เสฐียรพงษ์ พรรณแฉล้ม (เชฟ) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต รหัส 59 คือผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชา น.301 กฎหมายลักษณะมรดก ในภาค 2 ปีการศึกษา 2561 บรรยายโดย ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง สัมมนาโดย อ.กิตติภพ วังคำ โดยได้ 87 คะแนน และวิชา น.381 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (กลุ่ม 2) บรรยายโดย ศ.ณรงค์ ใจหาญ ผศ.สาวตรี สุขศรี โดยได้ 84 คะแนน เราจะไปพูดคุยกับเสฐียรพงษ์เกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาเหล่านี้
หมายเหตุ สัมภาษณ์เมื่อ 11 มีนาคม 2563
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชากฎหมายลักษณะมรดก
เสฐียรพงษ์ : “ก่อนเรียนก็คือกังวลครับ เพราะว่าตอนแรกชื่อผู้สอนเป็นอาจารย์ไพโรจน์คนเดียว ต่อมาพอเพิ่มชื่อเป็นอาจารย์เอมผกาด้วยก็รู้สึกโอเค คือเคยเรียนกับอาจารย์เอมผกามาก่อน แต่พอตอนหลังอาจารย์เอมผกาไม่ได้สอน แล้วกลายเป็นนอกจากอาจารย์ไพโรจน์ก็มีอาจารย์กิตติศักดิ์ อาจารย์มาตาลักษณ์ อาจารย์กรศุทธิ์ อันนี้หนักใจเลยครับ (หัวเราะ) เพราะว่าไม่เคยเรียนกับอาจารย์กรศุทธิ์ อาจารย์มาตาลักษณ์ แล้วก็อาจารย์ไพโรจน์เลย ส่วนอาจารย์กิตติศักดิ์เคยเรียนแต่ก็ทำได้ไม่ค่อยดี ก็เลยหนักใจ”
“พอเรียนช่วงแรก ๆ ก็คือกังวลเกี่ยวกับขอบเขตเนื้อหาที่แกว้าง และยังเจาะไม่ถูก ไม่รู้ขอบเขต แล้วก็รูปแบบของอาจารย์แต่ละคนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พอได้อ่านหนังสือมามันก็มีความรู้ ก็พอเข้าใจขอบเขต แล้วก็รู้สึกว่าเริ่มสนุกกับวิชามรดก เพราะว่าสามารถนำไปโยงกับหลาย ๆ เรื่องได้ คือวิชานี้อาจารย์ถ้าจะสอนให้ง่ายก็สอนได้ แต่ถ้าสอนให้ลึกก็ลึก ลึก ๆ มาก ๆ ก็ได้เช่นกัน ผมรู้สึกว่ามันเป็นวิชาที่นำไปใช้ในชีวิตจริงได้”
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
เสฐียรพงษ์ : “เริ่มที่อาจารย์ไพโรจน์นะครับ อาจารย์ไพโรจน์สอนตามหนังสือของท่านเลย ก็คือเป็นเน้นอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างฎีกาเรื่อย ๆ โดยจะสอนเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปของมรดก”
“ส่วนอาจารย์มาตาลักษณ์จะเป็นแบบโค้ชชิ่งครับคือ สอนให้เห็นภาพและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยและก็สอดแทรกความรู้ที่แบบเป็นความรู้นอกตัวบท” (อย่างเช่นเรื่องอะไร?) “อย่างเช่น ความรัก (หัวเราะ) แต่ว่าจำรายละเอียดไม่ได้ครับ แต่จำได้ว่าเกี่ยวกับความรัก แล้วก็สอนแบบเป็นโค้ชชิ่ง อาจารย์ก็จะสอนเรื่องการจำกัดอะไรมรดกต้องเห็นภาพ ส่วนของอาจารย์มาตาลักษณ์ต้องเห็นภาพจึงจะเข้าใจได้อย่างชัดเจน”
“แล้วก็อาจารย์กรศุทธิ์อาจารย์ก็จะเน้นเรื่องของแบบพินัยกรรมต่าง ๆ อาจารย์กรศุทธิ์ก็จะสอนโยงไปกับเรื่องอื่นด้วย เช่น นิติกรรม การแสดงเจตนา และคำมั่น ซึ่งอันนี้เป็นความรู้ใหม่ ก็เลยรู้สึกว่าต้องโฟกัสและทบทวน แล้วก็อาจารย์กรศุทธิ์จะเน้นไปเรื่องความเห็นที่หลากหลายครับ”
“ส่วนอาจารย์กิตติศักดิ์ก็คืออาจารย์จะสอนแบบไปเรื่อย ๆ แต่ทุกคำมีความหมายก็คือแบบสำหรับผมก็คือต้องจดเลคเชอร์ทุกคำทุกฎีกา แล้วก็ต้องไปทบทวนอีกเพราะว่าผมรู้สึกว่าค่อนข้างเข้าใจยากนิดหนึ่งครับ แล้วก็อาจารย์จะชอบถามตอบ แล้วพอนักศึกษาตอบได้อาจารย์ก็จะถามไปเรื่อย ๆ จนนักศึกษาตอบไม่ได้ครับ ถามกลับ ถามเรื่อย ๆ ว่า ทำไมถึงตอบแบบนี้เพราะอะไร จนนักศึกษาจะเริ่มงงกับคำตอบของตัวเองซึ่งจริง ๆ มันอาจจะถูกอยู่แล้ว”
“นอกจากนี้ก็มีอาจารย์กิตติภพที่มาสัมมนาเนื้อหาบรรยายส่วนของอาจารย์กรศุทธิ์ ผมว่าอาจารย์กิตติภพสอนดีมากครับ เพราะว่าคือความที่ผมไม่เคยเรียนกับอาจารย์กรศุทธิ์มาก่อน ผมก็เลยไม่รู้วิธีการที่จะตอบหรือเรียงลำดับประโยคอะไรอย่างนี้นะครับ เวลามีการสัมมนาก็ทำให้รู้ว่าอาจารย์ต้องการอะไรมากน้อยแค่ไหน แล้วก็ได้เป็นการทบทวนเนื้อหาที่เรียนที่หลุดโฟกัสตอนเรียน”
คำถาม (3) : ได้คะแนนสอบเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบวิชากฎหมายลักษณะมรดกอย่างไร
เสฐียรพงษ์ : “ข้ออาจารย์ไพโรจน์ได้ 18 อาจารย์มาตาลักษณ์ได้ 18 อาจารย์กรศุทธิ์ได้ 20 อาจารย์กิตติภพได้ 19 แล้วก็อาจารย์กิตติศักดิ์ได้ 12”
“ของอาจารย์กิตติศักดิ์ที่ได้น้อย อย่างที่บอกผมพยายามจดฎีกาของอาจารย์กิตติศักดิ์ ซึ่งมันมีบางฎีกาที่อาจารย์ไม่ได้เฉลยตรง ๆ หรือไม่ได้เฉลยเลย ซึ่งมันเป็นฎีกาที่ออกข้อสอบ แล้วผมพยายามหาคำตอบแล้วกับเพื่อนแต่ก็ไม่เจอคำตอบที่ชัดเจนขนาดนั้น แล้วมันดันออกข้อสอบพอดี สำหรับของอาจาจารย์มาตาลักษณ์ที่ไม่ได้เต็ม ผมคิดว่าอาจจะเขียนวนไปวนมาก็คือของอาจารย์น่าจะต้องตอบให้ครอบคลุมแล้วก็ชัดเจนที่สุดเน้นการบรรยายมากกว่า”
“เทคนิคในการเรียน ของผมคือตอนแรกที่ได้ยินว่าจะมีการสอบมิดเทอม ผมก็จะอ่านหนังสือของอาจารย์เพรียบ แบบว่าอ่านให้จบไปเลยเพื่อจะให้รู้ถึงขอบเขตทั้งหมดแล้วเวลาไปเรียนจะได้เห็นภาพง่ายขึ้นเพราะว่าตอนเข้าเรียนตอนแรกนั้นเนื้อหามันกว้างมากเกินไป แล้วในห้องก็จะดูตามสไตล์ของอาจารย์แต่ละคนว่าต้องการอะไร อย่างของอาจารย์ไพโรจน์ก็อ่านหนังสือของอาจารย์ไพโรจน์แล้วก็ดูแค่หลักกฎหมายและฎีกาที่อาจารย์สอน ส่วนของอาจารย์มาตาลักษณ์ก็คือเข้าไปฟังแล้วก็เลคเชอร์ แล้วก็อาจจะทำเป็น mind map อาจจะทำให้เห็นภาพง่ายขึ้นสะดวก แล้วก็อ่านหนังสือของอาจารย์ไพโรจน์เพิ่มเติมได้”
“ส่วนของอาจารย์กรศุทธิ์กับอาจารย์กิตติภพอันนี้ก็คืออ่านหนังสือไปก็ไม่ค่อยช่วยเพราะอาจารย์เค้าจะออกแบบเป็นแนวความเห็นแล้วก็ออกโยงกับเรื่องอื่น ๆ อย่างเช่นนิติกรรม การแสดงเจตนา คำมั่น เพราะฉะนั้นก็คืออ่านเฉพาะแค่ชีทในห้องแล้วก็ตั้งใจเรียนสัมมนา ส่วนอาจารย์กิตติศักดิ์ผมใช้วิธีการจดเลคเชอร์แล้วก็กลับมาอ่านเลคเชอร์ตัวเองอีกครั้งเพื่อหาเหตุผลของตัวเอง”
“คือวิชามรดกมีสอบกลางภาค ผมคิดว่าก็มีส่วนดี ก็คือว่าจะแยกส่วนของอาจารย์ไพโรจน์ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไป และเรื่องหลัก ๆ ในส่วนพินัยกรรมออกจากกันเลยไม่เกี่ยวกันก็จะตัดภาระได้ แล้วก็พาร์ทพินัยกรรมมีตัวบทให้ ก็รู้สึกเห็นด้วยที่ว่าเราไม่ต้องมานั่งจำตัวบทซึ่งประหยัดเวลาตรงนี้ เป็นการวัดการตอบคำถามในห้องการตีโจทย์ให้แตกต่างมากกว่า”
“การเตรียมตัวสอบ ผมนั่งอ่านกับเพื่อน สำคัญที่สุดก็คือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แล้วก็บางคำตอบไม่ตรงกันใช่ไหมครับ เราก็จะหาเหตุผลมาว่าทำไมมันไม่ตรงกัน แล้วเราก็จะดูว่าเหตุผลจริง ๆ ที่ไปดูแล้วมันคืออะไรกันแน่”
“ถ้าให้แนะนำการเรียนวิชานี้ ก็แนะนำให้จับกลุ่มการอ่านดีกว่าอ่านคนเดียวครับ แล้วก็เข้าเรียนเพื่อให้รู้สไตล์อาจารย์แต่ละคน ฝึกทำก็ช่วยได้ครับ”
คำถาม (4) : รู้สึกอย่างไรกับวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เสฐียรพงษ์ : “ส่วนตัวผมชอบเกี่ยวกับวิชาวิธีสบัญญัติอยู่แล้วครับ คือมันเป็นวิชาที่มันมีกระบวนการคิด ลำดับอย่างชัดเจน ซึ่งการเรียนวิอาญาในลำดับการสอนรู้สึกว่าง่ายกว่าวิแพ่งเพราะว่าเคยเรียนมาแล้วในระบบศาลและในวิชาวิแพ่งซึ่งเป็นวิชาวิธีสบัญญัติ แต่ขอบเขตเนื้อหาเยอะมาก เยอะมากจนต้องแบ่งเนื้อหา ต้องแบ่งลำดับให้ดีแล้วก็หัวข้อว่าอันไหนอยู่ส่วนไหน”
คำถาม (5) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
เสฐียรพงษ์ : “อาจารย์ผู้สอนมี 2 คน คนแรกคืออาจารย์ณรงค์ครับ อาจารย์จะสอนเรื่องทั่วไปเป็นภาค 1 ภาค 2 ซึ่งอาจารย์จะอธิบาย อธิบายเนื้อหาหลักกฎหมายแล้วก็ยกตัวอย่างฎีกาครับ สามารถใช้หนังสือของอาจารย์คนึงประกอบได้”
“ส่วนต่อไปเป็นของอาจารย์สาวตรีครับอาจารย์สอนคล้าย ๆ กับอาจารย์ณรงค์ครับจะเป็นแบบอธิบายเนื้อหาแล้วแบบแล้วยกตัวอย่างจะเน้นไปที่ฎีกามาก ๆ ซึ่ง ซึ่งโดยปกติ ก็คือ อธิบายกฎหมายทั่วไปแล้วก็ยกตัวอย่างแต่เน้นไปที่ฎีกาที่ส่วนตัวผมในวิชานี้อาจารย์สาวตรีจะสอนค่อนข้างช้ากล่าววิชาอื่น ๆ อาจจะทำให้เด็กเข้าใจมากขึ้นครับ”
“วิชานี้ไม่มีสัมมนา แต่ส่วนตัวอยากให้มี เพราะว่ารู้สึกว่าเขียนค่อนข้างยาก เพราะว่าไม่มีพี่ทีเอที่เป็นผู้ช่วยมาแนะนำ คืออย่างวิแพ่งก็มีสัมมนา”
คำถาม (6) : ได้คะแนนสอบเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างไร
เสฐียรพงษ์ : “ของอาจารย์ณรงค์ได้ 17 18 ครับ ของอาจารย์สาวตรีได้ 17 18 แล้วก็ 14 รวม 84 ครับ ข้อสุดท้าย รู้สึกว่าผมจะผิดธงครับ ผิดธงของท่านอาจารย์สาวตรีแล้วก็เหตุผลอาจจะไม่ตรงกัน”
“เทคนิคผมจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ก็คือ ในพาร์ทอาจารย์ณรงค์ซึ่งจะมาสอนก่อน คือผมเข้าเรียนก่อนแต่มันเป็นวิชาใหม่แล้วมีเนื้อหาเยอะผมเลยรู้สึกว่าเรียนไปไม่เข้าใจผมเลยไปหาหนังสือของอาจารย์คนึงมาอ่านก่อนอ่านให้จบเล่มไปก่อนเสร็จแล้วค่อยไปเข้าเรียนแล้วก็ตามไฟล์เสียงกับเลคเชอร์ ผมว่าถ้าไปเรียนแล้วไม่เข้าใจหาเวลาอ่านแล้วค่อยกลับไปเรียนใหม่”
“ส่วนของอาจารย์สาวตรีผมชอบมากเลยเพราะว่าท่านอาจารย์มีชีทแจก แล้วก็ท่านสอนตามชีทไม่เร่งรีบแล้วก็เรื่องที่แกสอนค่อนข้างใช้เวลาเยอะดังนั้นถึงเราหลุดไปนิดหน่อยก็ไม่เป็นไรครับเพราะว่าท่านสอนย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ ให้เราเข้าใจครับ”
“ก่อนสอบผมจดเลคเชอร์ ผมจะเอาเลคเชอร์ขึ้นมาอ่านแล้วผมจะเอาฎีกาที่ไฮท์ไลท์และเหตุผลของฎีกาเพราะว่าทั้งสองท่านจะสอนแค่ฎีกา แล้วก็ไปฝึกเขียนเยอะ ๆ วิอาญาเพราะว่าการเขียนให้เข้ากันค่อนข้างยาก เพราะว่ามันต้องเป็นลำดับ ๆ ไปเรื่อย ๆ แล้วตอนท้าย ๆ ท่านอาจารย์ณรงค์เค้าจะมีสรุปก่อนหนึ่งคาบเพื่อบอกแนวแล้วก็ตัดส่วนที่ไม่ออกเพื่อช่วยนักศึกษาก็แนะนำให้คาบสุดท้ายอย่าขาด”
“แนะนำว่าให้น้องเข้าเรียนก่อนเพราะว่าอาจารย์สอนดีทั้งคู่เลยครับ แต่ถ้าไม่เข้าใจจริง ๆ ก็คือหาเวลาไปอ่านหนังสือของท่านอาจารย์คนึงซึ่งเล่มหนึ่งเป็นของพาร์ทอาจารย์ณรงค์และเล่มสองเป็นของอาจารย์สาวตรีครับ ถ้าจะว่าไปก็อ่านเองได้ จริง ๆ ก็อยากให้ลองเข้าเรียนก่อนเพราะว่าอาจารย์สอนดี”
คำถามสุดท้าย : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ จะแนะนำอย่างไร
เสฐียรพงษ์ : “ผมว่าภาพรวมจริง ๆ ก็คือ มีประเด็นสำคัญก็คือ สำหรับผมนะครับ ก็คือ อ่าน อ่าน ไม่ก็คือหาวิธีการเรียนของตัวเองอย่างผม ผมชอบอ่านก็จะหาซื้อหนังสือมาอ่าน ไม่เข้าเรียนบ่อยขนาดนั้น แต่ผมอ่านวิชาที่ไม่เข้าเรียนเป็นเล่ม ๆ และถ้าวิชาไหนเข้าเรียนก็จะจดเป็นเลคเชอร์ คืออยากให้หาสไตล์ของตัวเองให้เจอว่าเราชอบเลคเชอร์หรือเราชอบอ่านหรือเราชอบฟัง แล้วก็ไปเน้นตรงนั้นให้ดีเราไม่จำเป็นต้องไปทำตามคนอื่นแล้วก็หากลุ่มดีเบตครับเพราะว่ามันช่วยได้มันทำให้เรารู้ว่าข้อผิดพลาดของเราแล้วก็รู้ข้อที่เรายังไม่รู้แบบเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน”
ถ่ายภาพ CD
เรียบเรียง KK