เป็นเวลาเดือนกว่าแล้วที่คณะนิติศาสตร์ได้เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็นออนไลน์เนื่องด้วยข้อจำกัดในช่วงสถานการณ์โควิด และเหลือเวลาเพียงสามสัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงการสอบปลายภาค ซึ่งต้องใช้รูปแบบออนไลน์เช่นกัน เราจะไปพูดคุยกับของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ถึงความรู้สึก ปัญหา ข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการสอบที่จะมาถึง และการฝึกงานสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 โดยวันนี้เรามีบางส่วนของนักศึกษาศูนย์ลำปางจำนวน 7 คนมาร่วมพูดคุยถ่ายทอดความรู้สึกเกี่ยวกับการเรียนและการสอบออนไลน์
ดาวอนงค์ พงษ์ขาว (ดาว) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 3
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ดาวอนงค์ : “อันดับแรก คงต้องบอกว่ารู้สึกใจหายค่ะ เนื่องจากส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ชอบบรรยากาศการเรียนในห้องปกติที่ได้มีโอกาสนั่งฟังอาจารย์บรรยายและได้พูดคุยทักทายกันกับเพื่อน ๆ ที่เข้าเรียนเหมือนกัน พอต้องมาเปลี่ยนบรรยากาศเป็นการเรียนแบบออนไลน์ที่บ้าน ต้องพยายามปรับตัวพอสมควรค่ะ ในการที่จะทำให้ตัวเองมีสมาธิและมีวินัยเข้าเรียนตามตารางการบรรยาย เพราะบรรยากาศการเรียนที่บ้าน ทำให้เราสมาธิหลุดได้ง่ายมาก ต้องคอยวางแผนในเรื่องเวลาและห้ามใจตัวเอง ไม่ให้เผลอไปกับความขี้เกียจหรือการผลัดวันประกันพรุ่งค่ะ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
ดาวอนงค์ : “จากการที่ได้เรียนออนไลน์มาสักพัก Platform ที่ได้มีโอกาสใช้คือ Facebook Live, Webex, Zoom และ คลิปย้อนหลังใน Youtube ค่ะ สำหรับ Facebook Live เป็น Platform ที่เวลาตอนเรียนสดจะไม่มีเสียงรบกวนจากด้านนอก เนื่องจากมีแค่เสียงอาจารย์เท่านั้นในการบรรยาย และยังสามารถถามคำถามอาจารย์ได้ทันทีใน comment แม้ว่าจะมีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถคุยเป็นเสียงกับอาจารย์ได้โดยตรง แต่ก็คิดว่าเพียงพอที่จะทำให้อาจารย์ทราบถึงคำถามของเราค่ะ อีกทั้งหลังจากเรียนสดเสร็จแล้ว เราก็จะสามารถเข้ามาดูคลิปย้อนหลังทบทวนได้ทันที ไม่ต้องรอให้คณะมาโพสต์คลิปบรรยายย้อนหลัง”
“ส่วน Platform อื่นๆอย่าง Webex, Zoom ก็มีข้อดีกว่า Facebook Live ตรงที่สามารถคุยถามคำถามกับอาจารย์เป็นเสียงได้โดยตรง แต่ก็ยังคงคิดว่ามีข้อเสียมากกว่า Facebook Live ค่ะ เพราะเวลาที่มีใครบางคนลืมปิดไมค์ จะทำให้มีเสียงเข้ามารบกวนและอาจทำให้สมาธิในการเรียนหลุดไปได้เลย”
“ส่วนคลิปย้อนหลังใน Youtube ก็รู้สึกว่าเป็น Platform ที่เหมาะกับการทบทวนการบรรยายมากค่ะ เพราะเราสามารถกดข้ามเนื้อหาที่เราเข้าใจแล้วได้หรือจะสามารถกดดูย้อนหลังในเนื้อหาที่ไม่เข้าใจได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวชอบรูปแบบการเรียนออนไลน์แบบ Facebook Live มากที่สุดค่ะ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
ดาวอนงค์ : “ปัญหาหรือข้อจำกัดในการเรียนออนไลน์แล้ว อันดับแรกคิดว่าน่าจะเป็นบรรยากาศการเรียนที่บ้านที่ไม่ค่อยเอื้อกับการเรียนเท่าไหร่ค่ะ เนื่องจากที่บ้านเป็นร้านขายของ บางครั้งที่บ้านก็จะไม่รู้ว่าตอนนี้เรากำลังเรียนอยู่ ก็จะเรียกใช้ให้เราไปขายของบ้าง ทำงานบ้านบ้าง กินข้าวบ้าง (หัวเราะ) ซึ่งก็พยายามบอกที่บ้านนะคะว่าเวลาไหนที่เราเรียนบ้าง อันดับที่สองคิดว่าเป็นปัญหาการทบทวนเนื้อหาทางออนไลน์ค่ะ เพราะบางรายวิชากว่าที่คณะจะลงย้อนหลังให้ ก็ค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร ทำให้เวลามาฟังคลิปบรรยายย้อนหลังใหม่ ก็ต้องใช้เวลาฟังเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม และอันดับสุดท้าย คิดว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงเอกสารของอาจารย์ค่ะ เพราะก่อนที่จะมาเรียนออนไลน์ ส่วนตัวจะชอบอ่านหนังสือหรือชีทบรรยายแบบกระดาษมากกว่า เนื่องจากรู้สึกสบายตากว่าการอ่านหนังสือจากจอโน้ตบุ๊ก แต่พอจะปรินท์มาอ่าน ร้านปรินท์ก็ค่อนข้างหายาก หากจะซื้อเครื่องปรินท์ก็มีราคาแพงอยู่ จำต้องพยายามปรับตัวกันไปค่ะ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์ และการฝึกงาน
ดาวอนงค์ : “ข้อกังวลตอนนี้สำหรับการเรียนคือ กลัวการทำความเข้าใจในเรื่องเนื้อหาไม่ทันค่ะ เพราะหลายวิชาที่ใช้ Webex มีปัญหาในเรื่องของการโพสต์คลิปให้ทบทวนย้อนหลังค่อนข้างช้าดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการสอบออนไลน์ คือ การพิมพ์ไม่ทัน เนื่องจาก ปกติจะถนัดเขียนมากกว่า แต่เมื่อคณะประกาศมาว่าสามารถเลือกพิมพ์หรือเขียนก็ได้ ก็โล่งใจระดับนึงค่ะ แต่ก็ยังมีข้อกังวลในเรื่องของการจำกัดไฟล์ภาพที่ส่ง ที่ให้ส่งไม่เกิน 10 ภาพ ปกติข้อสอบจะมี 5 ข้อ ก็ตกเฉลี่ยอยู่ที่ข้อละ 2 ภาพ คือกลัวไม่พอค่ะ และข้อกังวลอีกเรื่องจะเกี่ยวกับการส่งไฟล์คำตอบพลาดในเว็บค่ะ เพราะจะพลาดไม่ได้เลย เนื่องจากส่งไฟล์คำตอบได้แค่ครั้งเดียว”
“ถ้าในเรื่องการฝึกงาน สิ่งที่กลัวที่สุดในตอนนี้ คือ การประกาศห้ามนักศึกษางดฝึกงานค่ะ แม้ว่าสถานที่ฝึกงานจะเป็นแบบวอล์คอินก็ตาม เพราะค่อนข้างได้ยินข่าวลือมาพอสมควรค่ะ ว่าทางคณะจะมีการประกาศห้ามนักศึกษาฝึกงาน แต่พอได้มาฟังที่ท่านคณบดีพบปะนักศึกษาในช่วงคุยออนไลน์กับคณบดี ก็สบายใจขึ้นมาระดับนึง โดยส่วนตัวแล้วมีความตั้งใจที่อยากจะไปฝึกงานมากๆค่ะ เนื่องจากได้มีการวางแผนเตรียมตัวในเรื่องของภาษา ทบทวนเนื้อหากฎหมายที่เกี่ยวกับการฝึกงานไปมากพอสมควร ก็เลยไม่อยากที่จะพลาดโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการฝึกงานครั้งนี้ไปค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
ดาวอนงค์ : “อันดับแรก ขอขอบคุณทางคณะ อาจารย์ผู้สอนและเจ้าหน้าที่ทุกท่านค่ะ ที่พยายามปรับตัวหลายๆอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษา ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์ไวรัสที่ระบาดอยู่ตอนนี้เป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศและมีเวลาจำกัดแค่ช่วงสั้น ๆ แต่ทางคณะก็ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นทุนการศึกษาต่างๆ การให้คำปรึกษาและการแจ้งข้อมูลให้เข้าถึงแหล่งข้อมูล แม้ว่าอาจจะมีข้อบกพร่องในทางเทคนิคไปบ้าง แต่โดยรวมส่วนตัวแล้ว ประทับใจในส่วนนี้มาก ๆ ค่ะ จึงขออนุญาตเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้กับทางคณะ อาจารย์ผู้สอน และเจ้าหน้าที่ทุกท่านด้วยนะคะ”
กมลชนก แจ่มจิตร (ใบเฟิร์น) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 3
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
กมลชนก : “ดิฉันมองว่าการเรียนออนไลน์ในช่วงนี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสียนะคะ ข้อดีคือประหยัดเวลาและค่ารถในการเดินทางไปมหาวิทยาลัยค่ะ สามารถตื่นแล้วลุกขึ้นมาเรียนได้ทันที ค่อนข้างสะดวกในเรื่องนี้ค่ะ อีกทั้งวิชาไหนที่มีการบันทึกวิดีโอหรือ Live ผ่าน Facebook ก็สามารถกลับมาทบทวนได้ตลอด แต่ข้อเสียก็ค่อนข้างพบเยอะเช่นกันค่ะ เช่น บางวันอาจมีการขัดข้องทางเทคนิคค่อนข้างนาน หรือบางวันสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา ก็จะส่งผลให้การเรียนสดขาดตอนค่ะ และการโต้ตอบของอาจารย์และนักศึกษาก็อาจจะทำไม่ได้ทันทีค่ะ ส่วนตัวดิฉันชอบถามคำถามทั้งเรื่องเรียนและอาจจะนอกประเด็นเรื่องเรียนบ้างกับอาจารย์ผู้สอนหลังเลิกเรียนค่ะ ทำให้บางครั้งก็อาจจะเสียโอกาสตรงนี้ไป และสุดท้ายเลยค่ะ บรรยากาศแวดล้อมในห้องค่อนข้างไม่เหมาะกับการเรียน ทำให้หลุดโฟกัสได้ง่ายค่ะ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
กมลชนก : “ดิฉันได้มีโอกาสเรียนผ่านโปรแกรม Webex, Youtube และ Facebook Live ค่ะ ส่วนคิดว่าแต่ละโปรแกรมลักษณะการใช้งานค่อนข้างแตกต่างกัน ในส่วนของ Webex จะค่อนคล้ายกับการเรียนในห้องเรียนมากที่สุดจากทั้ง 3 โปรแกรม นักศึกษาสามารถโต้ตอบด้วยเสียงได้ทันที แต่สามารถเปิดกล้องมองเห็นกันได้ทุกคน แต่ก็พบปัญหาเยอะพอสมควร จากประสบการณ์คือค่อนข้างไม่เสถียร โปรแกรมค้างและหลุดบ่อย เสียงของอาจารย์ไม่ชัดเจน”
“และต่อมาคือ Youtube การเรียนการสอนโดยโปรแกรมนี้จะเป็นการอัดวิดีโอและมาเผยแพร่ ทำให้ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และอาจารย์ผู้สอนได้เลย แต่ข้อดีคือค่อนข้างเสถียร เนื่องจากเป็นวิดีโอที่อัดไว้ล่วงหน้าแล้ว”
“สุดท้ายคือ Facebook Live ส่วนตัวดิฉันค่อนข้างชอบโปรแกรมนี้มากที่สุด เนื่องจากพบปัญหาน้อยที่สุดและน้อยครั้งที่จะพบปัญหาการเชื่อมต่อไม่เสถียร และ Facebook จะบันทึก VDO ย้อนหลังทันที ทำให้สะดวกต่อการทบทวน แต่การโต้ตอบระหว่างอาจารย์และนักศึกษาจะผ่านการพิมพ์แชท ไม่สามารถโต้ตอบโดยใช้เสียงได้”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
กมลชนก : “ปัญหาที่ดิฉันพบค่อนข้างบ่อยคือความไม่เสถียรของโปรแกรมค่ะ ทำให้การเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง ส่งผลถึงความเข้าใจในเนื้อหาและบทเรียนค่ะ แต่ส่วนตัวแล้วดิฉันไม่มีปัญหากับอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ค่ะ แต่เพื่อน ๆ หลายคนค่อนข้างมีปัญหาค่ะ เช่น คอมพิวเตอร์เสียบ้าง หรือไม่มีอินเทอร์เน็ตค่ะ และปัญหาที่ประการหนึ่งคือบางวิชาสอนแบบไม่พักเลยค่ะ ต้องนั่งบนเก้าอี้นาน ๆ ส่งผลต่อสุขภาพค่ะ และสุดท้ายโดยส่วนตัวดิฉันที่พบปัญหาเลยคือ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรินท์ชีทและค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นค่ะ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์ และการฝึกงาน
กมลชนก : “ในส่วนของการเรียนค่อนข้างไม่กังวลค่ะ แต่ดิฉันมีความกังวลในเรื่องการสอบออนไลน์ค่อนข้างมากค่ะ ทั้งในเรื่องของปัญหาทางเทคนิคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เช่น คอมพิวเตอร์ดับกระทันหัน อินเทอร์เน็ตล่ม หรือแม้กระทั่งอาจจะมีการส่งกระดาษคำตอบแล้วแต่ส่งไปไม่ถึง ซึ่งปัญหาจำพวกนี้ ดิฉันค่อนข้างมีความกังวลสูงมากค่ะ กลัวว่าตัวเองจะเสียโอกาสในการได้คะแนนดีไป เพราะปัญหาทางเทคนิค ซึ่งไม่ได้เกิดจากความผิดของตนเองค่ะ และอีกความกังวลคือ ปัญหาทุจริตค่ะ ซึ่งดิฉันมองว่าตรวจสอบได้ยากมาก ๆ จากการสอบแบบออนไลน์ ทำให้อาจเกิดความไม่ยุติธรรมต่อนักศึกษาคนอื่น ๆ ค่ะ”
“สำหรับการฝึกงาน ดิฉันได้ฝึกงานกับบริษัท Tilleke & Gibbins ค่ะ โดยทางบริษัทเองได้มีมาตรการณ์เฝ้าระวังเรื่องโควิด 19 เช่นกันค่ะ ยกตัวอย่างเช่น เฝ้าระวังสำหรับบุคคลที่กลับมาจากต่างประเทศก่อนฝึกงาน 14 วัน หรือสำหรับบุคคลที่มีการป่วยค่ะ แต่ทางบริษัทยังไม่มีการแจ้งยกเลิกการฝึกงานแต่อย่างใด โดยส่วนตัวดิฉันค่อนข้างกังวลเรื่องการถูกยกเลิกฝึกงานค่ะ เนื่องจากการที่ได้เข้าฝึกงานกับที่นี้ การแข่งขันค่อนข้างสูงและดิฉันก็คาดหวังที่จะได้รับความรู้จากบริษัทนี้ค่อนข้างมาก เลยไม่อยากพลาดโอกาสฝึกงานในซัมเมอร์นี้ไปค่ะ และอีกข้อความกังวลคือเรื่องสุขภาพค่ะ เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้มีความกังวลในเรื่องการพบคนแปลกหน้า หรือการรวมตัวกันในบริษัทขณะฝึกงาน ดิฉันจึงอาจจะมีการเตรียมตัวเรื่องการดูแลและรับมือเรื่องสุขภาพมากขึ้นขณะฝึกงานค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
กมลชนก : “ดิฉันอยากจะขอบคุณทางอาจารย์และคณะฯ ที่พยายามแก้ไขปัญหาในช่วงสถานการณ์โควิดได้เป็นอย่างดี และพยายามแก้ไขปัญหาให้กับนักศึกษาที่เดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว และสุดท้ายที่ดิฉันอยากจะฝากคือ อยากให้คณะฯ มีการพิจารณาช่วยเหลือและเยียวยานักศึกษาในเรื่องของค่าปริ้นชีท ไม่มากก็น้อย เนื่องจากหากเป็นเวลาปกติทางคณะฯ จะมีการแจกเอกสารบรรยายในทุกๆ คลาส แต่ในสถานการณืปัจจุบันดิฉันเสียค่าใช้จ่ายค่าปริ้นชีทเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ทางคณะมีการช่วยเหลือเยียวยานักศึกษาทุกคนในส่วนนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ ”
ณฐมน ไพเมือง (แจน) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 3
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ณฐมน : “รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่มากค่ะที่ได้เรียนออนไลน์ ไม่คิดเหมือนกันว่าในชีวิตนักศึกษาครั้งนึงได้เรียนในระบบเช่นนี้ แต่ก็มิได้มองว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายนะคะ มองว่าในการเรียนออนไลน์ก็มีข้อดีเหมือนกันในแง่ของการที่เราสามารถประหยัดเวลาในการเตรียมตัวเพื่อเข้าเรียนและค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการไปเรียนที่มหาวิทยาลัยค่ะ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือการที่ไม่ต้องตื่นเช้าจนเกินไปเพื่อเดินทางไปเรียน นอกจากนี้การเรียนออนไลน์ทำให้เราได้กลับบ้านมา จึงทำให้ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้นจากที่ในเทอมนึงแทบจะไม่ได้กลับบ้านเลย แต่เมื่อเรียนและสอบออนไลน์จึงได้กลับมาอยู่บ้านยาว ๆ นับว่าเป็นความรู้สึกที่ดีมากค่ะ และยังทำให้ความกังวลในการเรียนลดลงไปด้วยเพราะมีพ่อแม่และแมวที่บ้านที่คอยอยู่และเป็นกำลังใจให้ แต่สิ่งที่ขาดไปเลยคือสังคมและเพื่อนค่ะ จากเดิมที่เรานั่งเรียนกับเพื่อนหลาย ๆ คน แต่กลับต้องมานั่งเรียนคนเดียว ทำให้ความสนุกในการเรียนลดลงไปค่ะ เพราะเรียนในห้องเราสามารถพูดคุยหรือถกเถียงประเด็นเรื่องที่เรียนกับเพื่อนได้ หรือตรงไหนจดไม่ทันก็สามรถถามเพื่อนได้ค่ะ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
ณฐมน : “จากการที่ได้เรียนออนไลน์ Platfrom ที่ได้เคยใช้งานประกอบไปด้วย Facebook Live, Cisco WebEx, YouTube ทั้งสาม Platform มีข้อดีข้อเสียต่างกันไปค่ะ แต่โดยรวมชอบการเรียน Facebook Live มากที่สุดค่ะเพราะด้วยภาพและเสียงที่มีความเสถียร และหากในช่วงเวลาใดที่ไม่สามารถเข้าเรียนได้หรือต้องการทบทวน ก็สามารถย้อนกลับมาฟังได้อีกครั้งจาก Facebook Live ที่ถูกบันทึกเอาไว้ อีกทั้งนักศึกษายังสามารถโต้ตอบกับอาจารย์ได้ตลอดในระหว่างเรียน มองว่าจุดนี้ทำให้นักศึกษากล้าที่จะถามอาจารย์ และโต้ตอบกับอาจารย์มากขึ้นกว่าการถามหรือโต้ตอบในห้องเรียนค่ะ”
“ส่วน Cisco WebEx เป็น Platform ที่ดูมีปัญหามากที่สุดเพราะมักมีสัญญานภาพที่ติดขัดและเสียงรบกวนทั้งจากผู้ที่ลืมปิดไมค์บ้างหรือเสียงแจ้งเตือนเมื่อมีผู้เข้าร่วมห้องเรียนบ้าง แต่ข้อดีก็คือเราสามารถโต้ตอบกับอาจารย์ได้ทันทีโดยการเปิดไมค์ถามได้เลยค่ะซึ่งสะดวกมาก ๆ”
“และสุดท้ายคือ YouTube มองว่า Platform นี้แม้มีความเสถียรทางภาพและเสียงมากที่สุดเพราะเป็นคลิปวิดีโอที่ถูกบันทึกมาแล้ว แต่เมื่อเป็นเช่นนั้นการโต้ตอบกับอาจารย์ย่อมทำมิได้ในระหว่างที่อาจารย์สอนเช่นนี้ ซึ่งเป็นขอเสียหลัก ๆ ของ Platform นี้เลยค่ะ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
ณฐมน : “หากกล่าวถึงส่วนถึงปัญหา มักจะเป็นปัญหาทางด้านเทคนิคต่าง ๆ โดยเฉพาะสัญญาณอินเทอร์เน็ตค่ะไม่ว่าจากต้นทางก็ดีหรือของตนเองก็ดี เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเวลาใด สัญญานจะเสถียรหรือไม่ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่รบกวนใจมาก ๆ ค่ะเพราะทำให้เราอาจตกหล่นเนื้อหา ในบางส่วนที่อยู่ในช่วงของที่อินเทอร์มีปัญหา และหากเป็นในขณะเวลาที่เรียนด้วย Platform Cisco WebEx การกลับไปทบทวนอีกครั้ง แทบเป็นไปไม่ได้เลยหากทางคณะฯมิได้อัปโหลดวิดีโอการสอนในครั้งนั้น และหากอัปโหลดล่าช้าการทำเช่นนั้นได้ย่อมช้าไปด้วย”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์ และการฝึกงาน
ณฐมน : “ในส่วนของการเรียนออนไลน์ที่ข้อกังวงหลักๆคือกลัวว่าทางคณะฯจะอัปโหลดวิดีโอการเรียนการสอนไม่ทันค่ะเพราะอีกไม่กี่สัปดาห์ ก็ถึงช่วงสอบแล้วจึงกังวลว่าตนเองจะไปย้อนฟังคลิปในส่วนที่อินเตอรเน็ตขัดข้องไม่ทันสอบ”
“ส่วนการสอบออนไลน์กังวลปัญหาทางเทคนิคที่อาจเกิดขึ้นค่ะ เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการสอบที่อาจจะขัดข้องเมื่อถึงช่วงการสอบจริง หรือแม้แต่ความเสถียรของอินเตอร์เน็ตก็ตาม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ย่อมเป็นปัญหาที่ใหญ่มากหากเกิดขึ้นเพราะอาจทำให้ไม่สามารถทำและส่งข้อสอบได้ทันเวลา”
“หากพูดถึงเรื่องการฝึกงานภาคฤดูร้อน โดยส่วนตัวแล้วได้รับเลือกให้ฝึกงานที่ Baker & McKenzie Ltd. ตอนได้รับเลือกฝึกงานดีใจมากๆค่ะ แต่เมื่อมีสถานการณ์เช่นนี้ก็กลายเป็นกังวลแทนว่าทางที่ฝึกงานจะมีการให้ฝึกงานอีกหรือไม่ ทั้งนี้ก็เชื่อว่าอย่างไรแล้วต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของที่ฝึกงานและสถานการณ์ของโรค Covid -19 ทั้งต้องคอยติดตามสถานการณ์ไปก่อน และภาวนาให้สถานะดีขึ้นค่ะ รวมทั้งเตรียมตัวให้พร้อมกับการสอบและการฝึกงานน่าจะดีกว่าการเป็นกังวลค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
ณฐมน : “อย่างแรกคือขอบคุณทางคณะฯมาก ๆ ค่ะที่พยายามหาช่องทางออนไลน์ในการทำการเรียนการสอนให้กับทางนักศึกษา รวมถึงการสนับสนุนปัจจัยทางด้านการศึกษาให้กับนักศึกษาที่อาจจะมีปัญหาทางด้านความพร้อมในการเรียนออนไลน์หรือจากโรค covid-19 แต่อย่างไรก็ตามอยากฝากถึงคณะฯ ในการจัดการระบบเกี่ยวกับการอัปโหลดวิดีโอการเรียนการสอนให้ว่องไวและทั่วถึงมากขึ้น อยากให้คณะฯคำนึงถึงด้วยว่าเมื่อการเรียนเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบออนไลน์ ย่อมทำให้ปัญหาที่นอกเหนือการควบคุมอาจเกิดขึ้นได้ เช่น อินเทอร์เน็ต จึงทำให้นักศึกษาเข้าเรียนตามวันและเวลาตามตารางเรียนไม่ได้ หรือเข้าเรียนไม่ได้ในบางช่วง ไม่อยากให้คณะฯ คิดเพียงว่า เพราะตัวนักศึกษาไม่ต้องการเข้าเรียนตามวันเวลาเรียนเอง นอกจากนี้อยากฝากถึงคณะฯ ในการกำหนดมาตราการที่ชัดเจนในการตรวจสอบการทุจริตในการสอบ เพราะหากมีบุคคลที่ใช้ช่องทางในการสอบออนไลน์เป็นช่องในการทุจริตในการสอบอาจไม่เป็นธรรมกับนักศึกษาอื่น”
ปิยวัฒน์ อินเจริญ (หนึ่ง) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 3
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ปิยวัฒน์ : “ผมว่าเป็นเรื่องที่มีทั้งข้อดี ข้อเสียนะครับ ข้อดี คือ เราได้มีการเรียนรู้ที่สะดวกขึ้น อยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนได้ ซึ่งเหมาะกับความทันโลกสมัยใหม่ ที่เรียนรู้ที่ไหนก็ได้ผ่านโลกอินเทอร์เน็ต ที่ถึงเวลาเรียนเราก็สามารถเรียนรู้ได้เลยจากที่บ้านหรือที่พัก โดยไม่ต้องเข้าไปเรียนในห้องเรียน ครับ ข้อเสีย คือ ไม่ได้เจอเพื่อน ๆ ซึ่งตอนนี้ก็คิดถึงเพื่อนๆเหมือนกันครับ หรือ เจออาจารย์ผู้สอนโดยตรง จุดนี้เลยเหมือนขาดความปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งผมชอบเรียนในห้องเรียนมากกว่า เพราะรู้สึกว่ามีสมาธิได้ดีกว่าเรียนที่บ้าน ที่มีสิ่งเร้ามารบกวนค่อนข้างเยอะกว่าครับ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
ปิยวัฒน์ : “หลังจากที่ได้เรียนออนไลน์มาได้มีโอกาสเรียน ทั้ง Cisco WebEx, Microsoft Teams, Facebook Live และ YouTube Live ครับ แต่ละระบบมีข้อดีข้อเสียต่างกันเลยครับ อย่างระบบ Cisco WebEx มีปัญหาเรื่องความเสถียรมาก ๆ ครับ และเป็นระบบที่มีปัญหาบ่อยเหมือนกัน เช่น ภาพหน้าจอของอาจารย์ผู้บรรยายไม่ขึ้น หรือไม่ได้ยินเสียงของอาจารย์ผู้บรรยาย ที่อยู่ดี ๆ ก็หายไปเลยครับ อีกทั้งไม่สามารถพูดโต้ตอบกันได้สะดวกมากนัก เลยทำให้ค่อนข้างที่จะมีปัญหาอยู่บ่อยครั้ง”
“ต่อมาส่วน Microsoft Teams นั้นค่อนข้างที่จะดีเลยครับ ไม่มีปัญหาในการเรียนเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับระบบ WebEx นะครับ ความเสถียรการโต้ตอบสามารถทำได้ดี เป็นแบบเรียลไทม์กว่า WebEx แต่รูปแบบการใช้ค่อนข้างซับซ้อนเล็กน้อยครับ”
“ส่วน Facebook Live และ YouTube Live เป็นระบบที่ค่อนข้างดีที่สุดเลยครับ เข้าถึงได้สะดวกมาก ๆ แล้วปัญหาเรื่องการอัดเทปวิดีโอก็ไม่มีปัญหาเพราะอาจารย์ผู้บรรยาย พอบรรยายจบไฟล์วิดีโอไลฟ์ก็ยังอยู่ เลยตามดูที่หลังเวลาทบทวนนั้นทำได้ง่ายครับ ทำให้โดยส่วนตัวชอบ platform การเรียนออนไลน์แบบนี้มากที่สุดด้วยครับ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
ปิยวัฒน์ : “โดยส่วนตัวแล้วไม่มีปัญหาเรื่องการเรียนออนไลน์มากเท่าไหร่ครับ ถือว่าสะดวกดี แต่ก็มีบ้างในเรื่องสิ่งเร้ารบกวน ที่ต้องทำสมาธิมากกว่าในห้องเรียน อีกทั้งการอัดเทปที่ผมเองอัดวิดีโอเทปทุกวิชาบรรยายหลักในชั้นปีที่ 3 เผื่อเพื่อนบางคนที่ไม่สะดวกเรียนสด ต้องมาตามเทปทีหลัง จุดนี้ก็มีปัญหาบ้างเรื่องความเสถียรของสัญญาณต้นทางครับ และเรื่องเอกสารประกอบการเรียนที่ต้องถ่ายเอกสารเองที่ค่อนข้างเยอะเหมือนกันในแต่ละรายวิชา ก็เป็นอีกข้อจำกัดหนึ่งครับ ซึ่งโดยปกติคณะฯจะเป็นผู้จัดทำให้ ส่วนนี้เลยต้องเสียงบประมาณไปมากเหมือนกันครับ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์ และการฝึกงาน
ปิยวัฒน์ : “ข้อกังวลการเรียนก็จะมีเรื่องเทปบันทึกการสอนที่อาจารย์ผู้บรรยายขอเป็นการอัดวิดีโอสอน บางวิชายังไม่ได้อัปโหลดเพราะใกล้สอบแล้ว ยังมีชั่วโมงการบรรยายเหลือที่ยังไม่ได้เรียนเลยเป็นข้อกังวลหนึ่งในเรื่องการเรียนครับ ส่วนการสอบก็กังวลในเรื่อง เหตุสุดวิสัย ครับที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ไฟดับ อินเทอร์เน็ตล่ม หรือการส่งไฟล์ข้อสอบมีปัญหา อันนี้ก็เป็นอีกข้อกังวลหนึ่งในเรื่องการสอบครับ เพราะเป็นเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้โดยที่คาดเดาไม่ได้เลยครับ
ส่วนการฝึกงานตอนนี้มีข้อกังวลอยู่เหมือนกันครับ ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ปัจจุบันดูเหมือนว่าจะดีขึ้นแต่ก็ยังประมาทไม่ได้ ทำให้การฝึกงานทางหน่วยที่รับฝึกงานเองก็ต้องประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงเช่นกันทำให้ไม่แน่ไม่นอน เพราะยังไม่รู้ว่าจะมีการฝึกงานอยู่หรือไม่ หากไม่ได้ฝึกก็น่าเสียดายอยู่เหมือนกันครับ เสียโอกาสในการฝึกประสบการณ์ การเจอสภาพแวดล้อมจริงในการทำงาน ครับ
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
ปิยวัฒน์ : “อยากให้ทางคณะฯ ดำเนินการเรื่องเทปบันทึกการสอนของอาจารย์ผู้บรรยายครับ ให้ทันช่วงก่อนสอบ และเรื่องการป้องกัน และการช่วยเหลือนักศึกษาที่ประสบปัญหาทั้งการเรียน และการสอบให้รัดกุมยิ่งขึ้น และขอขอบพระคุณคณะผู้บริหารที่ได้ให้ความช่วยเหลือนักศึกษาด้านสวัสดิการที่ดีมาโดยตลอด และขอเป็นกำลังใจให้คณะฯ และคณาจารย์ทุกท่าน ในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด 19 ครั้งนี้ให้ผ่านไปได้ด้วยดีครับ”
นนทวัตน์ แสนหาญ (อั้ม) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 2
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
นนทวัตน์ : “การปรับการเรียนจากที่เรียนปกติในห้องมาเป็นระบบออนไลน์นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากหลังจากกลางภาค ซึ่งส่งผลต่อการปรับตัวของนักศึกษาอยู่เหมือนกันครับ แต่การเรียนทั้งสองแบบก็มีข้อดีและข้อเสียอยู่บ้างพอสมควร ในส่วนตัวคิดว่าการเรียนในรูปแบบปกติที่มีการเรียนการสอนในห้องนั้นจะเป็นการเรียนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการเรียนออนไลน์ เพราะว่า การเรียนในห้องจะมีสภาพแวดล้อมข้างตัวที่กระตุ้นให้เราสามารถเรียนได้อย่างเต็มที่ครับ ทั้งอาจารย์และนักศึกษาเองก็สามารถโต้ตอบกันได้โดยรู้ถึงสีหน้าอาการของนักศึกษาได้ครับ เช่น อาจจะกำลังงงกับปัญหา หรือกำลังคิดคำตอบ แต่สำหรับการเรียนระบบออนไลน์นั้น บางระบบก็สามารถที่จะโต้ตอบได้เหมือนกันแต่ก็อาจมีข้องจำกัดบางประการบางเล็กน้อยครับ เช่น ถ้าเป็นระบบ Facebook Live การถามตอบก็อาจไม่ได้เห็นหน้ากัน และไม่ได้ตอบในทันทีกับการถาม หรือถ้าเป็นระบบ WebEx อันนี้จะดีหน่อย เพราะ จะสามารถโต้ตอบได้ทันทีระหว่างอาจารย์ หรือเปิดหน้าให้เห็นก็ได้ แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ก็จะไม่เปิดครับ ด้วยเหตุผลบางประการครับ (หัวเราะ)”
“แต่การเรียนระบบออนไลน์ก็มีความสะดวกมากพอสมควรครับ เพราะนักศึกษาจะเลือกเรียนที่ไหนก็ได้ หรือจะย้อนกับมาดูตอนไหนก็ได้ เนื่องจากการเรียนออนไลน์จะมีการบันทึกวิดีโอเก็บเอาไว้ครับ แต่ระบบออนไลน์ก็มีข้อเสียอยู่บ้างครับโดยเฉพาะในเรื่องของสัญญาอาจจะไม่เสถียรจนทำให้กระตุกหรือสะดุดไปบ้างครับ และการเรียนออนไลน์อาจจะต้องให้สมาธิสูงกว่าปกตินิดหน่อยครับ แต่โดยรวมก็สามารถที่จะปรับตัวได้ครับกับสถานการณ์แบบนี้”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
นนทวัตน์ : “การเรียนออนไลน์ในครั้งที่ผ่าน ผมได้ให้ระบบ Webex, Facebook Live, Microsoft Teams, และ Youtube ในส่วนตัวผมจะชอบ Webex และ Microsoft Teams มากกว่า เพราะ สองระบบนี้สามารถที่จะโต้ตอบกับอาจารย์ได้ทันทีครับหากมีคำถามหรือข้อสงสัย หรือตอบคำถามครับ และสามารถบันทึกวิดีโดไว้ดูย้อนหลังได้ครับ ส่วน Facebook Live ก็เป็นระบบที่ดีเหมือนกันครับสามารถโต้ตอบกับอาจารย์ได้เหมือนกันแต่ก็อาจจะมีช่วงเวลาที่รอพิมพ์คำตอบบางนิดหน่อยครับ และก็มีการบันทึกไว้ในระบบ Facebook Live อยู่แล้วครับ และในส่วนของ Youtube การเรียนที่ผ่านมาจะเป็นรูปแบการอัดวิดีโอครับไม่ได้เป็นการสอนแบบถ่ายทอดสดครับ ซึ่งมันก็อาจจะไม่สามารถโต้ตอบกับอาจารย์ได้ครับ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
นนทวัตน์ : “ปัญหาในการเรียนระบบออนไลน์ก็มีอยู่บางพอสมควรครับ โดยเฉพาะเรื่องความเสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ตครับ ซึ่งอาจจะมีหลุดหรือกระตุกหรือสะดุดไปบ้างครับ นอกจากนี้ก็เป็นสภาพแวดล้อมรอบตัวครับ เพราะ การเรียนออนไลน์จะต่างกับการเรียนที่ห้องเรียนครับ เพราะสภาพห้องเรียนป็นสิ่งที่ช่วยเอื้ออำนวยแก่การเรียนครับโดยเฉพาะกับความรู้สึกที่ว่าเราจะต้องตั้งใจเรียนครับ พอเป็นระบบออนไลน์ก็ต้องใช้สมาธิอยุ่บ้างพอสมควรในการเรียนครับ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
นนทวัตน์ : “เรื่องการสอบในสถานการณ์ช่วงนี้นักศึกษาหลายคนซึ่งรวมถึงผมเองก็มีความวิตกเช่นกันครับ ด้วยความกังวลกับเรื่องการใช้ระบบออนไลน์ในการสอบถ้าหากมีปัญหาติดขัดระหว่างนั้นจะทำอย่างไร เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรอาจจะมีปัญหาส่งข้อสอบไม่ทัน หรือหากคอมพิวเตอร์เกิดค้างขึ้นมาในระหว่างที่สอบจะแก้ปัญหาอย่างไร รวมถึงตัวข้อสอบเองที่การสอบจะเป็นการสอบแบบ Open Book ซึ่งข้อสอบจะยากมากแค่ไหน เพราะข้อสอบอาจจะต้องเป็นเชิงวิเคราะห์ที่มากขึ้น และการเปิดหนังสือ หรือเอกสารประกอบคำบรรยายเองก็อาจทำให้เสียเวลาได้ครับ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
นนทวัตน์ : “ในเรื่องการสอบครับอยากให้ทางคณะมาตรการที่รัดกุมหากเกิดปัญหา และเรื่องการทุจริตในการสอบครับ ที่อาจมีคนบางคนแอบนำข้อสอบไปให้คนอื่นทำให้ หรือการถามคนอื่นครับ เพื่อให้การสอบเป็นไปโดยโปร่งใส และเท่าเทียมกันทุกคน”
“สุดท้ายนี้สิ่งที่ผมอยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน และคณะบริหารทุกคน คือ คำขอบคุณครับ ต้องขอขอบคุณอาจารย์ และทางคณะฯ เป็นอย่างมากที่ให้การดูแลนักศึกษาเป็นอย่างดีซึ่งในช่วงนี้อาจจะทำงานหนักบาง พวกผมก็ขอเป็นกำลังใจให้ครับ เราต้องผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เราต้องชนะ”
กชกร กฤชธนากร (เดียร์) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 3
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
กชกร : “ฟีลในการเรียนมันคนละความรู้สึก ทำให้รู้สึกว่าจะเรียนหรือไม่เรียนในตอนนั้นก็ได้ไว้ไปตามคลิปเอา อาจทำให้เกิดการดองเทปได้ ต่างกับเรียนในคลาส”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
กชกร : “Facebook ดีไม่มีปัญหา ไม่เกิดการกระตุกเสียงไม่ออก WebEx เกิดปัญหาบ่อยในเสียงไม่ออก ภาพกระตุก เข้าห้องเรียนไม่ได้ Teams ดี เว็บพร้อมสำหรับการเรียน
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
กชกร : “อาจจะลำบากสำหรับคนที่ไม่มีอุปกรณ์ ถ้าใช้โทรศัพท์บางคนเล็กเกินไปไม่เหมาะในการดู บางคนมีข้อจำกัดในเรื่องเงิน เรื่องการยืมโน้ตบุ๊กบางคนก็ไม่ได้ ทำให้เพื่อนหลายคนต้องซื้อไอแพ็ดเพื่อการเรียน แต่สำหรับตัวเองไม่มีปัญหาอะไรเรื่องอุปกรณ์”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
กชกร : “น่าจะเป็นเรื่องสอบ เพราะตอนส่งข้อสอบบางทีอาจมีปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ต เรื่องการโกงในการเปิดหนังสือ อาจมีเลี่ยงไม่ได้ แต่ปกติในการเขียนในห้องเวลา 3 ชั่วโมงก็ไม่ค่อยพออยู่แล้ว บางคนอาจใช้เวลาเปิดก็ไม่ทัน อาจทำให้อาจารย์ออกสอบยากในการกันการเปิดหนังสือดู”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
กชกร : “สู้ ๆ ค่ะ อาจารย์ เข้าใจว่าอาจารย์บางคนอาจไม่ถนัดในสื่อออนไลน์”
ทักษ์ดนัย เรืองศรี (โอม) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 3
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ทักษ์ดนัย : “พอสถานการณ์เปลี่ยนเป็นการเรียนที่บ้านหรือหอพักทำให้ต้องจัดตารางเวลาใหม่ให้ดีเนื่องจากเส้นแบ่งระหว่างการเดินทางเพื่อไปเรียนกับการพักผ่อนเมื่ออยู่บ้านหายไป หากจัดตารางแบ่งระหว่างการเรียนกับการผักผ่อนไม่สมดุลกันก็อาจทำให้เสียสุขภาพและเกิดความเครียดได้จึงไม่ควรเรียนในหรือพักผ่อนมากเกินในแต่ละวัน ในสถานการณ์เช่นนี้รู้สึกว่าการมีวินัยในตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ เพราะบางครั้งการกลับไปอยู่ที่บ้านอาจทำให้เราพักผ่อนมากจนเกินไปจนลืมว่าเรายังอยู่ในช่วงเปิดเทอมและใกล้สอบอีกด้วย จึงควรจัดแบ่งเวลาให้ดีและควรทำตามอย่างเคร่งครัด”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
ทักษ์ดนัย : “Facebook Live เป็น Platform ที่ชอบมากที่สุด เนื่องจากเมื่อไลฟ์จะทำให้สามารถยังสื่อสารกับอาจารย์ผู้สอนได้และเมื่อไลฟ์จบแล้วก็จะบันทึกไว้อัติโนมัติอีกทั้งเมื่อมีการสร้างกลุ่มของในแต่ละวิชาไว้ก็สามารถที่จะตามไปทบทวนได้ง่ายทั้งวิดีโอการสอนและเอกสารต่างๆก็รวมอยู่ในที่เดียวง่ายต่อการค้นหา และเมื่อมีการไลฟ์แต่ละครั้งก็จะขึ้นแจ้งเตือนตลอดทำให้ยากที่จะลืมว่ามีการสอน แต่มีข้อเสียตรงที่ไม่สามารถเร่งความเร็วของวิดีโอที่บันทึกไว้ได้”
“YouTube มีข้อดีตรงที่บันทึกวิดีโอไว้แล้วและสามารถเร่งความเร็วของวิดีโอได้ในวิชาที่คิดว่าอาจารย์พูดช้าเกินไป แต่มีข้อเสียตรงที่ไม่สามารถตอบโต้กับผู้สอนได้ในทันที จึงค่อนข้างไม่สะดวกเมื่อมีข้อสงสัยระหว่างการเรียน”
“WebEx มีข้อดีตรงที่สามารถสื่อสารตอบโต้กับผู้สอนได้ทันทีและสามารถเร่งความเร็ววิดีโอที่บันทึกไว้แล้วได้ แต่มีข้อเสียตรงที่ไม่มีการบันทึกอัติโนมัติอีกทั้งวิดีโอที่บันทึกไว้จะอัปโหลดช้ากว่าการใช้ Facebook Live และต้องกดเข้าผ่านลิ้งค์ที่ทางคณะนำมาลงในบล็อกของคณะ ซึ่งในความรู้สึกส่วนตัวเห็นว่ามีความสะดวกน้อยกว่าการสร้างกลุ่มแยกของแต่ละวิชาไว้ใน Facebook ซึ่งง่ายต่อการค้นหามากกว่า”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
ทักษ์ดนัย : “เนื่องจากผมไม่มีไอแพ็ดที่สามารถใช้กับ Apple Pencil ได้ ทำให้การเรียนต้องเรียนผ่านเอกสารเป็นหลักและเมื่อไม่สามารถใช้เอกสารฟรีซึ่งเป็นหนึ่งใน facility ของมหาลัยได้ ทำให้มีรายจ่ายในการปรินท์เอกสารประกอบการเรียนเพิ่มขึ้นมาพอสมควร และเนื่องจากผมไม่มีเครื่องปรินท์ทำให้ในทุกวันที่มีการเรียนการสอนผมต้องออกไปปรินท์เอกสารประกอบการสอนที่ร้านถ่ายเอกสารอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง และก็มีบางช่วงที่ร้านถ่ายเอกสารปิดหนี Covid-19 ทำให้ไม่สามารถปรินท์เอกสารได้เลยก็มี อีกทั้งเมื่อเป็นการเรียนอยู่ที่บ้านตลอดเวลาทำให้ค่าไฟขึ้นมากพอสมควรเพราะต้องมีการชาจโทรศัพท์บ่อยขึ้นเพื่อใช้เรียน ต้องมีการเปิดไฟ เปิดพัดลมตลอดทั้งวัน”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์ และการฝึกงาน
ทักษ์ดนัย : “ในเรื่องการสอนนั้นทางคณะฯมีการจัดการที่ดีผมจึงไม่กังวลเท่าไหร่ แต่จะมีความกังวลในเรื่องการสอบออนไลน์เสียมากกว่าเนื่องจากเป็นการวัดผลรูปแบบใหม่ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามดุลยพินิจของอาจารย์ผู้สอนในแต่ละวิชาว่าจะเลือกใช้การวัดผลอย่างไรซึ่งอาจทำให้นักศึกษาบางท่านอาจต้องเตรียมตัวสำหรับการสอบหลายรูปแบบพร้อมกันในเทอมนี้ ซึ่งผมมองว่าอาจเป็นการสร้างภาระที่มากเกินไป ส่วนการวัดผลโดยการสอบซึ่งในหลายวิชาได้เลือกใช้เป็นส่วนใหญ่นั้นค่อนข้างเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างดีสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่มีความกังวลว่าความเครียดและความกดดันจากการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบันอาจทำให้ไม่สามารถแสดงศักยภาพในการวัดผลได้เท่าที่ควรดังเช่นในสถานการณ์ปกติ”
“สำหรับการฝึกงาน ในทีแรกผมจะได้ไปฝึกงานที่ Lawfirm แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ผมอยากที่ไปจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากงานนั้นดู แต่ในปัจจุบันทางที่ฝึกงานได้แจ้งมาว่าการฝึกงานถูกยกเลิกเพราะสถานการณ์ Covid-19 ผมเลยค่อนข้างกังวลว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นในเวลาอันใกล้แล้วผมจะมีโอกาสได้ไปฝึกไหม หรือหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ในปีหน้าผมจะมีโอกาสได้ฝึกไหม แต่ตอนนี้กำลังคิดอยู่ว่าหากไม่ได้ไปฝึกแน่ ๆ ในปีนี้ คงจะอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ ก.พ. และ ตั๋วทนายแทนครับ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
ทักษ์ดนัย : “เข้าใจว่าทางคณะนั้นต้องการรักษามาตรฐานของการวัดผลไว้ให้ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติมากที่สุดซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี อีกทั้งทางคณะฯและอาจารย์ผู้สอนก็ได้พยายามช่วยเหลือนักศึกษาอย่างเต็มที่ในทุกด้าน ซึ่งผมชื่นชมในส่วนนี้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามผมยังมีความคิดว่าในสถานการณ์เช่นนี้ควรยกผลประโยชน์ให้แก่นักศึกษามากกว่าการรักษามาตรฐานการวัดผลของคณะ เนื่องจากสำหรับนักศึกษาบางท่านนั้นสถานการณ์เช่นนี้อาจไม่ได้ส่งผลแค่ปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงการสอนการวัดผลและการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่อาจส่งผลต่อชีวิตประจำวันปกติและครอบครัวของนักศึกษาด้วย จึงทำให้นักศึกษามีความกดดันมากว่าในสถานการณ์ปกติอย่างมากและอาจทำให้ไม่สามารถแสดงศักยภาพในการวัดผลได้เท่าที่ควร ซึ่งจะทำให้ขัดกับเจตนารมณ์ของคณะที่ต้องการรักษามาตรฐานการวัดผลไว้อยู่ดีเพราะนักศึกษาไม่อาจแสดงศักยภาพได้เช่นในสถานการณ์ปกติ ในข้อสอบที่ใช้วัดผลผมจึงอยากให้ทางอาจารย์ผู้สอนและคณะฯคำนึงถึงจุดนี้มาก ๆ ด้วย”
“หรือหากจะดีกว่านั้นผมมีความคิดเห็นว่าควรให้ตัวเลือกแก่นักศึกษาอย่างเปิดกว้างมากมาขึ้น อาทิเช่น หากนักศึกษาคนใดที่ไม่พร้อมหรือไม่ประสงค์จะสอบวัดผลเนื่องจากปัญหาต่างๆทางคณะก็ควรอนุญาตให้ทำได้และให้คะแนนในภาคการศึกษานี้โดยนำคะแนนจากภาคการศึกษาก่อนๆมาคำนวณเป็นคะแนนเฉลี่ยและนำมาเป็นคะแนนในภาคการศึกษานี้ ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นการยกประโยชน์ให้แก่นักศึกษาผู้ที่รักษามาตรฐานการเรียนของตนมาโดยตลอดและพอใจกับคะแนนของตนแล้วและสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มคะแนนของตนเองคณะก็ให้สอบตามปกติได้ โดยข้อสอบควรออกโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปในข้างต้น”
“และอีกประการหนึ่งผมอยากให้ทางคณะพิจารณาถึงเรื่องการคืนค่าเทอมบางส่วนให้แก่นักศึกษาโดยเร็ว เนื่องจากนักศึกษาไม่ได้ใช้ facility บางส่วนของทางมหาลัยแล้ว แต่ตอนนี้นักศึกษาต้องออกค่าใช่จ่ายในส่วนนั้นเอง จึงอยากให้ทางคณะคืนเงินเพื่อให้นักศึกษาได้นำเงินไปใช้จ่ายในส่วนนั้น”
ภาพโดย ดาว, ใบเฟิร์น, แจน, หนึ่ง, อั้ม, เดียร์, โอม
เรียบเรียง KK