เราเคยพูดคุยกับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในหลายวิชามาแล้ว วันนี้เราจะพาไปคุยกับผู้ที่เคยสอบไม่ผ่านในวิชาของคณะนิติศาสตร์บ้าง (ขอสงวนภาพและนาม) ถึงความรู้สึก และสาเหตุในการสอบไม่ผ่าน รวมถึงวิธีการเตรียมตัวในการสอบแก้ตัว
คำถาม (1) : วิชาที่สอบไม่ผ่านมีวิชาอะไรบ้าง และคิดว่าการสอบไม่ผ่านเกิดจากสาเหตุใด
คำตอบ : “ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า การสอบเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการวัดผลเพื่อเป็นไปตามกระบวนการทางด้านการศึกษาและต่อยอดสู่วิชาชีพเท่านั้น ดังนั้น การได้รับความรู้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทางด้านการเรียน หรือ การทำงาน ถือเป็นสาระสำคัญมากยิ่งกว่าการสอบ ซึ่งการสอบไม่ผ่านก็เกิดขึ้นได้ในคณะนิติศาสตร์ ไม่อยากให้เครียด แต่ทางดีแล้ว ควรที่จะสอบให้ผ่านนะ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรู้สึกเหนื่อยและรู้สึกกังวลกับตัวของเราเอง หากขยันฝึกฝนและพยายามก็สามารถผ่านไปได้อย่างแน่นอน”
“ก็จะขอยกตัวอย่างในวิชาที่เคยสอบไม่ผ่าน ซึ่งได้ศึกษาในหลักสูตรเก่าที่มีการสอบแก้ตัว เช่น วิชา น.101 กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา เนื่องด้วยในการลงทะเบียนเรียนครั้งแรก ได้รับเลือกให้เรียนในเซคท่านอาจารย์ที่ค่อนข้างให้คะแนนยาก ต้องสะสมแต้มบุญเนาะ (หัวเราะ) คือมีเกณฑ์มาตรฐานสูงกว่าเซคอื่น ต้องขออธิบายว่า สาเหตุที่สอบไม่ผ่านมีหลากหลายปัจจัย”
“ปัจจัยแรก จากตนเอง คือถือเป็นวิชาแรกในคณะนิติศาสตร์ที่ได้ทดลองวิชาการเขียนตอบโจทย์ตุ๊กตา ก็คือมีตัวละครในการวินิจฉัยอุทาหรณ์ ทำให้ตัวเองไม่เคยชินกับการเขียนตอบปัญหากฎหมายในลักษณะนี้ โดยเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากที่ว่าตัวเองได้เข้ามาในระบบ Admission จึงทำให้ไม่เคยลองเขียนตอบกฎหมายมาก่อน พอมาลองเขียนตอบกฎหมาย เมื่อส่งการบ้านในคาบวิชาสัมมนา ก็พบว่าได้คะแนนน้อย และไม่ทราบสาเหตุที่ได้คะแนนเท่านี้ เป็นเวลาหลายครั้ง จึงเป็นการบั่นทอนกำลังใจ ทำให้ตัวเองไม่ประสงค์ที่จะส่งการบ้านทุกครั้งแล้ว รวมถึงก็ทำกิจกรรมด้วย จึงทำให้ปรับตัวในการเป็นเฟรชชี่ไม่เหมาะสมกับการเข้าเรียน ก็คือยังแบ่งเวลาไม่ดีพอ”
“ปัจจัยที่สอง จากท่านอาจารย์ผู้สอน คือด้วยเนื้อหาวิชาที่มีความน่าสนใจ แต่ท่านอาจารย์ผู้สอนยังมีสไตล์การสอนที่ไม่สามารถสอนให้ผู้เรียนรู้สึกสนใจได้ อย่างตัวเองก็รู้สึกง่วงนอนในบางคาบด้วย ก็สามารถหลุดโฟกัสจากอาจารย์ด้วยการมาเล่นมือถือแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เรียนก็ไม่อยากทำ จึงทำให้ไม่มีแรงบันดาลใจในการที่จะพยายามเข้าใจเนื้อหา แต่จริง ๆ ก็สัมผัสได้ถึงว่าท่านอาจารย์พยายามทำเต็มที่ที่สุดในการอธิบายกฎหมายในแบบของท่านอาจารย์แล้ว แต่คงมาจากตัวผู้เรียนเองเสียมากกว่าที่ต้องรู้จักปรับตัวจากสังคมระดับมัธยมศึกษาสู่สังคมระดับอุดมศึกษา และแม้ท่านอาจารย์จะสอนเนื้อหาดีที่สุดแล้ว แต่เกณฑ์การตรวจให้คะแนนมีมาตรฐานสูงเกินคาด จึงทำให้ตัวผู้เรียนเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่สอบไม่ผ่านในวิชานี้ ก็มีจำนวนผู้สอบไม่ผ่านเป็นจำนวนร้อยละที่มากพอสมควร”
คำถาม (2) : มีวิชาอื่นที่สอบไม่ผ่านอีกไหม และสาเหตุที่สอบไม่ผ่านเหมือนหรือต่างจากวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา
คำตอบ : “ก็มีวิชาอื่น ๆ อีก เช่น วิชา น.100 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย และ น.230 เอกเทศสัญญา 1 ส่วนมากสาเหตุก็คล้าย ๆ กัน แต่ที่แตกต่างไปคือในวิชาน.100 น่าจะเป็นส่วนที่ว่า เนื่องจากปี 1 เรายังปรับตัวไม่ค่อยได้ เหมือนกับว่าชีวิตเด็กม.ปลายแตกต่างกับชีวิตของเด็กกฎหมาย เช่น นิติมีวิชาเนื้อหายากกว่า นิติต้องมีการจัดการตัวเองที่ดีมากกว่า การปรับตัวไม่ได้และการทะนงตนของเราจึงทำให้เรามีความขี้เกียจ หรือ ปล่อยปละละเลยการอ่านหนังสือไป แล้วก็เกิดความประมาทในการเรียน ซึ่งเป็นผลมาจาก น่าจะเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย คือเราอาศัยอยู่กับรูมเมทที่เรียนอยู่คณะอื่น ก็เห็นว่าเพื่อนอ่านหนังสือใกล้สอบ เหมือนกับว่าสามารถเอาตัวรอดได้แน่นอน เราก็ทำเช่นนั้น เพื่อนเราก็ได้คะแนนดี”
“ส่วนตัวเรา ด้วยคำว่านิติตอนแรก เข้าใจว่าตัวเองฉลาด แต่ความจริงแล้วมันไม่พอ คณะนี้สิ่งที่ตอบโจทย์คือความขยันและความมีระเบียบวินัยในตนเอง ซึ่งไม่แปลกที่เราต้องมีความขยันให้มากขึ้นเมื่อต้องอดทนและต้องไปให้ได้กับวิชากฎหมาย ตอนนี้ก็เป็นทัศนคติความเชื่อใหม่แล้วว่า ผู้เอาตัวรอดได้ในคณะนี้คือ คนขยันจริง ๆ สิ่งนี้ทำให้รู้ว่าสุภาษิตไทยใช้ได้จริง ที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน คือมาใช้กับคณะนิติ มธ.ได้ตอบโจทย์และปราศจากข้อสงสัยจริง ๆ”
“ส่วนสำหรับวิชาน.230 เอกเทศสัญญา 1 คือเพิ่งเคยเรียนกับท่านอาจารย์ที่สอนวิชานี้ครั้งแรก ประกอบกับเนื้อหาเฉพาะมากและยากมาก”
“คือจริง ๆ คิด ว่าการสอบตกของคณะนิติ มธ. สาเหตุหนึ่งคงมาจากความขี้เกียจ หากผู้เรียนคิดว่าได้ทำเต็มที่แล้ว แต่บางทีมันอาจยังไม่พอ เพราะถ้าพอจริง ๆ การสอบก็ควรผ่านเกณฑ์ แต่ทั้งนี้อาจมาในหลากหลายสาเหตุที่ต่างกัน แต่เชื่อเถอะว่า ขยันอ่านหนังสือเป็นชัยไปกว่าเกินครึ่งของนักกฎหมาย”
คำถาม (3) : สำหรับวิชาที่สอบไม่ผ่าน ใช้วิธีการอย่างไรจึงสอบผ่าน
คำตอบ : “อย่างวิชา น.101 ที่สอบไม่ผ่าน ก็ได้สอบผ่านด้วยวิธีการลงทะเบียนเรียนใหม่ เนื่องจากว่าเคยลงทะเบียนสอบแก้ตัวแล้ว แต่ก็ไม่ผ่านอีก โดยวิเคราะห์ด้วยตนเองว่า เราอาจยังเขียนตอบกฎหมายได้ไม่ดีพอ คือเราไม่เข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ และเรายังเขียนตอบกฎหมายไม่ถูกใจหรือไม่เข้ากับอาจารย์ผู้ตรวจ”
“ซึ่งการลงทะเบียนเรียนใหม่ในวิชาเดิม แต่เปลี่ยน section ก็ทำให้ตัวเองสอบผ่านด้วยคะแนนที่ค่อนข้างพอใจเนื่องจากว่าการสอบตกทำให้ตัวเองขยันมากขึ้นและตั้งใจอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ อีกทั้งรู้จักปรับตัวให้เข้ากับคณะ รวมถึงกับว่าอาจารย์ผู้สอนมีวิธีการสอนที่สอนสนุกและน่าสนใจ เป็นการสอนที่มีสไตล์การสอนที่เข้าใจเนื้อหาจากเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ผู้เรียนจึงมี passion ในการเข้าเรียนอย่างมาก ดังนั้นผู้เรียนจึงเข้าใจเนื้อวิชาดีขึ้น โดยวิธีการเรียนใหม่ครั้งนี้ ก็ศึกษาข้อผิดพลาดของตนเองก่อน แล้วจึงนำมาปรับปรุงแก้ไข อย่างตัวเอง คือต้องเข้าเรียน หากมีเหตุจำเป็นที่ทำให้ต้องลาก็ต้องตามเลคเชอร์จากเพื่อน ต้องฝึกเขียน ฝึกทำโจทย์ให้มาก ๆ และต้องแบ่งเวลาให้ดี”
“สำหรับวิชาเอกเทศสัญญา 1 อย่างที่บอกเนื้อหาเฉพาะมากและยากมาก จึงต้องสร้างความมุ่งมั่นและเข้าใจเนื้อหาให้ได้มากกว่าเดิมเพื่อต้องผ่านรอบสอบแก้ตัว”
คำถามสุดท้าย : อยากฝากถึงอะไรเพื่อน ๆ หรือรุ่นน้องคณะนิติศาสตร์บ้าง
คำตอบ : “ขอฝากคติสำหรับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ไว้ว่า ท้อได้แต่อย่าถอย เพราะนักกฎหมายที่ดีคือต้องขยัน อดทน และยุติธรรม หากน้อง ๆ ที่สอบไม่ผ่าน ก็หาข้อผิดพลาดของตนเองให้ได้ แล้วนำมาแก้ไข ส่วนน้อง ๆ ที่สอบผ่านแล้ว ก็ขอให้รักษามาตรฐานของตนเองไว้และต่อยอดยิ่ง ๆ ขึ้นไป น้อง ๆ พึงตระหนักไว้เสมอว่า ทุกอย่างที่เข้ามาให้เราเรียนรู้ในชีวิต คือธรรมชาติของชีวิต โดยอย่าประมาท เป็นกำลังใจให้เสมอ ในเมื่อมีคนเคยทำได้ เราก็ต้องทำได้เช่นกัน เพราะเราเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกัน พึงตระหนักไว้ว่าตั้งใจเพื่อเป้าหมาย”
ภาพประกอบ Chn.
เรียบเรียง KK