เราได้ไปพูดคุยกับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง รหัส 61 และ 60 ที่ได้คะแนนสูงสุดในวิชาบังคับปี 1 และปี 2 ในภาค 2 ปีการศึกษา 2561 มาแล้ว วันนี้เราจะพาคุณไปคุยกับนักศึกษารหัส 59 (ปัจจุบันคือนักศึกษาชั้นปีที่ 4) ที่ได้คะแนนสูงสุดในวิชาบังคับปี 3 บ้าง เริ่มจากวิชาน.301 กฎหมายลักษณะมรดก ศูนย์ลำปาง บรรยายโดย ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง สัมมนาโดยอ.กิตติภพ วังคำ โดยผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดได้แก่ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล สอบได้ 94 คะแนน เราจะไปพูดคุยกับสุธีร์เกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาดังกล่าว
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชากฎหมายลักษณะมรดก
สุธีร์ : “วิชานี้มีการเพิ่มตัวผู้บรรยาย จากตอนแรกอาจารย์ไพโรจน์ท่านเดียว มาเป็นอาจารย์ไพโรจน์กับอาจารย์กรศุทธิ์ ส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษครับ เพราะคิดว่าอาจารย์ทุกท่านก็คงจะยึดโยงเนื้อหาอยู่กับตัวบทเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเนื้อหาของกฎหมายก็จะคล้าย ๆ กันแต่ก็จะมีกังวลเล็กน้อยเรื่องประเด็นกฎหมายตาม สไตล์การสอนของอาจารย์กรศุทธิ์ ที่ชอบหยิบยกขึ้นมาอะไรประมาณนี้ครับ ที่มีหลากหลายความเห็นทางกฎหมายอันนี้ก็ต้องไปจำเพิ่ม แล้วก็มีพวกหลักกฎหมายพื้นฐานที่อาจถูกนำมาใช้ในวิชามรดกได้ ก็ต้องไปทบทวนเพิ่มเติม”
“หลังเรียนจบแล้วก็รู้สึกว่าวิชามรดกเป็นวิชาที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมาก เช่นเรื่องมรดก เพราะบุคคลเริ่มต้นเมื่อคลอดอยู่รอดเป็นทารกเกิดสภาพบุคคลแล้วซักวันบุคคลนั้นก็จะถึงแก่ความตาย เมื่อตายไปแล้ววิชามรดกก็จะเข้ามาตรงนี้ เมื่อตายไปแล้วทรัพย์สินของเขาจะตกอยู่ที่ใคร คนไหน อะไร อย่างไร ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันมาก ๆ เลยครับ ในทุก ๆ วัน หรือในอาทิตย์หนึ่งก็ต้องมีคนตายอยู่แล้ว วิชามรดกได้เข้าไปใช้ตลอดเวลาอยู่แล้วประมาณนี้ครับ”
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
สุธีร์ : “ความเห็นส่วนตัวนะครับ อาจารย์ไพโรจน์ท่านจะบรรยายในลักษณะแบบอิงกฎหมายหลักพื้นฐานตรง ๆ ซะเป็นส่วนใหญ่ครับจะไม่ได้ยึดโยงกฎหมายอื่นที่ได้เรียนมาซักเท่าไหร่แล้วก็จะยกฎีกาเข้ามาเป็นตัวอย่างประกอบประมาณนี้จะออกหลักกฎหมายตรง ๆ”
“แต่ถ้าเป็นของอาจารย์กรศุทธิ์ หนึ่งเลยอาจารย์จะเน้นเรื่องความเห็น มีความเห็นที่หลากหลายให้นักศึกษาได้คิดตาม แล้วก็ให้นักศึกษาเลือกว่าจะเห็นด้วยกับความเห็นไหนท่านอาจารย์จะเปิดกว้าง อย่างที่สอง คือ อาจารย์จะยึดโยงหลักกฎหมายพื้นฐานที่เคยเรียนมา เช่น เรื่องนิติกรรมสัญญา อย่างเรื่องพินัยกรรมที่ทำด้วยวาจาอย่างนี้นะครับ อาจารย์ก็สอนว่าการแสดงเจตนาจะเสร็จเด็ดขาดเมื่อพูดออกมา ถูกต้องไหมครับ แต่พินัยกรรมนิติกรรมยังไม่เกิดเพราะว่ามันต้องมีองค์ประกอบทางกฎหมาย โดยหลักการนี้มันจะไปยึดโยงกับเรื่องสัญญาให้ ที่ว่าแม้จะทำสัญญาให้หรือแสดงเจตนาให้กันแล้วสัญญาก็ยังไม่เกิด เว้นแต่จะมีการส่งมอบซึ่งเป็นองค์ประกอบทางด้านกฎหมายประมาณนี้ครับ คือถ้าเป็นส่วนของอาจารย์กรศุทธิ์ผมคิดว่า อาจจะมีบางประเด็นที่อาจารย์ทิ้งท้ายไว้ให้แต่ว่าไม่ได้ให้คำตอบอาจจะต้องเข้าไปดู เข้าไปเว็บของคณะจะมีพวกประกาศ จะมีบทความของอาจารย์เป็นเรื่อง บางเรื่องเป็นประเด็นที่อาจารย์ถามทิ้งทวนเอาไว้ในห้องแล้วคลิกเข้าไปอ่านครับ ความเห็นของอาจารย์ท่านนี้เป็นแนวไหน อะไร อย่างไร”
คำถาม (3) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
สุธีร์ : “เนื้อหาส่วนแรกที่อาจารย์ไพโรจน์ อาจารย์ท่านสัมมนาเอง โดยการนัดเพิ่มจากคาบบรรยาย ก็จะเป็นการฝึกทำข้อสอบเก่าครับ”
“สำหรับเนื้อหาส่วนหลังเรื่องพินัยกรรมของอาจารย์กรศุทธิ์ จะสัมมนาโดยอาจารย์กิตติภพ ผมคิดว่าการสัมมนาช่วยได้เยอะมากครับ เพราะว่าในเวลาเรียนเราอาจจะไม่ได้มีสมาธิ 100% อาจจะขาดตกบกพร่องในบางประเด็นไป แต่เมื่อมาเข้าสัมมนาอาจารย์ก็จะทบทวนเนื้อหาคราว ๆ แล้วก็ทบทวนประเด็นที่สำคัญ ซึ่งบางประเด็นเราอาจจะเคยฟังมาแล้วแต่จำไม่ได้อาจารย์สัมมนาก็จะมาช่วยเน้นให้ และที่สำคัญ คือ การทำข้อสอบของอาจารย์สัมมนาครับ อาจารย์กิตติภพก็จะพาทำข้อสอบแล้วก็พาให้เห็นหน้าตาข้อสอบคราว ๆ ข้อสอบลักษณะนี้ควรตอบอะไรอย่างไรจึงจะได้คะแนนดีครับ”
“เรื่องการเขียนตอบผมว่ามันเป็นศิลปะการใช้คำอย่างหนึ่งครับ ซึ่งการที่เราจะเขียนได้ดีนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนครับว่า คุณเขียนมากน้อยขนาดไหน คุณฝึกมากน้อยขนาดไหน และอีกประการหนึ่งคุณตีโจทย์แตกขนาดไหน เพราะว่าถ้าคุณตีโจทย์แตกคุณก็ สามารถตอบได้ครบทุกประเด็นได้ หลัก ๆ อยู่ที่การเขียนครับ ยิ่งเขียนบ่อยก็จะทำให้เห็นโครงสร้างของคำตอบที่ต้องเขียนได้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้เวลาทำข้อสอบจริง จะทำข้อสอบได้ไวครับ”
“สำหรับผม ผมเริ่มฝึกเขียนตั้งแต่ปีหนึ่งครับ โดยที่ฝึกฝนมากหน่อย คือวิชา นิติกรรมสัญญา เพราะตอนนั้นคิดว่าการเขียนสำคัญมาก ไม่ใช่ทุกคนจะเขียนออกมาอย่างไรก็ได้แล้วจะได้คะแนนดี ซึ่งไม่ใช่แค่ว่ารู้เนื้อหาแล้วจะไปสอบได้อย่างนี้นะครับเพราะเนื้อหาทุกคนมีเวลาเรียนเท่ากัน สามารถศึกษาค้นคว้าได้พอ ๆ กัน แต่การถ่ายทอดคือการเขียนจะเป็นจุดตัดให้ได้คะแนนดีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องฝึกเรื่องการเขียน ซึ่งผมก็ใช้วิธีนี้มาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันครับ”
คำถาม (4) : ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
สุธีร์ : “กลางภาคได้ 18 ส่วนปลายภาค ข้อแรกของอาจารย์ไพโรจน์ ได้ 18 ข้อสองและสามของอาจารย์กรศุทธิ์ได้ 18 และ 20 ข้อสุดท้ายของอาจารย์กิตติภพ ได้ 20 รวมได้ 94 คะแนนครับ”
“ก็รู้สึกว่าคะแนนเกินคาดไปนิดหนึ่งครับ แต่ก็ตั้งเป้าว่าจะได้ 80 ขึ้นไปครับ เพราะว่าค่อนข้างมั่นใจในประเด็นที่ตอบไปครับ อาจจะซักประมาณ 83 ถึง 85 ประมาณนี้นะครับ”
“ถ้าเรื่องการเตรียมตัว ก่อนเปิดเทอม ผมเตรียมตัวบ้างครับ แต่ว่าไม่ได้เตรียมตัวแบบจริงจังหรือเจาะเน้นอะไรครับ ผมจะเตรียมตัวประมาณว่า เปิดดูหนังสือเปิดดูหัวข้อคร่าว ๆ แล้วก็จำเป็นโครงสร้าง แล้วนำก็นำมาวาดเป็นแผนผังคราว ๆ ว่าวิชานี้มีเรื่องอะไรบ้าง เป็นหัวข้อใหญ่ ๆ กว้าง ๆ ไว้ก่อน แล้วเวลาเรียนค่อยไปเจาะลึกเนื้อหาแล้วตีรายละเอียดย่อยๆจากหัวข้อใหญ่ออกมาครับ”
“ส่วนระหว่างเรียน อันดับแรกก็คือเข้าเรียนนะครับ เข้าเรียนให้รู้ว่าสไตล์การสอนของอาจารย์เป็นอย่างไร วิชานี้อาจารย์เน้นไปทางไหน เน้นอะไรบ้าง อีกอย่างหนึ่ง คือ อ่านหนังสือประกอบไปด้วยครับ เพราะว่าหากจะรอแต่อาจารย์สอนอาจจะไม่ทันครับ เพราะว่ามันมีหลายวิชา ดังนั้น จึงอ่านหนังสือล่วงหน้าไปก่อน แล้วก็ทำเป็นแผนผังความเข้าใจของตนเองไว้เป็นวิชาอย่างนี้นะครับ”
“เตรียมตัวสอบ อย่างแรกก็คือ ต้องทบทวนเนื้อหาสำคัญ ๆ ของวิชาแล้วก็ของที่อาจารย์เน้น เนื้อหาสำคัญที่อาจารย์ชอบเน้นในห้อง แล้วก็การเตรียมตัวสอบของผม ผมจะนำแผนผังที่วาดไว้ตังแต่ก่อนเรียนจนถึงขณะเรียนมาทบทวนก่อนสอบครับ ให้จำเป็นโครงสร้างมาตราได้ คร่าว ๆ ประมาณหนึ่ง แล้วก็จำไป และจำพวกความเห็นทางกฎหมาย หาเหตุผลเข้ามาสนับสนุนความเห็นที่ตนเห็นด้วยเข้าไปตอบ”
“แล้วก็มีแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อน ก็จะถกเถียงกันเรื่องความเห็นนะครับ ว่าเพื่อนคนไหนเห็นความเห็นไหนบ้าง แล้วเหตุผลไหนดีกว่า เหตุผลไหนน่าจะได้คะแนนเยอะกว่าอะไรอย่างนี้นะครับ ก็จะมาแชร์กันว่า ควรใช้เหตุผลไหนไปตอบดี ซึ่งคิดว่ามีประโยชน์นะครับ เราจะได้รู้ความคิดของเพื่อนว่าเพื่อนเห็นอย่างไร หรือมีบางประเด็นว่าเพื่อนอาจจะคิดได้แต่เรานึกไม่ถึงอะไรประมาณนี้ครับ”
“ถ้าพูดเฉพาะเจาะจงเลยคือ ส่วนของท่านอาจารย์ไพโรจน์ ผมคิดว่า ต้องจำหลักกฎหมายให้แม่นครับ อาจารย์เข้าจะเล่นจะเน้นเรื่องหลักกฎหมายซะเป็นส่วนใหญ่ครับ ถ้าใครจำตัวบทได้จำหลักแม่นแล้วสามารถยึดโยงมาตราได้ ยึดโยงกับผลได้ อย่างนี้ก็จะได้คะแนนดีครับ”
“อาจารย์กรศุทธิ์ก็เช่นกันครับ ก็คือ จำหลักกฎหมายได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือจะต้องศึกษาเรื่องความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติมแล้วก็ย้อนหลับไปทบทวนหลักกฎหมายพื้นฐานเพิ่มเติมเพราะข้อสอบของอาจารย์รวม ๆ จะสามารถเอาหลักกฎหมายพื้นฐานเข้ามาตอบได้ด้วยนะครับ”
คำถาม (5) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
สุธีร์ : “ผมคิดว่าข้อดีของมันก็คือ มันจะช่วงแบ่งเบาภาระในการเตรียมตัวสอบปลายภาค เพราะว่ามีคะแนนเก็บกลางภาคมาแล้วหรือการเตรียมตัวในการอ่านหนังสือก็เป็นการช่วงแบ่งเบาภาระตรงนี้ไปนะครับ แต่ว่าผมคิดว่ามันจะมีข้อเสียประการหนึ่ง คือ ตอนเปิดภาคเรียนเรารู้วิชาที่จะเรียนแล้ว 6-7 วิชา เราจัดตารางแล้วว่าเราจะจบวิชานี้วันไหน ๆ แต่เมื่อมีการสอบกลางภาคเข้ามา เราต้องเฉือนตารางของเราตรงนั้นเพื่อไปอ่านสอบกลางภาคก่อน ตรงนี้มันจะทำให้ ระบบตารางบางคนอาจจะรวนครับ แล้วก็บางกรณีเนื้อหาอาจจะคลาดเคลื่อนเพราะว่าถ้าอ่านกลางภาคแล้วไปสอบแล้ว พอถึงปลายภาคก็ลืมเนื้อหาที่อ่านกลางภาคไปแล้ว แล้วบางข้อเนื้อหาปลายภาคก็ต้องยึดโยงอยู่กับเนื้อหาที่สอบกลางภาคไปด้วยจึงทำให้ต้องกลับไปอ่านของกลางภาคซ้ำอีก จะทำให้เสียเวลาครับ”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) “วิชามรดกมีการให้ตัวบทเฉพาะเนื้อหาส่วนพินัยกรรม สำหรับวิชาที่ให้ตัวบท รู้สึกว่าเป็นวิชาที่มุ่งเน้นในการวัดความรู้เกี่ยวกับการใช้กฎหมาย และการวิเคราะห์มากกว่าที่จะทดสอบความจำครับ ซึ่งถือเป็นวิชาที่ช่วยให้นักศึกษาไม่เสียเวลาเตรียมตัวสอบกับการท่องตัวบทมากเพราะมีให้ดูในห้องสอบ แต่ก็ต้องแลกกับการเสียเวลาในการเปิดหาตัวบทด้วยครับ”
“ส่วนวิชาที่ไม่มีตัวบทให้ในการสอบ เป็นวิชาที่นอกจากจะวัดความรู้เกี่ยวกับการใช้กฎหมายแล้ว ยังมุ่งทดสอบความจำด้วย ซึ่งมักมีข้อเสียคือ นอกจากนักศึกษาต้องทำความเข้าใจตัวบทกฎหมายแล้ว ยังต้องจำหลักกฎหมายให้ได้เพื่อนำไปใช้ในห้องสอบได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เสียเวลาในการเตรียมตัวสอบมากครับ แต่ในความเห็นส่วนตัวผมชอบวิชาที่ไม่มีตัวบทให้ในการสอบมากกว่า เพราะเราสามารถมีความต่อเนื่องในการเขียนตอบข้อสอบได้ดีเพราะเราท่องตัวบทมาแล้ว ไม่ต้องเสียเวลาเปิดตัวบทอีกครับ”
คำถาม (6) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
สุธีร์ : “อันดับแรกน่าจะเป็นการเตรียมตัวที่ดีนะครับ ผมจะแบ่งเป็น 70:30 70% แรกผมจะทุ่มเทไปที่เนื้อหาและหลักการพื้นฐานของกฎหมาย พวกเนื้อหาเน้นเนื้อหาที่สำคัญแล้วก็เนื้อหาที่อาจารย์เน้นในห้องที่สอนตอนบรรยาย แล้วก็จำพวกความเห็นต่าง ๆ อะไรประมาณนี้ครับ เตรียมตัวสอบให้จำเนื้อหาให้แม่น 70% ส่วนอีก 30% ผมว่าเป็นเรื่องของการเขียนนะครับไม่ว่าจะเป็นการฝึกทำข้อสอบ ไม่ว่าข้อสอบสัมมนาหรือข้อสอบย้อนหลังอะไรอย่างนี้นะครับ การทำข้อสอบบ่อย ๆ จะทำให้รู้ว่าข้อสอบลักษณะนี้ควรตอบ ควรเริ่มตอบอย่างไร จึงจะได้คะแนนดี ควรปิดท้ายอย่างไร จะใช้คำอย่างไร เวลาไปเขียนจริงจะได้ทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะว่าเรามีโครงสร้างคร่าว ๆ อยู่ในหัวอยู่แล้วครับ”
“สำหรับคนที่สอบไม่ผ่าน ผมว่าหลัก ๆ น่าจะอยู่ที่การไม่ได้เข้าเรียนนะครับประการแรก การที่ไม่ได้เข้าเรียนอาจจะทำให้ภาพความเห็นต่าง ๆ ที่อาจารย์สอนในห้องหรือหลักกฎหมายบางอย่าง หลักการพื้นฐานบางอย่างที่บางคนอาจจะลืมไปแล้ว แต่อาจารย์สามารถนำมายึดโดยงกับวิชาที่เรียนในปัจจุบันได้ ซึ่งหากคนที่ไม่ได้เข้าเรียนก็จะไม่ทราบว่า ตรงนี้นะมันสามารถยึดโยงกับหลักการพื้นฐานนิติกรรมสัญญาได้นะ แต่เขาเรียนแค่มรดกเขาก็ตอบแค่มรดกอะไรประมาณนี้ครับ จะทำให้พลาดคะแนนส่วนนี้ไป อีกอย่างน่าจะเป็นเรื่องการเขียนตอบซึ่งบางคนยังเขียนได้ไม่ดีพอหรือไม่รู้จะใส่เหตุผลตรงไหน อย่างไรเพื่อให้ได้คะแนนดี ตรงนี้ก็จะเป็นเสียคะแนนตรงนี้ไป”
“มรดกเอาจริง ๆ ก็คือ ไม่ได้เป็นวิชาที่ยากขนาดนั้นแต่เพียงแต่เป็นวิชาที่มาตราค่อนข้างเยอะหน่อยแล้วก็ต้องโยงมาตราหลายเรื่องหน่อย และเป็นบรรพสุดท้ายที่สามารถโยงกับบรรพก่อน ๆ ได้ทุกบรรพได้ครับ คือ การจะเรียนวิชามรดกให้ได้ดี ต้องอาศัยความรู้พื้นฐานเรื่องต่าง ๆ เข้ามาด้วยครับ”
ถ่ายภาพ OAT
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK