ภัทรวดี ศรีวิชัย (เฟิร์น) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคปกติ ศูนย์ลำปาง รหัส 60 คือผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชาวิชา น.280 ระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดี ศูนย์ลำปาง บรรยายโดย ศ.(พิเศษ) ดร.วรรณชัย บุญบํารุง ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อ.สุทธิศักดิ์ สุขบุญพันธ สัมมนาโดย อ.พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ โดยได้คะแนนสอบ 85 คะแนน วันนี้เราจะพาคุณไปพูดคุยกับภัทรวดีเกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาดังกล่าว
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชานี้
ภัทรวดี : “คือส่วนตัวรู้สึกว่าวิชาระบบศาลเป็นวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หลักเกณฑ์ความเป็นมาเกี่ยวกับการจัดตั้งศาล เขตอำนาจศาล รวมถึงอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาค่ะ ส่วนตัวก็เลยมองว่าตัววิชานี้มันจะเป็นรากฐานไปสู่การเรียนวิชาวิอาญา วิแพ่ง หรือแม้กระทั้งวิบริโภคค่ะ และก็ได้อีกแง่หนึ่งคือ วิชาระบบศาลเหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ซึ่งบางคนก็อาจจะอยากประกอบอาชีพผู้พิพากษาอยู่แล้ว บางคนกำลังค้นหาเส้นทางของตัวเองได้มีโอกาสได้เห็นมุมมองของการทำงานหรือแบบรู้ถึงโครงสร้างหรือภาพรวมของศาลเพราะว่าตัวผู้บรรยายเองก็จะมีอาจารย์ประจำสามคนแล้วก็จะมีผู้พิพากษามาช่วยบรรยายด้วยค่ะ”
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ภัทรวดี : “อาจารย์กิตติพงษ์ จะสอนเกี่ยวกับการจัดตั้งแล้วก็หลักการพื้นฐานในศาลปกครองค่ะ ตัวพาร์ทนี้ก็จะออกเป็นตัวข้อสอบบรรยายค่ะ จะถามเกี่ยวกับระบบไต่สวนและระบบกล่าวหาค่ะ สไตล์การสอนของอาจารย์กิตติพงษ์อาจารย์จะมีชีทอยู่ให้แล้วค่ะ แล้วก็ เวลาบรรยายส่วนใหญ่ก็จะเป็นไปในลักษณะที่ว่าอาจารย์จะบรรยายตามชีทและก็จะมีการยกตัวอย่างการเมืองให้เราวิเคราะห์แล้วก็เปิดวิดีโอเล่าประวัติศาสตร์เพิ่มเติมค่ะ”
“แล้วก็ท่านที่สองเป็นอาจารย์วรรณชัยค่ะ ก็จะสอนเกี่ยวกับหลักนิติรัฐ หลักธรรมาภิบาลเป็นหลักพื้นฐานที่ใช้ในทุก ๆ ศาล ส่นนี้ก็จะเป็นสไตล์การบรรยายโดยมีการยกตัวอย่างจากต่างประเทศมาเพื่อประกอบเปรียบเทียบกับของไทยเราค่ะ”
“ส่วนของอาจารย์พวงรัตน์ท่านเป็นอาจารย์สัมมนาก็จะเป็นการสรุปเนื้อหาของทั้ง 2 ท่าน พาร์ทแรกไปก่อน”
“ส่วนคนสุดท้ายก็คืออาจารย์สุทธิศักดิ์ อาจารย์เป็นผู้พิพากษา ตัวข้อสอบจะออกเป็นตุ๊กตาทั้งสองข้อค่ะก็จะไม่ค่อยแตะภาคบรรยายก็จะแบ่งชัดเจนว่าจะมีบรรยายกี่ข้อหรืออุทาหรณ์กี่ข้อค่ะ สไตล์การสอนจะค่อนข้างแตกต่างจากสามท่านก่อนหน้านี้ คืออาจารย์ไม่มีชีท ไม่มีสไลด์ การสอนจะเป็นในลักษณะของการเปิดตัวบทให้ดูแล้วจะอธิบายคำในตัวบทแล้วให้เราจดบันทึกลงไปตัวนี้ก็จะอาจจะมีความแตกต่างในแง่ที่ว่าเวลาเราหลุดโฟกัส เราก็จะตามไม่ค่อยทันค่ะ การบรรยายจะไปเร็ว ส่วนใหญ่การเรียนกับอาจารย์สุทธิศักดิ์ก็เน้นการถอดเทปเป็นหลักค่ะ”
คำถาม (3) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
ภัทรวดี : “สัมมนาเป็นการสรุป ในส่วนตัวไม่ค่อยได้ส่งสัมมนาเพราะว่าโดยการเรียนในวิชานี้มุ่งไปที่การทำเลคเชอร์เป็นหลักเพราะว่าตัววิชานี้ผู้บรรยายสองคนแรก และอาจารย์สัมมนามีเนื้อหาน้อยกว่า แล้วอาจารย์ก็จะมีชีทให้ ตรงนี้เลยไม่ค่อยเป็นปัญหา แต่ว่าในพาร์ทของอาจารย์ส่วนสุทธิศักดิ์ซึ่งกินเนื้อหาพอสมควรของวิชานี้ค่ะ อาจารย์ไม่มีชีทให้ก็ต้องอาศัยการทำเลคเชอร์แล้วก็อาศัยการเอาตัวบทมาสรุปเป็นสาระสำคัญสั้น ๆ เป็นถ้อยคำของเราให้เราจำได้ค่ะ”
คำถาม (4) : ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
ภัทรวดี : “ข้อสอบเป็นบรรยาย 2 ข้อ แล้วก็บรรยายกึ่งอุทาหรณ์ 1 ข้อ และก็อีกสองข้อเป็นอุทาหรณ์ล้วนค่ะ ข้อแรกได้ 17 ข้อสองได้ 18 ข้อสาม 15 ข้อสี่ 16 แล้วก็ข้อสุดท้าย 19 ค่ะ”
“ที่ได้คะแนนดี ก็น่าจะต้องแยกเป็นพาร์ทบรรยายกับอุทาหรณ์ค่ะ พาร์ทบรรยายที่คิดว่าน่าจะได้คะแนนดีก็เพราะว่าอาจจะเป็นการจัดลำดับเรียบเรียงที่จะถ่ายทอดออกมาค่ะ และก็การยกตัวอย่างเพื่อที่จะให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นค่ะ ส่วนในพาร์ทอุทาหรณ์ก็น่าจะเป็นการมุ่งเน้นไปที่การมองประเด็นค่ะ ว่ามองประเด็นและสามารถตอบได้ครบทุกประเด็นค่ะ ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้คะแนนดีค่ะ”
“สำหรับเทคนิคการเรียน หนูเป็นคนที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการเข้าฟังบรรยายเพราะ เพราะคิดว่าคนที่ตรวจและให้คะแนนเราก็คือคนเดียวกับคนที่เข้ามานั่งสอนเรา เข้ามานั่งบรรยายให้เราฟัง เลยจะเน้นการเข้าฟังบรรยายเป็นหลักค่ะ ถ้าอย่างคาบไหนที่ติดธุระ หรือแบบว่าหนูหลุดโฟกัสไปเองนี้ก็จะต้องอาศัยการตามถอดเทปค่ะ แต่ว่าการถอดเทปจะมีข้อจำกัดในแง่ที่ว่าเราไม่เห็นสไลด์หรือเห็นสิ่งที่อาจารย์เขียนเพิ่มเติมค่ะ นอกจากชีทที่แจกค่ะ อย่างในกรณีของอาจารย์สุทธิศักดิ์เราไม่เห็นอะไรเลย ต้องใช้จิตนาการพอสมควร”
คำถาม (5) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
ภัทรวดี : “วิชานี้ไม่มีกลางภาค ส่วนตัวมองว่าการมีกลางภาคก็คือการช่วยแบ่งบาภาระในการอ่านหรือในเรื่องเน้อหาพอสมควรค่ะ แต่ว่าในอีกมุมหนึ่งส่วนหนึ่งบางวิชาที่ค่อนข้างมีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด การสอบกลางภาคอาจจะไม่เหมาะกับตัววิชานั้น ๆ ค่ะ”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) “ส่วนตัวหนูคิดว่า โดย Nature ของวิชามันต่างกันค่ะ แล้วอย่างเช่นลักษณะการใช้คำของแต่ละสาขาวิชามันก็แตกต่างกันค่ะ อย่างตัววิชานี้ข้อที่เป็นอุปสรรคเลยก็คือ ตัวบทมันค่อนข้างยาวมีชื่อตำแหน่ง ชื่อศาล ซึ่งถ้าบางคนไม่ได้เข้าไปฟังในห้องจะทำให้การอ่านการโฟกัสตัวบทจะค่อนข้างคลาดเคลื่อนหรือจะไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยทั้งหมดค่ะ แล้วก็อีกอย่างหนึ่งคือ ในความรู้สึกหนูคือตัวระบบศาลมันเป็นวิชาที่จะนำไปสู่วิธีพิจารณาความอื่น ๆ ด้วยตัววิชามันจะไม่ใช่เป็นสารบัญญัติเหมือนที่เราเคยเจอมา และด้วยมันเป็นตัวแรกที่เราเจอกฎหมายกฎหมายที่แปลกไปจากตรงนี้มันทำให้เราทำความเข้าใจถ้อยคำสำนวนค่อนข้างจะมีปัญหา ตรงนี้ก็อาจจะมีผลทำให้หลาย ๆ คน คือ เค้ามีความรู้แต่ไม่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่มันแตกต่างไปจากสิ่งที่เราคุ้นชินได้ค่ะ”
คำถาม (6) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
ภัทรวดี : “ก็อย่างแรกแนะนำให้เข้าเรียนค่ะ แต่ถ้าเกิดว่าเข้าเรียนไม่ทันหรือว่าต้องการความเม่นยำให้ถอดเทปเพราะว่าอย่างเช่นในกรณีของอาจารย์สุทธิศักดิ์จะมีการใช้คำศัพท์ธรรมดามาแทนที่คำในตัวบทกฎหมาย อย่างเช่น คำว่า “ผู้พิพากษาประจำศาล” อาจารย์ก็จะใช้คำว่า “คุณหนุ่ม” “ผู้พิพากษาอาวุโส” ก็จะใช้คำว่า “คุณแก่” ซึ่งตรงนี้ก็จะช่วยให้การจัดระบบความคิดของเรานั้นดีขึ้นค่ะ”
“แล้วก็อีกส่วนหนึ่งที่อยากแนะนำให้ทำคือ การทำเลคเชอร์ค่ะเพราะว่าไม่ว่าจะเป็นทั้งพาร์ทบรรยายหรืออุทาหรณ์ การทำเลคเชอร์นั้นมันทำให้เราได้ฝึกการเขียนไปในตัวทำให้เวลาเราไปเจอข้อสอบจริงด้วยความที่ตัวมันกำลังจะนำไปสู่กฎหมายวิธีพิจารณาความค่ะ หนูก็เลยรู้สึกว่าเราคุ้นกับการเขียนคุ้นกับสำนวนตรงนั้นมากกว่า แล้วก็อีกอย่างในการทำเลคเชอร์น่าจะต้องแบ่ง 2 พาร์ท ก็คือ พาร์ทบรรยาย กับพาร์ทอุทาหรณ์ พาร์ทอุทาหรณ์จะให้ความสำคัญกับการมองประเด็นเป็นหลักค่ะ เพราะว่าการมองประเด็นจะช่วยกำหนดทิศทางในการเขียน ย่อหน้าได้ ส่วนใน Part บรรยายหนูจะเน้นในส่วนของการรวบรวมชีทและศึกษาจาก Out line ไปก่อนค่ะ มันมีตัวไหนไหมอาจารย์ในคาบเขาติดเป็นพิเศษ ประมาณนี้ค่ะ แล้วก็นำสิ่งเหล่านี้มาเรียบเรียง”
หมายเหตุ วิชา น.280 ระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดี ของหลักสูตรเดิม ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของวิชา น.280 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561
ถ่ายภาพ KK
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK