เป็นเวลาเดือนกว่าแล้วที่คณะนิติศาสตร์ได้เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็นออนไลน์เนื่องด้วยข้อจำกัดในช่วงสถานการณ์โควิด และเหลือเวลาเพียงสามสัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงการสอบปลายภาค ซึ่งต้องใช้รูปแบบออนไลน์เช่นกัน เราจะไปพูดคุยกับของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ถึงความรู้สึก ปัญหา ข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการสอบที่จะมาถึง โดยวันนี้เรามีบางส่วนนักศึกษาชั้นปีที่ 2 จำนวน 5 คนมาร่วมพูดคุยถ่ายทอดความรู้สึก และในโอกาสหน้าเราจะไปพูดคุยกับนักศึกษาชั้นปีอื่น ๆ ในลำดับต่อไป
พัชรพร บำรุงศาสตร์ (เนิส) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 2
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
พัชรพร : “มีทั้งข้อดีและข้อเสียในการเรียนค่ะ ข้อดีก็คือบางวันที่มีคลาสเช้าก็สามารถตื่นมาเรียนได้เลย สะดวกสบายดีค่ะ รวมถึงการที่มีคลิปย้อนหลังทำให้สามารถนักศึกษาได้ทบทวนบทเรียนต่าง ๆ ได้เมื่อในขณะเวลาสอนนั้นจดไม่ทัน หรือไม่เข้าใจ ข้อเสียคือ แรงกระตุ้นในการเรียนมีน้อยค่ะ เนื่องจากส่วนตัวเป็นคนนอนดึก เวลาที่มีคลาสเช้าก็อาจจะเกิดอาการสมองตื้อ ไม่พร้อมที่จะรับข้อมูลสักเท่าไรนัก รวมถึงไม่ได้บรรยากาศในห้องเรียน สงสัยตอนเรียนก็ถามเพื่อนข้าง ๆ ไม่ได้ ถามอาจารย์บางครั้งอาจารย์บางท่านก็ไม่ได้อ่านแชท อีกทั้งบางทีขณะเรียนอาจมีข้อผิดพลาดทางเทคนิคของโปรแกรมในการสอน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจในการเรียน หรือตามเนื้อหาไม่ทัน”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
พัชรพร : “ดิฉันได้เรียนโดยใช้ทั้งโปรแกรม Webex Zoom Meet Google Classroom Youtube และ Facebook ส่วนของ YouTube และ Facebook นั้นเป็นการเรียนแบบอัดเทปย้อนหลัง มิใช่การสอนเรียลไทม์ เป็นความชอบส่วนตัวเนื่องจากเป็นคนที่ถอดเทปอยู่แล้ว จึงชอบการเรียนแบบลงคลิปย้อนหลังทั้งหมดมากกว่า เพราะสามารถบริหารจัดการการเรียนได้ตามที่ต้องการ บางครั้งที่บริหารการฟังเทปได้ดี ๆ ก็จะสามารถตามวิดิโอการเรียนได้หมด ก่อนการเรียนแบบ real time แต่ข้อเสียก็มีอยู่ คือการที่หากมีข้อสงสัยอาจารย์ก็จะมิได้ตอบในขณะนั้น และการอธิบายนั้นอาจไม่ชัดเจนเท่าที่ควร”
“Webex , Zoom , Meet เป็นโปรแกรมลักษณะคล้ายกัน คือสามารถพิมพ์แชทถามอาจารย์ได้เลยขณะที่ไม่เข้าใจ แต่ข้อเสียคืออาจารย์บางท่านปิดแชทไว้ ทำให้คำถามนั้นอาจถูกละเลยไป รวมถึงอาจมีกรณีเน็ตกระตุก อาจารย์สอนโดยที่ไม่ได้ใช้ไมค์ หรือ เพื่อนนักศึกษาบางท่านลืมที่จะปิดไมค์เกิดเสียงเข้าแทรกเวลาที่อาจารย์สอน ทำให้ฟังไม่ชัดและไม่เข้าใจ”
“Google Classroom เป็นแพลตฟอร์มที่มีความเป็นระบบดี สามารถแก้ไขงานที่ส่งได้ภายในเวลา และทางอาจารย์เองก็สามารถโพสต์ทั้งคลิป เอกสาร และการสั่งงานได้ในแพลตฟอร์มนี้ เป็นตัวเลือกที่ดีในการใช้ส่งคำตอบข้อสอบ แต่สิ่งทีน่ากังวลคือแม้เมื่อส่งงานจะขึ้นว่าส่งแล้ว แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าทางอาจารย์ได้รับไฟล์งานนั้นแล้วจริง ๆ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
พัชรพร : “ข้อจำกัดในการเรียนออนไลน์เนื่องจากส่วนตัวมีโน๊ตบุ๊คแต่รุ่นค่อนข้างเก่าแล้ว จึงไม่สามารถโหลดโปรแกรมที่อาจารย์ใช้สอนบางโปรแกรมได้ ดังเช่น Webex แต่ก็มีการแก้ปัญหาโดยการเรียนผ่านทางโทรศัพท์มือถือแทนค่ะ ทั้งนี้ปัญหาที่ตามมาก็คือเนื่องจากการลงคลิปย้อนหลังของทางคณะไม่ได้รวดเร็วมากนัก ทำให้ประสงค์ที่จะอัดเสียง แต่ว่าไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้อัดเสียงเนื่องจากโทรศัพท์ถูกใช้ในการเรียนไปแล้ว และไม่สามารถหาแอปที่เป็นโปรแกรมอัดหน้าจอพร้อมเสียงไปด้วยได้ เคยทดลองแล้วค่ะ มาแต่ภาพแต่ไม่มีเสียง สิ่งที่ทำได้คือต้องไปขอไฟล์เสียงจากเพื่อน ๆ ในกลุ่มคณะ ซึ่งบางทีก็ไม่มีใครได้อัดไว้ค่ะ”
“ส่วนเรื่องระบบอินเตอร์เน็ต สถานที่ ไม่มีปัญหาค่ะ ในเรื่องของการเข้าถึงเอกสารและหนังสือ ทางดิฉันเองได้มีหนังสือในการเรียนอยู่จำนวนหนึ่ง แต่บางอาจารย์ที่ไม่มีหนังสือ อาจจะโดยเพราะไม่ได้พิมพ์ขายแล้ว หรือหนังสือหมด บางวิชาก็ต้องแสวงหาเอาเองค่ะ เพราะถึงแม้จะมีโปรแกรมห้องสมุดให้แต่ก็ไม่ทราบแน่ว่าอาจารย์นั้นสอนตามหนังสือเล่มใด”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
พัชรพร : “ในเรื่องการเรียนกังวลเรื่องการอ่านหนังสือไม่ทันค่ะ เนื่องจากเวลาเรียนนั้นเมื่ออาจารย์บางท่านอธิบายเร็ว ทำให้ต้องมีการฟังเทปที่อัดมาและทำความเข้าใจทบทวนอีกรอบ ทำให้การอ่านหนังสือมีเวลาที่กระชั้นมากขึ้น จึงต้องพยายามบริหารตารางในแต่ละวันให้เป็นระเบียบกว่าเดิมค่ะ”
“เรื่องการสอบ กังวลในเรื่องที่ว่าข้อสอบจะยากขึ้นกว่าเดิมค่ะ คืออาจารย์บางท่านกล่าวเช่นนี้ รวมถึงเวลาที่ส่งข้อสอบ ซึ่งอาจจะเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้น ณ เวลานั้น เช่น หากต้องทำเป็น pdf แล้วต้องใช้เวลานานกว่าจะบันทึกเป็น pdf ได้ โน้ตบุ๊คเครื่องดิฉันบางทีก็เป็นค่ะ ใช้เวลาแก้ไขประมาณ 5 นาที อาจจะทำให้นักศึกษานั้นเกิดความรนในการส่งข้อสอบ และเมื่อส่งไปแล้วนั้นก็มิอาจทราบได้ว่าอาจารย์จะได้รับคำตอบหรือยัง หรือในบางกรณีอาจจะเกิดเหตุขัดข้องขึ้นกับระบบอินเตอร์เน็ตทำให้ส่งคำตอบไม่สำเร็จ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
พัชรพร : “การลงคลิปย้อนหลังเป็นสิ่งที่สำคัญมากค่ะ อยากให้มีความรวดเร็วมากขึ้น คือลงย้อนหลังไม่เกิน 3 วันหลังจากวันบรรยาย เพื่อให้นักศึกษาได้ทบทวนการเรียนอย่างรวดเร็ว ทำให้มีเวลาไปอ่านหนังสือเพิ่มเติม”
“ในเรื่องเอกสารการเรียนนั้น อยากให้อาจารย์บอกแหล่งข้อมูลอย่างชัดเจน ดังเช่น การส่งลิ้งก์ในแต่ละเอกสารมาให้เลย เพื่อความสะดวกของนักศึกษาในการค้นหา ต้องการให้ทุก ๆ เซคเรียนมีกรุ๊ปไว้ปรึกษา แชร์เอกสารข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นใน Line หรือ Facebook ก็ได้”
“การเรียนการสอนออนไลน์อาจารย์ควรที่จะสอนใน platform เดียวกันเพื่อความสะดวกสบายและป้องกันการสับสนของนักศึกษา”
“ในเรื่องการโพสต์วันเวลาที่สอน ข้อมูลต่าง ๆ ของทางคณะผ่านเพจงานบริการนักศึกษานั้นเป็นระบบดีแล้วค่ะ ขอชื่นชมทางคณะที่ใส่ใจถึงความลำบากและปัญหาต่าง ๆ ในการเรียนการสอน พยายามที่จะหาทางแก้ไขให้ตลอดเวลา ขอบคุณค่ะ”
ณฤดี ปักการะนัง (นาเดีย) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 2
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ณฤดี : “ไม่เคยคิดถึงมหาวิทยาลัย คิดถึงการเรียนในห้องขนาดนี้มาก่อนเลย ช่วงสองสัปดาห์แรกของการเรียนออนไลน์โดยต้องกลับมาเรียนที่บ้านในต่างจังหวัด รู้สึกว่ามีอะไรหลายอย่างให้ต้องปรับตัวมาก เพราะชีวิตประจำวันของเราก่อนหน้านี้ที่อยู่หอต้องเปลี่ยนเกือบทั้งหมด จากที่เคยตื่นเช้า แต่งตัวไปเรียน เจอเพื่อน กินข้าวด้วยกัน ทุกอย่างคือเปลี่ยนไปเลยเหลือแค่ตื่นนอน เปิดคอมมาเรียนให้ทัน ทั้งสภาพแวดล้อมในการเรียนก็เปลี่ยนไป สภาพจิตใจก็วิตกด้วยว่าจะต้องเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน คิดว่าหลาย ๆ คนน่าจะเครียดเหมือนกันกับการปรับตัวเรียนออนไลน์ในช่วงนี้ เลยพยายามหาpassion ใหม่ ๆ ในการเรียนที่บ้านไม่ให้น่าเบื่อเกินไป เช่น ลองชงกาแฟเมนูแปลก ๆ ไว้ดื่มระหว่างเรียน จัดโต๊ะอ่านหนังสือใหม่”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
ณฤดี : “Microsoft Teams เป็น platform ที่ค่อนข้างประทับใจกับความเป็นระบบของ platform การใช้งานส่วนใหญ่คล้าย Google Classroom ข้อเด่นของ Teams คือ เมื่อกดบันทึกการบรรยายแล้วทุกครั้งที่กดหยุดการบันทึก ตัวโปรแกรมจะขึ้นเทปที่บันทึกไว้ให้ทันทีหลังจากที่เรียนจบและเก็บไว้ได้นาน โดยที่อาจารย์ไม่ต้องส่งไฟล์ไปให้ทางคณะเพื่ออัปโหลดอีกต่อหนึ่ง ทำให้นักศึกษาสามารถกดไปทบทวนได้สะดวก อีกเหตุผลหนึ่งคือลักษณะของ Teams ค่อนข้างใกล้เคียงกับ Google Classroom ที่มีช่องทางให้อาจารย์มอบหมายการบ้านแล้วเราสามารถส่งงานผ่านช่องทางนี้ได้เลย และมีช่องทางให้อาจารย์แนบไฟล์เอกสารประกอบการเรียนการสอนได้ โดยอาจารย์ไม่ต้องใช้ช่องทางอื่นอีกในการแจกไฟล์ประกอบการสอนให้กับนักศึกษา และไฟล์ก็จะไม่จำกัดเวลาในการดาวน์โหลดเหมือนการส่งไฟล์ผ่านทาง Line ข้อด้อย ใน class ที่มีนักศึกษาจำนวนมาก คุณภาพการ live ค่อนข้างจะมีปัญหามากกว่า platform อื่น ๆ”
“Webex เป็น platform ที่โดยส่วนตัวแล้วประทับใจน้อยที่สุดในบรรดาทั้งหมด เหตุผลแรกคือเรื่องเสียง เสียงแจ้งเตือนจากตัวโปรแกรมทุกครั้งที่มีนักศึกษาล็อกอินเข้าห้องเรียน ซึ่งเสี่ยงนี้จะสามารถปิดได้เฉพาะจากทางอาจารย์ผู้บรรยายเท่านั้า ถ้าวิชาไหนอาจารย์ปิดเสียงไม่เป็นก็จะมีเสียงแจ้งเตือนดังอยู่เกือบตลอดคาบเรียน หรือในกรณีที่เพื่อนลืมปิดไมค์ก็จะมีเสียงแทรกเข้ามาบ้า เหตุผลที่สองคือ โปรแกรมไม่สามารถเก็บเทปบรรยายไว้ได้ด้วยตัวมันเอง ต้องรอให้อาจารย์ส่งเทปไปให้ทางคณะก่อน นักศึกษาจึงจะเข้าถึงเทปบันทึกการบรรยายได้ ซึ่งหลายวิชาก็กินเวลาหลายวัน หรือบางวิชาก็ไม่มีเทปย้อนหลังเลย แต่ข้อดีของ Webex คือคุณภาพของ live ที่น่าจะดีที่สุดในบรรดา platform อื่น ๆ ที่ใช้มา จึงเหมาะกับวิชาที่มีนักศึกษาเยอะ”
“Facebook Live ข้อดีค่อนข้างคล้ายกับ Teams ตรงที่การเข้าถึงเทปบันทึกการบรรยายทำได้ง่ายมาก ส่วนที่เป็นข้อดีเหนือจาก 2 platform ก่อนก็คือจะไม่มีเสียงรบกวน ไม่ว่าจะเป็นเสียงไมค์ที่เพื่อนลืมปิด หรือเสียงแจ้งเตือนเวลามีนักศึกกดเข้ามาดู live และอาจารย์จะเห็นข้อความที่นักศึกษาส่งมาได้ง่ายกว่า platform อื่น ส่วนข้อเสียคือ คุณภาพของ live ที่ยังด้อยกว่า Webex อยู่ และหากอาจารย์จะแจกเอกสารประกอบการบรรยาย อาจารย์จะต้องใช้ช่องทางอื่นในการติดต่อกับนักศึกษา ไม่สามารถให้ผ่านตัว Webex ได้โดยตรง”
“YouTube เป็น platform ที่ตัดปัญหาเชิงเทคนิคออกไปได้ค่อนข้างหมด ไม่ว่าจะเป็นเสียงรบกวนต่าง ๆ คุณภาพวิดีโอ ปัญหาการตามเทปบรรยาย และนักศึกษาจะเริ่มเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งน่าจะเป็นข้อดีของ YouTube แต่ข้อเสียคือ การตอบโต้กันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ที่นักศึกษาไม่สามารถขอให้อาจารย์อธิบายเนื้อหาในบางจุดได้ทันที ต้องเก็บไว้ไปถามอาจารย์ในภายหลังหรือการขอให้อาจารย์อธิบายใหม่ในบางจุด”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
ณฤดี : “หลัก ๆ แล้วเป็นปัญหาสภาพแวดล้อมในการเรียน สิ่งรบกวนหรือ distractions ค่อนข้างเยอะกว่าการเรียนในห้องเรียน ทำให้ต้องใช้สมาธิในการจดจ่อกับสิ่งที่อาจารย์สอนมากขึ้นกว่าการเรียนในห้อง รู้สึกเหนื่อยกว่าการเรียนในห้องเยอะเลย ปัญหาเรื่องอุปกรณ์การเรียน ตรงนี้น่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำกันบ้างในคนที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียน เช่น เอกสารประกอบการเรียนที่ปกติอาจารย์จะพิมพ์แจกให้ทุกคน ตอนนี้เปลี่ยนเป็นรูปแบบไฟล์ ถ้าใครที่มีไอแพดก็จะสะดวกที่ไม่ต้องพิมพ์ออกมาก็สามารถใช้เขียน/เรียนได้เลย แต่ถ้าใครไม่มีก็คงต้องพิมพ์ออกมาเป็นแผ่นเพื่อใช้จดอีกที”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
ณฤดี : “จะกังวลมาก ๆ คือเรื่องการสอบ เพราะโดยรูปแบบแล้ววิชาส่วนมากจะเป็นการสอบแบบ open book นั่นแปลว่าเนื้อหาจะยากขึ้น ในขณะที่เราเองก็ไม่มั่นใจว่าตัวเองมีความพร้อมด้านเนื้อหาสักแค่ไหน แล้วยิ่งถ้าเป็นวิชาที่แม้แต่การสอบปกติก็ขึ้นชื่อว่ายากอยู่แล้วจะเป็นยังไงถ้าเนื้อหาจะยากขึ้นไปอีก”
“นอกจากกังวลเรื่องเนื้อหาข้อสอบแล้ว ก็มีปัญหาเชิงเทคนิคที่กังวลในขั้นตอนการส่งข้อสอบ ที่ต้องส่งให้ทันเวลาที่กำหนด ตรงนี้จะต่างจากการสอบในห้องมากเพราะโดยปกติแล้วถ้าหมดเวลาสอบเราก็แค่วางปากกา เดินเอาสมุดคำตอบไปส่ง แต่เมื่อเป็นการส่งคำตอบออนไลน์ เราต้องเผื่อเวลาในการแปลงไฟล์ เช็คความเรียบร้อยแล้วกดส่งไฟล์ ก็ภาวนาว่าระหว่างที่กดส่งจะยังมีเวลาและไม่มีปัญหาจากคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตขึ้นมา”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
ณฤดี : “เข้าใจว่าเป็นช่วงที่ทุกคนต่างก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน ไม่ใช่แต่เฉพาะนักศึกษา ยังมีอาจารย์ผู้สอนที่พยายามปรับตัวกับการสอนรูปแบบใหม่ ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับอาจารย์หลายท่านอยู่เหมือนกัน แม้ช่วงสัปดาห์แรก ๆ จะมีปัญหาเชิงเทคนิคบ้างแต่อาจารย์ก็ได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้การเรียนการสอนดำเนินต่อไปได้ในที่สุด”
“ขอชื่นชมทางคณะที่ใส่ใจและให้ความช่วยเหลือนักศึกษาอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนการเข้าถึงการเรียน ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านอุปกรณ์ หรือการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงหนังสือ แหล่งข้อมูลต่าง ๆ”
จิรภัทร ชนะสิทธิ์ (ซีดี) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 2
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
จิรภัทร : “ผมมีความรู้สึกว่าการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิดแบบนี้น่าจะเป็นช่องทางในการเรียนที่ดีที่สุดในตอนนี้ แต่ส่วนตัวผมก็ยังมองว่าการเรียนในห้องเรียนดีกว่า เพราะการเรียนในห้องเราได้พบอาจารย์ พบเพื่อน เวลามีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการเรียนก็สามารถซักถามได้ทันที แต่การเรียนออนไลน์ในบางครั้งเวลาผมมีข้อสงสัยก็ไม่สามารถสอบถามอาจารย์ได้ในตอนนั้น และการเรียนออนไลน์โดยรวมอาจจะดูเหมือนสะดวกกว่า แต่ผมว่าจริง ๆ แล้ว การเรียนออนไลน์ยังมีปัญหาอยู่มาก ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์การเรียน เช่น เวลาอาจารย์แจกเอกสารประกอบการบรรยายก็ไม่สะดวกในการหาที่พิมพ์เอกสาร หรือเรื่องสภาพแวดล้อมที่บางครั้งอาจมีเสียงรบกวนจากภายนอกครับ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
จิรภัทร : “ ระบบที่ใช้ในการเรียนออนไลน์ ส่วนตัวผมชอบการเรียนผ่าน Facebook Live มากที่สุดครับ เพราะว่าเป็นระบบที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่ยุ่งยากในการใส่รหัส แล้วก็ไม่มีเสียงรบกวนจากการเปิดไมค์ของคนที่ร่วมฟังบรรยายกับเรา หรือเสียงจากการเข้าสู่ระบบของคนอื่นครับ รวมถึงเวลาผมมีปัญหาข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับการเรียนก็สามารถซักถามอาจารย์ได้ทันทีครับ ส่วนโปรแกรม Webex และ Zoom ผมมองว่าค่อนข้างยุ่งยากในการเข้าสู่ระบบที่จะต้องกรอกรหัสผ่าน มีปัญหาเสียงรบกวนเวลาคนที่ร่วมฟังบรรยายไม่ได้ปิดไมค์ครับ ส่วนข้อดีน่าจะเป็นการที่เราสามารถเปิดไมโครโฟนพูดสอบถามกับอาจารย์ในประเด็นข้อสงสัยได้โดยตรงครับ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
จิรภัทร : “ ผมมองว่ามีปัญหาหลายเรื่องครับ เช่น อุปกรณ์ในการเรียนไม่ค่อยสะดวก เพราะในบางครั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่บ้านไม่ค่อยเสถียร เวลาเรียนสัญญาณหลุดไปบ้าง ทำให้การฟังบรรยายไม่ประติดประต่อกัน และเวลาสัญญาณหลุดไปแล้ว จะมาตามเนื้อหาที่ขาดหายไปในภายหลังก็ค่อนข้างยากเพราะบางวิชาทางคณะฯก็ไม่ได้บันทึกการบรรยายย้อนหลังไว้ ต้องตามหาเนื้อหาส่วนที่หายไปจากเพื่อน ๆ เองครับ หรือเรื่องสภาพแวดล้อมและสถานที่ที่เรียนออนไลน์ก็เป็นปัญหา เพราะในบางครั้งเวลาเรียนออนไลน์ก็มีเสียงรบกวนจากภายนอก ทำให้สมาธิในการเรียนลดลงครับ และอีกปัญหาหนึ่งที่ผมมองว่าสร้างความลำบากมากคือเรื่องของเอกสารประกอบการบรรยาย เนื่องจากในช่วงสถานการณ์แบบนี้เมื่ออาจารย์แจกเอกสารประกอบการบรรยายมาแล้ว ก็ไม่สามารถหาร้านพิมพ์เอกสารได้ทันที บางครั้งต้องจดลงสมุดไปก่อน แล้วถึงพิมพ์เอกสารได้ในภายหลัง ซึ่งทำให้การเรียนมีความยุ่งยากมากขึ้นครับ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
จิรภัทร : “ข้อกังวลสำหรับผมเป็นเรื่องการสอบมากกว่าครับ ผมกังวลว่าในวันสอบจะมีปัญหาเฉพาะหน้าหลาย ๆ อย่าง เช่น อินเทอร์เน็ตไม่เสถียร ไฟดับขณะกำลังสอบ หรือเรื่องฉุกเฉินอย่างอื่นที่รบกวนการสอบ และจะทำให้การสอบไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ครับ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
จิรภัทร : “อยากฝากให้คณะฯ ช่วยหาแนวทางที่จะทำให้ในวันสอบมีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้นน้อยที่สุดครับ และในความเห็นส่วนตัวของผมอยากให้คณะฯจัดหาหรือกำหนดสถานที่ที่นักศึกษาสามารถสอบผ่านทางออนไลน์ได้โดยที่จะเกิดปัญหาน้อยที่สุดครับ ส่วนสิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน สำหรับผมอยากให้อาจารย์ผู้สอนกำหนดช่องทางในการติดต่อสำหรับซักถามประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับบทเรียนครับ เพราะในบางครั้งเวลาผมมีข้อสงสัยอยากซักถามอาจารย์ แต่ไม่ทราบช่องทางในการติดต่อท่าน ทำให้เกิดความกังวลและความเครียดที่จะไม่เข้าใจเนื้อหาบทเรียนครับ”
สุรวุฒิ นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 2
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
สุรวุฒิ : “รู้สึกว่าการเรียนออนไลน์เหมือนการฟังไฟล์เสียงมากกว่าการเรียนสด จากผู้ที่เข้าทุกคลาสเเละไม่ชอบฟังไฟล์เสียง ทำให้การเรียนมีความน่าเบื่อ เเละโดยปกติการเรียนในคลาสจะมีเพื่อน ๆ มานั่งเรียนด้วยคอยเตือนสติเมื่อสมาธิหลุดหรือเมื่อมีข้อสงสัยก็สามารถคุยกันได้ ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อเเละมีประสิทธิภาพมากกว่าการเรียนออนไลน์ เเละการเรียนออนไลน์บางวิชาไม่เปิดช่องทางให้นักศึกษาสามารถถามข้อสงสัยหลังจบคลาสได้ เช่น คลาสวิเเพ่ง”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
สุรวุฒิ : “ในด้านของ Platform นั้นมีปัญหาตรงที่ว่าทางคณะใช้ Platform เยอะเกินไป เช่น Webex, Microsoft Teams, Google Meet, Zoom ทำให้เพื่อน ๆ บางคนมีปัญหาว่าพื้นที่ในโทรศัพท์ไม่พอสำหรับโหลดเเอปทั้งหมดเเละ platform Zoom เพิ่งมีข่าวฉาวเรื่องโดนขโมยข้อมูลทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย เเต่ข้าพเจ้าชอบ Platform Webex และ Microsoft Teams ที่สุด”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
สุรวุฒิ : “ในด้านอุปกรณ์ข้าพเจ้าไม่มีปัญหาทางด้านอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ เเต่ข้าพเจ้ามีปัญหาที่หนังสือในการอ่านสอบนั้นอาจไม่เพียงพอเพราะปกติจะอ่านหนังสือของห้องสมุดที่ตึกคณะ คือเป็นปัญหาเล็กน้อย”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
สุรวุฒิ : “ในด้านของปัญหาด้านการสอบข้าพเจ้ายังเป็นกังวลว่าการสอบนั้นจะออกมาเป็นเช่นไร เเละหากเกิดเหตุการเช่นเมื่อถึงเวลาส่งข้อสอบเเต่ไฟฟ้าเกิดดับหรืออินเตอร์เน็ตหลุด จะมีผลเช่นไร”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
สุรวุฒิ : “สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์คือ เมื่อการสอบเป็นเเบบ Open Book ดังนั้นการอ่านเพื่อเตรียมตัวสอบนั้นจะกว้างมาก ๆ ดังนั้นจึงอยากให้อาจารย์บอกขอบเขตของข้อสอบ เช่น วิชารัฐธรรมนูญ เเละเปลี่ยนเเนวทางเป็นออกข้อสอบให้ซับซ้อนเเทน เช่น วิชาสัญญาทางพาณิชย์ก็อาจนำสัญญาหลาย ๆ อันมารวมไว้ในข้อเดียว”
ณัฐวรรธน์ แก้วจู (เกรท) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 2
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ณัฐวรรธน์ : “หากถามถึงความรู้สึกในช่วงนี้ ส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างที่จะรู้สึกเฉาครับ เพราะการเรียนในห้องเหมือนปกติทั่วไปนั้นทำให้เราได้เจอเพื่อน ๆ ได้พูดคุยกันแบบออกรส ไปไหนมาไหนด้วยกัน แต่เมื่อมาเจอกับสถานการณ์นี้ ทำให้เราต้อง social distancing ทุกคนจึงแยกย้ายกลับบ้านกันหมด พวกเรายิ่งห่างกันมากขึ้น แม้ว่าเราอาจพูดคุยและเห็นหน้ากันได้ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ แต่นั่นไม่สามารถแทนที่การเจอกันแบบจริง ๆ ได้เลย อีกอย่างการเรียนออนไลน์ที่ไม่ได้พบปะพูดคุยกับผู้คนนี้ ทำให้ผมรู้สึกเครียดค่อนข้างมากในช่วงเวลานี้ คือช่วงเวลาของการเตรียมการสอบที่นอกจากจะไม่ได้เจอเพื่อนเลย เรายังต้องทำอะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ ตื่น เรียน กินข้าว นอน วนซ้ำไปในทุกวัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะวิชาของเทอมนี้เนื้อหาค่อนข้างมากจึงทำให้รู้สึกเครียดครับ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
ณัฐวรรธน์ : “เทอมนี้ในแต่ละวิชาที่ผมเรียนมีการใช้ platform ในการสอนหลากหลายมากครับ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Teams, Webex, Google Meet, Facebook Live, Google Classroom หรือวิดีโอคลิป ในแต่ละ platform ก็จะมีข้อเสียแตกต่างกันไปครับ เช่น การสอนผ่าน Facebook Live ข้อดีคือ การเข้าถึงที่ค่อนข้างง่าย ไม่ซับซ้อน เนื่องจากเป็น แอปพลิเคชันที่ใช้กันทั่วไป สามารถกลับมาย้อนดูได้เสมอ สิ่งที่อาจมองว่าเป็นข้อเสียคือการโต้ตอบระหว่างผู้เรียนและผู้สอนทำได้เพียงการโต้ตอบในช่อง comment เท่านั้น ไม่เหมือนกับ platform อื่นที่มีฟังก์ชั่น ที่ผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับผู้สอนได้ทั้งภาพและเสียง แต่ส่วนตัวผมนั้นไม่ถือว่าตรงนี้เป็นข้อเสียครับ เรียกว่าเป็นข้อจำกัดของ Facebook Live มากกว่า”
“อีกหนึ่ง platform ที่อาจารย์คณะเราค่อนข้างนิยมใช้สอนออนไลน์ นั่นคือ Webex เป็น platform ที่ส่วนตัวผมค่อนข้างที่จะรู้สึกไม่ชอบ เนื่องจากการสอนผ่าน Webex ค่อนข้างมีปัญหา ทั้งเรื่อองของเสียงแทรกเมื่อมีคน Join เข้ามาในชั้นเรียน ในบางครั้งมีคนลืมปิดไมค์ทำให้รบกวนการเรียนการสอน อาจารย์บางท่านต้องการให้เปิดไมค์โต้ตอบมากกว่าการพิมพ์ตอบ ซึ่งเพื่อนบางคนอาจไม่สะดวก หรือในบางวิชาอาจารย์ผู้สอนอาจไม่ได้สังเกตช่องการโต้ตอบของนักศึกษาเลย เป็นต้นครับ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
ณัฐวรรธน์ : “”การเรียนออนไลน์นี่ส่งผลกระทบต่อเรามากจริง ๆ” นี่คือคำพูดที่เกิดขึ้นในหัวเมื่อกลับมาย้อนดูและไล่พิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่มีการเรียนการสอนออนไลน์เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าทุกคนล้วนมีปัญหาและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ก่อนอื่นผมต้องออกตัวก่อนว่าผมยังใช้ชีวิตอยู่ที่มหาลัย และเหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้ยังต้องอยู่มหาลัยก็เนื่องจากข้อจำกัดในการเรียนออนไลน์นี่แหละครับ เพราะสถานที่ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต บรรยากาศการเรียน เหล่านี้ค่อนข้างที่จะดีกว่าสำหรับการเรียน ทำให้ผมตัดสินใจที่จะยังอยู่มหาลัย อย่างไรก็ดีแม้ว่าที่ผู้คนในมหาลัยจะกลับบ้านกันเกือบหมดแล้ว แต่ในบางวันก็ไม่อาจสงบได้เลยเพราะบางวันที่ผมเรียนออนไลน์ ก็จะมีเสียงตัดหญ้าจากข้างนอก เสียงการเจาะพื้นปูนซีเมนต์เพื่อวางสายอะไรสักอย่าง หรือบางวันที่หอไฟดับ รบกวนการเรียนอยู่บ่อยครั้ง ถือเป็นปัญหาของคนที่ยังอยู่หอครับ ส่วนข้อจำกัดในการเรียนออนไลน์ก็เห็นว่ามีบ้างนะครับ ทั้งการเข้าถึงเอกสารหรือหนังสือต่าง ๆ การ print เอกสารที่ใช้เรียนที่ตอนนี้ต้องไปหา print จากข้างนอกเพราะในมหาลัยไม่มีให้ print ฟรีแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นผมเองก็พยายามปรับตัวและทำความเข้าใจกับสถานการณ์อยู่เสมอ”
“อย่างไรก็ดีทุกปัญหาและข้อจำกัดก็ได้รับการแก้ไขในหลายจุดและได้รับการบรรเทาลงด้วยความสามารถของทางมหาวิทยาลัยและคณะนิติศาสตร์ของเราครับ ทำให้คลายความกังวลใจได้ในระดับที่เรียกว่ามากเลยทีเดียว ต้องขอบคุณอาจารย์ทุกคนที่ทุ่มเท เข้าใจ และห่วงใยนักศึกษาครับ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
ณัฐวรรธน์ : “ต้องบอกก่อนว่าเดิมทีผมไม่ได้คิดว่าสถานการณ์จะมาถึงระดับที่ต้องปิดมหาลัย มีประกาศพรก.ฉุกเฉินอะไรขนาดนี้ครับ จึงไม่ค่อยได้เตรียมตัวรับมือกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์สักเท่าไหร่นัก ถึงกระนั้น ณ ตอนนี้ก็เข้าใจและปรับตัวได้ค่อนข้างมากแล้ว เนื่องจากการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของทางมหาลัยและคณะ ที่ช่วยให้นักศึกษาได้รับการเข้าถึง ทั้งอุปกรณ์ เอกสารต่าง ๆ รวมถึงการที่ช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหา ข้อจำกัด และได้ร้บผลกระทบด้วยการจัดหา laptop ให้สำหรับใครที่ไม่มีอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ การจัดสรรทุนความเท่าเทียมทางเทคโนโลยีที่ช่วยแบ่งเบาความเดือดร้อนของนักศึกษา มีการจัด Facebook Live เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ปรึกษา สอบถามในประเด็นต่าง ๆ ทำให้เห็นว่าคณะบริหารของคณะเรา อาจารย์ รวมถึงพี่ ๆ งานบริการทุกท่านได้ช่วยกันแก้ปัญหาในจุดต่าง ๆ และพยายามช่วยเหลือนักศึกษาอย่างเต็มที่”
“เหล่านี้ถือเป็นความสามารถในการบริหารที่น่าชื่นชม และทำให้ผมลดความกังวลได้มากเป็นอย่างยิ่ง การเรียนหรือสอบออนไลน์ที่จะถึงนี้ผมจึงไม่ค่อยมีความกังวลใดใด จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาครับ จะมีก็แต่กังวลตัวเองที่จะอ่านหนังสือไม่ทันนี่แหละครับ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
ณัฐวรรธน์ : “ผมต้องขอขอบคุณอาจารย์ผู้สอนทุกท่าน คณะบริหารและพี่ ๆ งานบริการ ที่ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับนักศึกษาตลอดระยะเวลาที่มีการเรียนการสอนออนไลน์ที่ผ่านมา สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นช่วยลดความเครียดและความกังวลใจเป็นอย่างมาก ขอบคุณที่ทำให้ช่วงเวลานี้ผ่านไปโดยที่เรารู้สึกว่ามีคนคอยช่วยเหลือเราเสมอ และผมขอเป็นกำลังใจให้กับอาจารย์และพี่ ๆ งานบริการทุกท่านครับ”
ภาพโดย เนิส, นาเดีย, ซีดี, สุรวุฒิ, เกรท
เรียบเรียง KK