ตามที่ได้มีการจัดกิจกรรมโต้วาทีออนไลน์ “ต่อปากต่อคำ (Law Quarantine)” ในญัตติ “สอบในห้อง หรือ ทำ take home” ทางเฟซบุ๊กเพจ LAWTU Student Committee – Rangsit Campus ในวันศุกร์ที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา (ชมภาพข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/online_debate/) วันนี้เราจะไปพูดคุยกับผู้เข้าแข่งขันทั้งสองคนได้แก่ ณภัทร จิวาภรณ์คุปต์ (สายป่าน) และนิพิฐพนธ์ นราวิชญ์วิรุฬห์ (ริว) และผู้จัดกิจกรรมได้แก่ ธาริน หลายศิริเรืองไร (อ๊อบ) ประธานกรรมการนักศึกษา (กน.) ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการด้วย ถึงที่มา การเตรียมงาน การเตรียมตัว และความรู้สึกในการเข้าร่วมกิจกรรม
คำถาม (1) : ทำไมจึงสมัครเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
ริว : “ช่วงนั้นเป็นช่วงที่กำลังรู้สึกว่ากำลังมีปัญหาด้านการควบคุมวินัยของตัวเองครับ รายงานกองพะเนิน เนื้อหาวิชาที่ต้องศึกษาเพิ่มมากมายแต่ไม่รู้สึกเลยว่ามีแรงจูงใจ ทำตัวว่าง ๆ พักผ่อนไปวัน ๆ ก็มาเห็นการแข่งขันรายการนี้เข้า ก็หวนคิดถึงการแข่งขันขึ้นมา เป็นคนชอบทำอะไรใหม่ ๆ อยากท้าทายตัวเองอีกสักครั้งหลังจากเคยผ่านการแข่งโต้วาทีมาครั้งหนึ่งเมื่อเทอมที่แล้ว ซึ่งเป็นรายการแรกในชีวิตเลยที่ได้ลองแข่งรายการแข่งพูดประเภททีมอะไรแบบนี้น่ะครับ แล้วครั้งนั้นก็คือโอเค ผมเป็นหน้าใหม่ มือใหม่หมดเลยสำหรับทุก ๆ อย่างในการแข่งขัน ก็พยายามซ้อมหนัก พัฒนาทักษะตัวเอง พยายามทำให้มันออกมาดี แล้วผลลัพธ์นอกเหนือจากการแข่งขันก็คือ เราได้พัฒนาตัวเองขึ้น ผมก็เลยรู้สึกว่า เอาล่ะ อีกสักครั้งก็แล้วกัน ลองแข่งประเภทเดี่ยวดู แล้วก็หวังว่าจะเรียกความรู้สึกเดิม ๆ ความมุ่งมั่น ความสุข สนุกสนานจากการได้เติมเต็มตัวเอง ได้ท้าทายขีดจำกัดตัวเอง จะได้เรียกวินัยตัวเองกลับมาได้ ก็เลยตัดสินใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมครับ”
สายป่าน : “เป็นคนที่ชอบคิดวกวนเกี่ยว
คำถาม (2) : เตรียมตัวอย่างไรบ้างในการแข่งขัน
สายป่าน : “ในรอบแรกก็หาข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อที่จะพูดถึงค่ะ โดยหัวข้อที่เลือกคือการสั่ง delivery หรือทำอาหารรับประทานเอง จากนั้นจึงเรียบเรียง ย่อยออกมาว่ามีประเด็นอะไรบ้าง และตั้งกล้อง อัดคลิปค่ะ ตอนนี้ยังไม่น่ากลัว เพราะไม่ได้พูดกับคนแต่พูดกับกล้องค่ะ”
“ส่วนในรอบถัดมา เมื่อทราบญัติแล้วก็หาข้อมูล ลิสต์ topic ที่ต้องการจะพูดถึง โดยมีสิ่งที่ต่างไปจากเดิมคือ รอบนี้ไม่ได้พูดคนเดียวกับกล้อง แต่พูดคุยกับคนโดยตรงค่ะ เพราะฉะนั้นเลยต้องคิดล่วงหน้าด้วยว่า อีกฝ่ายจะ defend หัวข้อของตนเองอย่างไรบ้าง และเราจะสามารถโต้กลับได้อย่างไร โดยการนำข้อดีและข้อเสียของทั้งสองฝั่งมาเปรียบเทียบกัน และเรียบเรียงแยกประเด็นออกมา จากนั้นจึงแบ่งว่า รอบ 4 นาทีแต่ละครั้งจะพูดเกี่ยวกับอะไรบ้าง และคาดคะเนว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ไปกับแต่ละประเด็นค่ะ”
ริว : “ยอมรับว่าประสบการณ์มีส่วนครับ รู้วิธีเตรียมตัวของการพูดแบบโต้กันไปมา อันดับแรกคือเห็นหัวข้อแล้วห้ามเชื่อไปทางไหนเลย ต้องรอจนกว่าจะรู้ว่าเราต้องสนับสนุนอะไร พอรู้แล้ว ต่อให้มันขัดสามัญสำนึกเราแค่ไหนก็ต้องหาข้อได้เปรียบของมันให้เจอไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม ก็เริ่มจากนั่งคิด หาข้อสนับสนุนที่ทั้งแข็งและอ่อนเพื่อมาวางกลยุทธ์ วางข้อดีทั้งหมดของหัวข้อเรา ไล่ข้อดีทั้งหมดของอีกฝ่าย เราเป็นอีกฝ่ายจะพูดอะไร เราจะรู้แล้วว่าเราใช้ประเด็นไหนสู้ได้ ประเด็นไหนเราอ่อน ต้องทำการบ้านมาอุดข้อเสียของสิ่งที่เราจะนำเสนอ แล้วก็ลิสต์ไว้ คำนวณเนื้อหาว่าประเด็นนี้ควรพูดก่อนหลัง ถ้าหยิบมาค้านก่อนจะเติมช่องโหว่ที่หยิบไปด้วยอะไร แล้วก็ซ้อมพูดตามข้อมูลสักสามสี่ชั่วโมงเพื่อให้เนื้อหามันผ่านปากผ่านหัว เวลาพูดหน้างานจริง ๆ จะได้ไม่รวนครับ ส่วนลีลาท่าทางเดี๋ยวถึงเวลามันมาเองครับ (หัวเราะ)”
คำถาม (3) : หัวข้อที่ได้ ตรงกับความชอบของตัวเองจริง ๆ ไหม ถ้าไม่ตรง มีวิธีหาข้อโต้แย้งอย่างไร
ริว : “จริง ๆ เป็นทีมสอบในห้องครับ พึ่งรู้หน้างานว่าจริง ๆ พี่เขาก็อยากได้ของเรา กลายเป็นว่าสลับฝั่งกันไปเสียอย่างนั้นครับ แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ากฎผมคือห้ามปักใจกับหัวข้อ จึงไม่เป็นปัญหา ก็มานั่งย้อมใจตัวเองว่าเออสิ่งนี้มันดีกว่าอีกสิ่งจริง ๆ เหมือนสะกดจิตตัวเองให้เชื่อก่อนครับ ทีนี้พอหัวข้อมาก็รู้สึกว่าเออเราเสียเปรียบประมาณนึงนะ ก็เลยเอาล่ะ เราจะใช้กลยุทธ์จี้จุดแข็งอีกฝ่ายนั่นแหละ แต่เรายัดข้อมูลเยอะ ๆไปประกบ ดึงออกมาเป็นข้อ ๆ แล้วเชื่อมโยงกันเป็นระบบให้มันปกป้องกันและกัน เป็นเหตุเป็นผลกันในตัว แล้วก็จี้ให้เรื่องที่เป็นจุดแข็งของอีกฝ่ายดูอ่อนลงตั้งแต่ต้นเลย แล้วหลังจากนั้นเราค่อยปรับเนื้อหาส่วนที่เหลือเอาหน้างานครับว่าจะลำดับก่อนหลังในส่วนที่เหลืออย่างไร”
สายป่าน : “ไม่ตรงค่ะ เพราะได้หัวข้อการสอบในห้อง แต่จริง ๆ แล้วไม่ชอบความกดดันในห้องสอบ แต่เวลาหาข้อมูลก็จะหาข้อดีและข้อเสียของทั้งสองฝั่งมาเปรียบเทียบกันอยู่แล้ว และกล่อมตัวเองว่าอย่างน้อยสิ่งที่ไม่ชอบก็ยังมีข้อดี และสิ่งที่ชอบก็มีข้อเสียเช่นกัน เมื่อมี bias แล้ว การโต้เถียงเข้าข้างหัวข้อที่ได้ก็จะง่ายขึ้น แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับความชอบก็ตามค่ะ”
คำถาม (4) : ความรู้สึกระหว่างแข่งขันเป็นอย่างไรบ้าง
สายป่าน : “ก่อนหน้านี้พยายามกล่อมใจตัวเองไม่ให้ตกใจโดยคิดว่าแค่พูดหน้ากล้องคงไม่มีอะไร แต่ระหว่างแข่งกลับผิดจากที่คิดไว้ค่ะ เพราะรู้ตัวว่ากำลังพูดออกอากาศให้คนอื่นฟังอยู่ อีกทั้งเป็นการไลฟ์ที่ไม่สามารถย้อนกลับกลับมาแก้ไขหรือลบทิ้งแล้วเริ่มใหม่ได้ และไลฟ์นั้นก็จะถูกบันทึกเก็บไว้ดูย้อนหลังได้อีก เท่ากับว่าถ้าทำอะไรพลาดไป ความผิดพลาดนั้นก็จะถูกบันทึกเก็บไว้เช่นกัน กลายเป็นว่ารู้สึกตื่นเต้นและกดดันยิ่งกว่าพูดในที่สาธารณะจริง ๆ อีกค่ะ”
ริว : “ตั้งแต่แรกก็รู้มาประมาณหนึ่งครับว่าพี่เขาเก่ง แล้วก็มีตรรกะเหตุผลแล้วก็น้ำเสียงที่ดี ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นงานที่ยาก แล้วบวกกับกระแสตอบรับของกิจกรรมมันไปไกลกว่าที่คิดมาก ๆ ครับ ผมกดดันมาก ๆ อย่างที่ไม่ได้รู้สึกมานาน แข่งครั้งก่อนคนดูที่เป็นเพื่อนเรามีไม่กี่คน เราตัดคนที่เหลือไปเราก็กดดันไม่มาก ครั้งนี้คือสักขีพยานเป็นเพื่อน ๆ พี่ ๆ คณาจารย์ในคณะทั้งนั้น ตื่นเต้นมาก ๆ ผมรับมือกับแรงกดดันได้ไม่เก่งน่ะครับ วินาทีที่จะเริ่มแข่งแล้วใจผมยังสั่นมาก ๆ อยู่เลย แต่พอมันถึงเวลาละ เราต้องเริ่มละ ก็พยายามใส่ให้เต็มที่ครับ เท่าที่เตรียมตัวมา ถึงยังงั้นก็ยังกดดันมากๆ จนก็มีข้อผิดพลาดหลาย ๆ อย่าง เนื้อหา การคุมเวลา การค้าน ก็ยังมีข้อบกพร่องที่เกิดจากความกดดันอยู่ครับ แล้วก็ต้องยอมรับว่าพี่เขาเก่งมาก ๆ เหมือนกัน รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่ได้แข่งกับพี่เขาครับ แล้วก็บรรลุวัตถุประสงค์ตัวเองที่อยากจะลองท้าทายตัวเอง เรียกความรู้สึกเดิม ๆ กลับมา ส่วนเรื่องผลการแข่งขันก็รู้สึกว่าเรายังต้องพัฒนาตัวเองให้ดีกว่าเดิมครับ แพ้ก็แปลว่าเรายังดีไม่พอ ละพี่สายป่านก็คู่ควรกับการเป็นผู้ชนะแล้วครับ ดีใจด้วยกับพี่เขาอีกครั้งนะครับ (ยิ้ม)”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม
สายป่าน : “ได้ท้าทายตัวเองโดยการลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนค่ะ อีกทั้งทักษะแต่ละอย่างที่ใช้ในการแข่งขันก็เป็นสิ่งที่ไม่ถนัดเลย ทำให้การเข้าร่วมการแข่งขันนี้ ๆ ถือเป็นการปรับปรุงจุดด้อยที่ตัวเองมีด้วย เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ค่ะ”
ริว : “ในส่วนนี้ก็คงเป็นประสบการณ์ดี ๆ ได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ และท้าทายตัวเองอย่างที่ตั้งใจครับ ได้มีโอกาสแสดงตัวตนอีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของเราว่า เราก็ทำแบบนี้ได้นะ นอกเหนือจากนี้ก็น่าจะทำให้เราได้รับโอกาสใหม่ ๆ ให้ตัวเองอีกในอนาคตครับ อาจจะมีโอกาสได้ลองทำอะไรที่ได้แสดงความสามารถด้านนี้หรือด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต จากการที่เราได้มาใช้พื้นที่กิจกรรมนี้แสดงตัวเองไปแล้ว อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าวัตถุประสงค์ที่ผมเข้าร่วมกิจกรรมคือเพื่อตอบสนองและพัฒนาตัวเอง ซึ่งพอได้ลงมือทำไปแล้ว นอกเหนือจากนั้นก็ล้วนเป็นกำไรทั้งสิ้นครับ ไม่ว่าการรับมือกับความกดดัน ตื่นเต้น ความสนุกสนาน ได้โอกาสค้นพบข้อบกพร่องเพื่อการพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งดี ๆ ที่ผมได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมครับ”
คำถาม (6) : ที่มาของกิจกรรมดังกล่าว
อ๊อบ : “สืบเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบันทำให้กิจกรรมต่างๆของคณะไม่สามารถจัดได้เลย รวมทั้งการเรียนในคณะก็ต้องทำในระบบออนไลน์ทั้งหมด ทำให้นักศึกษามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันน้อยลงไปมาก และเพื่อเป็นการกระตุ้นบรรยากาศภายในคณะให้คึกคักมากขึ้น ทางกน.จึงได้ประชุมกันเพื่อคิดหากิจกรรมที่จะจัดในรูปแบบออนไลน์เพื่อให้เพื่อนนักศึกษาได้ผ่อนคลาย และมีส่วนร่วมให้มากที่สุด กรรมการกน.ได้เสนอมาหลายกิจกรรมนะครับ และสุดท้ายจึงได้ข้อสรุปที่การจัดกิจกรรม “ต่อปากต่อคำ LawQuarantine” ในวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2563 เวลา 19.00 น. ผ่านทางเฟสบุ๊ค Live ในเพจ LAWTU Student Committee – Rangsit Campus ครับ”
คำถาม (7) : การเตรียมงานเป็นอย่างไรบ้าง และทีมงานมีใครบ้าง
อ๊อบ : “ต้องเรียนว่าเวลาเตรียมงานนี้ค่อนข้างกระชั้นชิดมากครับ เพราะปกติการจัดแข่งโต้วาทีหรือการจัดกิจกรรมอื่น ๆ จะมีเวลาเตรียมงานเป็นเดือน และมีระยะเวลาเปิดรับสมัครนานกว่านี้ แต่งานนี้ด้วยความที่ไม่ได้วางแผนกันมาตั้งแต่ต้น เพราะไม่คิดว่าจะมีสถานการณ์ Social Distancing เกิดขึ้น จึงมีเวลาเตรียมงานกันประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนวันแข่งขัน”
“ในการจัดเตรียมงาน เพื่อน ๆ ในกน.ก็ร่วมกันคิดชื่อกิจกรรม และกำหนดญัตติ โดยเลือกจากประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของนักศึกษาในช่วงนี้ครับ หลังจากนั้นได้เร่งร่างกติกาและรายละเอียดการแข่งขัน และประชาสัมพันธ์งานทันที ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ท่านอาจารย์กรศุทธิ์ และท่านอาจารย์พนัญญากรุณาตอบรับเป็นกรรมการให้ครับ ในวันแข่งขันกรรมการนักศึกษาที่ดูแลเรื่องเทคนิคการ Live ในเฟสบุ๊คคือ นายภูบดินทร์ สุวรรณชัยจินดา (โบอิ้ง) และ นายสุขสันต์ ติโลกะนา (จ๊อบ) โดยนางสาววิปุลา มณีวรรณ (ปิ่น) เป็นผู้ประสานงาน ส่วนผมเป็นผู้ดำเนินรายการครับ”
คำถาม (8) : การประชาสัมพันธ์และการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันใช้วิธีการอย่างไร
อ๊อบ : “งานครั้งนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์ทางออนไลน์เป็นหลักผ่านเพจ LAWTU Student Committee – Rangsit Campus และในกลุ่มไลน์ของชั้นปีต่าง ๆ ครับ”
“การประชาสัมพันธ์เริ่มต้นด้วยการยิงคำถามผ่านโพลล์ในเฟสบุ๊คให้เพื่อนนักศึกษามากดเลือกว่าอยากเรียนแบบออนไลน์ หรือเรียนในห้องเรียน ซึ่งนับว่าได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี จากนั้นจึงประกาศรับสมัครผู้เข้าแข่งขัน ทั้งนี้ในตอนแรกคาดว่าจะมีผู้สนใจสมัครเป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายก็เหลือผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกเพียง 2 คน ได้แก่ นายนิพิฐพนธ์ นราวิชญ์วิรุฬห์ (ริว) นางสาวณัภทร จิวาภรณ์คุปต์ (สายป่าน) และสำหรับเกณฑ์การตัดสินผู้ชนะเลิศที่ใช้ในการแข่งขันนี้ คะแนน 70% มาจากกรรมการ และอีก 30% มาจากการโหวตของผู้เข้าร่วม Live”
คำถาม (9) : ปัญหาหรืออุปสรรคในการจัดงานมีบ้างไหม
อ๊อบ : “เวลาที่กระชั้นชิดในการเตรียมงานจัดว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญ ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ได้มากเพียงพอ และด้วยความที่ยังไม่คุ้นชินกับการติดต่อประสานงานทางออนไลน์แบบ100% จึงทำให้การทำงานไม่คล่องตัว และกระชับเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามก็สามารถบริหารจัดการออกมาได้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ มีผู้เข้าร่วมฟัง Live ในวันนั้นมากถึงสองพันคน นับว่าเป็นจำนวนที่เกินความคาดหมายครับ”
คำถามสุดท้าย : สิ่งที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมนี้
“การจัดงานครั้งนี้จัดว่าเป็นครั้งแรกของการทำกิจกรรมออนไลน์ที่ได้รับการตอบรับดีพอสมควร ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียนรู้การทำงานแบบออนไลน์ ที่ต่อไปจะเป็นวิธีการปกติ (New Normal) ของการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ครับ”
“และสุดท้าย อยากขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกน.และอาจารย์ที่ปรึกษา (ท่านอาจารย์กิตติวัฒน์) และด้วยนโยบายที่ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมอย่างเต็มที่ของท่านคณบดี จึงทำให้การปรึกษาร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี ซึ่งกน.รู้สึกว่าโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากมายมาตลอดครับ”
ภาพโดย ริว, สายป่าน, อ๊อบ
เรียบเรียง KK