คานน เที่ยงตรง (ดิว) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคปกติ ศูนย์ลำปาง รหัส 60 คือผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชา น.232 กฎหมายประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ ศูนย์ลำปาง บรรยายโดย รศ.ดร.ณภัทร สรอัฑฒ์ โดยได้คะแนนสอบ 99 คะแนน วันนี้เราจะพาคุณไปพูดคุยกับคานนเกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาดังกล่าว
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชานี้
คานน : “ก่อนอื่นก็ต้องขอออกตัวก่อนว่าผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือครับ แต่คณะนี้ไม่ค่อยมีเวลาให้ผมไปอ่านหนังสือที่ผมอยากอ่าน (หัวเราะ) ในขณะที่ปิดภาคการศึกษา ภาค 1 ของปี 2561 ผมได้มีเวลาไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “THE RICHEST MAN IN THE BABYLON เศรษฐีชี้ทางรวย” ในตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้เขาพูดถึง หลักการประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ซึ่งเกี่ยวกับเนื้อหาของวิชานี้พอดี ก็เลยเกิดความสนใจขึ้นในเนื้อหาของวิชาก็บรรยายถึงสภาพการเงินของบุคคลที่มีสภาพการเงินที่ไม่คล่องตัวเลยต้องเอาตัวบุคคลหรือทรัพย์สินของคนนั้นเองหรือของบุคคลอื่นไปค้ำประกันเพื่อให้มีเครดิตที่จะขอกู้จากเจ้าหนี้ได้ครับ คือสนใจมาตั้งแต่ก่อนเรียน”
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
คานน : “อาจารย์ท่านสอนตามเค้าโครงที่แจกให้นักศึกษาครับและแนะนำให้นักศึกษาไปค้นคว้าเพิ่มเติมก่อนเข้าเรียนคาบต่อไปเหมือนทำการบ้านครับ ในชั่วโมงบรรยายอาจารย์ณภัทรจะยกตัวอย่างแปลก ๆ ประกอบกับหัวข้อที่สอน หรือไม่ก็โยนคำถามให้นักศึกษาคิดครับ ว่า สิ่งที่อาจารย์สอนเนี่ยสอนถูกหรือเปล่า หรือคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เป็นต้น การโยนคำถามให้คิดทำให้เกิดกระบวนการคิดต่อยอดครับ คือ เป็นการเปิดอิสระทางความคิดบนพื้นฐานที่ถูกต้อง ครับ ว่า มีโอกาสที่จะเป็นไปในทางอื่นได้หรือเปล่า ถ้ามันไม่ใช่ เหตุผลเป็นเพราะอะไร อะไรทำนองนี้ครับ อีกอย่างนึงนะครับ กฎหมายค้ำประกันเพิ่งแก้เมื่อปี 57-58 ด้วย อาจารย์ก็เลยสอนเปรียบเทียบไปด้วยครับ”
คำถาม (3) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
คานน : “วิชานี้ไม่มีสัมมนาครับ”
คำถาม (4) : ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
คานน :“การสอบแบ่งเป็นกลางภาค 20 ได้ 20 เต็ม ส่วนปลายภาค 80 ได้เต็มทุกข้อ ยกเว้นข้อที่ 2 ได้ 19 ครับ”
“ต้องเล่าว่า ก่อนหน้านี้ผมเขียนได้แย่มากครับ ทั้งวิชาบรรยายและอุทาหรณ์ด้วยครับ ตั้งแต่ปีหนึ่งเลย ตอนเข้าเรียนได้ใหม่ ๆ ผมเขียนตอบได้คะแนนน้อยมากและแย่มากเลยครับ ก็เลยเพิ่งมาพิจารณาตัวเองก็เทอม ปี 2 เทอม 2 นี่แหละครับ ตอนนั้นเลยเกิดแรงบันดาลใจว่า เออ…มันควรจะเปลี่ยนได้แล้วนะ เพราะว่าเรียบแบบนี้คะแนนมันจะยิ่งได้น้อยลงเรื่อย ๆ ประกอบกับผมคิดมาโดยตลอดว่า ในห้องเรียนก็ตอบได้ ทำข้อสอบเก่าก็ทำได้ แต่ทำไมหลังประกาศผลสอบออกมา คะแนนแย่มากเลย ก็เลยไปหาอ่านหนังสือเขียนตอบของอาจารย์มานิตย์ จุมปา ของอาจารย์มุนินทร์ พงศาปาน ของอาจารย์กำชัย จงจักรพันธ์ แล้วก็ของอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ประมาณนั้นครับ 4-5 เล่ม”
“อ่าน ๆ ไปก็มาลองใช้ ตอนนั้นก็ได้ลองวิชาพอดีเลยครับ คือมีสอบกลางภาคครับ กลางภาคตอนนั้นก็มีสอบของอาจารย์กรศุทธิ์ วิชาเอกเทศสัญญา 1 ก็ได้ลองวิชาเอก 1 ตอบ ยังได้น้อยครับ แต่คราวนี้ได้น้อยเพราะไม่เข้าใจหลักกฎหมายครับ (หัวเราะ) ต่างจากค้ำประกันครับได้คะแนนเต็ม”
“ก่อนที่จะเรียนในแต่ละวิชาผมก็จะไปถ่ายเอกสารข้อสอบเก่าย้อนหลังประมาณ 5 ปี ครับ มาดูว่าแต่ละข้อเนื้อหาเป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็อ่าน อ่านไปก่อนนะครับยังไงก็ไม่เข้าใจได้หรอกครับเพราะยังไม่ได้อ่านหรือยังไม่ได้เรียนยังไม่เห็นภาพหรอกครับ แต่ว่าการทำแบบนี้จะทำให้เรารู้ว่าเรื่องที่สำคัญและเป็นประเด็นหรือหัวใจหลักของวิชานี้อยู่ที่เรื่องอะไรต่างหากละครับ หลังจากนั้นผมก็จะไปหาเค้าโครงจากรุ่นพี่ก่อนครับ เพราะระหว่างนั้นยังไม่เปิดภาคเรียน ยังไม่มีการแจกเค้าโครงครับ เพื่อที่จะมาหาหนังสือที่ใช้ประกอบการเรียนว่ามีเล่มไหนบ้าง แล้วก็เข้าห้องสมุดหาหนังสือที่เกี่ยวข้องมาเทียบกับสารบัญในเค้าโครงที่เขาให้มา พอหนังสือแต่ละเล่มตรงกับเค้าโครงที่เกี่ยวกับหัวข้อการสอน ผมก็จะคัดหนังสือเล่มนั้นออกแล้วก็มาลองอ่านสักหัวข้อนึงสำหรับหนังสือที่เกี่ยวข้องทุกเล่มนะครับ เพราะจะได้รู้ครับว่าหนังสือเล่มไหนเหมาะสมกับการอ่านของเรา”
คำถาม (5) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
คานน : “ส่วนตัวผมมองว่าเป็นการแบ่งเบาภาระของนักศึกษานะครับ เพราะว่าเมื่อสอบกลางภาคเสร็จ บางวิชาก็จะไม่นำเนื้อหาที่ใช้สอบกลางภาคมาออกปลายภาคอีกเป็นการช่วยนักศึกษาในระดับหนึ่งครับ สำหรับคนที่สอบกลางภาคได้คะแนนแย่เค้าก็จะได้พิจารณาตัวเองว่าท่านอาจารย์คนนี้เค้ามีวิธีการสอนและวิธีการเขียนตอบเป็นอย่างไร คราวหน้าจะได้ไปปรับปรุงแก้ไขในปลายภาคต่อไปครับ”
“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมมองว่าถ้าเราไปสอบปลายภาคเหมือนเดิมมันก็ไม่ต่างจากสอบการสอบกลางภาคหรอกครับ ขึ้นอยู่กับว่าเขามีความรับผิดชอบกับการเรียนพอกับเรื่องอื่น ๆ หรือเปล่า ครับ และในข้อกังวลเรื่องการเขียนตอบของนักศึกษา ก็มีให้ส่งแบบฝึกหัด “ข้อสอบเก่า” ระหว่างเรียนได้ตลอดครับ ในเรื่องนี้จึงไม่เป็นปัญหา แต่จะได้อารมณ์ไม่เหมือนกับตอนสอบกลางภาคครับ (หัวเราะ)”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) “การมีตัวบทเป็นอะไรที่ดีนะครับ เพราะว่าในยุคที่เครื่องจักรมีบทบาทในการทำงานของเรามากขึ้นมันจะช่วยให้เรามีเวลาว่างมากกว่าแต่ก่อน เนื่องจากบางอย่างเราไม่จำเป็นต้องไปทำเองทั้งหมดเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว เป็นต้น สมองของเรามันจำได้ไม่หมดทุกอย่างหรอกครับ การที่เราให้ตัวบทแก่นักศึกษา นักศึกษาก็จะมีเวลาว่างไปทำอย่างอื่นได้ เวลาว่างที่เขามีก็เพิ่มขึ้นอันเขาอาจจะไปเปิดดูงานเขียนอื่น ๆ เพื่อมาเขียนตอบหรือค้นคว้าสิ่งที่อยู่ในงานเขียนเหล่านั้นมาต่อยอดองค์ความรู้ในการเขียนตอบก็ได้ครับ สำหรับผมนะครับ ในวิชาเอก 1 มีการให้ตัวบทในห้องสอบ ผมก็ใช้เวลาไปที่ผมได้มาไปกับการอ่านงานเขียนของอาจารย์กิตติศักดิ์ ในส่วนของนิติกรรม-สัญญา ที่อาจารย์กรศุทธิ์แนะนำครับ ในเรื่องคำเสนอและคำมั่น ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้นครับว่ามีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด”
คำถาม (6) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
คานน : “การเตรียมตัวผมได้บอกไปแล้วครับ สำหรับคำถามนี้เป็นการขอพูดถึงเรื่อง ทำยังไงให้เรียนได้สำเร็จในวิชานี้และวิชาอื่นกับเรื่องอื่นด้วยนะครับ ถ้าเราถูกบังคับให้เรียน หรือ เราจำเป็นต้องเรียน มันก็เลือกเป็นอื่นไม่ได้หรอกครับ เหมือนกับเราถูกบังคับให้ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงตอนนั้นเราก็ต้องเปิดใจรับมันก่อนครับซึ่งการเปิดใจอาจจะทำได้หลายวิธีนะครับ แต่ที่ผมใช้บ่อยที่สุด คือ ถามกับตัวเองว่าทำไม ทำไมเขาต้องให้เราเรียนวิชานี้ มันต้องมีอะไรแน่ ๆ ซึ่งเราต้องค้นหาเองครับ หรือ คิดว่าวิชานี้จะเอาไปทำอะไรได้บ้าง หาอ่านในคำอธิบายรายวิชาก็ได้ครับในเว็บ มธ. ก็มี หรือ อาจจะหาตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่เรียนก็ได้ครับเพื่อที่จะได้มีแรงจูงใจ ถึงกระนั้น เราก็ต้องยอมรับก่อนนะครับว่าเปลี่ยนในสิ่งที่เปลี่ยนได้ แต่จะไปเปลี่ยนในสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้มันก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี ฉะนั้น เราก็ต้องเลือกที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับวิชาหรือปรับวิชาให้เข้ากับตัวเองมันก็อยู่ที่ว่าอะไรเอื้ออำนวยมากกว่ากันครับ และสุดท้ายนี้สำหรับคนที่ยังไม่ยอมแพ้ครับ “จำไว้ว่า ดีที่สุด อยู่ที่ครั้งถัดไป” ปัญหาของคนส่วนใหญ่ คือ ไม่ยอมรับความผิดพลาดครับ สำหรับผมแล้วก็เพิ่งมารับได้ก็ตอน ปี 2 เทอม 2 ซึ่งเกือบจะสายเกินไปเพราะวิชาที่หารคะแนนเรียนไปแล้วถึง 7 วิชา แต่ก็ยังดีกว่าไม่เริ่มต้นนะครับ”
“สุดท้ายนี้ ผมอยากแนะนำหนังสือครับ ฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก สอนวิธีคิด เล่มที่ 1 วิชาชีวิตที่ไม่มีในตำรา”
หมายเหตุ วิชา น.232 กฎหมายประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ ปัจจุบันเป็นวิชาบังคับเลือกของสาขากฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ ในหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561 (มิใช่วิชาบังคับของชั้นปีที่ 2)
ถ่ายภาพ KK
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK