ธัญชนิต ล้อจินดา (โฟน) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต รหัส 59 คือผู้ที่สอบได้ได้คะแนนสูงสุดจากวิชาบังคับ 3 จาก 6 วิชาในภาค 2 ปีการศึกษา 2561 เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ได้แก่ (1) วิชา น.301 กฎหมายลักษณะมรดก บรรยายโดย ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง สัมมนาโดย อ.กิตติภพ วังคำ โดยได้ 87 คะแนน / (2) วิชา น.351 กฎหมายปกครอง 2 บรรยายโดย ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ โดยได้ 92 คะแนน / และ (3) วิชา น.390 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง (กลุ่ม 3) บรรยายโดย ผศ.ดร.จารุประภา รักพงษ์ ผศ.ดร.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ สัมมนาโดย ผศ.ดร.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ โดยได้ 91 คะแนน เราจะไปพูดคุยกับธัญชนิตเกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาเหล่านี้
คำถาม (1.1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชากฎหมายลักษณะมรดก
ธัญชนิต : “คือตอนแรกที่ประกาศ Section มามีชื่ออาจารย์ไพโรจน์คนเดียว ก็รู้สึกว่าโอเค ก็ยังพอไปได้ แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงว่านอกจากอาจารย์ไพโรจน์แล้ว ยังมีอาจารย์กิตติศักดิ์ อาจารย์มาตาลักษณ์ อาจารย์กรศุทธิ์ ก็รู้สึกว่าต้องเจอขนาดนี้เลยหรอเนี่ย (หัวเราะ) คือรู้สึกว่าตัววิชามันยากอยู่แล้ว ยังต้องมาเจออาจารย์ที่หลากหลายสไตล์แบบนี้ แล้วผมก็ไม่เคยเรียนกับท่านอาจารย์หลาย ๆ คนมาก่อน”
“แต่พอมาเรียนวิชานี้จริง ๆ ผมรู้สึกดีมากเลย บางครั้งผมคิดว่าการที่เรียนกับท่านอาจารย์หลาย ๆ คนเป็นข้อดีเสียมากกว่าด้วย ถ้าหากว่ามันมีมิดเทอม เพราะผมรู้สึกว่าเราสามารถจำแนกได้ว่าส่วนของอาจารย์ท่านนี้จะเน้นไปสไตล์ไหน ส่วนของอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่มีคนละสไตล์ เราจะเน้นไปแนวอีกแบบหนึ่งนะ ซึ่งแนวมันได้แบ่งแยกชัดเจนในช่วงมิดเทอม ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีมาก ผมคิดว่าคณะฯ เราต้องมีการพัฒนาให้มันเป็นแบบนี้ คือเนื้อหาที่ออกก่อนมิดเทอมไปแล้วเราจะไม่นำมาออกหลังมิดเทอมอีกแล้วเพราะไม่งั้นมันเป็นภาระของนักศึกษาเพิ่มขึ้นกว่าเดิม”
คำถาม (1.2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ธัญชนิต : “ท่านอาจารย์ไพโรจน์ก็จะเน้นคำบรรยายตามในห้องเลยก็คือว่าท่านจะเอาคำพิพากษาศาลฎีกามาอธิบายไล่ไปตามทีละตัวบทที่ท่านอธิบายไล่เรียงมาตราไปเรื่อย ๆ นะครับ แล้วก็จะมีตั้งข้อสังเกตบ้างในบางประเด็นก็คือจะเป็นการอธิบายแบบอาจารย์ส่วนใหญ่ในคณะนี้อธิบายทั่วไปก็คือว่า อธิบายตามคำพิพากษาศาลฎีกาครับแล้วก็ตามหนังสือของท่านอาจารย์ไพโรจน์ที่ท่านเขียนเองอยู่แล้วครับ”
“ส่วนของอาจารย์มาตาลักษณ์ก็จะเป็นในแนวทางที่โค้ชชิ่ง เหมือนกับว่าพยายามอธิบายที่ให้เราเห็นภาพความแตกต่างของมันมากที่สุดในแต่ละประเด็น ก็คือว่าท่านอาจารย์มาตาลักษณ์ก็จะรับผิดชอบในส่วนของการเสียสิทธิในการรับมรดกซึ่งมันมีอยู่หลายเหตุ ซึ่งอาจารย์ก็จะอธิบายโดยการทำเป็น mind map บนกระดานแล้วก็เหมือนแตกให้ดูว่าแต่ละอันนั้นเหมือนกันตรงไหนครับเหมือนประกอบการสอนไปเรื่อย ๆ เหมือนให้เราดูจนจบคาบรรยายสี่คาบของท่านก็จะได้ mind map อันหนึ่งที่มันเป็น mind map สมบูรณ์ออกมาครับ”
“ท่านอาจารย์กรศุทธิ์ก็จะสอนเป็นเรื่องเกี่ยวกับพินัยกรรมแบบของพินัยกรรมต่าง ๆ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นอะไรที่มันแปลกใหม่มากเลย แต่ว่ามันดีตรงที่ว่า เหมือนท่านอาจารย์ก็สอนเกี่ยวกับเรื่องคำมั่นว่าจะให้ผสมไปด้วย ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นความรู้ใหม่ของผมเลย เหมือนเราได้ทบทวนความรู้นิติกรรมเรื่องเก่า ๆ อีกครั้งหนึ่ง คือตอนแรกผมก็กังวลว่าจะเรียนวิชานี้ได้ไม่ดีเพราะว่าผมไม่เคยเรียนกับอาจารย์มาก่อน แต่มาเรียนแล้วความกังวลมันได้สลายออกไปโดยที่ว่าอาจารย์ได้มาสอนตรงนั้นใหม่ แล้วก็ต่อยอดจากตรงนั้นขึ้นไป ทำให้รู้สึกว่าคนที่ไม่เคยเรียนกับอาจารย์มาสามารถเข้าใจเนื้อหาตรงนั้นได้ แล้วก็ในประเด็นต่าง ๆ อาจารย์ก็ไม่ได้เห็นเหมือนที่เราเคยเรียนมา อย่างคำพิพากษาศาลฎีกา อาจารย์ก็เอามาวิเคราะห์ว่าถ้าเราคิดในอีกแง่มุมหนึ่งผลมันจะเป็นอีกแบบหนึ่งนะ เห็นอีกแบบหนึ่งได้ คือผมคิดว่ามันดีมากเลย มันคือการเปิดกว้างทางความคิดในทางวิชานิติศาสตร์”
“ในส่วนของอาจารย์กิตติศักดิ์ คือตัวผมเองเคยได้ท็อปในวิชาทรัพย์สินของอาจารย์กิตติศักดิ์มาอยู่แล้ว ผมก็พอจะจับสไตล์ของท่านอาจารย์กิตติศักดิ์ได้ คือถ้าให้ท่านอธิบายเนื้อหาให้ยากมาก ๆ ท่านก็จะอธิบายได้ยากถึงขีดสุดเลยเลยน่ะครับ ถึงจุดที่นักศึกษาชั้นปริญญาตรีไม่สามารถเข้าไปถึงได้ เราต้องไปหาความรู้เพิ่มเติมมาบ้างหรือเราต้องอาศัยการถกเถียงกับอาจารย์นอกเวลาเรียน ซึ่งผมคิดว่าถึงแม้ท่านอาจารย์จะได้อธิบายโดยยกคำพิพากษาของศาลเยอรมันมาบ้างหรือยกของต่างประเทศที่อังกฤษหรืออะไรอย่างนี้มาบ้าง ทำให้นักศึกษารู้สึกกังวลว่า อาจารย์มาอธิบายอะไรแบบนี้มันยากจัง แต่โดยภาพรวมแล้วเมื่อท่านอาจารย์อธิบายเสร็จ โดยสไตล์ของท่านอาจารย์นะครับ ไม่ว่าจะโดยวิชาใดก็ตาม มันเหมือนตอนแรกเราถือมีดเล่มเล็ก ๆ แบบไม่คมเข้าไปน่ะครับ แต่เหมือนพอมันอธิบายเรื่องยาก ๆ เหมือนได้มีความคิดตอนที่เราเรียนไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ มันทำให้เหมือนมีดมันถูกตี ๆ ๆ ๆ มันคม แล้วเวลาที่เข้าไปสอบจริง ๆ ท่านอาจารย์เขาก็ไม่ได้ออกยากไปจนถึงระดับที่อาจารย์ได้สอนเรามาแบบยากขนาดนั้น ก็ลดระดับลงมานิดหนึ่ง แต่ด้วยความที่เราไปฟังที่ยาก ๆ ตลอดมาเนี่ยมันทำให้เราสามารถตอบข้อสอนในข้อของท่านอาจารย์ได้อย่างดีครับ”
คำถาม (1.3) : การสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนกฎหมายลักษณะมรดกมากน้อยแค่ไหน
ธัญชนิต : “ผมคิดว่ามีส่วนช่วยมากเลยครับ การสัมมนาจะเป็นเนื้อหาส่วนอาจารย์กรศุทธิ์คนเดียว โดยมีอาจารย์กิตติภพมาสัมมนา ก็ทำให้เนื้อหาส่วนของอาจารย์กรศุทธิ์เข้าใจมากขึ้น คือเหมือนท่านอาจารย์กิตติภพจะมาเน้นในส่วนที่เป็นสาระสำคัญจริง ๆ เหมือนเป็นการเก็บตกในประเด็นที่มันขาด ไป นักศึกษาจะมีการถามอาจารย์กิตติภพ แล้วอาจารย์กิตติภพก็จะเหมือนไปปรึกษาอาจารย์กรศุทธิ์ แล้วก็มาตอบคำถามให้นักศึกษาในคาบสัมมนาในครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งผมว่าถ้าขาดส่วนนี้ไปมันจะทำให้คะแนนของนักศึกษาวิชานี้ต่ำลงไปเลย ผมมั่นใจว่าเป็นอย่างนั้น”
“คือเหมือนพออาจารย์กิตติภพมาพูดอีกครั้งหนึ่งย้ำในส่วนของอาจารย์กรศุทธิ์อีกครั้งหนึ่ง มันทำให้คนที่ไม่เคยเรียนกับอาจารย์กรศุทธิ์มาก่อนสามารถเข้าใจเพิ่มเติมขึ้นไปอีก จากประเด็นที่เรียนในห้องแล้วมันมีการทำโจทย์ มีการเฉลย ทำให้เราเห็นภาพมากขึ้น”
“อีกอย่างคือ ผมประเมินตัวเองว่าเราเขียนได้ดีหรือไม่ได้ดีเนี่ย จากการที่ว่าผมได้ไปขอร้องให้อาจารย์กิตติภพตรวจการเขียนให้น่ะครับ ผมก็อาศัยช่วงเช้า ๆ มาคณะซัก 7 โมง เพื่อจะมาเขียนตอบข้อสอบวันละ 1 ข้อ 2 ข้อ ๆ อยู่กับนวพลเพื่อนผมอีกคนหนึ่งคืออาจารย์ไม่ได้สั่ง แต่ผมคิดว่า เราไม่ถนัดหรอกที่แบบมาเขียนความเห็นเยอะ ๆ เราไม่เคยทำมาก่อน หรือแบบพวกคำมั่นเราไม่ค่อยเชี่ยวชาญอะไรแบบนี้ ผมก็อาศัยว่าด้วยความไม่เชี่ยวชาญมันเลยทำให้เรายิ่งอยากจะฝึกฝน ก็เลยใช้วิธีว่าข้อสอบสัมมนามีทั้งหมดกี่ข้อผมจะเขียนมันทั้งหมดไปเลยก็เขียนมาทุกข้อเลย แล้วก็มาส่งอาจารย์กิตติภพ อาจารย์ก็ตรวจให้นะครับ ผมก็บอกอาจารย์ว่าขอเป็นคะแนนเลยละกัน ซึ่งตอนนั้นก็เริ่มรู้ตัวเองแล้วว่ามือในการเขียนในวันจริงมันจะต้องเขียนประมาณไหน”
“มันมีบางประเด็นซึ่งผมไม่เคยเข้าใจในการเรียนมาเลย ผมก็ไปเข้าใจในวันที่ส่งข้อสอบให้อาจารย์ตรวจนี่ล่ะครับ เพราะว่าอาจารย์ก็อธิบายว่าตรงนี้ผมเข้าใจผิด ซึ่งมันทำให้ผมเปลี่ยนแนวคิดไปเลย ที่เข้าใจมาตลอดมันผิดไป สิ่งที่ถูกมันเป็นแบบนี้ แล้วก็แบบได้เอาไปอธิบายให้เพื่อน ๆ ฟัง เพราะว่าเพื่อนก็เข้าใจผิดเหมือนกัน มันเป็นประเด็นที่ยากครับ”
คำถาม (2.1) : ได้คะแนนสอบกฎหมายมรดกแต่ละข้อเท่าไรบ้าง
ธัญชนิต : “ข้อของอาจารย์ไพโรจน์ตอนกลางภาคผมได้ 16 ส่วนปลายภาค ข้อของอาจารย์มาตาลักษณ์ผมได้ 20 ข้อของอาจารย์กรศุทธิ์ได้ 19 ข้อของอาจารย์กิตติภพผมได้ 14 แล้วก็ข้อของอาจารย์กิตติศักดิ์ได้ 18”
“ผมคิดว่าได้น้อย 2 ข้อ ข้อแรกคือตอนกลางภาค คือจริง ๆ ก็ไม่น้อยหรอกครับแต่ว่าคนส่วนใหญ่ร้อยละประมาณ 60 เขาได้กัน 18 ซึ่งผมได้แค่ 16 เพราะว่าผมเข้าใจหลักกฎหมายผิดไปตอนนั้นแล้วก็แบบไม่มีใครท้วงติงผมเลย เวลาไปคุยกับเพื่อนก็เข้าใจหลักกฎหมายผิดไป แต่ว่าตอบไปแบบผิดหลักกฎหมายไปเลย แต่ว่าสิ่งที่ผมตอบไปนั้นมันก็ดูมีเหตุมีผลเหมือนกันครับอาจารย์ก็เลยให้มา 16”
“แล้วอีกข้อหนึ่งที่ได้น้อย ข้ออาจารย์กิตติภพ ผมคิดว่ามันเป็นความบกพร่องของตัวผมเอง คือว่า ผมทำข้อนั้นเป็นข้อสุดท้ายแล้วก็ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงระยะเวลาที่เหลือน้อยแล้ว แล้วผมเห็นว่าคือผมอ่านโจทย์ อาจจะอ่านไม่ชัดเจนเองครับ มันก็เลยส่งผลให้คะแนนมันต่ำลงมา คือ เหมือนพอโจทย์มันมีหลายช่วงคำถาม คือถ้าใครไปดูโจทย์ข้อสอบเก่าจะรู้เลยว่าแบบข้อสอบมันจะเหมือนถามอันแรกแล้วมาต่ออันสองมาต่ออันสาม เหมือนต่อเนื่องกันมาซึ่งถ้าเราผิดไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เราผิดเรื่อย ๆ ซึ่งผมคิดว่าผมอ่านโจทย์ผิดคือ ตอนผมอ่านเฉลยหรือคือตอนผมออกจากห้องสอบมาผมรู้สึกว่าผมทำได้ข้อนี้แน่นอนถูกแน่นอนคือไม่มีความรู้สึกกังวลใจในข้อนี้เลย แต่พอมาอ่านธงแล้วอ่าวที่ตอบไปไม่ใช่เลยครับ ผมก็เลยรู้ว่าผมอ่านโจทย์ผิดไป”
คำถาม (2.2) : ใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบวิชากฎหมายลักษณะมรดกอย่างไร
ธัญชนิต : “คือต้องแบ่งแยกแต่ละพาร์ท ออกจากกันเลยนะครับ ถ้าเป็นในส่วนของอาจารย์ไพโรจน์เนี่ยผมจะเน้นคำบรรยายในห้องเป็นหลักเลย ผมจะถอดคำบรรยายของอาจารย์เลยครับ เป็น paraphrase แล้วก็เขียนคำบรรยายของท่านอาจารย์ออกมาแล้วก็นั้นแหละครับเป็นแบบปกติไปแล้วก็อ่านหนังสือของท่านอาจารย์ไพโรจน์เพิ่มเติมไป โดยจะเหมือนพอในห้องที่อาจารย์บรรยาย อาจารย์อาจจะไม่ได้พูดคำที่ให้เป็นภาษาที่จะเอาไปใช้ในการเขียนตอบได้มากนักเพราะฉะนั้นผมเลยจะอาศัยหนังสือของท่านเพราะว่าผมรู้สึกว่าการที่เรียนคณะฯ นี้มันต้องเป็นการเข้าใจผู้สอนเหมือนเราเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนไปด้วยกัน ต้องรู้ว่าผู้สอนชอบแบบไหนแล้วเราก็จะทำตามแบบนั้นก็คือว่าอย่างเช่นอาจารย์ไพโรจน์ก็คือว่าท่านคงชอบหลักภาษาตามที่ท่านได้เขียนมาในหนังสือของท่านเอง ผมก็จะหาคำที่เป็นภาษาสวย ๆ แต่ละตัวบทมาตราที่อยู่ในหนังสือของท่านออกมาในส่วนที่ท่านสอนนะครับ ผมก็จะดึงถอดออกมาผสมกับเลคเชอร์ของผมได้ถอดคำบรรยายออกมาครับ”
“ในส่วนของท่านอาจารย์มาตาลักษณ์ ผมก็อ่านหนังสือของท่านอาจารย์ไพโรจน์อย่างเดียวเลยครับเพราะว่าท่านได้บอกไว้ในห้องว่า อาจารย์บรรยายโดยที่เน้นอิงไปทางหนังสือของท่านอาจารย์ไพโรจน์นะ ถ้าอยากหาข้อมูลเพิ่มเติม คือในห้องผมก็จะอาศัยเนื้อหาในส่วนของทฤษฎีในหนังสือของท่านอาจารย์ไพโรจน์แต่ว่าตัวอย่างของการปรับใช้มาตรานั้น ๆ การเสียสิทธิอะไรต่าง ๆ พวกนี้นะครับ ที่มันเป็นตัวอย่างที่ลึกกว่าหนังสือที่มีอยู่ผมจะอาศัยตามคำบรรยายที่อาจารย์มาตาลักษณ์อธิบายในห้องเพราะท่านจะยกตัวอย่างที่มันลึกกว่าที่เราจะคิดออกมาใช้ช่วยกันคิดในห้องนะครับ และท่านก็จะเฉลยมาให้เราฟังซึ่งในหนังสือมันก็ไม่มีเขียนเอาไว้นะครับ ผมคิดว่าตรงนั้นมันดีมากนะครับมันทำให้เราเข้าใจจริง ๆ ไมใช่แค่เข้าใจตัวบทมาตรานั้น ๆ แต่ท่านจะเชื่อมโยงแต่ละเรื่องเข้ามาหากัน”
“ในส่วนของท่านอาจารย์กรศุทธิ์ ผมจำได้เลยพอดีว่าผมไปถามรุ่นพี่หรือเพื่อนในรุ่นที่เคยเรียนกับอาจารย์ที่ได้คะแนนดี ๆ ก็คืออาจารย์กรศุทธิ์จะไม่มีหนังสือเล่มไหนเลยที่เราสามารถเปิดอ่านที่เป็นคำบรรยายที่เป็นภาษาไทยที่จะเหมือนกับแนวที่อาจารย์สอนใช่ไหมครับ รุ่นพี่หรือเพื่อนที่ได้คะแนนอาจารย์ดีก็จะเน้นว่าเราต้องเน้นคำบรรยายในห้อง โดยที่เราไปคิดเพิ่มเติมในประเด็นที่ท่านตั้งข้อสงสัยเป็นปัญหาประเด็นไว้ให้ แล้วก็พยายามหาคำตอบในประเด็นนั้น ๆ ผมก็จะใช้วิธีนั้น ผมใช้วิธีที่ว่าผมเข้าไปนั่งเรียนก่อนแล้วก็จดทุกสิ่งทุกอย่างออกมาในชีทที่มาเรียน โดยผมจะถ่ายเอกสารเก็บไว้อีกชุดหนึ่ง เป็นเหมือนชุดหลักกับชุดสำรอง ชุดหลักผมจะเดินเข้าไปในห้องเรียน ชุดสำรองผมจะเก็บไว้ที่ห้อง ก็คือว่าผมจะเอามาเพื่อถอดเทปโดยเฉพาะ ก็คือผมจะอัดเทปและมาถอดคำบรรยายแล้วถอดลงในชีทชุดสำรองอีกครั้งหนึ่ง แล้วผมจะเอาชุดหลักและชุดรองมาเทียบกันดูว่าผมได้เลคเชอร์มาเหมือนกันหรือเปล่า ส่วนไหนไม่เหมือนกันไหม ผมคิดว่าการบรรยายในห้องอย่างเดียวความคิดในช่วงนั้นอาจจะคิดแบบหนึ่งแต่พอเรามาฟังทวนอีกครั้งหนึ่งเราอาจจะคิดต่างออกไปเพราะว่าเราสามารถกดหยุดได้กดฟังได้ ในเรื่องที่มันยากสามารถที่จะมาคิดอย่างช้า ๆ ได้ เพราะว่าเรียนในห้องมันจะต้องตามตลอดไงครับ ก็เลยคิดว่าในส่วนตรงนี้ผมคิดว่าผมใช้วิธีการถอดคำบรรยายเป็นหลักในส่วนของอาจารย์กรศุทธิ์ครับ แล้วก็สัมมนานี่ช่วยมากก็คือว่า ถอดคำบรรยายของอาจารย์กรศุทธิ์บวกกับถอดคำบรรยายของคาบสัมมนาของอาจารย์กิตติภพ จะช่วยมากในส่วนของการเฉลยโจทย์ข้อสอบต่าง ๆ จะได้แบบไม่ขาดตกบกพร่องในประเด็นนั้น ๆ ซึ่งความเห็นในส่วนของท่านอาจารย์กรศุทธิ์สำคัญมากเวลาสอนในห้องครับ ผมคิดว่าความเห็นของนักกฎหมายหลาย ๆ ฝ่ายที่อาจารย์ได้ยกขึ้นมานั้นเราจำเป็นต้องจดจำเลยนะครับว่าความแตกต่างที่แท้จริงของมันคืออะไรครับ แล้วเวลาตอบข้อสอบก็ควรจะยกประเด็นนั้น ๆ ลงไปตอบในข้อสอบด้วยครับ”
“และส่วนสุดท้ายของท่านอาจารย์กิตติศักดิ์ ส่วนนี้ผมก็ต้องยกความดีความชอบให้เพื่อนเลยครับ คือเพื่อนผมคนหนึ่งที่เป็นนักศึกษาที่เรียนอยู่ด้วยกันเนี่ยครับ เป็นคนที่ใช้วิธีการจดเลคเชอร์โดยไอแพ็ด และใช้คีย์บอร์ดเอาไปพิมพ์ในห้องตามคำบรรยาย เขาก็เหมือนได้ถอดคำบรรยายในห้อง แล้วก็ไปฟังเทปเพิ่มเติม พิมพ์ลงไปแล้วปรินท์ออกมาเป็นชีทเหมือนคำบรรยาย ผมก็ไปขอเขาแล้วมาอ่านเพราะว่าการบรรยายของท่านอาจารย์กิตติศักดิ์เราเลคเชอร์ตามท่านได้ยากมากครับ เพราะฉะนั้นวิธีที่จะช่วยได้คือหาอะไรที่เร็วกว่าวิธีการเขียนมือทำซึ่งเพื่อนผมทำแบบนั้น เป็นเพื่อนสนิทกัน ซึ่งเขาก็ช่วยเหลือผมเพราะว่าผมมีวิชาอื่นที่หนักอึ้งและเขาก็มีวิชาที่หนักเหมือนกัน ก็แบ่งปันกัน มันเป็นส่วนที่ดีมากพอผมได้เอามาเปิดอ่านทั้งหมดในส่วนคำบรรยายตรงนั้นมันทำให้เราเห็นว่าท่านอาจารย์กิตติศักดิ์เน้นในส่วนไหน พยายามอธิบายตลอดเลยว่าอาจารย์อาจจะออกข้อสอบได้นะ แบบรวมทุกเรื่องในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายแพ่งเข้ามา ออกทรัพย์บ้าง ออกครอบครัวบ้าง เข้ามาผสมกับมรดกให้เรามีความคิดในกฎหมายมุมอื่น ๆ บ้าง มันเลยทำให้ผมในวันที่ไปทำข้อสอบผมรู้สึกว่าในข้อของท่านอาจารย์กิตติศักดิ์มันจะต้องมีอะไรลึกเกินกว่าส่วนที่ทานสอน คือว่า เราจะต้องไปจับความรู้เก่า ๆ ของเราออกมาตอบครับ”
คำถาม (3.1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชากฎหมายปกครอง 2
ธัญชนิต : “ผมว่าวิชาปกครอง 2 เป็นวิชาที่หลากหลาย ก็คืออาจารย์มีหลายท่าน มีอาจารย์สุรพล อาจารย์สมคิด แล้วก็อาจารย์ต่อพงศ์ ซึ่งผมคิดว่าอาจารย์แต่ละคนมีสไตล์การสอนที่แตกต่างกันไปครับ แต่ว่าเวลาอาจารย์ท่านออกข้อสอบ วิชาพวกปกครองหรือวิชาสายมหาชนต่าง ๆ มันมีข้อดีอยู่ตรงที่ว่า อาจารย์จะออกข้อสอบภายในแค่ขอบเขตที่อาจารย์บรรยายเท่านั้น เพราะฉะนั้นวิธีการเตรียมตัวของวิชานี้ ผมจะใช้วิธีการถอดเทปคำบรรยายเป็นหลักเลยครับ”
“ก็คือว่า ใช้วิธีการถอดเทปคำบรรยายในแต่ละคาบ โดยแบบละเอียด พิมพ์ออกมาเหมือนเป็นชีท แล้วก็เอามาไว้เพื่อเตรียมตัวอ่านต่อไป แล้วถ้าเราสามารถจำกัดเรื่องของแบบแต่ละเรื่องออกมาได้ แบบเรื่องที่หนึ่งคือเรื่องนี้ เรื่องที่สองคือเรื่องนี้ เรื่องที่สามคือเรื่องนี้ โดยการดูจากข้อสอบเก่าครับ เราจะยิ่งสามารถตอบข้อสอบได้ดีขึ้น หรือว่าเรียนวิชานี้ได้ดีขึ้น เพราะว่ามันเหมือนกับว่ามันแบ่งแยกเนื้อหาออกจากกันอย่างชัดเจน เวลาตอบข้อสอบมันก็แยกจากกันอย่างชัดเจนด้วย ผมคิดว่าวิชานี้ สิ่งที่ช่วยเหลือผมอีกอย่างหนึ่งก็คือ หนังสือปกครองครับ 1 เล่ม ซึ่งตอนนั้นผมก็ซื้อมาแบบสุ่ม ๆ แบบไม่ได้คิดอะไรครับ แต่คิดว่าเป็นเล่มที่มีประโยชน์มากในเวลานี้ครับ ก็คือเล่มของอาจารย์สุริยา ปานแป้นกับอนุวัฒน์ บุญนันท์ครับ”
คำถาม (3.2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ธัญชนิต : “ผมว่าสไตล์การสอนของอาจารย์ทั้ง 3 ท่าน มีลักษณะบางส่วนที่คล้ายกันครับ ก็คือว่าจะเน้นไปในแนวทางที่ว่า พูดทฤษฎีครับของแต่ละแบบ แต่ละเรื่อง แต่ละหัวข้อ เช่น คำสั่งทางปกครอง กฎ แล้วก็อธิบายแยก โดยที่อาจารย์เขาจะแบ่งเนื้อหาจากกันเป็นส่วน ๆ อย่างชัดเจนแล้ว ก็คือว่าอาจารย์สุรพลจะอธิบายในเรื่องความทั่วไป อาจารย์สมคิดจะพูดในเรื่องละเมิดเจ้าหน้าที่ แล้วก็อาจารย์ต่อพงศ์จะพูดในเกี่ยวกับเรื่องของข้าราชการ พนักงาน แล้วก็ลูกจ้างของรัฐอะไรอย่างนี้ครับ”
“อาจารย์สุรพลก็จะยกตัวอย่าง ก็คือว่า เวลาในห้องเนี่ย จะเอาข้อเท็จจริงที่เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันครับ แบบมีข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องทางปกครองอย่างไร ที่ไปขึ้นศาลปกครองอย่างไร เช่น ตอนนั้นโรงเรียนหนึ่งก็มีข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วก็มหาลัยที่มีข้อพิพาทกันเรื่องเกี่ยวกับว่าข้อสอบหลุดออกไปก่อนครับ แล้วก็มีข้อพิพาททางปกครองกัน อาจารย์ก็จะเน้นไปในแนวทางปฏิบัติ เหมือนสอนแนวทางปฏิบัติเราด้วย เพราะท่านก็อยู่ในแวดวงของกฎหมายปกครองมาครับ”
“ส่วนของท่านอาจารย์สมคิด พอมันเป็นละเมิดแล้วครับ ท่านอาจารย์สมคิดก็จะเน้นโดยการเอาคำพิพากษาศาลฏีกา ศาลปกครอง มาบรรยายในการประกอบการสอน ก็คือว่าส่วนใหญ่แล้วจะมีแต่คำพิพากษาศาลฎีกากับศาลปกครองที่เอามาบรรยาย แล้วก็วิจารณ์อะไรอย่างนี้ครับ ว่ามันถูกต้องตามหลักอะไรอย่างไรครับ”
“แต่ถ้าเป็นส่วนของอาจารย์ต่อพงศ์ จะเป็นการสอนในเชิงเปรียบเทียบกฎหมาย ก็คือว่าจะสอนในเชิงเปรียบเทียบระหว่างกฎหมายไทย กฎหมายเยอรมัน กับกฎหมายฝรั่งเศสครับ เป็นในเชิงกฎหมายเปรียบเทียบ อันนี้คือจุดแตกต่างของอาจารย์ทั้งสามคนครับ”
คำถาม (3.3) : การสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนกฎหมายปกครอง 2 มากน้อยแค่ไหน
ธัญชนิต : “วิชานี้ไม่มีสัมมนาครับ ซึ่งผมคิดว่าวิชามหาชน มันไม่จำเป็นต้องมีสัมมนา ในมุมของผมนะครับ คือผมมองว่าการมีสัมมนาอาจะเป็นการเพิ่มภาระให้นักศึกษา เพราะผมมองว่าถ้าเวลาเราเรียนวิชาพวกกฎหมายปกครองในเทอมนั้น ๆ จะมีวิชาอื่นที่มีสัมมนาอยู่แล้ว การที่เราไปเพิ่มจำนวนชั่วโมงของการเรียนเข้าไปอีกในวิชานั้น ๆ มันจะเป็นภาระทำให้เวลาของเราลดน้อยลง เพราะว่าการบรรยายในคาบหลักของวิชานี้ มันดีอยู่แล้ว มันพร้อมที่จะไปสอบอยู่แล้ว”
คำถาม (4.1) : ได้คะแนนสอบกฎหมายปกครอง 2 แต่ละข้อเท่าไรบ้าง
ธัญชนิต : “อาจารย์สุรพลจะออกเป็นสามข้อ เป็นข้อบรรยายสองข้อ แล้วก็มีข้อตุ๊กตาหนึ่งข้อ ซึ่งเป็นข้อตัดคะแนนส่วนใหญ่ เพราะว่าข้อบรรยายส่วนใหญ่จะทำได้ถ้าอ่านหนังสือมา แต่ว่าข้อตุ๊กตาคือถ้าฟันธงผิด มันก็จะผิดไปจากหลักกฎหมายที่เราเข้าใจกันเลย ผมได้ 20 19 18”
“แล้วก็อาจารย์สมคิดจะออกหนึ่งข้อเป็นเรื่องเกี่ยวกับละเมิดเจ้าหน้าที่ แล้วเราต้องฟ้องศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ก็เป็นตุ๊กตาเหมือนกัน ผมได้ 19”
“อาจารย์ต่อพงศ์จะออกหนึ่งข้อ ส่วนของอาจารย์ต่อพงศ์นี่ก็อาจจะถามมาในเชิงเปรียบเทียบกฎหมายไทยกับต่างประเทศ แล้วให้เราวิเคราะห์ ก็เป็นบรรยาย ผมได้ 16 รวมก็ได้ 92 คะแนน”
คำถาม (4.2) : ใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบวิชากฎหมายปกครอง 2 อย่างไร
ธัญชนิต : “ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องมีในการเรียนวิชาสายกฎหมายมหาชน ผมขอพูดรวมเลย สายกฎหมายมหาชนตั้งแต่ที่ผมเริ่มเรียนมาตั้งแต่ปี 2 ถึงปี 4 ผมใช้วิธีการเข้าเรียนแล้วฟังเทป เหมือนเราต้องเข้าไปอัดเทปแล้วมาฟังอีกรอบเพื่อมาฟังรีรันอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าอย่างไรก็แล้วแต่มันไม่มีทางที่เราจะสามารถจดสิ่งที่อาจารย์พูดในคาบบรรยายวิชามหาชนได้ครบถ้วน เพราะมันไม่เหมือนวิชาที่เป็นวิชาสายแพ่ง หรือวิชาที่เนื้อหาไม่จำเป็นต้องจดอะไรทุกอย่างขนาดนั้นครับ ผมคิดว่าอาจารย์สายมหาชนมีเอกลักษณ์พิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ เราต้องเขียนให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะจำได้ในเรื่องนั้น ๆ ที่เวลาอาจารย์สอน ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างหรืออะไรก็ตามในข้อบรรยายนั้น ๆ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดของผมคือ ถอดคำบรรยายออกมาโดยที่ไม่ใช่เป็นการถอดแบบ word by word แต่เป็นการถอดโดยเปลี่ยนภาษาพูดของอาจารย์บางคำ หรือเปลี่ยนคำเชื่อมของอาจารย์บางคำให้มันเป็นภาษาของเราเอง แต่ว่าเรายังคงสาระสำคัญของอาจารย์พูดไว้เหมือนเดิม หรือคำใดที่เป็นศัพท์ทางเทคนิค ผมก็จะคงไว้เหมือนเดิม โดยที่เมื่อเราทำแบบนี้ เวลาเรากลับอ่านทวนเลคเชอร์ของเราอีกรอบ มันจะทำให้เราจดจำคำพูดของเราได้ 100% หรือเกินกว่านั้นไปครับ เพราะว่ามันจะเกิดการตกผลึกในความคิดด้วย”
“และผมคิดว่าหนังสือของอาจารย์สุริยา ปานแป้น ผมจะใช้ในพาร์ทของอาจารย์สมคิดเพียงท่านเดียว ของอาจารย์สุรพลผมจะไม่ได้เปิดอะไรมาก เหมือนว่าไม่ได้ดูอะไรมากในส่วนตรงนี้ แต่ว่าก็ดูได้ครับ เป็นประโยชน์อยู่ เพราะถ้าอ่านแล้วก็จะเข้าใจในแง่มุมอื่นมากขึ้น แต่ในพาร์ทของอาจารย์สมคิดที่ต้องดูเพราะว่าในเล่มของอาจารย์สุริยา ปานแป้น มีการอฺธิบายว่าทำไมศาลถึงต้องทำแบบนี้ เหมือนอธิบายวิเคราะห์ วิจารณ์คำพิพากษา ซึ่งตรงนั้นผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญ เพราะอธิบายเกินกว่าในห้อง”
คำถาม (5.1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
ธัญชนิต : “สำหรับวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองเนี่ยผมรู้สึกว่าเป็นวิชาที่ผมเข้าใจยากมากนะครับ ก็คือ ต้องลงแรงกับวิชานี้มาก ถ้าให้ผมเลือกว่าวิชาไหนในคณะนี้เป็นวิชาที่ยากที่สุดเนี่ย ผมคิดว่าวิชานี้สำหรับผมคิดว่ายากที่สุดแล้ว เพราะว่าตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมเข้าไปเรียนเลย ผมก็รู้สึกว่าไม่เคยรู้เรื่องเลยครับ เรียนประมาณ 5 คาบแล้ว จะผ่านไปครึ่งเทอม แต่ว่าก็ได้เข้าไปคุยกับอาจารย์จารุประภาว่า ทำไงดีผมเรียนไม่รู้เรื่องเลยอะไรอย่างนี้ แต่ก็เข้าใจว่ามันเป็นนิติวิธีของกฎหมายในอีกแง่หนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกับที่เราเคยเรียนมาเลยครับ ซึ่งก็อาจารย์ก็ให้คำปรึกษา ก็เหมือนแบบบอกแนวทางมาว่าให้ผมไปทำแบบนั้นแบบนี้นะครับ ซึ่งพอทำแล้วผลที่ออกมาก็ตอบโจทย์ครับ”
คำถาม (5.2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ธัญชนิต : “ก็คืออาจารย์นพดลกับอาจารย์จารุประภาจะแบ่งเนื้อหาออกจากกันคนละส่วนเลย แยกออกจากกัน อาจารย์นพดลจะมาส่วนก่อนในส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาส่วนพื้นฐานที่เราต้องรู้ก่อนที่จะไปต่อยอดในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งอาจารย์สอนในสไตล์ที่แบบแตกต่างกันครับ”
“คืออาจารย์นพดลก็จะมีชีทให้นะครับแล้วก็เหมือนสไตล์การสอนก็จะเป็นแบบว่าเปิดโอกาสให้มีการคิดให้มีการอะไรในประเด็นต่าง ๆ ที่แบบว่า ยังไม่มีข้อยุติในทางกฎหมายเนี่ยแล้วก็มียกตัวอย่าง Case Study ขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็เป็นการสอนหลักการพื้นฐานนะครับ ผมก็คิดว่ามันเป็นส่วนที่ดี”
“ถ้าเป็นในส่วนของอาจารย์จารุประภาเนี่ยจะลงลึกเลยว่าเพราะว่าเนื้อหาในส่วนแบบเฉพาะทางในเรื่องต่าง ๆ เช่น การใช้กำลังทางทหาร use of force อย่างนี้นะครับ หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์การการค้าโลก WTO อย่างนี้นะครับ ก็เป็นเรื่องเฉพาะต่าง ๆ ซึ่งมันยากมาก ตามที่ผมเข้าใจ ก็คือว่าเนื้อหาตรงนี้จริง ๆ แล้วเขาเรียนในระดับปริญญาโทกัน แต่ว่าคณะเราเอามาสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีกันแบบลงลึกเลย”
คำถาม (5.3) : การสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองมากน้อยแค่ไหน
ธัญชนิต : “สัมมนาก็จะเป็นในส่วนของอาจารย์นพดลเพียงแค่คนเดียวครับ คือในส่วนของอาจารย์จารุประภาจะไม่มีในส่วนของการสัมมนาครับ ซึ่งอาจารย์ท่านบรรยายแบบเหมือนไม่ได้บรรยายเนื้อหาทั้งหมดแต่ว่าอยากให้เราไปอ่านหนังสือแล้วทำสรุปขึ้นมาเองเพราะว่าอาจารย์ท่านบรรยายเหมือนปริญญาโทในต่างประเทศน่ะครับ เหมือนบรรยายให้เราคิดประเด็นต่าง ๆ ให้เราไปค้นคว้าหาข้อมูลกันเองมากกว่าครับ”
“ในส่วนตัวผมแล้วเนี่ย สัมมนาในส่วนของอาจารย์นพดลช่วยในการเรียนมากเลยครั บคือถ้าใครพลาดไม่เข้าสัมมนาเลย อาจจะทำให้พลาดอะไรบางอย่างไปเลย เพราะว่าบางครั้งอาจารย์มาเน้นในส่วนที่สำคัญในห้องสัมมนาอีกครั้งหนึ่งให้เราเข้าใจอีกครั้งหนึ่ง บางครั้งอาจารย์ทวนเนื้อหาให้เราอีกครั้งหนึ่งครับ”
คำถาม (6.1) : ได้คะแนนสอบกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองแต่ละข้อเท่าไรบ้าง
ธัญชนิต : “ผมจำได้ว่าผมได้ 19 สี่ข้อครับ คือข้อ 2-5 แล้วก็มี 15 มาข้อหนึ่งครับ ข้อนั้นเป็นของของอาจารย์จารุประภาเป็นเรื่อง WTO องค์การการค้าโลกซึ่งมันเป็นข้อที่ว่าวิธีการเขียนตอบจะไม่เหมือนกับวิชาที่ผมเคยเรียนมาเลยทั้งหมด ไม่ใช่การบรรยายด้วยแต่เป็นตุ๊กตาซึ่งวิธีการเขียนตอบมันยากมากครับ”
คำถาม (6.2) : ใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองอย่างไร
ธัญชนิต : “สำหรับวิชานี้ผมคิดว่าอย่างแรกเลยเราต้องเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดของวิชานี้ก่อนแบบภาพรวม เพราะฉะนั้นผมจะเลือกเล่มของอาจารย์ฐิติรัตน์ ที่เขียนมาเล่มสีขาว ๆ เล็ก ๆ เล่มนั้นมันจะอ่านง่ายแล้วก็อ่านเร็ว ไม่เหมือนหนังสือกฎหมาย แต่ว่าเป็นเหมือนหนังสือนิยายมากกว่าพออ่านไปแล้วมันจะเร็วนะครับ แล้วมันก็จะเห็นภาพรวมทั้งหมด ซึ่งแม้ในเนื้อหาที่เราเห็นมันแม้จะเป็นภาพรวมทั้งหมด แต่ก็มีเนื้อหาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญอยู่แบบมากพอสมควรแล้วด้วย ผมคิดว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่สามารถให้เราเริ่มต้นในการเรียนวิชานี้ได้เป็นอย่างดี”
“ต่อมาผมก็เริ่มด้วยวิธีการที่ผมถนัดที่ใช้ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา ก็คือการถอดเทปคำบรรยายของอาจารย์โดยการที่ผมจะเน้นคำพูดของอาจารย์ในห้องให้เป็นภาษาของตัวเองบวกกับเอาคำที่มันเป็นศัพท์เฉพาะทางเทคนิคจริง ๆ ผมจะไม่แก้คือว่าก็จะใส่มันไปตรงนั้นเลย แต่ว่าเราจะพยายามปรับเลคเชอร์ของเราเองให้เป็นภาษาของเราเองมากที่สุด ซึ่งผมจะไม่จดเลคเชอร์แบบสรุปนะครับ คือผมไม่ใช่ว่าเป็นคนที่จดแล้วจะสรุปคำสั้น ๆ แบบนี้อาจารย์พูดมาเยอะ ๆ แล้วเราจดมานิดเดียวมาอย่างนี้ผมจะไม่ทำแบบนั้น แต่ผมจะใช้วิธีที่ว่าผมจะเรียบเรียงเป็นประโยคเหมือนเป็นแบบถอดคำบรรยายมาเลยแต่เป็นคำบรรยายที่ผมได้ paraphrase เองนะครับ”
“ผมคิดว่าพอเราทำแบบนั้นได้ทั้งหมดแล้ว เราก็จะได้ชุดข้อมูลมาชุดหนึ่ง ก็คือชุดที่ในส่วนของคำบรรยายของท่านอาจารย์ แต่ว่าผมว่าอาจารย์จารุประภาเนี่ย คือเราจะเอาคำบรรยายไปตอบไม่เพียงพอเพราะว่าผมเคยคุยกับท่านอาจารย์มาในตอนเวลาที่ปรึกษา ในตอนที่ผมยังอยากรู้ว่าวิชานี้การที่จะทำให้ได้คะแนนดี ๆ มันต้องทำอย่างไร ท่านอาจารย์ก็บอกผมว่าการที่จะได้คะแนนดีวิชานี้ต้องไปหาความรู้ข้างนอกที่อาจารย์ไม่สอนเพิ่มเติมเข้ามาด้วย ก็คือว่าผมจะใช้หนังสือของท่านอาจารย์จตุรนต์ กับท่านอาจารย์จุมพต แล้วก็มีหนังสือของท่านอาจารย์จันตรีที่เป็นอาจารย์ของที่จุฬาฯอีกคน ก็คือผมจะใช้หนังสือหลาย ๆ เล่ม โดยที่เลือกเนื้อหาเฉพาะส่วนที่อาจารย์สอนในเรื่องต่าง ๆ เพราะว่าระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองนั้นเนื้อหากว้างขวางมาก เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะเอาเนื้อหาของอะไรมาอ่านเนี่ยเราก็จะต้องเลือกเฉพาะส่วนที่อาจารย์สอนจริง ๆ แล้วก็เหมือนแบบถึงถอดสรุปหนังสือออกมานะครับ แล้วก็ไปปนกับคำบรรยายที่ผมถอดมาเพื่อที่จะมาทำเป็นเหมือนแนวตอบว่า สมมติว่าถามว่าถามเรื่องนี้ผมจะตอบประมาณไหนโดยมีตัวอย่างอะไรบ้าง โดยการที่นำตัวอย่างจากหนังสือเล่มต่าง ๆ มารวมกันน่ะครับ”
คำถาม (7) : ข้อแนะนำเกี่ยวกับการเขียนตอบกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
ธัญชนิต : “การเขียนของวิชาระหว่างประเทศ ผมนับว่าเป็นวิชาหนึ่งทีอาจารย์ท่านผู้สอนตรวจเข้มอยู่พอสมควร แต่ไม่เกินความสามารถถ้าเราพยายาม ในส่วนของท่านอาจารย์จารุประภา บอกไว้ในคาบบรรยายเสมอ ถ้าจะได้คะแนนมากกว่า 15 ขึ้นไป ต้องมีส่วนที่อาจารย์เห็นว่ามันเกินกว่าในคาบบรรยายครับ และต้องเป็นคนที่เขียนดี เรียบเรียงมาดี ไม่ผิดลำดับ ตรวจกันแบบจริงจัง คนที่ได้คะแนนสูงในข้อนั้น ๆ ต้อง perfect จริง ๆ ผมใช้วิธีว่าเมื่อผมได้สรุปรวม source จากหลาย ๆ แหล่งมาแล้ว มารวมอยู่ในที่ ๆ เดียว ผมจะใช้วิธีแบ่งเรื่อง ก่อนที่เข้าห้องสอบไป ผมจะแบ่งเรื่องแล้ว เช่น เรื่องความเป็นรัฐ เรื่องใช้กำลังทางทหาร เรื่องดินแดน ผมก็จะแบ่งเป็นเรื่อง ๆ ไป โดยผมจะเอาข้อมูลทั้งหมดมาแปลงเป็นภาษาตัวเอง แล้วเอามาเขียนใส่ใน A4 เป็นชุดข้อมูลในแต่ละเรื่องไป แล้วผมจะจำ เหมือนอ่านข้อมูลที่ได้มาทั้งหมด แล้วจำเป็น bullet pointไป ว่าย่อหน้าหนึ่งเราต้องเขียนเรื่องนี้ สองเรื่องนี้ ไล่ไป ทำแบบนี้ให้ทุกเรื่องไปให้ครบครับ แล้วพอสอบจริง ๆ พยายามเขียนให้ได้แบบนั้น ซึ่งการสอบจริง ๆ การจะเขียนให้ได้แบบนั้นมีเงื่อนไขเดียวคือ การเข้าไปในวันนั้นต้องเขียนจากความรู้สึกและความเข้าใจ ถ้าท่องอย่างเดียวไม่ทันแน่นอน คือมันต้องเข้าใจบวกความรู้สึก เขียนออกมาเหมือนมันไม่ต้องคิดแล้ว เพราะว่าไม่งั้นมันจะไม่ทันเวลา จำเป็นต้องเข้าก่อนเวลา เข้าก่อนได้ 5 นาที เราก็ต้องเข้าก่อน 5 นาที แล้วก็ต้องเริ่มเขียนอะไรแบบนี้ให้มันเสร็จเลย เพราะไม่งั้นจะไม่มีทางทันแน่นอน เพราะต้องละเอียดมากในข้อของอาจารย์จารุประภา”
“ส่วนข้อของท่านอาจารย์นพดล ผมใช้วิธีการว่าท่านอาจารย์นพดลจะมีการสัมมนา คาบท้ายอาจารย์จะสโคปข้อสอบให้ เพราะข้อสอบของวิชาคดีเมืองเป็นสิ่งที่มันเหมือนออกทะเลไปเลย เพราะว่ามันไม่มีจุดสิ้นสุดของมันเลย ก็จะมีการสโคปข้อสอบให้ว่าเน้นเรื่องไหนบ้าง ผมจะเตรียมเรื่องนั้น ๆ มา ไปเตรียมมาว่าถ้าออกมาแล้วจะต้องตอบแบบไหน โดยจะใช้อีกวิธีคือ เมื่อได้แนวข้อสอบมาอีกครั้งว่าสโคปข้อสอบออกประมาณไหน ผมจะไปฟังเทปย้อนหลังฟังในเรื่องนั้น ๆ โดยผมจะถอดคำบรรยายออกมาอย่างละเอียดเลยกว่าครั้งที่แล้วที่ผมเคยทำ ทั้งตัวอย่าง ชื่อกฎหมาย ทั้งชื่อย่อชื่อเต็มกฎหมายภาษาอังกฤษ หรือบางครั้งผมวางหลักกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษและแปลให้ไปด้วยครับ คือเขียนให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
คำถาม (8) : ข้อแนะนำเกี่ยวกับการเขียนตอบกฎหมายปกครอง 2
ธัญชนิต : “การเขียนของอาจารย์สมคิดเรียกว่าจะมีเอกลักษณ์นิดนึงครับ คือในห้องบรรยายอาจารย์จะไม่เคยสอนเลยว่าการเขียน เขียนแบบไหนถึงจะได้คะแนนเยอะ แต่อันนี้เป็นประสบการณ์จากการที่ผมไปเขียนสอบ แล้วได้คะแนนเต็ม 20 มา ผมก็เลยคิดว่าการเขียนของท่านอาจารย์สมคิดถ้าจะให้ดี เราต้องเขียนเป็นลำดับ เป็นระบบ โดยที่เราจะต้องคิดขึ้นมาเองว่าการเป็นลำดับนั้นคืออะไร แต่ถ้าจะให้ผมพูดจากประสบการณ์ ถ้าเมื่อเป็นเรื่องละเมิดเจ้าหน้าที่แล้ว การที่เป็นละเมิดเจ้าหน้าที่ แต่ในพ.ร.บ.ละเมิดเจ้าหน้าที่ไม่มีคำนิยามคำว่าละเมิด เจ้าหน้าที่อยู่ เราจึงต้องไปยืมคำนิยามของละเมิดจากประมวลแพ่งมาใช้บังคับ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องปรับบท จำมาตราละเมิดของประมวลแพ่ง คือมาตรา 420 เข้าไปด้วย เพื่อไปไล่องค์ประกอบของละเมิดตามมาตรา 420 เข้าไป แล้วก็ต้องตอบไปก่อน แล้วค่อยไปปรับเรื่องของละเมิดเจ้าหน้าที่ครับ”
“การเขียนของท่านอาจารย์สุรพล ผมได้มีโอกาสไปคุยกับท่านในคาบสุดท้ายก่อนจบเทอม ท่านบอกว่า เราไม่จำเป็นต้องเขียนข้อสอบให้เยอะแยะมากมายแบบ 3 4 หน้า คือถ้าเราไม่หวังว่าจะได้ 20 เต็ม ท่านอาจารย์แค่ต้องการให้เขียนสาระสำคัญที่อาจารย์ถามก็เพียงพอแล้ว หน้าครึ่ง สองหน้าก็พอแล้ว แต่คนไหนที่หวังคะแนนสูงระดับ 20 เลย อย่างผมจะได้ 20 มาข้อนึง ผมจำได้ว่าข้อนั้นผมเขียนแบบ full option คือเขียนไปครบทุกอย่าง พร้อมกับยกตัวอย่างประกอบ ออกมาแล้วก็มีความคาดหวังว่าจะได้ 19 ถึง 20 ได้เลย ในอีกข้อนึงผมยังรู้สึกว่ายังเขียนตก ๆ หล่น ๆ ไปบ้าง แต่ว่ายังอยู่ในระดับเกณฑ์ที่ดี อาจารย์ท่านก็ให้มา 19 ครับ”
“ส่วนของท่านอาจารย์ต่อพงศ์ อาจจะแนะนำไม่ได้มาก เพราะผมได้ 16 จริง ๆ ก็เขียนไปเยอะมากพอสมควร ก็เลยไม่แน่ใจเรื่องการเขียนส่วนนี้”
คำถาม (9) : ข้อแนะนำเกี่ยวกับการเขียนตอบกฎหมายลักษณะมรดก
ธัญชนิต : “การเขียนของวิชามรดก ในส่วนของท่านอาจารย์ไพโรจน์ คิดว่าท่านไม่ได้ strict กับเรื่องการเขียนมาก ผมมองว่าการเขียนเปิดกว้างมากว่าเราจะเขียนแบบไหนก็ได้ แต่ว่าการเขียนวิชามรดกมีความเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้วในตัว คือเราต้องเขียนให้เป็นลำดับ เพราะว่าถ้าเราพิจารณาผิดขั้นหรือผิดลำดับ เหมือนตัวบทกฎหมายมันเขียนให้มาเป็นลำดับอยู่แล้ว ถ้าเราใช้ผิดหรือข้ามมาตราไป มันจะเหมือนว่าเราไม่เข้าใจเรื่องนั้นหรือมาตรานั้นจริง ๆ ผมเลยคิดว่าตอบข้ออาจารย์ไพโรจน์ไม่ยาก แต่ว่าเราจำเป็นที่จะต้องคิดว่าลำดับการตอบข้อสอบของเราก่อนถึงจะไปถึงวันจริง เราจะตอบไปในแนวทางไหน ผมจะใช้วิธีคุยกับเพื่อนสนิทสองสามคนในกลุ่มว่าเขาจะตอบข้อสอบแนวนั้นในแนวทางไหน ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่เคยเห็นแง่มุมนี้ว่าเขาจะต้องเขียนอะไรแบบนี้ก่อน แล้วก็มาเข้าใจเพราะว่าได้แชร์ความรู้กับเพื่อน จะได้รู้แนวว่าเราควรเริ่มจากจุดนี้ไปจุดนี้ต่อแล้วไปจุดสุดท้าย เพื่อสรุปคำตอบ”
“ถ้าเป็นในส่วนของท่านอาจารย์มาตาลักษณ์ ผมไม่รู้ว่าเป็นสูตรที่ใช้ได้จริงรึเปล่า แต่ว่าจากการที่ผมมาใช้มา 2 ครั้ง เพราะผมเรียนกฎหมายครอบครัวกับท่านมาด้วย ถ้าเป็นข้อบรรยาย ตอนนั้นมรดกท่านออกข้อบรรยาย ซึ่งผมได้ 20 เต็ม ผมคิดว่าที่ได้เต็ม เพราะเขียนเป็นลำดับขั้นตอน แล้วไม่หลุดกรอบคือว่าไม่ได้เขียนฟุ้งหรือเวิ่นเว้อเกินไป และผมพยายามทำอย่างไรก็ได้ให้อาจารย์เข้าใจว่าสิ่งที่ผมเขียนไปไม่ได้จำมาแค่หลักการ โดยความเข้าใจที่จะถ่ายทอดลงไปจะถ่ายทอดผ่านตัวอย่าง คือจะยกตัวอย่างขึ้นมา เหมือนยก situation ขึ้นมา เป็นข้อสอบสั้น ๆ เหมือนนาย ก. ทำแบบนี้กับ นาย ข. ในการกระทำแบบนี้ มันเลยเกิดผลตามมาตรานี้เพราะอะไร ยกเป็นตัวอย่างขึ้นมาตามเรื่องที่ผมอธิบายเลยครับ ถ้าสมมติออกเรื่องถูกตัดไม่ให้รับมรดก เพราะเหตุอะไร ผมจะยกตัวอย่างขึ้นมาเลย แล้วแต่ว่าโจทย์จะถามเรื่องอะไร”
“และในระหว่างที่ผมเป็น TA วิชาครอบครัว ท่านอาจารย์ได้บอกผมว่า เวลาท่านให้คะแนนดูจากตรงไหน ถ้าข้อบรรยาย ให้อ่านโจทย์แล้วหั่นโจทย์ออกมา คือให้หั่นโจทย์ออกมาเป็นคำสำคัญก่อนว่าในโจทย์มีคำสำคัญว่าอะไรบ้าง เช่นให้อธิบายการเสียสิทธิในการรับมรดก โดยเฉพาะในประเด็นของเรื่องการถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก พร้อมยกตัวอย่างประกอบและบทบัญญัติทางกฎหมาย เราก็อาจจะแยกออกมาว่า การเสียสิทธิในการรับมรดกคือหนึ่ง แล้วก็หั่นออกมาอีกเป็นการถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกเป็นเรื่องที่สอง แล้วก็สามเป็นเรื่องตัวอย่าง และสี่เป็นเรื่องหลักกฎหมาย เพราะฉะนั้นสี่อย่างเราต้องมีครบ เราชั่งน้ำหนักแล้วในสี่อย่างนี้การเสียสิทธิไม่ใช่ใช่ส่วนหลักที่จะต้องพูด เป็นแค่ส่วนบทนำ คือการเสียสิทธิมีสี่อย่างนะ โดยเราจะกล่าวถึงเฉพาะส่วนของการถูกกำจัดไม่ให้ได้รับมรดก โดยเฉพาะเรื่องนี้อาจเป็นส่วนที่ได้คะแนนมากที่สุด และสิ่งที่เราจะขาดไม่ได้คือตัวอย่างพร้อมกับตัวบทประกอบ คือเราต้องตอบให้ครบ 4 ส่วน เมื่อไหร่ที่ครบ 4 ส่วนแล้ว อาจารย์บอกว่าหลักภาษาสวยไม่สวยไม่ได้ concern ขนาดนั้น แต่ว่าอยากให้นักศึกษาตอบให้ครบมากกว่า แล้วถ้าแบบตัวอย่างบอกให้ยกอย่างน้อย 3 ตัวอย่าง เราควรตอบให้ครบ 3 ตัวอย่าง แต่ไม่ต้องถึงขนาดเป็น 4 5 6 ตัวอย่าง แม้เขียน 3 ตัวอย่างแต่เขียนถูกหมด อาจารย์ก็ให้คะแนนเต็มเท่ากันครับ”
“ต่อไปของท่านอาจารย์กรศุทธิ์จะไม่เหมือนเลย เพราะว่ามีการให้ตัวบทบัญญัติของประมวลแพ่งมาในข้อสอบแล้ว ซึ่งตอนที่ผมสอบในพาร์ทหลังมิดเทอมผมไม่ได้เปิดตัวบทบัญญัติเลย เก็บตัวบทไว้ใต้เก้าอี้ เพราะว่าในส่วนของข้อสอบมันลึกไปเกินกว่าที่ตัวบทบัญญัติให้มา คือเราต้องอาศัยความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมายหลายฝ่ายมาในการตอบ ซึ่งมันต้องผ่านการจำและความเข้าใจเข้ามาก่อนที่เราจะสอบอยู่แล้ว เปิดตัวบทอย่างไรก็ไม่มีสิทธิจะเจอในมาตรานั้น ๆ ตอนที่ผมตอบข้อสอบ ผมจะพยายามอธิบายหลักกฎหมายก่อน เหมือนตอบเป็นกึ่งบรรยาย กึ่งตุ๊กตาไปด้วยกัน อธิบายกฎหมายก่อนแล้วนำข้อเท็จจริงดึงลงมาในส่วนที่เป็นประเด็น แล้วตั้งประเด็นขึ้นมาว่าประเด็นในเรื่องนั้นคือเรื่องอะไร เพื่อเราจะพิจารณาว่าเราจะได้บอกต่อไปได้ว่ามีนักกฎหมายในประเด็นนี้เห็นต่างกันไปกี่ฝ่าย และผมเห็นตามฝ่ายนี้เพราะอะไร และไม่เห็นด้วยกับฝ่ายที่เหลือเพราะอะไร ข้อสอบส่วนใหญ่ก็จะเป็นประมาณนี้ ส่วนสำคัญเลยคือผมจะรู้ได้อย่างไรว่าการตอบในข้อของท่านอาจารย์กรศุทธิ์ครบ ผมจะเช็คจากในคาบสัมมนาของท่านอาจารย์กิตติภพ เพราะจะมีการนำข้อสอบมาเฉลย ตรงนี้จะเป็นส่วนสำคัญมากก็คือว่า เวลาคิดพิจารณาในประเด็นหนึ่ง เราต้องไล่ลำดับจากหนึ่งไปสอง สองไปสามอย่างไร ท่านอาจารย์กิตติภพก็จะเฉลยไล่ลำดับตามที่อยากจะให้ตอบข้อสอบอย่างนั้นจริง ๆ ครับ”
“ส่วนสุดท้ายของท่านอาจารย์กิตติศักดิ์ หลาย ๆ คนอาจคิดว่าท่านให้คะแนนยาก แต่สำหรับผมคิดว่าไม่ได้มากขนาดนั้น ผมคิดว่าท่านมีเกณฑ์การตรวจที่ไม่ได้เหมือนท่านอื่น แต่ว่าท่านบอกไว้เสมอว่า ถ้าอาจารย์อ่านคำตอบของนักศึกษาคร่าว ๆ ไปแล้วทั้งแผ่น แล้วอาจารย์เห็นว่านักศึกษาคนนี้เข้าใจหลักกฎหมายได้ดี ในเรื่องที่ถามแม้ตอบไม่ถูกธง เป็นการเปิดกว้างทางด้านความคิดเลย เราไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเราตอบถูกธงหรือไม่เราก็ได้คะแนนที่ดีได้ถ้าเราให้เหตุผลที่ดี ก็คือว่าแม้เราตอบเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ แล้ว แม้แค่ผิดธง อาจารย์อย่างไรก็ให้ผ่านไปก่อนอยู่แล้ว 12+ไปแล้ว ถ้าเขียนดีเข้าใจได้ง่ายก็ 15 ไปแล้ว ซึ่งการที่จะตอบครบธงคำตอบของท่านจริง ๆ ไหม ที่มันโยงกฎหมายหลายเรื่องหรือหลายมาตราเข้ามาด้วยกันอาจจะไม่ใช่สาระสำคัญที่เราต้องตอบครบธงขนาดนั้นครับ อย่างผมในธงเฉลยว่าเป็นการใช้กฎหมายโดยตรงเลย ก็คือใช้มาตราเกี่ยวกับทรัพย์ในกฎหมายมรดก มาตรา 1299 โดยตรง แต่อย่างผมยังไปตอบว่าเอาไปใช้ในการเทียบเคียงอยู่เลย ซึ่งท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร ยังให้มา 17 18 ซึ่งผมคิดว่ามันเปิดกว้างอยู่ที่ว่าเราจะอธิบายเหตุผลของเราในแง่มุมไหนมากกว่า ซึ่งผมก็ไม่ได้ใช้ตัวบทอีก ในข้อของอาจารย์กิตติศักดิ์เป็นการบรรยายกึ่งอุทาหรณ์ปรับลงไปด้วยกันเลย แล้วอธิบายหลักกฎหมายลงไป โชว์ความเข้าใจของเราจริง ๆ ว่าเราเข้าใจมาตราในเรื่องที่ถามจริง ๆ เท่านี้ผมคิดว่าเพียงพอแล้ว”
คำถาม (10) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ จะแนะนำอย่างไร
ธัญชนิต : “คำแนะนำเพิ่มเติม ผมจะพูดอย่างกว้างเลยนะครับ คือตั้งแต่เรียนคณะนี้มาจนถึงปี 4 ตัวผมไม่ใช่คนที่เรียนเก่งมาก่อน คือในระดับ ม.ปลาย เรียกได้ว่าผมเป็นบ๊วยของที่โรงเรียนเก่าเลย แต่ว่าการเรียนคณะนี้ในแต่ละวิชาต้องเริ่มจากการเปิดใจรับ คือเปิดใจรับอาจารย์ที่เราได้ section ในการเรียน คือเราได้ section ไหน ต้องเปิดใจรับว่าแต่ละ section มีความดีของมันอยู่แล้ว เราต้องฟังและพยายามเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่ยากเกินไป เพราะว่าเมื่อขึ้นว่าเป็นกฎหมาย ไม่ใช่คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือว่าสังคม ผมเชื่อว่าทุกคนเริ่มพร้อมกันครับ จุดออกเดินในแต่ละวิชาเริ่มพร้อมกันจาก 0 ไป 1 จนถึง 100 เท่า ๆ กัน เพราะฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับความพยายามของแต่ละคนแล้วครับว่าเราจะไปถึงตรงนั้นได้รึเปล่า ผมคิดว่าตรงนี้เป็นส่วนสำคัญ แล้วก็อีกอย่างคือผม concern เรื่องการเข้าเรียนมาก ไม่ว่าอย่างไรผมคิดว่าคนที่อ่านหนังสืออยู่ห้องอย่างเดียว ก็ไม่มีสิทธิจะสู้คนที่อ่านหนังสือและเข้าเรียนพร้อม ๆ กัน เพราะการเข้าห้องเรียนจะให้แง่มุมอื่นที่ในหนังสือไม่ได้ให้เราครับ อีกอย่างที่สำคัญสำหรับผมคือการฝึกเขียนตอบข้อสอบเก่าครับ คือในหนึ่งวิชา ผมจะเลือก 5 ข้อในข้อสอบย้อนหลัง 5 ปี ผมจะทำที่ย้อนเกิน 5 ปีเด็ดขาด เพราะข้อสอบมันจะเปลี่ยนแนว คือเลือก 5 ข้อมาใน 5 ชุด เพื่อมาเขียนตอบ เขียนจริง ๆ ไม่ได้ติ๊กแค่ธง แล้วเช็คตัวเองโดยการเทียบกับคำบรรยายและหนังสือว่าเราขาดตกบกพร่องตรงไหน แล้วเอาปากกาแดงเติมเข้าในประเด็นนั้น ๆ เพื่อที่ว่าเวลาสอบจริงถ้ามันออกมาในประเด็นนั้น ๆ อีกครั้ง มันเหมือนเราได้ซ้อมมือในประเด็นนั้นแล้ว ผมทำอย่างนี้ทุกวิชาก่อนที่จะเข้าไปสอบครับ”
ถ่ายภาพ CD
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK