จากซ้ายไปขวาในภาพ กมลชนก ต่อมแก้ว (นก) ภักดิ์จิรา จันทนาตา (แป้ง) ปภัสรา กวางทอง (มุก) ชญานนท์ แสงอ่วม (ฟลุค)
วิชาน.230 เอกเทศสัญญา 1 (ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ) เป็นหนึ่งในวิชาบังคับของชั้นปีที่ 2 (หลักสูตรเก่า) ซึ่งปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของวิชา น.230 กฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ 1 ของหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561 เราจะพาคุณไปคุยกับนักศึกษารหัส 61 ซึ่งสอบได้คะแนนสูงสุดในวิชาน.230 ในภาค 2/61 ทุกกลุ่มบรรยายของศูนย์รังสิต ถึงเทคนิคในการเรียนและมุมมองอื่น ๆ เกี่ยวกับวิชาดังกล่าว
- ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่ม 1 (บรรยายโดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร สัมมนาโดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อ.กิตติภพ วังคำ) ได้แก่ ชญานนท์ แสงอ่วม (ฟลุค) และปภัสรา กวางทอง (มุก) คะแนนที่ได้ 99 คะแนน
- ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่ม 2 (บรรยายและสัมมนาโดย อ.ดร.จุณวิทย์ ชลิดาพงศ์) ได้แก่ ภักดิ์จิรา จันทนาตา (แป้ง) คะแนนที่ได้ 97 คะแนน
- ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่ม 3 (บรรยายโดย ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ ผศ.ดร.กิตติวัฒน์ จันทร์แจ่มใส) ได้แก่ กมลชนก ต่อมแก้ว (นก) คะแนนที่ได้ 87 คะแนน
หมายเหตุ สัมภาษณ์เมื่อ 10 มีนาคม 2563
จากซ้ายไปขวาในภาพ กมลชนก ต่อมแก้ว (นก) ภักดิ์จิรา จันทนาตา (แป้ง) ปภัสรา กวางทอง (มุก) ชญานนท์ แสงอ่วม (ฟลุค)
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชาเอกเทศสัญญา 1
กมลชนก : “จริง ๆ ก่อนเรียนหนูมองว่าพื้นฐานของมันก็มาจากนิติกรรมสัญญากับหนี้ มันเป็นวิชาที่มันมีความหลากหลายเพราะว่ามันมีหลายสัญญามาก ๆ ในวิชานี้ ไม่ว่าจะเป็นซื้อขาย ขายฝาก ซื้อขายเฉพาะอย่าง เช่าทรัพย์ เช่าซื้ออะไรอย่างนี้ค่ะ ด้วยความที่มันมีหลายสัญญา มันก็หลายเป็นวิชาที่หนูมองว่ามันมีความหลากหลาย แต่ว่ามันมาจากพื้นฐานเดียวกัน และพอเรียน ๆ ไปหนูรู้สึกว่ามันเป็นวิชาที่ทำความเข้าใจไม่ยาก เพราะว่าในเรื่องของในห้องกับนอกห้องเรียนเป็นตัวอย่างต่าง ๆ เนี่ย มันลิงก์กัน ด้วยความที่ในชีวิตประจำวันเราทำนิติกรรมสัญญาอยู่แทบจะตลอดเวลา มันทำให้เราเห็นตัวอย่าง ซึ่งมันทำให้เราปรับกับหลักกฎหมายในห้องเรียนได้”
ภักดิ์จิรา : “ก่อนเรียนรู้สึกว่าเป็นวิชาที่ค่อนข้างเนื้อหาเยอะค่ะ คือมันมีหลายสัญญาด้วยกัน ก็เลยคิดว่า เอ๊ะ เราจะจำยังไงหมด แบบมันมีเงื่อนไขยังไงบ้างในแต่ละสัญญา ในความชอบความไม่ชอบของสัญญาในการทำอย่างนี้ค่ะ แต่พอเรียนแล้วเหมือนกับว่าก็มีการจัดลำดับความคิดมากขึ้นว่าแต่ละสัญญามันก็มีสิ่งที่แตกต่างกันไปค่ะ”
ปภัสรา : “คือถ้าก่อนเรียนจะได้รู้สึกวิชาเอกฯ 1 มาตั้งแต่ตอนเรียนนิติกรรมอะค่ะ เวลาที่อาจารย์สอน คือตอนนั้นก็เรียนกับอาจารย์กรศุทธิ์ อาจารย์จะบอกว่าเดี๋ยวไปเรียนต่อในตอนเอกฯ 1 ก็เลยรู้สึกว่ามันคงจะเป็นวิชาเฉพาะของนิติกรรมขึ้นมา ให้มีพื้นฐานของนิติกรรมมาก่อน แล้วพอมาเรียนจริง ๆ ก็เป็นแบบนั้น มันเป็นเฉพาะ แล้วก็เป็นสัญญาต่าง ๆ เยอะขึ้น แล้วเป็นคนที่ชอบเรียนวิชาแพ่งอยู่แล้วค่ะ ตอนเรียนก็เลยรู้สึกว่ามันสนุกแล้วมันเป็นวิชาที่สนใจ”
ชญานนท์ : “คือโดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบกฎหมายทุกสาขาอยู่แล้วครับ ถ้าเรียนรู้เรื่องก็จะยิ่งชอบไปใหญ่เลย แต่จะชอบเป็นพิเศษก็ในกฎหมายแพ่งครับ ซึ่งจริง ๆ ก็ชอบทุกวิชา ทั้งก่อนเรียนก็รู้สึกอยากเรียน หลังเรียนก็เป็นอย่างนั้นเหมือนเดิม”
ปภัสรา กวางทอง (มุก) ชญานนท์ แสงอ่วม (ฟลุค)
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ชญานนท์ : “สำหรับอาจารย์กรศุทธิ์ ในความคิดผมคืออาจารย์ทำให้การเรียนทุกอย่างมันง่ายขึ้นครับ อย่างเราเข้าไปเรียนเนี่ยก็จะมีการพักทุก 1 ชั่วโมงก็เลยไม่เครียด แล้วก็อย่างเอกสารการบรรยายเนี่ยละเอียดเหมือนเรารวม ๆ แล้วก็เป็นหนังสือได้เล่มนึงเลย แล้วก็มีการตอบข้อสงสัยนักศึกษาครับจะมีทั้งทางอีเมล แล้วก็ในห้องเรียนก็สามารถสอบถามได้ช่วงเวลาพักอะไรอย่างนี้ครับ การเรียนมันก็เลยดูง่ายแล้วก็ไม่เครียดครับ”
“ในส่วนของอาจารย์สุรศักดิ์ในส่วนตัวผมเห็นว่าเอกสารของอาจารย์มันจะค่อนข้างไม่ค่อยเข้าใจถ้าเกิดเราไม่ได้ฟังบรรยายอะไรอย่างนี้ครับ แต่ในส่วนของการบรรยายผมอาศัยฟังเสียงในส่วนที่ไม่เข้าใจหรือไม่ทันอะไรอย่างนี้ก็จะทำให้เข้าใจมากขึ้น แล้วอาจารย์ก็จะมีคลิปใหม่ ๆ มาเปิดให้ดู ทำให้สนุกไม่เครียดดีครับ”
ปภัสรา : “ถ้าของอาจารย์กรศุทธิ์อะค่ะ อันดับแรกก็คือเรื่องเอกสารอะค่ะ เอกสารอาจารย์ละเอียดมาก อ่านแทนหนังสือได้เลยไม่ต้องอ่านเพิ่ม เพราะปกติหนูก็อ่านแต่ชีทของอาจารย์ค่ะ แล้วก็อย่างเรื่องถามตอบที่อาจารย์จะให้ถามทางอีเมล แล้วก็มีทั้งสัมมนาให้ด้วย มันก็ทำให้สะดวกที่จะถามที่เราสงสัยได้ค่ะ”
“อาจารย์สุรศักดิ์จริง ๆ มีเอกสารให้แต่เอกสารจะเป็นพวกหัวข้อเป็นประเด็นที่เราต้องจดเพิ่มเติมเอา แล้วอาจารย์ท่านจะยกตัวอย่างที่มันแปลก ๆ ทำให้เราจำได้ง่ายขึ้น เป็นตัวอย่างที่สนุกขึ้น จำง่ายขึ้น แล้วก็อาจจะมีความเห็นเข้ามาด้วยค่ะ”
ภักดิ์จิรา จันทนาตา (แป้ง)
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ภักดิ์จิรา : “รูปแบบการสอน อาจารย์จะมีชีทมาให้ค่ะแล้วก็ให้เราเลคเชอร์ตาม สอนแบบสไลด์นี้ก็จะเป็นอย่างนี้ แล้วก็จะมีเป็นเลคเชอร์เพิ่มเติมตามสไลด์ไปอย่างนี้ค่ะ แล้วก็มีประเด็นแต่ละประเด็นที่ให้มา คืออาจารย์จุณวิทย์เป็นคนที่สอนค่อนข้างละเอียดอะค่ะ แบบมีประเด็นค่อนข้างเยอะ แบบละเอียดมาก คือไม่เคยเรียนกับอาจารย์มาก่อน เห็นที่พี่ ๆ รีวิวมาคือต้องปรับตัวตอนเขียนตอบอะค่ะ เพราะว่าอาจารย์มีประเด็นค่อนข้างเยอะ ก็คือต้องเขียนให้ทันเวลา”
กมลชนก ต่อมแก้ว (นก)
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
กมลชนก : “หนูเรียนกับอาจารย์เอมผกากับอาจารย์กิตติวัฒน์ค่ะ อาจารย์กิตติวัฒน์จะบรรยายในช่วงแรกก็คือซื้อขาย ขายฝาก ซื้อขายเฉพาะอย่าง แล้วก็ท่านจะมีเพิ่มเติมให้คือซื้อขายระหว่างประเทศ แต่ว่าในส่วนนี้ไม่ได้ออกข้อสอบค่ะ แล้วก็อาจารย์เอมผกาจะบรรยายในเรื่องเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ แลกเปลี่ยนให้ การบรรยายของอาจารย์กิตติวัฒน์ท่านจะมีเอกสารประกอบการบรรยายทุก ๆ ครั้ง สไตล์การบรรยายก็จะเป็นไปตามสไลด์การบรรยายทั่ว ๆ ไป แต่ว่าก็จะมีฎีกาสอดแทรกมาให้เราได้คิดตาม หนูมองว่าอาจารย์กิตติวัฒน์เนี่ย ถ้าเข้าเรียนแล้วก็ทบทวนเลคเชอร์ตัวเองหรือว่าทบทวนเอกสารบรรยายอะมันทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้นแล้วก็ประหยัดเวลาอ่านหนังสือค่ะ ส่วนอาจารย์เอกผกาก็มีเอกสารประกอบการบรรยายเช่นกันค่ะ อาจารย์จะมีฎีกามาให้เราได้ช่วยกันวิเคราะห์ในห้องค่อนข้างที่จะเยอะ อาจารย์บรรยายค่อนข้างช้าทำให้พวกเราคิดตามแล้วก็จดสรุปเป็นคำพูดของตัวเองทัน แล้วก็มีบ้างในบางข้อที่อาจารย์ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดมาก อย่างเช่นการแลกเปลี่ยนกับเรื่องสัญญาให้ ซึ่งท่านอาจารย์บอกว่าจะออกเป็นข้อสอบบรรยายทีนี้เราก็ต้องไปอ่านหนังสือเพิ่มเติมเพื่อเก็บประเด็นสำคัญมาตอบข้อสอบค่ะ”
จากซ้ายไปขวาในภาพ ชญานนท์ แสงอ่วม (ฟลุค) ปภัสรา กวางทอง (มุก) ภักดิ์จิรา จันทนาตา (แป้ง) กมลชนก ต่อมแก้ว (นก)
คำถาม (3) : รู้สึกอย่างไรกับการสัมมนาในวิชาดังกล่าว
ชญานนท์ : “การสัมมนาช่วงแรกก็จะเป็นอาจารย์กรศุทธิ์สัมมนาเอง ก็จะเป็นลักษณะแบบมีประเด็นที่เราคุยค้างกันไว้ในห้องเรียนบ้างแล้วอาจจะยังตอบกันไม่ได้ก็เลยจะใช้ในช่วงสัมมนานี้ แล้วก็มีการทำข้อสอบเก่า ๆ ที่เราก็จะได้รู้ลักษณะของข้อสอบกลางภาคหรือปลายภาคว่าจะออกมาในรูปแบบไหนครับ ก็มีการตั้งประเด็นแปลก ๆ อะไรที่ไม่น่าจะเป็นข้อสอบแต่ก็ชวนคิด เช่น การถวายสังฆทานให้พระนี่เป็นสัญญาให้หรือเปล่า อะไรอย่างนี้ ส่วนตัวไม่ได้ส่งการบ้านสัมมนา เพราะไม่ทันครับ เพราะว่ามีอย่างอื่น บริหารเวลาไม่ดีเลยครับเลยไม่ได้ทำเลย”
“แล้วตอนท้ายก็มีอาจารย์กิตติภพมาช่วยสัมมนา ก็มีบางประเด็นที่ไปเจอในห้องสอบด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เข้าใจตั้งแต่บรรยายในคาบแล้ว แต่ว่าทบทวนในสัมมนาอีก แล้วก็ไปเจออีกในห้องสอบมันก็เลยชัดเจน ไม่มีอะไรน่ากังวล”
ปภัสรา : “การสัมมนามุกคิดว่ามันดีมากที่มันมีการสัมมนา เพราะการเขียนตอบของเซคนี้มันจะต่างกับเซคอื่นที่เราไม่ต้องใส่ตัวบทลงไป ถ้าเราไม่ฝึกเขียนก่อนมันจะทำได้ยาก แต่หนูเคยเขียนมาแล้วในก่อนหน้านี้ก็ทำได้อยู่บ้าง แล้วก็อย่างตัวข้อสอบของเซคนี้อะค่ะมันจะต่างกับเซคอื่นเพราะมันจะมีเรื่องความเห็นหรือการเป็นกึ่งบรรยายเข้าไปด้วย การเขียนตอบมันช่วยให้เวลาพี่มี feedback มาทำให้เราระวังในข้อนี้ว่าอย่าลืมแบบนี้ อย่าลืมความเห็นด้วย อย่างนี้ดีกว่า สำหรับการบ้านสัมมนาก็ส่งตลอดค่ะ”
“ตอนสัมมนากับอาจารย์กิตติภพ อาจารย์ก็จะมีการทวนเนื้อหาให้ก่อน แล้วก็ฝึกทำโจทย์จริง ๆ ที่เคยเป็นข้อสอบเก่า อย่างเรื่องความเห็นอาจารย์ก็จะเน้นให้แล้วมีเพิ่มเติมความเห็นอื่น ๆ ขึ้นมาอีกด้วยอะค่ะ”
ภักดิ์จิรา : “รู้สึกว่าดีเลยค่ะ เพราะว่าของสัมมนาอาจารย์จุณวิทย์เนี่ย อาจารย์เขาจะให้ข้อสอบมาแต่ละครั้งจำนวนข้อสอบค่อนข้างเยอะ อาจารย์เขาจะให้อ่านโจทย์แล้วก็ลองทำเองก่อนแล้วก็เฉลย คือจำได้ว่าครั้งแรกที่เข้าไปนี่คือแบบสิบกว่าข้ออะค่ะ ทำให้เราได้แนวข้อสอบที่หลากหลาย แล้วก็ทำให้เราเขียนตอบได้ดีขึ้น บางประเด็นที่เรามองข้ามไปอย่างนี้ค่ะ อาจารย์เขาก็จะแนะนำว่าประเด็นนี้อย่าลืมเขียนนะ”
กมลชนก : “วิชานี้มีสัมมนาค่ะโดยอาจารย์เอมผกา เนื้อหาที่สัมมนาคือเช่าทรัพย์กับเช่าซื้อ แต่อาจารย์ไม่ได้สั่งการบ้าน อาจารย์จะมาทบทวนเนื้อหาและพาทำข้อสอบเก่าหลายๆปีค่ะ โดยมีการสัมมนาทั้งหมดประมาณ 3 ครั้งค่ะ”
“หนูมองว่าสัมมนาตั้งแต่เข้ามาปีหนึ่งจนถึงปัจจุบันนี้สัมมนามันมีความสำคัญมาก ๆ ก็คืออย่างน้อยเนี่ยมันทำให้เราได้ฝึกเขียน ฝึกทำข้อสอบเก่าจากการบ้านที่อาจารย์สั่งมา แล้วก็การที่เราเขียนเนี่ยค่ะเราดูงานเขียนของตัวเองเราอาจจะไม่เห็นข้อผิดพลาดที่มันเกิดขึ้น แต่ว่าการที่มี TA มาช่วยตรวจอะค่ะ เขาเหมือนกับเป็นคนทีชี้ข้อบกพร่องให้เรา ทำให้เรารู้ว่าจะต้องปรับปรุงตรงไหนแล้วก็รักษาตรงไหนไว้ หรือว่าควรปรับปรุงตัวเองในด้านไหน ๆ เพิ่มขึ้นอะค่ะ แล้วก็หนูรู้สึกว่าการส่งการบ้านสัมมนาอะค่ะจะทำให้เราได้ฝึกเขียน ได้ลองจับเวลา ได้ทำจริง ส่วนในส่วนของอาจารย์ที่มาสัมมนาให้นะคะ หนูมองว่าอาจารย์เนี่ยเขาจะมาช่วยจัดระบบเนื้อหาในห้องเรียนจากที่มันดูเยอะ เขาก็จะมาจัดระบบให้มันกระชับขึ้น แล้วก็เราสามารถใช้ชั่วโมงสัมมนาเนี่ยในการทบทวนมันทำให้เราลดเวลาในการอ่านหนังสือไปด้วยอะค่ะ”
คำถาม (4) : ได้คะแนนเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและการเตรียมตัวสอบอย่างไร
ชญานนท์ แสงอ่วม (ฟลุค)
ชญานนท์ : “ได้เต็มทุกข้อ ยกเว้นข้อสุดท้ายเช่าทรัพย์ของอาจารย์สุรศักดิ์ได้ 19 ผมไม่แน่ใจว่าลืมเขียนเลขมาตราหรือเปล่า เพราะผมเขียนไปว่าตามกฎหมายเช่าทรัพย์ครับ หามาตราไม่เจอ ก็ได้เยอะกว่าที่คิดไว้ คิดว่า 95 ก็เต็มที่แล้วครับ”
“ช่วงเรียนเนี่ยผมเคยประสบปัญหาความเครียดหนักเพราะว่าเอาแต่เรียนอย่างเดียว เอาแต่อ่านวัน ๆ นึง ก็เลยพักบ้าง มาเล่นเกมส์ ดูหนัง ไปเจอเพื่อน อยู่กับเพื่อนมากขึ้นอะไรอย่างนี้ มันก็จะทำให้การเรียนเราสมดุล แต่สิ่งสำคัญก็คือการบริหารเวลาครับ เราต้องตามเนื้อหาให้ทันในแต่ละสัปดาห์ก่อนที่จะไปเจอเนื้อหาใหม่ ส่วนช่วงสอบก็ผมว่าอย่างน้อยเนี่ยหนึ่งเดือนควรจะเริ่มทำข้อสอบได้แล้วครับ แล้วก็อย่าหักโหมเกินไปเดี๋ยวจะป่วยในช่วงสอบ เพราะว่าผมก็มีเพื่อนหลาย ๆ คนที่ประสบปัญหานี้ อย่างคืนนึงเขาโต้รุ่งไปเลยก็มีบางคน ผมว่านอนให้เต็มที่ดีกว่า”
ปภัสรา กวางทอง (มุก)
ปภัสรา : “ของหนูข้อที่ไม่ได้เต็มคือข้อที่ 1 ของไฟนอล ที่อาจารย์กิตติภพตรวจอะค่ะ ขายทอดตลาด ที่อ่านตอน feedback ที่อาจารย์ลงให้เหมือนหนูจะเข้าใจผิดในเรื่องความเห็นว่าโจทก์เขาไม่ได้ต่อสู้กันในประเด็นเรื่องซื้อขายกันอะไรอย่างนี้ค่ะ หนูเพิ่มประเด็นขึ้นมาแล้วเข้าใจผิดในประเด็นนั้น”
“ถ้าช่วงในห้องเรียนอะค่ะ แม้ว่าจะมีชีทแต่หนูก็จะจดเพิ่ม จดในประเด็นที่อาจารย์จะยกขึ้นมานอกจากชีทอย่างนี้ แล้วมันเป็นประเด็นสำคัญที่มักจะออกข้อสอบ แล้วก็เรื่องความเห็นก็จะเน้นในด้านความเห็นไว้ ก็เป็นคนชอบจดเลคเชอร์ตามอาจารย์พูด แม้ว่าบางครั้งจะมีในชีทแล้วแต่ถ้าเรื่องเน้นจริง ๆ ก็จะจดเพิ่มเข้าไปอะค่ะ ถ้าช่วงใกล้สอบจริง ๆ หนูเป็นคนอ่านหนังสือตั้งแต่ต้น ๆ เทอมแล้วก็จะอ่านสเตปเท่าเดิมมาตลอดอะค่ะ ไม่เร่งในตอนท้าย เพราะว่าถ้าเร่งมันเครียดแล้วมันจะจำไม่ได้ ก็จะอ่านแล้วก็ถ้าอันไหนมันเป็นประเด็นสำคัญเจอในข้อสอบบ่อย ๆ ตอนทำฝึกข้อสอบก็จะโน้ตไว้แล้วก็เอาไปท่องหน้าห้องสอบค่ะ”
ภักดิ์จิรา จันทนาตา (แป้ง)
ภักดิ์จิรา : “ข้อหนึ่ง สอง ห้า ได้ 19 ข้อสามและสี่ได้ 20 ค่ะ รวม 97 ข้อสอบอาจารย์ก็ออกแยกเรื่องกันเลย คือซื้อขาย ให้ เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ”
“เทคนิคในการเรียนหนูว่าเซคนี้เป็นเซคที่ต้องเน้นการเข้าเรียนอะค่ะแล้วก็ทำความเข้าใจเนื้อหาเอา เพราะว่าเนื้อหามันค่อนข้างเยอะมาก ถ้าเราอ่านเอาเองเนี่ย คือบางทีเวลาเราอ่านหนังสือเรารู้สึกว่าเนื้อหามันเยอะจัง สำหรับหนูนะคะหนูจะมีความรู้สึกว่าสมองเราไม่จำเพราะรู้สึกว่าเหลืออีกเยอะเลย มันเยอะจัง แต่พอเข้าไปเรียนเนี่ยเหมือนอาจารย์ก็จะสอนคอนเซปต์ให้แล้วก็จัดคอนเซปต์ให้ว่าเรื่องนี้เป็นอย่างนี้ ๆ นะ ที่ต้องเน้นเป็นตรงนี้นะ หนูว่าเข้าเรียนกับเข้าสัมฯ ก็คือช่วยได้เยอะมาก คือหนูอ่านแค่ชีทอะค่ะไม่ได้อ่านหนังสือเพิ่มเติมเลย”
“การเตรียมตัวสอบก็คือถ้าไม่ได้เข้าเรียนก็แนะนำให้ฟังไฟล์เสียงให้หมดอะค่ะ ฟังที่อาจารย์สอนแล้วก็อ่านตามที่อาจารย์สอน แล้วเหมือนกับมันจะมีพ.ร.บ.ข้อสัญญาไม่เป็นธรรมเพิ่มมาด้วยที่อาจารย์สอน ก็เน้นอ่านชีทอะค่ะ แล้วก็ทำความเข้าใจที่อาจารย์สอน เพราะว่าหนูว่าเนื้อหาวิชามันค่อนข้างเยอะ ถ้าเราเน้นจำอย่างเดียวเนี่ยมันช่วยไม่ได้หมดอะค่ะ ก็ต้องเข้าใจในหลักการด้วย”
กมลชนก ต่อมแก้ว (นก)
กมลชนก : “ข้อแรกซื้อขายได้ 18 ค่ะ ข้อสองได้ 17 หนูไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร น่าจะประมาณจะซื้อจะขาย ข้อที่สามเป็นบรรยายของอาจารย์เอมผกาได้ 15 เรื่องแลกเปลี่ยนกับให้ค่ะ ซึ่งเป็นสองเรื่องใหญ่ที่อาจารย์ไม่ได้เน้นมากแต่ต้องไปอ่านเพิ่มมาสอบ ส่วนข้อที่สี่เป็นเรื่องเช่าซื้อค่ะได้ 17 ส่วนข้อห้าได้ 20 เป็นเรื่องเช่าต่างตอบแทนพิเศษค่ะ”
“คะแนนได้น้อยกว่าที่ตัวเองประเมินไว้ค่ะ เพราะว่ารู้สึกว่าข้อสามเป็นข้อบกพร่องของหนูเองที่หนูเขียนไม่ทัน แล้วมันเป็นสองเรื่องใหญ่ ๆ อะค่ะ คือแลกเปลี่ยนกับให้แล้วเอามาเปรียบเทียบกัน ด้วยความที่มันมีประเด็นพอสมควรแล้วเขียนไม่ทัน ประกอบกับข้อที่ห้า ซึ่งเป็นต่างตอบแทนพิเศษอะค่ะ ประเด็นค่อนข้างเยอะ ก็เลยทำให้สองข้อนี้มันเป็นข้อใหญ่ด้วยกันทั้งคู่ การจัดสรรเวลามันก็เลยมีจำกัดค่ะ”
“หนูเน้นเข้าเรียนทุกครั้งค่ะ จะไม่ขาดเรียนเลยถ้าไม่มีเหตุจำเป็น เพราว่าหนูจะเข้ามาเลคเชอร์ด้วยตัวเอง หนูก็จะอัดเทปไปด้วยค่ะ เพราะว่าเราจะเอามาทบทวนเวลาที่จดไม่ทันหรือว่าเรื่องที่เรายังไม่เข้าใจไม่สามารถทำความเข้าใจได้ในห้อง เพราะว่าอาจารย์อาจจะพูดเร็วหรือว่าหนูหลุดโฟกัสไปอะไรอย่างนี้ค่ะ แล้วก็หลังจากเรียนทุกครั้งหนูจะทบทวนเหมือนจะทำสรุปอีกรอบนึงเหมือนกับเป็นเลคเชอร์อีกเล่มนึงอะค่ะ ตัวนี้หนูจะใช้ทบทวนก่อนสอบ เพราะว่าด้วยความที่เนื้อหาวิชานี้มันเยอะมาตรามันก็เยอะด้วยอะค่ะ การที่หนูมีเลคเชอร์ซึ่งเรียนมาทั้งหมดหนึ่งเทอมแล้วมีหนึ่งเล่ม อ่านแค่ช่วงสอบ หนูว่ามันเป็นการประหยัดเวลาแล้วก็มันครบทุกเรื่องที่เราเรียนอะค่ะ แล้วก็หนูอ่านหนังสือทุกวันไม่เร่งอ่านก่อนสอบค่ะ คือมันเก็บไปเรื่อย ๆ เพราะว่าเราเรียนหลายวิชา แล้วก็แต่ละวิชาเนื้อหามันก็เยอะ ในส่วนของเรื่องซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ อาจารย์ซื้อขายเนี่ย อาจารย์กิตติวัฒน์มีเอกสารประกอบการบรรยายแต่ว่าหนูอ่านหนังสือประกอบของอาจารย์ศนันท์กรณ์ค่ะ เท่านี้ค่ะ”
“ถ้าเป็นการเตรียมตัวสอบหนูจะทำข้อสอบเก่าหลาย ๆ ปี แล้วก็จับกลุ่มกับเพื่อนเพื่อที่เราจะแชร์คำตอบกัน บางทีคำตอบที่เราได้มันอาจจะผิดแล้วมีเพื่อนมาช่วยเช็คให้หรือว่ามีเพื่อนมาเสริมประเด็นให้ ก็เราจะอ่านเลคเชอร์ที่เราทำสรุปอีกครั้งหลังเรียนก่อนสอบ มีเท่านี้ค่ะ แต่ว่าช่วงเตรียมตัวสอบเรื่องการทำข้อสอบเก่าเนี่ยค่ะจะไม่ใช่ว่าเอามาทำในช่วงก่อนสอบ 1 – 2 วันอะไรอย่างนี้ค่ะ หนูจะทำเนิ่น ๆ เพราะว่าช่วงนั้นควรจะทวนเนื้อหาให้เบาที่สุดอะค่ะ”
จากซ้ายไปขวาในภาพ ชญานนท์ แสงอ่วม (ฟลุค) ปภัสรา กวางทอง (มุก) ภักดิ์จิรา จันทนาตา (แป้ง) กมลชนก ต่อมแก้ว (นก)
คำถาม (5) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
ชญานนท์ : “ตอนแรกผมกังวลครับ เพราะว่าดูระยะเวลามันจะน้อยมากเลย สองเดือนเราก็สอบกันแล้ว แต่พอได้เจอวิชาแรกจริง ๆ อย่างปี 2 เทอม 1 อะไรอย่างนี้ครับ รู้สึกว่าเนื้อหามันมีน้อยมาก มีให้เตรียมตัวแค่นั้น เราสามารถจำแค่นั้นแล้วก็ไปตอบได้ดีเลยครับ”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?)ก็ไม่ต้องจำครับ ก็สามารถปรับไปตามความเข้าใจ ปรับกับข้อเท็จจริงไปเลย รู้สึกดีที่ไม่ต้องมาจำอะไร”
ปภัสรา : “ตอนแรกก็เตรียมตัวยากเพราะว่าชินกับการสอบไฟนอลมาอย่างเดียวแล้วก็เลยอ่านแบบช้า ๆ มาตลอด พอรู้ว่ามีสอบกลางภาคเลยต้องปรับเปลี่ยนการอ่านให้แบบเข้มข้นตั้งแต่กลางภาค แต่พอหลังสอบกลางภาคไปแล้วมันทำให้ไฟนอลมันสบายขึ้นค่ะ มันเนื้อหาน้อยลงเพราะเขาจะตัดกลางภาคออกไปด้วย”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) ค่ะ ชอบมากกว่าเพราะมันย่นระยะเวลาในการอ่าน ทำให้เราได้ทวนหรือเอาเวลาไปให้วิชาอื่นได้มากขึ้นด้วยอะค่ะ”
ภักดิ์จิรา : “เอาจริง ๆ ตอนแรกหนูไม่ชอบกลางภาคนะคะ เพราะรู้สึกว่ามันเขียนเนื้อหาได้น้อย แล้วก็เหมือนเปิดเทอมมาแป๊บเดียวก็ต้องอ่านหนังสือแล้ว แต่พอเวลาสอบไปแล้วอย่างนี้ค่ะแล้วได้คะแนนออกมาอย่างนี้ พอถึงปลายภาคมันก็ช่วยให้เราไม่ต้องเครียดเยอะ แล้วก็มาช่วงแบ่งปันด้วย แบบตัดเนื้อหาวิชาไปได้ด้วย ก็คือพอได้ลองทำก็เลยโอเค”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) หนูว่ารู้สึกดีนะคะ เพราะว่าเหมือนกับถ้าตอนที่มีตัวบทมาช่วยเนี่ย โดยที่เราอ่านทำความเข้าใจก่อนสอบอย่างนี้ค่ะ มันช่วยให้เราเบาใจได้เยอะค่ะ เหมือนกับสุดท้ายถ้าเราเข้าใจหมดแล้วมันก็โอเคแล้วพร้อมเข้าห้องสอบ แต่ว่าพอวิชาที่ไม่มีตัวบทอย่างนี้ค่ะ พอเราเข้าใจหมดแล้วมันก็จะเหลือความเครียดที่ว่ายังไม่ได้จำตัวบทเลย ยังไม่ได้จำเลขมาตราเลย มันทำให้เรา panic มากกว่าปกติอะค่ะ แล้วหนูคิดว่าคณะเราวิชากฎหมายมันควรจะเน้นความตีความหรือว่าความเข้าใจมากกว่าที่จะแบ่งเวลาไปจำตัวบทอะค่ะ ทั้งที่ในชีวิตจริงเราไม่ได้จำไปใช้ด้วยซ้ำ เราเปิดได้อย่างนี้ค่ะ ก็เลยคิดว่าดีกว่า”
กมลชนก : “ส่วนตัวหนูมองว่าสอบกลางภาคมันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีของมันก็คือตั้งแต่เริ่มเรียนจนถึงกลางภาคเนี่ย เนื้อหามันไม่ได้เยอะมาก เวลาในการอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบมันจะน้อย ไม่ต้องใช้เวลามาก เพราะด้วยความที่เนื้อหามันน้อย เวลาที่เราใช้มันก็จะน้อยลง แล้วก็เราประเมินตัวเองได้อะค่ะว่าปลายภาคควรต้องทำเท่าไหร่เราถึงจะผ่าน หรือว่าเราต้องทำอีกเท่าไหร่เพื่อที่เราจะบรรลุเป้าหมายที่เราตั้งไว้ แต่ข้อเสียเนี่ยก็คือ ธรรมชาติของแต่ละวิชามันต่างกันอะค่ะ บางวิชาที่เนื้อหามันโยงกันเป็นระบบ การที่เรามีกลางภาคแล้วตัดเนื้อหาเฉพาะส่วนนี้มาออกสอบ มันอาจจะไม่มีความต่อเนื่องหรืออะไรประมาณนี้ค่ะ แต่ว่าเนื้อหาวิชาอย่างเช่นเอกเทศสัญญาเนี่ยค่ะมันสามารถแยกได้ค่อนข้างที่จะชัดเจนในระดับนึง ก็คือซื้อขาย ขายฝาก เช่าทรัพย์ มันก็สามารถแบ่งมาสอบกลางภาคได้ แล้วก็ข้อเสียข้อหนึ่งก็คือ ในเมื่อมันมีทั้งกลางภาคกับปลายภาค มันทำให้การเตรียมสอบของเรามีสองครั้ง แต่ละครั้งก็จะใช้เวลามากพอสมควร แล้วถ้าเราได้คะแนนไม่ดีตอนกลางภาคเนี่ยมันอาจจะเกิดความรู้สึกผิดหวัง แล้วก็ทำให้เราไม่อยากสอบปลายภาคหรืออาจจะเทวิชานั้นไป ทั้ง ๆ ที่ปลายภาคเนี่ย มันอาจจะเป็นส่วนที่มันง่ายกว่าหรืออาจจะเป็นส่วนที่เราทำคะแนนได้ดีกว่าก็ได้ มันจะทำให้เราเสียโอกาสตรงนั้นอะค่ะ”
(รู้สึกอย่างไรกับวิชาที่มีตัวบทและไม่มีตัวบทให้ในการสอบ?) สำหรับมีตัวบทหนูเคยมีตัวบทแค่ครั้งเดียวก็คือเช่าทรัพย์ เช่าซื้ออาจารย์ให้ตัวบทค่ะ ก็ หนูมองว่ามันทำให้เราไม่ต้องกังวลว่าจะลืมมาตรานี้ องค์ประกอบนี้ มันช่วงแค่ตรงนี้ในเรื่องการจำที่เราไม่ต้องกังวลว่ามันจะลืม แต่ว่าสิ่งหนึ่งหนูมองว่าการมีตัวบทกับไม่มีตัวบทเราต้องเตรียมตัวเหมือนกันก็คือเราต้องรู้ว่ามาตรานี้ใช้ยังไง ใช้ตรงไหน ใช้เมื่อไหร เราต้องทำความเข้าใจองค์ประกอบต่าง ๆ ของมาตรานี้ให้ครบถ้วนอยู่แล้ว ไม่ใช่หวังพึ่งมาตราที่อาจารย์เตรียมให้ในห้องสอบ เพราะว่าการที่เราไปเปิดหามาตรา พอเจอข้อเท็จจริงแบบนี้เราไปหามาตราที่ต้องใช้กับตรงนี้ เวลามันค่อนข้างที่จะจำกัดอยู่แล้วในการทำข้อสอบข้อนึง การที่เราต้องมาเปิดหามาตราบ่อย ๆ มันเสียเวลามากกับการทำข้อสอบ สำหรับวิชาที่มีตัวบทให้หรือไม่มีตัวบทให้ หนูก็จะเตรียมตัวจำตัวบท แต่ถ้ามีหนูก็จะจำแบบคร่าว ๆ ไปแต่รู้ว่าต้องใช้เมื่อไหร่ยังไงอะค่ะ”
จากซ้ายไปขวาในภาพ กมลชนก ต่อมแก้ว ภักดิ์จิรา จันทนาตา (แป้ง) ปภัสรา กวางทอง (มุก) ชญานนท์ แสงอ่วม (ฟลุค)
คำถามสุดท้าย : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
กมลชนก : “วิชานี้สำหรับกลุ่มนี้นะคะ อาจจะไม่ได้อ่านหนังสือหนักมากด้วยความที่อาจารย์ทั้งสองท่านมีเอกสารประกอบการบรรยายให้ เราอาจจะอ่านเสริม อย่างเช่นหนูอ่านของอาจารย์ศนันท์กรณ์ในเรื่องซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ แล้วก็ให้เข้าเรียนสม่ำเสมอ พยายามตามอาจารย์ให้ทันในห้อง เพราะว่าอาจารย์เนี่ยข้อสอบก็จะไม่เกินในห้องอยู่แล้วโดยหลักนะคะ เพราะว่าอย่างฎีกาที่อาจารย์เอมผกายกมาให้พวกเราได้ช่วยกันวิเคราะห์เนี่ย อาจารย์ก็เคยนำไปออกเป็นข้อสอบอะไรอย่างนี้ค่ะ หนูมองว่าการเข้าห้องเรียนเนี่ย หรือว่าถ้าจำเป็นเข้าไม่ได้ก็อัดเทปแล้วมาฟังอะไรอย่างนี้ค่ะ สำหรับวิชานี้อยากให้แบ่งเวลาดี ๆ ด้วยความที่เนื้อหามันเยอะ มาตรามันเยอะอะค่ะ ก็พยายามอ่านหนังสือเก็บ จะได้ประหยัดเวลาไม่ไปหนักช่วงสอบค่ะ”
ภักดิ์จิรา : “จะแนะนำว่าอยากให้น้อง ๆ อ่านชีทอาจารย์ค่ะพอแล้ว แบบอ่านให้เข้าใจในเนื้อหาแล้วก็เข้าสัมมนาค่ะเพราะอาจารย์จะแนะนำให้เราว่าตรงไหนออกมั้ย ตรงไหนไม่ออก หรือว่าประเด็นไหนสำคัญ ประเด็นไหนไม่สำคัญ หรือว่าควรเขียนตอบอันไหน ประเด็นไหนที่เรามองข้ามไปหรือเปล่า เพราะว่าอาจารย์จุณวิทย์เป็นคนที่ออกข้อสอบค่อนข้างละเอียดอะค่ะแล้วก็มีข้อย่อยเยอะ ทำให้บางทีเราก็ต้องลองฝึกเขียนไปก่อนอะค่ะ เพราะว่าบางทีมันจะเขียนไม่ทันด้วยความที่ข้อย่อยเยอะ แต่ว่ามันไม่ได้ยากนะคะ มันเยอะเฉย ๆ อะค่ะ ก็เลยอยากให้น้องลองพยายามดูว่าจริง ๆ แล้วได้คะแนนเยอะมันไม่ได้ยากค่ะสำหรับอันนี้ แค่ลองเขียนให้ทันอะค่ะ จริง ๆ เพราะอาจารย์เป็นคนที่สอนเข้าใจดีมาก ๆ อยู่แล้ว”
ปภัสรา : “ถ้าสำหรับเซคนี้แนะนำให้เน้นจริง ๆ ก็เรื่องความเห็น เรื่องประเด็นปัญหาที่อาจารย์ยกขึ้นในห้องอย่างนี้ค่ะ แนะนำให้เข้าเรียน เพราะจะเป็นตัวช่วยที่ดีมาก เพราะถ้าเข้าเรียนไปฟังอาจารย์รอบนึงแล้วจดเพิ่มเข้ามาแล้วมาทวนมันจะร่นระยะเวลาเพราะอาจจะไม่มีหนังสือให้อ่าน ก็ต้องใช้ชีท ใช้เลคเชอร์เป็นตัวช่วยอะค่ะ”
ชญานนท์ : “คือความเห็นของอาจารย์ในเซคชั่นอาจจะแตกต่างจากความเห็นทั่วไป ถ้าอันไหนไม่ทันจริง ๆ ผมก็จะทวนไฟล์เสียงตามในประเด็นนั้นให้ทัน แล้วก็สัมมนาครับ สัมมนาก็สำคัญเพราะว่าเจอบ่อยมาที่มีสัมมนาแล้วก็ไปเจอในห้องสอบในประเด็นนั้น ซึ่งจริง ๆ มันก็มีมาแล้วในคาบบรรยายนะครับ แต่ว่าสัมมนาจะช่วยให้เราชัดเจนมากขึ้น ก็นี่แหละครับ ถ้าไม่ทันจริง ๆ ควรฟังไฟล์เสียง”
วิชา น.230 กฎหมายสัญญาทางพาณิชย์ 1 ซึ่งเป็นวิชาของหลักสูตรปรับปรุงพ.ศ. 2561 ประกอบด้วยเนื้อหาซื้อขาย ให้ เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างทำของ ตัวแทน นายหน้า โดยศูนย์รังสิต กลุ่ม 1 บรรยายโดย ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ ผศ.ดร.กิตติวัฒน์ จันทร์แจ่มใส สัมมนาโดย อ.สุประวีณ์ อาสนศักดิ์ ศูนย์รังสิตกลุ่ม 2 และศูนย์ลำปาง บรรยายโดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร สัมมนาโดย อ.กิตติภพ วังคำ ภาคบัณฑิต ท่าพระจันทร์ บรรยายโดย อ.ดร.จุณวิทย์ ชลิดาพงศ์ รศ.จักรพงษ์ เล็กสกุลไชย
ถ่ายภาพ CD
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK