เราได้ไปพูดคุยกับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปางบางส่วนเกี่ยวกับความรู้สึกในการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิดมาแล้ว (อ่านบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/talkwithlawstudents-ep35/) วันนี้ เรามีนักศึกษาศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 1 และ 2 จำนวน 7 คนมาพูดคุยถึงความรู้สึก ปัญหา ข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการสอบออนไลน์
อภิชญา สุพรรณ นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 2
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
อภิชญา : “ความรู้สึกแรกของดิฉัน คือ ตกใจระดับนึงเลยค่ะ เพราะไม่เคยคิดมาก่อนว่าสถานการณ์โควิดจะหนักหนาขนาดที่มหาวิทยาลัยจะปิดและมีการสอนออนไลน์แทน ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ฉุกเฉินพอสมควร ทำให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต้องปรับตัวในหลาย ๆ อย่าง เช่น ทั้งการเรียนและการสอนของทั้งอาจารย์ นักศึกษา สภาพแวดล้อมทางเรียน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการเรียนทางออนไลน์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียค่ะ อย่างข้อดี คือ เวลามีเรียนตอนเช้าเราก็สามารถตื่นมาเรียน โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าเราจะทำกิจวัตรประจำวันของเราทันเวลาเรียน เหมือนตอนที่เรียนตามปกติหรือไม่ และถ้าเราเรียนไม่ทัน หรือ วันที่เรียนมีติดธุระก็สามารถตามเทปย้อนหลังได้ แต่ในข้อดีก็มีการแทรกข้อเสียไปในตัวด้วย คือ อาจทำให้เราไม่ค่อยมีวินัยเหมือนตอนเรียนในห้อง เพราะว่าเราต้องมีวินัยในการจัดสรรค์เวลามาให้ทันเรียน และ การเรียนในห้องทำให้เราได้พบปะอาจารย์และเพื่อนๆด้วยเหมือนมีแรงกระตุ้นอยู่ตลอดทำให้อยากเรียนมากขึ้น โดยส่วนตัวมองว่าการเรียนในห้องดีกว่าการเรียนออนไลน์ค่ะ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
อภิชญา : “ทางคณะมีการใช้ Platform หลายอย่าง ดิฉันเรียนมาทั้งหมดก็จะใช้ Webex, Microsoft Teams, Facebook Live, Google Classroom, YouTube ค่ะ ที่ดิฉันรู้สึกชอบที่สุด คือ การใช้ Facebook Live เพราะว่ามันเข้าถึงการฟังเทปได้ง่ายและทันที อย่างกรณีการเรียนวิชาสัญญาทางพาณิชย์ ซึ่งจะใช้วิธีการสอนแบบ Facebook Live ในกลุ่ม พออาจารย์ไลฟ์เสร็จ เซฟการไลฟ์ ก็ดูย้อนได้ทันที ซึ่งเป็นข้อดีมาก ๆ สำหรับคนที่เรียนไม่ทันในช่วงแรก ในมุมมองดิฉันคิดว่าการที่เพิ่งจะเรียนจบวิชาใดวิชาหนึ่ง อารมณ์มันจะค้างอยู่กับสิ่งที่เพิ่งเรียนไป ทำให้เราอยากทำเข้าใจมันมากขึ้นและทันที ดิฉันจึงมองว่าเป็น Facebook Live โอเคมาก ๆ ส่วนอย่าง Webex ค่อนข้างใช้เวลาพอควรในการจะดูเทปย้อนหลัง เพราะว่าต้องมีการเซฟและส่งให้ทางคณะเป็นคนโพสต์เทปเรียนย้อนหลัง ทำให้ไม่สามารถทบทวนไม่ได้ทันทีและต้องใช้เวลานานกว่าทางคณะจะโพสต์ให้นักศึกษา”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
อภิชญา : “การเรียนออนไลน์ส่งผลกระทบต่อทั้งอาจารย์และนักศึกษาเป็นอย่างมาก อย่างแรกที่เห็นได้ชัด คือ ปัญหาทางความพร้อมของอุปกรณ์ในการสอนของอาจารย์ช่วงแรก ๆ บางทีเสียงเบาบ้าง สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เสถียรบ้าง อย่างที่ดิฉันเจอมาก็เรียน ๆ อยู่ อาจารย์ก็หายไปจากไลฟ์เลย เป็นต้น อย่างที่สอง คือ สภาพแวดล้อมการเรียน ทำให้ไม่มีแรงกระตุ้นเท่าที่ควร เพราะเป็นการเรียนทางบ้าน ในมุมมองของดิฉันคิดว่าบ้าน คือ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งบางทีเวลาเราอยู่บ้านก็อาจจะติดนิสัยชิลบ้าง ดังนั้นการที่เรียนที่บ้านมันจึงมีแรงกระตุ้นทางการเรียนค่อนข้างน้อย และ มีสิ่งรบกวนหลาย ๆ อย่าง ทำให้เราต้องโฟกัสการเรียนค่อนข้างเยอะพอสมควร และอย่างสุดท้ายคือ เกิดความเหลื่อมล้ำของคนที่อุปกรณ์การเรียนไม่พร้อมจริง ๆ ด้วย”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
อภิชญา : “ในมุมมองของดิฉันกังวลในส่วนการสอบออนไลน์เป็นอย่างมาก เพราะว่าปกติเราจะสอบ Closed Book ไม่มีการลอกใด ๆ ทั้งสิ้น แต่พอมาสอบออนไลน์อาจทำให้เกิดการทุจริตกันมากขึ้น เนื่องจากไม่มีใครสามารถจับผิดได้ว่าเราไปลอกหรือถามจากใคร ซึ่งทำให้เกิดความไม่แฟร์สำหรับคนที่ตั้งใจทำจริง ๆ ถึงแม้ว่าจะเป็น Open Book ก็ตาม และการสอบแบบ Open Book ออนไลน์ ทำให้อาจารย์มีโอกาสออกข้อสอบยากกว่าเดิม เพราะเราก็มีตำรา ความรู้อยู่ในมือ และสุดท้าย คือ การเกิดปัญหาระหว่างสอบและส่งข้อสอบ ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉิน อย่างเช่น ไฟดับตอนสอบ หรือ สัญญาณไม่เสถียรตอนส่งข้อสอบ ซึ่งอาจจะทำให้เราส่งข้อสอบไม่ทันที่ทางคณะกำหนดระยะเวลาไว้ให้”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
อภิชญา : “อันดับแรกที่อยากฝากบอกทางคณะ คือ อยากให้ทางคณะลงคลิปการเรียนเร็วกว่านี้นิดนึงค่ะ ประมาณไม่เกิน 3-4 วันนับตั้งแต่วันที่เรียนจบวิชานั้น ๆ และสุดท้ายนี้ต้อง ขอขอบคุณทางอาจารย์ คณะผู้บริหารของมหาลัยธรรมศาสตร์ที่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาทางการเรียนออนไลน์ได้ค่อนข้างดีเยี่ยม มีความใส่ใจนักศึกษาและช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการเรียนการสอน การให้อุปกรณ์การเข้าถึงการเรียนแก่นักศึกษา การเข้าถึงบริการทางห้องสมุด เป็นต้นค่ะ”
ณฐคุณ ชูรอด (ณะ) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 2
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ณฐคุณ : “ความรู้สึกแรกเลยในการเรียนออนไลน์ทำให้นึกถึงช่วงที่เรียนพิเศษตอนมัธยมค่ะ เลยทำให้สามารถปรับตัวได้เร็วกับการเรียนออนไลน์ ไม่รู้สึกว่าเป็นอุปสรรคในการเรียนแต่อย่างใด เพราะในการเรียนออนไลน์ที่อาจารย์แต่ละท่านสอน นักศึกษาสามารถโต้ตอบถามคำถามได้เหมือนกับเรียนในชั้นเรียน เลยทำให้ไม่รู้สึกเบื่อหรือเป็นผู้ฟังอยู่ฝ่ายเดียวค่ะ อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายบางอย่าง อาทิ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เพราะเรียนออนไลน์อยู่บ้านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่ก็จะมีข้อเสียอยู่ค่ะ ถ้าหากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนก็จะทำให้เสียสมาธิได้ง่ายค่ะ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
ณฐคุณ : “ตั้งแต่เปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นระบบออนไลน์ platform ที่ใช้ก็มีหลากหลายค่ะ ทั้ง Cisco Webex, Facebook Live, Microsoft Teams โดยละ platform ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันค่ะ อย่าง Cisco Webex อาจารย์หลาย ๆ ท่านใช้ในการสอนออนไลน์ เป็น Platform ที่ใช้งานก็ถือว่าใช้ได้ค่ะ แต่ส่วนตัวยังไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะว่าต้องมานั่งกังวลว่าตัวเองเผลอไปเปิดกล้องเปิดไมค์รบกวนอาจารย์ตอนสอนหรือเปล่า เพราะหลาย ๆ ครั้งมีเพื่อนเผลอเปิดโดยที่ไม่รู้ตัว อีกทั้งยังไม่สามรถอัพโหลดการสอนได้ทันที เลยรู้สึกว่า Cisco Webex ยังไม่ตอบโจทย์ค่ะ ส่วน Microsoft Teams ใช้งานยากและมีฟังก์ชั่นเยอะ เลยทำให้หลาย ๆ ครั้งกดผิดกดถูกค่ะ ส่วน Platform ที่ชอบที่สุดและง่ายที่สุด คือ Facebook Live เพราะระบบไม่ค่อยมีปัญหา และค่อนข้างเสถียร และยังไม่ต้องกังวลว่าตัวเองจะเปิดไมค์เปิดกล้องรบกวนอาจารย์ตอนสอนหรือเปล่า อีกทั้งเมื่อจบคลาสเรียนยังมีการอัปเดตวีดีโอที่สอนลงทันที ไม่ต้องรอทางคณะอัปเดตให้ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานค่ะ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
ณฐคุณ : “ถ้าเป็นปัญหาหลัก ๆ คือสภาพแวดล้อมในการเรียนค่ะ อย่างเรียนในห้องเรียนปกติก็จะเรียนกันในห้องที่มีเก้าอี้ มีโต๊ะเรียน มีแอร์ มีเพื่อน แต่พอเรียนออนไลน์บอกตรง ๆ ว่าเรียนบนโต๊ะกินข้าวของที่บ้านค่ะ เวลาเรียนเลยทำให้อาจจะปวดเมื่อยตามตัวได้ เพราะบางวันเรียนทั้งวัน หรืออาจจะมีเสียงรบกวนได้ แต่ถ้าเพื่อนคนไหนที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี การเรียนออนไลน์ก็อาจจะดีสำหรับเขาก็ได้ค่ะ อีกอย่างเวลาเรียนออนไลน์เราไม่มีเพื่อนนั่งเรียนด้วยเลยทำให้บางครั้งเวลาที่ไม่เข้าใจในเนื้อหาก็ไม่สามารถถามเพื่อนได้ ซึ่งถ้าจะให้ถามท่านอาจารย์ก็ไม่ค่อยกล้าถามค่ะ ส่วนในเรื่องของข้อจำกัดในการเรียน ส่วนตัวไม่มีปัญหาอะไรค่ะ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
ณฐคุณ : “ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ไม่มีปัญหาที่น่ากังวลค่ะ แต่ที่กังวลน่าจะเป็นการสอบออนไลน์ที่กังวลเกี่ยวกับ การรับ-ส่งข้อสอบเพราะในวันที่มีการทดสอบระบบไม่ได้ทำการทดสอบด้วย เลยอาจทำใ้ห้กังวลว่าในวันสอบจริงจะรับข้อสอบล่าช้าเพราะหาไม่เจอ หรือส่งผิดอะไรแบบนี้ค่ะ ส่วนเรื่องตัวข้อสอบที่เป็นรูปแบบ Open Book ตอนแรกดีใจค่ะเพราะไม่ต้องมานั่งท่องมาตรา แต่พอคิดไปคิดมาในเมื่อเปิดหนังสือได้อาจทำให้ข้อสอบมีความยากเพิ่มจากการสอบแบบปกติค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
ณฐคุณ : “ตั้งแต่มีสถานการณ์วิกฤตอย่าง Covid-19 เข้ามาทำให้เราเห็นถึงความใส่ใจและความเข้าใจของบุคลากรของคณะ ทั้งผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ เลยทำให้ตัวเองรู้สึกโชคดีที่เข้ามาเรียนในคณะนี้และอยากขอบคุณทุก ๆ คนที่กล่าวมาข้างต้น ที่มีความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเข้าใจในตัวนักศึกษาที่ปัญหาบางประการที่ไม่อาจเข้าถึงการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ อีกทั้งยังได้เห็นมุมน่ารัก ๆ ที่ไม่เคยได้เห็นของอาจารย์หลาย ๆ ท่านขณะที่มีการสอนออนไลน์อีกด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ”
ศตพร พันธ์นิตย์ นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 2
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ศตพร : “ผมรู้สึกว่าการเรียนออนไลน์ในสถานการณ์เเบบนี้เป็นการเเก้ปัญหาที่ดีมาก ๆ และเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ ด้วยครับ เนื่องจากทั้งทางนักศึกษา และ ทางอาจารย์เองต่างก็ถือเป็นมือใหม่กันทั้งนั้น ในทุก ๆ ครั้งที่มีการเรียนการสอนก็จะมีการลุ้นอยู่ทุกครั้งว่าวันนี้จะเป็นอย่างไรจะมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้างวันนี้อาจารย์จะสอนเหมือนในห้องหรือเปล่า อาจารย์บางท่านนำเทคโนโลยีในการปรับเสียงไมค์เป็นออโต้จูนซึ่งเป็นสีสันที่ไม่สามารถทำได้ในห้องเรียน (หัวเราะ) และสิ่งที่เห็นได้ชัดในการเรียนออนไลน์ครั้งนี้คือเพื่อน ๆ นักศึกษา มีความกล้าที่จะเเสดงความคิดเห็น กล้าที่จะตอบคำถามต่ออาจารย์มากขึ้น อาจเพราะเนื่องจากเราไม่ได้อยู่ต่อหน้าอาจารย์จริง ๆ รวมถึงเรามีเวลาในการคิดประมวลผลผ่านการพิมพ์ได้มีการเรียบเรียงอย่างดีซึ่งต่างจากการตอบปากเปล่า ความเกร็งความตื่นตระหนกก็ลดลง ทำให้เราสามารถตอบคำถามได้โดยมั่นใจมากขึ้นซึ่งถือเป็นข้อดีของการเรียนออนไลน์ข้อดีในการเรียนออนไลน์อีกอย่างคือเราสามารถตื่นมาแล้วเรียนได้เลย สะดวกสบายไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปยังมหาวิทยาลัย แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกันคือแรงกระตุ้นในการเรียนของเราจะมีน้อยกว่าการเรียนในห้องเรียนเพราะเราอาจจะคิดว่ายังไงก็มีเทปบันทึกค่อยมาเรียนที่หลังก็ได้รวมถึงบรรยากาศต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนในห้องเรียนด้วย”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
ศตพร : “ในการเรียนออนไลน์ของเเต่ละวิชาแต่ละอาจารย์ ก็จะมีความแตกต่างกันไป มีทั้งการใช้ Cisco Webex, Facebook Live, Microsoft Teams
“สำหรับการเรียนผ่าน Cisco Webex นั้นถือว่ามีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เหมาะกับการเรียนที่มีนักศึกษาจำนวนมาก ๆ นักศึกษาสามารถเปิดกล้องคุยกับอาจารย์ได้โดยตรง ระบบค่อนข้างมีความยุ่งยากในการเข้าถึงต้องมีการติดตามการประกาศรหัสการเข้าถึงทุกครั้ง แต่ก็จะมีเรื่องขำ ๆ คือ Cisco Webex จะทำให้นักศึกษามีความวิตกกังวล หลอน หรือหวาดระแวงอยู่ตลอดทุกครั้งที่เข้าใช้งานว่า เราปิดไมค์เเล้วหรือยังหรือวิตกว่าเราเปิดกล้องอยู่หรือเปล่า (หัวเราะ) ปัญหาสำคัญของการเรียนผ่าน Cisco Webex นั้นคือ ระบบไม่ได้บันทึกคลิปการเรียนโดยอัตโนมัติ บางครั้งอาจารย์ท่านลืมกดบันทึกเลยอาจทำให้ไม่มีเทปย้อนหลังสำหรับการเรียนในครั้งนั้นหรือแม้มีการกดบันทึกก็จริงแต่ในการลงเทปบันทึกบางรายวิชามีความล่าช้า ส่วนตัวจึงประทับใจ Cisco Webex น้อยที่สุด”
“สำหรับ Microsoft Teams ถือเป็นแอปพลิเคชันที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถเรียนออนไลน์ได้ เปิดกล้องได้ สามารถอัพโหลดไฟล์ส่งงานได้และสามารถติดต่อสื่อสารผ่านช่องแชทได้ ซึ่งจะมีความถือได้ว่าเป็นแอพพลิเคชันที่ครบเครื่องมาก ๆ ระบบมีความคล้ายคลึงกับ Google Classroom”
“สำหรับการเรียนผ่าน Facebook Live ส่วนตัวรู้สึกชอบการเรียนผ่าน Facebook Live มากที่สุดเพราะ มีความเสถียรภาพสูง ใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยากในการใส่รหัสเพื่อการเข้าถึง มีการสื่อสารผ่านแชทได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งยังมีการบันทึกคลิปวิดีโออัตโนมัติด้วย สามารถเข้ามาชมย้อนหลังในบางหัวข้อที่ไม่เข้าใจหรือตามไม่ทันได้ตลอดเวลา”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
ศตพร : “ปัญหาสำคัญของนักศึกษาหลาย ๆ ท่านคือเรื่องเอกสารในการเรียน เนื่องจากในการเรียนการสอนไม่ได้มีการแจกชีทเหมือนเรียนที่มหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์จะส่งเอกสารออนไลน์มาให้ ซึ่งส่งผลต่อนักศึกษาที่ไม่มี แท็บเลต หรือ ไอเเพด ไม่สามารถใช้งานตรงนี้ได้สะดวก เนื่องจากในการเรียนนั้นแน่นอนต้องมีการจดบันทึกลงในเอกสารที่เรียน ถึงจะทำให้การเรียนนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด นักศึกษาจึงต้องถ่ายเอกสารก่อนทุกครั้งที่จะมีการเรียนการสอน ซึ่งบางคนก็มิได้มีเครื่องถ่ายเอกสารที่บ้าน ก็ต้องออกไปถ่ายเอกสารข้างนอก ซึ่งปัญหาคือบางรายวิชาส่งเอกสารมาก่อนเรียน 5 นาที ก็ส่งผลให้ไม่สามารถออกไปปริ้นชีทได้ทันซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการเรียนในคาบนั้น ๆ เช่น ตามอาจารย์ไม่ทัน ไม่เข้าใจ มองภาพไม่ออก”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
ศตพร : “ข้อกังวลในตอนนี้คือ เรื่องสอบ เพราะเดิมจะมีการสอบวัดผลในห้องสอบที่มีบรรยากาศการสอบแบบเข้มข้น ซึ่งเมื่อต้องเปลี่ยนเป็นการสอบออนไลน์ แน่นอนว่าบรรยากาศในการสอบที่คุ้นเคยย่อมหายไป สมาธิ สติที่มีในตอนสอบในห้องสอบก็ย่อมแตกต่างหายไปไม่เหมือนกันแน่นอน จึงมีความกังวลมาก ๆ ว่าเมื่อถึงวันสอบจริง ๆ จะเกิดมีข้อผิดพลาดไม่เหมือนกับตอนที่ทดลองระบบทั้งในด้านปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบอินเทอร์เน็ต และเรื่องการส่งไฟล์คำตอบซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังมาก ๆ ซึ่งในระยะเวลาจำกัดแค่ 15 นาที ย่อมมีความตื่นเต้นซึ่งอาจจะเกิดข้อผิดพลาดได้ง่ายมากอีกทั้งกังวลหากเขียนตอบในกระดาษและต้องสแกนกังวลมากว่าจะไม่ทันเวลาที่กำหนดให้ หากมีปัญหาจริงก็จะเกิดความวิตกเป็นอย่างมากถึงแม้คณะจะให้มีการเขียนคำร้องและให้ภาระการพิสูจน์ความจริงเป็นของนักศึกษาก็ตาม แต่ทางที่ดีก็ไม่ยากให้เกิดข้อผิดพลาดเลย”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
ศตพร : “ในเหตุการณ์เช่นนี้เป็นช่วงที่ทุกคนต่างต้องปรับตัวไม่ใช่เพียงแค่นักศึกษายังมี ท่านอาจารย์ที่พยายามปรับตัวกับการสอนรูปแบบใหม่แม้อาจารย์บางนั้นจะมีอายุเยอะแล้วก็ตาม จึงอยากขอบคุณคณะอาจารย์ทุก ๆ ท่านที่ทำงานอย่างหนักเพื่อให้เกิดการเรียนการสอนออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและสุดท้ายนี้อยากขอบคุณคณะนิติศาสตร์ที่ทำเพื่อนักศึกษาอย่างเเท้จริง ขอบคุณที่คณะอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาในทุก ๆ ด้าน ทั้งทางด้านทุนการศึกษา การจัดทำประกันภัย การให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึงการยืมคอมพิวเตอร์ และอีกหลายสิ่งมากมาย ขอบคุณที่คณะไม่เคยทอดทิ้งนักศึกษา”
เกลียวไหม อัตภิญโญ นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 1
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
เกลียวไหม : “ดิฉันรู้สึกว่ายังไม่ค่อยคุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์ค่ะ ความรู้สึกกับการเรียนในห้องบรรยายนั้นต่างกันพอสมควร จึงต้องมีการปรับตัวเล็กน้อย โดนส่วนตัวชอบบรรยากาศการเรียนในห้องบรรยายมากกว่าค่ะ เนื่องจากนักศึกษาได้มีโอกาสถามอาจารย์โดยตรง รวมไปถึงได้พบปะพูดคุยกับเพื่อน ๆ ทำให้รู้สึกไม่น่าเบื่อ ซึ่งดิฉันมักจะไปอ่านหนังสือกับเพื่อน ๆ เป็นกลุ่ม มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และสำหรับดิฉันเพื่อนก็เป็นส่วนหนึ่งที่คอยช่วยกระตุ้นกันให้ไปอ่านหนังสือหรือไปเรียนค่ะ เมื่อเราเรียนออนไลน์ต้องนั่งเรียนคนเดียวส่งผลให้มีการสื่อสารกับเพื่อนน้อยลง แต่การเรียนออนไลน์ก็มีข้อดีนะคะคือการได้กลับมาอยู่ที่บ้าน เพราะปกติแล้วไม่ค่อยมีโอกาสได้กลับบ้านค่ะ อีกทั้งยังมีความสะดวก สามารถที่จะเรียนที่ไหนก็ได้ที่มีสัญญาณinternetค่ะ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
เกลียวไหม : “ดิฉันได้มีโอกาสเรียนผ่านโปรแกรม Webex, YouTube Live และ Facebook Live ค่ะ ซึ่งคิดว่าแต่ละโปรแกรมลักษณะการใช้งานค่อนข้างคล้าย ๆ กัน อาจมีความแตกต่างกันกันเล็กน้อยค่ะโดย Webex นั้น ลักษณะคล้ายกับการเรียนในห้องบรรยาย สามารถเปิดไมค์ถามอาจารย์ได้ในทันที แต่ก็มักมีเสียงรบกวนขณะอาจารย์กำลังสอน เช่น เสียงพัดลม จากการที่เพื่อน ๆ ลืมปิดไมค์ค่ะ อีกทั้งยังมีความล่าช้าในการได้รับเทปบันทึกการสอนค่ะ ในส่วนของ YouTube Live คิดว่ามีความสะดวกดีนะคะ สามารถบันทึกเทปบันทึกการสอนได้ทันที เข้าถึงได้ง่าย และโดยส่วนตัวชอบ Facebook Live มากที่สุด เนื่องจากสามารถสื่อสารกับอาจารย์ได้ในทันที ในกรณีที่มีข้อสงสัย ไม่มีเสียงรบกวนขณะอาจารย์กำลังสอน และบันทึกเทปย้อนหลังไว้ทันทีเช่นเดียวกันค่ะ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
เกลียวไหม : “ปัญหาที่ดิฉันได้พบนะคะ เป็นเรื่องของเป็นสภาพแวดล้อมค่ะ ดิฉันคิดว่าบรรยากาศในการเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการเรียน ซึ่งการเรียนที่บ้านก็มักพบกับสิ่งรบกวนหลาย ๆ อย่าง ทำให้ต้องใช้สมาธิและควบคุมสติของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อที่จะทำให้โฟกัสกับสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ อีกทั้งที่บ้านไฟฟ้าที่บ้านค่อนข้างจะขัดข้องบ่อย ส่งผลให้บางครั้งขณะที่เรียนอยู่สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เสถียรค่ะ นอกจากนี้ยังไม่มีความสะดวกในการปรินท์ชีท เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรินท์ชีทเอง เพราะหากเรียนในห้องบรรยายทางคณะจะมีการปรินท์ชีทมาให้”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
เกลียวไหม : “ในส่วนของการเรียนออนไลน์ไม่ค่อยกังวลค่ะ แต่มีความกังวลเกี่ยวกับการสอบออนไลน์ คือกลัวการเกิดข้อผิดพลาดทางเทคนิค หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เสถียรในขณะที่สอบ รวมไปถึงการส่งข้อสอบออนไลน์ค่ะ กลัวว่าจะส่งข้อสอบไม่ทันเวลาที่กำหนด ซึ่งอาจส่งผลต่อคะแนนได้ค่ะ นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับข้อสอบ เพราะการสอบออนไลน์ถือเป็นการสอบแบบ Open Book โดยปริยาย อาจารย์หลายท่านจึงมีการออกข้อสอบที่ยากขึ้นภายในเวลาอันจำกัด ส่งผลให้เพิ่มความกดดันแก่นักศึกษาค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
เกลียวไหม : “อยากให้ทางคณะมีมาตรการในการรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในการสอบออนไลน์ รวมไปถึงเรื่องของการทุจริตในการสอบค่ะ และอยากให้อาจารย์มีกฎเกณฑ์ที่ออกมาอย่างชัดเจนว่าจะพิจารณาอย่างไร หากนักศึกษามีการส่งข้อสอบเกินเวลาที่กำหนด เพื่อความเท่าเทียมของนักศึกษาทุกคนค่ะ”
“สุดท้ายนี้ขอขอบคุณอาจารย์และคณะฯทุกท่านเป็นอย่างยิ่งค่ะ ที่พยายามช่วยเหลือ ชี้แจงข้อมูลให้แก่นักศึกษาอย่างเต็มความสามารถ ทั้งในเรื่องของการให้ความสะดวกในสื่อการเรียนออนไลน์ ไปจนถึงการสนับสนุนปัจจัยทางด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุน หรือการให้ยืมคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กมาใช้ที่บ้าน ซึ่งอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาเป็นอย่างดี จึงเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่าอาจารย์ และคณะฯทุกท่านนั้นใส่ใจนักศึกษาทุกคนมากค่ะ ดิฉันขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะคะ และจะผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกันค่ะ (ยิ้ม)”
ปิยะธิดา แดงป่า (แพท) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 2
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ปิยะธิดา : “โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เปิดโลกการเรียนในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการเรียนออนไลน์ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ที่ทางคณะจัดให้หนูคิดว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียค่ะ”
“ในส่วนของข้อดี เนื่องจากตัวหนูเองเป็นเด็กกิจกรรมของทางคณะและมหาวิทยาลัย ซึ่งเวลาในการเรียนและกิจกรรมมักจะทับซ้อนกันอยู่เป็นประจำ ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาของหนูก็คือการตามเทปย้อนหลังและอ่านหนังสือควบคู่ไปด้วยเมื่อทำกิจกรรมเสร็จ ส่งผลให้เกิดความเคยชินที่จะต้องศึกษาหรือค้นคว้าด้วยตัวเองอยู่บ่อยครั้ง ในมุมมองของหนูคิดว่าการที่ได้เรียนรู้และศึกษาด้วยตนเองทำให้มีสมาธิและสามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้อย่างเต็มที่ค่ะ”
“ข้อเสีย คือเวลามีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับเนื้อหาบางส่วน ก็ไม่สามารถถามและได้คำตอบจากอาจารย์ผู้สอนหรือเพื่อนได้ทันที ดังนั้นหนูชอบการเรียนออนไลน์ค่ะ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
ปิยะธิดา : “การที่เปลี่ยนวิธีการเรียนจากในห้องมาเป็นออนไลน์ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ที่ทางคณะจัดให้ อาทิ Webex, Microsoft Teams, Facebook Live, YouTube ทำให้หนูได้รู้จักโปรแกรม เรียนรู้การใช้โปรแกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่บนโลกออนไลน์และไม่เคยใช้มาก่อนมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า หนูซื้อโน้ตบุ๊กมา ได้ทำแค่รายงานรู้สึกไม่คุ้มค่าเลยค่ะ และในส่วน platform ที่หนูชอบที่สุด และคิดว่าเหมาะกับการเรียนออนไลน์คือ Facebook Live และ YouTube เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่คุ้นเคยและใช้อยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ตัวโปรแกรมยังมีประสิทธิภาพในด้านเสียง รูปภาพและความรวดเร็วค่อนข้างสูง และสามารถดูคลิปย้อนหลังจากที่อาจารย์สอนได้ ซึ่งต่างจากโปรแกรม Webex และ Microsoft Teams เพราะเป็นโปรมแกรมที่ไม่คุ้นเคยและอาจจะเป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้นใหม่ในช่วงสถานการณ์นี้ จึงมีความเสถีรภาพทางด้านเสียงและรูปภาพน้อย ส่งผลให้เกิดปัญหาอยู่บ่อยครั้งและไม่สามารถดูคลิปย้อนหลังได้ค่ะ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
ปิยะธิดา : “ในเรื่องของปัญหาเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ คือเรื่องปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น ความเสถียรภาพของสัญญาณอินเทอร์เน็ต และความพร้อมของอุปกรณ์ในการเรียนการสอนของอาจารย์และนักศึกษา ตัวอย่างเช่น กรณีวิชาสัญญาทางพาณิชย์ ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ อาจารย์ผู้สอนในคาบนั้นได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย ส่งผลให้นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ ตกใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ความพร้อมของอุปกรณ์ของนักศึกษาที่มีไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นโดยส่วนตัวแล้วไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ค่ะ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
ปิยะธิดา : “เมื่อถึงสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะคลี่คลายเมื่อใด เรื่องที่กังวลมากที่สุดคือ การสอบปลายภาคในรูปแบบของออนไลน์ เนื่องจากว่าอาจเกิดการทุจริตในรูปแบบต่าง ๆ ของการสอบได้ง่ายขึ้น และการส่งข้อสอบในเวลาพร้อม ๆ กันของนักศึกษา อาจส่งผลให้เว็บหรือลิงค์ส่งคำตอบขัดข้องหรือค้างได้ หรืออาจส่งคำตอบไปแล้วแต่ทางคณะไม่ได้รับ นอกจากนี้เนื้อหาข้อสอบของแต่ละวิชาอาจมีความยากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากว่าเป็นการสอบแบบ Open Book ทำให้เนื้อหาที่มีโอกาสออกข้อสอบกว้างขึ้นค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
ปิยะธิดา : “อันดับแรกคือ หนูอยากฝากถึงท่านอาจารย์ในแต่ละวิชาว่า “อาจารย์ช่วยสโคปเนื้อหาในการสอบได้ไหมคะ เพราะถึงแม้จะเป็นการสอบแบบ Open Book ใช่ว่านักศึกษาจะทำกันได้ (หัวเราะ) ล้อเล่นค่ะ หนูและเพื่อน ๆ กังวลว่าจะเขียนตอบเนื้อหาได้ไม่ครบถ้วนและทำไม่ทันเวลาที่ทางคณะกำหนด แต่ถึงยังไงแล้วพวกหนูก็มีการเตรียมความพร้อมที่จะต่อสู้กับข้อสอบของอาจารย์พอสมควรค่ะ รักอาจารย์ทุก ๆ ท่านนะคะ อย่าลืมรักษาสุขภาพในช่วงร้ายแรง และเป็นกำลังใจในการฝ่าอุปสรรคโควิด-19 ทุกท่านด้วยค่ะ”
“สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณทางคณะและคณาจารย์ทุกท่าน ที่ใส่ใจดูแล การเตรียมพร้อมในเรื่องการเรียนการสอนแก่นักศึกษา และให้ความช่วยเหลือในทุก ๆ ด้านเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน และสวัสดิการต่าง ๆ อาทิ การแจกโน้ตบุ๊กแก่นักศึกษา และทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้เป็นต้น ขอบคุณค่ะ”
กัญณัฐ ตรีธานี (คลีโอ) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 1
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
กัญณัฐ : “ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองจะต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมกับการเรียนมากกว่าปกติ การใช้แอปพลิเคชั่นในการเรียนดิฉันจะต้องทำความเข้าใจกับมันมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้เกิดปัญหาต่อการเรียนให้น้อยที่สุด แต่พอได้ปรับตัวได้เรียนรู้แอปพลิเคชั่นที่ใช้สำหรับเรียนแล้วก็รู้สึกว่า ง่ายต่อการเข้าถึงจึงไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง การเรียนออนไลน์สำหรับดิฉันคิดว่าทำให้ดิฉันมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนมากยิ่งขึ้น เพราะไม่มีเพื่อนให้คุยด้วย และหากช่วงไหนที่อาจารย์พูดเร็วเกินไป หรือฟังแล้วอาจจะไม่เข้าใจในรอบเดียวก็สามารถที่จะไปย้อนดูได้ แต่ข้อเสียสำหรับดิฉันคือ หากเราขาดระเบียบวินัยก็เหมือนดินพอกหางหมูที่สะสมคลิปวิดีโอที่อาจาร์ยสอนไปเรื่อย ๆ แล้วเอาเวลาไปทำอะไรที่ไร้ประโยชน์ สุดท้ายก็จะไปหนักตอนช่วงสอบอาจจะอ่านหนังสือไม่ทันหรือได้คะแนนไม่ดี พอดิฉันนึกถึงผลเสียตรงจุดนี้แล้วดิฉันก็รีบกลับมาทำสมาธิและกลับเข้าสู่ระเบียบวินัยของตนเองทันทีค่ะ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
กัญณัฐ : “สำหรับดิฉันได้เรียนผ่านแอปพลิเคชั่น Microsoft Teams, Facebook Live, YouTube Live สำหรับ Facebook และ YouTube เป็นแอปพลิเคชันที่ดิฉันใช้เป็นประจำอยู่แล้วจึงไม่เกิดปัญหามากนัก แต่ Microsoft Teams เป็นอะไรที่ดิฉันไม่คุ้นเคย ช่วงแรกที่ใช้ดิฉันรู้สึกทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะกดตรงไหน แต่ก็ค่อย ๆ ทำความเข้าใจกันไปและตอนนี้ดิฉันใช้โปรแกรมดังกล่าวได้อย่างดีเยี่ยมและพึ่งพรีเซนต์งานผ่าน โปรแกรมเป็นครั้งแรกดิฉันรู้สึกตื่นเต้นมากเพราะไม่เคยทำอะไรแบบนี้มากก่อนก็เป็นประสบการณ์การเรียนการสอนที่แปลกใหม่ดีนะคะ และทั้ง 3 แอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถที่จะบันทึกคลิปวิดีโอที่อาจารย์สอนได้ หากช่วงไหนที่ดิฉันหลุดโฟกัสไปก็สามารถที่จะย้อนกลับไปทบทวนส่วนตรงนั้นได้ และหากว่าเราไม่เข้าใจตรงไหนก็สามารถที่จะส่งอีเมลไปหาอาจารย์แม้จะล่าช้าไปบ้างแต่อาจาร์ยทุกท่านก็ยินดีตอบเป็นอยางดีค่ะ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
กัญณัฐ : “การเรียนออนไลน์สามารถเรียนที่ไหนก็ได้ ความแตกต่างของบรรยากาศในการเรียนของเพื่อนแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกันบางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องเสียงรบกวน หรืออยู่ในพื้นที่ที่อับอินเทอร์เน็ตและข้อสำคัญคือบรรยายกาศการเรียนที่ทำให้นักศึกษานั้นไม่ได้เพ่งเล็งต่อการเรียนค่ะ คือเวลาเรียนในห้องปกตินักศึกษาจะทำอะไรย่อมต้องให้เกียรติอาจารย์พูดสอนและเพื่อน ๆ แต่การเรียนออนไลน์ จะลุกไปไหนจะทำอะไรก็ย่อมไม่มีใครรู้จึงหลุดโฟกัสได้ง่ายมาก รวมถึงอรรถรสในการเรียนก็ต่างกันมาก ๆ ค่ะ และสำหรับเพื่อนนักศึกษาบางคนอาจจะมีปัญหาในเรื่องของอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ใช้ในการเรียนเพราะแต่ละคนก็มีความพร้อมที่ไม่เหมือนกัน แต่ทั้งนี้ทางคณะก็มีโครงการให้ยืมคอมพิวเตอร์หรือมอบทุนการศึกษาส่งเสริมความเท่าเทียมด้านเทคโนโลยีแก่นักศึกษาซึ่งก็เป็นการช่วยเหลือนักศึกษาได้พอสมควรค่ะ และปัญหาเรื่องความเสถียรของแอปพลิเคชั่นที่ใช้ในการเรียนการสอนค่ะอาจจะมีขัดข้องหรือสะดุดไปบางเนื่องจากปัจจัยใด ๆ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ถึงขนาดเรียนไม่ได้ค่ะและสำหรับตัวดิฉันเองไม่มีปัญหากับการเรียนรูปแบบออนไลน์นะคะ”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
กัญณัฐ : “ดิฉันค่อนข้างกังกลเรื่องของการสอบค่ะ ดิฉันไม่ใช่คนเก่งหรือคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีเท่าไหร่นัก กลัวว่าตอนส่งคำตอบข้อสอบนั้นอาจจะเกิดข้อผิดพลาดด้วยเหตุปัจจัยใด ๆ หรือไม่ แต่ทางคณะนิติศาตร์ของเราก็มีการออกมาสอนวิธีการต่าง ๆ ออกมาชี้แจงคอยตอบปัญหาต่าง ๆ เรื่องของการสอบแบบออนไลน์ให้แก่นักศึกษาเป็นอย่างดีก็คลายความกังวลใจไปได้บ้างค่ะ ทั้งนี้ในเรื่องของการทุจริตการสอบก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมสำหรับนักศึกษาคนอื่นและการตรวจสอบก็ค่อนข้างยาก แต่คิดว่าทางคณะคงมีวิธีการจัดการหรือมาตราการรองรับสำหรับการทุจริตในการสอบไว้แล้วค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
กัญณัฐ : “ดิฉันอยากขอบคุณทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอย่างมากที่คำนึงถึงปัญหาของนักศึกษาเกือบทุก ๆด้าน ตั้งแต่ปัญหาความเท่าเทียมด้านเทคโนโลยีของนักศึกษา ตลอดจนการที่ทางคณะและอาจารย์ออกมาชี้แจง ตอบประเด็นปัญหาต่าง ๆ ให้แก่นักศึกษาอยู่เสมอเห็นได้ว่าทางคณะและอาจารย์พยายามเป็นอย่างมากที่จะช่วยเหลือนักศึกษา และสุดท้ายนี้ในสถานการณ์ความยากลำบากดังกล่าวที่ทุกท่านก็พึงจะเห็นได้ ดิฉันขอเป็นกำลังใจให้ทางคณะและอาจารย์รวมถึงเพื่อนนักศึกษาทุกท่าน เราจะผ่านมันไปด้วยกันนะคะ”
ปาณัท อุบลวรณรัตน์ (พอ) นักศึกษาภาคปกติ ศูนย์ลำปาง ชั้นปีที่ 1
คำถาม (1) : รู้สึกอย่างไรกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด
ปาณัท : “กระผมต้องบอกว่ารู้สึกใจนิดนึงหายครับเนื่องจากก่อนหน้านี้ยังสามารถเรียนในห้องได้อย่างปกติ แต่พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นก็มีการเปลี่ยนแปลงกะทันหันมาเรียนออนไลน์ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเรียนรูปแบบใหม่ครับทําให้เราต้องมีระเบียบวินัยมากขึ้นกว่าการเรียนในห้องเรียนครับ ในส่วนตัวผมนั้นคิดว่าการเรียนออนไลน์นั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ เนื่องจากเราสามารถติดตามย้อนหลังการสอนของอาจารย์ ได้และสะดวกสามารถเรียนตอนไหนก็ได้ แต่ก็มีข้อเสียอยู่ครับในบางโปรแกรมที่อาจารย์สอนออนไลน์นั้นเราไม่สามารถโต้ตอบกับอาจารย์ได้หากมีข้อสงสัยในปัญหาหรือประเด็นต่าง ๆ ครับ แต่ก็มีบางโปรแกรมในการสอนของอาจารย์ที่เราสามรถโต้ตอบกับอาจารย์ได้ทันทีครับก็อาจกล่าวได้ว่าการเรียนออนไลน์นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ ผมก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในโควิด-19 ช่วงนี้ครับเพราะโรคติดต่อดังกล่าวนั้นร้ายแรงจริง ๆ ก็ต้องพยายามปรับตัวให้ดีที่สุดครับ อีกอย่างถ้าเรียนในห้องตามปกติก็อาจได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน ๆ ด้วยครับ แต่เรียนออนไลน์นั้นก็ไม่อาจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเราได้อย่างที่ควรครับ”
คำถาม (2) : ความรู้สึกเกี่ยวกับ platform การเรียนออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ
ปาณัท : “กระผมได้มีโอกาสเรียนทั้งในด้านของโปรแกรม Webex, Facebook และ YouTube Live ครับ ซึ่งในหลายโปรแกรมนั้นก็จะมีความแตกต่างกันไปครับ ซึ่ง Webex นั้นส่วนตัวนั้นผมคิดว่าเป็นโปรแกรมที่เราสามรถโต้ตอบกับอาจารย์ได้ทันทีในกรณีที่มีข้อสงสัยได้เลย ซึ่งทำให้เป็นการเรียนที่คล้ายในการเรียนตามปกติในห้องเรียนมากที่สุดครับ”
“ส่วน YouTube Live นั้นเราก็สามารถโต้ตอบหรือถามคำถามกับอาจารย์ได้ครับแต่ก็จะเป็นไปในทางการพิมพ์ถามและอาจารย์จะตอบคำถามบางครั้งก็จะมีอาการดีเลย์ครับ ในกรณีที่มีปัญหาในเรื่องของอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ครับ แต่อย่างไรเราก็จะสามารถเข้าไปดูย้อนหลังได้ครับ”
“สุดท้ายคือ Facebook Live ครับ ส่วนตัวผมคิดว่าโปรแกรมการสอนนี้คล้ายกับ YouTube Live เลยครับแต่น่าจะโอเคในระดับหนึ่งเลยครับ ซึ่งในระหว่างการสอนของอาจารย์ผ่านโปรแกรมดังกล่าวนั้น ขณะอาจารย์สอนนั้นถ้าเราไม่ทันเราก็อาจจะกดหยุดและย้อนกลับไปดูก่อนหน้านี้ได้ในขณะที่อาจารย์ไลฟ์ครับ หรือเป็นในกรณีที่เรียนเสร็จแล้วและก็สามารถย้อนกลับไปดูย้อนหลังได้ครับ ทั้งนี้ใน Facebook และ YouTube Live ก็ทำให้เราไม่สามารถตอบโต้กับอาจารย์ได้ทันทีเหมือน Webex ครับ”
คำถาม (3) : ปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์
ปาณัท : “สำหรับผมแล้วไม่มีปัญหาทางด้านการเรียนออนไลน์เท่าไหร่ครับเนื่องจากมีอุปกรณ์ที่ค่อนข้างพร้อมในการเรียนออนไลน์เลยทีเดียว ซึ่งในขณะการสอนของอาจารย์ผ่านโปรแกรมนั้นก็อาจจะมีปัญหาขัดข้องเล็กน้อยครับแต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาที่ใหญ่แต่อย่างใดครับ แต่ก็มีในส่วนของเพื่อน ๆ ครับ ที่บางคนนั้นไม่มีอุปกรณ์ที่พร้อมต่อการเรียนครับ หรืออินเทอร์เน็ตของบางคนนั้นก็ไม่ได้เสถียรครับ อันนี้ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งครับ แต่ทางมหาลัยและคณะนั้นก็มีการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ครับ ดังเช่น การให้ซิมเน็ตฟรีไม่อั้น และมีการให้ยืมอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ครับ ผมถือว่าดีมาก ๆ ครับเลย”
คำถาม (4) : ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนหรือการสอบออนไลน์
ปาณัท : “ส่วนตัวผมนั้นไม่ค่อยมีความกังวลเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์เท่าไหร่ครับเนื่องจากก็เป็นการเปลี่ยนแปลงจากการเรียนการสอนในห้องตามปกติมาเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ครับที่เรานั้นจำต้องปรับตัวให้ได้ในช่วงนี้ครับ แต่ก็อาจจะมีปัญหาต่างๆตามมาดังที่กล่าวไปในคำถามข้อ 3 ครับ แต่ผมนั้นก็มีความกังวลในด้านของการสอบออนไลน์ที่จะถึงในเร็ว ๆ นี้ครับ ว่าจะมีปัญหาหรือเหตุสุดวิสัยใด เกิดขึ้นหรือไม่ในการสอบหรือในการส่งข้อสอบนั้นจะเกิดปัญหาใดๆหรือไม่ ก็ยังเป็นสิ่งที่กังวลอยู่นิดหน่อยครับ แต่ทางคณะก็มีช่วยเหลือและแนะนำอย่างเต็มที่ครับ เช่น ในการเปิดทดลองระบบในการส่งข้อสอบในการสอบออนไลน์ เพื่อดูปัญหาต่างที่อาจจะเกิดขึ้น ครับ และยังมีการชี้แจงถามตอบกับนักศึกษาของคณะอาจารย์ในเรื่องการสอบออนไลน์ที่จะถึงนี้ครับว่ามีข้อสงสัยและปัญหาอย่างใดบ้าง ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆเลยครับ”
คำถาม (5) : สิ่งที่อยากฝากถึงอาจารย์ผู้สอน หรือคณะฯ
ปาณัท : “กระผมต้องขอบคุณคณะอาจารย์และทางมหาลัยวิทยาลัยมาก ๆ ครับที่พยามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และช่วยเหลือนักศึกษาทุกคนอย่างเต็มที่ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำครับผมว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ครับ ดังเช่น การให้ซิมเน็ตฟรีไม่อั้นของทางมหาวิทยาลัยในการที่นักศึกษาจะได้มีความเร็วเน็ตที่เพียงพอต่อการเรียนออนไลน์ในช่วงนี้ และที่เห็นชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือ การที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ศูนย์นั้นได้มีการเปิดให้บริการยืมหนังสือและจัดส่งไปให้แก่นักศึกษาในทางบ้าน เพื่อที่นักศึกษานั้นจะได้ใช้ในการอ่านประกอบการสอนหรือใช้ในการทำงานต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ยังมีในเรื่องของประเด็นการทุจริตในการสอบในออนไลน์ที่อาจเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นได้ จึงขอให้อาจารย์มีความเข้มงวดส่วนนี้ด้วยครับ เนื่องจากอาจจะเกิดความไม่เท่าเทียมกันได้ครับ”
ภาพโดย อภิชญา, ณะ, ศตพร, เกลียวไหม, แพท, คลีโอ, พอ
เรียบเรียง KK