ชนาธิป ชมดวง (ฟิน) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคปกติ ศูนย์ลำปาง รหัส 60 คือผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชา น.231 เอกเทศสัญญา 2 ศูนย์ลำปาง บรรยายโดย ศ.ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ และอ.จุมพล แดงสกุล โดยได้คะแนนสอบ 92 คะแนน วันนี้เราจะพาคุณไปพูดคุยกับชนาธิปเกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาดังกล่าว
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชานี้
ชนาธิป : “สำหรับวิชานี้นะครับ ผมว่ามันเป็นวิชาที่เป็นสัญญาต่าง ๆ ที่เราใช้มันอยู่ในชีวิตประจำวันจึงมีความจำเป็นมากที่ควรรู้และศึกษาเอาไว้ติดตัวครับ และแต่ละสัญญามันก็มีลักษณะที่เฉพาะด้วย คือมันก็ต้องใช้ความเข้าใจแบบเป็นเรื่อง ๆ ไป ก็รู้สึกว่าเป็นวิชาที่ค่อนข้างใกล้ตัว คือผมเชื่อว่าทุกคนที่สนใจวิชาแพ่งและพาณิชย์เขาก็มักจะสนใจกฎหมายทั้งเอกเทศสัญญา 1 และเอกเทศสัญญา 2 ไปด้วยเช่นเดียวกับผมครับ”
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ชนาธิป : “มีอาจารย์สองท่านที่สอนครับ ตอนนั้นเป็นอาจารย์จุมพลแล้วก็อาจารย์นนทวัชร์ครับ คือเขาแบ่งเนื้อหากันอยู่ครับ อาจารย์นนทวัชร์เนี่ยจะมาสอนเรื่องตัวแทนนายหน้า เป็นแค่ส่วนหลัง ๆ อะครับ เท่าที่ผมจำได้ ส่วนอาจารย์จุมพลจะดูแลเอกเทศสัญญาส่วนต้น ๆ ครับ”
“สไตล์การสอนนี้ถ้าเป็นอาจารย์จุมพลนี่เขาก็ค่อนข้างที่จะแบบแทรกเนื้อหาแล้วก็ยกตัวอย่างบางเรื่องให้เราเข้าใจอะครับ ท่านเป็นผู้สอนที่เข้าใจนักศึกษาเป็นอย่างดีท่านเลยอธิบายเรื่องยากให้ง่ายได้ แล้วท่านก็แนะนำให้อ่านหนังสือครับ คือตอนนั้นผมซื้อตามท่านมา เป็นหนังสือของอาจารย์นนทวัชร์ทั้งหมดเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝากทรัพย์ ยืม อะไรอย่างนี้ครับ ก็เลยค่อนข้างเข้าใจเนื้อหา เพราะว่าหนังสืออาจารย์นนทวัชร์เขียนได้ดีมากเลยครับ”
“ส่วนอาจารย์นนทวัชร์เนี่ยก็ชีทท่านจะละเอียดมากเลยครับ อ่านแล้วเข้าใจมากครับ แต่ก็ต้องเข้าห้องเรียนทั้งคู่ เพราะท่านเป็นคนที่สอนไปเน้นหลักเกณฑ์ของแต่ละเอกเทศสัญญาไปด้วย แล้วเรายังไปอ่านเสริมในหนังสือได้ครับ ในนั้นมีตัวอย่างฎีกา และมีความเห็นทางวิชาการมากมายเลยครับ เป็นตำราที่เขียนได้ละเอียดเหมือนการสอนของท่านเลยครับ”
คำถาม (3) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
ชนาธิป : “จริง ๆ แล้วสัมมนาจะเป็นหน้าที่หลักของอาจารย์จุมพลครับ แต่ว่าอาจารย์นนทวัชร์ อาจารย์ก็รีบสอนให้จบก่อนแล้วก็คาบสุดท้ายอาจารย์ก็พยายามให้ทำการบ้านมา แล้วแกก็มาเฉลยในห้องอะไรแบบนี้ครับ การบ้านสัมมนาผมส่งไปทางอีเมลของอาจารย์จุมพลครับ”
“การฝึกเขียนสัมมนา ผมว่าจำเป็นมากครับ เพราะว่าตอนนิติกรรมผมก็ได้คะแนนสูงสุดอะครับ ตอนที่ผมอยู่ปีหนึ่ง ผมก็ส่งการบ้านเยอะ จนอาจารย์จุมพลเขาบอกว่าแบบเหมือนคุณเขียนจดหมายมาคุยกับผมเลย เพราะผมถ่ายส่งแบบวันละข้อครับตั้งเป็นกฎเหล็กของตัวเอง แต่ก็มีที่ไม่ส่งไปบ้างครับเพราะเกรงใจท่านอยู่เหมือนกัน สรุปแล้วก็ส่งไปไปประมาณ 10-20 กว่าข้อครับ แต่ถ้ารวมที่ไม่ได้ส่งด้วยก็เยอะอยู่ครับ”
คำถาม (4) : ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
ชนาธิป : “ได้ 19 17 19 19 18 ครับ ตัวแทนนายหน้าจะไปอยู่ข้อ 1 ข้อ 2 อาจารย์นนทวัชร์วัดผล 40 คะแนนครับ ที่เหลือเป็นของอาจารย์จุมพล 60 คะแนน และตอนนั้นมันก็ไม่มีกลางภาคด้วยอะครับ ก็เลยแบบต้องเตรียมตัวเยอะอยู่ยิ่งไม่มีตัวบทในห้องสอบด้วย”
คำถาม (5) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
ชนาธิป : “ในความเห็นผมนะครับ ถ้าให้เทียบแต่ละวิชาเนี่ย เมื่อวานผมก็ได้มีโอกาสได้เรียนมรดกอะครับ อาจารย์ไพโรจน์เขาก็บอกว่าจริง ๆ กลางภาค เขาจะต้องสอนเนื้อหาทั้งหมดที่จะออกเป็นข้อสอบได้แต่ว่าของเขาก็เน้นว่าถ้าเกิดสอนไปหมดแล้วมาออกกลางภาค ส่วนที่ออกกลางภาคแล้ว ปลายภาคมันจะถูกตัดไปครับ ซึ่งบางวิชามันทำแบบนั้นลำบาก แล้วผมก็มองว่าในมุมมองของผม ถ้าสอบกลางภาค ถ้าสอบแบบ 20 คะแนน 1 ข้อ ผมคิดว่านำไปรวมกับส่วนปลายภาคเลยก็ได้ครับ เพราะว่าอาจารย์บางท่านเขากลัวว่าเขาจะให้คะแนนเด็กไม่ดีด้วยครับ และเขายังบอกอีกว่าถ้าเกิดเราวัดผล 40 คะแนนเราอาจจะทำเด็กตกเยอะ”
“ในมุมมองผมเอาจริงๆคือแล้วแต่วิชาครับ อย่างที่ผมประสบพบเจอมาเลยก็คือวิแพ่งอย่างนี้ครับ มหาวิทยาลัยอื่นเขาแบ่งเป็นสองภาค แต่พอมหาวิทยาลัยของเรารวมกันอย่างนี้เราก็ควรจะมีกลางภาคอะไรทำนองนี้ครับ ผมแค่อยากให้คงเอกลักษณ์การวัดผลแบบเดิมครับ”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) “ ในความคิดเห็นของผมนะครับ มันช่วยอะไรไหม ต้องเอาความเป็นเราเป็นหลัก ถ้าเราเป็นคนความจำดี ตัวบทที่ให้มาอาจจะไม่ได้สำคัญ เพราะว่าเราอาจจะใช้เวลาในการจำมันได้ แต่ว่าถ้าเกิดเราเป็นคนแบบเขียนดีมาก แต่ความจำไม่ดีตัวบทก็สำคัญครับ แล้วก็ถามว่ามันแตกต่างกันยังไง ผมมองว่าตัวบทกฎหมายที่ให้มามันก็ไม่มีหลักกฎหมายหรือเจตนารมณ์ของมันมาด้วย คืออย่างที่เราเรียนกันมันเป็นหลักที่ว่ามันแทรกซึมอยู่ในกฎหมายครับ ยกตัวอย่างเช่น แบบเรื่องฝากทรัพย์อย่างนี้ครับ มันก็จะไม่มีหลักไว้เนื้อเชื่อใจที่ต้องรักษาทรัพย์ในอารักขาแห่งตนในตัวบทอะครับ เราก็ต้องจำอยู่ดี มันต้องพร้อมที่สุดไม่ว่าอาจารย์จะให้ตัวบทหรือว่าไม่ให้อะครับ แต่ถ้าให้มาก็จะดีกว่าอยู่แล้วเพราะช่วยประหยัดเวลาในการจำได้ครับไม่มากก็น้อยแล้วแต่ตัวเราที่เป็นหลักอย่างที่บอกครับ”
คำถาม (6) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
ชนาธิป : “ผมอยากจะให้เขาว่าค้นหาตัวเองให้เจอครับว่าเราชอบมุมมองไหน เราใช้ชีวิตแบบไหนในมหาวิทยาลัย ดูว่าเราอ่านหนังสือเวลาไหนได้ดีที่สุด แต่ถ้าทำตัวเหมือนปีหนึ่งอะครับ คือผมบอกเลยว่ายิ่งอยู่ปีสองปีสามอะ วิชามันเยอะแล้วมันยากขึ้นครับ เราควรแบบจัดการให้มันดีกว่านี้ครับ ควรรู้จักแบ่งว่าส่วนที่ต้องอ่าน คืออย่างผมเนี่ยผมใช้วิธีอาจารย์สมยศครับ ก็คือว่า ท่านบอกว่าให้นั่งที่โต๊ะแล้วบอกว่าถ้าอ่านไม่ถึงร้อยหน้า ข้าพเจ้าจะไม่ลุกออกจากโต๊ะ ผมก็ทำอย่างนั้นมาตลอด ที่สำคัญฝึกเขียนให้เยอะที่สุดครับ การเขียนคือการสั่งการของสมอง ยิ่งเขียนมากยิ่งจำได้มากครับ และที่สำคัญที่สุดเลยคือความกล้าที่จะเดินไปถามอาจารย์ครับมันเป็นสิ่งที่ผมทำมันมาตลอด มันไม่มีหรอกครับอาจารย์สอนร้อยเรารับได้ทั้งร้อย คนที่เข้าห้องจะรู้ดีว่าเราจะหลุดบ้างบางที ก็เดินไปขอให้อาจารย์เขาอธิบายอีกทีเลย หรือว่าเข้าใจอะไรมาอีกแบบก็เดินไปถามเลยครับ มันดีจริง ๆ วิธีแบบนี้”
หมายเหตุ วิชา น.231 เอกเทศสัญญา 2 ของหลักสูตรเดิม ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของวิชา น.230 กฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ 1 (เฉพาะเนื้อหาส่วน จ้างทำของ ตัวแทน นายหน้า) ในหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561
ถ่ายภาพ KK
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK