พิชามณี ชนะศึก นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคปกติ ศูนย์ลำปาง รหัส 60 คือผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชา น.211 กฎหมายอาญา : ภาคความผิด ศูนย์ลำปาง บรรยายโดย ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล ผศ.ดร.ตามพงศ์ ชอบอิสระ สัมมนาโดยผศ.ดร.ตามพงศ์ ชอบอิสระ โดยได้คะแนนสอบ 89 คะแนน วันนี้เราจะพาคุณไปพูดคุยกับพิชามณีเกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาดังกล่าว
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชานี้
พิชามณี : “รู้สึกเหมือนกำลังดูหนังภาคต่อค่ะ คือด้วยความว่าเทอมหนึ่งเราเรียนอาญาภาคทั่วไปมาแล้ว เราก็จะพอได้แตะ ๆ ภาคความผิดมาบ้าง พอมาเรียนความผิดจริง ๆ มันก็เหมือนหนังภาคต่อ เป็นการขยายจักรวาล เพิ่มเรื่องราวให้มากขึ้นกว่าเดิม เราได้เรียนเกี่ยวกับพวกความผิดของอาญาในแต่ละฐานเยอะแยะมากมายและลงลึกในรายละเอียดของความผิดแต่ละฐานมากขึ้น เนื้อหาก็ค่อนข้างเยอะค่ะ แล้วเป็นคนละแบบกับอาญาภาคทั่วไปด้วย เพราะว่าภาคทั่วไปมันจะเกี่ยวกับพวกทฤษฎีพวกหลักการซะส่วนใหญ่ อันนี้จะลงไปถึงความผิดฐานต่างๆที่อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา”
(ดูเป็นรูปธรรมมากขึ้น?) “ใช่ค่ะ ดูเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดูเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นค่ะ”
(เรียนรวมกับรุ่นน้องปี 1 ในวิชา น.111 เลยไหม?) “จะบอกว่าเรียนรวมก็ได้ค่ะ แต่ว่าข้อสอบของรุ่นน้อง น้องจะมีสอบกลางภาค แต่ของรุ่นหนูไม่มี คือจริง ๆ เรียนกันคนละห้องแต่ว่าอาจารย์ชุดเดียวกัน เรียนช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เนื้อหาเดียวกัน พวกชีทพวกเอกสารก็ชุดเดียวกันด้วยค่ะ”
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
พิชามณี :“อาจารย์ทวีเกียรติจะไม่มีชีทค่ะ ท่านจะเปิดประมวลสอนเลย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องโฟกัสกับที่ท่านสอน เพราะว่าไม่มีชีทให้ไม่มีสไลด์ให้ดู แล้วเราก็ต้องรีบจดตามที่ท่านพูด ท่านก็จะมีการยกตัวอย่างพวกฎีกาแทรกไปด้วยอะไรแบบนี้เหมือนในหนังสือของท่านอะค่ะ ที่เป็นหนังสือคำอธิบายประมวลกฎหมายเล่มหนาๆน่ะค่ะ ประมาณนั้นค่ะ”
“ส่วนของอาจารย์มาตาลักษณ์ก็มีชีทให้ค่ะ อาจารย์ก็จะสอนตามชีทบ้างแล้วก็เอาพวกประสบการณ์ที่อาจารย์ไปเจอมามาเล่าให้ฟังบ้าง เหมือนให้เอามาประยุกต์ใช้กับความผิดต่าง ๆ ที่ท่านกำลังสอนค่ะ”
“ส่วนของอาจารย์ตามพงศ์นี่จะมีชีท แล้วก็อาจารย์ก็สอนตามชีทแล้วก็เพิ่มเติมเนื้อหามาด้วย คือชีทจะไม่ได้ละเอียดแบบยิบขนาดนั้น จะเป็นหัวข้อแล้วก็ถ้อยคำสั้น ๆ เหมือนเป็นสรุปเลคเชอร์ให้เรา ซึ่งถ้าจะอ่านแต่ตัวชีทของอาจารย์อย่างเดียวก็พอเข้าใจ แต่ว่าถ้าอยากเข้าใจให้ละเอียดมากขึ้นต้องเข้าฟังบรรยายค่ะ เพราะท่านจะมีการเสริมเนื้อหาที่มากกว่าในชีทของอาจารย์ให้ด้วย”
คำถาม (3) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
พิชามณี : “การเข้าคาบสัมมนาก็สำคัญนะคะ เพราะว่าอาจารย์ตามพงศ์เป็นคนสัมมนา แล้วเวลาสัมมนาท่านก็จะทวนเนื้อหาทั้งหมดของอาจารย์ทุกคนให้ แล้วก็พาทำข้อสอบ ท่านจะมีการแนะพวกข้อสังเกตต่างๆในการตอบข้อสอบว่าอย่างข้อนี้ต้องสังเกตอย่างนี้นะ จุดนี้ต้องระวังนะเพราะอาจจะทำให้สับสนแล้วตอบผิดได้ ถ้าตอบแบบนี้ตอบประเด็นนี้ด้วยมันจะได้คะแนนดีขึ้นอะไรประมาณนี้ค่ะ แล้วในส่วนเตรียมตัวสอบ ก่อนสอบประมาณหนึ่งเดือนด้วยความที่อาญาภาคความผิดมาตราเยอะมาก ก็เลยท่องมาตราตลอดหนึ่งเดือน แล้วก็มีอ่านชีทก่อนสอบ นอกจากนี้พอถึงวันสอบ ถึงแม้จะมีสอบบ่ายแต่หนูจะมาตั้งแต่เช้า มานั่งติวกันกับกลุ่มเพื่อนค่ะ เป็นเหมือนการมาคุยแลกเปลี่ยนว่าจากที่เราอ่านที่เราเข้าใจมามันมีอะไรที่ตกหล่นหรือยังมีอะไรที่สงสัยที่ยังไม่ชัวร์อีกมั้ย ก็ช่วยกันตอบช่วยกันถามอะไรแบบนี้ค่ะ มันจะเป็นการช่วยให้เราได้ทบทวนอีกแบบหนึ่งด้วย”
คำถาม (4) : ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
พิชามณี : “ได้คะแนนรวมทั้งหมด 89 ค่ะ คะแนนรายข้อได้ 20 13 19 17 20 มีข้อได้น้อยอยู่ข้อที่ 2 ที่ได้ 13 คะแนนค่ะ”
“ที่ได้น้อยคือมันเป็นข้อสอบที่ต้องตอบแนวแบบกึ่งอุทาหรณ์กึ่งบรรยายค่ะ แล้วหนูคิดว่าพาร์ทที่ต้องเขียนตอบแบบบรรยายยังเอาทฤษฎีของข้อนั้นมาเขียนอธิบายให้อาจารย์เข้าใจได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ค่ะ”
“เทคนิคในการเรียนสำหรับหนู หนูเน้นเข้าเรียนค่ะ เข้าฟังบรรยายก่อน เพราะว่าถ้าเกิดไปอ่านเองเลยมันจะยังไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้เองทั้งหมด แล้วเวลาเข้าฟังบรรยายหนูจะตั้งใจโฟกัสกับเนื้อหาได้มากกว่าค่ะ เพราะว่าเวลาอ่านหนังสือเองมันอาจจะมีหลุด นู่นนี่นั่น สามารถหลุดง่ายกว่าอยู่ต่อหน้าอาจารย์อย่างนี้ค่ะ แล้วก็พอฟังบรรยายเสร็จก็กลับมาทบทวนด้วยการอ่านหนังสือหรืออ่านชีทที่อาจารย์ให้ มันจะทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้นค่ะ”
(ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม?) “ตั้งแต่ปีหนึ่งมาหนูไม่เคยฝึกเขียนสัมมนาส่งเลยค่ะ คือเข้าคาบสัมมนา เข้าคาบอาจารย์ หนูก็พอเดาออกว่าคนไหนชอบการเขียนแบบไหน ก็เลยยังไม่ฝึก แต่ถ้าใครที่เขียนยังไม่โอเค หนูว่าจำเป็นที่จะต้องฝึกการเขียนให้ดีก่อน อย่างหนูนี่หนูคิดว่าการเขียนหนูค่อนข้างดีอยู่แล้ว เพียงแค่ต้องเข้าสัมมนาเพื่อดูว่าอาจารย์คนนี้มีสไตล์แบบไหน ต้องการให้เขียนแบบไหน หนูก็จะได้ปรับการเขียนของหนูให้เป็นแบบนั้น ประมาณนี้ค่ะ”
คำถาม (5) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
พิชามณี : “ถ้าวิชาที่มีสอบกลางภาคมันก็จะเบากว่าที่จะมีปลายภาค 100 คะแนนไปเลย อันนั้นมันหนัก ยอมรับว่ากดดัน”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) “ถ้ามีตัวบทก็ดีค่ะ ถ้ามีตัวบทอาจารย์จะออกข้อสอบได้ง่ายขึ้น มันจะเน้นเรื่องทฤษฎีมากกว่า แล้วเราเองก็จะมีเรื่องที่ต้องจำต้องโฟกัสน้อยลงและเต็มที่กับมันมากขึ้น ส่วนไม่มีตัวบทหนูว่ามันเหมือนต้องแบ่งสมองไปจำตัวบทมาด้วย เวลาสอบมันก็อาจจะตอบพวกคำถามที่เป็นเกี่ยวกับทฤษฎีพวกอะไรอย่างนี้ได้ไม่ค่อยเต็มที่เท่าไหร่ค่ะ”
คำถาม (6) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
พิชามณี : “ถ้าเป็นไปได้อยากให้หาสไตล์การเรียนตัวเองให้เจอ แบบไหนที่สามารถจะทำให้เราเข้าใจและจดจำได้มากที่สุดก็ใช้วิธีนั้น อย่างหนูต้องฟังบรรยายหนูถึงจะสามารถเข้าใจได้ แต่บางคนก็อาจจะนั่งถอดเทปอยู่ที่ห้องก็ได้ หรืออ่านหนังสืออย่างเดียวก็ได้ อย่างเพื่อนหนูก็มีคนที่อ่านหนังสืออยู่ที่ห้องเขาไม่ได้เข้าฟังบรรยายเขาก็ได้คะแนนดีนะคะ แต่ว่าถ้าเป็นไปได้อยากให้เข้าสัมมนา เพราะว่าต่อให้เราอ่านหนังสือหรือเราฟังบรรยายในห้องเราก็จะไม่รู้ว่าเวลาเขียนอะอาจารย์ต้องการให้เขียนแบบไหน ถ้าเข้าฟังสัมมนาจะดีมากค่ะ เป็นการทบทวนไปด้วยในตัว”
ถ่ายภาพ KK
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK