วิชา น.462 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เป็นวิชาบังคับของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ซึ่งเปิดบรรยายทั้งภาค 1 และภาค 2 โดยในภาคการศึกษา 1/2562 ที่ผ่านมา บรรยายโดย รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อ.กฤษฎา บุณยสมิต และ อ.คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร เราจะพาคุณไปคุยกันกับวัฒนกร อุทัยวิวัฒน์กุล (บอส) และนวพล ขำสง่า (แบงค์) ผู้ที่สอบได้ 98 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดในวิชาดังกล่าว เกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียน รวมถึงประสบการณ์ในการทำกิจกรรมด้านอื่น ๆ
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
วัฒนกร : “ก็ก่อนเรียนโดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบวิชาประวัติศาสตร์อยู่แล้ว แต่ว่ายังไม่เคยศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกฎหมายเราเลย ก็คือส่วนใหญ่ที่เรียนมาก็คือเรียนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยธรรมดาทั่วไป แต่ว่าพอมาศึกษาวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายแล้วก็รู้สึกว่ามันสามารถใช้ต่อยอดพัฒนากฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ เพราะว่าเหมือนกับเราได้เรียนรู้กฎหมายตั้งแต่อดีตแล้วก็สามารถเปรียบเทียบว่าผลที่มันจะเกิดขึ้นในอนาคตจะส่งผลยังไงได้บ้าง เราก็เลยมีความชอบส่วนตัวอยู่ตรงนี้”
“ผู้สอนตอนนั้นมีอาจารย์มุนินทร์ อาจารย์ประชุม แต่ว่าท่านไม่ได้มาสอน คือในรายชื่อมีอาจารย์ประชุมอยู่แต่ว่าท่านไม่ได้มาสอนครับ แล้วก็มีอาจารย์กฤษฎากับอาจารย์คงสัจจาครับ”
“ตอนแรกก็แบ่งกันสามคนครับ คืออาจารย์มุนินทร์ อาจารย์กฤษฎา อาจารย์ประชุม แต่พออาจารย์ประชุมไม่ได้สอนก็ตัดพาร์ทของอาจารย์ประชุมไปเลย ก็มีพาร์ทของอาจารย์มุนินทร์ประมาณ 30 – 40% แล้วก็อาจารย์กฤษฎาอีก 30 – 40% เหมือนกัน ส่วนของอาจารย์คงสัจจาเหมือนตอนแรกอาจารย์มุนินทร์ให้อาจารย์มาอธิบายบรรยายเพิ่มในส่วนของอาจารย์มุนินทร์ แต่พออาจารย์ประชุมไม่สามารถมาสอนได้ก็เลยต้องเอาพาร์ทของอาจารย์คงสัจจามาออกข้อสอบแทน”
นวพล : “แต่เดิมผมไม่ค่อยชอบวิชาประวัติศาสตร์เลยอะครับ ตั้งแต่มัธยมปลายแล้ว รู้สึกมันเป็นวิชาท่องจำ แต่พอผมได้มาลองเรียนกับอาจารย์มุนินทร์ครั้งแรกเลยอะครับ ผมว่าอาจารย์มุนินทร์ท่านบรรยายได้เหมือนผมดูหนังเรื่องนึงอะครับ เหมือนหนังเรื่องนึงที่มีกฎหมายเป็นตัวเอกอะครับ แล้วดำเนินเรื่องไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่กรีกโบราณถึงสมัยปัจจุบันอะครับ ท่านฉายภาพได้น่าสนใจ น่าติดตามอะครับ พอเรียนเสร็จผมก็อยากกลับไปอ่านหนังสือต่อ แต่การเรียนผมก็มองว่ามันยังต้องใช้ความจำมากอยู่ดีครับ ซึ่งผมไม่ค่อยชอบตรงนี้เท่าไหร่”
คำถาม (2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
วัฒนกร : “ของท่านอาจารย์มุนินทร์ก็มีการสอนที่ คือผมไม่เคยเรียนกับท่านแต่ว่าตอนเรียนผมมารู้สึกว่าชอบการสอนของท่านตรงที่ว่าท่านสอนแล้วมีการให้น้ำหนักเสียงครับ คือไม่ได้มีเสียงโมโนโทนแต่ว่าสามารถเล่าประวัติศาสตร์ให้ไม่น่าเบื่อได้ ก็คือมีการบรรยายที่น่าติดตามตลอด”
“ส่วนของอาจารย์กฤษฎาก็จะเน้นไปในทางเกี่ยวกับกฎหมายตราสามดวง ก็คือจะมีการเอาคำภาษาบาลีมาประกอบการสอนบ้าง หรือว่าเป็นบทเกี่ยวกับกฎหมายในสมัยก่อนมา ก็คือจะทำให้เราได้เข้าใจเกี่ยวกับภาษา คำศัพท์เก่า ๆ แล้วก็ภาษาแบบพ่อขุนรามคำแหงตามศิลาจารึกอะไรอย่างนี้ ก็คือมันจะมีการเปรียบเทียบระหว่างภาษาเก่ากับภาษาใหม่ อันนี้ก็คือจะเป็นสิ่งที่แตกต่างที่ทำให้เราได้ติดตามเนื้อหาแล้วก็เราพยายามที่จะเข้าใจภาษาเก่าอะไรแบบนี้”
“ส่วนของท่านอาจารย์คงสัจจาก็เหมือนตอนแรกเคยเรียนกับอาจารย์ตอนสัมมนาอาญาภาคความผิด แต่ว่าพอมาเรียนประวัติศาสตร์กฎหมายก็คืออาจารย์เขาบรรยายกฎหมายประวัติศาสตร์ได้คล่องตัว สามารถเล่าเรื่องบรรยายได้เห็นภาพได้ว่าในสมัยช่วงรัชกาลที่ 5 กับกฎหมายที่มีการเปลี่ยนยุคของกฎหมายไทยอะครับ เขาสามารถที่จะบรรยายแล้วทำให้เราเห็นภาพได้ว่าในสมัยก่อนมันเกิดเหตุการณ์อะไรประมาณไหนบ้าง แล้วก็ไล่ลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่อาจารย์จะถ่ายทอดได้มากขึ้น”
นวพล : “ก็อย่างที่ว่าเลยครับ อาจารย์มุนินทร์ท่านเล่าเรื่องได้น่าสนใจครับ แบบเห็นเป็นภาพเห็นเป็นนิทานเลยครับ นิทานเกี่ยวกับกฎหมายประมาณนี้เลย พอท่านเล่าเรื่องปะติดปะต่อประสานเรื่องออกมาได้เป็นระบบแล้วมันน่าสนใจ แต่ละเรื่องมีเหตุมีผล มีลำดับเหตุการณ์น่าสนใจ ผมก็เลยชอบวิชานี้ขึ้นมาระดับนึงครับ”
“ส่วนอาจารย์กฤษฎานี่คาบแรก ๆ ผมรู้สึกว่าท่านเสียงค่อนข้างโมโนโทนครับ ผมก็เลยรู้สึกง่วงนิดหน่อย แต่ว่าพอมานั่งดูเนื้อหาของท่านจริง ๆ ผมก็คิดว่าเป็นเนื้อหาที่น่าสนใจครับ เพราะว่ามันมีมุมมองเกี่ยวกับกฎหมายไทยโบราณ กฎหมายเก่า ๆ กับกฎหมายใหม่เอามาเปรียบเทียบกันอะไรอย่างนี้ครับ มันได้เห็นกฎหมายในหลาย ๆ มิติ”
“ส่วนอาจารย์คงสัจจาผมชอบตรงที่ว่าท่านตั้งคำถามครับ ตั้งคำถามต่อความเชื่อเก่า ๆ ที่ผมเคยมีต่อประวัติศาสตร์ที่ผมเคยเรียนมาตอนมัธยมปลายอะไรอย่างนี้ครับ ท่านตั้งคำถามแล้วก็พาผมวิเคราะห์คำตอบได้น่าสนใจดีครับ ตอบคำถามผมในหลาย ๆ เรื่องได้มีเหตุมีผลเลยครับ ผมก็เลยชอบความคิด การวิเคราะห์ มุมมองด้านประวัติศาสตร์ของอาจารย์คงสัจจาครับ”
คำถาม (3) : ได้คะแนนสอบเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
วัฒนกร : “ก็คือจะมีการสอบกลางภาค 40 คะแนนแล้วก็ปลายภาค 60 คะแนนครับ กลางภาคเป็นของอาจารย์มุนินทร์ 2 ข้อ 40 คะแนน ปลายภาคเป็นของอาจารย์กฤษฎา 40 คะแนนแล้วก็อาจารย์คงสัจจา 20 คะแนนครับ คะแนนก็ได้เต็มทุกข้อ ยกเว้นข้อสุดท้ายได้ 18 คะแนน”
“อาจารย์มุนินทร์พูดตอนต้นคาบว่าจริง ๆ อะเขาจะมีรายงานให้ไปค้นหารายงานที่หอจดหมายเหตุแต่ว่าเหมือนกับว่าท่านอาจารย์เขาหมดมุกแล้ว (หัวเราะ) ปีนี้ก็เลยไม่มีให้ทำรายงาน คือตอนกลางภาคอาจารย์มุนินทร์เก็บ 40 คะแนน แต่ว่ามีข้อสอบให้ 3 ข้อ เลือกทำมา 2 ข้อ ก็คือข้อกลางภาคมี 3 ข้อใช่มั้ยครับ ผมเลือกทำข้อที่ 1 กับ ข้อที่ 3 ก็คือได้ 20 เต็มทั้งสองข้อ”
“มีสอบกลางภาคคิดว่าดีครับ มันช่วยแบ่งเบาภาระ แบบความเสี่ยงที่จะตก ไม่ใช่ของวิชานี้อย่างเดียว มันรวมถึงวิชานี้แล้วก็วิชาอื่นด้วย มันก็จะไปเบาปลายภาคของวิชาอื่นด้วยอะครับ”
“ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะได้เยอะขนาดนี้ครับ แต่ว่าก็คือดูคะแนนปีก่อน ๆ มาก็คือหวังว่าอยากได้สัก 90 อะครับ แต่ก็ไม่คิดว่าจะได้ 98 เยอะขนาดนี้”
“เทคนิคก็จะพยายามเข้าเรียนให้ได้ทุกคาบครับ ก็คือเน้นไปที่การเข้าเรียนเพราะว่าเราก็จะทำความเข้าใจในระหว่างเรียนแล้วพยายามใช้สมาธิโฟกัสให้ได้มากที่สุดอะครับ เพราะว่าตอนที่เราทบทวนอย่างนี้เราจะได้เข้าใจเนื้อหา แต่ว่าถ้าในห้องเรียนเรามีหลุดบ้างหรือว่าเราตามไม่ทันเราก็จะมีการกลับไปฟังไฟล์เสียงอะครับ เพื่อที่จะให้เราได้เข้าใจประเด็นและสิ่งที่อาจารย์ต้องการจะสื่อในคาบให้ได้มากที่สุด ส่วนก่อนที่เราจะเข้าเรียนเราก็จะมีการอ่านหนังสือก่อนที่จะเข้าเรียนแต่ว่าไม่ได้อ่านจบทั้งเล่ม แต่ว่าอ่านเฉพาะบทที่คิดว่าอาจารย์น่าจะสอนในอาทิตย์นี้ อาจจะอ่านล่วงหน้าบทสองบทอะไรอย่างนี้ แล้วช่วงสอบก็คือจะมีการทำสรุปเป็นของตัวเอง ก็คือจะเขียนเป็นภาษาของตัวเองให้ตอนที่กลับมาอ่านในช่วงสอบไฟนอลก็คือจะทำให้เราสามารถจะเข้าใจได้แบบดี แล้วก็ประหยัดเวลาในการอ่านหนังสือใหม่อีกรอบนึง”
“การเขียนสำหรับวิชานี้หลายคนอาจจะมองเป็นวิชาที่บรรยายแล้วก็เน้นจำ แต่ผมคิดว่าการวัดผลคือไม่ได้มีแค่การจำประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วไปตอบ แต่ว่าเราจะต้องเข้าใจถึงที่มาที่ไปและสามารถเปรียบเทียบกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันกับกฎหมายในอดีตได้ว่ามันแตกต่างกันยังไง แล้วก็สิ่งที่เราควรจะแก้ไขกฎหมายในปัจจุบันอะควรจะมีการพัฒนาต่อยอดยังไง ก็คือมันอาจจะต้องมีการวิเคราะห์แล้วก็เปรียบเทียบของกฎหมายสมัยใหม่กับกฎหมายสมัยเก่าด้วยอะครับ”
นวพล : “คะแนนก็คือได้ 20 เต็มทุกข้อ ยกเว้นข้อสุดท้ายของอาจารย์คงสัจจา ได้ 18 คืออาจารย์คงสัจจาท่านสอนครั้งเดียวครับ แล้ววันนั้นผมติดธุระประมาณนึง ผมก็เลยเข้าคาบทีหลังแล้วผมก็ไม่ได้ฟังไฟล์ตอนนั้น ผมก็เลยไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งขนาดนั้นด้วยแหละครับ แล้วก็เขียนได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ครับ เขียนเป็นข้อสุดท้ายด้วย”
“มีสอบกลางภาคผมว่าได้แบ่งเบาภาระดีครับ แต่ว่ามันอาจจะเหมาะสำหรับบางคนที่อาจจะเริ่มสตาร์ทตัวเองตั้งแต่ต้นปีแบบนี้ เขาก็จะได้แบ่งเบาภาระเพราะว่าได้แบ่งกลางภาคไปสอบก่อน แต่ถ้าคนที่ต้นเทอมเอาแต่เที่ยวอะไรแบบนี้ แบบเล่นไปก่อน แล้วค่อยไปขยันตอนใกล้จะสอบอันนี้ก็อาจจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ครับ อาจจะเหมาะสำหรับบางคนมากกว่า แต่สำหรับผม ผมว่าแบ่งเบาภาระได้ดีครับ”
“เทคนิคถ้ามองในมุมของวิชานี้อาจจะใช้ความจำกับความเข้าใจควบคู่กันไป ผมทำความเข้าใจในห้องก่อนอะครับแล้วก็มานั่งทบทวนความรู้ แล้วผมจดสรุปของผมขึ้นมาเองแล้วก็นั่งท่องจำแต่ของผมอะครับ ทำเหมือนคล้าย ๆ เป็นแพทเทิร์นของตัวเองสั้น ๆ ขึ้นมาอย่างนี้ครับ แล้วตอนสอบเนี่ยผมจะตอบเกินกว่าที่อาจารย์สอนผมมา แบบอาจารย์ให้ผมมาประมาณ 100 ผมตอบไปประมาณ 120 – 130 อย่างนี้ ผมวิเคราะห์เพิ่มขึ้นไป พยายามทำให้กระดาษคำตอบของตัวเองมันโดดเด่นกว่าคนอื่นอะครับ”
“เทคนิคในการเขียนวิชานี้ ผมว่าไม่ได้ต่างจากวิชาบรรยายอื่น ๆ สักเท่าไหร่ครับ แต่ว่าวิชานี้ผมว่าอาจารย์ตรวจท่านไม่ได้ตรวจในด้านถ้อยคำภาษาอะไรขนาดนั้นครับ แต่ว่าตรวจไปในทางการให้เหตุผลกับการเรียบเรียงอะไรมากกว่าครับ โดยเฉพาะอาจารย์มุนินทร์ ท่านจะให้น้ำหนักกับการชั่งน้ำหนักระหว่างประเด็นหลักประเด็นรอง บางคนเล่าไปในเรื่องที่อาจารย์ไม่ได้ถามอะครับ แบบมันต้องฟังก่อนว่าอาจารย์ถามตรงไหน ตรงไหนคือประเด็นหลัก แล้วเราต้องขยี้ เราต้องตอบแล้วก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนั้นให้มากที่สุด”
คำถาม (4) : กิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำ และแบ่งเวลาระหว่างการเรียนและการทำกิจกรรมอย่างไร
นวพล : “ล่าสุดก็ชนะเลิศการแข่งขันมูทคอร์ทของศูนย์นิติศาสตร์ครับ แล้วก็แข่งตอบปัญหากฎหมายวิชาการวันรพี แล้วก็แข่งตอบปัญหาวิชาการที่ศาลยุติธรรมครับ ประมาณ 3 อย่าง”
“ความรู้สึกคือมันได้เปิดโลกใหม่ ๆ ครับ อย่างมูทคอร์ทเริ่มต้นเลยผมเป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าพูด พอกิจกรรมนี้มามีเพื่อนชวนให้ไปทำบอกว่า “แบงค์ลองมั้ย จะได้ฝึกพูด เดี๋ยวให้เป็นตัวพูดเลย” ผมก็เออลองก็ได้ แล้วแบบถ้าไม่ลองมันก็ไม่รู้ว่าชาตินี้เราจะพูดเป็นตอนไหน แบบพูดให้คนอื่นไม่อายแล้วไม่เขินตัวเอง ผมก็เลยลองทลายกำแพงตัวเองดู”
“แล้วอยากลองพิสูจน์ตัวเองดูบ้าง แล้วก็วิชาการก็แข่งวิชาการ อย่างที่ศาลยุติธรรมผมได้ลองสัมผัสกับแดนกฎหมายอื่น ๆ เช่น กฎหมายพิเศษแบบพ.ร.บ.ครอบครัวและศาลเยาวชน พ.ร.บ.ยาเสพติด แล้วก็ความรู้เกี่ยวกับศาลยุติธรรมทั่ว ๆ ไป มันก็ได้ลองไปสัมผัสกับความรู้ใหม่ ๆ ดูบ้างครับ แล้วก็พยายามทำงานร่วมกับเพื่อนอะไรอย่างนี้ครับ ส่วนแข่งตอบปัญหาที่ของงานรพีธรรมสาสตร์ก็จะยากขึ้นมาหน่อยนึงครับ เพราะว่าต้องเขียนตอบ แต่ธรรมศาสตร์ก็น่าจะถนัดการเขียนตอบมากกว่าอยู่แล้ว ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันครับแต่ว่าการตอบของธรรมศาสตร์น่าจะ touch ใจของกรรมการได้มากทีเดียว พอไปแข่งแล้วก็มันได้กลับมานั่งทบทวนความรู้กฎหมายเก่า ๆ อะครับที่เคยเรียนไปตั้งแต่ปี 1 แล้วพอเราเรียนจบเราก็ไม่ได้ทบทวนอีกเลย แล้วพอมีรายการนี้ขึ้นมาผมก็ได้มานั่งทบทวนแล้วก็เอาไปเขียนตอบประมาณนี้”
(การทำกิจกรรมกระทบการเรียนไหม ?) “ก็บางทีมันก็ต้อง balance อะครับ ประมาณว่าถ้าเราคิดว่าเราจะทำกิจกรรมเนี่ย ถ้าสมมติตัวผมนะ ปีนี้ผมวางแผนแล้วว่าปีนี้ผมจะทำรายการนี้สองรายการ ผมก็จะเริ่มอ่านหนังสือตุนมาตั้งแต่ต้น ๆ แล้วเพื่อไม่ให้มันมากระทบการเรียนอะครับ เพราะว่าบางรายการมันอาจจะไปแข่งตอนใกล้สอบหน่อย แล้วถ้าแข่งรายการนั้นเสร็จแล้วมานั่งอ่านหนังสือมันก็อาจจะไม่ทันอย่างนี้ มันก็ต้องวางแผนเอาไว้ก่อนว่าถ้าเราจะทำรายการนี้เราก็ต้องมานั่งอ่านหนังสือตุนไว้ก่อนล่วงหน้าประมาณนี้ครับ แล้วก็พยายามเลือกกิจกรรมที่เหมาะกับเรา ดูจากวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนั้นว่ามันตอบโจทย์กับความต้องการของเราหรือเปล่า เราอยากทำไหม”
วัฒนกร : “ก็หลัก ๆ ก็จะเป็น TA ผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาอันนี้ก็ทำของวิชานิติกรรมสัญญา ทำมา 3 ครั้ง ตอนปี 2 เทอม 1 ปี 2 เทอม 2 กลุ่มอาจารย์กรศุทธิ์ แล้วก็เทอมนี้ ปี 4 เทอม 2 กลุ่มอาจารย์กรศุทธิ์ อาจารย์กิตติภพ แล้วก็มีกิจกรรมของคพน. (โครงการเผยแพร่วิชานิติศาสตร์) ที่ไปช่วยเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน แต่ว่าผมไม่ได้ไปค่ายนะครับ แต่ว่าเคยเข้าร่วมประชุมแล้วก็จัดเสวนาแล้วก็แสดงละครที่แบบให้ความรู้ประชาชนผ่านการแสดงละคร”
“ก็รู้สึกว่า อย่างการทำของสัมมนาก็คือตั้งใจที่จะมาเป็นผู้ช่วยสัมมนาอยู่แล้ว เพราะว่าโดยส่วนตัวตั้งแต่ปี 1 คือชอบพี่ที่เขาเขียนสัมมนาให้ แล้วก็พอพี่เขาวิจารณ์เราอย่างนี้เราก็สามารถที่จะพัฒนาตัวเองแล้วก็ปรับปรุงได้ว่าเราควรจะแก้การเขียนที่จุดไหน ๆ อะไรอย่างนี้ ก็เลยรู้สึกว่าการเป็นพี่สัมมนาก็คือมันช่วยพัฒนาทั้งตัวเราให้ทบทวนความรู้แล้วก็ช่วยพัฒนารุ่นน้องไปด้วย ก็เป็นกิจกรรมที่ดีอย่างหนึ่งครับ”
“ส่วนคพน.ก็เหมือนกับว่าเราได้ทำงานร่วมกับเพื่อนในคณะเพิ่มขึ้น เพราะว่ามันเป็นกิจกรรมที่จะต้องมีการประสานงานแต่ละฝ่าย ซึ่งมันก็ช่วยเพิ่มทั้งความรู้ที่จะเอาไปปรับใช้ในการทำงาน แล้วก็ช่วยเรื่องทักษะในการประสานงานติดต่อกับอาจารย์กับเพื่อน ๆ อย่างนี้เพิ่มขึ้น”
“แล้วก็มีค่ายสร้างครับ แต่ว่าไม่ใช่ของคณะนิติศาสตร์ ก็คือเป็นค่ายอาสาพัฒนาชนบทของกลุ่มกิจกรรมค่ายช้างเผือกอะครับ ก็จะไปสร้างห้องสมุดให้ที่จังหวัดอุดรธานี”
(การทำกิจกรรมกระทบการเรียนไหม ?) “ผมว่าการทำกิจกรรมมันไม่ได้กระทบการเรียนมาก คือมันก็ต้องเสียเวลาส่วนหนึ่งไปแหละแต่ว่ามันก็ไม่ได้กระทบการเรียนมาก ถ้าสมมติว่าเราแบ่งเวลาดี ๆ อะครับ เหมือนกับกิจกรรมเราก็ไม่ได้ทำตลอดเทอม แต่ว่ามันก็จะต้องแบ่งเวลาได้ว่าช่วงต้นเทอมอย่างนี้เราก็อาจจะอ่านหนังสือควบคู่ไปกับทำกิจกรรมด้วย แต่ว่าพอถึงช่วงเวลาก่อนสอบจริง ๆ สัก 2 – 3 อาทิตย์อย่างนี้ เราก็ต้องเบากิจกรรมลงแล้วแล้วก็มาอ่านหนังสือทบทวนความรู้ จะต้องเน้นไปที่การเรียนมากกว่าการทำกิจกรรม”
คำถามสุดท้าย : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการเรียนวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และการเรียนที่คณะนิติศาสตร์ จะแนะนำอย่างไร
นวพล : “สำหรับวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย ก็อย่างน้อยอยากให้เข้าเรียนก่อนครับ บางคนอาจจะคิดว่าวิชานี้มีหนังสือให้อ่านแล้วมันก็น่าจะเป็นวิชาที่จำอย่างเดียว เข้าเรียนก็ไม่น่าจะมีประโยชน์ แต่ว่าผมคิดว่าไม่ใช่ครับ ตอนแรกผมอ่านหนังสือก่อนจะไปเรียนนะวิชานี้ แต่ว่าผมอ่านยังไงผมก็ยังไม่เข้าใจขนาดนั้น ยังจำไม่ได้อะครับ ผมเลยแนะนำว่าอยากให้เข้าเรียนให้เข้าใจก่อนอะครับ แล้วมาค่อยอ่านหนังสือตามทีหลังจะดีกว่า เพราะว่าถ้าจำจากความเข้าใจดีกว่าจำแบบนกแก้วนกขุนทอง มันน่าจะช่วยให้จำวิชานี้ได้มากกว่า เพราะว่าวิชานี้เนื้อหาที่ให้จำไปตอบค่อนข้างจะเยอะมาก ถ้าจำแบบนกแก้วนกขุนทองก็ไม่น่าจะจำได้เยอะจำได้หมด แล้วก็อยากให้นอกจากจำแล้ว อยากให้วิเคราะห์ด้วยอะครับ แบบวิเคราะห์เพิ่มเติม แสดงความเห็นของเราให้มันมากกว่าที่อาจารย์สอนมา ผมว่าตรงนี้น่าจะสำคัญ อย่าตอบให้เหมือนเป็นแพทเทิร์นว่าอาจารย์สอนมาเท่าไหร่ก็ตอบคืนไปเท่านั้น สอน 100 ก็ตอบ 100 อย่างนี้ครับ มันน่าจะไม่ได้ทำให้คะแนนพุ่งมากเท่าไหร่”
“ส่วนการเรียนที่คณะนิติศาสตร์ ก็อย่างน้อยก็พาตัวเองให้มาเข้าเรียนให้ได้ทุกคาบให้ได้ก่อนเลยครับสเต็ปแรก มันก็จะทำให้ผมว่าแค่เข้าเรียนทุกคาบเนี่ยคุณก็การันตีได้แล้วว่าคุณไม่มีทางตกในการเรียนวิชานี้แน่นอน แต่ถ้าคุณอยากจะได้คะแนนที่โดดเด่นมันก็ต้องพยายามให้มากกว่าคนอื่นอะ แบบคนอื่นนอน คนอื่นนั่งเล่น เราก็ต้องเอาเวลาไปทบทวนการเรียนของเราครับ แล้วก็การอ่านหนังสือผมมองว่าบางคนอาจจะอ่านเข้าหัวแล้วก็ออกไปเลยอย่างนี้ ผมเลยคิดว่าทุกคนควรจะหาวิธีการอ่านหนังสือให้จำเป็นวิธีของตัวเองอะครับ วิธีที่ตัวเองถนัด อย่างผมผมเป็นคนอ่านหนังสือช้า แต่วิธีการอ่านหนังสือของผมก็คือผมอ่านแล้วผมก็จะจด short note ไว้เรื่อย ๆ จดไว้ข้าง ๆ ย่อหน้า ข้าง ๆ passage นั้นไปเลยอะครับว่าผมอ่าน passage นี้แล้วผมได้ใจความสรุปออกสั้น ๆ มาว่าอย่างไร ประโยคเดียวเลยอย่างนี้ครับแล้วผมก็จะจำประโยคนั้นน่ะ พอผมนึกประโยคนั้นขึ้นได้มันก็จะขยายความออกมาเป็น passage นั้นขึ้นมาเลยอะครับในห้องสอบ มันก็จะช่วยให้การจำมันเป็นอะไรที่ง่ายขึ้นครับ ประมาณนี้”
วัฒนกร : “คิดว่าภาพรวมคือการที่เราจะทำความเข้าใจวิชาประวัติศาสตร์ได้คือเราจะต้องพยายามเข้าใจความคิดของคนในสมัยนั้นอะครับ แล้วก็มองว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ สภาพสังคมในสมัยนั้นมันเป็นยังไง สิ่งที่เขาคิดมันสอดคล้องกับสภาพสังคมเขายังไง เราถึงจะสามารถตอบคำถามและเปรียบเทียบได้ว่าในสภาพสังคมปัจจุบันของเราอะแตกต่างจากเขายังไง แล้วกฎหมายของเรามันแตกต่างกับเขายังไง คือเหมือนกับเราต้องมองมุมมองคนในอดีตให้ออก”
“ส่วนการเรียนที่คณะนิติศาตร์ สำหรับวิธีการเรียนผมว่ามันขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่า บางคนอาจจะชอบฟังไฟล์เสียง บางคนอาจจะชอบเข้าเรียน แต่ว่าสำหรับผมอะเน้นที่เข้าเรียน แต่ว่ามีตอนปี 4 ที่ผมลองเปลี่ยนวิธีการเรียนดู คือปี 1 – 3 ผมเรียนแบบเข้าห้องเรียนแต่ว่าไม่ได้ฟังไฟล์เสียงอะครับ คือไม่ได้เก็บประเด็นให้ครบอะไรอย่างนี้ แต่พอปี 4 ผมเข้าเรียนด้วยแล้วก็มีทบทวนการกลับมาฟังไฟล์เสียงเพิ่มเติม ทำให้เราไม่หลุดประเด็นสำคัญที่อาจารย์เขาสื่อสารในห้อง ก็เลยทำให้ปี 4 คะแนนค่อนข้างที่จะดี”
ภาพถ่าย Boss, Bank
เรียบเรียง KK