เราได้ไปพูดคุยกับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 2 และ 3 เกี่ยวกับความรู้สึกในการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิดมาแล้ว วันนี้ เรามีนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ศูนย์รังสิต จำนวน 7 คนมาพูดคุยถึงความรู้สึก ปัญหา ข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ ข้อกังวลเกี่ยวกับการสอบออนไลน์ และหลังสำเร็จการศึกษา
บุษรินทร์ บุญประภากร (เชอรี่) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 4
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
บุษรินทร์ : “ช่วงสัปดาห์แรกยังค่อนข้างกังวลค่ะ เนื่องจากเป็นช่วงที่คณะปรับรูปแบบการเรียนการสอนและการวัดผลใหม่ทั้งหมด การจัดการยังไม่เข้าที่เข้าทางทำให้บางวิชาไม่มีข้อมูลจากทางคณะว่ามีบรรยายหรือไม่ และเรื่องเวลาในการลงคลิปการเรียนการสอนย้อนหลังค่ะ ส่วนในสัปดาห์ต่อมาเมื่อเริ่มปรับตัวได้ก็รู้สึกโอเคขึ้นค่ะ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
บุษรินทร์ : “โดยส่วนตัวได้เรียนอยู่ 2 แบบค่ะ คือเรียนผ่าน Webex กับ Facebook Live ซึ่งการเรียนผ่าน Webex นั้น มีข้อดีคือ นักศึกษากับอาจารย์สามารถสื่อสารกันได้โดยตรงคือเปิดกล้องกับไมค์ หรือแชทในแอพเพื่อตอบปัญหาเกี่ยวกับการเรียนได้ค่ะ ส่วนข้อเสียคือ นักศึกษาไม่สามารถกดหยุด หรือ ฟังซ้ำในส่วนที่ไม่เข้าใจได้ในทันที ต้องรอทางคณะอัพคลิปการสอนลงบล็อคคณะค่ะ ส่วน Facebook Live มีข้อดีคือ ขณะที่อาจารย์สอน นักศึกษาสามารถกดหยุดเพื่อจดหรือเลื่อนกลับไปฟังซ้ำได้ในทันที และสามารถคอมเมนต์เพื่อถาม-ตอบกับอาจารย์ได้และตัวผู้สอนสามารถกดเซฟ Live เพื่อให้ผู้เรียนได้ทวนเนื้อหาซ้ำหรือเรียนตามหลังได้ทันทีที่จบไลฟ์ แต่มีข้อเสียคือไม่มีกล้องและไมค์ไว้ถาม-ตอบคำถามกับผู้สอนค่ะ ซึ่งส่วนตัวชอบการเรียนผ่าน Facebook Live มากกว่าค่ะ เพราะสะดวก ไม่ต้องคอยใส่รหัสในการเข้าเรียนแต่ละครั้งที่จะแตกต่างกันในแต่ละวิชาและครั้งที่เรียนเหมือนใน Webex และเราสามารถดูย้อนหลังได้ทันที ทั้งยังไม่เป็นภาระของทางคณะที่จะต้องคอยมาอัพคลิปย้อนหลังให้ด้วยค่ะ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
บุษรินทร์ : “โดยส่วนตัวพบเจอปัญหาอยู่สองอย่างค่ะ คือในเรื่องคลิปการเรียนการสอนที่ทางคณะจะลงให้ในภายหลังกับเรื่องการเข้าถึงเอกสารบางวิชา ซึ่งปัญหาข้อแรกคือในบางวิชาผู้สอนไม่ได้บันทึกคลิปสอนและส่งให้ทางคณะค่ะ ทำให้นักศึกษาที่ไม่สะดวกเรียนตามเวลาปกติที่สอนเนื่องจากมีข้อจำกัดต่าง ๆ ไม่สามารถเข้าเรียนตามในภายหลังได้ค่ะ อยากให้แก้ไขโดยการกำชับผู้สอนเพิ่มขึ้นในการกดบันทึกคลิป หรือเปลี่ยนมาใช้วิธีการไลฟ์ในกลุ่มปิดของรายวิชานั้น ๆ ซึ่งผู้สอนสามารถเซฟ Live นั้นได้ ทำให้สะดวกกับทุกฝ่ายค่ะ ลดภาระทางคณะในเรื่องการลงคลิปการสอนย้อนหลังและการอัพโหลดไฟล์เอกสารให้นักศึกษา หรือในกรณีที่มีการลงลิงก์คลิปสอนให้ในภายหลังแต่ไม่มีการให้ข้อมูลว่าจะลงให้ในวันไหน อยากให้แก้ไขโดยการกำหนดไว้เลยว่า วิชานี้ทางคณะจะอัพคลิปให้ภายในวันต่อมาหรืออีกสองวันต่อมา ทำให้นักศึกษาลดความกังวลลงในเรื่องการแบ่งเวลาเพื่อเรียนตามหลังได้ค่ะ”
“ส่วนปัญหาข้อที่สอง เอกสารการเรียนที่ทางคณะลงลิงก์ให้ในบล็อกคณะ บางวิชาไม่สามารถโหลดได้ค่ะ ทำให้รู้สึกเรียนได้ไม่เต็มที่เนื่องจากกังวลกับเนื้อหาที่เรียนเพราะกลัวจดเนื้อหาไม่ครบค่ะ ในกรณีที่ไม่สามารถกดหยุดเพื่อจดได้ เช่น ใน Webex หรือไม่มีการลงคลิปย้อนหลังค่ะ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์ และหลังสำเร็จการศึกษา
บุษรินทร์ : “ในเรื่องการเรียน อาจารย์ทุกท่านเร่งปรับตัวสำหรับการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป แต่คงไว้ซึ่งรูปแบบการสอนเฉพาะตัวที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาสาระครบถ้วนและมุขตลกคลายเครียดให้นักศึกษาทำให้ส่วนตัวไม่มีความกังวลค่ะ ส่วนเรื่องการสอบออนไลน์ ค่อนข้างตื่นเต้นและกังวลเนื่องด้วยรูปแบบการสอบแบบใหม่ ทำให้ต้องอ่านหนังสือมากขึ้นและฝึกทำข้อสอบเยอะขึ้นค่ะ”
“การทำงาน เรียนต่อก็กังวลทุกเรื่องเลยค่ะ เพราะตอนนี้รู้สึกว่าทุก ๆ เรื่องเราไม่สามารถประมาทได้เลย ทั้งเรื่องการเรียนและการสมัครงานในอนาคต และเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันที่เศรษฐกิจไม่ดี หลาย ๆ องค์กรมีการระงับการจ้างหรือการประกาศรับพนักงานเพิ่ม ทำให้คาดว่าการหางานในอนาคตจะยากกว่าเดิมหลายเท่าตัวเนื่องจากตำแหน่งงานที่เปิดรับน้อยกว่าจำนวนคนค่ะ โดยส่วนตัวเมื่อเรียนจบจะสมัครเข้าเรียนในชั้นเนติบัณฑิตต่อค่ะ ส่วนงานก็ค่อย ๆ หาไปเรื่อย ๆ ระหว่างเรียนเนติ์ค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
บุษรินทร์ : “สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลยคืออาจารย์ทุกท่าน เจ้าหน้าที่คณะทุกคน รวมถึงผู้บริหารของคณะไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งแก้ไขปรับปรุงระบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์ในขณะนี้และใส่ใจกับปัญหาของนักศึกษาจริง ๆ จากโครงการต่าง ๆของทางคณะ และมีการติดตามดูแลนักศึกษาที่ไม่ใช่แค่เรื่องเรียน ทำให้เราเห็นถึงความตั้งใจทุ่มเทในการทำงานของทุกคนจริง ๆ ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ”
ณัฐกานต์ เวชสิทธิ์ (อาย) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 4
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ณัฐกานต์ : “ ตอนแรกที่รู้ว่าจะไม่มีการเรียนการสอนแบบปกติตลอดจนจบปีการศึกษา เนื่องจากสถานการณ์โควิด และต้องย้ายมาเรียนออนไลน์แทน ตอนนั้นรู้สึกเสียใจมากๆค่ะ เนื่องจากว่าตอนนี้เรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 แล้ว จากที่ตอนแรก เวลาที่เราจะได้ใช้ในช่วงมหาลัยกำลังจะค่อยๆหมดไป กลายเป็นว่าช่วงเวลานั้นถูกตัดจบไปเลย ทั้งเสียดายเวลาที่จะได้ใช้กับเพื่อน ๆ เสียดายที่ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้เข้าเรียน ไม่ได้เรียนตัวต่อตัวกับอาจารย์หลาย ๆ ท่าน ตอนนี้อยากกลับไปเข้าห้องเรียนเลยค่ะ (หัวเราะ) แต่ก็เข้าใจสถานการณ์ดีค่ะ ก็ต้องทำใจยอมรับ แต่ก็แอบเสียดายช่วงเวลาที่หายไปอยู่ดี”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
ณัฐกานต์ : “จากการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมา ปกติจะเรียนผ่านทางแอพ Webex กับ Microsoft Teams ค่ะ ในส่วนของแอพ Webex เป็นแอพเรียนออนไลน์ที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันดี เพราะอาจารย์หลาย ๆ ท่านเลือกสอนผ่านแอพนี้ โดยส่วนตัวคิดว่าข้อดีของแอพนี้คือการที่เราสามารถเห็นหน้าอาจารย์ได้ และเห็นสไลด์ของอาจารย์ไปได้ด้วยในเวลาเดียวกันค่ะ มีความรู้สึกว่ามันใกล้เคียงกับการเรียนกับอาจารย์ตัวต่อตัวมากค่ะ และยังมีช่องแชทรวม ให้สามารถส่งข้อความไปสอบถามอาจารย์แบบโต้ตอบกันทันทีได้เลย ในส่วนนี้คิดว่าดีมาก ๆ ค่ะ เพราะเวลามีเพื่อน ๆ ที่มีข้อสงสัยตรงไหน แล้วถามอาจารย์ไป เราก็ได้รู้คำตอบตรงนั้นด้วยเลย หรือถ้าเรามีข้อสงสัยอะไร เพื่อน ๆ ก็จะได้รู้คำตอบตรงนี้ด้วยเลย ส่วนข้อเสียคือบางทีเพื่อน ๆ ที่เข้ามาเรียนด้วยลืมปิดไมค์ แบบนี้ก็มีเสียงแทรกเข้ามาบ้าง แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนขนาดนั้นค่ะ (หัวเราะ) แค่อาจจะรู้สึกว่ามันรบกวนหน่อย ๆ แต่เนื่องจากแอพมีช่องแชทรวม เพื่อน ๆ ก็เลยช่วยเตือนกันได้ค่ะให้ปิดไมค์ เพราะส่วนใหญ่เพื่อนที่เปิดไมค์จะไม่รู้ตัวว่ากำลังเปิดไมค์อยู่ หรือบางทีก็ปิดไม่เป็น ส่วนตัวคิดว่าก็ตลกดีค่ะ เพราะพอเพื่อนรู้ เพื่อนก็ให้ความร่วมมือ รีบปิดไมค์ พิมพ์มาขอโทษในแชทรวม ก็ตลก ๆ ดี (หัวเราะ)”
“ส่วนในแอพ Microsoft Teams ส่วนตัวคิดว่าแอพนี้โอเคมากค่ะ เพราะตอนที่เรียนวิชาหลักชีพทางแอพนี้ อาจารย์สามารถใส่ Assignment ให้ทำแบบออนไลน์ได้เลย และแอพมีช่องแชทรวมแบบโต้ตอบกันได้ทันทีเหมือนแอพ Webex ค่ะ แต่ข้อเสียคือตรงที่แอพนี้เหมือนจะไม่สามารถเปิดสไลด์อาจารย์ ควบคู่กับให้เห็นหน้าอาจารย์ไปด้วยได้”
“ทั้งนี้ ข้อเสียอีกอย่างของการเรียนออนไลน์ที่คิดว่าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุก Platform คือความเสถียรของอินเทอร์เน็ตค่ะ เพราะบางทีเรียน ๆ อยู่ก็มีช่วงที่เสียงขาดหายไป หรือค้างไป บางทีเกิดเน็ตหลุดบ้าง เป็นต้นค่ะ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
ณัฐกานต์ : “ปัญหาในการเรียนออนไลน์ของตัวเอง คิดว่าน่าจะเป็นที่สถานที่ค่ะ เพราะพอเราอยู่บ้านสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ก็ไม่เอื้ออำนวยให้เรียนหนังสือ ต่อให้บางทีนั่งเรียนคนเดียวในห้องนอน แต่พออยู่ในห้องนอนมันก็ทำให้เกิดความรู้สึกไม่แอคทีฟ ปัญหาอีกอย่างคงเป็นเรื่องของระบบอินเทอร์เน็ตค่ะ เหมือนปัญหาที่กล่าวไปข้างต้นคืออาจมีเน็ตค้าง เน็ตหลุดบ้างในบางครั้ง ทำให้เรียนได้ไม่ลื่นไหล หรือบางทีก็ตกหล่นเนื้อหาในส่วนนั้นไปบ้าง แต่ไม่ได้ถึงกับทำให้เรียนไม่รู้เรื่องค่ะ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
ณัฐกานต์ : “ส่วนตัวกังวลมาก ๆ ค่ะเกี่ยวกับการสอบออนไลน์ ทั้งนี้เพราะเราไม่เคยสอบแบบนี้ด้วย กลัวว่าจะเกิดข้อผิดพลาดในการสอบ เลยค่อนข้างจะกังวลเป็นพิเศษ กลัวว่าจะตกหล่นตรงไหน กลัวส่งไม่ทัน กลัวเกิดข้อผิดพลาดทางเทคนิคอะไรแบบนี้มาก ๆ ค่ะ ตอนนี้ก็เลยพยายามหาอ่านทั้งจากรีวิวของเพื่อนที่เคยสอบออนไลน์มาก่อน และประกาศจากคณะเกี่ยวกับเรื่องการสอบออนไลน์ทั้งหมดเลยเพื่อเตรียมตัวสำหรับการสอบ”
“และในฐานะที่เป็นนักศึกษาปี 4 ที่กำลังจะจบการศึกษาในปีการศึกษานี้ สิ่งที่กังวลหลักๆน่าจะเป็นเรื่องการสมัครเข้าทำงานค่ะ เพราะในสถานการณ์แบบนี้ หลายๆอย่างรวมถึงเศรษฐกิจก็แย่ลง ก็เลยเป็นกังวลถึงการสมัครเข้าทำงานในอนาคต กลัวว่าการสมัครงานจะเป็นไปได้ยากมากขึ้น เพราะตอนแรกเราวางแผนไว้ว่าเมื่อเรียนจบแล้วอยากเรียนต่อและทำงานควบคู่กันไปด้วย แต่พอมาเกิดสถานการณ์แบบนี้ก็คงจะต้องวางแผนอนาคตตัวเองใหม่ ซึ่งยากมากค่ะ เพราะไม่มีอะไรที่สามารถบอกได้เลยว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นเรื่องหลักๆที่กำลังเป็นกังวลก็เลยเป็นเรื่องการสมัครงานค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
ณัฐกานต์ : “ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดมา เห็นได้ว่าทางคณะได้มีมาตรการช่วยเหลือนักศึกษาเยอะมาก ๆ ทั้งในเรื่องของทุนสำหรับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ และเรื่องของเครื่องมือที่ใช้สำหรับการเรียนการสอน รู้สึกปลาบปลื้มใจมาก ๆ ค่ะที่คณะให้การสนับสนุนนักศึกษาอย่างเต็มที่ และอยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอนทุกท่าน ขอบคุณท่านอาจารย์ทุกท่านค่ะที่พยายามถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษาอย่างดีที่สุดแม้ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ ขอบคุณที่ให้การสนับสนุนนักศึกษาในด้านการเรียนต่อไปและช่วยปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอน ขอให้อาจารย์ทุกท่านสุขภาพแข็งแรงค่ะ และอยากฝากถึงทางพี่ ๆ เจ้าหน้าที่คณะ ที่มีส่วนร่วมในการปรับปรุงรูปแบบเรียนการสอน คอยดูแลระบบ ดูแลปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นต่าง ๆ ขณะที่อาจารย์กำลังสอนออนไลน์ ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรงเช่นกันค่ะ”
กวิสรา ร่วมญาติ (กุ๊งกิ๊ง) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 4
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
กวิสรา : “การเรียนในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้นักศึกษาจะต้องมีสมาธิมากกว่าเดิมเป็นอย่างมาก เพราะการที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้เราไม่ได้ออกไปคลาดเครียด และการติดตามข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาด ก็อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ ทั้งยังต้องประคองการศึกษาให้ได้ดีมีประสิทธิภาพเหมือนสถานการณ์ปกติอีก เหนื่อยค่ะ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
กวิสรา : “รู้สึกกว่าอาจารย์ในคณะมีความพยายามอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษามากๆ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้เลยค่ะ แต่จะดีกว่านี้ถ้าใช้ platform เดียวกันในทุกกระบวนวิชาเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและการเข้าถึงค่ะ ป้องกันการสับสนที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้โปรแกรม”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
กวิสรา : “ส่วนตัวคิดว่าปัญหาของการเรียนออนไลน์คือสมาธินี่แหละค่ะ การอยู่บ้านทำให้ไม่โฟกัสเหมือนในห้องเรียนได้มากเท่าที่ควร”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์ และหลังสำเร็จการศึกษา
กวิสรา : “การเรียนจะไม่ค่อยกังวลเพราะมักจะมีการอัดบันทึกเทปไว้เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่จะกังวลเป็นพิเศษในเรื่องการสอบ เพราะถึงเวลานั้นไม่รู้จะหันไปปรึกษาใคร และปัญหาทางเทคนิคมันเป็นเรื่องที่ไม่รู้จะแก้สถานการณ์อย่างไรด้วย”
“กังวลเป็นอย่างมากค่ะ เพราะกลัวจะเกิดเหตุสุดวิสัยในเวลาสอบแล้วพอเป็นปีสี่การแก้ตัวหรืออะไรมันก็ไม่อยากจะให้เกิดขึ้น อยากจบแบบเรียบง่ายไม่ตื่นเต้นแบบนี้ค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
กวิสรา : “ขอบคุณอาจารย์ทุก ๆ ท่าน และพี่ ๆในคณะทุกคนที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษา พวกเราสัมผัสได้เลยว่าคณะทุ่มเทและพยายามช่วยเหลือพวกเราตลอด ซึ้งใจสุด ๆ เลยค่ะ”
นิรมล ใจจันทึก (เตย) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 4
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
นิรมล : “โดยส่วนตัวค่อนข้างโอเคกับการเรียนออนไลน์ เพราะประหยัดเวลาในการเตรียมตัวมาเรียน คือถ้ามีเรียนเช้าก็สามารถตื่นมาแล้วเรียนได้เลย หรือถ้าเป็นวิชาที่อัดวิดีโอไว้เราก็สามารถยืดหยุ่นช่วงเวลาเองได้ และในคลาสออนไลน์ก็รู้สึกว่านักศึกษากล้าสื่อสารกับอาจารย์มากขึ้น เนื่องจากในออนไลน์ไม่เห็นหน้านักศึกษา ส่วนใหญ่ก็จะกล้าถามกล้าตอบในแชทมากกว่าคลาสเรียนในห้องที่อาจารย์เห็นหน้านักศึกษา ทำให้บางคนไม่กล้าถามไม่กล้าตอบเพราะรู้สึกเขิน แต่ก็ยังชอบการเรียนในห้องมากกว่า เพราะการเรียนในห้องเรามีบรรยากาศ มีเพื่อน ๆ มีอาจารย์มาอยู่ข้างหน้าทำให้โฟกัสได้ง่าย และหากมีข้อสงสัยหรือตามไม่ทันก็สามารถถามอาจารย์หรือเพื่อน ๆ ได้ทันที ทั้งยังสามารถถกประเด็นน่าสนใจต่าง ๆ เพิ่มเติมได้มากกกว่าการเรียนออนไลน์ด้วย นอกจากนี้คิดว่าการเรียนออนไลน์อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพราะต้องอาศัยความพร้อมทางด้านอุปกรณ์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต รวมถึงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ด้วย ดังนั้นจึงรู้สึกว่าถ้าไม่จำเป็นก็ชอบเรียนในห้องมากกว่าค่ะ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
นิรมล : “ในการเรียนออนไลน์ได้ใช้ Webex และวิดีโอที่อาจารย์จะอัดไว้และให้นักศึกษามาดาวน์โหลดดูได้ กรณี Webex ค่อนข้างชอบโปรแกรมเพราะเข้าใช้งานง่าย แค่ก็อปลิงก์หรือเลขห้องไปวางก็เรียนได้เลย ไม่ต้องล็อคอินให้วุ่นวาย อาจารย์กับผู้เรียนก็ยังสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั้งในแชท หรือใช้วิธีพูดคุยผ่ายไมค์เลยก็ได้ ถือว่าค่อนข้างสะดวกมาก แต่ก็มีข้อเสียคือถ้าอาจารย์ไม่ได้กดอัดไว้ หากเราตามไม่ทันก็จะเสียเนื้อหาช่วงนั้นไปเลย หรือบางทีอินเทอร์เน็ตช้า ไมค์อาจารย์ไม่ชัดก็ทำให้เรียนไม่สะดวก และบางกรณีอาจารย์ไม่อ่านแชท ทำให้ถ้าช่วงไหนมีปัญหาอาจารย์จะไม่ทราบเลยก็ต้องผ่านช่วงนั้นไปเพราะกลับมาย้อนไม่ทันแล้ว โดยรวมถ้าอุปกรณ์และสัญญาณพร้อม ไม่มีเสียงรบกวน เช่นเสียงเพื่อนที่ลืมปิดไมค์ Webex ก็เป็น Platform ที่สะดวกสบายและเหมาะกับการเรียนออนไลน์ค่ะ”
“สำหรับการที่อาจารย์อีดวิดีโอไว้ให้นักศึกษามาดูย้อนหลังได้ ค่อนข้างชอบวิธีนี้ เพราะเราสามารถจัดสรรเวลาเองได้ ถ้าไม่ทันเนื้อหาส่วนไหนก็สามารถย้อนไปฟังได้ใหม่ ทั้งยังปรับช้า-เร็วได้ตามความต้องการของเราด้วย เป็นการเรียนที่ยืดหยุ่นมาก ๆ เนื้อหาที่อาจารย์สอนเราก็สามารถรับได้ทั้งหมดด้วย แต่ก็ยังมีข้อเสียที่เด่นมากคือ หากมีข้อสงสัยก็จะไม่สามารถสอบถามอาจารย์ได้ ต้องใช้วิธีจดไว้แล้วไปถามทีหลัง ถ้าอาจารย์มีช่องทางติดต่อก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่มีเราก็ต้องใช้วิธีถามเพื่อนหรืออาจารย์คนอื่นแทน ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจะถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นคิดว่าวิธีนี้อาจารย์ควรให้ช่องทางติดต่อไว้เสมอค่ะ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
นิรมล : “ โดยส่วนตัวไม่ค่อยมีปัญหาค่ะ เพราะอินเทอร์เน็ตเสถียรและมีอุปกรณ์พร้อม แต่อาจติดขัดอยู่บ้างในส่วนที่บางทีเราไม่สามารถสอบถามข้อสงสัยกับอาจารย์ได้โดยตรง หรือบางทีอยากไปฟังย้อนหลังทางคณะก็ยังไม่อัพโหลดที่เรียนไป หรืออาจารย์ไม่ได้อัดไว้ค่ะ ดังนั้นถ้าแก้ปัญหาเกี่ยวกับวิธีการเรียนย้อนหลังได้ก็จะดีมากค่ะ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์ และหลังสำเร็จการศึกษา
นิรมล : “กังวลเกี่ยวกับการสอบบออนไลน์มากกว่าค่ะ กลัวว่าวันสอบจะเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้า เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตขาดหาย อัปโหลดคำตอบไม่ทันเวลา ภาพที่ถ่ายไปไม่ชัด และยังกังวลในเนื้อหาของข้อสอบด้วยว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นแบบ Open Book ดังนั้นลักษณะโจทย์ก็จะต่างจากปีก่อน ๆ ทำให้เกรงว่าที่เราฝึกตอบข้อสอบเก่ามาจะไม่สามารถใช้ได้ค่ะ”
“หลังสำเร็จการศึกษาเป็นเรื่องที่กังวลมากที่สุดในตอนนี้ค่ะ กรณีการสำเร็จการศึกษาไม่ค่อยกังวล แต่สำหรับการทำงาน และการเรียนต่อ ในปัจจุบันยังไม่มีกำหนดการแน่ชัดออกมา ทั้งการสอบ การรับเข้าทำงานต่าง ๆ ทำให้เราไม่สามารถกำหนดแผนการในอนาคตที่แน่นอนชัดเจนได้ จึงกังวลเกี่ยวกับแผนการในอนาคตมาก ๆ ค่ะ แต่ก็พยายามปรับด้วยการเตรียมพร้อมรอไปเรื่อย ๆ ถ้ามีกำหนดการแน่นอนออกมาก็จะได้รับมือทันค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
นิรมล : “ อยากขอบคุณอาจารย์ทุกท่าน พี่ ๆ งานบริการ และฝ่ายบริหาร ที่คอยดูแลเอาใจใส่นักศึกษาอยู่เสมอ พยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ทันท่วงที และรับฟังปัญหาของนักศึกษา พร้อมนำไปปรับปรุงแก้ไขตลอด รู้สึกถึงความใส่ใจ พยายามทำงานอย่างหนักของทุกท่านที่ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย และพบเจออุปสรรคให้น้อยที่สุด ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับอาจารย์ผู้สอน และคณะค่ะ”
เกวลี เมืองแก้ว (เก๋) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 4
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
เกวลี : “ความเห็นส่วนตัว คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าจะต้องเรียนผ่านทางออนไลน์ จึงพยายามเตรียมใจไว้ตลอดระยะเวลาที่มีข่าวของสถานการณ์ Covid-19 และมีข่าวเสนอถึงการเรียนออนไลน์ในช่วงเปิดภาคเรียนของนักศึกษาในประเทศจีน ถ้าประเทศไทย สถานการณ์ไม่ดีขึ้นอาจจะต้องมีการเรียนออนไลน์ ทั้งนี้ก็มีความกังวลในด้านช่องทางการเรียน และการติดต่อสื่อสารกับทางคณะในกรณีที่มีปัญหา แต่คณะฯก็ดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือนักศึกษาตามที่เห็นว่านักศึกษาเสนอข้อคิดเห็นอย่างเต็มที่ก็เบาใจ และเห็นว่าการเรียนออนไลน์เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดเพื่อให้มีการเรียนการสอนต่อไป”
“เมื่อได้เรียนผ่านทางออนไลน์แล้วก็พบว่ามีบรรยากาศที่แตกต่างไปบ้าง โดยเฉพาะส่วนตัวชอบเข้าฟังบรรยายในห้องเรียน เพราะฉะนั้นจึงมีความรู้สึกคิดถึงบรรยากาศการเรียนในห้องเรียน เราไม่ได้พบเจออาจารย์และเพื่อน ๆ ไม่มีการ Interact กันโดยตรง ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปถามหรือพูดคุย การสื่อสารจะผ่านตัวอักษรที่เราพิมพ์ส่งไป ซึ่งในแง่หนึ่งก็สร้างความกล้าให้เราถามคำถามหรือตอบโต้กับอาจารย์ คือเห็นว่าเพื่อน ๆ มีการตอบโต้กับอาจารย์ในการเรียนมากกว่าเรียนในห้อง แต่ในบางครั้งอาจจะมีการสื่อสารผิดพลาดไปบ้าง ตรงนี้ก็เป็นสีสันที่ต่างออกไป นอกจากนี้ Platformนี้ก็สร้างความรู้สึกตื่นตกใจด้วยเช่นกัน กรณีมีอุปสรรคในด้านสัญญาณอินเทอร์เน็ตและเรื่องทางเทคนิคเช่นเข้าเรียนแล้วโปรแกรมเด้งออก อาจารย์เรียกถามแล้วไมค์เสีย”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
เกวลี : “การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ ขณะนี้ ได้ผ่านการเรียนผ่าน Webex และ Microsoft Teams และทบทวนการเรียนจากการบันทึกการบรรยายออนไลน์ แล้วก็ยังมีการเรียนผ่านการบันทึกเทปที่ยังไม่เรียนเพราะยังไม่มีการอัพโหลดไฟล์ และคิดว่าเป็นโปรแกรมที่สะดวกในการใช้งาน ไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก มีเพียงความรู้สึกรำคาญใจเวลาที่สัญญาณหลุด หรือเสียงไม่ชัด หรือเสียงเบา อาจจะเพราะด้วยสัญญาอินเทอร์เน็ต หรือ ไมโครโฟนตัวเครื่อง หรือ เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่รองรับในการติดตั้ง แต่ในด้านฟังก์ชันการใช้งานคิดว่าเหมาะสม เพราะนักศึกษาเห็นสไลด์ สื่อการนำเสนอของอาจารย์และสามารถตอบโต้อาจารย์ได้ผ่านทางแชทหรือถามผ่านไมโครโฟนได้โดยตรง”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ และหลังสำเร็จการศึกษา
เกวลี : “หนึ่ง อินเทอร์เน็ตคณะน่าจะไม่เสถียร ทำให้การเรียนสองครั้งล่าสุดมีความขัดข้องของสัญญาณและเสียงบรรยายของอาจารย์ขาด ๆ หาย ๆ ฟังไม่ชัด ของทางฝั่งอาจารย์ผู้สอน”
“สอง หลังจากเรียนไปแต่ละครั้ง และอาจจะมีคำถามก็ไม่สามารถถามอาจารย์ได้อย่างทันท่วงที ต้องใช้การพิมพ์ถามซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่าจะส่งไปได้ ทำให้อาจจะพ้นหัวข้อนั้นไปแล้ว”
“สาม กรณีที่ต้องรอไฟล์บันทึกการเรียนในบางวิชา ก็อัปโหลดจนใกล้จะจบภาคเรียนแล้ว เวลาในการเตรียมตัวสอบจึงช้าตามไปด้วย”
“สี่ มีเพื่อน ๆ หลายท่านที่รู้จัก ประสบปัญหาโปรแกรมที่ใช้เรียนเด้งบ้าง ไมโครโฟนเสียบ้างทำให้ไม่สามารถตอบคำถามหรือสื่อสารกับเพื่อนและอาจารย์ในขณะมีการเรียนการสอนได้ รวมไปถึงเพื่อน ๆ บางท่านไม่สามารถที่จะกดเข้าร่วมได้ อาจจะด้วยปัญหาของคอมพิวเตอร์หรือระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตของแต่ละภูมิภาคที่เพื่อน ๆ พักอยู่”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
เกวลี : “ในส่วนของการเรียนนอกจากเรื่องที่เป็นปัญหาการเชื่อมต่อและการติดต่ออาจารย์เพื่อถามคำถามก็ไม่มีความกังวลใจเท่าไร เพราะว่ามีการบันทึกเทปไว้อยู่แล้ว การเรียนไม่ทันอาจจะไม่มีปัญหา แต่ในเรื่องการสอบเนื่องจากเป็นการสอบรูปแบบที่พวกเราไม่ค่อยจะได้ประสบพบเจอ หรือมีการฝึกฝนมาก่อน ย่อมมีความกังวลและไม่มั่นใจในการทำข้อสอบ กังวลว่าอาจจะส่งไม่ทัน ทำไม่ทัน ไม่ถนัด รูปแบบคำถามจะมีทิศทางที่เปลี่ยนไป หรือแม้กระทั่งจะมีปัญหาเวลาส่งคำตอบหรือไม่”
“กังวลในเรื่องการสอบที่อาจจะส่งผลถึงการเรียนจบการศึกษา ในส่วนของการสมัครงานในช่วงนี้ทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนเองในหลายภาคส่วนก็หยุดชะงัก ส่วนตัวก็มีความกังวลว่าหลังจบแล้วจะวางแผนชีวิตต่อไปอย่างไร การเรียนเนติฯก็เริ่มเปิดรับสมัครแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้สอบปลายภาคและเมื่อถ้าสอบแล้วก็ไม่แน่ใจว่าการดำเนินการเรื่องการแจ้งจบจะมีผลล่าช้า หรือไม่อย่างไร ด้วยสถานการณ์ตอนนี้เป็นเหตุด้วยแล้ว การวางแผนชีวิตหลังเรียนจบจึงค่อนข้างวางได้ยาก ในฐานะนักศึกษาปี 4 อย่างเราก็ต้องเตรียมรับมือหลังสถานการณ์นี้”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
เกวลี : “ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกท่านที่พยายามดำเนินการต่างๆ และปรับปรุงระบบต่างๆ ให้นักศึกษาได้รับการเรียนการสอนอย่างเหมาะสมเท่าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมไปถึงขอบคุณพี่ทีมงานบริการของคณะฯที่ตอบคำถามและช่วยเหลือพวกเราตามที่เราร้องขออย่างรวดเร็ว”
ยศพนธ์ หาญวิชัยวัฒนา (เต้ย) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 4
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ยศพนธ์ : “ผมมีความรู้สึกว่าการเรียนออนไลน์นั้น แม้จะมีข้อดีในแง่ของการเป็นทางออกให้สามารถดำเนินการเรียนการสอนได้ในสถานการณ์ที่สังคมยังคงอยู่ภายใต้การระบาดของไวรัส Covid-19 แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการทั้งในส่วนของเทคโนโลยีและการสื่อสาร ผมจึงเห็นว่าการเรียนในห้องเรียนแบบปกติยังคงเป็นวิธีการเรียนที่ดีกว่า”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
ยศพนธ์ : “ผมใช้ Cisco Webex Meetings เป็นหลักนะครับ โดยส่วนตัวก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรในการใช้งานตัว Platform นี้มาก อาจมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับการใช้งานไม่คล้องบ้างในการใช้งานครั้งแรกแต่เมื่อใช้งานไปบ่อยครั้งมากขึ้นก็สามารถใช้งานได้อย่างไม่ติดขัดอะไร”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
ยศพนธ์ : “ในส่วนการบรรยายออนไลน์นั้น ผมเห็นว่า ด้วยความที่คณะเราจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ lecture-based เป็นหลัก การเรียนก็อาจจะไม่มีปัญหาในแง่การทำความเข้าใจเนื้อหามากนัก หากจะติดขัดบ้างก็เป็นปัญหาเรื่องการศึกษาค้นคว้าที่อาจจะไม่สะดวก เพราะไม่สามารถใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยได้ อนึ่ง ปัญหาหลักที่ผมประสบในการเรียนออนไลน์นั้น คือ ปัญหาทางเทคโนโลยี เพราะการเรียนออนไลน์มีความจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวยังคงมีปัญหาทางเทคนิคอยู่มาก เช่น สัญญาณเสียงขาดหาย หรือ อาจารย์บางท่านก็อาจจะไม่ถนัดในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมากนัก ซึ่งก็เข้าใจได้ครับ เพราะเดิมคณะเราก็ไม่เคยสอนกันแบบนี้ จึงอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับอาจารย์หลาย ๆ ท่าน ทำให้เกิดอุปสรรคทางการสื่อสารในห้องเรียนออนไลน์มากพอสมควรครับ”
“นอกจากนี้การเรียนออนไลน์ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการศึกษาในบ้างวิชาด้วย แม้ว่าโดยหลักแล้ววิชาส่วนใหญ่จะใช้วิธีการสอนแบบ lecture-based แต่ก็มีบางวิชาที่ใช้วิธีการสอนในแบบที่ต่างออกไป เช่น การทำโครงงาน ซึ่งการปรับเปลี่ยนวิธีการจากการเรียนในห้องไปเป็นการเรียนออนไลน์นั้นจะส่งผลกระทบต่อการเรียนในวิชาเหล่านี้มากเป็นพิเศษ เพราะการเรียนในวิชาเหล่านี้ต้องอาศัยการพบปะพูดคุยและการทำงานร่วมกับเพื่อนในกลุ่มซึ่งการได้พบปะพุดคุยกันในระหว่างเรียนประกอบกับการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่าการสื่อสารกันผ่านช่องทางออนไลน์เพียงช่องทางเดียว นอกจากนี้ในการทำโครงงานก็อาจจะต้องมีการไปติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งการที่หน่วยงานเหล่านี้ปิดทำการก็ส่งผลให้การทำโครงงานมีความยากลำบากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์ และหลังสำเร็จการศึกษา
ยศพนธ์ : “ในส่วนของข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนนั้นโดยมากจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับข้อกังวลในเรื่องการสื่อสารกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาครับ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าในระหว่างการบรรยายบางครั้งสัญญาณเสียงก็ขาดหายไปบ้างในบางช่วงซึ่งทำให้ผู้เรียนเกิดความไม่มั่นใจว่าจะได้รับเนื้อหาจากอาจารย์ผู้สอนไปครบถ้วนหรือไม่ นอกจากนี้ในแง่ของการถามคำถามในระหว่างการบรรยาย โดยหลักต้องอาศัยการพิมพ์ลงไปใน chat box ซึ่งบางครั้งหากมีนักศึกษาถามเข้ามาในระหว่างเรียนเป็นจำนวนมากก็อาจจะทำให้คำถามของนักศึกษาบางท่านตกหล่นหรือไม่ปรากฏแก่อาจารย์ผู้สอนไปบ้าง”
“ในส่วนของข้อกังวลเกี่ยวกับการสอบนั้น หลัก ๆ จะเป็นข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านเครือข่ายในระหว่างการสอบ เพราะปัญหาดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นได้ แม้เราจะเตรียมการรับมือดีแค่ไหนก็ตาม ในส่วนนี้ก็คงทำได้เพียงแต่หวังว่าการสอบจะผ่านไปได้ด้วยดีและไม่เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น”
“นอกจากนี้ข้อกังวลอีกข้อหนึ่งนั้นได้แก่กำหนดเวลาการส่งคำตอบในการสอบที่ปัจจุบันคณะกำหนดไว้ที่ 15 นาที ซึ่งจากการที่ได้เข้าไปทดสอบระบบแล้ว ผมพบว่าหากผู้ใดใช้วิธีการเขียนในการตอบข้อสอบและจะต้องใช้การ scan หรือถ่ายรูปเพื่อนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ Google Form อาจไม่สามารถทำให้ทันภายในเวลา 15 นาทีได้ จึงอยากขอให้ทางคณะฯ ช่วยพิจารณาเรื่องการขยายเวลาในส่วนนี้ให้แก่นักศึกษาด้วยครับ โดยส่วนตัวแล้วอยากให้ขยายเป็น 25-30 นาทีครับ”
“สำหรับเรื่องการสมัครงานนั้นมีความกังวลแน่นอนครับ เพราะไม่ว่าจะเราจะจบไปทำงานในภาคราชการหรือภาคเอกชน หากอยู่ในสภาวะที่ยังมีการระบาดของ COVID-19 ประกอบกับสภาวะที่เศรษฐกิจที่ซบเซาลง หน่วยงานต่าง ๆ ย่อมมีความจำเป็นต้องลดอัตราของบุคลากรลงอยู่เป็นธรรมดา ทำให้ตอบรับการสมัครงานอาจจะยากขึ้นไปด้วย”
“นอกจากนี้ในเรื่องการเรียนต่อก็ยังมีความกังวลด้วยเช่นกันว่า หากสังคมยังคงอยู่ภายใต้การระบาดของไวรัส เราก็ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่ารูปแบบการเรียนการสอนหรือการสอบนั้นจะออกมาในรูปแบบใดและจะมีอุปสรรคใด ๆ หรือไม่ ทั้งนี้ก็ต้องดูสถานการณ์และต้องพยายามปรับตัวต่อไปครับ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
ยศพนธ์ : “สำหรับสิ่งที่ผมอยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ ประเด็นแรก คือ ประเด็นเกี่ยวกับการลงเทปบันทึกการบรรยายย้อนหลังครับ เพราะ ในความเห็นของผม การลงเทปบันทึกการบรรยายย้อนหลังในบางครั้งล่าช้าเกินสมควร ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อการเตรียมตัวสอบของนักศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนักศึกษาจำนวนหนึ่งในคณะเรามักใช้วิธีการเรียนแบบทบทวนซ้ำจากคำบรรยาย ดังนั้น หากคณะสามารถลงเทปบันทึกการบรรยายย้อนหลังได้รวดเร็วย่อมส่งผลให้การเตรียมตัวสอบของนักศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น”
“ประเด็นที่สอง คือ การพัฒนาระบบสัญญาณเสียงในระหว่างการบรรยายออนไลน์ เพราะ ในปัจจุบันยังคงปรากฏปัญหาเรื่องสัญญาณเสียงไม่ชัดเจน หรือขาดช่วงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลต่อการเรียนเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้นักศึกษาได้รับเนื้อหาสาระไปจากผู้สอนอย่างไม่ครบถ้วน และยังเสียเวลาในการเรียนการสอนอีกด้วยเพราะหากมีเนื้อหาส่วนใดที่ผู้สอนได้บรรยายไปแล้วแต่นักศึกษาไม่ได้ยินหรือได้ยินไม่ชัดเจน ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่นักศึกษาจะต้องขอให้ผู้สอนบรรยายซ้ำในส่วนนั้นอีกครั้งหนึ่งซึ่งเสียเวลาเป็นอย่างมาก”
อธิป ปิตกาญจกุล (เต๋า) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 4
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
อธิป : “จริง ๆ ก็เคยคิดว่าอยากให้คณะจัดการเรียนการสอนออนไลน์ แต่เป็นแค่ทางเลือกก็พอ เท่าที่เรียนออนไลน์มาในเทอมนี้ โดยส่วนตัวไม่ได้รู้สึกว่าได้รับผลกระทบมาก หรืออาจไม่ได้รับผลกระทบเลย ในแง่ของประสิทธิภาพในการเรียน ในบางวิชาที่เรียนในลักษณะของการสัมมนา รู้สึกว่ากล้าที่จะโต้ตอบกับผู้สอนมากขึ้นด้วยซ้ำ ที่กังวลก็คือสภาพแวดล้อมของการสอบ อาจทำให้ไม่มีสมาธิ รวมถึงการที่เทอมนี้มีวิชานิติปรัชญาตัวเดียวที่ต้องสอบ ซึ่งเป็นตัวสุดท้าย แต่เมื่อสอบออนไลน์ข้อสอบจึงอาจจะยากขึ้น”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
อธิป : “ ถ้าปัญหาด้านของระบบ เคยเจอปัญหาครั้งเดียว ซึ่งไม่รู้เกิดจากอะไร ก็ต้องไปเรียนในไลน์แทน ไม่เคยเรียนผ่านระบบ Facebook บางครั้งก็เกิดจากการที่ผู้สอนยังใช้ระบบไม่คล่อง แล้วก็ในอนาคต คิดว่าน่าจะรอให้นักศึกษาเข้ามาให้ครบ ปิดไมค์ให้เรียบร้อย แล้วล็อคห้องไปเลย เพราะการที่มีคนเข้ามาใหม่และไม่ปิดไมค์รบกวนการเรียนมากครับ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
อธิป : “อยู่หอแล้วไม่ค่อยอยากเปิดแอร์ พอร้อนก็หยุดหงิดเรียนไม่รู้เรื่อง ส่วนเรื่องอุปกรณ์ ผมไม่มีปัญหาเลยครับ แหล่งข้อมูลก็โหลดจาก TU Library ได้ มองอีกมุมมันก็ดีนะ ได้รู้ว่าบางครั้งการค้นข้อมูลมันไม่จำเป็นต้องไปป๋วยก็ได้ แต่ชีทเรียนอยากให้ทางคณะจัดให้ เพราะปรินท์เองเปลืองหมึกมาก”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์ และหลังสำเร็จการศึกษา
อธิป : “ผมกังวลแค่เรื่องการสอบ เช่น วิชานิติปรัชญา อันนี้ไม่ได้จะเข้าข้างตัวเองนะครับ ส่วนตัวผมคิดว่า แม้จะเป็นการสอบที่นักศึกษาสามารถ Open Book ได้ จริง ๆ การสอบออนไลน์คือการสอบ openbook ปกติอะแหละ หรือทุจริตได้บางโดยปริยาย แต่ก็ไม่ควรปรับข้อสอบให้ยากขึ้น เพราะหลายคนที่สอบตกมันมีทั้งคนที่ไม่อ่านหนังสือ ไม่ฝึกเขียน การที่นักศึกษารู้ธง และถ่ายทอดออกมาได้ตามปกติน่าจะพอแล้ว คนที่รอเปิดหนังสือ รอโกงมันไม่ผ่านหรอก หรืออยู่ดี ๆ จะมาเปลี่ยนจากข้อสอบที่เน้นบรรยายหรือจำเป็นหลักมาเป็นวิเคราะห์ หากเป็นวิชาหลัก ผมไม่เห็นด้วย หรือแม้กระทั่ง Take Home รายงาน อย่างผมก็เรียนนิติปรัชญาแค่พอคุยกับเพื่อนรู้เรื่องก็พอแล้ว ไม่ได้อยากจะลงลึกอะไรขนาดนั้น ไม่เหมือนกับวิชาเลือกที่เรียนตามความถนัดความชอบของตัวเอง ก็กังวลครับ เพราะกลัวนิติปรัชญามาก ตัวสุดท้าย กดดัน ที่ว่าอาจารย์จะเน้นวิเคราะห์มากขึ้น แล้วการบ้านของวิชาเลือกยังมาไม่ครบ กลัวจะไปทับกับการเตรียมสอบนิติปรัชญา”“เสียดายที่ฝึกงานบางที่ที่อาจจะไม่เปิดเพราะโควิด กับที่ที่ยื่นไปแล้วต้องมีการเลื่อนฝึกงาน ส่วนการทำงานไม่ได้กังวลมาก เพราะน่าจะเรียนเนติฯต่อเลยซึ่งรอประกาศว่าจะมีการเรียนการสอนแบบออนไลน์หรือไม่”
“การเรียนต่อ อันนี้กังวลพอมากสมควร เพราะอยากไปเรียนต่อที่ US หลังจบเนติ คือต้องยื่นปลายปีนี้ ซึ่งไม่รู้สถานการณ์ โดยเฉพาะในเมกาจะสงบเมื่อไหร่ และเรื่องการสอบ TOEFL, IELTS ที่มันสอบลำบากมาก พึ่งไปสอบมาต้องใส่หน้ากากอนามัยสอบ มันรำคาญ แล้วก็จดหมายรับรองที่ต้องขอจากอาจารย์ที่คณะ อาจจะติดต่อยากขึ้น ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ สรุปที่กังวลคือความไม่แน่นอนของสถานการณ์ตอนนี้ครับ มันทำให้วางแผนลำบาก”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
อธิป : “อยากให้อาจารย์ผู้สอนสอนตามปกติ ไม่ใช่อัดคลิปทิ้งไว้ หรือเอาของศูนย์อื่นมาให้ดู มันไม่เหมือนกับเรียนสด คนเรียนขี้เกียจหนักเลยครับ ส่วนเรื่องข้อสอบ ผมลองสอบวิชาเลือกไปตัวนึง ผมบอกเลยครับว่าไม่ต่าง มันไม่ได้มีเวลามากมายในการเปิดเอกสารเพื่อมาวิเคราะห์หรอกครับ อย่าเปลี่ยนแนวข้อสอบเลย อีกเรื่องคือผมลองคิดเล่น ๆ ว่าน่าจะทำตามยูของต่างประเทศบ้าง ให้นักศึกษาเลือกว่าจะเอาคะแนนมาเฉลี่ยมั้ยในสถานการณ์นี้ ถ้าไม่ก็คิดแค่ผ่านหรือตกพอ”
ภาพโดย เชอรี่, อาย, กุ๊งกิ๊ง, เตย, เก๋, เต้ย, เต๋า
เรียบเรียง KK