางประเด็นก็เป็นประเด็นที่ท่านอาจารย์เป็นเจ้าของประเด็นเอง เป็นเจ้าของความคิดเห็นเอง ซึ่งผู้เรียนก็ไม่จำเป็นต้องเห็นตามท่านอาจารย์ผู้สอนเสมอไปก็ได้ หากแต่ต้องรู้ว่าในประเด็นนี้มีความคิดเห็นทางวิชาการที่แตกต่างกันอย่างไร อะไรคือเหตุผล ทฤษฎี เบื้องหลังอันเป็นเหตุให้ท่านอาจารย์มีความคิดเห็นทางวิชาการเช่นว่านั้น อนึ่งสำหรับวิชากฎหมายอาญาภาคความผิดนี้เป็นวิชาที่ทางคณะไม่ได้แจกตัวบทให้ใช้ในการทำข้อสอบ ดังนั้นสำหรับท่านอาจารย์ตามพงศ์ท่านก็จะ scope เนื้อหามาให้เราอยู่แล้วว่าจะต้องเตรียมตัวเนื้อหาอะไรบ้างเพื่อเตรียมสอบ เพราะฉะนั้นก็จึงต้องมีความมานะระดับหนึ่งในการท่องจำตัวบทมามาตราครับผม แล้วก็พยายามตั้งใจฟังให้ดีว่าท่านอาจารย์ต้องการจะเน้นมาตราไหน มาตราไหนเป็นข้อสังเกต มาตราไหนมีปัญหาในการใช้การตีความครับผม”
คำถาม (5) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
ศรัณยพงศ์ : “ถ้าหากกล่าวในแง่มุมหนึ่งนั้นก็จะเป็นการแบ่งเบาภาระเนื้อหาในปลายภาคได้ครับ ก็คือทำให้ได้ทำข้อสอบในปลายภาคได้ลดน้อยลง แต่ว่าถ้าพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่งก็คือบางครั้งเรายังเรียนไปได้ไม่ครบทุกเรื่องเลยทำให้ไม่สามารถวัดผลได้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะกฎหมายมันสามารถเชื่อมโยงร้อยรัดหากันได้หมดอย่างเป็นระบบครับส่งผลให้ในการวัดผลในกลางภาคเรียนนั้นถูกจำกัดด้วยการทดสอบเท่าที่ได้เรียนไป เรื่องที่ยังไม่ได้เรียนก็ย่อมไม่สามารถนำมาวัดผลได้ ต้องวัดผลในบางเรื่องเท่านั้นจริง ๆ ครับ ไม่สามารถวัดผลในองค์รวมได้ครับ”
“ในความคิดเห็นส่วนตัวผมนั้น ผมคิดว่ามีการสอบในปลายภาคเรียนทั้งหมดเลยก็น่าจะดีกว่าครับผม เพราะมันทำให้เราได้ศึกษาอะไรแบบครบองค์ประกอบครบองค์รวมเลยจริง ๆ ครับ อีกทั้งเวลาในการวัดผลกลางภาคนั้นอาจจะกระชั้นชิดเกินไปด้วยนั่นเองครับ ”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) “ผมเองนั้นก็ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่กับการไม่ให้ตัวบทในห้องสอบ หากมีการให้ตัวบทในชั้นวัดผลมันทำให้ผมประหยัดเวลาในการที่ไม่จำเป็นที่ไปท่องจำตัวกฎหมายครับ ควรเอาพื้นที่ความจำไปท่องจำองค์ประกอบทางกฎหมาย หลักกฎหมาย ประเด็นปัญหาทางข้อกฎหมายจะดีกว่าครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าระดับความยากในการวัดผลย่อมมีความยากขึ้นด้วย ซึ่งในแง่มุมนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ในการเรียนของผู้เรียนเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ”
“อนึ่งนั้นผมขออนุญาตเรียนว่า แม้ทางคณะจะมีการจัดทำตัวบทให้ ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เรียนไม่จำเป็นต้องท่องจำเลขมาตรานะครับ เพราะในความคิดเห็นส่วนตัวนั้น การจดจำเลขมาตราย่อมจะเป็นสิ่งที่ดีแก่ตัวผู้เรียนเอง กล่าวคือในแง่มุมที่ว่าผู้เรียนสามารถดึงเอาข้อมูลมาใช้ได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่จำเป็นต้องพลิกตัวบทให้เสียเวลา อีกทั้งในการวินิจฉัยย่อมทำให้คิดแบบองค์รวมและสามารถนำเอากฎหมายมาวินิจฉัยได้ครบทุกประเด็นนั่นเองครับ”
คำถาม (6) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
ศรัณยพงศ์ : “การเรียนกฎหมายต้องอาศัยการท่องจำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือต้องจำกฎหมายได้ ต้องรู้กฎหมายว่ามันมีหรือเป็นอยู่อย่างไร ระบบมันเป็นอยู่อย่างไรครับ อย่างไรก็ตามนอกจากจำได้แล้ว ต้องมีความเข้าใจว่าใช้อย่างไร ใช้กับเรื่องอะไร ซึ่งอาจเกิดจากการเข้าฟังการบรรยายอย่างมีสมาธิหรืออาจะเกิดจากการเอาเนื้อหาที่เรียนมาถกเถียงกันระหว่างเพื่อน ๆ ครับ”
“และอ่านหนังสือมาก่อนล่วงหน้า จะเป็นการดีเพราะเมื่อเข้าฟังการบรรยายในชั้นเรียนแล้วหากพบว่าไม่ตรงกับที่อ่านมาในหนังสือก็ย่อมนำเอาข้อสงสัยนี้ไปปรึกษาท่านอาจารย์ ทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ เกิดความเข้าใจที่ลึกขึ้น ถ้าหากว่าไม่อ่านหนังสือมาก่อนมันทำให้ไม่ได้รู้ว่ามันมีประเด็นปัญหาอะไรในทางวิชาการที่มันเกิดขึ้น”
“นอกจากการอ่านหนังสือมาก่อนล่วงหน้าแล้ว ที่สำคัญก็คือต้องพยายามที่จะเข้าเรียนให้ได้ทุกคาบครับ และฝึกทำแบบฝึกหัดด้วย เพราะการเขียนตอบข้อสอบนั้นเป็นสิ่งที่ต้องฝึกปรือด้วยตนเองครับ”
ถ่ายภาพ KK
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK