ครั้งก่อนเราได้ไปพูดคุยกับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 2 เกี่ยวกับความรู้สึกในการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด (อ่านบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/talkwithlawstudents-ep33/) วันนี้เราจะไปพูดคุยกับบางส่วนของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 บ้าง ถึงความรู้สึก ปัญหา ข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ ข้อกังวลเกี่ยวกับการสอบออนไลน์ รวมถึงการฝึกงานในภาคฤดูร้อน
ศุภิสรา ด่านเฉลิมวงศ์ (พั้นช์) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 3
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ศุภิสรา : “สำหรับการเรียนออนไลน์หนูมองว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียค่ะ ข้อดีคือสามารถที่จะตื่นมาเเล้วก็เรียนได้เลย นอกจากนี้ยังสามารถทบทวนย้อนหลังได้จากเทปการบรรยายได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนออนไลน์ก็มีปัญหาในตัวของมันเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ระบบมีปัญหาบ้าง และเอกสารประกอบการบรรยายที่พอเปลี่ยนมาเรียนที่บ้านก็ต้องปรินท์เอง รวมถึงเวลาที่ใช้ในทบทวนบทเรียนก็ต้องใช้มากขึ้นเพราะว่าพอมันสามารถที่จะกด pause ได้หนูก็จะพยายามจดเนื้อหาให้ได้รายละเอียดมากที่สุดซึ่งก็รู้สึกว่ากินเวลามากพอสมควร นอกจากนี้ในช่วงเเรกก็มีปัญหาในการปรับตัวอยู่บ้างเนื่องจากปกติใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่หอ พอสภาพการเรียนเปลี่ยนไป ไม่มีเพื่อนให้นั่งเรียนหรือถามก็มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจบ้างและทำให้การเรียนไม่สนุกเหมือนตอนที่เรียนในห้องเรียนตามปกติค่ะ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
ศุภิสรา : “ส่วนตัวแล้วได้มีโอกาสเรียนทั้งจาก YouTube, Facebook และ Webex ค่ะ ส่วนตัวชอบ Webex มากที่สุดเพราะสามารถโต้ตอบกับอาจารย์ได้ทันที่ไม่ว่าจะเป็นการตอบโดยใช้เสียงหรือพิมพ์สอบถามเป็นข้อความค่ะ แต่ก็มีปัญหาอยู่บ้างจากเสียงรบกวนจากการที่คนที่ร่วมฟังบรรยายเข้ามาในระบบร่วมกับเรา หรือเสียงรบกวนจากการลืมปิดไมค์ นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาเสียงไม่ชัดบ้างบางครั้งแต่ก็เป็นส่วนน้อย”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
ศุภิสรา : “สำหรับข้อจำกัดในการเรียนออนไลน์ หนูมองว่ามีหลายอย่างเลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น บ้างครั้งสัญญาณอินเตอร์เนตที่บ้านก็จะไม่ค่อยเสถียรทำให้ต้องสลับไปมาระหว่างอินเตอร์เนตบ้านและโทรศัพท์ทำให้ฟังการบรรยายได้ไม่ปะติดปะต่อกัน เรื่องของเอกสารประกอบการเรียนที่ต้องปรินท์เองใช้โควตาปรินท์ฟรีจากทางมหาวิทยาลัยไม่ได้แล้ว สภาพการเรียนที่บางครั้งก็มีเสียงรบกวนจากภายนอกทำให้เสียสมาธิ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
ศุภิสรา : “ในช่วงแรกก่อนที่ทางคณะจะประกาศแนวปฏิบัติในการสอบก็มีความกังวลมากเลยค่ะเพราะไม่รู้ว่าการวัดผลจะเปลี่ยนไปในแนวทางไหน ข้อสอบจะยากขึ้นแต่ไหนและหากมีการเปลี่ยนแปลงตัวความยากง่ายของข้อสอบโดยที่ไม่มีตัวอย่างข้อสอบเก่าให้ได้ลองทำก่อนแล้วก็คิดว่าประเมินความพร้อมของตัวเองก่อนสอบก็น่าจะทำได้ยากค่ะ แต่หลังจากที่มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนแล้วก็รู้สึกสบายใจขึ้นมาก เหลือแต่เพียงกังวลว่าในวันสอบอุปกรณ์ที่ใช้จะมีความพร้อมหรือไม่”
“สำหรับการฝึกงานนั้นในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจค่ะ กลัวว่าจะถูกยกเลิก จริง ๆ คือการฝึกงานในช่วงปิดภาคเรียนเป็นเรื่องที่หนูรู้สึกว่าจะมีผลต่อการทำงานในอนาคตมาก ๆ และเป็นสิ่งที่หนูให้ความสำคัญมากทีเดียว ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่ได้รับข้อมูลหรือรายละเอียดที่ชัดเจนแต่จากสถานการณ์ที่ดูมีทีท่าว่าจะดีขึ้นก็พอจะทำให้เบาใจขึ้นได้ในระดับหนึ่งค่ะ ว่าการฝึกงานอาจจะยังคงมีการจัดโครงการต่อไป”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
ศุภิสรา : “หลังจากที่เราจัดการเรียนออนไลน์มาได้ซักระยะหนึ่งส่วนตัวหนูเริ่มรู้สึกว่าการจัดการหลาย ๆ อย่าเริ่มที่จะเข้าที่เข้าทางแล้วค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดช่องทางให้นักศึกษาได้สอบถามหรือตอบข้อสงสัย หรือในเรื่องของการแจกไฟล์เอกสารประกอบการเรียนในส่วนนี้จึงอยากเป็นกำลังใจให้กับทางอาจารย์มากกว่าเพราะเข้าใจว่าก็คงลำบากไม่แพ้กัน แต่อยากฝากถึงการจัดการวัดผลให้เกิดข้อผิดพลาดหรือปัญหาเฉพาะหน้าให้น้อยที่สุดค่ะ”
วีรภัทร พรหมฤทธิ์ (ราม) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 3
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
วีรภัทร : “ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าตามปกติผมเป็นนักศึกษาสายไม่เข้าเรียน จะเป็นสายอ่านเองหรือตามเทปย้อนหลังมากกว่า ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์หรือการเรียนในห้องเรียนจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับผมมากนัก แต่ด้วยเหตุที่วิชาปีสามมีวิชามรดกที่เนื้อหาการสอนของอาจารย์บางท่านคืออาจารย์กรศุทธิ์กับอาจารย์กิตติศักดิ์นั้นไม่สามารถตามหาอ่านเองในหนังสือได้ ดังนั้นมันจึงเป็นสถานการณ์บังคับที่ผมต้องเข้าเรียน ผมเลยตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่ต้นเทอมว่าเมื่อถึงคาบที่อาจารย์ทั้งสองท่านสอน ผมก็จะเข้าเรียน แต่พอเวลาที่ต้องเข้าเรียนมาถึงจริง ๆ มันเป็นเวลาที่เกิดการระบาดของโควิดพอดีมันเลยทำให้ผมมีประสบการณ์การเรียนออนไลน์นี่แหละครับ”
“ในการเรียนออนไลน์นั้น ผมรู้สึกว่ามันยากมาก เพราะนอกจากเนื้อหาจะยากแล้วมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เราเสียสมาธิในการเรียนด้วย แต่เอาจริง ๆ ในห้องมันก็มีแหละครับปัจจัยที่ทำให้เราเสียสมาธิในระหว่างเรียน แต่ผมคิดว่าเรียนออนไลน์มันมีปัจจัยมากกว่า สำหรับประสบการณ์ตรงในเรื่องของปัจจัยที่ทำให้เราเสียสมาธิเลยก็ เช่น”
“หนึ่ง เสียงหมาเห่าครับ ข้างบ้านผมเขาเลี้ยงหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียน 3-4 ตัวครับ ซึ่งเวลามันเห็นคนมันจะเห่าครับ เห่าดังด้วย มันทำให้บางทีผมไม่ได้ยินเสียงที่อาจารย์สอน จนหลุดไปเลยก็มี จนต้องมาตามหรือมาถามเพื่อนในบางเรื่องน่ะครับ”
“สอง เสียงรถ คือ บ้านผมมันอยู่ติดถนนครับ บางทีจะมีพวกที่เขาแต่งรถแล้วท่อดัง ๆ เวลาขับผ่านทีก็แสบแก้วหูครับ ผมรู้สึกรำคาญมาก ๆ เสียเวลาไปหลายนาทีอยู่เหมือนกันกว่าจะดึงสมาธิตัวเองกลับมาได้”
“สาม เกม ปกติผมจะเล่นเกมครับแล้วก็ค่อนข้างติดเกมด้วย (หัวเราะ) บางทีตอนเรียนอยู่ ถ้าผมรู้สึกว่าช่วงไหนมันไม่น่าสนใจ หรือถ้าเป็นการสอนตามชีทผมจะไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ผมก็จะเปิดเกมขึ้นมาเล่นครับ ตานึงก็ประมาณ 5 นาทีครับ ซึ่งแน่นอนว่า 5 นาทีนั้นเราจะโฟกัสกับเกมมากกว่าแม้หูเราจะได้ยินเสียงที่อาจารย์สอนอยู่ก็ตาม นั่นแหละครับพอโฟกัสกับเกมมากกว่าก็หลุดเนื้อหาเลยครับ ถามว่าในห้องมีบ้างมั้ยเวลาเราไม่สนใจเรื่องที่อาจารย์กำลังพูด มันก็มีครับแต่มันจะไม่ได้เปิดเกม จะเปิด Facebook หรือไลน์มากกว่าซึ่งมันไม่ใช้เวลานานเหมือนเกมแล้วก็ไม่ได้ดึงสมาธิเราเท่าเกมด้วย การดึงสมาธิกลับมามันก็จะง่ายกว่าครับ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
วีรภัทร : “ในช่วงของการเรียนออนไลน์ผมเรียนผ่าน 3 แอพ ครับ หนึ่ง live สดใน Facebook สอง Webex สาม Zoom งั้นขออนุญาตรีวิวทั้ง 3 platform เลยนะครับ”
“สำหรับ Live สดใน Facebook ผมชอบช่องทางนี้ที่สุดนะครับ ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเข้าถึงได้ง่ายกว่าทั้ง 2 แอพ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเรียนแบบสดกับย้อนหลัง แต่มีข้อเสียตรงที่นักศึกษาไม่สามารถเปิดไมค์พูดคุยโต้ตอบกับอาจารย์ได้ แต่ก็แก้ได้โดยการพิมพ์เอาในช่องแชท ผมรู้สึกว่าเรากล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น หรือการพูดคุยในเชิงคลายเครียดกับเพื่อนมากกว่าซึ่งมันให้ความรู้สึกเหมือนกับการเรียนในห้องเรียน ตอนเรียน Facebook ผมเห็นเพื่อนชงมุก ตบมุกกันโบ๊ะบ๊ะ ๆ มาก (หัวเราะ) อีกอย่างผมคิดว่าถ้าเราพิมพ์เอามันจะไม่เป็นการรบกวนคนอื่นในขณะเรียนด้วย ใครไม่สนใจก็ไม่ต้องอ่าน ใครอยากรู้ว่าเพื่อนคุยไรกันก็แค่เปิดแชทดู แต่ถ้าเป็นแบบเปิดไมค์ การที่เราจะพูดคุยหยอกเย้ากับเพื่อนมันทำไม่ได้เพราะเสียงเรามันจะรบกวนการสอนของอาจารย์และการเรียนของเพื่อนด้วย ผมคิดว่าการเรียนผ่าน Facebook Live มันผ่อนคลายกว่าครับ แต่ทั้งนี้ผมว่ามันก็ขึ้นอยู่กับอาจารย์แต่ละท่านด้วย”
“สำหรับ Webex ผมคิดว่ามันก็โอเคใช้ได้แล้วก็ดูเป็นทางการดีนะครับ แต่ผมรู้สึกว่าการเรียนผ่าน Webex จะมีความเครียดหรือกดดันกว่า เพราะอย่างที่บอกครับเราไม่สามารถพูดคุยโต้ตอบเชิงหยอกเย้ากับเพื่อนได้ในตอนเรียนทำให้มันขาดบรรยากาศบางอย่างของการเรียนไป อีกอย่างนึงในการเรียน Webex มันจะมีปัญหาบางอย่างรบกวนเราตอนเรียนแล้วก็รบกวนอาจารย์ตอนสอนด้วยอะครับ อย่างเช่น การลืมปิดไมค์ของเพื่อนนักศึกษาแล้วทำให้มีเสียงรอบข้างเข้ามารบกวนเพื่อน ๆ แล้วก็ในเรื่องของการตามเรียนย้อนหลัง ผมคิดว่ามันเข้าถึงยากกว่าการเรียนผ่าน Facebook Live เพราะเราต้องรออาจารย์หรือคณะแจ้งเราว่ามีการลงคลิปย้อนหลังแล้ว เราถึงจะตามไปเรียนได้ บางทีระบบการเข้าถึงก็มีปัญหาเพราะระบบของ Webex ขัดข้องทำให้เราเข้าถึงคลิปไม่ได้ ต้องรอให้ระบบหายขัดข้องก่อนจึงจะเข้าไปดูได้ซึ่งผมคิดว่ามันจะทำให้เราเสียเวลาครับ”
“สำหรับ Zoom ผมเรียนวิชาเสรีผ่านช่องทางนี้ครับ ด้วยความที่ในห้องเรียนเรามีนักศึกษาแค่ 4 คน แล้วอาจารย์จะสอนแบบให้เราได้มีส่วนร่วมในการเรียนด้วย ซึ่งอาจารย์สามารถเรียกนักศึกษาให้ตอบได้ทีละคนเหมือนอย่างในห้องเรียน บรรยากาศการเรียนออนไลน์กับการเรียนในห้องมันจึงไม่ต่างกันมากครับ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
วีรภัทร : “ผมคิดว่าปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ น่าจะเป็นเรื่องของสถานที่กับการเข้าถึงการเรียนออนไลน์นะครับ เพราะอย่างที่ผมบอกว่าแถวบ้านผมมันมีปัจจัยที่จะทำลายสมาธิเราหลายอย่างสำหรับการเรียนที่บ้าน ดังนั้นเราต้องใช้ความสามารถสูงมากในการดึงตัวเองกลับมาและการบังคับตัวเองให้มีสมาธิอยู่กับสิ่งที่เรียนอยู่ ส่วนเรื่องของการเข้าถึง สำหรับผมผมไม่ได้มีปัญหาในเรื่องนี้นะครับ เพียงแต่ผมคิดว่ายังมีนักศึกษาอีกหลายคนที่มีข้อจำกัดด้านอินเทอร์เน็ตแล้วก็อุปกรณ์ อย่างในเรื่องของอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเป็นการเรียนโดยคลิปวิดีโอมันเลยใช้เน็ตค่อนข้างมากในการเรียนแต่ละครั้ง ใครที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตแบบไม่จำกัดความเร็วแล้วไม่มี wifi ด้วย ก็อาจจะเปลืองเน็ตหน่อยครับ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
วีรภัทร : “ตอนนี้ผมกังวลอยู่อย่างเดียวเป็นเรื่องการสอบออนไลน์ครับ คือ ปกติเนื้อหากับข้อสอบมันยากอยู่แล้ว ยิ่งพอเป็นการสอบออนไลน์ผมคิดว่าข้อสอบมันอาจจะยากขึ้นกว่าเดิมเพราะโดยสภาพของการสอบแล้ว เราสามารถเปิดหนังสือ ตำรา หรือเลคเชอร์ประกอบการสอบได้ ตามปกติเวลาสอบผมมักจะอาศัยการอ่านเลคเชอร์ที่เราจดลงตัวบท ท่องจำตัวบทแล้วก็ทำข้อสอบเก่าไปด้วย การเตรียมตัวของผมจะมีอยู่แค่นี้ แต่สำหรับการสอบออนไลน์ผมคิดว่าผมไม่ต้องเลคเชอร์ลงตัวบทในเวลานี้ ไม่ต้องท่องจำถ้อยคำในตัวบทมาก แต่ผมต้องทำสรุปเพิ่มซึ่งมันเยอะกว่าการนั่งทำแพทเทิร์นสำหรับข้อสอบบรรยายแล้วก็เยอะกว่าการนั่งท่องมาตราสำหรับข้อสอบตุ๊กตา เพราะผมคิดว่าเราน่าจะเปิดเลคเชอร์ดูได้ ผมเพียงจำแค่ว่ามาตรานี้พูดถึงเรื่องนี้ แล้วก็ทำข้อสอบเก่าก็พอ ถ้าดูผิวเผินแล้วการเตรียมตัวสำหรับการสอบออนไลน์น่าจะทำได้ง่ายกว่า”
“แต่ผมคิดว่าการเตรียมตัวสอบออนไลน์มันน่าจะต้องมากกว่าเดิมแล้วก็หนักขึ้นกว่าเดิมด้วย เพราะเราต้องทำการบ้านว่าถ้าเป็นเนื้อหาเรื่องนี้เราควรจะเปิดเลคเชอร์หรือชีทที่เราทำไว้ชุดไหน ช่วงไหน แล้วเนื้อหาที่สำคัญมันอยู่ตรงไหน แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูอีกทีว่าอาจารย์อนุญาตให้เปิดเลคเชอร์ได้มั้ย ถ้าไม่ได้ก็ต้องกลับเตรียมตัวแบบเดิมแหละครับ ส่วนเรื่องการทุจริต ผมคิดว่าด้วยเกียรติของความเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พวกเราคงไม่เอาเรื่องแบบนี้มาทำลายเกียรติของเราหรอกครับ อีกอย่างถ้าโดนจับได้ผมว่าโทษวินัยน่าจะหนักกว่าการทุจริตปกติ ผมไม่คิดว่ามันคุ้มกับความเสี่ยงที่จะทุจริตนะครับ”
“นอกจากนี้ก็มีเรื่องฝึกงาน ผมว่ามันเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของนักศึกษาเลยนะครับเพราะมันเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เราค้นพบตัวเองว่าจริง ๆ แล้วเหมาะสำหรับสายงานที่เราได้ฝึกมั้ย อย่างผมอ่ะครับ ผมลังเลอยู่ว่าจะทำ firm หรือเป็นทนายดี ในช่วงปี 3 นี้ผมก็เลยยื่นสมัครงานแล้วก็ได้ฝึกงานที่ Firm ก่อนเพื่อที่จะได้ดูว่าเราเหมาะสมกับการทำในงานใน Law Firm มั้ย แต่หลังจากที่เกิดการระบาดของโควิดผมก็ยังไม่รู้เลยว่าทางบริษัทเขาจะโทรมา Cancel เรามั้ย ผมก็เลยกังวลในเรื่องของการฝึกงานอ่ะครับเพราะไม่รู้ว่าในสถานการณ์แบบนี้เราจะได้ฝึกงานต่อมั้ย แล้วถ้าเกิดไม่ได้ฝึกขึ้นมา เราจะได้ฝึกอีกมั้ยในปีหน้าหรือต้องเข้าสู่วัยทำงานจริง ๆ ถึงจะได้รู้ว่าเราเหมาะกับงานสายนี้มั้ย”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
วีรภัทร : “ก่อนอื่นอยากขอบคุณอาจารย์ผู้สอนและเจ้าหน้าที่ทุกท่านครับที่ทำงานหนักขึ้น ทุ่มเทและเสียสละกันเพื่อให้พวกเราได้เข้าถึงการเรียนการสอนที่เสมือนการเรียนในห้องมากที่สุด อยากขอบคุณมหาวิทยาลัยที่มีสวัสดิการต่าง ๆ และคณะที่มีทุนให้นักศึกษาเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงการเรียนได้ตามปกติตามกำลังความสามารถของมหาวิทยาลัยจนผมรู้สึกว่าสวัสดิการของมหาลัยดีกว่าสวัสดิการที่รัฐมีให้กับเราเสียอีก อยากขอบคุณอาจารย์ต่อพงศ์ที่อัพคลิปน้องตะวันให้กำลังใจพวกเราในการเรียนออนไลน์ ผมดูคลิปน้องตะวันแล้วโลกผมสดใสขึ้นเยอะเลยครับอาจารย์ โดยเฉพาะคลิป “ไม่รู้เรื่องเลย ปั้ดถู่เอ้ย” (หัวเราะ) สุดท้ายนี้อยากขอบคุณพ่อกับแม่ที่ตอนที่ผมไม่สบาย แล้วมีอาการเหมือนว่าจะเป็นโควิด (แต่ไม่ได้เป็น) ท่านก็ดูแลผมอย่างดี ไม่กลัวที่จะติดเชื้อหากว่าผมเป็นจริง ๆ แล้วก็อยากขอบคุณตัวเองที่ยังไม่ติดโควิดครับ”
ชาญชัย อิ่มโพธิ์ (สไปร์ท) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 3
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ชาญชัย : “ผมคิดว่าหลาย ๆ คนคงรู้สึกเหมือนกัน คือผมรู้สึกว่าการเรียนออนไลน์ยากกว่าการเรียนในห้องแบบปกติมาก ๆ รู้สึกเข้าใจในเนื้อหาจะน้อยกว่าในรูปแบบของการเรียนปกติ และยิ่งถ้าในวิชานั้น ๆ อาจารย์ใช้วิธีการอัดคลิปเอาไว้ก่อน ความกระตือรือร้นมันในการเรียนมันจะน้อยมาก ๆ เลยครับ ผมเลยไม่ชอบการเรียนออนไลน์เลย”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
ชาญชัย : “รูปแบบการเรียนที่อาจารย์ใช้มีหลายแบบครับ ทั้ง Facebook Live, Webex, Microsoft Teams หรืออัดคลิปลงใน Facebook หรือ Youtube ซึ่งเอาตรง ๆ ผมว่าเรียนใน Facebook Live มีปัญหาน้อยสุดแล้วครับ เพราะเข้าถึงง่ายสุด ไม่ต้องทำความเข้าใจอะไรเพิ่มก็เข้าได้แล้ว เพราะเกือบทุกคนก็มี Facebook อยู่แล้ว ถึงแม้เราจะพูดออกไมค์หรือเปิดวิดีโอให้อาจารย์เห็นไม่ได้ แต่เรายังสามารถพิมบอกอาจารย์ได้ครับ ส่วน platform อื่น ๆ มีปัญหาเยอะมากครับ ถ้าอย่าง Webex เนี่ย เวลาเพื่อนลืมปิดไมค์ มันก็จะมีเสียงรบกวนเข้ามาตลอด ทำให้จากที่การเข้าใจเนื้อหาจะยากกว่าปกติแล้ว ยิ่งเพิ่มความยากเข้าไปอีกครับ ในส่วน Microsoft Teams ผมพึ่งมีโอกาสได้เรียนไปครั้งเดียว รู้สึกว่ายังไม่เข้าใจวิธีการใช้งานเท่าไหร่ ทำให้ครั้งนั้นกว่าจะเข้าได้ก็เลทไปเกือบ 20 นาทีครับ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
ชาญชัย : “ปัญหาที่ผมเจอนะครับ และเป็นปัญหาใหญ่มาก ๆ สำหรับผม คือเรื่องคุณภาพของเสียงและภาพที่เป็นสื่อออนไลน์ครับ ซึ่งเกิดทั้งในกรณีสอนสดและที่อัดเอาไว้ล่วงหน้าเลยครับ เพราะเสียงของอาจารย์ชอบขาด ๆ หาย ๆ ดังบ้างไม่ดังบ้าง มันยิ่งทำให้ผมต้องยิ่งโฟกัสกับการเรียนมากขึ้น และพอโฟกัสมาก ๆ นาน ๆ มันทำให้ปวดหัวมากเลยครับ ทำให้มีความรู้สึกว่าไม่อยากเรียนแล้ว และพอแจ้งปัญหานี้ไป ก็เหมือนเจ้าหน้าที่จะแก้ไขอะไรให้ไม่ได้มาก ทำให้ต้องทนเรียนอย่างนั้นไป โดยเฉพาะในส่วนของวิชาตลาดหลักทรัพย์ คือเรียนไม่รู้เรื่องเลยครับ เวลาอาจารย์พูดเลขหุ้นคือไม่รู้เลยว่าหุ้นตัวไหน เพราะฟังไม่รู้เรื่องเลย”
“ปัญหาต่อมาคือเรื่องสถานที่ บ้านผมอยู่กันหลายคนครับ เสียงค่อนข้างดัง และเนื่องจากรอบบ้านอยู่กันแบบพี่น้องทำให้มีความเฮฮาปาร์ตี้สูงมาก บางทีเรียน ๆ อยู่ข้างบ้านก็จะเปิดเพลงเสียงดัง เพลงวิบวับเปิดบ่อยมาก จนผมจะร้องตามได้แล้ว ซึ่งทำให้ผมเสียสมาธิในการเรียนมาก ๆ เลยครับ นอกจากนี้ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ร้อนมากครับ ถ้าบ้านใครไม่มีแอร์น่าจะลำบากมาก ๆ ด้วย”
“ปัญหาเรื่องการเข้าถึงเอกสาร อาจารย์แจกชีทช้ามากครับ ซึ่งจากที่ผมสังเกตคือเหมือนจะมีปัญหาการประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่นะครับ ทำให้พอไม่มีชีทเรียนแล้วมานั่งฟังอย่างเดียว มันเหมือนไม่มีจุดเกาะเกี่ยวอะครับ เลยทำให้หลุดบ่อยมาก ๆ ครับ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
ชาญชัย : “กลัวข้อสอบยากขึ้นมาก ๆ ครับ เพราะปกติก็ยากอยู่แล้ว ประกอบกับการเรียนออนไลน์ทำให้รู้สึกเข้าใจเนื้อหาได้น้อยลง แต่ที่กังวลมากจริง ๆ คือการสอบครับ ผมกลัวจะมีปัญหากับระบบในการส่งข้อสอบ เพราะยังไม่ค่อยเข้าใจวิธีการสอบเท่าไหร่ และยังไม่รู้ว่าตอนสอบแถวบ้านจะเสียงดังอีกไหม ไฟจะดับหรือเปล่า คือช่วงนี้ไฟดับบ่อยครับ เลยค่อนข้างกังวลกับการสอบมาก ๆ”
“ในเรื่องการฝึกงาน ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้ผมค่อนข้างไม่มั่นใจแล้วว่าจะได้ฝึกงานหรือเปล่า เพราะเห็นว่าสถานที่ฝึกงานหลายๆที่ได้มีการยกเลิกไปแล้ว ทำให้ตอนนี้ยังไม่ได้ทำการจองหอพักหรือเตรียมการใดๆเลย และถ้าไม่มีการยกเลิกการฝึกงาน ก็มีความกังวลในเรื่องความปลอดภัย เพราะสถานที่ฝึกงานก็ค่อนข้างเสี่ยง เนื่องจากอยู่ในบริเวณที่มีคนพลุกพล่าน”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
ชาญชัย : “อยากให้จัดการกับคุณภาพวิดีโอที่ใช้สอนให้ดีกว่านี้อะครับ ผมเข้าใจว่าทุกคนยังใหม่กับเรื่องนี้ แต่จะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปก็ไม่ไหวอะครับ เรียนไม่รู้เรื่องจริง ๆ แล้วก็อยากให้อาจารย์ปล่อยไฟล์ที่ใช้เรียน ในกรณีอาจารย์สามารถให้นะครับ ล่วงหน้าก่อนการเรียนครับเพราะจะได้เข้าใจเนื้อหาได้ง่ายมากขึ้น แล้วก็ข้อสอบขอให้อาจารย์พิจารณาอย่างเหมาะสมที่สุดครับ รักษาสุขภาพด้วยนะครับ”
วรัญญ์ภร ประกอบสุข (พันซ์) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 3
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
วรัญญ์ภร : “ความรู้สึกแรกที่ทราบว่าต้องเรียนออนไลน์ คือ รู้สึกใจหายมากเพราะคิดว่าเราจะเรียนออนไลน์ยังไงให้มีประสิทธิภาพเหมือนอยู่ในห้องเรียน เพราะตอนที่เรียนในห้องเรียน เรามีความกระตือรือร้นที่อยากจะเรียน ได้เห็น energy ของอาจารย์เวลาสอน เราก็สนุกไปกับการเรียน ได้เห็นบรรยากาศรอบข้างที่ทำให้รู้ว่าเราต้องเรียน แต่การเรียนออนไลน์ช่วงแรกก็ต่อต้านอย่างแรง พอเรียนไปสักพักก็เริ่มปรับตัวได้ เราต้องชิน ไม่งั้นถ้ามัวแต่โทษนู้นนี่มันจะไม่เดินหน้าไปไหนสักที แต่การเรียนออนไลน์ก็มีผลกระทบหลายอย่างเช่นกันโดยเฉพาะในช่วงแรกที่มีปัญหาเรื่องการใช้โปรแกรมของอาจารย์ที่ยังไม่คล่อง เรื่องสัญญาณเน็ต จึงเรียนไม่รู้เรื่อง แต่พอปัญหาได้รับการแก้ไขก็แทบไม่มีเรื่องดังกล่าวเลย แต่การเรียนออนไลน์ก็ยังมีผลกระทบโดยส่วนตัวอยู่ดี เช่น ทำให้เราไม่ค่อยกระตือรือร้นในการที่จะเรียน ไม่ได้เตรียมตัวก่อนเรียน เพราะเรียนออนไลน์แม้จะเวลาเท่ากับในห้องหรือบางทีน้อยกว่าในห้องด้วยซ้ำแต่ดูดพลังมาก เรียนเสร็จก็เหนื่อยไม่อยากทำอะไรแล้ว ยิ่งวิชาที่อาจารย์บันทึกการสอนไว้ล่วงหน้า แทบจะฟังไปหลับไปเหมือนเรากำลังฟังไฟล์เสียง เพราะโดยส่วนตัวไม่ชอบฟังไฟล์เสียง ถ้าอยู่ในห้องเรียนจะตั้งใจเรียนในแต่ละคาบเพื่อจะได้ไม่ฟังไฟล์เสียงทีหลัง อีกทั้งการเรียนออนไลน์พอทำให้รู้สึกเหนื่อยมาก ก็จะพักนานมาก และไม่อยากอ่านหนังสือสอบ พูดง่ายๆว่า การเป็นคนขีเกียจว่าเดิมเยอะเลย ทำให้เราต้องสู้กับตัวเองมากกว่าเดิมหลายๆเท่า แม้ตอนนี้จะปรับตัวได้แล้วแต่การเรียนออนไลน์สู้การเรียนในห้องไม่ได้อยู่ดี”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
วรัญญ์ภร : “หนูเคยเรียนอยู่ 2 ระบบ คือ Webexและ Facebook Live ในส่วนของ Webex มีข้อดี คือ เราสามารถพูดคุยผ่านเสียงกับอาจารย์ได้โดยตรงถ้ามีปัญหาฉุกเฉินเราก็สามารถเปิดไมค์เพื่อคุยกับอาจารย์ได้ทันที ข้อเสีย คือ ช่วงแรกจะเป็นที่ตัวระบบที่อาจารย์ผู้สอนยังไม่ค่อยคุ้นชิน แต่พอแก้ไขตัวระบบก็ไม่มีปัญหาอะไร ปัญหาใหญ่ ๆ คือเพื่อนที่เรียนมากกว่า บางคนไม่ได้ปิดไมค์เสียงแทรก รบกวน ทำให้สมาธิคนเรียนรวมถึงคนสอนหลุดไปตามๆกันและเป็นทุกครั้งที่เรียนโดยใช้ระบบนี้”
“ในส่วนของ Facebook Live ข้อดี คือ ระบบไม่ค่อยมีปัญหาใด ๆ เสถียรกว่า Webex ข้อเสีย คือ ไม่สามารถโต้ตอบอาจารย์ได้ทันทีเวลาถาม บางทีอาจารย์ก็อ่านข้ามคำถามที่ต้องการถาม แต่จริง ๆ ก็ถามนอกรอบได้อยู่ดี”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
วรัญญ์ภร : “สำหรับตัวหนูปัญหาในการเรียนออนไลน์คือเรื่องสถานที่ เนื่องจาก หนูอยู่หอ ทำให้เราอยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยม สภาพแวดล้อมเดิม ๆ มันเบื่อ ๆ อีกทั้ง ใช้ไฟมากกว่าเดิมหลายเท่า โดยเฉพาะแอร์ ถ้าร้อนจะเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง อุปกรณ์ในการเรียนก็มี Ipad ก็สะดวกในการเรียน แต่การสอบไม่แน่ใจ ปัญหาอีกอย่าง คือ ชีทเรียน ปรินท์เยอะมาก เปลืองหมึก เปลืองกระดาษ เสียค่าใช้จ่ายเรื่องนี้เยอะเลย ปกติอาจารย์จะแจกในห้องไม่ก็ปรินท์โดยใช้โควตามหาลัย”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
วรัญญ์ภร : “ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียน ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การเรียนออนไลน์ไม่เหมือนในห้องอยู่ดี แม้จะปรับตัวได้บ้างแล้วก็ตาม แต่ข้อกังวลเรื่องการสอบนี่เยอะเลย เพราะการสอบมันมีผลกระทบมาก ๆ เพราะ เปลี่ยนโดยสิ้นเชิง ต้องปรับตัวมาก ๆ คือการเรียนออนไลน์มันค่อย ๆ ปรับตัวได้ แต่การสอบมันกังวลว่าจะเริ่มยังไง จะเป็นแบบไหนเพราะเราไม่เคยสอบ สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนห้องสอบก็เป็นผลกระทบเพราะกลัวตัวเองไม่จริงจัง อีกทั้ง พออาจารย์บางท่านเห็นว่าสามารถ Open Book ได้ ก็ปรับการออกข้อสอบให้ต่างไปจากเดิม ยากขึ้น ทั้ง ๆ ที่การเรียนออนไลน์ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนลดลงด้วยซ้ำ จริง ๆ เวลาสอบก็ไม่น่าจะมีเวลาเปิดหนังสืออะไรเท่าไหร่ เปิดไปถ้าไม่รู้เนื้อหาก็ตอบไม่ได้อยู่ดี แล้วในเวลาที่จำกัดนักศึกษาไม่มีเวลาหาคำตอบอะไรมากอยู่แล้วเพราะก็ต้องทำข้อสอบด้วย ส่วนเรื่องการทุจริตนี่คงควบคุมยาก แต่โดยปกติคณะเรา ไม่ใช่แค่ตอบธงได้แล้วจะได้คะแนนดี ยังไงก็ต้องอธิบายซึ่งยังไงก็แล้วแต่สไตล์การเขียนของแต่ละคนอยู่ดี จึงไม่ได้กังวลขนาดนั้นเรื่องนี้และคิดว่าเพื่อนที่เรียนคณะนี้ส่วนน้อยจะทำแบบนั้น”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
วรัญญ์ภร : “เทอมหน้าถ้ามีการเรียนออนไลน์จริง ๆ เรียนได้นะคะ แต่ไม่สอบออนไลน์ได้ไหมคะ”
“อย่างไรก็ดี ขอบคุณอาจารย์ทุกๆคนค่ะ ที่ช่วยและพยายามให้นักศึกษาทุกๆคนได้เรียนในสภาวการณ์เช่นนี้ หนูเห็นความตั้งใจของอาจารย์ทุกคน อีกทั้งคณะยังช่วยเหลือในเรื่อง เงิน อุปกรณ์ เทคโนโลยีต่าง ๆ หนูประทับใจมาก รู้สึกว่าเต็มที่มากๆค่ะ ขอบคุณนะคะ”
คุณากร สุวรรณะ (เฟิร์ส) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 3
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
คุณากร : “โดยภาพรวมผมชอบการเรียนในห้องเรียนมากกว่าครับ เพราะการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้เราต้องอยู่แต่หน้าจอโทรศัพท์ตั้งแต่เช้าจนเย็น ทำให้ค่อนข้างปวดตา อีกทั้งสภาพแวดล้อมก็ไม่เหมาะสมเท่ากับการเรียนในห้องเรียน เพราะกลายเป็นว่าเราต้องนั่งเรียนคนเดียว แล้วเมื่อต้องวนลูปแบบนี้ทุกวัน ย่อมทำให้ห่อเหี่ยวใจและมีความเครียดสะสมครับ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
คุณากร : “บาง Platform มีปัญหาในการเรียนค่อนข้างมาก เช่น Webex เพราะเวลาเรียนอยู่มักเกิดปัญหาเสียงดังเวลาคนเข้าออก หรือปัญหาเรื่องการเปิดปิดไมค์หรือกล้องวีดีโอ ซึ่งผู้เปิดก็มักไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการใช้โน้ตบุ๊กซึ่งได้ยินจากเพื่อนว่ากล้องเปิดเอง หรืออย่าง Platform Zoom ก็ได้ยินข่าวไม่ดีในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูุลส่วนบุคคล นอกจากนี้ผมและเพื่อนหลายคนยังเห็นตรงกันว่ารูปแบบของ Platform อาจจะมากเกินไป ทำให้ค่อนข้างสับสน เช่น บางครั้งจะใช้ Google Classroom ต้องใช้อีเมล์ @dome ถึงจะเข้าได้ แต่บางครั้งถ้าใช้ @dome จะเข้าไม่ได้ แต่โดนส่วนตัวผมชอบ Facebook Live ที่เข้าถึงได้ง่าย และติดตามเอกสารได้ง่ายที่สุดครับ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
คุณากร : “หนึ่ง เรื่องสภาพแวดล้อมในการเรียน เป็นปัญหามากใหญ่ครับ โดยเฉพาะเรื่องเสียงรบกวนรอบข้าง ยิ่งหากใครเรียนจากโทรศัพท์ซึ่งเสียงค่อนข้างเบายิ่งเป็นปัญหาเพราะหลาย ๆ ครั้งสู้เสียงรอบข้างไม่ได้ หรือบางครั้งสัญญาณมา ๆ หาย ๆ กลายเป็นว่าเนื้อหาขาดช่วง การเรียนก็ไม่ค่อยประติดประต่อกัน”
“สอง เรื่องทุนทรัพย์และการเข้าถึงการเรียนการสอน ไม่ว่าภาระค่าเอกสารที่เพิ่มขึ้น เพราะไม่มีการแจกเอกสารแล้ว ไม่สามารถใช้โควตาปรินท์ได้ หรือกระทั่งบางวิชาปรินท์ให้แล้ว เช่น วิ.อาญา แต่ก็ไม่สามารถไปเอาได้ เพราะหลายคนเดินทางกลับบ้านกันก่อนแล้ว หรือการเข้าถึงห้องสมุดก็ทำไม่ได้เหมือนแต่ก่อน การสืบค้นข้อมูลก็ยากขึ้น อย่างไรก็ดี จากการพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ ทำให้ผมประทับใจทางมหาวิทยาลัยและคณะที่พยายามช่วยเหลือในส่วนนี้มาก ๆ ครับ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
คุณากร : “สิ่งแรกที่กังวล คือ เรื่องข้อสอบ Take Home เพราะช่องทางในการสืบค้นข้อมูลถูกจำกัดลง แต่ปรากฎว่าในรายวิชาที่ผมลงทะเบียนเป็นการสอบแบบจำกัดเวลาทั้งหมด ดังนั้นจึงเปลี่ยนมากังวลในเรื่องความยากของข้อสอบแทน เพราะโดยสภาพการสอบในลักษณะนี้แทบจะเป็นการ Open Book โดยปริยาย และยิ่งมีปัญหาเรื่องการลอกข้อสอบผมก็กังวลว่าจะกลายเป็นว่าออกข้อสอบให้ยากหรือมากจนเหมือนเอามีดไปสู้กับรถถังหรือไม่ (หัวเราะ) นอกจากนี้ที่กังวลมากเป็นพิเศษคือเรื่องการส่งข้อสอบ เพราะผมไม่ค่อยสันทัดในเรื่องเทคโนโลยี คือ กังวลมากว่าจะส่งไฟล์ไม่ครบ หรือส่งไม่ผ่าน เป็นต้น”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
คุณากร : “ผมอยากให้การลงไฟล์ย้อนหลังรวดเร็วมากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาสามารถมีเวลาในการทบทวนมากขึ้น และเป็นกังวลในบางวิชาที่ไฟล์ออกค่อนข้างช้า จนกลัวว่าอาจจะมาทีเดียว”
“นอกจากนี้คือเรื่องเอกสารประกอบการสอน บางวิชามีปัญหาค่อนข้างมาก คือ อาจารย์ผู้สอนบอกว่าฝากไปลงให้แล้ว แต่นักศึกษาหาไม่เจอ อาจเพราะมี Platform มากเกินไป อยากให้รวมเป็นที่เดียว เช่น ไว้ในเว็บคณะซึ่งสามารถเลื่อนหาได้โดยง่าย ซึ่งผมค่อนข้างประทับใจเว็บคณะกับการอัปเดตตารางเรียนทางงานบริการที่ในระยะหลังค่อนข้างว่องไวพอสมควร”
“สุดท้ายนี้ ผมขอขอบพระคุณอาจารย์ผู้สอนทุกท่าน และคณะที่ใส่ใจดูแล และพยายามปรับเข้าหานักศึกษา หวังว่าเราจะได้กลับสู่สถานการณ์ปกติโดยไว”
ภาพโดย พั้นช์, ราม, สไปร์ท, พันซ์, เฟิร์ส
เรียบเรียง KK