สุกฤษฏิ์ พิไสย (โอ๊ต) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคปกติ ศูนย์ลำปาง รหัส 60 คือผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชา น.251 กฎหมายรัฐธรรมนูญ ศูนย์ลำปาง บรรยายโดย รศ.ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ โดยได้คะแนนสอบ 93 คะแนน วันนี้เราจะพาคุณไปพูดคุยกับสุกฤษฏิ์เกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาดังกล่าว
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชานี้
สุกฤษฏิ์ : “รู้สึกว่าเป็นวิชาที่ยิ่งใหญ่ เพราะว่าเป็นวิชาที่ว่าด้วยอำนาจอย่างนี้ครับ เป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่องสำคัญ ๆ ของประเทศครับ ซึ่งจะได้เรียนเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานที่เข้ามาเกี่ยวโยงกับอำนาจ เช่น หลักการนิติรัฐ หลักการแบ่งแยกอำนาจอย่างนี้ครับ และนำไปสู่การจัดองค์กรของรัฐให้เป็นระบบ และมีการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐซึ่งกันและกัน และรวมไปถึงบทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ครับ”
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
สุกฤษฏิ์ : “วิชานี้อาจารย์นิรมัย (รศ.ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร) กับอาจารย์กิตติพงศ์ (ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์) สอนสองคนครับ ”
“แบ่งเนื้อหาก็คืออาจารย์กิตติพงศ์จะสอนช่วงแรกเป็นเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานทั่วไปของวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้วก็อาจารย์นิรมัยจะมาลงลึกเกี่ยวกับตัวบทของกฎหมายรัฐธรรมนูญ แบ่งการวัดผลคือ 50 คะแนนเท่ากัน”
“สไตล์สอนของแต่ละท่านก็คือ ของอาจารย์นิรมัยก็คือจะเน้นอธิบายให้เข้าใจ ให้เห็นภาพว่าตรงนี้อยู่ตำแหน่งแห่งที่ตรงไหน เชื่อมโยงกันอย่างไร ที่ชอบก็คือ อาจารย์จะมีชาร์ตลำดับข้อมูลให้อย่างนี้ครับ บางทีกฎหมายมันอาจจะงง ๆ อย่างนี้นะครับ แต่อาจารย์ก็ทำเป็นชาร์ตว่าขั้นตอนมันเป็นยังไง เช่น แบบของ ป.ป.ช. ถ้ามีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นแล้วอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. อย่างนี้นะครับ อาจารย์ก็บอกว่าตรงนี้ก็จะไปที่ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างนี้ครับ อาจารย์ก็จะมีชาร์ตสรุปให้ทำให้เข้าใจได้ดีขึ้น
“อาจารย์กิตติพงศ์ก็เน้นเป็นบรรยายก็คือจะเน้นอธิบายความสัมพันธ์ให้เห็นแล้วก็เชื่อมโยงเข้ากันอย่างเป็นระบบ”
คำถาม (3) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
สุกฤษฏิ์ : “วิชานี้ไม่มีสัมมนาครับ”
คำถาม (4) : ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
สุกฤษฏิ์ : “ในส่วนของอาจารย์กิตติพงศ์ ก็จะมี 3 ข้อ ข้อแรกได้ 13 เต็ม 15 ครับ ข้อสองได้ 13 เต็ม 15 ข้อสามได้ 17 เต็ม 20 ครับ ส่วนของอาจารย์นิรมัยมี 2 ข้อ ข้อสี่ 20 คะแนนและข้อห้า 30 คะแนนเต็มทั้งสองครับ ”
(คิดว่าเพราะอะไรถึงได้คะแนนของอาจารย์นิรมัยเต็มทั้ง 50 คะแนน?) “ที่ได้คะแนนเต็มของอาจารย์นิรมัยทั้ง 50 คะแนน ก็คืออาจารย์จะเน้นเสมอว่าจะต้องจดจำและเข้าใจในรายละเอียดของเนื้อหาให้ได้อย่างนี้นะครับ ”
“เทคนิคในการเรียนก็คือเน้นเข้าเรียนครับ ตั้งใจเรียน เพราะว่าอาจารย์ท่านก็ย้ำเสมอว่าจะต้องจดจำและเข้าใจรายละเอียดให้ได้อย่างนี้นะครับ ครับก็คือต้องเข้าเรียนครับ แล้วก็พอเข้าเรียนก็สามารถทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้นนะครับ พอเข้าใจมันก็เข้าใจแล้วก็เข้าใจไปเลยอย่างนี้ครับ แล้วก็เน้นวิธีการจดเลคเชอร์ในคาบครับ แล้วก็ส่วนที่ไม่เข้าใจก็เข้าไปสอบถามอาจารย์ครับ”
“ในส่วนของเทคนิคการเตรียมตัวสอบก็คือว่าอ่านชีททบทวนครับ ตอนนั้นก็จำได้ว่าอ่านชีทประมาณห้ารอบครับก็คืออ่านเพื่อให้จดจำและเข้าใจเนื้อหาจริง ๆ ของอาจารย์ที่สอนมาอย่างนี้นะครับ แล้วก็ที่สำคัญคือการติวให้เพื่อนครับ ทำให้เราได้จัดเรียบเรียงข้อมูลและถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นระบบ ช่วยให้เราสามารถเขียนและถ่ายทอดออกมาได้ดีขึ้นครับ”
คำถาม (5) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
สุกฤษฏิ์ : “วิชานี้สอบปลายภาคอย่างเดียว 100 คะแนน ส่วนสำหรับวิชาที่มีกลางภาค ก็รู้สึกไม่กดดันครับ เหมือนได้แบ่งเนื้อหาสอบปลายภาคมาสอบตอนกลางภาคไปแล้วก็รู้สึกว่าตรงนั้นก็ทิ้งไปได้เลยแล้วก็ไปเอาใหม่ตอนปลายภาคอย่างนี้นะครับ มันจะได้โล่ง ๆ ครับ”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) “แล้วแต่ลักษณะวิชาครับ ถ้าส่วนที่เป็นตัวบทอย่างนี้นะครับ เราก็จะได้เน้นในทางทฤษฎีมากขึ้นอย่างนี้นะครับ แต่ถ้าส่วนที่ไม่มีตัวบทก็จะได้ท่องจำกฎหมายได้ดีขึ้นอย่างนี้นะครับ”
คำถาม (6) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
สุกฤษฏิ์ : “ก็คือแนะนำให้เข้าเรียนครับ ตั้งใจฟังคำบรรยาย จดจำและเข้าใจรายละเอียดของเนื้อหาที่เรียนครับ แล้วก็เทคนิคที่สำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ อาจจะไม่ใช่เฉพาะวิชานี้นะครับ ซึ่งก็ได้จากท่านอาจารย์นิรมัยเหมือนกันก็คือว่า สมัยที่ท่านอาจารย์เรียนอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสอาจารย์เขียน Thesis อย่างน้อยวันละ 1 หน้า พอเขียนเสร็จแล้วหลังจากนั้นเราจะไปทำอะไรก็ได้ซึ่งสามารถทำให้อาจารย์จบได้เร็ว 2 ปีครึ่งอย่างนี้นะครับ แล้วอาจารย์ก็เลยเอามาสอนให้ประยุกต์ใช้กับการอ่านหนังสือก็คืออ่านหนังสือทุกวันอย่างน้อยวันละ 10 หน้า ก็คืออันนั้นสมัยปี 1 ครับที่อาจารย์สอน แต่ตอนนี้ถ้าขึ้นปีสูง ๆ ก็อย่างน้อยวันละ 40 หน้าครับ”
“ก็คือทำทุกวันมันก็จะสะสมไปเรื่อย ๆ อย่างนี้นะครับ เป็นการฝึกวินัยในการอ่านหนังสือแล้วก็มีความรู้พร้อมสอบแล้วก็ทำให้ประสบความสำเร็จครับ”
ถ่ายภาพ KK
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK