ชนัญชิดา วงค์เงิน (สาม) นักศึกษารหัส 59 ศูนย์ลำปางที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชาบังคับชั้นปีที่ 3 ในภาค 2 ปีการศึกษา 2561 ถึง 3 วิชา ได้แก่ (1) วิชา น.351 กฎหมายปกครอง 2 กลุ่ม 2 บรรยายโดย ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ โดยได้ 95 คะแนน / (2) วิชา น.381 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บรรยายโดย ศ.ณรงค์ ใจหาญ ผศ.สาวตรี สุขศรี โดยได้ 86 คะแนน และ (3) วิชา น.382 กฎหมายลักษณะพยาน บรรยายโดย ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤติ รศ.ร.ต.อ.สรพลจ์ สุขทรรศนีย์ อ.ดร.จุณวิทย์ ชลิดาพงศ์ โดยได้ 96 คะแนน เราจะไปพูดคุยกับชนัญชิดาเกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนทั้งสองวิชา
คำถาม (1.1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชากฎหมายปกครอง 2
ชนัญชิดา : “โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นวิชาที่มีความสำคัญค่ะ เนื่องจากประเทศไทยเป็นระบบศาลคู่ ดังนั้นการทำความเข้าใจในเรื่องเขตอำนาจของศาลโดยเฉพาะศาลปกครอง ที่เป็นเรื่องเฉพาะจึงมีความสำคัญค่ะ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการฟ้องที่ผิดศาลค่ะ นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าเป็นการเรียนที่ต่อยอดจากกฎหมายปกครอง 1 ด้วยค่ะ โดยจะศึกษาในเรื่องมาตรการที่เป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง หรือก็คือการอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองค่ะ ซึ่งเราจะได้ศึกษาถึงหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ด้วยค่ะ”
คำถาม (1.2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ชนัญชิดา : “ในกลุ่มนี้มีอาจารย์ผู้สอน 2 ท่านค่ะ คือ ท่านอาจารย์จันทจิรา และ อาจารย์กิตติพงศ์ค่ะ”
“ในส่วนของท่านอาจารย์จันทจิรา ท่านจะรับผิดชอบเนื้อหาในส่วนการอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครอง ตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 ละเมิดเจ้าหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ละเมิดเจ้าหน้าที่ 2539 และเขตอำนาจศาลปกครอง ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ 2540 ซึ่งรูปแบบการสอนของท่านจะเป็นการบรรยายหลักเกณฑ์ และทฤษฎีในทางกฎหมายอย่างลึกซึ้ง กับทั้งยังเป็นการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นบางเรื่อง ที่ท่านอาจารย์ได้หยิบยกมาด้วยค่ะ และในส่วนของเขตอำนาจศาลปกครองได้มีการเชิญตุลาการศาลปกครอง ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องนั้นโดยตรงมาช่วยบรรยายในห้องเรียนด้วยค่ะ นอกจากนี้สำหรับเอกสารในการเรียนท่านมีการแยกในห้องค่ะ”
“ในส่วนของท่านอาจารย์กิตติพงศ์ ท่านจะสอนในเรื่อง วินัยข้าราชการพลเรือนค่ะ โดยท่านจะบรรยายถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ พร้อมทั้งได้มีการยกตัวอย่างประกอบในเรื่องนั้น ๆ ด้วยค่ะ นอกจากนี้เอกสารประกอบการเรียนของท่านค่อนข้างที่จะละเอียดสามารถทำเข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ”
คำถาม (2.1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ชนัญชิดา : “สำหรับส่วนตัวนะคะ คือ ด้วยความที่วิชานี้เนื้อหาจะเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ ซึ่งเราจะได้เรียนถึงกระบวนการ ขั้นตอน ต่าง ๆ ภายหลังจากการเกิดการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อกำหนดวิธีการดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหา และจากที่กล่าวมาแล้วว่า ด้วยความที่เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ ดังนั้นเนื้อหาที่เรียนจึงเป็นสิ่งที่เรายังไม่คุ้นเคยค่ะ เราไม่เคยเห็นกระบวนการจริง ๆ ที่เกิดขึ้น มันเลยไม่ค่อยเห็นภาพ ดูลอย ๆ ส่งผลให้เราอาจจะเข้าใจมันยากนิดนึงค่ะ ประกอบกับเนื้อหาในวิชานี้ค่อนข้างจะเยอะ จึงจำเป็นต้องจัดสรรเวลาในการศึกษาอยู่พอสมควรเลยค่ะ เพื่อให้เราสามารถผ่านวิชานี้ไปได้”
คำถาม (2.2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ชนัญชิดา : “วิชานี้มีอาจารย์ผู้สอนอยู่ 2 ท่านค่ะ คือ อาจารย์ณรงค์ และ อาจารย์สาวตรีค่ะ”
โดยท่านอาจารย์ณรงค์ ท่านจะสอนในเนื้อหาในส่วนแรก ในภาค 1 ข้อความเบื้องต้น และภาค 2 สอบสวนค่ะ ซึ่งแนวทางการสอนก็จะเป็นการอธิบายตัวบทมาตรา เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจในหลักกฎหมาย จากนั้นก็จะมีการยกตัวอย่างประกอบการบรรยายในเรื่องที่ท่านบรรยายค่ะ โดยตัวอย่างส่วนใหญ่ก็จะนำมาจากฎีกาค่ะ นอกจากนี้ด้วยความที่เป็นวิธีพิจารณา ท่านอาจารย์ก็จะนำฎีกาที่เป็นฎีกาวางหลักมาสอนด้วยค่ะ อย่างเช่น เรื่องผู้เสียหาย ตามมาตรา 2 (4) ค่ะ ก็จะได้ศึกษาถึงหลักเกณฑ์ว่าผู้เสียหาย มีหลักเกณฑ์อย่างไร ซึ่งศาลฎีกาท่านก็จะวางแนวไว้ค่ะ”
“ส่วนอาจารย์สาวตรี ท่านจะสอนในสวนหลัง คือ ภาค 3 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น ไปจนจบเนื้อหาของท่านค่ะ ซึ่งรูปแบบการสอนของท่านก็จะคล้าย ๆ กับท่านอาจารย์ณรงค์ค่ะ และบางครั้งในการบรรยายหากเรื่องใดมีประเด็นปัญหาทางกฎหมาย ในการใช้การตีความ ท่านก็จะมีการซักถามนักศึกษาในห้องเรียนด้วยค่ะ นอกจากนี้ท่านยังมีชีทบรรยายให้ในห้องเรียนประกอบการเรียนและการทำความเข้าใจด้วยค่ะ”
คำถาม (3.1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชากฎหมายลักษณะพยาน
ชนัญชิดา : “สำหรับวิชานี้กฎหมายที่เราจะได้ศึกษากันก็คือ ป.วิ.พ และ ป.วิ.อ ในส่วนของพยานหลักฐานค่ะ โดยจะเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติทั้งคู่ค่ะ ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษสำหรับวิชานี้นะคะ เนื่องจากว่าเราเคยแตะกฎหมายที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาความมาบ้างแล้วจึงอาจจะทำให้รู้แนวมากขึ้นว่าจะมีลักษณะอย่างไร”
คำถาม (3.2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ชนัญชิดา : “ในกลุ่มนี้มีอาจารย์ผู้สอน 3 ท่านค่ะ คือท่านอาจารย์อุดม อาจารย์สรพลจ์ สุขทรรศนีย์ และ อาจารย์จุณวิทย์ ชลิดาพงศ์”
“ส่วนของท่านอาจารย์อุดม จะได้ศึกษาในหลักการพื้นฐานของกฎหมายลักษณะพยาน อาทิ ประเด็นใดบ้างที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบ หลักเกณฑ์การยื่นบัญชีระบุพยาน และการน้ำหนักของพยานแต่ละชนิดว่าศาลสามารถรับฟังได้หรือไม่ หากรับฟังได้จะมีน้ำหนักเป็นเช่นไร โดยท่านจะอธิบายทฤษฎีทางกฎหมาย ยึดโยงกับตัวบทกฎหมายเป็นหลักค่ะ นอกจากนี้ก็จะมีการตั้งประเด็นทางกฎหมายในเรื่องนั้น แล้วให้นักศึกษาสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นในประเด็นนั้นได้ค่ะ และเมื่อศึกษาในเรื่องนั้นเสร็จก็จะมีการทำแบบฝึกหัดในห้องเรียนส่งอาจารย์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนงานที่มี 20 คะแนนด้วยค่ะ”
“ส่วนของท่านอาจารย์สรพลจ์จะได้ศึกษาในเรื่อง พยานบุคคล ค่ะ ว่ามีหลักการ กฎเกณฑ์อย่างไรบ้าง ซึ่งท่านจะบรรยายตัวบทกฎหมาย และ แนวคำพิพากษาศาลฎีกา ไปด้วยกันค่ะ นอกจากนี้ท่านยังมีเอกสารประกอบการบรรยายแจกให้ในห้องเรียนด้วยค่ะ ซึ่งเอกสารดังกล่าวทำให้เข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้นค่ะ”
“สำหรับส่วนสุดท้ายจะเป็นของท่านอาจารย์จุณวิทย์ค่ะ ซึ่งจะได้ศึกษาในเรื่องพยานเอกสารเป็นหลักค่ะ โดยรูปแบบการสอน ท่านจะอธิบายตัวบทมาตราเป็นหลักค่ะ และในการบรรยายเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นก็จะมีการยกตัวอย่างประกอบการบรรยายค่ะ นอกจากนี้ด้วยความที่เนื้อหาในแต่ละมาตราในเรื่องพยานเอกสารค่อนข้างที่จะเชื่อมโยงกันค่ะ ในการบรรยายท่านก็จะทำแผนผังความคิดให้ดู เพื่อช่วยในการทำความเข้าใจของนักศึกษาด้วยค่ะ”
คำถาม (4) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
ชนัญชิดา : “ทั้งสามวิชาไม่มีสัมมนาค่ะ แต่ในวิชาปกครอง 2 ในส่วนของท่านอาจารย์จันทจิรา ในคาบสุดท้ายของการบรรยายท่านจะนำข้อสอบเก่าในแต่ละเรื่องที่ท่านสอนมาช่วยกันทำในห้องเรียนค่ะ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญค่ะ เนื่องจากว่าเราจะได้รู้ว่าในแต่ละเรื่องนั้น มีประเด็นอะไรบ้าง และเราควรที่จะเขียนตอบอย่างไร กับเรายังสามารถที่จะรู้ได้ถึงรูปแบบข้อสอบที่เราอาจจะเจอในห้องสอบว่ามีรูปแบบอย่างไรด้วยค่ะ ซึ่งการสัมนาของท่านจะเน้นให้ผู้เรียนได้มีการคิดวิเคราะห์ในประเด็นต่าง ๆ ด้วยค่ะ และเวลาท่านเฉลยก็จะมีการเฉลยที่เป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งเราสามารถที่จะนำไประยุกต์ใช้ในการเขียนตอบข้อสอบตอนปลายภาคได้ค่ะ”
“และวิชาพยาน ในคาบบรรยายของท่านอาจารย์จุณวิทย์ ท่านจะนำข้อสอบมาลองให้ฝึกทำพร้อมกันในห้องเรียนค่ะ ภายหลังจากที่ได้เรียนเนื้อหาในเรื่องนั้น ๆ จบค่ะ ซึ่งการทำข้อสอบนั้นจะช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาในส่วนนั้นได้ดีขึ้น และรู้ประเด็นว่าในข้อสอบข้อนั้นมีกี่ประเด็นอะไรบ้าง และเราควรจะตอบในข้อนั้นอย่างไร ซึ่งอาจารย์ท่านก็จะได้บอกในคาบบรรยายด้วยค่ะ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่ามีการสัมมนามีประโยชน์ต่อเขียนตอบข้อสอบค่ะ”
“โดยส่วนตัวคิดว่าการสัมมนาเป็นสิ่งที่สำคัญที่นักศึกษาจะได้ฝึกตัวเอง เพราะการสัมมนา จะมีการทำข้อสอบย้อนหลังทำให้เราสามารถเข้าใจประเด็นได้ว่า โจทย์ ถามอะไร แล้วเราควรตอบอะไรบ้าง และควรจะตอบอย่างไร โดยเป็นการเรียงลำดับก่อน หลังของเนื้อหาค่ะ เพื่อให้ได้คะแนนที่ดี และการทำข้อสอบย้อนหลังจะทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าเวลาในการทำข้อสอบในแต่ละข้อของเราเป็นอย่างไร เพื่อเราจะได้จัดสรรเวลาในการทำข้อสอบจริงในห้องสอบได้ทันเวลาค่ะ นอกจากนี้ยังเป็นการทบทวนหลักกฎหมายที่สำคัญในเรื่องต่าง ๆ ทำให้สามารถที่จะจำหรือเข้าใจในเรื่องนั้นได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ”
คำถาม (5.1) : วิชากฎหมายปกครอง 2 ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
ชนัญชิดา : “วิชาปกครอง 2 ไม่มีการสอบกลางภาค ดังนั้นจึงสอบปลายภาคครั้งเดียว 100 คะแนนค่ะ โดยได้คะแนนในข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 4 ข้อละ 20 คะแนนค่ะ ข้อ 3 ได้ 17 คะแนน ส่วนข้อ 5 ได้ 18 คะแนนค่ะ เทคนิคในการเรียน สำหรับวิชากฎหมายปกครอง 2 ก็คือ โดยส่วนตัวจะเข้าเรียนในห้องเรียน และจดเลคเชอร์ ของตนเองเป็นหลักค่ะ นอกจากนั้นก็มีการทำ ผังทางความคิดในแต่ละเรื่อง อย่างเช่นหลักเกณฑ์การอุทธรณ์ภายใน ที่จะมีเงื่อนไขหลายเงื่อนไข อาทิ ตัวผู้อุทธรณ์ ระยะเวลาในการอุทธรณ์ รูปแบบของการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองเอง อย่างนี้ที่ทำก็เพื่อให้ตัวเองจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้นค่ะ นอกจากการเข้าเรียนแล้วก็มีการอ่านตำราอยู่บ้างในประเด็นที่ตัวเองไม่เข้าใจ หรือยังงงอยู่ค่ะ
“สำหรับเทคนิคในการสอบ โดยส่วนตัวคิดว่า วิชานี้เนื้อหาของวิชาอาจจะไม่ค่อยได้เยอะมากเท่าไรนักเมื่อเทียบกับวิชาที่ศึกษาในเทอมเดียวกัน แต่จะมีความละเอียดในเนื้อหาค่อนข้างมาก และข้อสอบส่วนใหญ่จะเป็นแนวบรรยาย กึ่งอุทธาหรณ์ กึ่งบรรยาย ด้วยค่ะ ดังนั้น เราจึงมีความจำเป็นต้องจัดสรรเวลาในการทำข้อสอบ เพื่อป้องกันการทำข้อสอบไม่ทันค่ะ ซึ่งคิดว่าการทบทวนในส่วนเนื้อหาอาจไม่เพียงพอ อาจจะต้องฝึกเขียนตอบด้วยค่ะ”
คำถาม (5.2) : วิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
ชนัญชิดา : “วิชานี้ไม่มีการสอบกลางภาคค่ะ จึงเป็นการสอบปลายภาคทีเดียว 100 คะแนน โดยได้คะแนนสอบข้อ 1 ข้อ 3 และ ข้อ 4 ข้อละ 18 คะแนน ข้อ 2 และ ข้อ 5 ได้ข้อละ 16 คะแนน ค่ะ”
“ส่วนเทคนิคในการเรียน สำหรับส่วนตัวคือ คิดว่าเราต้องหาสไตล์การเรียนของตัวเองก่อนว่าเราชอบแบบไหนเพื่อจะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นการฝืนตัวเองมากจนเกินไปค่ะ ซึ่งโดยส่วนตัวจะเน้นการเข้าเรียนในห้องเรียนเป็นหลัก เนื่องจากว่า ด้วยความที่เมื่อเรียนปีสูงขึ้น วิชาที่เรียนก็จะเยอะขึ้นซึ่งจะเรียนอย่างน้อย 5-7 ตัวในแต่ละเทอม ดังนั้นการที่ตัวเองจะอ่านหนังสือให้ครบทุกวิชาจึงค่อนข้างจะยาก จึงเลือกที่จะเข้าเรียนและจดเลคเชอร์ของตัวเองเป็นหลัก นอกจากนี้ก็จะมีการอ่านหนังสือประกอบบ้างเพื่อทำความเข้าใจมากขึ้น และถ้ายังไม่เข้าใจในประเด็นไหนก็จะถามอาจารย์ที่บรรยายในเรื่องนั้นค่ะ และด้วยความที่วิชานี้เป็นวิธีพิจารณา คำพิพากษาศาลฎีกาก็ถือว่าจำเป็นค่ะ เพราะเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจตัวบทได้มากขึ้นค่ะ ในส่วนของการเตรียมตัวสอบนั้น โดยส่วนตัวเมื่อทำความเข้าใจเนื้อหาแต่ละเรื่องแล้ว ก็จะมีการทำข้อสอบเก่าย้อนหลังค่ะ ประมาณ 5 ปีเป็นอย่างน้อย เพื่อให้เรารู้ประเด็น และเป็นการวัดหลักกฎหมายในเรื่องนั้นค่ะ ว่าเราเข้าใจเรื่องนั้นจริงหรือไม่ ถ้าทำข้อสอบเก่าแล้วยังงง ในประเด็นอยู่ก็ต้องไปอ่านเนื้อหาในเรื่องนั้นอีกรอบนึงค่ะ นอกจากการทำข้อสอบแล้วก็จะมีการฝึกเขียนด้วยค่ะ เพราะโดยส่วนตัวคิดว่า การฝึกเขียนทำให้สามารถจัดลำดับทางความคิดได้ค่ะ”
คำถาม (5.3) : วิชากฎหมายลักษณะพยาน ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
ชนัญชิดา : “สำหรับวิชานี้ไม่มีการสอบกลางภาคค่ะ แต่จะมีคะแนนแบบฝึกหัด 20 คะแนน ส่วน 80 คะแนนจะเป็นการสอบปลายภาคค่ะ โดยในข้อ 1 ที่เป็นคะแนนแบบฝึกหัดได้ 19 ค่ะ ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 5 ได้ ข้อละ 19 คะแนนค่ะ ส่วนข้อ 4 ได้ 20 คะแนนค่ะ ซึ่งวิชานี้ข้อสอบในส่วนของท่านอาจารย์อุดม และ ท่านอาจารย์สรพลจ์ ท่านจะมีข้อสอบ 2 ข้อให้นักศึกษาเลือกทำค่ะ”
“สำหรับเทคนิคในการเรียนกฎหมายลักษณะพยาน โดยส่วนตัวก็คือว่า การเข้าเรียนและจดเลคเชอร์เป็นหลักค่ะ นอกจากนี้ก็จะมีการอ่านหนังสือประกอบการบรรยายค่ะ ซึ่งหนังสือก็จะเป็นหนังสือที่ท่านอาจารย์แนะนำในห้องเรียน คือโดยส่วนตัวเรียนในส่วนแรก ๆ แล้วรู้สึกว่าตัวเองเริ่มสับสน เริ่มที่จะไม่ค่อยเข้าใจในเนื้อหาส่วนแรก ๆ ก็จะมีการทำสรุปย่อ และแผนผังทางความคิดเป็นของตัวเองค่ะ เพื่อจะทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจในเรื่องนั้นได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
“สำหรับเทคนิคในการเตรียมตัวสอบ โดยส่วนตัวเมื่อศึกษาเนื้อหาในเรื่องไหนเสร็จแล้วก็จะมีการทำข้อสอบเก่าย้อนหลังค่ะ และในช่วงสัปดาห์ของการสอบ คือโดยส่วนตัวจะพยายามให้ตัวเองจบเนื้อหาก่อนที่จะสอบวิชาแรกค่ะ และเวลา 2 วันที่อยู่ในช่วงการสอบก็จะมาทบทวนเนื้อหา และฝึกเขียนข้อสอบค่ะ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าบางคนอาจจะมีรูปแบบการเตรียมตัวสอบเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีค่ะ”
.
คำถาม (6) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
ชนัญชิดา : “โดยส่วนตัวคิดว่า การมีสอบกลางภาค มีทั้งข้อดีและข้อเสียค่ะ ในส่วนของข้อดี คิดว่า ถ้าวิชาใด เนื้อหาสามารถที่จะแยกกันได้ การมีสอบกลางภาค จะแบ่งเบาภาระปลายภาค ทำให้เนื้อหาปลายภาคไม่เยอะเกินไปค่ะ กับทั้ง คือ เมื่อเราสอบกลางภาคแล้ว เราจะรู้ว่าเราทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งเราสามารถที่จะคาดหมายผลที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเป็นข้อดีที่เราจะได้กลับมาทบทวนในข้อผิดพลาดของตัวเองอีกครั้งเพื่อจะได้ไม่ให้เกิดกับการสอบในตอนปลายภาคค่ะ แต่ข้อเสียอย่างแรกก็คือ เวลาในการเตรียมตัวที่ค่อนข้างจะเร็ว อาจทำให้เราเตรียมตัวได้ไม่ดีมากนักค่ะ และโดยส่วนตัวคิดว่าถ้าวิชาใดมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกันแล้ว การมีสอบกลางภาคอาจจะไม่เป็นการแบ่งเบาเนื้อหาในส่วนปลายภาคมากนักค่ะ และถ้าสมมติว่าลืมเนื้อหาในส่วนกลางภาคไปแล้วก็อาจจะต้องทำความเข้าใจในส่วนนั้นใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้เสียเวลามากกว่าค่ะ ดังนั้นโดยส่วนตัวคิดว่าการมีสอบกลางภาค จึงขึ้นอยู่กับเนื้อหาและลักษณะวิชามากกว่าค่ะ”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) “การมีตัวบทให้ในการสอบข้อดีก็คือเราไม่ต้องจำเลขมาตรา จำและทำความเข้าใจในหลักกฎหมายในเรื่องนั้นๆให้ครบถ้วนก็เพียงพอแล้วค่ะ นอกจากนี้ยังมีข้อดีก็คือว่า ในเรื่องไหนที่เราอ่านแบบข้ามๆ เพราะคิดว่าไม่น่าจะออกข้อสอบ แต่ถ้าออกจริงๆ เราก็ยังสามารถที่จะเปิดตัวบทแล้วทำมันได้ โดยที่เราไม่ต้องส่งกระดาษเปล่าค่ะ เพราะในตัวบทก็จะมีหลักกฎหมายในเรื่องนั้นๆอยู่ค่ะ แต่ถ้าไม่เข้าใจในเรื่องนั้นเลยการมีตัวบทให้อาจไม่ได้ช่วยอะไรมากนักค่ะ และข้อสอบของอาจารย์จะเป็นแบบวัดความเข้าใจความละเอียดมากกว่าวิชาที่ไม่มีตัวบทค่ะ ส่วนถ้าไม่มีตัวบทให้ เราก็ต้องจำหลักกฎหมาย เลขมาตราไปด้วยเพื่อใช้ในการปรับบทค่ะ ซึ่งอาจจะเยอะขึ้นนิดนึงค่ะ”
ถ่ายภาพ ST
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK