(จากซ้ายไปขวาในภาพ พัณณิตา วงศ์สวัสดิ์ นันทรัตน์ ขำตรี)
นันทรัตน์ ขำตรี (กิ๊ฟ) และพัณณิตา วงศ์สวัสดิ์ (อั้ม) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคปกติ ศูนย์รังสิต รหัส 61 คือผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชา น.111 กฎหมายอาญา : ภาคความผิด กลุ่ม 1 (บรรยายโดย ศ.ณรงค์ ใจหาญ ผศ.สาวตรี สุขศรี รศ.ดร.ณภัทร ณภัทร สรอัฑฒ์ สัมมนาโดยอ.เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร) และกลุ่ม 2 (บรรยายโดย ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท สัมมนาโดยอ.เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร) ตามลำดับ โดยนันทรัตน์ ได้คะแนนสอบ 89 คะแนน และพัณณิตาได้คะแนนสอบ 92 คะแนน วันนี้เราจะพาคุณไปพูดคุยกับนันทรัตน์และพัณณิตา เกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาดังกล่าว
หมายเหตุ สัมภาษณ์เมื่อ 13 มีนาคม 2563
(จากซ้ายไปขวาในภาพ นันทรัตน์ ขำตรี พัณณิตา วงศ์สวัสดิ์)
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชานี้
นันทรัตน์ : “ความจริงก่อนเรียนก็รู้สึกสนใจอยู่แล้วค่ะ แล้วพอได้เรียนก็รู้สึกว่าชอบ เพราะวิชานี้เกี่ยวข้องกับชีวิตเราโดยตรง ตอนเรียนก็เห็นภาพ ประกอบกับท่านอาจารย์ก็สามารถถ่ายทอดความรู้ให้เราได้อย่างเข้าใจด้วย ก็เลยรู้สึกชอบวิชานี้ค่ะ”
พัณณิตา : “ตอนก่อนเรียนก็รู้สึกมีความคิดว่าวิชานี้น่าจะเป็นวิชาที่สนุก แต่ยังนึกไม่ออกว่าการที่เราจะเรียนแต่ละความผิด มันต้องมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เพราะตอนเรียนภาคทั่วไปจะเรียนแค่เกี่ยวกับการกระทำเกี่ยวกับเจตนา แต่พอได้เรียนแล้วรู้สึกว่าเป็นการนำองค์ประกอบที่เราเคยเรียนในภาคทั่วไปมาใช้ และเจาะลึกแต่ละความผิดว่า ต้องเป็นการกระทำอย่างไรถึงจะกลายเป็นความผิดในกฎหมายอาญาได้ และรู้สึกว่าพอเราได้เรียนไปเรื่อย ๆ แล้ว สามารถนำมาโยงกับข่าวในเหตุการณ์ชีวิตจริงได้ ทำให้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว วินิจฉัยเองได้ เลยรู้สึกสนุกมาก ๆ ค่ะ ”
(พัณณิตา วงศ์สวัสดิ์ )
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
พัณณิตา : “อาจารย์สุรศักดิ์จะสอนตามชีทที่ท่านให้ และสอนเป็นตามลำดับไป คือองค์ประกอบภายนอก องค์ประกอบภายในและถ้ามีเงื่อนไขการลงโทษทางภาวะวิสัยก็จะสอนด้วยค่ะ ก็จะเป็นตามลำดับไปเลย ส่วนอาจารย์ปกป้องก็จะเป็นลำดับเหมือนกัน แต่ว่าท่านไม่มีหนังสือ มีแต่ชีทเรียน และต้องอ่านเพิ่มเอาเองบางส่วน ท่านจะแบ่งส่วนบรรยายเป็นสาย ประมาณ 12-13 สายเกี่ยวกับความผิดที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกัน”
(นันทรัตน์ ขำตรี)
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
นันทรัตน์ : “สำหรับท่านอาจารย์ณรงค์ก็จะใช้เป็นสไลด์ประกอบกับตัวบท อาจารย์จะให้เราดูสไลด์ แล้วอธิบายตัวบทประกอบไปทีละมาตราค่ะ สำหรับท่านอาจารย์สาวตรีจะไม่มีสไลด์เลยเป็นคำบรรยายล้วน แต่ว่าท่านอาจารย์มีลักษณะการบรรยายที่ทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพโดยไม่ต้องดูสไลด์เลยค่ะ ท่านอาจารย์จะสอนไปทีละหมวด แต่ละมาตราความผิดอาจารย์จะสอนตั้งแต่สิ่งที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครอง องค์ประกอบของความผิดทั้งภายนอกและภายใน ส่วนท่านอาจารย์ณภัทรจะสอนโดยใช้สไลด์ โดยเอกสารประกอบการบรรยายของท่านอาจารย์ณภัทรจะมีความละเอียด และตรงกับที่ท่านอาจารย์บรรยาย ทำให้เราเข้าใจได้ง่าย และเวลาทบทวนก็ทำได้ง่ายค่ะ”
(จากซ้ายไปขวาในภาพ พัณณิตา วงศ์สวัสดิ์ นันทรัตน์ ขำตรี)
คำถาม (3) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
นันทรัตน์ : “สัมมนาโดยท่านอาจารย์เพียรรัตน์ อาจารย์จะสรุปเนื้อหาแต่ละหมวดก่อน หลังจากนั้น อาจารย์จะนำโจทย์มาสอน ทำให้เรารู้ว่าเราควรจะเน้นตรงไหน เราควรจะอ่านตรงไหน ทำให้เราเข้าใจเนื้อหามากขึ้น หลังจากจบการสัมมนาอาจารย์ก็จะสั่งการบ้านให้เราเขียนส่งค่ะ การที่ฝึกเขียนก็จะช่วยให้เรารู้ว่าควรจะเขียนอย่างไรค่ะ”
“การส่งสัมมนา ก็ส่งพอสมควรค่ะ แต่ว่าถ้าอันไหนที่ไม่ได้ส่งก็จะให้รุ่นพี่ที่เคยเรียนมาแล้วช่วยตรวจค่ะ”
“คิดว่าการส่งสัมมนาจำเป็นค่ะ การที่เราเขียนทำให้เรารู้ว่าเราเข้าใจเนื้อหามากน้อยแค่ไหนแล้ว และการเขียนเป็นส่วนสำคัญทำให้เราสามารถเหมือนตกผลึกทางความคิดเข้าใจเนื้อหาในส่วนนั้น ๆ มากยิ่งขึ้น แบบบางทีตอนที่เราไม่ฝึกเขียนเราจะคิดว่าเราเข้าใจแล้ว พอลองเขียนจะทำให้เรารู้ว่าในส่วนไหนที่เรายังไม่รู้ และทำให้เราไปหาคำตอบในองค์ประกอบนั้นเพิ่มขึ้น”
พัณณิตา : “การสัมมนาทำให้เข้าใจภาพรวมของความผิดฐานนั้นมากขึ้น และรู้ว่าควรจะเขียนอย่างไรในการตอบข้อสอบ คือเราควรจะปรับองค์ประกอบไหนก่อนหลัง และอาจารย์จะสอนความเห็นต่างของเซคอื่นด้วย เพราะตอนนั้นสัมมนารวมกัน 2 เซคค่ะ”
“ส่งสัมมนาประจำค่ะ เพราะว่าอยากรู้ว่าการเขียนตอบกฎหมายอาญาต้องไล่ลำดับอย่างไร เพราะเขียนไปตอนแรกโดนติกลับมาพอสมควร ว่าไม่ควรเอาเนื้อหาภาคทั่วไปมาเขียนเยอะ เพราะอาจารย์ไม่ได้เอาส่วนนั้นมาวัดผล และจะได้รู้ว่าเราควรแก้ไขความละเอียดจุดไหนบ้าง”
“คิดว่าการส่งสัมมนาจำเป็นค่ะ มันเป็นการลำดับความคิด เพราะว่าถ้าไม่ได้ฝึกเขียนเลยไปเขียนในห้องสอบทีเดียว เราจะไม่รู้ว่าควรเริ่มจากตรงไหน”
(แล้วมีปัญหาไหมเวลาสัมมนารวมกัน 2 เซค?)
พัณณิตา : “ไม่มีค่ะ แค่เซคหนูจะมีรายละเอียดที่น้อยกว่าอีกเซคนึงนิดหน่อย เพราะว่าไม่ได้เรียนความผิดเกี่ยวกับเพศค่ะ”
นันทรัตน์ : “ส่วนตัวไม่มีปัญหาค่ะ ทำให้เราได้รู้ความเห็นของอีกเซคชั่นนึงด้วยค่ะ ดีค่ะ”
(พัณณิตา วงศ์สวัสดิ์ )
คำถาม (4) : ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
พัณณิตา : “มี 18 19 19 19 และ 17 ค่ะ”
“ก็คือ อาจารย์สุรศักดิ์ 2 ข้อแรก อาจารย์ปกป้อง 2 ข้อต่อมา ข้อสุดท้ายของอาจารย์เพียรรัตน์ได้ 17 ตอบผิดธงไปนิดนึงค่ะ แต่ว่าให้เหตุผลไปค่ะ”
“ปกติจะอ่านหนังสือตลอดเทอมอยู่แล้วค่ะ เรียนเสร็จก็เอาบรรยาย และชีทของอาจารย์มาสรุปลงในสมุดของตัวเอง พอก่อนสอบก็อ่านแค่สรุปที่เราสรุปเป็นภาษาตัวเอง และฝึกเขียนส่งพี่ TA ค่ะ”
“ก่อนสอบก็จะอธิบายเพื่อนค่ะ เพื่อนจะค่อยข้างทักมาถามคำถามแปลก ๆ เยอะมาก พอข้อไหนไม่รู้ก็จะพยายามค้นหาคำตอบ หรือไปถามอาจารย์ ถามพี่ เอามาอธิบายเพื่อนดูค่ะ”
นันทรัตน์ : “กลางภาคของท่านอาจารย์ณรงค์ได้ 17 ค่ะ ปลายภาคสี่ข้อได้ ข้อแรกได้ 19 ข้อสอง 16 ข้อสาม 17 ข้อสุดท้ายได้ 20 ค่ะ”
“ส่วนตัวเน้นเข้าฟังบรรยาย ถ้าคาบไหนไม่เข้าจะฟังไฟล์เสียง พอเราเข้าฟังแล้วต้องรีบจด เพราะท่านอาจารย์พูดเร็ว ก็รีบจดแล้วกลับมาสรุปอีกครั้งนึงหลังเรียน ส่วนไหนไม่ทันก็พยายามถอดเทป ส่วนตัวช่วงปี 1 มีเรียนภาคบังคับแค่ 3 วิชา ก็เลยมีเวลาถอดเทปได้เกือบหมดค่ะ แล้วก็อ่านอีกครั้งนึง และพยายามสรุปจากหนังสือ โดยท่านอาจารย์ณรงค์กับท่านอาจารย์ณภัทรใช้หนังสือของท่านอาจารย์ทวีเกียรติ พออ่านแล้วทำให้เราเห็นภาพรวมและเข้าใจมากขึ้น ส่วนท่านอาจารย์สาวตรี หนูลองไปอ่านของท่านอาจารย์คณิตดู แล้วรู้สึกว่าอาจารย์บรรยายไปในแนวทางเดียวกับท่านอาจารย์คณิตเลยไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองหรือองค์ประกอบของความผิด หรือว่าตัวอย่างก็เหมือนอาจารย์นำมาจากของท่านอาจารย์คณิตเลย แต่บางคนก็บอกของท่านอาจารย์คณิตอ่านยาก อันนี้ก็น่าจะขึ้นอยู่กับคนด้วย หนูมองว่าลองอ่านดูก็ดีถ้าไม่ถนัดก็ไม่ต้องอ่านก็ได้ไม่เป็นไร อาจจะอ่านเล่มอื่นเช่นของอาจารย์ทวีเกียรติก็ได้ค่ะ”
“ก่อนสอบก็อ่านสรุปที่เราทำไว้ และสิ่งที่เรียนมันมีเยอะมาก เรื่องไหนที่เริ่มลืม ช่วงเวลาปี 1 มีเวลาเหลือเยอะมาก ก็จะฟังไฟล์อีกรอบหนึ่งในเรื่องเราลืมไป ก็พยายามฟังทวน และพยายามอ่านมาตราบ่อย ๆ จะช่วยให้เราจำได้มากขึ้น สำคัญเลยก็คืออ่านบ่อย ๆ และฝึกทำข้อสอบค่ะ”
(นันทรัตน์ ขำตรี)
คำถาม (5) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
นันทรัตน์ : “อันนี้แล้วแต่วิชาค่ะ อย่างเช่นกฎหมายอาญาภาคความผิด เรายังอยู่ในขั้นปรับตัวกับเนื้อหาอยู่ การสอบอาจจะกระชั้นชิดไป บางที่เรายังทำความเข้าใจกับเนื้อหา ยังไม่เข้าใจตัววิชาว่าเราควรจะรู้อะไรบ้าง บางทีก็ยังทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่จะสอบไม่ครบ ก็ดีค่ะแต่ว่ามองว่าถ้าอยากแบ่งกลางภาคกับปลายภาค อาจารย์ควรที่จะไม่นำเนื้อหาที่สอบแล้วในกลางภาคมาสอบในปลายภาคอีก หรือถ้าอาจารย์จะนำมาก็ควรจะบอกขอบเขตที่จะออกเพื่อให้นักศึกษาสามารถเตรียมตัวได้ง่ายขึ้นค่ะ”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) “ก็คิดว่าขึ้นอยู่กับวิชามากกว่า ถ้าวิชาไหนที่ตัวบทไม่ได้เยอะ อาจจะไม่ต้องมีก็ได้ แต่ถ้าวิชาไหนตัวบทเยอะ อย่างเช่นหนี้หรือสัญญาทางพาณิชย์ การมีตัวบทให้จะช่วยให้เราลดภาระ ลดความกังวลไปได้มาก ทำให้เราเน้นไปทำความเข้าใจในเนื้อหาได้มากขึ้น”
(พัณณิตา วงศ์สวัสดิ์ )
คำถาม (5) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
พัณณิตา : “ตอนปี 1 ยังรู้สึกว่าเป็นการแบ่งเบาภาระพอสมควรค่ะ จะทำให้การเขียนติดต่อกัน 3 ชม. ตอนปลายภาคเบาลง และเนื้อหาแบ่งพาร์ทไปทำให้อ่านน้อยลงตอนปลายภาคค่ะ”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) “การวางหลักกฎหมายอาญา เป็นการวางองค์ประกอบของแต่ละความผิดค่ะ ก็เลยไม่คิดว่าน่าจะจำเป็น”
(จากซ้ายไปขวาในภาพ นันทรัตน์ ขำตรี พัณณิตา วงศ์สวัสดิ์)
คำถาม (6) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
นันทรัตน์ : “สำหรับหนูคิดว่าควรเข้าฟังบรรยาย การอ่านหนังสืออย่างเดียวมันไม่เหมือนกับการที่เราเข้าฟังบรรยาย การเข้าฟังจะทำให้รู้ว่าท่านอาจารย์มีสไตล์การสอนแบบไหน มีเนื้อหาอะไรบ้างที่เราควรรู้ ควรเน้นอ่านเพื่อทำความเข้าใจ การที่เราไปฟังอาจจะทำให้เราเข้าได้ง่ายยิ่งขึ้น พอกลับมาอ่านหนังสือก็จะยิ่งเห็นภาพรวม ถ้าไม่ได้เข้าฟังก็ควรขอไฟล์เสียงจากเพื่อนกลับมาฟัง และสรุปหรือว่าอ่านในหนังสือเพิ่มเติม ที่สำคัญคือการฝึกเขียนจะทำให้เรารู้ว่าเรามีความรู้ระดับไหนแล้ว ควรอ่านส่วนไหนเพิ่มและทำให้เราตกผลึกทางความรู้ด้วยค่ะ”
พัณณิตา : “อาจารย์ก็จะสอนเน้นตามความเห็นของอาจารย์ ถ้าเป็นอาจารย์สุรศักดิ์ควรอธิบายความเห็นของอาจารย์ไปก่อน ถ้าเห็นต่างจริง ๆ ค่อยอธิบายเพิ่มทีหลัง ของอาจารย์ปกป้องอาจารย์ไม่มีปัญหากับการเขียนบรรยาย เราปรับแค่องค์ประกอบตามที่อาจารย์สอนก็จะได้คะแนนดีแล้ว แล้วก็อ่านทบทวน หมั่นเขียนบรรยายการกระทำให้มันค่อนข้างละเอียด ว่ามันต้องเป็นอย่างไร”
ถ่ายภาพ CD
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK