ชวัลรัตน์ ศรีธาดา (บีม) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคปกติ ศูนย์ลำปาง รหัส 60 คือผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชาวิชา น.230 เอกเทศสัญญา 1 ศูนย์ลำปาง บรรยายโดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร สัมมนาโดยผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อ.ปวีร์ เจนวีระนนท์ โดยได้คะแนนสอบ 92 คะแนน วันนี้เราจะพาคุณไปพูดคุยกับชวัลรัตน์เกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาดังกล่าว
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชานี้
ชวัลรัตน์ : “ตอนแรกเลยด้วยความที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมานั้นว่าเป็นวิชาที่อาจารย์ค่อนข้างที่จะโหดแล้วก็ผ่านยากอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็ในอดีตค่อนข้างกลัวค่ะ แต่พอมาแล้วเรียนแล้วรู้สึกว่ามันเป็นวิชาที่เหมือนเป็นวิชาที่ต่อยอดมาจากวิชาพื้นฐาน เช่นวิชาหนี้หรือว่านิติกรรมสัญญา แล้วก็เป็นวิชาที่ค่อนข้างจะใกล้ตัวเพราะว่าสามารถที่จะพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป ก็เลยมีความรู้สึกว่าก็เป็นวิชาที่มีความสำคัญที่เราควรที่จะเข้าใจค่ะ”
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ชวัลรัตน์ : “อาจารย์กรศุทธิ์ค่อนข้างที่จะมีการเชื่อมโยงค่ะ คือเราต้องรู้พื้นฐานในหลายเรื่อง บางเรื่องเราอาจจะเรียนสัญญาซื้อขาย แต่ก็อาจจะเอาเรื่องของนิติกรรมใส่ได้ หรือว่าเอาวิชาหนี้มาอุดช่องว่างในบางประเด็นหรือในบางกรณีค่ะ มันก็เลยทำให้เราค่อนข้างที่จะต้องรู้พื้นฐานหรือว่ามีพื้นฐานที่ดีค่ะในการที่จะเรียนกับอาจารย์”
“ส่วนอาจารย์เงาะ (ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร) ค่อนข้างจะใจดีค่ะ (หัวเราะ) ใจดีแล้วก็ค่อนข้างที่จะชอบให้คิดวิเคราะห์ หาเรื่องอะไรที่แบบแปลก ๆ หรือว่าเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมาให้ดู แล้วก็จะมีการตั้งคำถามว่าอันนี้มีความคิดยังไง หรือว่ามีความคิดเห็นยังไงแบบนี้ค่ะ”
คำถาม (3) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
ชวัลรัตน์ : “สัมมนาส่วนอาจารย์กรศุทธิ์ เป็นอาจารย์กรศุทธิ์สัมมนาเอง รู้สึกว่าสำหรับส่วนตัวคิดว่าเป็นการสัมมนาที่ตรงประเด็น เพราะว่าเนื่องด้วยตัวอาจารย์เป็นตัวผู้สอนเองด้วย ทำให้เราสามารถที่จะรู้ได้ว่าอาจารย์ชอบแบบนี้ ชอบแนวคำตอบ หรือว่าชอบวิธีการเขียนตอบที่ต้องมีเหตุผลหรือว่าอะไรประกอบบ้างแบบนี้ค่ะ”
“เนื้อหาส่วนอาจารย์สุรศักดิ์ สัมมนาโดยอาจารย์ปวีร์ อาจารย์จะเน้นประเด็นสำคัญ และก็ชอบให้โจทย์มาคิดไปด้วยกัน มีชีทเฉลยให้ค่ะ และก็มีให้หัดเขียนตอบในคาบด้วย รวมถึงจะให้โอกาสถามคำถามในส่วนที่ไม่เข้าใจด้วยค่ะ”
คำถาม (4) : ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
ชวัลรัตน์ : “มีช่วงแรกเป็นช่วงสอบกลางภาคค่ะ ของอาจารย์กรศุทธิ์ก็คือเต็ม 30 ได้ 25 ค่ะ ส่วนต่อมาเป็นช่วงสอบของปลายภาคค่ะ ก็จะมีทั้งหมด 4 ข้อค่ะ สามข้อแรกของอาจารย์กรศุทธิ์ ข้อแรก ซื้อขายได้ 14 ค่ะ เต็ม 15 ข้อที่สอง สัญญาให้ ได้ 15 เต็ม ข้อสาม เช่าซื้อ ได้ 20 เต็ม แล้วก็ข้อสี่ เช่าทรัพย์ของอาจารย์สุรศักดิ์ได้ 18 เต็ม 20 ค่ะ”
(ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม?) “ส่งค่ะ ส่งทุกข้อที่อาจารย์สั่ง การส่งคิดว่าสำคัญ อย่างน้อยที่สุดมันสามารถทำให้เรารู้ว่าหนึ่งข้อเราควรต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในเวลาที่เรามีอยู่”
“ด้วยความตอนแรกเข้าปี 1 เลยยอมรับว่าได้คะแนนน้อยมากจริง ๆ ช่วงแรกคือได้แค่ 68 กับวิชาแพ่ง แล้วก็แบบเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงได้แค่นั้น เพราะว่าเราก็พยายามอ่านหนังสือเท่า ๆ กับคนอื่น ก็เลยกลับมาค้นหาตัวเอง หาสไตล์การเรียนการสอนของตัวเองว่า อ๋อ จริง ๆ แล้วเราเป็นคนชอบฟัง ชอบฟังอาจารย์สอนก็เลยเลือกที่จะมาเข้าเรียนทุก ๆ คาบ แทบที่จะไม่ขาดเลยอย่างนี้ค่ะ แล้วก็แบบหาประเด็นเสริม แล้วก็พยายามอุดช่องว่างของตัวเอง แล้วคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากที่แบบว่าทำให้หลาย ๆ คนได้เปรียบคนอื่นคือการหัดเขียนตอบค่ะ เพราะมันสามารถทำให้เราประมาณเวลา แล้วก็เวลาเราเขียนมันเป็นระบบกว่า ก็คือเราอาจจะย่อหน้านี้ ๆ ๆ มันทำให้เราเรียงประเด็นได้ดีกว่าคนอื่น แล้วก็ทำให้การตัดสินใจอาจจะเรียกว่าโค้งสุดท้ายในการสอบ ก็คือด้วยเวลาอาจจำกัดแต่เราอาจจะเหลือสองข้ออย่างนี้ที่เราต้องทำในช่วงเวลาหนึ่งอะค่ะ อันนี้เราสามารถที่จะจัดการ หรือว่ากำหนดเวลาสำหรับตัวเองได้ว่า อ๋อ ถ้าได้ข้อละ 30 นาทีเราควรจะเขียนประมาณนี้ ๆ เข้าประเด็นนี้ไปเลย มันถึงจะได้คะแนน แล้วก็ตัดประเด็นที่ไม่สำคัญออกค่ะ”
คำถาม (5) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
ชวัลรัตน์ : “ถ้าส่วนตัวชอบการสอบกลางภาค เพราะว่าการสอบกลางภาคคือพอเมื่อปลายภาคมันสามารถที่ตัดส่วนเนื้อหาบางส่วนออกไปได้อย่างนี้ค่ะ แต่ถ้าสมมติว่ามีสอบคือปลายภาคเลย เราก็ไปวัดทีเดียวเลยห้าข้อ เหมือนเราไม่มีโอกาสที่จะกลับมาแก้ไขหรือว่ารู้ตัวว่า อ๋อ นี่คือสิ่งที่เราพลาดแล้วเรากลับมาเพื่อแก้ไข เอ่อ ขอยกตัวอย่างเป็นเหมือนตอนสอบกลางภาควิชาของเอกเทศสัญญา 1 ด้วยความที่กลางภาคมันมี 30 คะแนน แล้วแบ่งเป็นสองข้อค่ะ คือข้อแรกก็คือ 20 กับข้อสองก็คือ 10 คะแนน ในประเด็นข้อแรกก็คือได้เต็ม แต่ว่าประเด็นข้อสองได้มาแค่ 5 คะแนน เพราะว่ามีความเข้าใจผิดในหลักกฎหมายบางจุด ก็เลยทำให้เราฉุกคิดแล้วก็กลับไปเพื่อจะแก้ไขในส่วนที่มันผิดพลาดค่ะ เพื่อมาทำปลายภาคใหม่อีกครั้งหนึ่งค่ะ”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) “อย่างวิชาเอกเทศสัญญา 1 มีตัวบทให้ในห้องสอบ สำหรับส่วนตัวคิดว่าความแตกต่างของมันคือมันทำให้เรารู้สึกว่าไม่กังวลในการที่มีตัวบท แต่ถ้าถามว่าโดยส่วนตัวถามว่าชอบแบบไหนมากกว่ากัน ถ้าเป็นเด็กส่วนใหญ่คงต้องตอบว่าชอบแบบมีตัวบทให้ แต่ก็ในส่วนตัวคิดว่าเราเรียนอย่างมีระบบกฎหมายที่เป็น civil law ค่ะ ยังไงเราก็ทิ้งตัวบทไม่ได้ ก็เลยมีความรู้สึกว่าจริงอยู่ถึงว่าเรามีตัวบทให้ แต่เราก็ควรจะมีเนื้อหาสาระหรือว่าสาระสำคัญในแต่ละมาตรานั้นค่ะ เพื่อเวลาเราเขียนตอบ ถ้าสมมติว่าในความเป็นจริงก็คือด้วยเวลาที่เราจำกัด ถ้าเรามัวนั่งเปิดตัวบทอย่างเดียวอย่างนี้เราก็ไม่สามารถที่จะทำข้อสอบได้ทัน เพราะฉะนั้นเราก็ควรที่จะจำบ้าง หรือว่ามีพื้นฐานกับมัน เพราะมันจะทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ลอยกับประเด็นที่อาจารย์ให้ค่ะ”
คำถาม (6) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
ชวัลรัตน์ : “ส่วนตัวคิดว่าขั้นแรกน่าจะเริ่มจากที่ความคิดก่อน เพราะว่ามีหลายคนที่แบบว่ามาถามเหมือนกันว่าทำไมสอบวิชานี้ไม่ผ่าน หรือว่าทำไมวิชานี้ทำคะแนนได้น้อย ก็คือแบบเราไม่มีความรู้สึกว่าความคิดเห็นใครไม่ดีหรือว่ายังไง แต่ส่วนตัวคิดว่าเราควรสร้างมาตรฐานให้กับตัวเองค่ะ สมมติว่าอย่างตัวหนูอย่างนี้ก็จะตั้งไว้เลยว่าวิชานี้ควรจะผ่านด้วยคะแนน 75 ขึ้นไป ถ้าเราได้มากกว่านั้นมันคือกำไร แต่ถ้าเราน้อยกว่านั้นมันคือขาดทุน แต่การที่เราตั้งมาตรฐานของตัวเองไว้มันจะทำให้เราอย่างน้อยที่สุด ถึงเราจะได้น้อยกว่า 75 แต่เชื่อว่าเราจะไม่ตก เพราะว่าการตั้งมาตรฐานหรือว่ามีเป้าหมายมันทำให้เราสามารถที่จะทำตัวเองให้ไปถึงเป้าหมายนั้นได้ค่ะ แล้วก็สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือวินัยกับความรับผิดชอบค่ะ คือถึงแม้เราจะมีเป้าหมายแต่ว่าเรายังขาดวินัยกับความรับผิดชอบก็ทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้ยาก ก็คือเราก็ควรจะเข้าเรียน หมั่นทบทวนหนังสือ หรือว่าหัดเข้าสัมมนา ทำการบ้านสัมมนาส่งอาจารย์ค่ะ”
หมายเหตุ วิชา น.230 เอกเทศสัญญา 1 ของหลักสูตรเดิม ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของวิชา น.230 กฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ 1 ในหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561
ถ่ายภาพ KK
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK