จิรภัทร ชนะสิทธิ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคปกติ ศูนย์รังสิต รหัส 61 คือผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชา น.110 กฎหมายอาญา-ภาคทั่วไป กลุ่ม 1 บรรยายโดย ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล และรศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท สัมมนาโดยอาจารย์เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร โดยได้คะแนนสอบ 86 คะแนน วันนี้เราจะพาคุณไปพูดคุยกับจิรภัทรเกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาดังกล่าว
คำถาม (1) : ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
จิรภัทร : “ส่วนตัวผมมองว่าเนื้อหาของวิชานี้เป็นเหมือนส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อหาหลัก ๆ จริง ๆ ที่ให้เห็นภาพรวมของการคิด แนวคิดเกี่ยวกับการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาหรือว่าแนวคิดที่เกี่ยวกับกฎหมายอาญาในทุกเรื่องนะครับ จะเป็นแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายอาญา”
“ส่วนตัวผมว่า กฎหมายอาญามันเป็นสิ่งที่อ้างอิงมาจากเรื่องจริง เพราะฉะนั้นมันจะเห็นภาพ จุดที่ยากมันอาจจะมีน้อยมาก แต่มันก็อาจจะมีบางส่วนที่จะที่เป็นจุดที่กฎหมายกำหนดขึ้นมาเช่นเรื่องเจตนาพิเศษ เรื่องสำคัญผิดอะไรแบบนี้ที่เราไม่สามรถนึกภาพในความเป็นจริงออกเพราะว่าเป็นเรื่องที่เหมือนกฎหมายบัญญัติขึ้นมาโดยเฉพาะ”
“ก่อนมาเรียน คือว่าวิชานี้ ตอนแรกคิดว่ากฎหมายอาญาน่าจะเป็นแบบใช้ Common Sense ได้ ทำแบบนี้ผิด ทำแบบนี้ไม่ผิด แต่พอมาเรียนแล้วมันมีลำดับขั้นตอนในการพิจารณาว่าเมื่อไหร่จะเรียกว่าผิด เมื่อไหร่จะต้องรับผิด เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องของความจำหรือว่าเราจะใช้ Common Sense ทั่วไปมาตัดสินได้ว่ากฎหมายอาญาคืออะไร แต่เราจะต้องอาศัยระบบความคิดทางด้านกฎหมายอาญาด้วย”
คำถาม (2) : ใช้เทคนิคอย่างไร ในการเรียน และการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
จิรภัทร : “ผมได้มาจากท่านอาจารย์ปกป้องคือท่านอาจารย์จะแนะนำให้ว่าทั้งกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น ๆ ด้วย มันจะมีองค์ประกอบของมันซึ่งมันจะสามารถทำให้เราคิดเป็นระบบได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของการพยายามกระทำความผิด มันก็จะมีองค์ประกอบเรื่องของการลงมือก่อน แล้วก็ความผิดไม่สำเร็จ แล้วก็ถึงจะเป็นพยายาม ถ้าเราคิดกฎหมายให้เป็นองค์ประกอบโดยเฉพาะกฎหมายอาญามันจะชัดเจอยู่แล้วอย่างนี้นะครับ แล้วจะทำให้การเรียนกฎหมายอาญามันง่ายขึ้น”
“แต่จะมีเทคนิคที่อาจารย์สุรศักดิ์ท่านก็จะแนะนำให้ตั้งประเด็นพิจารณานะครับ ว่าแบบเราควรจะหาประเด็นก่อน บางทีประเด็นพิจารณามันก็มาจากสิ่งที่โจทย์ถามแต่คือดารที่เราตั้งประเด็นบางอย่างนั้นมันจะเป็นประเด็นสำคัญผิดหรือไม่ มันจะเป็นพยายามหรือไม่ มันจะทำให้เราทำประเด็นนั้นได้เกิดเรื่องมันคล้ายกัน”
คำถาม (3) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
จิรภัทร : “ผมมองว่าคาบบรรยายในการอาจารย์ท่านสอนละเอียดในแต่ละประเด็นอยู่แล้ว แต่พอมาเข้าสัมมนาอาจารย์จะสอนในเชิงสรุป พออาจารย์จะสอนสรุปจะทำให้ประติดประต่อเรื่องต่าง ๆ ได้ เข้าหากันได้และก็จะเห็นภาพกว้างของวิชาว่าแต่ละเรื่องนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างไรและก็อีกประเด็นหนึ่งอาจารย์อาจจะมีบางจุดที่เหมือนอาจารย์บรรยายอาจจะไม่ได้พูดถึงอย่างนี้แล้วเราสามารถเอาจุดนี้ไปเสริมในการเขียนตอบได้ครับ”
คำถาม (4) : การเตรียมตัวสอบวิชานี้ทำอย่างไรบ้าง
จิรภัทร : “ในการเตรียมตัวสอบผมจะแบบออกเป็น 2 ส่วน ก็คือว่าในการเตรียมตัวด้านเนื้อหา ก็คือว่าตัววิชามันจะมีความอธิบายที่เป็นทฤษฎีน้อย ผมก็เลยมักจะอ่านจากตัวอย่างก็คือคำพิพากษาฎีกา คือสมมติว่าเราอ่านจากคำพิพากษาฎีกาจะเห็นได้หลายกรณี ส่วนใหญ่ข้อสอบก็จะดึงมาจากกรณีแปลก ๆ ในคำพิพากษาฎีกาอย่างนี้นะครับ อันนี้คือการเตรียมตัวทางด้านเนื้อหา ส่วนการเตรียมตัวสำหรับการเขียนนั้นผมก็อาจจะไม่เหมือนคนอื่น เพราะว่าผมเป็นคนที่ไม่ชอบมาฝึกเขียนเท่าไหร่คือผมจะมาจำตัวองค์ประกอบของมาตรานั้น ๆ ตามที่อาจารย์ปกป้องแนะนำ ก็มันเหมือนเป็นหลักกฎหมายอยู่แล้วครับไม่ว่าเราจะไปเจอข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนไปแค่ไหน แต่ถ้าเกิดว่าเราจับจุดได้ว่าเป็นเรื่องนี้เราก็สามารถดึงเอาข้อเท็จจริงนั้นมาปรับใช้กับหลักกฎหมายหรืออย่างอื่นได้เสมอ”
คำถาม (5) : ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไร และคิดว่าทำไมเราถึงได้คะแนนเยอะขนาดนี้
จิรภัทร : “ครับของผม ได้คะแนนของอาจารย์สุรศักดิ์ 17 ข้อหนึ่ง และ 13 ข้อหนึ่ง ส่วนข้อของอาจารย์ปกป้องนั้นได้ 20 ทั้งสองข้อ ส่วนข้อของอาจารย์เพียรรัตน์ได้ 16 ครับรวมได้ 86 คะแนน”
“ตอนแรกคิดว่าจะได้คะแนนประมาณ 80 ต้น ๆ นะครับ คิดว่าที่ได้คะแนนที่ดีก็เพราะว่าผมแม่นยำในหลักกฎหมายครับ คือว่าถ้าเราแม่นในหลักกฎหมายไม่ว่าข้อเท็จจริงมันจะเปลี่ยนหรือว่าอาจารย์จะพยายามพลิกแพลงโจทย์หลอกเราอย่างไร แต่ว่าถ้าเราถึงโจทย์กลับมาที่หลักกฎหมายได้มันก็สามารถปรับได้ตลอด และการที่เราสามารถจำหลักกฎหมายเป็นองค์ประกอบอย่างนี้นะครับมันจะทำให้เราตอบทุกประเด็นตรงไหนที่ไม่ใช่ก็จะทำให้เราตอบปฏิเสธองค์ประกอบนั้น ๆ ได้ หรือประเด็นไหนที่ใช่เราก็ตอบทุกองค์ประกอบและก็บอกผลทางกฎหมายครับ”
คำถาม (6) : เนื่องจากหลักสูตรเก่าจะเรียนวิชานี้ในชั้นปีที่สอง จึงอยากถามว่าคิดว่าวิชานี้เนื้อหายากเกินไปสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ไหม
จิรภัทร : “วิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไปเป็นวิชาพื้นฐานทางกฎหมายวิชาหนึ่ง ที่อาศัยความรู้ทางกฎหมายวิชาอื่นไม่มาก รวมถึงเนื้อหาประเด็นต่างๆ สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจน เเละมีลำดับเนื้อหาที่เป็นระบบ เข้าใจง่าย ส่วนตัวผมจึงมองว่าวิชานี้ไม่ยากเกินไปสำหรับการศึกษาในชั้นปีที่ 1 ครับ”
คำถาม (7) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
จิรภัทร : “คือ การที่มีมิดเทอมมันมีข้อดีในแง่ที่เราจะสามารถรู้ได้ว่าพอเราลงสนามสอบหรือว่าการเตรียมตัวมันจะส่งผลคะแนนประมาณไหน พอเราจับจุดจากมิดเทอมได้แล้วเราควรจะปรับปรุงตรงไหน คะแนนเราเท่าไหร่ เราจะได้เอาไปปรับปรุงหรือพัฒนาตัวเองให้ทันในการสอบปลายภาค”
คำถาม (8) : คิดว่าปัญหาของคนที่สอบวิชานี้ไม่ผ่านเกิดจากอะไร
จิรภัทร : “ผมว่าปัญหาการได้คะแนนน้อยเนื่องมาจากการไม่เข้าเรียน เพราะว่าเหมือนเราไม่เข้าเรียนแม้เราจะอ่านหนังสือเองเราก็ไม่อาจจะเข้าใจบางจุดที่เป็นข้อสังเกตแปลก ๆ ได้ ซึ่งไอ้ข้อสังเกตเหล่านี้อาจารย์จะเป็นผู้อธิบายว่ามันเป็นอะไร มันคืออะไร อย่างนี้นะครับ และในคาบบรรยายอาจารย์บรรยายก็จะอธิบายเรื่องต่าง ๆ ในหนังสือที่อาจจะอ่านแล้วเข้าใจยากให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายครับ”
คำถาม (9) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
จิรภัทร: “ผมว่าต้องเน้นสามอย่างนะครับในการเรียนวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไป คือหนึ่งในส่วนเนื้อหา คือ เน้นอ่านหนังสือมาก ๆ จากคำพิพากษาฎีกาจะทำให้เราเห็นแง่มุมต่าง ๆ ว่ากรณีพลิกแพลงแบบนี้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปแบบนี้ผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร สองก็คือต้องแม่นยำในหลักกฎหมาย คือ ถ้าเราแม่นหลักกฎหมายประกอบกับเราอ่านหนังสือข้อเท็จจริงที่พลิกแพลงนี่เราจะสามารถเอาหลักกฎหมายมาปรับใช้ได้ตลอด และสามก็คือการเข้าเรียนเพื่อที่เราจะได้รู้ว่าตรงไหนที่เราควรเน้นในการอ่านตรงไหนที่เราไม่ควรเน้นในการอ่านทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดเวลาที่เราจะไม่ต้องไปเสียเวลากับทุกเรื่อง เพราะว่าเนื้อหามันค่อนข้างเยอะครับ”
คำถามสุดท้าย : คิดว่าวิชากฎหมายอาญา-ภาคทั่วไปมีความสำคัญอย่างไร
จิรภัทร : “คือผมว่าวิชานี่มันเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราจริง ๆ นะครับ คือว่าในชีวิตประจำวันของเราหรือในเรื่องรอบตัวของเราหรือว่าข่าวสารอะไรต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคดีอาญาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการที่เรามีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายอาญาเบื้องต้นภาคทั่วไปมันสามารถที่เราจะไปประยุกต์ต่อสำหรับการศึกษาความผิดต่าง ๆ หรือการศึกษาต่อทางกฎหมายอาญาภาคความผิด เพราะฉะนั้นถ้าเราแม่นในหลักของกฎหมายอาญาภาคทั่วไปเวลาเราไปศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายในความผิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในประมวลกฎหมายอาญาหรือใน พรบ.ต่าง ๆ เนี่ยก็จะสามารถทำให้เราเข้าใจเนื้อหาได้จริง ๆ แล้วก็เข้าใจว่าจะเอาความผิดเหล่านั้นมาปรับใช้ได้อย่างไรครับ”
ครั้งหน้าเราจะพาคุณไปพูดคุยกับมาลินี นุตภิบาล ผู้ซึ่งสอบได้คะแนนสูงสุดในวิชากฎหมายอาญา-ภาคทั่วไป กลุ่ม 2
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง KK